กฤติกร ผู้ก่อตั้ง Main Stand เว็บกีฬาที่คนไม่อินกีฬาก็หลงรักจนคนตามกว่าครึ่งล้าน

‘Hub of Sport Edutainment’

ประโยคด้านบนคือนิยามสั้นๆ ที่กำกับเอาไว้ในหน้าโฮมเพจของเว็บไซต์ Main Stand

หากใครเป็นคอกีฬา ผมเชื่อว่าย่อมเคยผ่านตาเนื้อหาในเว็บไซต์กีฬาอายุไม่ถึงปีแต่มียอดไลก์เพจกว่าครึ่งล้าน ส่วนใครไม่ได้ติดตามกีฬา ผมก็ยังเชื่อว่าน่าจะเคยประทับใจกับเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตนักกีฬาที่เล่าอย่างมีชั้นเชิงและทรงพลัง

คนอื่นเห็นอะไรผมไม่แน่ใจ แต่โดยส่วนตัว เมื่อเข้าเว็บไซต์ Main Stand ผมเห็นทั้ง ‘ความลึก’ และ ‘ความรัก’

ความลึก–ว่ากันด้วยข้อมูล เว็บไซต์แห่งนี้น่าจะเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับกีฬาที่มีข้อมูลลึกเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศ ซึ่งสิ่งนี้ กฤติกร ธนมหามงคล ผู้ก่อตั้ง บอกผมว่ามันคือแกนหลักของเว็บที่ตั้งใจเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬาอย่างลงลึก ไม่ใช่เน้นลงเร็ว

ความรัก–หลังจากที่ติดตามมาตั้งแต่เปิดเว็บไซต์ ผมพบว่าหากปราศจากความรักในกีฬาและงานที่ทำ ไม่มีทางที่เนื้อหาแต่ละชิ้นจะออกมาอย่างที่เห็น เพราะมันใช้พลังมากกว่าคอนเทนต์กีฬาทั่วๆ ไปที่เราคุ้นเคย ถึงขั้นบินไปสัมภาษณ์ที่ภูฏานก็เคยมาแล้ว

ไม่ว่าคุณจะสนใจกีฬาหรือไม่ ผมอยากชวนอ่านความคิดของเขาโดยไม่ต้องรอเสียงนกหวีดเป่าเริ่มเกม

 

ก่อนจะลุกขึ้นมาทำ Main Stand คุณทำอะไรมาก่อน

ก่อนหน้านี้ผมทำงานเป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร FourFourTwo ประจำประเทศไทย ซึ่งเนื้อหาจะค่อนข้างยาว และขณะนั้นสื่อกีฬาในไทยที่จะผลิตงานแบบ FourFourTwo ยังไม่มี มันมีวิธีการเขียนที่พัฒนา ก้าวข้ามสื่อฟุตบอลทั่วๆ ไป มันคือวิธีการนำเสนอแบบสารคดีจริงๆ ทำให้ตอนนั้น FourFourTwo เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

 

แล้วจุดไหนที่ทำให้คุณกล้าตัดสินใจลาออกจากการงานที่มั่นคงมาทำเว็บไซต์ Main Stand

ความจริงตอนแรกผมก็กลัวนะครับ ผมขี้กลัว (หัวเราะ) ผมกลัวความเปลี่ยนแปลง กลัวอนาคต แต่ว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำมาหลายปี

ตอนนั้นแม้ FourFourTwo จะได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี แต่อย่างไรก็ตามมันก็ยังเป็นสื่อฟุตบอล เพราะฉะนั้นคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายก็ยังมีเฉพาะกลุ่มคนที่ชอบฟุตบอล แต่ผมอยากจะทำสื่อกีฬาสักสื่อหนึ่งที่ทำให้คนที่ไม่ดูกีฬาก็สนใจกับเนื้อหาได้ แล้ววันหนึ่งรุ่นพี่ของผมเขาโทรมาหา บอกว่าอยากจะทำเว็บกีฬาเว็บหนึ่งซึ่งก็เข้าทางผมพอดี เพราะผมก็อยากทำเว็บไซต์กีฬาที่ไม่ใช่แค่การรายงานผลการแข่งขันหรือสัมภาษณ์หลังแข่ง แต่ผมต้องการทำให้เว็บกีฬาของผมเป็นศูนย์รวมของทั้งสาระความรู้และความสนุกเกี่ยวกับเรื่องของกีฬาทั้งหมด

ผมเรียกมันว่าเป็น Hub of Sport Edutainment เพราะฉะนั้นคอนเซปต์ของ Main Stand จึงเป็น in-depth story ไม่พาดพิงใคร ไม่ทำให้เนื้อหาเกิด hate speech ในสังคมกีฬา แล้วที่สำคัญที่สุดคือทุกคนต้องอ่านได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ชอบกีฬา คือผมพยายามทำให้เนื้อหาของ Main Stand เข้าถึงคนในวงกว้างให้ได้

 

ทำไมคนไม่สนใจเรื่องกีฬาต้องอ่านเรื่องกีฬาด้วย

ผมมองว่ามีหลายๆ เรื่องในวงการกีฬาที่น่าค้นหา น่าสนใจ แต่พอคุณไปยึดติดกับการเล่าเรื่องแบบที่เน้นเรื่องของกีฬา มันทำให้คนในวงกว้างไม่สนใจต่อเรื่องนั้นๆ สมมติผมอยากจะเล่าเรื่องนักซูโม่ ถ้าผมเขียนว่าสัมภาษณ์สุดยอดนักซูโม่หญิงชาวไทย ผมเชื่อว่าแฟนฟุตบอลคงไม่อ่าน นักวิชาการคงไม่อ่าน แต่ถ้าเราพาดหัวหรือเจาะลึกเรื่องราวบางอย่างของเขาที่อิมแพกต์กับสังคม ผมคิดว่าคนน่าจะสนใจ

ผมเคยอ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เขาบอกว่าข่าวกีฬาโดยทั่วๆ ไปมันเหมือนกับเวทีมวย คือนักมวยพอขึ้นเวทีมันก็ต่อยกันอยู่แค่สี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่สำหรับผมผมเชื่อว่าจริงๆ ข่าวกีฬามันไม่ใช่แค่นั้น มันไม่ใช่แค่เราต้องต่อย 12 ยกในพื้นที่จำกัด แต่ผมคิดว่าผมสามารถทำให้ข่าวกีฬาให้มันเป็น MMA ได้ หมายความว่าให้มันมีความหลากหลายในการต่อสู้ แล้วสิ่งสำคัญคือเรื่องราวหลายๆ อย่างในวงการกีฬามันสร้างอิมแพกต์ให้คนในสังคมได้เช่นกัน อย่างที่เราเห็นนักกีฬาหลายๆ คนที่เขามีส่วนร่วมกับการสร้างประโยชน์อะไรหลายอย่างให้กับสังคม

ความยากในการทำสิ่งที่คุณเชื่อคืออะไร

ผมต้องทำให้น้องในทีมเข้าใจ identity ของความเป็น Main Stand ไม่ใช่น้องๆ ในทีมที่เขียนอย่างเดียว แต่รวมถึงผู้บริหารด้วย ว่าทำไมเราต้องทำแบบนี้ ทำไมเราไม่ทำแบบสื่ออื่นๆ เราต้องตอบคำถามเขาให้ได้ ด้วยความที่เราเป็นสื่อกีฬาที่ไม่เคยมีคนทำ มันก็ยากนิดหนึ่งที่เราจะชักชวนใครให้เชื่อว่ามันจะเวิร์ก

 

แล้วทำไมคุณถึงเชื่อว่ามันจะเวิร์ก

(คิด) ขอเท้าความนิดหนึ่ง ถามว่าทำไมผมอยากทำ in-depth story และเป็นเนื้อหาประเภท timeless

ส่วนหนึ่งเพราะผมคิดว่าผมเป็นคนขี้เกียจ ผมขี้เกียจที่จะมาลงเนื้อหาแบบ timely ตลอดเวลา เช่น ผลการแข่งขันมาก็ต้องลงแล้ว ซึ่งเราเคยทำอย่างนั้นพร้อมๆ ไปกับการทำเนื้อหาเชิงลึกด้วย ซึ่งมันเหนื่อยมาก และถ้าเกิดว่าเราต้องทำ 2 อย่างพร้อมๆ กัน ผมคิดว่าเราจะไม่มีจุดเด่น เพราะฉะนั้นถ้าถามผม ผมอยากจะทำให้มันแตกต่าง ผมไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันความเร็ว

ผมมีความเชื่อว่าโลกมันจะเปลี่ยนแปลง คนจะชอบอ่านงาน in-depth story มากขึ้นเรื่อยๆ อีกอย่างคือสื่อที่เน้นความรวดเร็วมันมีล้นตลาดแล้ว อันนี้คือเหตุผลที่ผมคิดว่าตลาดตรงนี้มีคนพร้อมที่จะอ่านในระดับหนึ่ง

ทุกวันนี้บางทีผมก็พูดกับน้องๆ ในทีมว่า เฮ้ย เห็นไหม สิ่งที่เราทำมันได้ฟีดแบ็กที่ดีกลับมา น้องก็บอกว่า ใช่ เพราะไม่ค่อยมีใครบ้าเหมือนเรา (หัวเราะ)

 

คือตอนนี้ทุกคนในทีมเชื่อเหมือนกันหมด

ผมพยายามทำให้ทุกคนเข้าใจอย่างถ่องแท้มากกว่า เราต้องคอยสื่อสารเรื่อยๆ ถามว่ายากไหม ยาก เพราะว่าด้วยความที่เราเป็นสื่อกีฬาในแบบที่ไม่เคยมีใครทำ น้องๆ ก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัวในการทำสื่อกีฬาแนวใหม่แบบนี้

แล้วคุณทำอย่างไรให้เรื่องกีฬาที่พวกคุณเล่าต่างจากเรื่องกีฬาที่หาอ่านได้ทั่วไป

เวลาเวิร์กช็อปผมจะบอกน้องๆ ว่าวิธีที่จะเขียนให้สนุกคือเราต้องสนุกกับมันก่อน เราไม่อยากให้งานของเราติดแพตเทิร์นการเล่าเรื่องเดิมๆ เหมือนเวลาอ่านหนังสือพิมพ์ เราไม่ได้พาดพิงใคร แต่เราแค่ต้องการก้าวออกจากสิ่งที่คนอื่นเขาเป็นออกมา

ผมพยายามบอกน้องในทีมว่าดูหนังให้เยอะ ผมอยากให้เขารู้วิธีการวางเส้นเรื่องต่างๆ ว่ามันต้องมีจุดเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีจุดหักเห มีจุดพีกของเรื่อง แล้วจะจบอย่างไร ทักษะในการเล่าเรื่องเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าเขาดูหนังเยอะ เขาจะเอามาประยุกต์กับงานเขียนแต่ละชิ้นของเขาได้ ซึ่งช่วงหลังน้องๆ ในทีมก็ดูเน็ตฟลิกซ์กันเยอะ ก็เลยเอาวิธีเล่าจากเน็ตฟลิกซ์มาเขียน (หัวเราะ)

ผมเชื่อว่าทุกๆ เรื่องมันอยู่ที่การเล่า ถ้าเกิดคุณเล่าเรื่องเป็น คุณจะเขียนเรื่องบาสเกตบอลก็เขียนได้ จะเขียนเรื่องกอล์ฟก็เขียนได้ แล้วอย่างที่ผมบอก ถ้าเราจะเล่าเรื่อง NBA เราก็ไม่ได้จะเขียนเจาะกลุ่มคนที่ดู NBA เท่านั้น แต่กลุ่มคนที่ชอบดราม่าก็อ่านได้

 

พอเลือกจะเล่าเรื่องราวที่ลงลึก มันส่งผลต่อกระบวนการทำงานอย่างไรบ้าง

(นิ่งคิด) มันใช้เวลาเยอะมาก ช่วงที่ผมลงสัมภาษณ์เองบ่อยๆ ผมใช้เวลาคุยกับแหล่งข่าว 3-4 ชั่วโมง เพราะผมอยากจะเข้าถึงบุคลิกหรืออุปนิสัยของคนคนนั้นจริงๆ เพราะมันมีผลต่อการถ่ายทอดเรื่องราวออกมาให้ดีที่สุด

ผมบอกน้องๆ ในทีมตลอดว่าเวลาลงไปเจอแหล่งข่าว เราพยายามอย่าคิดว่าเขาเป็นแหล่งข่าว ให้คิดว่าเขาเป็นเพื่อน เราแค่ไปนั่งคุย ทำความรู้จัก ซึ่งผมค่อนข้างให้ความยืดหยุ่นกับทีมงานพอสมควร ถ้าเกิดเขารู้สึกว่างานชิ้นนี้เขียนแล้วมันยังไม่อิ่มพอ ผมก็จะให้เขาไปหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือโทรไปสัมภาษณ์เพิ่ม คือไม่ได้กำหนดว่าชิ้นไหนต้องลงวันไหน

เห็นว่าเคยเจาะจงบินไปสัมภาษณ์เจ้าหญิงภูฏานเรื่องฟุตบอล

ใช่ครับ คือช่วงแรกๆ ผมพยายามทำให้งานทุกชิ้นออกมาให้คนชอบ ผมวางแผนคอนเทนต์ล่วงหน้า 1 เดือนเต็มๆ สำหรับการเปิดตัวในเดือนแรก และงานบทสัมภาษณ์ชิ้นแรกที่ผมทำลง Main Stand ก็คือบทสัมภาษณ์เจ้าหญิงภูฏาน

คือการที่เจ้าหญิงคนหนึ่งลงมาเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลเอง ผมไม่เคยเจอที่ไหนนะ แล้วถ้าผมมีโอกาสผมก็อยากสัมภาษณ์คนแบบนี้ ซึ่งมันก็เป็นโชคดีของเรามากๆ ที่เราติดต่อเจ้าหญิงได้ และเราก็มีคนพร้อมสนับสนุนให้เราไปสัมภาษณ์ด้วย ต้องขอบคุณนายทุนของผมที่เป็นผู้บริหาร วันนั้นผมแกล้งพูดกับเขาเล่นๆ ว่าถ้าผมติดต่อเจ้าหญิงได้เดี๋ยวผมจะขอไปสัมภาษณ์ที่ภูฏานนะ เขาก็บอกว่า ไปเลย ถ้ามึงติดต่อได้ (หัวเราะ)

                                             

แล้วคุณติดต่ออย่างไร

ผมมีเพื่อนชาวญี่ปุ่นชื่อ แดน อิโตะ เป็นนักฟุตบอลที่เล่นมา 20 ประเทศ เป็นเจ้าของสถิติในกินเนสบุ๊กว่าเป็นนักฟุตบอลที่ตระเวนเล่นฟุตบอลมาหลายประเทศที่สุด แล้วแดน อิโตะ เคยไปเล่นทีมเจ้าหญิงที่ภูฏาน เขาเลยติดต่อให้ผมว่ามีเพื่อนเป็นสื่อมวลชนจากประเทศไทยอยากสัมภาษณ์ ผมก็เลยลองคุยอินบ็อกซ์ในเฟซบุ๊กกับเจ้าหญิง

ตอนแรกผมก็ตื่นเต้น เรารู้สึกว่าการที่มีโอกาสได้คุยกับราชวงศ์สักคนหนึ่งมันเป็นอะไรที่เกินความคาดฝัน แต่ว่าเจ้าหญิงเขาเป็นกันเองมาก แล้วเขาก็บอกว่าที่ภูฏานไม่ได้เข้มงวดเรื่องการเข้าถึงราชวงศ์ขนาดนั้น เขาก็เข้ามาจับมือ เข้ามากอดเป็นปกติ ก่อนนักฟุตบอลลงสนามเขาก็ไปยืนกอดคอให้กำลังใจ วันแรกผมค่อนข้างเกร็ง แต่วันที่สองวันที่สามก็เริ่มคุ้นเคยกันมากขึ้น ที่อยู่หลายวันเพราะเราก็อยากรู้ด้วยว่าเขาอยู่และเขาทำงานอย่างไร

 

ที่ผ่านมาทำไมต้องทำขนาดนั้น ทั้งที่รู้ว่าเราต้องเหนื่อยกว่าการทำคอนเทนต์ปกติ

คือผมจะหายเหนื่อยตอนมีคนบอกว่างานดีมาก เวลาได้ยินคนชื่นชมในงานของพวกเรา ซึ่งไม่ใช่แค่งานของผม แต่รวมถึงงานข้องน้องๆ ในทีมทุกๆ คน ผมจะมีความสุขมากเวลาเห็นน้องผลิตคอนเทนต์ออกมาได้ดี และผมก็จะบอกน้องๆ ว่า เห็นไหม สิ่งที่เราทำมันแตกต่างจากคนอื่นแล้วได้รับฟีดแบ็กอย่างไร

พอผมขยับมาทำ Main Stand ผมลงพื้นที่ด้วยตัวเองน้อยลง แต่มันมีความสุขตรงที่ ณ วันนี้เราได้ปลูกฝังแล้วก็ทำให้น้องๆ ในทีมเขาเชื่อในแนวทางของเราได้ ด้วยวิธีการเขียน ด้วยวิธีการนำเสนอคอนเทนต์กีฬาแบบเรา

คนมักจะบอกว่าสื่อกีฬาไทยเสียเปรียบสื่อระดับโลก เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข่าวได้ พวกคุณมองว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาบ้างไหม

ผมไม่เคยมองว่าตรงนี้เป็นปัญหา เพราะถ้าเรามองว่าตรงนั้นเป็นปัญหา เราก็จะไม่ได้เนื้อหาที่ดี

สุดท้ายถ้าเราอยากทำเนื้อหาที่ดี เราต้องหาคอนเทนต์ในไทยที่มันน่าสนใจในระดับที่ใกล้เคียงกับแหล่งข่าวต่างประเทศ หลายๆ ครั้งที่ผมเห็นคอนเทนต์ต่างประเทศผมจะรู้สึกว่า เฮ้ย เรื่องแบบนี้เจ๋งดี ลองไปหาคนไทยที่มีเรื่องราวประมาณนี้บ้างดีกว่า แล้วเราก็เจอ

 

คือคุณเชื่อว่าบ้านเรามีเรื่องราวที่น่าสนใจที่มีพลังเช่นเดียวกัน

ใช่ แค่เราอาจจะไม่ลองหากันเอง อย่างแดน อิโตะ ผมก็ตามล่าหาอยู่สักพักเหมือนกัน เพราะตอนนั้นผมอ่านเรื่องผู้รักษาประตูชาวเยอรมันที่ค้าแข้งใน 6 ทวีป ผมก็อยากรู้ว่าคนไทยมีแบบนี้บ้างไหม ที่เล่นฟุตบอลตลอดชีวิต 20 ทีม ปรากฏว่าหาไม่ได้ แต่ระหว่างที่ผมหาไปเรื่อยๆ ก็มีพี่คนหนึ่งที่เขารู้จักแดน อิโตะ ก็เลยให้ผมโทรไปคุย ปรากฏชีวิตเขาน่าสนใจกว่าที่ผมตามหาทีแรกอีก ก็เลยขอนัดเขาสัมภาษณ์

 

เวลาติดต่อขอสัมภาษณ์ คุณบอกคนเหล่านั้นว่าสนใจอะไรในตัวเขา

บางคนผมก็บอกเขาตรงๆ ว่าเรื่องของคุณมันไม่ได้หาได้ง่ายๆ ตามท้องถนน มันต้องพลิกป่าหาทั่วแผ่นดินถึงจะเจอ มันเป็นเรื่องที่ทำให้ผมอยากสัมภาษณ์คุณมากๆ

 

ย้อนกลับไปในตอนแรก ทำไมคุณถึงตั้งชื่อเพจว่า Main Stand

มันมาจากความรู้สึกของผมที่ว่าถ้าเกิดคุณอยากดูกีฬาด้วยมุมที่ชัดที่สุด คุณต้องอยู่ที่ Main Stand คุณต้องอยู่บนอัฒจันทร์หลักคุณถึงจะเห็นทุกๆ อย่าง คุณจะเห็นกลุ่ม VIP คุณจะเห็นกลุ่มแฟนบอล คุณจะเห็นอะไรอีกมากมาย คุณจะเห็นนักฟุตบอลออกจากอุโมงค์

จุดนี้เป็นจุดที่แฟนกีฬาจะได้ดูกีฬาอย่างมีความสุขมากที่สุด

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน