MaChillHome บ้านดินสีขาวลุคมินิมอลที่บอกว่าชีวิตที่สร้างขยะแบบมินิมอลไม่ใช่เรื่องยาก

คำว่า ‘zero waste’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ นับตั้งแต่มีการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม ผู้คนเริ่มมองหารูปแบบการใช้ชีวิตที่ลดการสร้างขยะและเป็นมิตรกับธรรมชาติมากขึ้น หากแต่มีบางเสียงที่ปฏิเสธว่า eco-friendly เป็นเรื่องยาก ยังไม่ต้องพูดถึง zero waste ที่ยิ่งเป็นไปไม่ได้ แต่ย่อมไม่ใช่คำกล่าวของชายหญิงผู้สร้างบ้านดินสีขาวแห่งนี้ขึ้นอย่างแน่นอน เพราะพวกเขาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า zero waste เป็นไปได้ และไม่ใช่เรื่องยาก

MaChillHome หรือ บ้านมาชิว เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของ เกล้า–กิรณา มาลีเลิศ และ กุ้ง–ทศพร ชิวปรีชา โดยนำเอาคำแรกของนามสกุลของสองเจ้าของบ้านมาร่วมตั้งชื่อ บ้านมาชิวปักหลักอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม แต่บรรยากาศรายรอบกลับทำให้รู้สึกว่าเราหันหลังออกจากเมืองมาไกล ที่นี่มองเห็นฟ้าเต็มตา มองเห็นน้ำเบื้องหน้า มองเห็นตะวันค่อยๆ หล่นลับอย่างไร้ตึกรามบดบัง ยังคงความเป็นธรรมชาติไว้สูง

MaChillHome บ้านมาชิว

ภายในอาณาบริเวณที่เชื่อมโยงถึงกันทั้งหมดถูกแบ่งที่ทางเป็น ‘บ้าน’ ที่เจ้าของใช้อยู่อาศัย และ ‘บ้านพัก’ อีก 3 หลัง ที่เปิดต้อนรับแขกภายนอก พื้นที่ส่วนหนึ่งจัดแบ่งเป็นแปลงผักในขนาดที่พอดีกับการบริโภค เล้าไก่สร้างขึ้นอย่างง่ายๆ ตั้งอยู่หน้าคาเฟ่ที่บานหน้าต่างเปิดสู่สายน้ำ ใกล้กันคือลานอเนกประสงค์ ลมโชยดีเหลือเกินในยามเย็น

MaChillHome บ้านมาชิว

บ้านหลังน่ารักและบรรยากาศชวนเข้าพักเป็นเหตุผลหนึ่งที่พาเรามาถึงที่นี่ แต่อีกประเด็นสำคัญที่เราต้องนั่งสนทนากับสองเจ้าบ้าน คือแนวคิดการทำที่พักที่สามารถทำขยะให้มีจำนวนเท่ากับศูนย์ เหตุนี้เองเราจึงเห็น ‘green station’ หรือ ‘จุดแยกขยะ’ ในพื้นที่นี้ด้วย มาพร้อมแนวทางการจัดการขยะที่แขกสามารถทำเองได้ทุกคน และใช่ว่าจะเป็นกฎระเบียบที่ใช้แต่ผู้เข้าพักเท่านั้น ชีวิตส่วนตัวของพ่อบ้านและแม่บ้านคู่นี้ได้นำร่อง zero waste มาก่อนแล้วเช่นกัน 

มั่นคงที่แท้คือพึ่งพาตัวเองได้

เกล้าและกุ้งย้อนความว่าตนคืออดีตมนุษย์เงินเดือน ทั้งสองเรียนเกี่ยวกับวิศวกรรมปิโตรเคมีมาด้วยกัน ต่อด้วยการทำงานในจังหวัดภาคตะวันออกซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมแห่งใหญ่ของประเทศ แต่เงินเดือนที่เข้าบัญชีตรงเวลา แม้มากแค่ไหนกลับไม่ได้สร้างความมั่นคงทางใจให้ทั้งคู่เลยแม้แต่น้อย และนั่นคือจุดเริ่มต้น 

“เราทำงานในโรงงานประกอบรถยนต์” กุ้งเล่า “ทำไปสักพักก็เริ่มเห็นวัฏจักรของมนุษย์เงินเดือนที่อยู่ในโรงงาน เมเนเจอร์อายุ 50-60 วันดีคืนดีบริษัทมีปัญหาเขาก็ถูกให้ออก เพราะเงินเดือนสูงแล้ว แต่เขาก็ไม่มีหลักประกันอื่นในชีวิต เงินเยอะก็จริง มีกองทุนก็จริง แต่แล้วยังไงต่อ เขาอายุมากแล้ว ไม่มีใครรับเขาเข้าทำงานต่อแล้ว เราเลยรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ชีวิตที่มั่นคงแล้วล่ะ เราอาจโดนปลดออกเมื่อไหร่ก็ได้ เลยมองหาชีวิตที่ทำให้เรารู้สึกมั่นคง” 

‘มั่นคง’ ในที่นี้ของสองคน หมายถึงการพึ่งพาตัวเองได้และเป็นเจ้าของสิ่งนั้นอย่างแท้จริง

“เกล้าไปเห็นสวนพันพรรณของพี่โจน จันใด เปิดอบรมหลักสูตรพึ่งพาตัวเอง” ชายหนุ่มเล่าต่อ “ช่วงของการหาตัวตนน่ะ ลองไปเถอะ เราก็ไปลองใช้ชีวิตแบบสวนพันพรรณดู เลยได้ไอเดียภาพรวมคอมมิวนิตี้ของพันพรรณ เขาอยู่กันหลายครอบครัว ช่วยเหลือกัน ทำงานร่วมกัน แล้วหารายได้จากตรงนั้น เออ นี่แหละ สิ่งที่เราน่าจะเป็นได้ คือสร้างบ้านดิน สร้างอาหารด้วยตัวเองส่วนหนึ่ง อะไรที่สร้างเองไม่ได้​ก็พึ่งพาเครือข่ายหรือเกษตรกรที่เรารู้จัก ไอเดียมาแล้ว เหลือแค่ว่าจะหาพื้นที่ตรงไหนทำให้ไอเดียนี้เกิดขึ้น ผมเป็นคนนครปฐมเลยคิดว่าจะกลับมาทำที่บ้าน”

ที่ดินผืนนี้ พวกเขาซื้อไว้หลังจากมองหาที่ทางตั้งต้นใหม่เมื่อ 10 ปีก่อน สภาพแรกเห็นคือป่าอ้อยหนาทึบและรกชัฏ แต่เกล้าบอกว่ามีอะไรบางอย่างดึงดูดให้ต้องเป็นที่นี่

“ตรงคาเฟ่ที่เรานั่งอยู่นี้เป็นเนินสูงประมาณหลังคา พอขึ้นมาบนเนินเท่านั้นแหละ ภาพที่ปรากฏคือภาพตรงหน้าต่างนี้” เธอหมายถึงบ่อทรายที่สวยสมบูรณ์ด้วยสายน้ำทอดยาวโอบล้อมพื้นที่ “เราหันมามองหน้ากันเลย เอาตรงนี้”

MaChillHome บ้านมาชิว

“ศักยภาพของจุดนี้ทำบ้านและทำสถานที่พักผ่อนได้แน่นอน” กุ้งกล่าวมั่นใจ “บวกกับตอนนั้นเรารู้ข่าวแล้วว่ามีมอเตอร์เวย์ตัดผ่าน จากบางใหญ่ไปกาญจนบุรี ตรงนี้เป็นรอบต่อสามจังหวัด ห่างออกไป 5 กิโลเมตรเป็นราชบุรี เลยไปอีกนิดออกกาญจนบุรี แต่ก็ไม่ไกลจากตัวเมือง ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และมีความเป็นส่วนตัวสูง”

มีที่ทางแล้วก็ใช่ว่าจะสร้างบ้านอยู่ได้ทันใจ ด้วยทั้งคู่วางแผนเพาะปลูกในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ จึงต้องทิ้งดินไว้อย่างน้อย 3 ปี ต่อด้วยการปลูกปอเทืองเพื่อปรับสภาพดินให้มีความสมบูรณ์ ถึงจะเริ่มถางดิน ถมที่ และปูทางได้

เกล้าเล่าให้เห็นภาพว่า “ระหว่างนั้น กุ้งเขาก็มาตั้งแคมป์ที่นี่ เราทำห้องน้ำ มีครัว ซึ่งเป็นแค่เสาและหลังคา แล้วค่อยๆ โยกย้ายกันมาช่วงเมษายนปี 2018 แล้วมีพายุเข้า ฝนตกหนัก พื้นเต็มไปด้วยโคลน เอาแค่เดินจากบ้านมาที่ครัวที่ยังมีแต่เสาคือเลอะเทอะมาก เอาเป็นว่ารถโฟร์วีลยังเข้าไม่ได้  

“พอตุลาคมก็เป็นช่วงที่อากาศเริ่มแห้งๆ เราเจอศัตรูสำคัญคือหมามุ่ย แล้วพอพฤษภาคมมันก็เริ่มขึ้นใหม่ เราสองคนต้องโรยตัวลงไปตามขอบตลิ่ง ถอนหมามุ่ยกันเช้า-เย็น เพราะเราต้องอยู่เองด้วย ฉะนั้นอะไรที่เป็นศัตรูเราต้องเอาออกให้หมด แต่จะพ่นยาก็ไม่ได้เพราะเราต้องการทำเกษตรอินทรีย์ และพ่นทียาก็จะกระจายไปไกล วิธีที่ดีที่สุดคือถอน”

การเริ่มต้นยากเสมอ แต่เมื่อมีเป้าหมายชัดเจนแล้ว สองคนก็ช่วยกันสร้าง ‘บ้าน’ หลังมั่นคงขึ้นมาจนได้

กุ้งเล่าว่า “เราให้ใจบ้านสตูดิโอทำแผนแม่แบบ บ้านควรอยู่ตรงไหน พื้นที่อเนกประสงค์ควรอยู่ตรงไหน แล้วพอเราใช้ชีวิตกันจริงๆ เราจะเห็นเองว่าบางพื้นที่มีศักยภาพมากกว่าที่วางในแผนแม่แบบ เราก็ปรับไปตามนั้น แต่ต้องขอบคุณใจบ้านนะ เพราะเราได้แผนใหญ่มา ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีไดเรกชั่นว่าควรไปทางไหน”

“นี่คือการตัดสินใจครั้งใหญ่” เกล้าเสริม “เราไม่อยากทำแบบไม่มีแผนในหัว เพราะเราต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ให้ได้ด้วย”

บ้านดิน บ้านนก และบ้านที่ทำจากของเหลือใช้  

บ้านดินคือตัวเลือกแรกในการสร้างที่อยู่อาศัย เพราะสร้างเองได้ ซ่อมแซมง่าย อยู่สบาย กุ้งให้เหตุผล ขณะที่ฝันของเกล้าจำเพาะลงไปอีกนิด นั่นคือต้องเป็นบ้านดินสีขาว สบายตา รูปลักษณ์ร่วมสมัย ในดีไซน์ที่เห็นแล้วต้องอุทานว่าน่ารัก

“เราได้รู้จักกับบ้านดินประมาณหนึ่งแล้วล่ะ” กุ้งบอก “แต่บ้านดินที่เราเห็นจากสวนพันพรรณเป็นสไตล์คลาสสิก เราก็มองว่าน่าจะทำอะไรที่ดึงดูดได้มากกว่านั้น จึงไปหาจิ๊กซอว์อื่นมา นั่นคือบ้านดินคำปู้จู้ของครูจุ้ย ครูโชะ ที่พะเยา บ้านของเขาเป็นสไตล์โมเดิร์น เราจึงได้หลักการสร้างและการฉาบให้เป็นสีอื่นจนกลายเป็นบ้านดินหลังแรกที่เราอยู่ได้จริงๆ”

“แต่เราก็ไม่สามารถทำเองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์” เกล้าเอ่ยถึงข้อจำกัด “เราเอาความรู้มาคุมช่างอีกที การทำบ้านดินต้องทำหลายคน เพราะต้องแข่งกับเวลา แต่รายละเอียดต่างๆ อย่างติดบัวในบ้าน ต่อเฟอร์นิเจอร์ เราทำเองหมด”

ถัดจากบ้านที่ใช้อยู่เอง วิชาบ้านดินที่ร่ำเรียนมาก็ได้ต่อยอดเป็นที่พัก ตั้งชื่อว่า ‘บ้านดิน (mud house)’ ตรงตัว บ้านสองชั้น กำแพงสูงถึงราว 4 เมตร ซึ่งก็น่ารักสมปรารถนา 

“เราอยากให้คนที่เขามาพักเห็นบ้านดินในอีกภาพหนึ่ง ไม่ใช่บ้านดินที่เป็นบ้านถ้ำหรือบ้านชั้นเดียว” แล้วกุ้งก็อธิบายการสร้างบ้านดินสีขาวอย่างกระชับ “เราใช้ส่วนผสมเพิ่มเติมคือปูนขาว จากนั้นฉาบและทาสีขาวทับอีกที เพราะถ้าผสมสีขาวกับดินไปเลยมันจะไม่ได้ขาวสะอาดแบบนี้ แต่จะเป็นสีขาวเทา และบ้านดินปกติเขาจะทำชายคายื่นออกมายาวๆ เพื่อบังฝน แต่ของเราทำแบบโมเดิร์นเลย ถามว่าทำแบบเราถ้าโดนฝนแล้วเป็นอะไรไหม ก็นิดหน่อย แต่ซ่อมได้ตลอดเวลา ไม่เหมือนปูน ปูนแตกแล้วแตกเลย แต่บ้านดินเราก็แค่ฉาบซ่อม และต่อให้ทำบ้านให้โมเดิร์นขึ้น คุณสมบัติของบ้านดินก็ยังเหมือนเดิม

“เราทำให้รู้ว่าบ้านดินทำได้เหมือนบ้านปูนทุกอย่าง ติดแอร์ได้ ทำเฟอร์นิเจอร์แขวนได้ มันมีวิธีการ ต่างแค่วัสดุที่ใช้สร้างเท่านั้นเอง และบ้านดินประหยัดแอร์มาก อุณหภูมิในบ้านต่างจากข้างนอกประมาณ 8 องศาฯ แอร์ฯ เลยไม่ต้องทำงานหนัก แต่บ้านปูนถ้าข้างนอก 47 องศาฯ ข้างในก็ 47 ถ้าเราอยากได้ 25 องศาฯ กว่าอุณหภูมิจะลดลงก็นาน”

หลังต่อมาชื่อ ‘บ้านนก (bird house)’ เนื่องจากออกแบบให้มีช่องหน้าต่างวงกลมเหมือนบ้านนกที่แขวนบนต้นไม้ ลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียว และเป็นหลังเดียวของที่นี่ที่สร้างด้วยคอนกรีต เกล้าให้เหตุผลว่าในช่วงที่เริ่มสร้างบ้านหลังนี้ตรงกับช่วงฤดูฝนพอดี ซึ่งไม่สามารถตากอิฐดินได้ แต่ถ้ารอให้หน้าร้อนเวียนมาก็จะไม่ทันกำหนดเปิดบ้านที่ตั้งใจไว้ แม้เป็นบ้านปูนแต่สร้างออกมาได้กลมกลืนกับบ้านดินหลังเคียงใกล้มาก

MaChillHome บ้านมาชิว
MaChillHome บ้านมาชิว

ขยับมาหลังที่ 3 ชื่อ ‘บ้านพักใจ (the rest house)’ กุ้งนิยามบ้านหลังนี้ว่าเป็นบ้านที่สร้างจากของเหลือ “คำว่า rest ในความหมายหนึ่งคือของเหลือ บ้านหลังนี้ก็ทำขึ้นจากของเหลือ จริงๆ ช่วงที่ครอบครัวของเกล้าย้ายมาอยู่ด้วยกัน เราทำบ้านดินขึ้นมาอีกหลัง แล้วตอนนั้นมีอาสาสมัครจากสโลวาเกียมาช่วยงาน เราจึงได้อิฐดินที่เยอะมาก เหลือพอที่จะสร้างบ้านพักอีกหลังได้”

และเชื่อหรือไม่ว่า ในผนังของบ้านพักใจมีขวดน้ำพลาสติก PET (Polyethylene Terephthalate) ที่ขายตามร้านสะดวกซื้อถูกยัดพลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อยอื่นๆ ไว้จนแข็งแน่น วางก่อขึ้นเป็นผนังสลับกับอิฐดิน ด้วยพลาสติกประเภทนี้มีคุณสมบัติที่ทนทาน มีอายุยาวนาน เจ้าของบ้านพยักหน้าว่าใช้เป็นวัสดุเสริมในการสร้างบ้านดินได้ดี

“บ้านทั้งสามหลังข้างนอกอาจดูธรรมดา แต่ข้างในมีความพิเศษของแต่ละบ้าน” กุ้งจบประโยค เกล้าก็เอ่ยต่อทันที

“เราออกแบบตกแต่งให้สะท้อนถึงความเป็นตัวเราที่สุด เป็นการใช้ของที่เราอยากได้กับบ้านตัวเองแต่ไม่เคยได้ เราอยากได้หน้าต่างวงกลมแต่ชีวิตจริงไม่มี อะ เราทำบ้านนก อยากได้บันไดวน อะ เอามาใส่ในบ้านดิน อยากได้หน้าต่างใหญ่ๆ เอาไปใส่ที่บ้านพักใจ”

“บ้านพักใจนี่ตอนแรกจะเอาออนเซนไปใส่ด้วย” ฝ่ายชายแทรกเสียงเข้ามา

“กุ้ง มันร้อน!” ฝ่ายหญิงพูดดัก พากันหัวเราะร่วน

“เลยจบที่ว่าทำเป็นชานนั่งเล่นด้านข้าง ติดผ้าโปร่งเป็นม่าน กลางคืนปลดลงมาเป็นมุ้งได้ คอนเซปต์ของบ้านทุกหลังคือมีให้น้อย ใช้สอยให้มาก เป็นอีกจุดที่สะท้อนสิ่งที่เราเป็นอยู่ เราไม่อยากมีอะไรเยอะแยะ แต่อยากให้มีประโยชน์ในการใช้งานมากที่สุด” กุ้งสรุป

MaChillHome บ้านมาชิว

Green station แปรขยะให้เกิดประโยชน์ใหม่

ทั้งคู่บอกตรงกันว่าการใช้ชีวิตที่นี่ได้ลดทอนความอยากซื้อของลงไปมาก ไม่ว่าจะเพราะมีเพียงพอแล้ว หรือเพราะเมื่อนำสิ่งใหม่เข้ามาสิ่งเก่าก็ย่อมกลายเป็นขยะไปโดยปริยาย

เกล้าบอกว่า “เราแทบไม่ได้ซื้อเสื้อผ้าแล้ว เรามีเสื้อที่ใส่รับแขกได้ มีเสื้อที่ใส่ทำงาน พอเสื้อที่ใส่รับแขกเก่าหรือขาดก็จะเอามาใส่ทำงาน พอใส่ทำงานไม่ได้แล้วก็จะกลายเป็นผ้าขี้ริ้วหรือใช้งานอย่างอื่นแทน แล้วค่อยหาเสื้อทำงานใหม่ หรืออะไรที่เราต้องเอาออกไปจริงๆ ก็ไม่ใช่การทิ้ง แต่เป็นการนำไปสู่ประโยชน์อย่างอื่นแทน

“ในชีวิตส่วนตัว เราเด็ดขาดเลยว่าพลาสติกทั้งหลาย ห้าม พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว พวกหลอด แก้วกาแฟพลาสติก อะไรที่ใช้ครั้งเดียวที่นี่ไม่มี เว้นแต่พลาสติกที่ใช้ถนอมอาหาร เช่น วัตถุดิบบางอย่างที่ต้องฟรีซมาก็ยังมีอยู่ แต่เราจัดการอย่างถูกต้องแทน”

หรือสิ่งใดใช้ซ้ำได้ก็ใช้ซ้ำ วัสดุใดที่ย่อยสลายง่ายก็เลือกใช้วัสดุนั้น เช่น ใช้ผ้าแทนกระดาษทิชชู ใช้สำลีและคอตตอนบัดทำจากฝ้ายร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ง่ายต่อการย่อยสลาย ซึ่งเตรียมไว้ให้ในทุกห้องพัก 

MaChillHome บ้านมาชิว

กับแขกที่เข้าพัก เจ้าบ้านก็ไม่ได้ตั้งกฎที่เข้มงวดเกินไปนัก หากแต่เมื่อไหร่ที่นำขยะเข้ามาหรือสร้างขยะขึ้น แขกต้องรับผิดชอบตัวเองด้วยการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี แยกให้ถูกที่ เกล้ายกตัวอย่างถุงฟอยล์บรรจุขนมกรุบกรอบ เมื่อกินหมดแล้วก็แค่ล้างถุงให้สะอาดเพื่อป้องกันกลิ่นและมด จากนั้นตากให้แห้ง แล้วแยกลงถังตามประเภทขยะ จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้านในการส่งต่อขยะแต่ละประเภทไปสู่การใช้สอยใหม่ที่เกิดประโยชน์อีกครั้ง

‘green station’ หรือ ‘จุดแยกขยะ’ ของบ้านมาชิวจึงมีขึ้นด้วยเหตุนี้ สร้างขึ้นคล้ายโรงเรือนเล็กๆ เป็นจุดพักขยะที่กำลังเดินทางไปสู่ประโยชน์ใหม่ ทำให้ที่พักแห่งนี้สามารถจัดการขยะได้อย่างเป็นระบบและเป็นศูนย์ 

MaChillHome บ้านมาชิว

เกล้าอธิบายว่า “ทุกวันนี้มีหน่วยงานที่รับขยะมากขึ้น เราก็แพ็กส่งไปหรือมีรถมารับบ้าง เราเลยทำ green station เพื่อจุดประสงค์นี้ ในเมื่อเรายังสร้างขยะอยู่หรือลูกค้าถือแก้วกาแฟเข้ามา เอาเข้ามาเลยแต่มาจัดการให้ถูก ยังมีอยู่บ้างที่ลูกค้าคิดว่าเดี๋ยวฉันใส่ถุงรวมๆ ออกไปทิ้งข้างนอก แต่ขยะถุงนั้นก็คงไปจบที่บ่อฝังกลบอยู่ดี เราจึงพยายามทำให้เขาเห็นว่าอะไรที่แยกได้ก็แยกเถอะ”

สองคนช่วยกันแจกแจง green station ของบ้านมาชิวว่าแยกขยะออกเป็นประเภทใดบ้าง เริ่มจากพลาสติกที่ยืดได้ เช่น ถุงหูหิ้วจะส่งเข้าโครงการวน (Won) เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นถุงพลาสติกใหม่, บรรจุภัณฑ์อย่างถุงขนมที่รีไซเคิลไม่ได้จะส่งไปยังบริษัท N15 เพื่อนำไปเผาในระบบปิด เป็นพลังงานทดแทน, แก้วและขวดน้ำที่ทำจากพลาสติก PET ส่งเข้าโครงการพลาสติกกลับบ้าน สามารถผลิตเป็นเส้นใยจีวรพระ, เศษกระดาษหรือใบเสร็จส่งไปรีไซเคิลทำสมุด, หลอดกาแฟสามารถทำหมอนให้ผู้ป่วยติดเตียงได้, กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ ส่งตรงไปที่ธรรมธุรกิจเพื่อใช้เป็นวัสดุทำ green roof, หลอดบีบต่างๆ สามารถหลอมเป็นอิฐบล็อกทำถนนในโครงการ green road ส่วนขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม จะรอซาเล้งมารับ

MaChillHome บ้านมาชิว

ส่วนขยะเปียกหรือขยะอินทรีย์ยิ่งไม่ใช่ปัญหาของบ้านมาชิว พวกเขามีถังหมักปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ภายในครอบครัวถึง 4 บ่อใหญ่ ใน green station มีตั้งไว้อีกถังขนาดย่อมเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ผู้เข้าพัก

“แขกเปิดดูแล้วเขามักถามว่าทำไมไม่มีกลิ่นเลย” เกล้าเล่า “ถ้าเราจัดการดีก็ไม่มีกลิ่นนะ แต่ที่เหม็นเพราะเศษอาหารอยู่ในถุงพลาสติกแล้วปิดถุงไว้ คือมันไม่ได้อากาศ แต่ถ้าแห้งจะไม่มีกลิ่น ไม่ว่าจะเป็นอาหารอะไรก็แล้วแต่ให้กรองของเหลวออก เอาของแห้งใส่ในถัง ใส่ใบไม้ ใส่แกลบ ใส่ขี้วัวยังได้ ถังที่อยู่ใน green station เราทำให้แขกเห็นว่าทำอย่างนี้ได้นะ ไซส์สำหรับครัวเรือนมีนะ ไซส์คอนโดฯ ก็มี ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละบ้านเหมาะกับแบบไหน แต่ถ้าเขาปฏิเสธตั้งแต่แรกเขาจะไม่มีทางเจอวิธีเลย”

กุ้งกล่าวต่อไปว่า “ในแต่ละวัน ที่นี่มีเศษอาหารเหลือทิ้งไม่มากเพราะอยู่กันไม่กี่คน ส่วนอาหารสำหรับแขกเรามีสัดส่วนที่กำหนดไว้อยู่แล้วว่าหนึ่งอิ่มควรเท่านี้ แขกที่ต้องการกินดินเนอร์ที่นี่ต้องแจ้งล่วงหน้าว่าคุณต้องการกินอะไร แพ้อะไร หรือไม่เอาอะไร พออาหารไม่เหลือก็ไม่เกิดขยะส่วนนี้”

วัตถุดิบจากแปลงผัก เนื้อสัตว์จากเครือข่ายเกษตรกร

อาหารที่เสิร์ฟในบ้านมาชิวแม้มีไม่กี่อย่าง แต่ทุกอย่างล้วนรู้ที่มา ซึ่งทั้งคู่มองว่าสำคัญกว่าการใช้วัตถุดิบแบรนด์ดังหรือนำเข้า แต่ไม่รู้เลยว่าอาหารที่กำลังกินอยู่ผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง พวกเขาจึงเลือกเสิร์ฟอาหารที่ทำจากผักปลอดสารที่ปลูกขึ้นเอง และใช้เนื้อสัตว์จากเครือข่ายเกษตรกรที่วางใจได้ทั้งการผลิตและคุณภาพ 

MaChillHome บ้านมาชิว

“ไม่คิดมาก่อนเลยว่าเราอยู่ตรงนี้จะมีอาหารการกินมากมายขนาดนี้” เกล้าเล่า “เราอยากได้หมูออร์แกนิกที่เลี้ยงแบบปล่อยในเครือข่ายของเราก็มี อยู่แถวสามพราน เราอยากได้ไส้กรอกที่ดี ไม่อยากใช้ไส้กรอกสำเร็จรูปที่ใส่สารนู่นนี่ เราก็โชคดีที่เจอเจ้าที่ผลิตไส้กรอกคุณภาพและอยู่ไม่ไกล เราก็เอากล่องของเราไปรับมา ลดการใช้พลาสติกลงไปอีก”

“อาหารจะอร่อย วัตถุดิบต้องดีก่อน” กุ้งเอ่ยถึงแนวคิด “คำว่า ‘ดี’ ในที่นี้คือเราต้องการรู้ที่มาของวัตถุดิบ เราอยากมั่นใจว่าเขาไม่ได้ใส่สารเคมีอะไรมา We are what we eat. เรากินสิ่งไหนเราก็ได้สิ่งนั้นใช่ไหม แต่ถ้าเราไม่รู้ที่มาของวัตถุดิบนั้นเลยนั่นคือความเสี่ยง ต่อให้จะเป็นแบรนด์ขึ้นชื่ออะไรก็ตาม”

ยิ่งเป็นเมนูสลัดของบ้านมาชิวยิ่งรู้ที่มาของผักชนิดที่ชี้ได้เลยว่าเก็บมาจากแปลงไหน ผักสลัดหมุนเปลี่ยนเวียนตามฤดูกาล เมนูผักย่างจะมีในช่วงหน่อไม้ฝรั่งออกงาม มะเขือเทศพันธุ์บีฟสเต็กลูกใหญ่ปลูกไว้ทำซอสพิซซ่า เลม่อนก็พอมีให้ทำขนมได้

MaChillHome บ้านมาชิว

พิซซ่าโฮมเมดเป็นกิจกรรมที่เตรียมไว้ให้แขกได้สัมผัสกระบวนการของอาหาร แป้งและซอสถูกเตรียมไว้ให้แล้ว แขกจะได้ลงมือเองในขั้นตอนรีดแป้ง ทาซอส และแต่งหน้าพิซซ่า สีเขียวบนหน้าพิซซ่าคือผลผลิตจากแปลงผักของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นใบอ่อมแซ่บที่เมื่อสุกแล้วจะให้รสหวานเหมือนตำลึง ใบหูเสือให้กลิ่นคล้ายออริกาโน ส่วนเบค่อนก็เป็นเบค่อนที่ทำขึ้นเอง กลายเป็นพิซซ่าหน้าพิเศษสูตรเฉพาะของบ้านมาชิวเท่านั้น

MaChillHome บ้านมาชิว

ส่วนลด ลดโลกร้อน  

การจองที่พักของบ้านมาชิวไม่มีอะไรสลับซับซ้อน หากจะมีก็เพียงกติกามารยาทและเงื่อนไขการจัดการขยะที่อาจอ่านยาวอยู่สักหน่อย แต่ทั้งหมดนั้นคือคอมมอนเซนส์ของการอยู่ร่วมกัน และเป็นการเคารพแนวคิดของผู้เป็นเจ้าบ้าน

เกล้าพูดขึ้น “บางคนอาจมองว่าเราจู้จี้จุกจิก ทำไมออกจากห้องแล้วให้ปิดแอร์ ปิดไฟ ทำไมต้องมาจำกัดขยะ ทุกวันนี้พูดแค่ทิ้งขยะลงถังไม่ได้แล้วนะ เพราะถ้าแยกขยะมันยังมีส่วนที่เราเอาไปทำประโยชน์ได้ แล้วถ้าเราทำกันอยู่สองคน คนที่มาที่นี่ไม่ทำ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร”

“ทำคนละเล็กคนละน้อยจะมีเอฟเฟกต์ที่มากกว่า” กุ้งขยายให้เห็นภาพ “เราสองคนทำ zero waste ปีหนึ่งอาจจะลดพลาสติกได้ 1 กิโลฯ แต่ถ้าคนรอบข้างเรา แขกที่มา ลดการใช้พลาสติกกันคนละ 1-2 ชิ้นต่อวัน ปีหนึ่งก็เป็นตัน เราเลยอยากแชร์แนวคิดนี้ ไม่จำเป็นต้อง zero waste จ๋า แต่ช่วยกันทีละน้อยก็ได้ มันจะกลายเป็นเยอะเอง”

หากคุณเป็นลูกค้าที่มักถามหาส่วนลดที่พัก ที่นี่ก็มี ‘ส่วนลด ลดโลกร้อน’ ให้ ซึ่งไม่ได้มีขึ้นเพื่อชาเลนจ์เอาสนุก ทว่าเป็นความตั้งใจให้แขกเห็นว่าในชีวิตประจำวันเราสามารถช่วยโลกในทางใดได้บ้าง

เกล้าอธิบายถึงส่วนลดดังกล่าว “หากเลือกเปิดแอร์ฯ แค่ 2 ทุ่มถึง 8 โมงเช้า เขาจะได้ส่วนลดตรงนี้ไป เราจะเอารีโมตแอร์ฯ ไปให้เวลานั้น ถ้าใครรู้สึกว่าบ้านดินเย็นแล้ว ไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ จะใช้แค่พัดลมก็ได้ ก็เป็นราคาที่ลดลงอีก แต่ทุกห้องมีแอร์ฯ มีพัดลมให้ ขึ้นอยู่กับที่คุณเลือก และถ้านำแก้วน้ำส่วนตัวมาเองก็ลดลงไปอีกคนละ 50 บาท

“เคยมีครอบครัวมาพักกัน 4 คน ตอนเขาจะกลับ เขาเข้ามาบอกว่า ‘คุณเกล้า ขอบคุณมากเลยค่ะ ไม่คิดว่าลูกจะอยู่ได้โดยที่ไม่มีแอร์ฯ’ เราบอกว่าลองดูนะ เปิดแอร์ฯ สัก 27 องศาฯ แล้วเปิดพัดลมส่ายก็เย็นเหมือนกัน แต่เราไม่ได้บังคับนะ เราให้ลองดู พอเขากลับกรุงเทพฯ เขาก็ลองไปใช้ที่บ้านแล้วส่งข้อความมาอีกว่า ‘ที่บ้านก็อยู่ได้ค่ะ พอแอร์ไม่ได้ทำงานหนัก ความร้อนที่ออกมาก็น้อยลง’ เราจึงต้องการหลายๆ คนช่วยกันทำ”

MaChillHome เปิดบ้านอย่างเป็นทางการครบ 2 ปีแล้ว และเป็น 2 ปีที่สองคนยืนยันว่าวิถี eco-friendly และชีวิตแบบ zero waste นั้นสามารถจับต้องและปฏิบัติได้จริง 

“ที่นี่เป็นทุกอย่างของเรา เป็นตัวตนของเรา เป็นสิ่งที่เราเชื่อ” กุ้งทบทวนถึงเส้นทางที่ผ่านมา “หนึ่ง–เราเชื่อตั้งแต่แรกว่าที่นี่มีศักยภาพ สอง–แม้ตรงนี้จะร้อน แต่เราเชื่อว่าเราจะหาวิธีปลูกผักปลูกต้นไม้ได้ และนั่นแหละ ก็ได้ผลผลิตอย่างที่เห็น”

“ที่นี่เป็นน้ำพักน้ำแรงของเรา” เกล้าให้ความหมายที่พ้องกัน “พูดได้เลยว่าทำมากับมือจริงๆ คนข้างนอกเข้ามาเขาอาจมองเห็นบ้าน แต่สำหรับเรา เราเห็นเรื่องราว เห็นตั้งแต่ทางเข้าที่เป็นโคลน เห็นพ่อแม่ที่มาเยี่ยมแล้วต้องเดินเท้าเปล่าลุยโคลนหิ้วของเข้าบ้าน ที่นี่ปรับมายด์เซตให้เรามาก เราเคยทำงานเพื่อรอเงินเดือนทุกสิ้นเดือน แต่มาอยู่ที่นี่เงินไม่ได้มาแบบนั้น ดังนั้นถ้าเราอยู่เฉยๆ ยังไงเงินก็ไม่มา ไม่ได้หมายความว่าเราทำทุกอย่างเพื่อหวังเงินนะ แต่เราต้องทำบ้านของเราให้น่าอยู่ก่อน เพราะเราทำที่นี่เพื่อให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างที่เราชอบ และใช้ชีวิตตามแนวคิดของเราได้จริงๆ”

MaChillHome บ้านมาชิว

MaChillHome (บ้านมาชิว)

address : ตำบลบ้านยาง อำเภอเมือง นครปฐม

facebook : facebook.com/machillhome 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย