Maddy Hopper รองเท้าดีไซน์มินิมอลจากขวดพลาสติก ที่อยากให้คนลดการซื้อใหม่ด้วยการใส่ซ้ำบ่อยๆ

Maddy Hopperในตู้รองเท้าของคุณมีรองเท้ากี่คู่? มีโอกาสได้ใส่บ่อยไหม? ซื้อมานานแค่ไหนแล้ว?

เหล่านี้คือคำถามที่คนส่วนใหญ่มักไม่ได้นึกถึงเท่าไหร่เมื่อตัดสินใจซื้อรองเท้าใหม่สักคู่ แต่ถ้ารองเท้าคู่ถัดไปของคุณคือสนีกเกอร์จากแบรนด์ Maddy Hopper คุณอาจจะเริ่มถามตัวเองด้วยคำถามด้านบนมากขึ้น

Maddy Hopper คือแบรนด์รองเท้าผ้าใบที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนอย่างถึงแก่น เริ่มตั้งแต่วัสดุอย่างผ้าใบจากเส้นใยพลาสติกและฐานรองเท้าจากยางพารารีไซเคิล ไปจนถึงกระบวนการผลิตและแพ็กเกจจิ้ง ไม่เว้นแม้แต่ดีไซน์ของรองเท้าที่ตั้งใจให้ใส่ง่าย เดินสบาย เข้ากับทุกลุค ด้วยความตั้งใจที่อยากลดการซื้อรองเท้ามากเกินจำเป็น

ด้วยคอนเซปต์ที่แข็งแรงตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ทำให้สินค้าของ Maddy Hopper ได้รับการตอบรับอย่างดีตั้งแต่เปิดตัวในโซเชียลมีเดียเมื่อปลายปี 2563 แถมยังขยายฐานลูกค้าได้อย่างสม่ำเสมอจนผลิตแทบไม่ทัน

หลังจากเล็งรองเท้าของพวกเขาอยู่นาน เราขอชวนไปฟังวิธีคิดเบื้องหลังจาก 2 ใน 4 ผู้ก่อตั้งอย่าง ชาญ สิทธิญาวณิชย์ และ ป๊อบ–ภาคิน โรจนเวคิน เพื่อถอดรหัสความครีเอทีฟของรองเท้าผ้าใบแบรนด์นี้ ซึ่งไม่ได้มีดีแค่ใส่สบาย ดีไซน์สวย แต่ใส่แล้วยังดีต่อคนรอบตัวด้วย


Maddy Hopper’s Facts

  1. Label : Maddy Hopper
  2. Founder : ชาญ สิทธิญาวณิชย์, ป๊อบ–ภาคิน โรจนเวคิน, จิ๋ว–จิรภัทร สุวิเดชโกศล และ วิน–พิรุฬห์ นีรพิทักษ์
  3. Founded : 2563
  4. Challenge : อัตราการแข่งขันในตลาดรองเท้าผ้าใบแฟชั่น ซึ่งมีทั้งผู้เล่นระดับประเทศและระดับโลกที่ครองตลาดและครองใจผู้บริโภคอยู่ในทุกช่วงอายุ
  5. Industry : รองเท้าผ้าใบ
  6. Target Group : คนยุคใหม่ที่ใส่ใจทั้งคุณภาพของสินค้าและสิ่งแวดล้อม
  7. Vision : To make everyday’s life better (for people) and longer (for the planet).
  8. Mission : ผลิตสินค้าคุณภาพดีด้วยทรัพยากรและกระบวนการที่ยั่งยืน
  9. Belief : เราเชื่อว่าแบรนด์ในอุดมคติของเราต้องให้ความสำคัญและตอบโจทย์ทุกคน ตั้งแต่ลูกค้า ชุมชน พันธมิตรธุรกิจ และผู้ถือหุ้นได้อย่างเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันก็ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อมบนโลกใบนี้ไปพร้อมกัน
  10. Popular Product : รองเท้าผ้าใบรุ่น Polly 

Creative Execution 

สินค้าและคอนเซปต์ที่ดีคือรากฐานของแบรนด์ดิ้งที่แข็งแรง

“ต้องบอกก่อนว่าเราไม่ได้เป็นสนีกเกอร์เฮดมาก่อน เรียกว่าเป็นคนธรรมดาที่อยากหารองเท้าคู่ใจของตัวเองมากกว่า แต่เราไม่เห็นตัวเลือกที่เราต้องการจริงๆ ในตลาด ในทางกลับกันมันก็ทำให้เราเห็นช่องว่างทางธุรกิจตรงนี้และอยากลองแก้โจทย์ดู”

ชาญเล่าถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ที่พวกเขามักจะนิยามว่าเป็น ‘โปรเจกต์ทดลอง’ ของกลุ่มเพื่อน 4 คนที่ต่างก็มีงานประจำซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับรองเท้าผ้าใบเลยแม้แต่น้อย เพียงแต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดร่วมของพวกเขาคือความสนใจในเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ที่จริงจังมากกว่าการแยกขยะหรือลดการใช้หลอดพลาสติกในชีวิตประจำวัน

“ถ้าเทียบกับสิ่งที่เราทำคนเดียว การสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านแบรนด์สร้างการมองเห็นในวงกว้างและสื่อสารไปได้ไกลมากกว่า อีกเรื่องคือเราคิดว่าถ้าเราคิดจะเริ่มต้นธุรกิจอะไรสักอย่างเราก็อยากใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด” ป๊อบอธิบายถึงจุดยืนของพวกเขาในวันแรกที่เริ่มต้นทำแบรนด์

จากความเชื่อเรื่องความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบการ ทำให้โจทย์ตั้งต้นของ Maddy Hopper ประกอบไปด้วย 2 ส่วนสำคัญ นั่นคือ ‘for people’ ตอบโจทย์การใช้งานของผู้สวมใส่ และ ‘for the planet’ เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรบนโลกใบนี้

เพื่อที่จะทำโปรดักต์ให้สมกับความตั้งใจนั้น พวกเขาใช้เวลาร่วมปีเพื่อศึกษาหาความรู้และขลุกอยู่กับการพัฒนาโปรโตไทป์ของรองเท้าผ้าใบรุ่น Polly ที่เป็นรุ่นเปิดตัวของแบรนด์ ซึ่งมีสต็อกเพียง 44 คู่เท่านั้นในล็อตแรก ก่อนที่แบรนด์จะเริ่มเป็นที่พูดถึงและติดตลาดในเวลาไม่นาน

การลงทุน ลงแรง และลงเวลากับการพัฒนาโปรดักต์คือรากฐานของความสำเร็จครั้งนี้ แต่การสื่อสารอย่างชาญฉลาดและแม่นยำเปรียบเสมือนปุ๋ยชั้นดีที่ช่วยให้ Maddy Hopper เติบโตอย่างว่องไวและมั่นคง

รองเท้าของเหล่าคนเรื่องมาก

“ช่วงแรกพวกเราค่อนข้างมั่วกันมากครับ” ป๊อบเกริ่นพร้อมหัวเราะ

เพราะตั้งเป้าว่ารองเท้าต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พวกเขาจึงไม่อยากใช้พลาสติกหรือโฟมเป็นวัสดุหลักของรองเท้า นั่นนำไปสู่การทำการบ้านเกี่ยวกับวัสดุทางเลือกอย่างหนักหน่วง เพราะใช่ว่าโลกนี้จะไม่มีวัสดุทดแทนโฟมและพลาสติก แต่ส่วนใหญ่วัสดุเหล่านั้นมักถูกใช้ในอุตสาหกรรมประเภทอื่นหรือส่งออกต่างประเทศเป็นหลักมากกว่าจะนำมาทำรองเท้าสำหรับใส่ในทุกๆ วัน

ในฐานะของคนที่มีประสบการณ์การทำรองเท้าเป็นศูนย์ พวกเขาจึงเริ่มต้นจากการเสิร์ชหาข้อมูล เดินดุ่มเข้าไปดูสารพัดวัสดุแปลกๆ ใน TCDC จากนั้นจึงเริ่มติดต่อซัพพลายเออร์แต่ละเจ้า ปรึกษา และสะกดรอยต่อไปยังซัพพลายเออร์ใหม่เท่าที่จะมีคนแนะนำให้ไปคุย ทำซ้ำอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะได้วัสดุที่ถูกใจ

“เราเป็นคนค่อนข้างเรื่องมากอยากได้วัสดุที่ทั้งสวยและยั่งยืน เพราะเรามองว่าในเมื่อโปรเจกต์นี้เริ่มมาในฐานะการทดลอง ถ้าหาตัวเลือกที่เหมาะสมไม่ได้เราก็คงไม่เดินหน้าต่อจนมันเกิดขึ้นจริง ถ้าวัสดุที่มีมันไม่ยั่งยืนจริงเราก็ไม่ทำ” ป๊อบอธิบายต่อถึงความตั้งใจอันแน่วแน่

ความแข็งแกร่งของ Polly 

หลังผ่านการศึกษาและลองผิดลองถูกอยู่นาน รวมกับช่วงเวลาเปิดตัวที่ล่าช้าเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านไปได้หนึ่งปีพวกเขาจึงมีโอกาสเปิดตัวรองเท้าผ้าใบรุ่นแรกอย่าง Polly ซึ่งได้รับการสรรเสริญถึงความดีงามมากมาย ทำให้ Polly กลายเป็นสินค้าเปิดตัวแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าใครผ่านมาเห็นก็ประทับใจและจดจำได้ไม่ยาก

หากถามว่าความดีงามของมันคืออะไร เราพอสรุปฟีดแบ็กมาได้ดังนี้

  1. ผ้าใบและเชือกรองเท้าใช้วัสดุจากขวดพลาสติกรีไซเคิลหรือที่เรารู้จักกันในชื่อขวด rPET (Recycled Polyethylene Terephthalate) ซึ่งชื่อของ Polly ก็กร่อนมาจากคำว่า polyethylene นี่เอง
  2. ฐานรองเท้าผลิตจากเศษยางพารารีไซเคิล ชนิดเดียวกับที่ใช้ทำที่นอนยางพารา นอกจากจะให้สัมผัสหนานุ่มใส่สบายแล้ว ยังมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และช่วยให้เลือดไหลเวียนดีอีกต่างหาก
  3. ผลิตโดยโรงงานที่ใช้กระบวนการเย็บมือ ทำให้มีคาร์บอนฟุตปรินต์ต่ำกว่าโรงงานระดับอุตสาหกรรมทั่วไป
  4. ดีไซน์รองเท้าที่เรียบง่าย แมตช์ได้กับทุกลุค เพื่อลดอัตราการซื้อรองเท้าใหม่มากเกินความจำเป็น
  1. ทรงรองเท้าที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์เท้าทุกทรงไม่ว่าจะเป็นคนหน้าเท้ากว้าง เท้าใหญ่ หรือเท้าแบน ช่วยให้ทุกคนใส่แล้วสวยได้โดยไม่ต้องทนเจ็บเท้าตลอดวัน
  2. มีแผ่นกันกัดหรือไอเทมที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหารองเท้ากัด หลังจากที่ได้รับฟีดแบ็กกลับมาในช่วงแรก
  3. รองเท้าใหม่จะถูกบรรจุมาใน ‘ถุงรองเท้า’ แทนการใช้ ‘กล่องรองเท้า’ เพื่อลดปริมาณกระดาษและน้ำที่ใช้ในการผลิตแพ็กเกจจิ้ง ขณะเดียวกันก็มีโอกาสนำไปใช้ต่อได้มากกว่า นอกจากนี้ยังเป็นถุงกระดาษกันน้ำ ซักได้ ย่อยสลายได้ เพราะผลิตจากกระดาษคราฟต์รีไซเคิล (reusable kraft paper bag)
  4. ทั้งหมดนี้หากสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ รองเท้าจะถูกบรรจุมาในซองไปรษณีย์ซึ่งผลิตจากข้าวโพดและมันสำปะหลัง ย่อยสลายได้ แถมยังใช้การซีลปากถุงแทนการติดเทปซึ่งย่อยสลายได้ยากด้วย

เมื่อมีรองเท้าผ้าใบแล้วก็ต้องมีถุงเท้า หลังจากที่ Polly ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี พวกเขาจึงไม่รอช้ารีบปล่อยสินค้าใหม่อย่าง Bambi ถุงเท้าจากใยไผ่ซึ่งรบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าถุงเท้าคอตตอนทั่วไปในท้องตลาด เพราะไผ่เป็นพืชที่ใช้พื้นที่ในการปลูกน้อยกว่า และใช้ทรัพยากรน้ำในการเลี้ยงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับฝ้าย นอกจากนี้ใยไผ่ยังมีคุณสมบัติในการลดกลิ่นคล้ายกับพื้นยางพาราด้วย

เพราะแตกต่าง จึงแม่นยำ

“อาจเรียกได้ว่าเป็นความโชคดีสองอย่าง หนึ่ง–เราเริ่มต้นจากโปรดักต์และ positioning ของแบรนด์ที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ในตลาดพอสมควร มันทำให้เราสร้างความแตกต่างได้ค่อนข้างชัดเจน สอง–เราพาตัวเองไปเจอกลุ่มเป้าหมายได้ค่อนข้างไว คือตั้งแต่ช่วงแรกที่เราปล่อย Polly ออกไปเลย ฟีดแบ็กที่กลับมาก็ค่อนข้างโอเค ทำให้เราขยายฐานต่อได้แทบจะทันที” ชาญอธิบายถึงช่วงแรกของการเปิดตัว

แม้เขาจะออกตัวว่าเป็นเรื่องโชคช่วย แต่การทำการบ้านอย่างหนักก็มีส่วนสำคัญด้วยเช่นกัน ทั้งโปรดักต์ที่โดดเด่นและตอบโจทย์การใช้งาน ไปจนถึงจุดยืนของแบรนด์ที่ชัดเจนและแตกต่าง ทั้งหมดคือปัจจัยที่ทำให้การสื่อสารแบรนด์ของ Maddy Hopper แม่นยำ เข้าเป้า และตรงประเด็น

“แทนที่จะโน้มน้าวให้คนหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เราเลือกเน้นไปที่ brand positioning และการให้ข้อมูลว่ารองเท้าเราดีกับคุณยังไงและดีต่อโลกยังไง ดังนั้นเมสเซจแรกที่เราตั้งใจป้อนให้เขาคือ รองเท้าเราใช้ผ้าจากขวดพลาสติก ซึ่งเขาจะรู้สึกว้าวว่ามันทำได้จริงเหรอ จากนั้นจึงค่อยๆ ป้อนข้อมูลที่เหลือตามไป” เมื่อ Maddy Hopper มีจุดยืนคือแบรนด์เพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ชาญจึงเชื่อว่าพวกเขาควรเริ่มต้นจากการสื่อสารว่าโปรดักต์ของพวกเขาสนับสนุนไอเดียนั้นยังไง

จับกลุ่มเป้าหมายให้อยู่มือ

อย่างที่ชาญเล่าถึงความโชคดีข้อที่สอง นั่นคือการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างรวดเร็ว ความโชคดีในส่วนนี้สะท้อนกลับไปสู่การเตรียมตัวอย่างดี โดยเฉพาะการวางกลุ่มเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้น

“ทาร์เก็ตของเราแบ่งเป็นสอง persona หลัก กลุ่มแรกคือคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ดังนั้นอีเวนต์แรกที่เราไปออกบูทก็คืองาน Root The Future ซึ่งทำให้เราได้เจอกับคนที่สนใจเรื่องความยั่งยืน ผลตอบรับจากการออกบูทครั้งนั้นก็ค่อนข้างดี ในขณะที่กลุ่มเป้าหมายหลักอีกกลุ่มคือคนรุ่นใหม่ที่มีสไตล์การแต่งตัวใกล้เคียงกับดีไซน์ของรองเท้าเรา โดยที่เขาอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อนก็ได้” ชาญอธิบาย ก่อนที่ป๊อบจะเสริม

“สำหรับคนกลุ่มหลังนี้ เราหวังว่าสักวันหนึ่งเขาอาจจะได้ซึมซับอะไรบางอย่างจากแบรนด์ของเราและทำให้เขาเข้าใจเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” 

สำหรับแบรนด์ออนไลน์อย่าง Maddy Hopper การได้ไปออกบูทตามอีเวนต์ต่างๆ คือโอกาสสำคัญที่จะทำให้พวกเขาได้พูดคุยกับลูกค้าตัวเป็นๆ ซึ่งป๊อบและชาญมองว่านอกจากจะไปเพื่อขายแล้ว พวกเขายังมีโอกาสได้ทำเซอร์เวย์ไปในตัวอีกด้วย 

“การออกบูทมีส่วนสำคัญตรงที่ทำให้ลูกค้าได้ลองรองเท้า คือนอกจากเราจะมีโอกาสได้พูดคุยกับลูกค้าแล้ว ลูกค้าเองก็จะได้ใกล้ชิดกับโปรดักต์ด้วย ต่อให้เขาไม่ซื้อเลยทันที แต่จากประสบการณ์ที่เขาได้กลับไป เขาอาจกลับไปบอกต่อหรือกลับมาซื้อใหม่ในอนาคตก็ได้” ป๊อบสรุป

ย่อยเรื่องแบรนด์มาเล่าให้เข้าใจง่าย

ไม่ต่างจากแบรนด์ออนไลน์ส่วนใหญ่ Maddy Hopper เปิดตัวรองเท้ารุ่นแรกด้วยภาพถ่ายสวยงาม และแคปชั่นที่เล่าเรื่องแบรนด์อย่างครบถ้วนกระบวนความ บวกกับการโปรโมตด้วยอินฟลูเอนเซอร์และคนรอบตัวที่ช่วยสร้างกระแสบอกต่อแบบปากต่อปากจน Polly เริ่มติดตลาดในที่สุด

แต่ไม่นานมานี้ พวกเขาเริ่มขยับตัวอีกครั้งด้วยการทำคลิปโฆษณาความยาว 1.33 นาที ที่จะชวนเราตั้งคำถามว่า ‘รองเท้าที่ดีต้องเป็นยังไง?’

“ผมคิดว่าวิดีโอคอนเทนต์มันย่อยง่ายกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ภาพและแคปชั่นทั่วไป ผู้รับสารจึงใช้ความพยายามน้อยกว่าในการเสพ เราเลยอยากลองทำวิดีโอที่ดีสักตัว เพราะถ้ามันพาให้คนดูจนจบคลิปได้ คนก็จะได้ข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์ที่ครบจบในตัว” ป๊อบเล่าถึงความตั้งใจของพวกเขาเพื่อพูดถึงแง่มุมใหม่ๆ ของโปรดักต์ที่พวกเขาอยากบอกแต่ไม่เคยมีโอกาสได้เล่าสักที ทั้งหมดนี้พวกเขาไม่ได้อ้างอิงจากทฤษฎีในตำรา แต่เป็นการสังเกตพฤติกรรมการเสพสื่อของตัวเองและนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับแบรนด์และกลุ่มเป้าหมาย

แบรนด์ที่เดินต่อไปเรื่อยๆ

หลายคนอาจมองว่าธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงกระแสชั่วคราวที่ไม่นานอาจแผ่วหายไป แต่ป๊อบและชาญกลับเห็นต่างออกไป

“ว่ากันตามตรงคือถ้ากระแสอีโค่แผ่วลงพวกเราจะดีใจมากเพราะนั่นอาจแปลว่าสิ่งแวดล้อมกลับมาสู่สภาวะที่ปลอดภัยแล้ว โลกเราดีขึ้นแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ผมคิดว่ากระแสนี้คงไม่สามารถแผ่วลงได้ในเร็ววัน และเรื่องสิ่งแวดล้อมก็คงจะยังเป็นประเด็นสำคัญของมนุษยชาติต่อไป” ป๊อบอธิบาย

“เรื่องสิ่งแวดล้อมส่วนหนึ่งอาจเป็นกระแสก็จริง แต่สาเหตุที่เราทำแบรนด์นี้เป็นเพราะเราอยากทำเพื่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ ดังนั้นเทรนด์จึงเป็นเหมือนโจทย์ที่เราต้องตีความมากกว่าว่าเราจะทำการตลาดยังไงให้ตอบโจทย์และสอดคล้องไปกับกระแสในปัจจุบัน” ชาญเสริม

และเพื่อที่จะเดินหน้าต่อ พวกเขาวางแผนไว้ว่าจะพัฒนาโปรดักต์ให้ดีต่อผู้สวมใส่ (for people) และดีต่อสิ่งแวดล้อม (for the planet) มากขึ้นเรื่อยๆ

“เราวางแผนว่าโปรดักต์ของเราจะต้องมีเวอร์ชั่น 2 เวอร์ชั่น 3 และพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เหมือนกับ iPhone

“ทุกวันนี้ส่วนตัวผมยังใส่รองเท้ารุ่นโปรโตไทป์อยู่เลยเพราะเราต้องการเทสต์อายุและคุณภาพการใช้งานของมันในระยะยาว ซึ่งก็เป็นแนวทางหนึ่งเพื่อที่จะพัฒนาสินค้าต่อไป” ป๊อบเล่าถึงความตั้งใจในระยะยาว ซึ่งนอกจากการทดสอบคุณภาพแล้ว พวกเขาก็ยังเดินหน้าศึกษาวัสดุทางเลือกใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน

ส่วนในด้านอื่นๆ พวกเขาก็วางแผนที่จะติดเครื่องวัดคาร์บอนฟุตปรินต์ที่โรงงาน ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการสต็อกให้ตอบโจทย์โปรดักต์ที่มีมากถึง 44 SKU (Stock Keeping Unit) และจัดการระบบการผลิตให้ไหลลื่นยิ่งขึ้น

“ตอนนี้แบรนด์ของเรายังอยู่ในสเกลที่เล็กมากๆ และยังไม่สามารถสร้างอิมแพกต์ต่อสังคมได้ในวงกว้าง แต่ในระยะยาวเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (sustainability business) ของไทย จากที่เคยผลิตส่งออกต่างประเทศเยอะๆ มันควรมีการเสริมแรงให้กับภาคธุรกิจในไทยแข็งแรงขึ้น” ชาญเล่า

แน่นอนว่าถ้าวันนั้นมาถึง Maddy Hopper จะมีคู่แข่งเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก แต่พวกเขากลับมองว่านั่นคือโอกาสอันดีที่จะทำให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมกันในทุกภาคส่วนของแวดวงธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม

“ถ้ามีคนหันมาสนใจและใช้ core value เดียวกับเราก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะผมเชื่อว่าการที่พวกเราทำแบรนด์แค่แบรนด์เดียวไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เท่ากับการที่หลายๆ แบรนด์ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหากการเกิดขึ้นของแบรนด์ใหม่ๆ จะส่งผลกระทบกับเรามันก็น่าจะเป็นผลกระทบเชิงบวกมากกว่า โดยเฉพาะกับธรรมชาติ” ป๊อบสรุป


Creative Shortcut

การใช้เวลากับการพัฒนาโปรดักต์และให้ความสำคัญกับจุดยืนของแบรนด์ คือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้าง brand experience ให้เป็นที่จดจำ ทำให้แบรนด์สามารถสื่อสารสิ่งใหม่ๆ ได้อย่างหนักแน่น

Brand Reflect

KPI ที่ใช้วัดความสำเร็จของแบรนด์

ชาญ : นอกจาก KPI พื้นฐานทั่วไป ในเชิงโปรดักต์ของ Maddy Hopper เราใส่ใจเรื่องความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมซึ่งควรจะดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่เราออกโปรดักต์ใหม่

ป๊อบ : ในอนาคตเรามีแพลนว่าจะขอวัดคาร์บอนฟุตปรินต์ของทุกซัพพลายเออร์เพื่อให้มี KPI หรือหน่วยวัดชัดเจนในแง่ความยั่งยืน เอาเข้าจริงมันเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะกำหนดตัวชี้วัด แต่ในเมื่อมันเป็นสิ่งที่แบรนด์เราให้ความสำคัญมากๆ เราจึงอยากวัดให้ได้

แบรนด์ที่เป็นต้นแบบในการทำธุรกิจ

ป๊อบ : PANGAIA เป็นแบรนด์ที่ใช้วัสดุได้ล้ำมาก เช่น ทำเสื้อจากดอกไม้ หรือสกรีนเสื้อด้วยมลพิษทางอากาศ 

ชาญ : อีกแบรนด์หนึ่งคือ Patagonia เราชื่นชมในแง่การ give back to community ของแบรนด์เขา อย่างการแบ่งกำไรส่วนหนึ่งเพื่อกลับคืนสู่สังคม ซึ่งเราก็หวังว่าในอนาคตถ้าแบรนด์ของเราขยายตัวได้ดีขึ้นเราก็อาจจะวางแผนต่อไปในจุดนั้น

ป๊อบ : ถ้าเป็นรองเท้าก็จะมีแบรนด์ Allbirds จากนิวซีแลนด์ เป็นรองเท้าที่ใส่สบาย รักษ์โลก และมีมุมมองคล้ายกับเรา

สิ่งที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนจะเริ่มธุรกิจ

ชาญ : ต้องตอบให้ได้ว่าเราอยากได้อะไรจากการทำธุรกิจครั้งนี้ บางคนเริ่มด้วยเรื่องเงิน บางคนเริ่มด้วยแพสชั่น บางคนเริ่มด้วยสองอย่างผสมกัน คำถามถัดมาคือมันคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ 70:30 หรือว่า 60:40 เราต้องเคลียร์มากในจุดนี้เพราะมันจะมีผลต่อวิธีการทำธุรกิจทั้งหมด

อย่างแบรนด์ของเราเองมีโจทย์หลายอย่างมาก นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วเราก็ยังสนใจเรื่องดีไซน์ การวางคอนเซปต์ ดังนั้นเรื่องเงินจึงไม่ใช่เป้าหมายหลักของเรา เราไม่ใช่ธุรกิจที่ใหญ่ที่สุด ไม่ได้ทำกำไรได้มากที่สุด ซึ่งเราเองก็บอกไม่ได้หรอกว่าวิธีการทำธุรกิจนี้มันดีที่สุดหรือเปล่า แต่ที่บอกได้คือมันเป็นวิธีที่ตรงโจทย์หรือเปล่าเท่านั้นเอง

สิ่งที่ควรลงทุนเมื่อเริ่มต้นธุรกิจ 

ป๊อบ : ลงเวลา ใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่เราจะทำและทำมันออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะผมเชื่อว่าถ้าเรายังไม่ชอบสิ่งที่เราจะขาย เราก็คงขายมันได้อย่างไม่เต็มที่ และจะมีความติดขัดตามมาLonger text because we need longer text and then longer text because we need longer text and then longer text because we need longer text and then longer text because we need longer text and then longer text because we need longer text and then longer text because we need longer text and then longer text because we need longer text and then longer text because we need longer text and then longer text because we need longer text and then longer text

Do & Don’t ในการทำธุรกิจ

ป๊อบ : สิ่งที่ควรทำคือการลองผิดลองถูก ไม่มีใครรู้หรอกว่าทางไหนคือทางที่ใช่ แต่อย่างน้อยเราต้องลองดู ซึ่งการลองในที่นี้ถ้าเราคิดมาดีแล้ว ต่อให้ลองแล้วล้มเราก็จะไม่เจ็บหนักมาก และถ้าเรายิ่งคิดมาดีเท่าไหร่ โอกาสที่มันจะเวิร์กก็ยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น

ชาญ : เช่นกันสำหรับสิ่งที่ไม่ควรทำ คือเราต้องไม่คิดไปเองว่าไอเดียนี้ใช้ได้หรือไม่ได้ ถ้าเราเอาแต่เดาว่าคนจะซื้อหรือไม่ซื้อ คนจะชอบหรือไม่ชอบ มันก็จะไม่มีอันไหนที่ถูกเลย

ป๊อบ : เพราะนั่นคือสิ่งที่เราคิดของเราอยู่คนเดียว แต่ในความเป็นจริงลูกค้าของเราเขาคือคนวงกว้างมากๆ เขามีความหลากหลายสูงมาก ดังนั้นเราจึงไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสิ่งที่เราคิดมันถูกหรือเปล่า 

ชาญ : Maddy Hopper จึงเป็นเหมือนโปรเจกต์ทดลอง เพื่อลองดูว่ามันเป็นไปได้ไหม บางคนฟังแล้วอาจจะสงสัยว่ามันขายได้เหรอ แต่เราจะเดามั่วๆ ไม่ได้หรอกถ้าเรายังไม่ได้ลองLonger text because we need longer text and then longer text because we need longer text and then longer text because we need longer text and then longer text because we need longer text and then longer text because we need longer text and then longer text because we need longer text and then longer text because we need longer text and then longer text because we need longer text and then longer text because we need longer text and then longer text

creative entrepreneur : online brands คือซีรีส์บทความประจำเดือนมิถุนายน ที่ต่อยอดจาก a day ฉบับ creative entrepreneur ซึ่งจะชวนคุณไปเรียนรู้เบื้องหลังการทำงานของ 4 แบรนด์ออนไลน์ที่ใช้ความครีเอทีฟรันธุรกิจให้โดดเด่นไม่ซ้ำใคร

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน