“มะเร็งของแม่คือปุ๋ยเร่งโตให้ชีวิตของเรา” มะเหมี่ยว–เบญจสิริ สมศักดิ์

Highlights

  • มะเหมี่ยว - เบญจสิริ สมศักดิ์คือหญิงสาวที่ตัดสินใจใช้ชีวิตวัยรุ่นช่วงหนึ่งของตัวเองเพื่อดูแลแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
  • ประสบการณ์เหล่านั้นสอนเธอว่ากำลังใจและความเข้าใจที่มีต่อกันคือเรื่องสำคัญ แม้อาการป่วยจะร้ายแรงเพียงใด แต่ถ้าเราฝึกการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เธอเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะผ่านไปได้

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมคุยกับ มะเหมี่ยว เบญจสิริ สมศักดิ์ เรื่องแม่

ก่อนหน้านี้เกือบ 2 ปี ในนิตยสาร a day ฉบับกลับบ้าน ผมเคยสัมภาษณ์เธอมาแล้วในฐานะหญิงสาวผู้ลาออกจากงานครูที่กรุงเทพฯ เพื่อกลับบ้านมาดูแลแม่ (นิตยา โภคชัยปรีดา) แบบเต็มเวลาที่จังหวัดสระบุรี

แม่ของมะเหมี่ยวเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย

ในเวลานั้น เธอปฏิเสธจะอ่านต้นฉบับที่ผมส่งให้ก่อนตีพิมพ์เพราะอยากรออ่านตอนออกมาเป็นเล่มมากกว่า พอถึงวันวางแผง สิ่งที่ผมได้รับในทันทีคือรูปของมะเหมี่ยวกับแม่ที่ส่งมาหลังจากอ่านเรื่องของตัวเองบนหน้านิตยสาร ในรูปนั้นทั้งเธอและแม่ต่างน้ำตารื้น พร้อมกับตัวอักษรต่อท้ายที่เขียนว่า ‘ขอบคุณที่เล่าเรื่องราวของเรา’

มะเหมี่ยว

ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น แม่ของ มะเหมี่ยว เสียชีวิต

ในฐานะคนที่เคยสัมภาษณ์และรู้จักกันเป็นการส่วนตัว ผมเดินทางไปร่วมงานศพในวันฌาปนกิจที่วัดในจังหวัดสระบุรี ผู้คนต่างมาร่วมกันเต็มศาลาวัดเพื่อส่งแม่นิตยาสู่สรวงสวรรค์ ในวันนั้นมะเหมี่ยวมีน้ำตาไหลออกมาบ้าง แต่ดูด้วยตาก็รู้ว่าเธอพยายามเข้มแข็งและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เวลาผ่านมาปีกว่า

นานพอให้ใครคนหนึ่งตกตะกอนบางสิ่งบางอย่าง

ด้วยความสงสัย ผมตัดสินใจเดินทางมาคุยกับมะเหมี่ยวอีกครั้งเพื่อบันทึกเรื่องราววันเวลาในอดีตระหว่างเธอกับแม่ไว้ในโลกออนไลน์ สิ่งที่เธอคิด สิ่งที่เธอพบเจอ และสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ คือเนื้อหาในบทสนทนาของเราที่กินเวลากว่า 2 ชั่วโมง

หลังจากสัมภาษณ์เสร็จ เธอเขียนข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมแท็กผมและแม่ผู้จากไป สเตตัสนั้นเล่าถึงความรู้สึกหลังจากที่เราได้คุยกัน พร้อมคำลงท้ายถึงคนบนฟ้าที่เธอแสนคิดถึง

‘เรื่องราวของคุณกำลังโลดแล่นอีกแล้วนะ คุณนิตยา :)’

และบรรทัดต่อจากนี้คือเรื่องราวเหล่านั้น

มะเหมี่ยว

“เราเป็นคนสระบุรี เติบโตมาในบ้านที่เลี้ยงดูให้คิดถึงครอบครัวเป็นอันดับแรก ตอนเรียนจบถึงจะทำงานเป็นครูที่กรุงเทพฯ เราก็ยังกลับบ้านไปหาพ่อแม่เสมอ แต่พอทำงานได้แค่ปีแรก แม่ก็เริ่มป่วย

“ตอนนั้นหมอตรวจพบว่าแม่เป็นมะเร็งเต้านม เราไม่มีความรู้เรื่องมะเร็งมาก่อน เราตกใจและลางานไปอยู่กับแม่ แต่ไม่นานหมอก็ผ่าเอาก้อนมะเร็งออก เราคิดว่าทุกอย่างคงเสร็จแล้ว มะเร็งหายไปแล้ว แม้หมอจะเตือนว่าถ้าใน 2 ปีแม่ดูแลตัวเองไม่ดี มะเร็งจะกลับมาอีก แต่เราก็ไม่ได้คิดอะไรและเลือกกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง

“เวลาผ่านไป 2 ปีพอดีจากที่หมอบอกจนถึงช่วงพฤศจิกายนเมื่อ 2 ปีก่อน เรากับแฟนพาครอบครัวทั้งสองฝ่ายไปเจิมรถใหม่ นี่เป็นภาพที่เราฝันมาตลอด ทั้งสองครอบครัวมีความสุขกันมาก แต่ตอนที่กลับถึงบ้านนั่นแหละที่แม่บอกเราว่าพรุ่งนี้เขาต้องไปให้คีโม

“เราถามกลับไปว่าทำไม

“แม่ตอบมาสั้นๆ ว่าเจอที่ปอดอีกแล้ว

“ตอนนั้นเราไม่มีสติ เราพอรู้ว่าแม่เป็นคนไม่ค่อยพูดหรือเล่าอะไรให้คนเป็นห่วง เราเลยไปหาข้อมูลเพิ่มถึงได้รู้ว่ามะเร็งที่แม่เป็นอยู่ในระยะกระจาย หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าระยะสุดท้าย เราตัดสินใจลาออกจากงานและกลับบ้านในทันที

“ตอนนั้นเราคิดว่ากลับบ้านมาจะอยู่กับแม่ แบ่งเบางานแม่บ้างเพราะปกติแล้วแม่เป็นคนทำงานบ้านทั้งหมด แต่เราเหมือนคนเพิ่งเคยว่าง เราขี้เกียจมากและไม่ค่อยได้ช่วยอะไรแม่เท่าไหร่ จนเวลาผ่านไปเดือนหนึ่ง แม่เริ่มมีอาการกำมือไม่ได้ เราเลยพาแม่ไปเช็กกับหมอ แต่วันนั้นแปลกไปตรงที่หมอเรียกเราออกไปดูฟิล์มเอกซเรย์คนเดียว

“หมอบอกเราว่าตอนนี้มะเร็งลามไปที่สมองแล้ว

มะเหมี่ยว

“เราหูดับ ทำอะไรไม่ถูก เพราะตอนนั้นมีแค่เรากับแม่ กระบวนการรักษาเริ่มต้น วันนั้นแหละคือวันแรกที่เราต้องรับผิดชอบงานบ้านแทนแม่แบบร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะแม่ต้องแอดมิตอยู่โรงพยาบาล พอกลับมาถึงบ้าน เราพบว่าเราหาของหลายอย่างในบ้านตัวเองไม่เจอเลย เราไม่รู้ว่าต้องกวาดถูบ้านแบบไหนให้สะอาดเหมือนแม่ ไม่รู้ว่าต้องขยำข้าวยังไงให้หมากิน วันนั้นเราได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริงแล้วค้นพบว่ามันเหนื่อยมาก ถึงขนาดที่ว่าเราล้างจานไปร้องไห้ไป เรารู้สึกศรัทธาแม่ขึ้นมาทันที เขาเก่งมากๆ ที่ทำทั้งหมดนี่และเลี้ยงลูกไปพร้อมกันมาตั้งหลายปี

“หลังทำทุกอย่างที่บ้านเสร็จ เราในสภาพผมเผ้ากระเซอะกระเซิงแบกตัวเองกลับไปโรงพยาบาลเพื่อเตรียมข้าวให้แม่กิน

“พอไปถึง จำได้ว่าวันนั้นแม่มองหน้าเรา เรามองหน้าแม่

“แม่ถามเราว่า มีอะไรจ๊ะ

“(เสียงสั่นและน้ำตาคลอ) เราไม่ตอบ แต่เราเข้าไปกอดเขาและพูดว่า ‘แม่ ขอโทษนะถ้าที่ผ่านมาตลอดยี่สิบปี เหมี่ยวไม่ได้ช่วยอะไรเลย’

“แม่มองหน้าพร้อมตอบกลับมาด้วยรอยยิ้มว่า รู้แล้วใช่ไหมว่าทำไมแม่ต้องบ่น

“หลังจากวันนั้น เราเข้ามาทำงานบ้านแทนแม่แทบทุกอย่าง ส่วนแม่ยังคงพอช่วยเหลือตัวเองได้พร้อมทำคีโมไปด้วย แม่เราอึดมากนะ เขาสู้จนมะเร็งในสมองกับปอดหายไป แต่แค่ไม่นานแม่ก็เริ่มปวดคอขึ้นมาอีก ตอนแรกเขาคิดว่าเพราะนอนตกหมอน แต่พอไปตรวจ หมอบอกว่ามะเร็งลามไปที่คอเพิ่มแล้ว และคราวนี้ก้อนเนื้อเข้าไปกินกระดูกจนเว้าเป็นรูปตัว C หมอบอกว่าต่อไปนี้แม่ต้องระวังเพราะกระดูกที่ถูกกินไปทำให้แม่เสี่ยงคอหัก ถ้าคอหักแม่จะตาย

“การรักษาก้อนเนื้อที่คอทำให้แม่ไม่เหมือนเดิม การฉายแสงบริเวณนี้ทำให้เขากินอะไรไม่ได้ แม่เริ่มมีอาการเบลอจากฤทธิ์ของมอร์ฟีนที่ฉีดแก้ปวด ในตอนนั้นแหละที่เราลดการทำงานบ้านมาอยู่ดูแลแม่ 24 ชั่วโมง และอย่างที่บอกว่าโดยพื้นฐาน แม่ชอบช่วยเหลือคนแต่ไม่ชอบให้คนมาลำบากเพราะเขา ดังนั้นในช่วงที่เรามาดูแล เราจะพยายามช่วยแม่โดยไม่ให้เขารู้ 

“ตอนนั้นแม่เราเริ่มขยับไม่ค่อยได้ ดังนั้นเวลาเดินเราจะทำทีเป็นว่าเข้าไปคุย ซึ่งจริงๆ แล้วเราเข้าไปประคอง หรือตอนแม่จะลุกไปเข้าห้องน้ำคนเดียวกลางดึก เราจะตื่นขึ้นมาก่อนและขอแม่ให้ไปเข้าห้องน้ำเป็นเพื่อนเพราะเรากลัวผี แม้กระทั่งตอนกินข้าว เราก็เลือกกินไปด้วย ดูทีวีไปด้วย เพื่อให้แม่ไม่รู้สึกแย่เวลากินข้าวไม่ได้ เขาจะได้ดูละครไปเพลินๆ ระหว่างรอให้ตัวเองกินไหว

มะเหมี่ยว

“พอมาอยู่กับแม่ตลอดแบบนี้ แน่นอนว่าเรากับแม่มีการปะทะทางอารมณ์กันอยู่บ้าง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะเราน้อยใจ เวลาแม่อยู่กับพ่อหรือพี่สาวที่กลับมาจากทำงาน เขาจะไม่แสดงอาการเจ็บปวดอะไรเลย กินข้าวเก่ง ชอบพูดเล่นตลก แต่พอเขาอยู่กับเรา เขาจะไม่ค่อยกินข้าวและแสดงอาการตัดพ้อว่าทำไมตัวเองไม่ตายไปเสียที เขาเหนื่อยมากแล้ว

“เราเคยร้องไห้ใส่เขาเหมือนกัน ส่วนแม่ก็บอกว่าเราไม่เข้าใจเขา แต่พอถึงจุดหนึ่งที่เราเหนื่อยมาก แฟนก็เตือนสติว่าให้เราลองมองอีกมุม เวลาที่แม่อยู่กับเราอาจเป็นเวลาที่แม่เป็นตัวเองมากที่สุดแล้วก็ได้ ดังนั้นเราเลยเปลี่ยนความคิด เราพยายามดูแลเขาในแง่ร่างกายและเข้าใจเขาในแง่จิตใจ

“สำหรับเรา มันยากมากขึ้น 3 เท่าเพราะเราต้องดูแลใจเขา ดูแลใจเรา และส่งพลังบวกให้คนรอบๆ อีก ซึ่งท้ายที่สุดเราว่าแม่ก็ยอมรับเราเหมือนกันนะ มีบางประโยคจากแม่ที่ทำให้เรารู้ว่าทุกสิ่งที่เราทำ แม่เห็นและรับรู้ทั้งหมด เขาเริ่มยอมให้เราดูแลมากขึ้นและอารมณ์เสียน้อยลง ส่วนโรคที่แม่เป็น เรากล้าพูดว่าแม่เราสู้มาก หมอยังบอกเลยว่าไม่เคยเจอใครที่ทนกับมะเร็งได้เท่าแม่มาก่อน

“แต่พอถึงจุดหนึ่งร่างกายของเขาก็ไม่ไหวอีกต่อไป

“วันหนึ่งหมอตรวจพบว่าแม่เป็นโรคงูสวัด เราเห็นสีหน้าเขาและรู้ทันทีว่าแม่ไม่โอเค แววตาเขาวิตกและบ่นกับตัวเองอีกว่า ‘มาอีกแล้ว อันเก่ายังไม่หายเลย ไม่ไหวแล้ว’ หลังจากนั้นแม่เริ่มนอนติดเตียง อาการแย่ลงเรื่อยๆ มีดีขึ้นช่วงหนึ่งตอนที่ทั้งครอบครัวตัดสินใจไปงานแต่งญาติที่ภาคใต้ ตอนนั้นอยู่ดีๆ แม่ก็กินข้าวได้ ลุกขึ้นได้และไม่เจ็บ เรา พี่สาว และพ่อ ก็ดูแลแม่อย่างดีตลอดทาง เป็นช่วงเวลาที่แฮปปี้มาก แต่ตอนนี้พอหันกลับไปมอง เราคิดว่าครั้งนั้นเหมือนเป็นของขวัญที่คนจะไปให้กับคนที่ยังอยู่นะ เหมือนแม่สร้างภาพความทรงจำที่ดีครั้งสุดท้าย เพราะพอกลับมาบ้าน คืนนั้นแหละที่แม่บอกกับทุกคนว่าให้พาไปโรงพยาบาลหน่อย เขารู้สึกเหมือนจะตาย

“แม่มีอาการน้ำท่วมปอด ซึ่งหลังจากหมอให้ยา หมอก็เตือนเราว่าคนไข้เริ่มไม่ไหวแล้ว ในตอนนั้นวันรุ่งขึ้นเป็นวันเกิดแม่พอดี เขาเลยขอกลับบ้านและหมอก็อนุญาต แต่เช้าวันถัดมา แม่มีอาการพูดไม่ได้ ขยับไม่ได้ ตาเริ่มเหลืองเพราะก้อนเนื้อเข้าไปที่ตับ ทุกอย่างเริ่มช้าลง คล้ายนอนเป็นผัก ตอนพระมาทำบุญที่บ้านและเราเห็นแม่นอนติดเตียงอยู่ บรรยากาศวันนั้นเรารู้สึกเหมือนเป็นงานศพที่แค่ไม่มีโลงศพเท่านั้นเอง

“ตอนนั้นเรารู้แล้วว่าแม่กำลังจะตาย เราว่าเขาเองก็รู้ว่าตัวเองกำลังจะตาย เราสองคนต่างรู้กันอยู่ลึกๆ เวลาใครมาเยี่ยมแม่ ทุกคนจะบอกแม่ที่ไม่ค่อยได้สติว่าสู้ๆ นะ เดี๋ยวก็หาย สำหรับเรา เราไม่เคยพูดคำนี้กับแม่เลย เพราะเรารู้ลึกๆ ว่ามันไม่จริง ในแต่ละชั่วโมง เราเห็นว่าเขาผ่านไปแบบทรมานมาก จากคนที่เคยทำได้ทุกอย่าง แต่บนเตียงตอนนี้แทบไม่ใช่แม่แล้ว คนที่เรารักที่สุดทรมานอยู่ตรงหน้า มันเจ็บยิ่งกว่าสิ่งใดในชีวิต

“วันนั้นเราตัดสินใจหอมแก้มแม่และกระซิบข้างหูว่า ‘อะไรก็ได้นะแม่ ไม่ต้องห่วง เหมี่ยวอยู่ได้’

มะเหมี่ยว

“ก่อนหน้าที่แม่จะเป็นหนัก เราดูละครเรื่องหนึ่งกับแม่แล้วมีประโยคในละครที่บอกว่า ‘บางครั้งความตายก็เป็นความปรานีที่สุด’  ตอนนั้นเราไม่ได้รู้สึกอะไร แต่พอวันที่แม่ทรุด เราถึงเข้าใจ (น้ำตาคลอ) เราไม่เคยกล้าพูดกับใครเลยนะ แต่ในช่วงนั้นบ่อยครั้งมากๆ ที่เราอยากให้แม่ไป แทบทุกคืนที่เราสวดมนต์ก่อนนอน เราไม่เคยอธิษฐานให้แม่หาย แต่เราอธิษฐานขอให้แม่ไม่ทรมาน ยังไงก็ได้ วิธีไหนก็ได้ แต่ขอร้องล่ะอย่าให้แม่ทรมานอีกเลย เราเข้าใจแล้วว่าความตายคือสิ่งที่ปรานีแม่ที่สุดและนั่นคือทางออกเดียว

“อีกไม่กี่วันหลังจากนั้น แม่ก็จากไป

“ตอนที่หัวใจแม่ค่อยๆ หยุดเต้นและเราอยู่ข้างเตียง มันไม่เหมือนกับในละครที่เคยดูเลยนะ ภาพเก่าๆ ของแม่ไม่ได้ฉายเข้ามาในหัวเรา ความทรงจำไม่ได้พรั่งพรูกลับมาขนาดนั้น (คิด) พอย้อนกลับไปมอง เราว่าภาพของแม่กลับมาในความทรงจำตอนเราอยู่ด้วยกันมากกว่า 

“ตอนที่เราช่วยพยุงแม่ให้ลุกขึ้น เรานึกถึงภาพตอนที่แม่พยุงเราตอนเด็ก หรือตอนที่เราช่วยแม่อาบน้ำ เราก็นึกถึงวันที่แม่อาบน้ำให้เราตอนเด็ก เราค้นพบว่าจากเด็กคนหนึ่งที่แม่ต้องดูแลและเรายังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ กลายเป็นว่าพอมาถึงวันนี้เราสามารถดูแลเขาได้อย่างเต็มที่ วิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้เราเปลี่ยนตัวเอง ปรับตัวเอง ขุดตัวเราเองที่ไม่เคยคิดว่าจะเป็น ตอนนี้เรามั่นใจว่าเราสามารถดูแลใครก็ได้ในโลก เพราะมะเร็งของแม่คือปุ๋ยเร่งโตที่เปลี่ยนเราให้เป็นคนละคน

“ตอนแรกเราแปลกใจเหมือนกันที่พอแม่จากไป เราไม่ได้เสียใจเท่ากับคนอื่นขนาดนั้น ตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่าเพราะอะไร จนวันหนึ่งที่พี่สาวเราตั้งสเตตัสถึงแม่ ในสเตตัสนั้นเล่าว่าถ้าแม่ยังอยู่ พี่สาวเราอยากพาแม่ไปทำนั่นทำนี่ เราอ่านสเตตัสของพี่สาวแล้วก็ค้นพบว่าเราทำทุกอย่างที่ว่าหมดแล้ว เราไม่เหลืออะไรที่ค้างคาเหล่านั้นเลย ตอนนั้นแหละที่เราได้คำตอบ

“การดูแลแม่สอนบทเรียนสุดท้ายให้กับเราว่าในทุกความสัมพันธ์ ถึงที่สุดยังไงก็จะมีคนจากไป ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือเวลาที่เราอยู่ด้วยกัน เราเต็มที่ต่อกันมากขนาดไหน เราเป็นกำลังใจให้กันมากเท่าไหร่ ซึ่งเราตอบตัวเองได้อย่างแจ่มชัดว่าเราเต็มที่แล้ว แม่เองก็สู้เต็มที่แล้ว ทั้งหมดที่ผ่านมาคุ้มแล้ว เราไม่มีอะไรต้องเสียดายทั้งนั้น

“เราไม่มีอะไรต้องเสียดายเลยจริงๆ”


ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #กำลังใจที่เข้าใจ กับโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โดยการส่งต่อกำลังใจถึงคนรอบข้างด้วยความเข้าใจผ่านทาง bit.ly/2N43scM

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!