Maho Rasop 2019 เทศกาลดนตรีที่เริ่มนับหนึ่งและอยากไปให้ถึงร้อย

Highlights

  • Maho Rasop Festival คือเทศกาลดนตรีที่คัดสรรวงดนตรีที่น่าสนใจจากทั้งไทยและเทศมาจัดแสดงในบ้านเรา
  • หลังจบงานครั้งที่แล้ว ทีมงานเดินหน้าเตรียมจัดงานครั้งที่ 2 ทันที เริ่มจากประกาศวันจัดงานล่วงหน้าหนึ่งปี โดยปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 16-17 พฤศจิกายนที่ Live Park พระราม 9
  • แม้จะมีเวลาเตรียมตัวประมาณหนึ่ง แต่ ศรัณย์ ภิญญรัตน์ หนึ่งในคณะผู้จัดก็บอกว่าเขาต้องคอยรับมือกับปัญหาที่เข้ามาตลอดเวลา ส่วนหนึ่งก็เพื่อทำให้ผู้ร่วมงานครั้งนี้ได้ประสบการณ์ที่สนุกกลับไป และอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อ Maho Rasop Festival จะกลายเป็นเทศกาลที่ยืนระยะและจัดต่อไปได้ทุกๆ ปี

ย้อนกลับไปปลายปี 2018 คอดนตรีบ้านเราน่าจะได้ยินข่าวคราวของเทศกาลดนตรีสดใหม่ที่ในเวลานั้นหลายคนอาจสงสัยว่าจะออกมาหน้าไหน เพราะชื่อของเทศกาลก็ดันไปสอดคล้องกับภาพจำว่าต้องเป็นการแสดงแบบไทยๆ แต่พอไล่สายตาดูรายชื่อศิลปินก็ต้องเกาหัวแกรกๆ ด้วยวงดนตรีเหล่านั้นล้วนข้ามฟ้าข้ามทะเลมาจากต่างแดน แล้วที่สำคัญ บางวงฉันก็ยังไม่รู้จักอีก

เทศกาลนี้คงไม่เหมาะกับฉัน/ผม/เราแล้วแหละมั้ง

บางคนอาจคิดเช่นนั้น แต่บางคนก็ไม่

17 พฤศจิกายน ค.ศ. 2018 Maho Rasop Festival เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยไม่มีใครคาดหมายวันนั้นทั้งวัน ภาพถ่าย ข้อความ คำบอกเล่า วิดีโอคลิป ที่พูดถึงเทศกาลนี้ปรากฏขึ้นเต็มโซเชียลเน็ตเวิร์ก (อย่างน้อยก็ในของผม) และราวกับธรรมเนียมของการชมคอนเสิร์ต หลังเทศกาลรูดม่านปิดฉากไป ผู้คนต่างส่งเสียงเซ็งแซ่ ไชโยโห่ร้อง ปรบมือเป่าปาก เรียกร้องให้เทศกาลนี้กลับมาแสดงต่ออีกครั้ง

ไม่ต้องรอนาน ไม่ทันผ่านพ้นหนึ่งสัปดาห์ คณะผู้จัดอันประกอบด้วย HAVE YOU HEARD? (กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร และพิมพ์พร เมธชนัน), Seen Scene Space (ปิยสุ โกมารทัต) และฟังใจ (ศรัณย์ ภิญญรัตน์) เหล่าโปรโมเตอร์คอนเสิร์ตที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป ก็ต้อนรับเสียงอังกอร์เหล่านั้นด้วยการประกาศล่วงหน้า 1 ปีว่า Maho Rasop 2019 จะกลับมาอย่างแน่นอน

เทศกาลได้เสียงตอบรับดี คนที่ไปแล้วอยากไปอีก คนที่พลาดไปตั้งตารอ

ทุกอย่างเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ ทุกสิ่งดูเหมือนจะง่ายขึ้นสำหรับพวกเขา แต่แล้วก็คงเหมือนแพลนชีวิตที่ไม่เคยได้ดังใจ หนึ่งปีที่ผ่านมาเรื่องราวที่คาดไม่ถึงประเดประดังเข้าใส่ทีมงาน Maho Rasop เป็นเหตุให้ผมต้องนัดพบกับ ศรัณย์ ภิญญรัตน์ หนึ่งในทีมผู้จัด เพื่อถามถึงความพร้อมของเทศกาลที่จะจัดขึ้นในวันที่ 16-17 พฤศจิกายนนี้

การประกาศล่วงหน้า 1 ปี แถมเพิ่มเป็น 2 วัน ถือเป็นการตั้งใจตั้งแต่แรกหรือเป็นการตัดสินใจหลังจากจบงานปีที่แล้ว

เอาจริงๆ ก็ก้ำกึ่ง คือตอนคุยกันเรื่อง Maho Rasop กับพี่ๆ ทีม HAVE YOU HEARD? และ Seen Scene Space เราต่างมีความคิดว่า Maho Rasop คือโปรเจกต์ระยะยาว แต่ด้วยความที่เป็นครั้งแรก เลยไม่มีใครแน่ใจได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะประสบความสำเร็จไหม ผลตอบรับจะดีหรือเปล่า

พอจบงานครั้งแรก เราเห็นว่าคนที่มามีความสุขมาก และในแง่ของผู้จัดอย่างเราตั้งแต่จัดคอนเสิร์ตมา 4-5 ปี Maho Rasop คืองานที่ผลตอบรับดีที่สุด เลยมั่นใจว่าจัดครั้งต่อไปได้ หลังจากพักเหนื่อยกัน 1-2 วันก็คุยกันว่าจะจัดต่อ แต่จะทำยังไงให้มันดีขึ้น ก็เพิ่มเป็น 2 วัน เพราะหนึ่งในปัญหาของปีที่แล้วคือเรามีลิสต์วงดนตรีอยู่ในใจเยอะมาก แล้วเรารู้สึกว่าหนึ่งวันมันแน่นเกินไป หลายคนบ่นว่าดูไม่ครบ แต่สุดท้ายวงปีนี้ก็เยอะอยู่ดี (หัวเราะ)

ประกาศล่วงหน้านานขนาดนี้มีผลดียังไง

มีเวลาเตรียมตัวและสื่อสารกับผู้คนเยอะขึ้น อย่างครั้งที่แล้วกว่าจะประกาศอะไรได้ก็กลางปีแล้ว แถมยังต้องใช้เวลาไปกับการบิลด์ว่าไลน์อัพเหล่านั้นดียังไง ต้องอธิบายด้วยว่า Maho Rasop คือเทศกาลอะไร ทุกอย่างเลยอีรุงตุงนัง แต่คราวนี้มันเคลียร์ขึ้น พูดชื่อ Maho Rasop ออกไป คนเริ่มรู้แล้วว่าคืออะไร บรรยากาศเป็นแบบไหน การดีลกับวงดนตรีก็ไม่ลำบากเหมือนปีก่อน เพราะต่อให้ก่อนหน้านี้ HAVE YOU HEARD? กับ Seen Scene Space จะเคยจัดคอนเสิร์ตวงต่างประเทศ แต่พอเป็นเทศกาลแล้วมันเป็นคนละเรื่องกัน พอมาครั้งนี้เราคุยกับวง ส่งอีเมลคุยกับเอเจนต์ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเลย ส่งวิดีโอของครั้งก่อนไปให้ดู เขาก็เข้าใจทันทีว่ามันเป็นยังไง ประกอบกับไลน์อัพครั้งที่แล้วมีวงใหญ่ๆ อย่าง Slowdive, The Vaccines หรือ Miami Horror ก็ทำให้คำถามที่เขามีลดน้อยลงไปเยอะ

พอทุกอย่างสมูทกว่าเดิม เราก็มีเวลาไปทำเรื่องอื่นได้ อย่างปีนี้ก็มีพาร์ตเนอร์เพิ่มขึ้น กิจกรรมในงานก็มากขึ้น มีบูทให้คนมาเพนต์หน้า มีพื้นที่ให้คนมาตัดผม มีพื้นที่สำหรับการพักผ่อน คือเรามีเวลาคิดว่าจะทำงานให้ professional และสนุกกว่าเดิมได้ยังไง

facebook.com/MahoRasopFestival

เหมือนสเกลของงานจะใหญ่ขึ้น

ใช่ๆ มันใหญ่ขึ้นทุกอย่างเลย คือเราผลิตของทีเดียวเหมือนเดิมแหละ แต่มันมีเรื่องที่ต้องดูแลเยอะขึ้น เช่นจำนวนศิลปินคูณสอง แน่นอนว่าสิ่งที่จะตามมาคือเรื่องที่พัก เรื่องการเดินทาง เรื่องการขอวีซ่า ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามทุกอย่างจะกลายเป็น 2 เท่า เราก็ต้องแก้ตรงนั้น เรียกว่ามีหน้าที่ให้ต้องรับผิดชอบมากขึ้น

ด้วยหน้าที่เหล่านี้ทำให้พอถึงวันงานจริงๆ คุณได้ดูโชว์ต่างๆ บ้างไหม

แทบไม่ได้ดูอะไรเลย วันงานทุกอย่างเป็นสแนปช็อตไปหมด คือต่อให้เตรียมงานดีแค่ไหนก็จะมีปัญหาให้เราแก้เยอะแบบไม่น่าเชื่อ

Maho Rasop เป็นการรวมตัวของโปรโมเตอร์ 3 เจ้าก็จริง แต่ทุกคนก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ อย่างปีที่แล้วก็เกิดปัญหาว่าพวกเราไม่ได้ตัดสินใจร่วมกัน เพราะบางคนต้องคอยไปแก้ไขเรื่องอื่น ปีนี้เราเลยถ่ายโอนหน้าที่ไปยังแผนกอื่นหรือหาซัพพลายเออร์มาช่วยซัพพอร์ต เพื่อพวกเราจะได้อยู่ด้วยกัน คอยแก้ปัญหาอย่างเดียว และอีกส่วนก็เพื่อเราจะได้เดินดูงาน ได้คุยกับคน ได้พยายามซึมซับ ได้อยู่ในมุมมองเดียวกับคนดูมากขึ้น

ความสนุกในการจัดเทศกาลคืออะไร

เราอยากถ่ายทอดประสบการณ์ คือเราเคยไปเทศกาลพวกนี้มา ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา แล้วมันโคตรสนุก เราอยากให้คนไทยได้สัมผัสประสบการณ์แบบนั้นโดยที่ไม่ต้องลำบากบินไปดูนอกประเทศ ซึ่งจากที่เห็นผลตอบรับในปีที่แล้วมันก็ตอบโจทย์ส่วนตัวของเราที่อยากให้คนมาสนุก ให้คนรู้สึกว่าบ้านเรามีเทศกาลแบบนี้สักที

แต่ในขณะเดียวกันนี่ก็ยังไม่ใช่ภาพที่คิดไว้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีหลายอย่างมากที่ต้องพัฒนาต่อไป ตอนนี้ไม่ว่าเรื่องไลน์อัพ ประสบการณ์ กิจกรรมต่างๆ ในงานมันอาจจะได้สัก 60 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่เราอยากให้เป็น ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลที่เราต้องจัด Maho Rasop ต่อ ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้งานมันดีขึ้น ไลน์อัพโตขึ้น แต่อีกส่วนหนึ่ง ถ้าตอบแบบเท่ๆ หน่อยก็จะบอกว่ามันคือเรื่องของการทำให้เศรษฐกิจของประเทศเราดีขึ้น เพราะถ้าเทศกาลนี้ใหญ่จริงมันก็สามารถดึงชาวต่างชาติเข้ามาร่วมงานและอาจทำให้ความเข้าใจของชาวต่างชาติที่มีต่อกรุงเทพฯ เปลี่ยนไป เหมือนเทศกาล SXSW (South by Southwest) ที่ทำให้เมืองออสตินในรัฐเท็กซัสกลายเป็นเมืองที่โคตรเท่ ปลายทางไกลๆ เราอยากให้ Maho Rasop ปรับภาพลักษณ์ของเมืองไปในทางนั้น แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้นได้ เราก็ต้องปรับปรุงให้ Maho Rasop ดีขึ้นทุกๆ ปีก่อน

facebook.com/MahoRasopFestival

ปีที่แล้วชาวต่างชาติมาร่วมงานเยอะไหม

ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ปีนี้เยอะขึ้นอีก ชาวมาเลเซียกับอินโดนีเซียซื้อบัตรเยอะมาก สิงคโปร์กับญี่ปุ่นก็พอมี อาจเพราะไลน์อัพเราโตขึ้นเลยเริ่มดึงดูดคนจากประเทศเพื่อนบ้านได้

 

ทุกอย่างเหมือนจะเป็นไปด้วยดี แต่อยู่ๆ ก็มีอีกเทศกาลเกิดขึ้นมา คุณและทีมงานต้องปรับแผนอะไรบ้างไหม

จริงๆ เราอยากใช้เวลาเลือกหรือคุยกับวงมากกว่านี้ แผนตอนแรกคืออยากขายบัตร early bird ตอนที่ไลน์อัพเกือบจะครบแล้วด้วยซ้ำ เพื่อให้คนดูตัดสินใจได้ทันทีก่อนที่บัตรจะขึ้นราคา แต่ความเป็นจริงเราต้องประกาศไลน์อัพแรกเร็วกว่าที่วางแผนไว้ (มิถุนายน 2019) เพราะเราทำเป็นมองไม่เห็นอีกเทศกาลหนึ่งไม่ได้

เราไม่สามารถพูดได้ว่าใครคิดอะไรอยู่ แต่โดยปกติแล้ว การจัดงานชนกันไม่ว่าด้วยสาเหตุอะไรก็ตามมันไม่ดีกับใครเลย ไม่ดีกับทั้งผู้จัด ไม่ดีกับทั้งคนดู ซึ่งเราก็เห็นข้อความในโซเชียลฯ ที่หลายคนบอกว่าไม่รู้จะไปเทศกาลไหนดี

บรรยากาศของเทศกาลดนตรีน่าจะดีกว่านี้ได้ ถ้ามันมีการพูดคุยกันเพื่อหาทางทำยังไงก็ได้ให้ผู้ชมได้ผลประโยชน์สูงสุด ก็ได้แต่หวังว่าปีหน้าคงไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้แล้ว

แล้ว Maho Rasop จงใจจัดงานให้คาบเกี่ยวกับ Clockenflap (เทศกาลดนตรีในฮ่องกง จัดวันที่ 22-24 พฤศจิกายน) หรือเปล่า

จงใจ คือต้องบอกก่อนว่า Maho Rasop เป็นเทศกาลใหม่ แล้วสเกลก็เล็กกว่าที่อื่นๆ มาก ถ้าเราอยากได้วงที่ดี วงที่ดัง วงที่มีชื่อเสียง แน่นอนว่าราคาย่อมแพง เราไม่สามารถจ้างให้เขาบินมาเพื่อเราโดยตรงได้ เราต้องหวังว่าเขาจะมาทัวร์เอเชีย มาทัวร์เทศกาลหลักๆ แถวนี้ แล้วเราค่อยแทรกตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการทัวร์ของเขา

อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศเรามีช่วงที่ฝนไม่ตกอยู่ไม่กี่เดือน ทีนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวมันมีเทศกาลอะไรบ้างล่ะที่จัดอยู่ เราก็เลยเลือก Clockenflap เพราะนอกจากจะเป็นเทศกาลที่จัดเป็นประจำในช่วงเดือนพฤศจิกายน พวกเรายังรู้จักกับผู้จัดและรู้ว่าสามารถแชร์ไลน์อัพกับเขาได้

ไม่กลัวว่าจะเป็นการแย่งกลุ่มลูกค้าต่างชาติกันเอง

ไม่นะ เพราะเท่าที่คุยกับทาง Clockenflap เขาก็บอกว่าไม่ว่าเทศกาลอะไรก็ตามกลุ่มเป้าหมายหลักก็ต้องเป็นคนท้องถิ่น แล้วอีกอย่างเซนส์การเลือกวงระหว่างเรากับเขาก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ด้วยความที่ Clockenflap เป็นงานสเกลใหญ่กว่าเรามาก เขาเลยมีวิธีเลือกวงที่ถ้าไม่กึ่งไปทางแมสเลย ก็จะมีความเป็นศิลปินระดับตำนานมากๆ ซึ่งเขาอยู่ในจุดที่ปลอดภัยทางการเงิน ทำอะไรก็ได้แล้ว ยังไม่ต้องประกาศไลน์อัพบัตรก็ขายได้ เขาเลยสามารถยื่นประสบการณ์ที่มันยูนีคมากๆ ให้กับคนดูได้ แต่ของเรายังต้องบาลานซ์อยู่ เรายังไปไม่ถึงจุดที่จะเลือกใครมาก็ได้ เลยต้องมีทั้งวงที่คนอยากดูกับวงที่คนดูอาจจะไม่รู้จัก แต่เราอยากให้เขาดูเพราะเป็นวงที่โชว์ดีมาก

 

แต่ก็มีหลายคนเลยที่บอกว่าไม่รู้จักวงที่ Maho Rasop เลือกมา

เรายังมีความเชื่อมั่นว่าคงไม่ถึงขั้นไม่มีคนรู้จักเลยสักวง ถ้ารู้จักสัก 2-3 วงแล้วพร้อมที่จะเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ เราว่าคนที่มาแล้วจะอยากกลับมาอีก เรามั่นใจว่าสิ่งที่ offer ให้นั้นมากกว่าแค่วงที่มาเล่น อย่างปีที่แล้วคนพูดถึง Oddisee เยอะมาก ทั้งที่ตอนแรกคนก็ไม่รู้จัก แต่ตอนนี้ทุกคนอยากดู Oddisee อีกรอบ เราเชื่อว่าปีนี้ก็จะเกิดขึ้นอีก แล้วพอมันเกิดขึ้นซ้ำๆ คำที่ว่าไม่รู้จักก็จะเริ่มหายไป

โอเค ยังมีคนจำนวนมากพูดว่า เฮ้ย วงอะไรวะไม่รู้จัก แต่ปีนี้เราเห็นคนจำนวนหนึ่งที่อาจจะไม่เยอะมาก และเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นกับปีที่แล้วเลยก็คือ พวกเขาพูดว่าต้องรีบไปทำการบ้านแล้ว ต้องไปตามฟังแล้วว่า Maho Rasop เลือกใครมา เขาคือใคร วงเหล่านี้เจ๋งยังไง

จริงอยู่ว่าเหตุผลหนึ่งในการเลือกวงมาเล่นคือเพราะผู้คนรู้จัก แต่อีกเหตุผลหนึ่งของพวกเราก็คือเลือกวงที่ดี ต่อให้คุณไม่รู้จัก แต่ถ้ามางานนี้คุณจะประทับใจ เพราะเราเชื่อมั่นว่า performance ของวงที่ดีนั้นมีเสน่ห์บางอย่างที่ต้องสัมผัสด้วยการดูสดเท่านั้น

facebook.com/MahoRasopFestival

การที่ช่วงหลังๆ บ้านเรามีคอนเสิร์ตเยอะมาก มันส่งผลต่อตัวเทศกาลบ้างไหม

มีๆ สังเกตสิหลังๆ คนเลือกมากขึ้น ไม่รีบซื้อบัตรแล้ว เขาอาจคิดว่ามันไม่หมดหรอก หรือไม่ก็อาจต้องเลือกว่าจะดูอะไร

ด้วยเศรษฐกิจที่ไม่ดีอยู่แล้ว เวลาจะทำอะไรเขาก็ต้องเลือกมากขึ้น เขาอาจมีงบในใจว่าฉันดูคอนเสิร์ตได้กี่ครั้งต่อปี สมมติปีหนึ่งจะดู 10 ครั้ง แต่มันมี 30 งาน เขาก็เลือกได้แค่ 1 ใน 3

เราเองก็แค่ต้องทำงานของเราให้มันดี ให้มันดึงคนได้ จากนั้นก็ต้องมั่นใจว่าคนที่เขามาเทศกาลของเราจะได้ประสบการณ์ที่ดีกลับไปจริงๆ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชวิชญ์ มายอด

ช่างภาพผู้ชอบกินบะหมี่ กินเบียร์ กินเนื้อ บ้าการเมืองพอๆ กับชอบไปดูคอนเสิร์ต