SHE KNOWS แบรนด์เสื้อผ้ารักโลก ที่พยายามอย่างหนักให้คนใส่สวยในแบบที่เป็น

Highlights

  • SHE KNOWS คือแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นที่กำลังพยายามพาแบรนด์ก้าวไปสู่ความ sustainable ให้ได้มากที่สุด
  •  นอกจากจะเปลี่ยนไปใช้ผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งมาให้เอื้อต่อการรีไซเคิล สนับสนุนช่างในชุมชนให้ได้มีอาชีพ สองสาวเจ้าของกิจการยังคอยเชียร์อัพสาวๆ ให้กลับมามีความมั่นใจในหุ่นของตัวเอง

SHE KNOWS คือแบรนด์เสื้อผ้าของ เซน–ธัญญรัตน์ ตรีสุรมงคลโชติ และ ปันปัน–ปานไพลิน พิพัฒนสกุล สองสาวที่ครั้งหนึ่งเคยติดอยู่ในวงจรของฟาสต์แฟชั่น ทุกอาทิตย์ต้องรับเสื้อใหม่เข้าตู้เสื้อผ้าจนกลายเป็น walk-in closet ขนาดย่อม เป็นเจ้าของแบรนด์ที่ครั้งหนึ่งเคยนิยามเสื้อผ้าที่ตัวเองทำว่าขยะ ที่ตอนนี้กำลังพยายามพาแบรนด์นั้นก้าวไปสู่ความ sustainable ให้ได้มากที่สุด 

ทั้งพยายามเปลี่ยนมาใช้ผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งให้เอื้อต่อการรีไซเคิล สนับสนุนช่างในชุมชนให้ได้มีอาชีพ รวมทั้งคอยเชียร์อัพสาวๆ ให้กลับมามีความมั่นใจในหุ่นของตัวเอง Be who you are!

ชวนสวมเสื้อผ้าสบายๆ ให้ง่ายต่อการลองชุดใหม่ เริ่มต้นพูดคุยกับพวกเธอแล้วขอลองกางเกงทรงสวยตัวนั้นกันดีกว่า

 

Trying very hard with sustainable fashion

“ก่อนหน้านี้ SHE KNOWS เป็นเหมือนขยะเลยค่ะ” เซนเริ่มต้นเปิดประเด็นด้วยคำที่เล่นเอาเราตกใจ

สาเหตุคือเพราะจริงๆ แล้ว SHE KNOWS เป็นเหมือนแบรนด์ย่อยที่นำเอาเศษผ้าเหลือใช้ของ Motif Official เสื้อผ้าแบรนด์แรกสุดของเซนและปันปันที่เป็นสไตล์ออกผู้ใหญ่กว่า ดูหรูหรา ขายขึ้นห้าง ราคาตัวละหลายพัน มาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่น ทำแบบเน้นปริมาณ แต่ไม่ได้โฟกัสที่คุณภาพ เพื่อให้ขายแล้วบริษัทยังพอมีกำไรเข้ามาบ้าง

“มาคิดได้ก็ตอนไปออกอีเวนต์ขายของ มีโมเมนต์หนึ่งที่เรามองรอบๆ ตัวแล้วรู้สึกว่าไม่โอเคเลยกับการที่ต้องมาขายขยะพวกนี้ ยังคุยกับปันปันเลยว่าสงสารลูกค้าจัง เรารู้อยู่กับตัวว่าราคาต้นทุนเป็นยังไง เย็บแย่แค่ไหน หรืออย่างคำที่ลูกค้าพูดว่า ‘ไม่ต้องไปคิดมากหรอก ใส่รอบเดียว เดี๋ยวก็ทิ้งแล้ว’ เราเลยรู้สึกว่า เฮ้ย ที่เรากำลังทำอยู่นี่มันไม่ใช่แล้วนะ

“เหมือนอยู่ในวงการนี้มา 5 ปี ก่อนทำ SHE KNOWS แต่เราไม่รู้เลยว่ามันเป็นปัญหา จนพอคิดได้วันนั้น มานั่งหาข้อมูลถึงเพิ่งได้รู้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่เป็นหนึ่งในวงจรธุรกิจที่สร้างมลพิษต่อโลกมากที่สุด ไม่ใช่แค่ว่าการซื้อไปใส่เพียงครั้งสองครั้งแล้วทิ้งจะสร้างขยะมหาศาล แต่วงการฟาสต์แฟชั่นยังมีอีกสารพัดปัญหาหลบอยู่เบื้องหลังอีก ทั้งเรื่องการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน หรือกระทั่งกระบวนการแรกอย่างการปลูกคอตต้อนนั่นก็เป็นปัญหา” 

“มันเป็นปัญหาในทุกๆ กระบวนการจริงๆ สุดท้ายเราเลยคุยกันว่าถ้าจะอยู่ในธุรกิจนี้ เราต้องเปลี่ยน ต้องทำอะไรสักอย่างให้สิ่งที่ทำอยู่มันมีผลลัพธ์ที่ดีกว่านี้” ปันปันช่วยเสริม

ทั้งคู่จึงเริ่มต้นเปลี่ยนโฉม SHE KNOWS เสียใหม่ เริ่มตั้งแต่เรื่องของกระบวนการออกแบบ ที่เปลี่ยนจากเดิมใหม่หมด หาความรู้เรื่องผ้าเส้นใยธรรมชาติที่พอจะมีคุณสมบัตินำมาตัดเย็บได้ ดูลวดลายของผ้า แล้วค่อยๆ พัฒนาออกมาเป็นสินค้า

“ข้อดีคือช่วงนั้นแบรนด์ต่างประเทศก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แล้วเหมือนกัน และแบรนด์สไตล์นี้เขาจะบอกชัดมากว่าใช้ผ้าอะไร เราเลยเหมือนได้ใช้ข้อมูลตรงนั้นไปศึกษาต่อ ดูว่าเขาใช้ผ้าอะไร แล้วที่ไทยมีที่ไหนขายบ้าง” ปันปันเล่า ก่อนที่เซนจะรับไม้ผลัด

“ต้องยอมรับว่าเราเริ่มต้นจาก less bad เนอะ ไม่ใช่ good เราคุยกับปันตั้งแต่ปีแรกว่าเฮ้ย มันเป็นไปไม่ได้นะที่จะใช้ผ้ารีไซเคิล หรือผ้าจากเส้นใยธรรมชาติทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็เลยตกลงกันว่าถ้างั้นเราตั้งเป้าในปีแรกว่าใช้ผ้าที่เป็นโพลีเอสเตอร์ไม่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ก่อนดีไหม พอทำได้แล้วเราค่อยไปโกลต่อไป

“จริงๆ สิ่งที่ดีที่สุดเลยก็คือการไม่ผลิตผ้าเพิ่มนั่นแหละ เพราะถึงจะเป็น tencel แต่ tencel ก็ยังถือว่าเป็นการสร้างแมตทีเรียลขึ้นมาใหม่ เรียกว่าเราพยายามจะ ‘trying very hard’ มากกว่า เรายังไม่สามารถเคลมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเราเป็นแบรนด์ที่ sustainable แต่เราก็พยายามทำเท่าที่ทำได้” 

 

Trying very hard to let you be who you are

หากเลื่อนดูรูปภาพในอินสตาแกรมจะเห็นว่าแบบเสื้อและกางเกงของ SHE KNOWS ไม่ค่อยเปลี่ยนไปมากนักในแต่ละคอลเลกชั่น เน้นทำแบบเรียบง่ายให้ใส่ได้นานที่สุด และหากมีโอกาสได้จับผ้าจริง ก็จะเห็นว่าตะเข็บหรือฝีเย็บทุกวันนี้เปลี่ยนไปจนสัมผัสได้ ด้วยฝีมือของช่างเย็บในชุมชนที่มีฝีมือระดับเทลเลอร์เมด ซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นลุงสังฆ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเย็บเสื้อและกางเกง พี่แป๋วผู้เชี่ยวชาญด้านการเย็บเสื้อและเดรส หรือพี่นิโคลช่างแพตเทิร์น ทุกคนต่างได้รับราคาที่สมเหตุสมผล ไม่มีการกดราคา

“เอาจริงๆ เซนกับปันไม่มีพื้นฐานด้านดีไซน์เลย แต่เรานับว่านั่นเป็นข้อดีนะ” เซนพูดเสริมขึ้นหลังอธิบายถึงวิธีการทำงานกับช่างในชุมชนให้เราฟังจบ 

“เรามองโปรดักต์ในมุมของลูกค้า ไม่ได้มองว่าอันนี้ทำได้หรือทำไม่ได้ แต่มองว่าเราอยากใส่ทรงนี้ เอวกางเกงตัวนี้ต้องเป็นเอวยางยืดที่ใส่แล้วก้นไม่ใหญ่ สะโพกปันปันต้องเล็ก เราใส่แล้วต้องสูง”

เพราะไม่ใช่ผู้หญิงหุ่นนางแบบทั้งคู่ เวลาซื้อเสื้อผ้าในอินสตาแกรมทั้งสองคนจึงจะมีปัญหาแทบทุกครั้ง ติดสะโพกบ้างล่ะ สิ่งที่คิดกับสิ่งที่เป็นต่างกันบ้างล่ะ นอกจากความ sustain ที่พยายามกันอยู่ นี่จึงเป็นอีกสิ่งที่พวกเธอพยายามเข้าไปแก้ไขจุดที่เป็นปัญหา 

“เราอยากทำเสื้อผ้าที่คนใส่แล้วบอกว่าเออ ตัวนี้ได้อยู่ เพื่อนใส่แล้วบอกว่ามึงตัวนี้กูใส่แล้วก้นสวยมาก อยากทำเสื้อผ้าที่ช่วยเสริมคาแร็กเตอร์ของแต่ละคน ทำอะไรที่เอาไปแมตช์กับชุดในตู้เสื้อผ้าของเขาได้ ให้ลูกค้าได้ Be who you are.” เซนอธิบาย

ซึ่งสิ่งที่ดูจะโชว์ความเป็นคอนเซปต์นี้มากที่สุด คงเป็นการที่ SHE KNOWS มีเสื้อผ้ามากขนาด เลือกได้เลยตั้งแต่เอว 24-42

“มันเริ่มจากว่าพอเราออกไปขายป๊อปอัพแล้วคนสนใจเยอะมาก แต่พอลูกค้าเข้ามาปุ๊บ คำที่เราพูดบ่อยมากคือ ‘ขอโทษนะตัวเอง ไม่มีไซส์ค่ะ’” เซนเล่าถึงที่มา

“พูดบ่อยเข้าก็หน้าชา บางคนเขาอยากได้มากจริงๆ ก็พยายามยัดตัวเองเข้าไปให้ได้ แล้วซื้อกลับไป ทั้งๆ ที่มันผิดที่เสื้อผ้าเรานะ ไม่ได้ผิดที่เขาเลย แต่เขาก็ยังซื้อไป เลยรู้สึกว่า โห เขาอยากได้ขนาดนั้นเลยเหรอ ดีใจก็ดีใจนะ แต่มันไม่โอเค

“เรารู้สึกว่าผู้หญิงถูกมีเดียทำให้รู้สึกว่าหุ่นนางแบบคือสวย ต้องเป็นแบบนี้เท่านั้นไม่งั้นเธอไม่สวย เซนไม่ใส่แขนกุดเลยจนอายุประมาณ 25 เพราะคิดว่าตัวเองเป็นคนแขนใหญ่ มันเป็นปัญหานะ ทำไมเราถึงไม่กล้าใส่แขนกุด ทั้งๆ ที่ซื้อแขนกุดมาเยอะมาก อยากใส่มาก แต่ต้องรอให้น้ำหนักอยู่ในเลขที่พอใจก่อนแล้วถึงจะใส่ ถ้าเราเอว 24 แล้วเรายังคิดว่าตัวเองอ้วน อันนี้คือแย่แล้วนะ ผิดแล้วที่เรารู้สึกแบบนี้”

“เราเลยมาแก้ที่ต้นเหตุแทน ว่ากางเกงตัวนี้จะทำยังไงให้คนคนนี้ใส่แล้วมีความมั่นใจ มีความรู้สึกว่าเขาขายาว ช่วยเขาในจุดที่เราสามารถช่วยได้ 

“เอาจริงๆ การทำ SHE KNOWS มันเป็นการเดินทางของเราเหมือนกันนะ อย่างช่วงที่ทำ Motif เราทำกางเกงเอวสูงออกมาตัวหนึ่ง แต่ใส่แล้วช่วงสะโพกปริ แต่ก็บอกไปว่าไม่เป็นไรหรอก เพราะเราเป็นคนสะโพกใหญ่ ถ้าคนอื่นที่เป็นคนปกติเขาก็คงใส่ได้ กลายเป็นว่าปัญหาอยู่ที่ตัวเราไม่ใช่กางเกง ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเราเลือกได้ว่าจะแก้ให้มันถูกต้องไหม” ปันปันช่วยย้ำ ก่อนที่เซนจะขมวดความคิดทั้งหมดอีกครั้ง

 

“การทำแบบนี้มันจำเป็นทั้งสำหรับเราและแบรนด์เราเองที่ต้องยอมรับว่าเราก็เป็นแค่ผู้หญิงธรรมดา หุ่นปกติ แล้ววันที่เรายอมรับเรื่องนี้ได้ เราจะรู้สึกว่าเราชอบร่างกายตัวเองมากขึ้น”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย