ภูมิจิต –
ชีพจร
ความยาว 5.38 นาที
ขอสารภาพแต่โดยดีว่าเราไม่ได้ชอบเพลงนี้ตั้งแต่แรกฟัง
ไม่กี่วันต่อมา เรื่องราวและความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นกับชีวิตยุให้เราเลือกเปิดเพลงนี้ซ้ำและซึมซับอย่างละเอียด ดนตรีไทยเดิมฟังแล้วรู้สึกอบอุ่น เนื้อเพลงหยิบชีวิตจริงที่ทั้งสิ้นหวังและมีหวังของคนเมืองมาพูดกันแบบตรงๆ รู้ตัวอีกทีเราเปิดเพลงนี้วนซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ภูมิจิต คือวงดนตรีอินดี้ร็อกของ พุฒิ-พุฒิยศ ผลชีวิน (ร้องนำ) กานต์-เกษม จรรยาวงศ์ (กีตาร์) บอม-ธิตินันท์ จันทร์แต่งผล (เบส) และ แม็ก-อาสนัย อาตม์สกุล (กลอง) คอเพลงหลายคนยกให้ภูมิจิตเป็นวงร็อกขวัญใจ ส่วนหนึ่งเพราะฝีไม้ลายมือการแต่งเนื้อร้องของพุฒิ ฟรอนต์แมนของวงที่ว่ากันว่าโดดเด่นและน่าสนใจไม่แพ้ใคร
ภูมิจิตกลับมาทำเพลงห่างอัลบั้มที่สอง
Bangkok Fever (2553) นานกว่า 7 ปี กันยายนนี้วงอินดี้ร็อกรุ่นเก๋ากำลังจะกลับมา Midlife อัลบั้มลำดับสามในชีวิตที่เล่าเรื่องการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของพวกเขา และทุกเพลงในอัลบั้มก็ทำหน้าที่ร้อยเรื่องราวที่เป็นเหมือนชีวิตจริงของคนหนึ่งคน แต่ก่อนอื่นใดภูมิจิตขอส่งมอบ ชีพจร ซิงเกิลแรกจากอัลบั้มนี้ให้คนสู้ชีวิตทุกคนได้อินกันก่อน
เราแนะนำให้ทุกคนเปิดฟังเพลงใหม่ของพวกเขาคลอไปในระหว่างที่ชีพจรพาเดินเท้าสำรวจความคิดของพุฒิ คนเขียนเพลงประจำวงผ่านบทสนทนาด้านล่างนี้ และคุณอาจเผลอฟังเพลงของภูมิจิตวนไปวนมาไม่รู้ตัว
เขียนเพลงเพราะอยากเล่าสิ่งที่คิด
“วัยรุ่นในยุคเราจะมี 3 อย่างที่สาวๆ ชอบคือ เรียนเก่ง เล่นกีฬาเก่ง ไม่ก็เหลือทางเลือกอีกอย่างคือการเล่นดนตรี เราเลยเริ่มหัดเล่นกีตาร์ตอน ม.5 จริงๆ เราเล่นดนตรีไม่เก่งด้วยเลยต้องพยายามหาบางอย่างมาอุดจุดบอดตัวเอง เลยคิดว่าการแต่งเพลงนี่แหละเวิร์กสุด และคิดว่าคงเท่กว่าเดิมถ้าเราแต่งเพลงเป็น สาวๆ ก็น่าจะชอบด้วย แต่จากประสบการณ์ทั้งหมดพบว่าคิดผิด เพราะตลอดเวลาที่พยายามเขียนเพลง เรามีแต่แฟนเพลงผู้ชาย เพลงของเราดูดผู้ชายเข้ามาในชีวิตเยอะมาก (หัวเราะ)”
“2 เพลงแรกที่เราเขียนตอน ม.6 คือ มากมายก่ายกอง กับ รอผล Ent ช่วงแรกๆ ที่เขียนเพลงน่ะง่ายเพราะเราจะเขียนแต่เรื่องที่ยังไม่เคยเล่า แต่พอเราเล่าเรื่องนี้ไปแล้ว เวลาผ่านไปถ้าทัศนคติเรายังเหมือนเดิม เราจะติดกับการเล่าเรื่องผ่านมุมมองแบบเดิมๆ เราตั้งใจเขียนเพลงเพื่ออยากจะเล่าสิ่งที่เรากำลังคิดอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง เป็นบันทึกความทรงจำกับอารมณ์ในช่วงเวลานั้นก็ได้”
เขียนเพลงที่ตัวเองรู้สึกจริงๆ
“ถามว่าเพลงไหนที่เราแต่งเองและชอบนี่ยากมากนะ เพราะคนที่เขียนเพลงเองต้องผูกพันกับเพลงนั้นประมาณนึง เหมือนเพลง รักคือความทุกข์ สุขคือนิพพาน (อัลบั้ม Found and Lost) หลายคนที่ฟังอาจรู้สึกว่ามันไม่มีอะไร แต่เวลาที่เราเล่นเพลงนี้ เราจะนึกถึงบรรยากาศตอนเรียนอยู่ปี 3 ขึ้นปี 4 ที่ชีวิตกำลังนอยด์ๆ สับสนมาก เวลาฟังเพลงเก่าๆ มันสนุกที่พบว่าเมื่อก่อนเราเคยคิดแบบนี้ด้วยนี่หว่า มันทำให้เราเห็นชัดว่าเราเติบโตมาด้วยอารมณ์แบบไหน ด้วยวิธีแบบไหน”
“บางเพลงทำให้เรานึกถึงสาวที่เคยจีบสมัยเรียน หรือแม้แต่เรื่องเล็กน้อยที่เคยเกิดขึ้น เพลงในอัลบั้มแรกและอัลบั้มที่สองคือการเล่าอะไรบางอย่างที่เราอัดอั้นตันใจ เช่น เมื่อก่อนช้างเดินในกรุงเทพฯ เยอะมาก แต่เราไม่สะเทือนใจอะไรเลย จนวันนึงช้างเดินผ่านหน้าไป เราเห็นมันกำลังร้องไห้ มันรู้สึกอะไรอยู่วะ ก็เลยแต่ง น้ำตาช้าง (อัลบั้ม Found and Lost) ขึ้นมา รวมไปถึงความรู้สึกต่อสภาพสังคมการเมือง คือเมื่อก่อนเรารู้สึกว่ามันเท่มากๆ ที่ได้เข้าไปทำความเข้าใจสังคมการเมือง มันทำให้เรารู้สึกเท่และฉลาด เราก็เลยทำสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันฉลาดเท่านั้นเอง สำหรับเรามันเป็นแค่ความรู้สึกอ่ะ เราอาจจะไม่ได้ฉลาดจริงๆ ก็ได้”
“พอเราพยายามเขียนเรื่องสังคมการเมืองและสิ่งแวดล้อม มุมมองเราตอนนั้นค่อนข้างเด็ก เต็มไปด้วยความร้อนแรง อยากจะเปลี่ยนโลก แต่พอถึงจุดนึง เราไม่อยากเปลี่ยนโลกแล้ว เราอยากเปลี่ยนตัวเองมากกว่า ซึ่งมันดีนะ เพราะทุกครั้งที่เราเจอเด็กๆ น้องๆ ที่ดูใจร้อน อัลบั้ม Found and Lost มันเตือนให้เราเห็นว่าเราก็เคยเป็นแบบนั้นมาก่อน ถ้าเราไม่มีอัลบั้มนี้เราอาจเข้าใจว่าพวกเขาหัวรุนแรงไปเลย แต่กลายเป็นว่าพอเราไปฟังอีกครั้ง เราเข้าใจว่าเราจะรับมือเขายังไง และเราควรจะเป็นผู้ใหญ่แบบไหน”
อัลบั้มที่ร้อยเรียงตามช่วงวัย
“ถ้าอัลบั้มแรก Found and Lost เป็นเหมือนเด็กวัยรุ่นมหาวิทยาลัยที่มีความร้อนแรงในตัวเอง อัลบั้มที่สอง Bangkok Fever ก็คือเด็กจบใหม่ที่ต้องมาเจอชีวิตวัยทำงาน เหมือนเราเคยเป็นพี่ใหญ่ในมหาวิทยาลัยต้องผลัดเปลี่ยนตัวเองไปเป็นเด็กสุดในที่ทำงานใหม่ ตอนเราเขียนเพลงเราไม่เคยคิดเลยว่าจะทำให้เด็กหรือคนแก่ฟัง เพราะคนที่เป็นเด็ก วันหนึ่งเขาคงต้องผ่านชีวิตแบบนี้เหมือนเรา”
“อัลบั้มที่สาม Midlife คือคนที่อยู่ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เราเป็นคนที่ต้องเชื่อมคน 2 รุ่นนี้เข้าด้วยกัน ต้องเข้าใจทั้งผู้ใหญ่และเด็ก และทำให้พวกเขาทำงานร่วมกันได้ มันเป็นโจทย์ใหม่ที่ชีวิตเราเจอในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มมีลูกน้อง มีหลาน แฟนเพลงภูมิจิตก็เด็กลง ขณะเดียวกันเราเองก็ไม่ได้แก่เกินไป เรายังพูดภาษาเดียวกับเขาได้อยู่ เราอยู่ในจุดที่สามารถพูดแบบนี้ได้ มีทักษะในการแก้ปัญหาเพิ่มขึ้น เป็นรุ่นพี่ที่เข้าใจปัญหาในบริบทที่เราเจอ”
“ถ้าเป็นศิลปินคนอื่นที่เขาปล่อยอัลบั้มแรก อัลบั้มสองแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เขาอาจจะเฟดตัวเองออกจากวงการ เขาคงไม่มีโอกาสที่จะได้ทำเพลงที่เป็นเหมือนการบันทึกช่วงเวลาของชีวิต เราว่าเราโชคดีที่สามารถทำเพลงให้เป็นแบบนั้นได้ เราไม่เคยทรีตว่าการทำเพลงเป็นงานอดิเรก มันเป็นงานใหญ่สำหรับเราเสมอ ทุกครั้งที่มีคนไถ่ถามถึงชีวิตเรา หรือตั้งคำถามกับตัวเองว่าชีวิตเราจะก้าวไปข้างหน้าด้วยวิธีไหน เรามักจะตอบว่า ‘เราต้องทำอัลบั้มให้เสร็จ’ เพราะมันคือบทสรุปชีวิตช่วงหนึ่ง และชุดความรู้ที่เราได้จากช่วงเวลานั้น”
อัลบั้มใหม่ที่ว่าด้วย ‘ตรงกลาง’ และ ‘ความจริง’ ของชีวิต
“เราไม่อยากใช้คำว่าอัลบั้มนี้เป็นสิ่งที่มาจากชีวิตเรา คิดว่าชีวิตเราเหมือนใครหลายๆ คน คอนเซปต์ของอัลบั้มนี้ไม่ใช่แค่คนที่อยู่ตรงกลางระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ คนในวัยที่อยู่ตรงกลางระหว่างความจริงและความฝัน อยู่ตรงกลางระหว่างครอบครัวกับสุขภาพ การเงินกับแฟน สมมติว่าติดงานลูกค้าจนต้องยกเลิกนัดแฟนอ่ะ มันเป็นความรู้สึกที่เจ็บปวดประมาณหนึ่งเลยนะ (หัวเราะ) ชีวิตเราเหมือนโยนลูกกลิ้งจำนวนมาก สิ่งที่เรากลัวที่สุดคือ ถ้าเราพลาดลูกแรก ลูกอื่นเราอาจจะพลาดไปหมด คือล้มทั้งกระดาน ร่วงทั้งหมด นี่คือปัญหาที่เรากำลังเจอ”
“ความจริงปีนี้เราวางแผนจะแต่งงานซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากๆ ที่เราต้องดูแล พ่ออยากให้เรากลับไปดูแลแต่ว่าเราก็ต้องทำงาน อัลบั้มก็ต้องออกเพราะเป็นหนึ่งในความทะเยอะทะยานของเราที่จะบันทึกช่วงชีวิตของเราให้ได้ ทุกอย่างรันเป็นทอร์นาโด เราอยู่ตรงกลางของทุกอย่าง เราต้องดูแลทุกอย่างแต่ความจริงเราดูแลทุกอย่างไม่ได้”
“อัลบั้มนี้มีทั้งหมด 4 พาร์ต เป็นนวนิยายหนึ่งเรื่องที่พาร์ตแรกจะเป็นฉากเปิดตัวพระเอก พาร์ตที่สองเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน พาร์ตที่สามคือปัญหาที่เขาได้เจอ พาร์ตที่สี่ก็คือเรื่องคลี่คลาย เป็นอัลบั้มที่เล่าว่าช่วงที่ผ่านมาเราเรียนรู้อะไรมาบ้าง มันทำให้เรารู้ว่าสุดท้ายเราอยากดูแลใครสักคน เราอยากแต่งงาน เลยเลือกกลับมาทำงานเป็นวิศวกรอีกครั้ง แล้วก็ทำวงภูมิจิตไปด้วย
เราแค่รู้สึกว่าเราโฉ่งฉ่างมาเยอะ เราอยากทำอะไรไปตามอายุ เราสุภาพมากขึ้น เกรี้ยวกราดน้อยลง เพลงเราก็ตามประสบการณ์ชีวิตที่เจอ มันง่ายขึ้นเพราะว่าเรามีประสบการณ์มากขึ้นมากกว่า เป็นภูมิจิตคนเดิมที่แก่ขึ้น เราว่าอัลบั้มนี้ชีวิตจริงมาก เราเคยให้พีท OverMe (ปิติพงษ์ ผาสุขยืด) ฟัง เราชอบที่พีทคอมเมนต์กลับมามาก พีทเขียนว่าอัลบั้มนี้แม่งจริงจนน่ากลัวเลย”
5 บทเพลงความเป็นมนุษย์ที่ พุฒิ ภูมิจิต ภูมิใจ
01 มากมายก่ายกอง
“เพลงนี้เล่าถึงความรู้สึกแปลกแยกสมัยมัธยมของเรา ตอนนั้นเราฟังอัลบั้ม the man who ของ travis เพลง Writing to React You เพราะมาก แล้วทุกคนก็มองว่าเราฟังเพลงประหลาดมาก เราพยายามเปิดเพลงนี้ให้เพื่อนฟัง กว่าที่ทุกคนจะรักเพลงนี้เราต้องผ่านอะไรมาหลายอย่างมาก เราอ่านนิตยสาร Cross Road, Music Express, Generation Terrorists แต่ทั้งโรงเรียนแทบหาคนที่อ่านอะไรแบบนี้ไม่เจอ ทุกครั้งที่ไปเรียนพิเศษเราจะถือ Generation Terrorists ตลอดเพื่อรอเจอใครสักคนที่เข้ามาทักว่า เห้ย อ่านจีทีด้วยเหรอ แต่เราก็ไม่เคยเจอใครเลย”
“กลายเป็นว่าเราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราจะยอมแพ้นะ ไม่เหมือนใครแล้วทำไมล่ะ แต่ละคนก็ต้องมีเส้นทางของตัวเอง การที่ไม่เหมือนใครมันก็โอเค มันมีความงดงามของมันอยู่ ก็เลยเป็นที่มาของเพลง มากมายก่ายกอง มันคือเพลงที่ย้อนให้นึกถึงความรู้สึกภูมิใจในความแปลกแยกของเรา”
02 รอผล Ent
“เราเขียนเพลงนี้ตอนที่ผลเอนท์กำลังจะถูกส่งมาที่บ้าน จำได้ว่าวันนั้นครึ้มฟ้าครึ้มฝนมาก เป็นช่วงที่เฝ้ารอเฝ้าคอย ไอ้ซองจดหมายที่จะมาที่บ้านเนี่ยแม่งจะเปลี่ยนชีวิตเราเป็นอีกทางเลยนะ ขณะที่ มากมายก่ายกอง เป็นเพลงที่แสดงถึงความกร่าง ความมั่นใจของเรา เพลงนี้แสดงถึงความอ่อนไหวของเราเหมือนเป็นคนละคนเลยอ่ะ เป็นเพลงง่ายๆ ที่ใช้แค่คอร์ด E และ C และเขียนแบบกลอนสุภาพ แต่ไม่ใช้เมโลดี้แบบกลอนสุภาพ เป็นเรื่องใหม่ที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนเพลง”
03 ลุมพินี
“เราเขียนเพลงนี้กับพี่ต๊ะ-จักรพันธ์ุ ขวัญมงคล จริงๆ เพลงในอัลบั้ม Bangkok Fever เสร็จหมดแล้ว แต่เรารู้สึกว่าถ้าอัลบั้มนี้มีเพลงรักสักเพลงก็น่าจะสมบูรณ์ขึ้น พี่ต๊ะบอกเราว่าเขาอยากได้เพลงรักสักเพลงที่อยู่ในสวนสาธารณะ แล้วก็เขียนประโยคแรกมาว่า ‘เก้าอี้ผุพังตัวนั้นยังอยู่ หูกวางต้นใหญ่ก็ยังอยู่’ เราก็ตีคอร์ด ฮัมเพลงไปจนได้มาเป็นเพลง แล้วก็ตั้งชื่อว่า ลุมพินี ทั้งๆ ที่ตอนนั้นก็ไม่แน่ใจเลยนะว่าที่สวนลุมพินีมีต้นหูกวางหรือเปล่า (หัวเราะ) มันเป็นเพลงที่ทำให้เราได้รู้ว่า เราเขียนเพลงกับคนอื่นได้ การมีอีกมุมมองที่กว้างไกลกว่าเราเข้ามา มุมมองที่เรามีจะเปิดกว้างมากขึ้น”
04 ตัวเราของเรา
“เพลงนี้เขียนหลังจากที่เราสึกจากการบวชพระ ช่วงนั้นไม่มีงานทำ เป้าหมายชีวิตคือทำอัลบั้มให้เสร็จ วันหนึ่งเราตัดสินใจขับรถไปบ้านพี่บ๋อม Supersub รถติดมาก ฝนตกหนักมาก น้ำมันก็จะหมด เงินก็ไม่มี โทรศัพท์ก็โทรออกไม่ได้ เราไม่รู้จะทำยังไงก็เลยออกไปเปิดกระโปรงหลังรถ หยิบกีตาร์มาเล่นในรถ จู่ๆ เพลงนี้ก็ผุดขึ้นมา มันเป็นเพลงที่พูดเรื่องความไม่ยอมแพ้ของมนุษย์ เหตุการณ์นั้นทำให้เรารู้สึกว่าจริงๆ เราสามารถอยู่ในสถานการณ์แย่ๆ โดยที่เราก็มีจิตใจดีได้นี่หว่า คือถ้าเป็นเมื่อก่อนเราคงอาละวาดไปแล้วแน่ๆ เหมือนเป็นเพลงปลดล็อกตัวเอง”
“แต่เรื่องที่ดีกว่าทั้งหมดคือ เพลงนี้ยังปลดล็อกคนจำนวนมาก มีช่วงหนึ่งที่อัลบั้ม Bangkok Fever ดังมาก มีคนทักแชทมาหาเราเยอะมาก น้องคนหนึ่งบอกว่า ‘พี่ครับ ผมฟังเพลงพี่แล้วผมมีกำลังใจเลิกยา’ ยังงั้นเลยเหรอวะ (หัวเราะ) แล้วก็มีอีกคนเป็นนักศึกษาปริญญาเอกทักมา ‘ผมขอเอาชื่อพี่ไปไว้ใน appendix ของวิทยานิพนธ์นะ ตอนเขียนวิทยานิพนธ์ผมเหนื่อยมากเลย แต่พอผมฟังเพลงพี่แล้วผมมีกำลังใจเขียนจนจบ’ เรารู้สึกว่าเพลงนี้พิเศษในฐานะที่มันปลดล็อกตัวเราเองและทำให้เราเห็นว่าประสบการณ์ของเราทำให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้นได้ด้วย ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อน”
05 ชีพจร
“ถ้าพูดถึงเพลงนี้ เราจะนึกถึงหนังเรื่อง Always ที่ทุกภาคจะมีช็อตแรกที่ทะเลาะกัน ช็อตต่อมาเป็นเรื่องตลก เป็นเรื่องใหญ่ จนสุดท้ายก็จบแบบหักมุมชวนซาบซึ้ง เรารู้สึกว่าเพลงนี้มีมูฟเมนต์แบบนั้น เราเริ่มจากความเหงา เศร้า สับสน กลับมามีพลัง พีค แล้วจู่ๆ ก็ผ่อนคลายลง เป็นเพลงที่มีความซับซ้อนมากๆ เป็นเพลงที่เรานั่งทบทวนชีวิตว่าจริงๆ แล้วเราอยากมีอะไร ชีพจร ทำให้เรารู้สึกว่า เราอยากกล้าหาญที่จะใช้ชีวิต ขณะเดียวกันก็ต้องกล้าทำให้คนรอบข้างดีขึ้น กล้าที่จะมีฝันด้วย”
ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ