Mad Rabbit Studio–สตูดิโอคัสตอมสนีกเกอร์ที่หมกมุ่นกับการดีไซน์รองเท้าให้โดดเด้งกว่าใครๆ

ความหลงใหลในวัยเด็กของ กัน–ศุภฤกษ์ สุทธิรักษ์ ก็ไม่ต่างอะไรกับพวกเราหลายๆ คน นั่นคือ ‘สนีกเกอร์’ แต่ในขณะที่รองเท้าในความทรงจำของใครคนหนึ่งอาจเป็น Nike Air Max 1 หรือ Puma Suede หากสำหรับกัน สนีกเกอร์คู่ที่ประทับอยู่ในจิตใจเขาอยู่เสมอคือ Reebok Ice Cream สนีกเกอร์ที่อาจไม่ค่อยเป็นที่คุ้นหูมากนัก

“มันเป็นรองเท้าสีพาสเทลซึ่งผมชอบมากๆ แล้วก็เป็นสนีกเกอร์คู่แรกที่คุณแม่ซื้อให้ด้วย หลังจากนั้นผมก็เริ่มเก็บสะสมสนีกเกอร์มาตลอด” กันย้อนรำลึกถึงความทรงจำในวัยเด็กให้เราฟัง

ฟาสต์ฟอร์เวิร์ดจากหลายสิบปีก่อนมาในยุคปัจจุบัน จากเด็กหนุ่มผู้คลั่งไคล้สนีกเกอร์ในวันนั้น ก็ได้กลายเป็นผู้ก่อตั้ง MAD Rabbit Studio–สตูดิโอคัสตอมรองเท้าที่กำลังเป็นที่ยกย่องในวงการสนีกเกอร์ไทย ณ ตอนนี้

ว่าแต่ว่า อะไรคือการคัสตอมรองเท้ากันล่ะ แล้วด้วยสาเหตุอะไรถึงทำให้ชายหนุ่มคนหนึ่งตัดสินใจลุกขึ้นมาเปิดสตูดิโอคัสตอมรองเท้าเป็นของตัวเอง ต่อการจะตอบความสงสัยต่างๆ นี้ได้เราจำเป็นจะต้องสนทนากับเจ้าของเรื่องราวเหล่านี้ 

ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่โลกเล็กๆ ของกันที่ช่ือ MAD Rabbit Studio

Mad Rabbit Studio

เริ่มต้นจากการเพนต์

“หลังจากที่เก็บสะสมสนีกเกอร์ไปได้สักพัก ถึงจุดหนึ่งผมก็เริ่มอยากมีรองเท้าเป็นของตัวเองที่จะไม่เหมือนกับคนอื่นๆ” กันเริ่มต้นเล่า

ด้วยความที่ร่ำเรียนในสายออกแบบมา การจะดีไซน์สนีกเกอร์สักคู่หนึ่งให้แตกต่างไปจากคู่อื่นๆ ย่อมจะไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถ ถึงอย่างนั้นจุดตั้งต้นแรกของกันคือการ ‘เพนต์รองเท้า’ ให้มีลวดลายใหม่โดยใช้สีน้ำมันและสีพาสเทลซึ่งเขาคุ้นเคยอยู่แล้ว

“ปัญหาคือ สีพวกนี้มันไม่ยึดเกาะกับรองเท้า พอผมเพนต์เสร็จมันก็หลุด ใช้งานจริงแทบไม่ได้เลย ผมก็เลยลองไปดูแชนแนลยูทูบต่างประเทศที่เขาสอนเรื่องนี้ จนสุดท้ายก็ไปพบว่า สีที่เขาใช้คือสีอะครีลิกสำหรับเพนต์วัสดุหนังโดยเฉพาะ แต่ว่าตอนนั้นสีประเภทนี้มันยังไม่มีขายในประเทศไทย” 

Mad Rabbit Studio

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 6-7 ปีก่อน วงการสนีกเกอร์ในประเทศไทยยังเป็นวงการที่เล็กมาก ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าวงการคัสตอมรองเท้าจะเล็กกว่ากันสักแค่ไหน แต่เพราะมีเพื่อนอยู่ที่สหรัฐอเมริกาพอดี กันจึงถือโอกาสบินไปหาเพื่อนที่นิวยอร์กและออกตามหาสีอะครีลิกสำหรับเพนต์วัสดุหนังเพื่อนำกลับมาใช้ที่ประเทศไทย

“พอได้สีที่ต้องการมา ผมก็เริ่มฝึกฝนทักษะการเพนต์เรื่อยๆ จนอยู่มาวันหนึ่ง คุณป๊อป (นิธิทัศน์ แสวงสัตย์–หนึ่งในหุ้นส่วน Atmos Bangkok) ก็ทักมาขอให้ช่วยเพนต์ adidas NMD ของเขาเป็นลายพรางแบบ BAPE ให้หน่อย ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกว่าเขาเป็นใคร ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นคนดังในวงการสนีกเกอร์ ผมคิดแค่ว่าอยากจะตั้งใจเพนต์รองเท้าให้ดีที่สุด” 

ใครจะไปคิดว่า รองเท้าคู่นั้นจะกลายเป็นผลงานแจ้งเกิดให้กันกลายเป็นที่พูดถึงในวงการสนีกเกอร์แทบจะทันที 

ยิ่งอินก็ยิ่งลึก

กันอธิบายว่ารองเท้าคัสตอมสามารถแบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ หนึ่ง–รองเท้าเพนต์ (painted sneakers) และสอง–รองเท้า bespoke (bespoke sneakers) 

อย่างในประเภทแรก ชื่อก็บอกชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นการเพนต์ลวดลายลงไปบนรองเท้าอย่างตรงไปตรงมา ในขณะที่ประเภทที่สองคือการใช้วัสดุที่หลากหลาย เช่น แผ่นหนังและชิ้นผ้า เพื่อมาคัสตอมรองเท้าแต่ละคู่ให้มีหน้าตาที่แตกต่างกันไป

“พอทำเพนต์ติ้งไปสักพักมันก็เริ่มเบื่อ แต่อีกเหตุผลหนึ่งคือ สมมติว่าวันหนึ่งลูกค้าขอให้ผมทำอย่างอื่นบ้างที่นอกเหนือไปจากการเพนต์ขึ้นมาล่ะ ผมไม่อยากตอบลูกค้าไปว่า ผมทำไม่เป็น”

อย่างที่กันได้เล่าไป การเพนต์รองเท้าอยู่เรื่อยๆ ทุกวัน ถึงจุดหนึ่งมันก็เริ่มพบข้อจำกัด และแม้ว่าในตอนนั้นจะยังมีลูกค้าติดต่อมาขอให้เพนต์สนีกเกอร์อย่างสม่ำเสมอก็จริง แต่หากว่าสักวันลูกค้าเกิดเบื่อการเพนต์ และมองหาเทคนิคที่ซับซ้อนขึ้นล่ะ นั่นเองจึงเป็นจุดเปลี่ยนให้กันตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อไปลงคอร์สสอนทำรองเท้าหนังอย่างจริงๆ จังๆ 

“ผมไปลงเรียนคอร์สสอนทำรองเท้าหนังระยะสั้น เพียงแต่โรงเรียนแบบนี้เขาก็จะไม่มีคอร์สที่เฉพาะเจาะจงสำหรับทำสนีกเกอร์ จะมีก็แต่รองเท้าบูตกับรองเท้าคัตชู ผมเลยต้องพยายาม adapt ความรู้ต่างๆ ที่อาจารย์สอนด้วยตัวเอง

“ตอนนั้นเป็นจุดที่ผมตัดสินใจลาออกจากงานประจำด้วยเพราะมันไม่สะดวกแล้ว ผมต้องไปที่โรงเรียนเพื่อไปหัดทำสนีกเกอร์จากเครื่องมือของเขาทุกๆ วัน แต่หลังจากฝึกฝนไปได้สักพักผมก็กัดฟันซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการคัสตอมรองเท้า เพิ่อว่าผมจะได้ฝึกฝนการทำรองเท้าอยู่กับบ้าน ไม่ต้องเดินทางไปไหนอีก”

Mad Rabbit Studio

1 ปีคือระยะเวลาที่กันหมกมุ่นกับการทำรองเท้า bespoke ทดลอง ผิดพลาด หรือกระทั่งมอบรองเท้าให้เพื่อนๆ ของเขาได้ลองสวมใส่เพื่อสอบถามฟีดแบ็กและนำไปปรับปรุงรองเท้าคู่ถัดๆ ไป

“ความยากของรองเท้า bespoke คือเราต้องอินไปกับมัน ผมมองว่าฝีมือในการตัดเย็บมันขึ้นอยู่กับประสบการณ์มากกว่า ฝึกฝนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เก่ง แต่ความอินมันหมายถึงการที่เราพิถีพิถันกับรองเท้า สังเกตความแตกต่างระหว่างวัสดุแต่ละชิ้น เช่น หนังที่บางหน่อยก็จะไม่เหมาะสมกับรองเท้าที่จะต้องใช้งานทุกวัน หรือหนังบางประเภทที่ลูกค้าเห็นว่าสวยจริง แต่พอไปใช้งานจริงก็อาจฉีกขาดได้ง่าย เราต้องรู้ไปถึงรายละเอียดเหล่านี้ด้วย”

Mad Rabbit Studio

สนีกเกอร์ที่ไม่ซ้ำใคร

หลังจากที่คร่ำเคร่งฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ ในที่สุดก็ถึงเวลาที่กันจะผลิตรองเท้า bespoke คู่แรกของตัวเอง

“สนีกเกอร์คู่แรกที่ผมทำขายคือ Nike Dunk Low ตอนนั้นผมใช้หนังวัวทำ พอลองไปโพสต์ขายบนเฟซบุ๊กเล่นๆ ปรากฏว่ามีคนมาติดต่อขอซื้อ หลังจากนั้นผมก็ทำอยู่อีก 4-5 คู่ซึ่งก็ขายหมด เอาจริงๆ ผมไม่คิดเหมือนกันนะว่ามันจะขายออก แต่ทีนี้พอเริ่มมีคนสนใจมากขึ้น ผมก็มานั่งคิดว่า ทำไมเราไม่ทำแบบไว้ก่อนล่ะ ยังไม่ต้องทำขายออกมาเป็นคู่ แต่เตรียมไว้แค่แบบให้ลูกค้ามาเลย เพราะมันจะได้ไม่เสี่ยงกับเราด้วย” กันอธิบาย

จากจุดนั้น กระบวนการทำรองเท้าของกันจึงค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่การพูดคุยกับลูกค้าเป็นคู่ๆ ไป แทนที่จะเป็นการผลิตสนีกเกอร์ออกมาก่อนแล้วถึงค่อยไปนั่งลุ้นว่าจะขายได้หรือไม่ได้

Mad Rabbit Studio

“ในการทำรองเท้า bespoke ผมจะคุยกับลูกค้าก่อนเสมอว่า เขาอยากได้สนีกเกอร์แบบไหน และอยากใช้วัสดุอะไร ซึ่งพอตกลงรายละเอียดกันเสร็จเรียบร้อย สิ่งที่ผมต้องการจากลูกค้าอีกอย่างคือสนีกเกอร์คู่ที่เขาอยากจะคัสตอม ไม่จำเป็นว่าจะต้องสภาพสมบูรณ์พร้อมก็ได้นะ แต่ขอให้มีส่วน outsole มาด้วยก็พอ แค่มี outsole ผมก็สามารถทำรองเท้า bespoke ได้แล้ว”

ขั้นตอนหลังจากนั้นคือการตามหาวัสดุที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งวัสดุบางประเภทกันก็พอจะช่วยหาให้ได้ แต่บางกรณีที่ลูกค้าอยากได้วัสดุที่มีลวดลายของสินค้าแบรนด์เนม เช่น Dior หรือ Louise Vuitton ลูกค้าก็ต้องเป็นฝ่ายหาวัสดุเหล่านั้นมาให้และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของวัสดุนั้นๆ ด้วยตัวเอง

“โดยปกติแล้ว ผมจะทำรองเท้า bespoke ลายหนึ่งแค่ไม่เกิน 2-3 คู่เท่านั้น เพราะผมไม่อยากให้มีสนีกเกอร์แบบเดียวกันเยอะจนเกินไป อย่างลูกค้าบางคนเขาก็ยินดีจะจ่ายแพงเพราะเขาอยากได้รองเท้าที่ไม่ซ้ำใครและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ซึ่งเราก็ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของลูกค้าที่ก็คงไม่อยากจะเห็นคนอื่นใส่รองเท้าแบบเดียวกับเขา”

Mad Rabbit Studio

ในส่วนของระยะเวลาการทำนั้น กันบอกว่า หากเป็นแค่การเพนต์ทั่วๆ ไปจะอยู่ที่ 4-5 วัน ส่วนรองเท้า bespoke จะอยู่ที่ 2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการตามหาวัสดุด้วย

“อย่างตอนนี้มีรองเท้าที่ต้องทำอยู่เยอะไหม” เราถามกันอย่างสงสัย

“ในมือผมตอนนี้มีรองเท้าที่ต้องทำอยู่ 6-7 คู่ แต่ลูกค้าก็จะทยอยเข้ามาเรื่อยๆ นะ ถามว่าอาชีพนี้มั่นคงไหม มันก็อยู่ได้ประมาณหนึ่งนะ อย่างน้อยๆ ตอนนี้ผมก็เลี้ยงตัวเองได้ เลี้ยงลูกก็ได้ด้วย (หัวเราะ)”

Mad Rabbit Studio

“แล้วพอทุกวันนี้มีร้านคัสตอมสนีกเกอร์เพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน คุณรู้สึกกดดันบ้างไหม” เราถามต่อ

กันส่ายหน้าทันที

“ไม่เลยนะ ผมกลับดีใจด้วยซ้ำที่เห็นคนไทยด้วยกันสนใจการคัสตอมรองเท้ากันเยอะขึ้น เพราะผมอยากเห็นคนไทยไปสู้กับฝรั่งเยอะๆ แพ้-ชนะไม่สำคัญเลย แค่อยากให้โลกรู้ว่า คนไทยแม่งเจ๋ง อีกอย่างคือ ผมว่ามันก็เหมือนร้านก๋วยเตี๋ยวนั่นแหละ ทั้งๆ ที่กรุงเทพฯ มีร้านก๋วยเตี๋ยวเต็มไปหมด แต่ทำไมร้านหนึ่งถึงขายดีกว่าอีกร้านล่ะ ก็เพราะว่าร้านนั้นอร่อยกว่าอีกร้านไง ผมมองว่า ถึงแม้ทุกวันนี้จะมีร้านคัสตอมสนีกเกอร์เยอะขึ้นก็จริง แต่ตราบใดที่ยังมีลูกค้าติดต่อเข้ามาอยู่เรื่อยๆ นั่นก็แปลว่า MAD Rabbit Studio ต้องมีอะไรดีสักอย่างสิ

“ผมกล้าพูดเลยนะว่างานของผมไม่ห่วย เรียกได้ว่าเนี้ยบเลยแหละ” กันยิ้มอย่างมั่นใจ

___________

ติดต่อ MAD Rabbit Studio ได้ที่

Ig : madrabbitstudio

Facebook : MAD Rabbit Studio bkk

AUTHOR