Blind Date Run : โลกอีกใบที่ได้รู้จักหลังจากวิ่งไปด้วยกันกับผู้พิการ

การตื่นเช้าวันเสาร์คงเป็นอาการสาหัสสำหรับใครหลายคน ยิ่งการตื่นมาเพื่อวิ่งด้วยแล้ว คงจะขุดตัวเองออกมายาก โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน

เช้าวันเสาร์ที่ 2 มิถุนายนผ่านมา เราได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรม Blind Date Run ร่วมกับพี่ ๆ ในโครงการ ‘วิ่งด้วยกัน’ โดยกิจกรรมนี้จะไม่ใช่แค่วิ่งเพื่อสุขภาพคนเดียว แต่เราจะพาผู้พิการวิ่งเพื่อสุขภาพที่ดีของ ‘เรา’ ไปด้วยกัน พร้อมนำประสบการณ์เหล่านี้มาต่อยอดเป็นซีนที่จะจัดแสดงในเทศกาลหนังสือทำมือ Make a Zine ครั้งที่ 3 ตอน ExtraOrdinary วันที่ 28 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ด้วย

ความจริงข้อนี้เองที่ทำให้เรายอมลุกขึ้นมาเตรียมตัวแต่เช้า และพาตัวเองมาถึงสวนลุมพินีในเวลา 6 โมง สถานที่นัดหมายหน้าห้องสมุดประชาชนสวนลุมพินีเต็มไปด้วยบรรยากาศคึกคักของเหล่าไกด์รันเนอร์และผู้พิการ ที่ไม่ได้มีแค่ผู้พิการทางสายตาเท่านั้น แต่ยังมีผู้พิการทางการได้ยินและผู้พิการทางการเคลื่อนไหวมารวมตัวกันอีกด้วย

เหล่าไกด์รันเนอร์มือใหม่หลายคนแอบกังวลใจเล็กน้อย เพราะไม่ได้วิ่งบ่อย แถมครั้งนี้ยังต้องพาผู้พิการวิ่งไปด้วย แต่ต่อ-ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้งกลุ่มวิ่งด้วยกัน ก็ได้แนะนำการเตรียมตัว และการเข้าหาผู้พิการอย่างง่ายๆ ให้กับพวกเรา ช่วยทำให้ไกด์รันเนอร์มือใหม่หลายคนโล่งใจได้เยอะ

“วันนี้เราไม่ได้มาทำบุญนะครับ เรามาพาเพื่อนวิ่งไปด้วยกัน” พี่ต่อพูดขึ้นหลังจากแนะนำกิจกรรมเสร็จ เราพยักหน้าเห็นด้วย จากนั้นพวกเราก็ได้ไปชวนน้องๆ ที่มาจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ มาร่วมกิจกรรมกัน

ตอนนั้นเอง เราสะดุดตากับน้องผู้หญิงเสื้อขาวกำลังนั่งจับมือกับเพื่อนอยู่จึงชักชวนมาวิ่งด้วยกัน เธอคือน้องแพรว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ วันนี้คุณครูพาน้องกับเพื่อนกลุ่มใหญ่มาร่วมงานด้วย

พี่ต่อประกาศให้พวกเราทุกคนยืนประจำจุด Start และเมื่อเสียงสัญญาณนกหวีดดังขึ้น เรากับน้องแพรวเริ่มต้นวิ่งไปพร้อมกับคนอื่นๆ

ระหว่างวิ่ง เราเห็นวีลแชร์ของพี่ๆ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวแซงหน้าเราไปอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับไกด์รันเนอร์ที่วิ่งเก่งไม่แพ้กัน ถัดไปทางซ้าย คุณลุงผู้พิการทางสายตากับไกด์รันเนอร์สาวกำลังวิ่งด้วยความเร็วสม่ำเสมอ ส่วนอีกคู่เป็นชายหนุ่มกับคุณลุงผู้พิการทางสายตากำลังวิ่งเหยาะๆ ไปตามทาง เราสังเกตเห็นรอยยิ้มที่ปรากฎบนใบหน้านักวิ่งทุกคน บางคู่วิ่งเร็ว บางคู่วิ่งช้า แต่เราก็มุ่งไปข้างหน้า และวิ่งไปด้วยกัน

หลังจากผ่านไปได้ 500 เมตร น้องแพรวขอพักจากวิ่งเป็นเดิน แล้วบทสนทนาของเราสองคนก็เริ่มต้นขึ้น

“หนูชอบร้องเพลง พี่ชอบทำอะไรคะ” น้องเริ่มต้นถาม

“พี่หรอ ชอบทำไปเรื่อย ร้องเพลงก็ชอบ แล้วน้องแพรวชอบร้องเพลงอะไรคะ”

“หนูชอบเพลงลูกทุ่งค่ะ ไปร้องหลายงานแล้ว หนูเป็นนักร้องของโรงเรียน”

น้องแพรวเล่าต่ออีกว่าได้มีโอกาสเรียนร้องเพลงด้วย เพราะเป็นกิจกรรมที่ชอบมากๆ และการจะเป็นนักร้องที่ดีได้ต้องดูแลสุขภาพ เมื่อคุณครูพามาร่วมกิจกรรม น้องจะตอบตกลงมาทุกครั้ง แม้จะวิ่งได้ไม่เก่งมาก แต่ก็อยากออกกำลังกาย

“แล้วก็ได้มีเพื่อนด้วยค่ะ หนูสนุกมากๆ เวลามีเพื่อนคุย”

เรายิ้มไปกับความรู้สึกเหล่านี้

คู่ของเราวิ่งบ้าง พักบ้าง วิ่งตามที่เราสองคนไหว หลายคู่หันหน้ามาทักทายพวกเราและมุ่งหน้าแซงไปก่อน ตลอดระยะทางในสวนลุมฯ บทสนทนาของน้องแพรวและเราเดินทางไปพร้อมๆ กับฝีเท้าแต่ละก้าว น้องแบ่งปันชีวิตในวัยเรียน การร้องเพลง เราสองคนคุยกันถึงหนังสือที่ชอบ ต่างคนต่างแนะนำหนังสือให้แก่กัน

ระยะเส้นทางเกือบ 2.5 กิโลเมตรดูสั้นลงเมื่อการพูดคุยและเสียงหัวเราะเข้ามาแทนที่ และก่อนที่จะถึงเส้นชัย น้องแพรวขอให้เราบอกน้องก่อน เพราะน้องจะเริ่มต้นวิ่งอีกครั้ง

เรานึกถึงคำพูดของพี่ต่อครั้งหนึ่ง

“เส้นชัยสำคัญมากสำหรับผู้พิการ เพราะถ้าเขาก้าวไปได้ หมายความว่าเขาได้ประสบความสำเร็จอีกขั้นนึงแล้ว”

ก่อนถึงเส้นชัย 500 เมตร เรากับน้องแพรววิ่งไปด้วยกันอีกครั้ง จนในที่สุดเราก็ถึงที่หมายตามต้องการ

แม้เราจะไม่ได้วิ่งอย่างรวดเร็ว แต่เราก็พาน้องมาถึงจุดหมายแล้ว พร้อมอีกหลายคู่ที่พาเพื่อนๆ มาถึงจุดหมายที่สำเร็จอีกก้าวหนึ่ง

หลังวิ่งเสร็จ เราแวะทานของว่างกับน้อง และนั่งคุยกันอยู่นาน ก่อนจะมีกิจกรรมเต้น และเมื่อเสร็จกิจกรรมทั้งหมด เรากับน้องแพรวก็ตกลง add friend กันในเฟซบุ๊ก

“พี่แอดหนูมานะ ลงรูปแล้วแท็กด้วยนะๆ” น้องแพรวบอก เราตอบตกลง

ก่อนกลับ เรานึกขึ้นได้อีกครั้งว่าวันนี้วันหยุด และเรา-บุคคลที่ไม่ได้มีการวิ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจวัตรประจำวัน-ก็รู้สึกดีกว่าครั้งไหนๆ ที่ได้ตื่นเช้าออกมาพาเพื่อน ‘วิ่งด้วยกัน’

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR