Jam Fest เทศกาลดนตรีที่เชื่อในพลังหนุ่มสาว

Highlights

  • Jam Fest หรือ แจ่มเฟส คือคอนเสิร์ตที่เหมาะกับคนที่โตมากับคลื่นวิทยุ Fat Radio และคนรักเสียงเพลงที่หลงใหลการดูศิลปินเล่นสด จัดโดยค่ายเพลง What the Duck
  • ไลน์อัพศิลปินเวทีหลักที่มีศิลปินรุ่นเก๋า 2 Days Ago Kids, NOi Pru, Monotone และ Flure นอกจากนี้ยังมีเวทีชื่อ DOOD เปิดโอกาสให้วงดนตรีหน้าใหม่ได้โชว์ฝีมือ และเวทีอะคูสติกที่ชวนศิลปินมากฝีมือมาเล่นดนตรีชิลล์ๆ กลางแจ้งในรูปแบบที่เราไม่ค่อยได้เห็น แม้งานจะดูอินดี้ แต่บัตร 2,500 ใบก็ sold out หมดหน้าตักไปแล้วเรียบร้อย

ปีนี้เป็นปีที่มีคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีมากมายเต็มไปหมด ท่ามกลางความคึกคักและสมรภูมิการต่อสู้ของผู้จัดอีเวนต์คอนเสิร์ต Jam Fest หรือ แจ่มเฟส คืองานที่เราว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่โตมากับคลื่นวิทยุ Fat Radio และหลงใหลการดูศิลปินเล่นสดโดยไม่รู้จักใครมาก่อนเลย

ไลน์อัพศิลปินเวทีหลักของ Jam Fest คือ 2 Days Ago Kids, NOi Pru, Monotone และ Flure ในงานมีเวทีชื่อ DOOD เปิดโอกาสให้วงดนตรีหน้าใหม่ได้โชว์ฝีมือ และเวทีอะคูสติกที่ชวนศิลปินมากฝีมือมาเล่นดนตรีชิลล์ๆ กลางแจ้งในรูปแบบที่เราไม่ค่อยได้เห็น แม้งานจะดูอินดี้ แต่บัตร 2,500 ใบก็ sold out หมดหน้าตักไปแล้วเรียบร้อย

คนจัดงานนี้คือ มอย–สามขวัญ ตันสมพงษ์ ผู้บริหารค่ายเพลง What the Duck และ เมื่อย–ธวัชพนธ์ วงศ์บุญศิริ นักร้องนำวง Scrubb ผู้ปลุกปั้น DOOD ไซด์โปรเจกต์ที่สร้างสีสันแปลกใหม่ให้กับวงการเพลงมาหลายปี ไอเดียของ Jam fest ส่วนมากมักกลับไปหาการสร้างความหลากหลายในวงการดนตรีไทย เปิดพื้นที่ มอบโอกาสให้คนที่ไม่เคยได้ ฟังดูเป็นคำตอบสูตรสำเร็จ แต่ทั้งมอยและเมื่อยเชื่อสุดใจว่านี่คือหนทางหนึ่งในการพัฒนาวงการ และเป็นสิ่งที่ทั้งสองเคยได้รับมาในอดีตเช่นเดียวกัน

ความตั้งใจที่ทำให้เทศกาลดนตรี Jam Fest เกิดขึ้นคืออะไร

มอย : ย้อนกลับไปตอนที่เราทำค่ายเพลงใหม่ๆ เรายอมรับว่าเรามีศิลปินบางวงที่ไม่ค่อยมีงานจ้าง ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่เก่งนะ แต่ว่าบางทีมันก็เป็นเรื่องกลไกของธุรกิจกลางคืน เรารู้สึกว่าเราทำค่ายเพลง เรามีหน้าที่หาที่ให้เด็กเล่น เพราะงั้นเราก็ต้องไปคุยกับสปอนเซอร์

ทีนี้เราก็ได้รู้จักกับ Jameson เขาทำ music marketing ยินดีจ้างน้องๆ ศิลปินของเราไปเล่นตามร้าน สถานที่จัดงานต่างๆ ในชื่อ Jam Night หลังๆ เราก็เริ่มชวนศิลปินนอกค่ายมาเล่นบ้าง มีทั้งวงรุ่นใหญ่ วงรุ่นเล็ก เวียนๆ กันไป ลึกๆ เราก็มีความฝันอยู่แล้วว่าอยากจัดมิวสิกเฟสติวัล เลยเอาไอเดียนี้ไปคุยกับทีมและสปอนเซอร์

Jam Fest แตกต่างจากเทศกาลดนตรีอื่นๆ ยังไง

มอย : มิวสิกเฟสติวัลในบ้านเราส่วนมากก็จะมีแต่ไลน์อัพเดิมๆ อาจจะเน้นเป็นวงเมนสตรีมมากหน่อย เลยรู้สึกว่ามันมีช่องว่างที่ให้คนอย่างเราที่ไม่ใช่คนที่แมสมากแล้วก็ไม่ได้อินดี้จ๋าขนาดนั้น อย่างไลน์อัพวงใหญ่ เราคิดมาจากความต้องที่อยากจัดมิวสิกเฟสติวัลที่ตัวเองและเพื่อนๆ รู้สึกว่าอยากดู ก็เลยชวน 2 Days Ago Kids, NOi Pru, Monotone และ Flure 4 วงนี้มาเล่น แล้วก็คิดก๊อบปี้กันว่า ‘นานมาแล้วที่เราไม่ได้เจอ 4 วงนี้บนเวทีเดียวกัน’ ลองนึกย้อนกลับไปสิบกว่าปีก่อนที่เป็นยุคเด็กแนวฟังแฟต เรดิโอ อ่านนิตยสาร a day และดูหนังที่ House RCA ทาร์เก็ตแรกของเราก็คือคนที่ไม่ได้เสพของเมนสตรีมในยุคนั้น

พอเราอยากจัดมิวสิกเฟสติวัล นั่นแปลว่างานของเราควรมีความหลากหลาย คือเราไม่ได้อยากให้คุณมาเอนจอยกับศิลปินเวทีหลักอย่างเดียว เราก็เลยชวนพี่เมื่อยที่ทำไซด์โปรเจกต์ DOOD ของเขาอยู่แล้วมาแจมด้วย เหมือนเป็นอีกหนึ่งสีสันให้มิวสิกเฟสติวัล

พอ DOOD เป็นเวทีสำหรับวงน้องใหม่ คุณคัดเลือกไลน์อัพศิลปินที่เล่นบนเวทีนี้ยังไง

เมื่อย : แน่นอนว่าอย่างแรก เราต้องชอบเขาก่อน อย่างที่สอง พวกเขาต้องมีเพลงออริจินอลเป็นของตัวเอง และสาม ต้องเป็นวงที่เรารู้สึกว่าถ้าได้เล่นสดแล้วมันน่าจะดีต่อตัวพวกเขา ผมตั้งไว้แค่นี้เลย

อย่าง Follows วงสุดท้ายในไลน์อัพเป็นวงโพสต์ร็อกอีกวงหนึ่งที่ผมเชียร์มาก แต่กลุ่มพวกเขายังเล็กอยู่ ผมรู้สึกว่าถ้าพวกเขาได้พัฒนาตัวเองและเรียนรู้การสื่อสารกับคนดูด้วยการเล่นดนตรีสดไปเรื่อยๆ พวกเขาน่าจะเป็นวงที่เล่นดนตรีสดได้ดีทีเดียว เชื่อไหมว่าพวกเขาเก็บเงินทำอัลบั้มกันเองหมดเลยนะ ผมรู้สึกว่าคนพวกนี้ควรมีที่เล่นและต้องได้เล่น นอกจากนี้ยังมีวงรุ่นใหม่ๆ จาก What the Duck และ Macrowave มาด้วย เพราะจริงๆ เราพยายามจะแชร์พื้นที่นี้ให้กับทุกวง ทุกค่าย ศิลปินเวที DOOD มีทั้งหมด 12 วง เราประกาศไปแค่ 11 วง ส่วนอีกวงขออุบไว้ก่อนนะครับ

นอกจากมีเวทีหลักและเวที DOOD แล้ว ภายในงานมีอะไรอีกบ้าง

มอย : มีเวทีอะคูสติกที่จัดข้างนอกครับ จากจำนวนคน 2,500 คน บวกกับเวลาที่เราต้องอยู่ที่นั่นตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืน เราว่าเราควรมีเวทีชิลล์ๆ ให้คนที่นั่งกินข้าว นั่งพัก หรือเปลี่ยนบรรยากาศ เวทีนี้เราคัดเลือกศิลปินที่เล่นอะคูสติกเพราะๆ เช่น ชาติ สุชาติ, TAPE จาก Spicy Disc แล้วก็มีอีกหลายกิจกรรม เช่น มีงานอาร์ตให้ดู มีหนังสือให้ซื้อ House ก็หยิบหนังแผ่นมาขาย มีร้านน้องท่าพระจันทร์เอาซีดีมาขาย เสน่ห์จริงๆ ของการไปมิวสิกเฟสติวัลคือการได้เจอและทำความรู้จักกับคน

ช่วงนี้บ้านเรามีมิวสิกเฟสติวัลเยอะแยะไปหมด พวกคุณมองว่ามันมีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง

มอย : ในมุมเราไม่มีข้อเสียเลยนะ ดีด้วยซ้ำ ย้อนกลับไปราวสิบปีก่อน เราจะรู้สึกว่าแต่ละปีมีไม่กี่งานหรอกที่คนจะไปกันเป็นประจำทุกปี 4-5 ปีหลังนี้ผู้จัดอีเวนต์เยอะขึ้น คนลงทุนก็กล้าที่จะลงทุนมากขึ้น อย่างปีนี้คอนเสิร์ตฝรั่ง sold out กันเป็นว่าเล่นเลย แปลว่าคนไทยเริ่มมีวัฒนธรรมการไปข้างนอกมากขึ้น เหมือนเมืองนอกที่วันเสาร์-อาทิตย์คนจะออกบ้านไปทำนู่นนี่กัน

ที่สำคัญคือพอเรามีผู้เล่นในตลาดเยอะขึ้น ทุกคนก็จะพัฒนาตัวเองมากขึ้น ทุกคนพยายามทำให้มันดีขึ้นๆ ลงทุนกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น อย่างบัตรที่เราขายหมดไปแล้ว คนมักถามมาว่าไม่ขายบัตรเพิ่มเหรอ ลึกๆ ก็แอบเสียดายนะ (หัวเราะ) แต่เราไม่อยากให้คนดูมาดูคอนเสิร์ตแบบเบียดเสียด

เมื่อย : ผมกับมอยเคยเก็บตังค์ไปรั่วที่ Fuji Rock (เทศกาลดนตรีที่ญี่ปุ่น) พอเราไปดูเฟสติวัลของเขา บางฟังก์ชั่นที่เราเจอมามันน่าสนุกและน่าเก็บเอามาทำ

มอย : ใช่ๆๆ ประสบการณ์ครั้งนั้นเปิดโลกมิวสิกเฟสติวัลเมืองนอกให้เราเลย ตอนไปเราก็บ่นว่าเฟสติวัลที่ไหนมันก็เหมือนกัน เหมือนงานใหญ่ๆ ในบ้านเรานั่นแหละ แต่ที่นู่นทุกอย่างเขาเป็นระบบระเบียบมาก ตั้งแต่เรื่องซาวนด์ เรื่องคิวที่ต้องตรงเวลาเป๊ะๆ คนที่ไปดูก็มีระเบียบ ทุกคนต่อแถว ทุกคนให้ความสำคัญต่องานศิลปะ แล้วก็เชื่อว่าผู้จัดจะต้องให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของคนที่ไปดู

เพราะงั้นเราเลยต้องพยายามทำให้คน 2,500 คนนี้รู้สึกว่าคุ้มค่าที่มาสนุกกับแจ่มเฟส ถ้านอกจากเรื่องของโชว์แล้ว ห้องน้ำต้องเตรียมให้พอ อาหารก็ต้องมีพอ ขายในราคาไม่แพง เราลงลึกชนิดที่ว่าปกติเขาเคยขายเท่าไหร่ มาในงานนี้ถ้าคูณกำไรเยอะเราก็ไม่อยากให้เขาขายเหมือนกัน

เมื่อย : อะไรที่มิวสิกเฟสติวัลทั่วไปมองไม่เห็น เราก็หยิบมาใช้ ย้อนกลับไปที่ Fuji Rock ถ้าคนที่ไม่เคยไปอาจจะนึกว่าเป็นเทศกาลของคนเฉพาะกลุ่ม แต่จริงๆ มันเป็น family festival นะ ไม่ต้องเป็นคนฟังเพลงจัด หรือแต่งตัวเท่ๆ คนทุกเพศทุกวัยไปงานนี้ได้ พ่อแม่ลูกเอนจอยด้วยกันได้ขึ้นอยู่กับว่าเราสร้างสภาพแวดล้อมในงานยังไง แจ่มเฟสเองก็พยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับคนดูทุกคนให้ได้มากที่สุด เฟสติวัลมันเป็นอะไรที่เราต้องอยู่ด้วยกันเป็นสิบชั่วโมง ไม่ได้จัดคอนเสิร์ตที่ดูเสร็จแล้วกลับบ้านเลย มันเลยต้องคิดละเอียดไปถึงกิจกรรมที่จะจัดให้ทำ หรือแม้แต่ที่นั่งที่จัดไว้ให้คนได้นั่งพัก

ในฐานะที่เป็นคนรุ่นพี่และผู้อยู่เบื้องหลังศิลปิน พวกคุณได้อะไรจากการทุ่มเททำสิ่งเหล่านี้

เมื่อย : ถ้าฝั่งผม DOOD มันให้แรงบันดาลใจ ตอนที่เริ่มเล่นดนตรี ผมเคยคิดว่าสครับบเป็นวงที่ไม่มีเวทีให้เล่นเอาซะเลย หรือถ้ามีก็ต้องเล่นเอาใจคนที่จ้าง ทีนี้พอมองกลับกัน น้องๆ ยุคนี้ได้เล่นในสิ่งที่ตัวเองคิดมา ลงเวทีเราก็ได้คุย แลกเปลี่ยนทัศนะบางอย่างกับพวกเขา เด็กบางคนมีไฟมากจนจุดไฟให้เราอยากขยันทำงาน สกิลของเขาเหมือนตบหน้าเราเหมือนกัน เขาก็ได้แรงจากเราว่า สิ่งที่มึงเป็นเนี่ยถูกต้องแล้วนะ ต่างคนต่างผลักกันไปมากกว่า

มอย : บางครั้งเรานั่งทำงานค่ายเพลง เราต้องดีลกับศิลปินในค่ายซึ่งทุกเช้ายันก่อนนอนเราจะวุ่นวายกับ 18 วงที่เราดูแล แต่เวลาที่เราไป DOOD เราจะสะกิดถามพี่เมื่อยว่า ‘พี่ไปเอาเด็กพวกนี้มากจากไหนวะ’ (หัวเราะ) น้องๆ พวกนี้มันส่งพลังทำให้เรารู้สึกว่าวงการเพลงเราต้องมีอะไรแบบนี้เข้ามาเพิ่มเติมบ้าง ถ้าแจ่มเฟสจัดแต่เวทีหลัก อีกสิบปีข้างหน้าเราคงมีแต่ไลน์อัพวงหน้าเก่าๆ มาเล่นวนไปวนมาเหมือนเดิม ไม่มีอะไรใหม่เลย เพราะงั้นเราควรหาวงใหม่ๆ มาป้อนให้คนฟังบ้าง อย่างน้อยๆ เราเชื่อว่าคนที่มาดูศิลปินเวทีหลักจะต้องเดินออกมาดูเวที DOOD บ้าง เวทีอะคูสติกข้างนอกบ้าง อย่างน้อยเขาจะได้เห็นว่าวงการเพลงยังมีเด็กๆ พวกนี้อยู่นะ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย