Löyly ซาวน่าสาธารณะใจกลางเมืองเฮลซิงกิที่เชื้อเชิญให้มาสัมผัสความฟิน(น์)แบบแท้ๆ

Loyly เวลาพูดถึงฟินแลนด์ หลายคนคงนึกถึงภาพดินแดนหนาวเย็นที่มีประชากรเพียง 5.5 ล้านคน แสงเหนือ ตัวการ์ตูนมูมิน และระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก

ส่วนในแง่พื้นที่สาธารณะ หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อห้องสมุดแห่งชาติ Oodi ที่ไม่ได้มีดีแค่หน้าตา แต่ยังแสดงให้เห็นว่าฟินแลนด์ให้ความสำคัญเรื่องการอ่านและการเรียนรู้ในระดับที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สำหรับเด็กๆ แต่ยังสนับสนุนให้ทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต

แต่นอกเหนือจากห้องสมุดที่ชาวฟินน์เข้า-ออกกันอยู่ทุกวันไม่ต่างจากห้องนั่งเล่นบ้านตัวเองแล้ว ‘ซาวน่า’ ก็ยังเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมสุดยูนีกที่ทุกคนคลั่งไคล้และไปบ่อยไม่แพ้กัน ถึงขั้นที่มีจำนวนซาวน่ามากถึง 3.3 ล้านแห่ง มากกว่าจำนวนรถยนต์ในประเทศเสียอีก จนล่าสุด UNESCO ได้บรรจุให้วัฒนธรรมการไปอบไอน้ำร้อนๆ ของชาวฟินน์เข้าในลิสต์ Intangible Cultural Heritage ของโลกไปแล้วเรียบร้อย

เครดิตภาพ avan.to/works/loyly

สำหรับชาวฟินน์แล้ว การไปซาวน่าไม่ใช่แค่การชำระร่างกายให้เหงื่อออกเพื่อสุขภาพที่ดี แต่ยังเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนแปลกหน้าได้มาเจอกันในสถานการณ์ที่ทุกคนเปลือยเปล่า เป็นคอมมิวนิตี้ที่ทำให้คนในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงานได้ใกล้ชิดและพูดคุยกันในบริบทอื่น 

นัยหนึ่งซาวน่าจึงสะท้อนถึงความเท่าเทียมกันและจริงใจ ในอีกทางซาวน่ายังถูกใช้เป็นพื้นที่ทางการทูต (Finnish Sauna Diplomacy) ที่ชาวฟินน์ใช้เป็นกลยุทธ์การตกลงเชิงการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างที่ประธานาธิบดีฟินแลนด์ Urho Kekkonen ได้เคยหารือเรื่องข้อตกลงทางทหารกับสหภาพโซเวียตในซาวน่ามาแล้ว!

ถึงฟินแลนด์จะมีซาวน่าอยู่ทุกหนทุกแห่ง แถมในยุคหลังๆ หลายครอบครัวก็มักสร้างซาวน่าส่วนตัวไว้ในบ้านหรืออพาร์ตเมนต์ของตัวเอง (เกร็ดสนุกอีกอย่างคือแม้แต่สถานทูตฟินแลนด์ในต่างประเทศทุกแห่งก็ยังมีซาวน่า!) แต่เพราะเหตุนี้เองที่ทำให้ปริมาณของซาวน่าสาธารณะที่เคยเป็นแหล่งรวมตัวกันของคนในชุมชนเริ่มลดลง ถึงชาวฟินน์จะยังไปซาวน่ากันตามปกติทุกสัปดาห์ แต่คำถามคือเสน่ห์ของการเปิดกว้างและจิตวิญญาณการเป็นพื้นที่สาธารณะของซาวน่ายังเหมือนเดิมอยู่ไหม

Loyly
เครดิตภาพ avan.to/works/loyly

คำถามนี้คือจุดเริ่มต้นของ Löyly ซาวน่าสาธารณะกลางเมืองเฮลซิงกิที่สวยตั้งแต่งานสถาปัตยกรรมดีกรีรางวัล The World’s Greatest Places 2018 และยังมีดีตรงฟังก์ชั่นที่เรียกวิถีชีวิตกลางแจ้งแบบชาวฟินน์ดั้งเดิมให้กลับคืนมา 

ซึ่งชื่อ Löyly ก็ได้มาจากภาษาฟินแลนด์ที่หมายถึงไอน้ำที่ลอยฟุ้งขึ้นมาเวลาเราราดน้ำลงบนหินร้อนๆ ตอนไปซาวน่านั่นแหละ

Loyly
เครดิตภาพ avan.to/works/loyly

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2011 The City of Helsinki มองหาพื้นที่ที่ไม่ไกลจากใจกลางเมืองจนจบลงที่เขต Hernesaari อดีตพื้นที่อุตสาหกรรมเก่าที่มีจุดเด่นคือท่าเรือริมทะเลบอลติก โปรเจกต์นี้ผ่านการทดลองหลายแบบทั้งทำเป็นหมู่บ้านซาวน่าขนาดเล็กหรือแม้กระทั่งซาวน่าลอยน้ำ (floating sauna) ในทะเล

จนเมื่อโปรเจกต์เปลี่ยนมาอยู่ในมือ Antero Vartia อดีตสมาชิกรัฐสภาฟินแลนด์ และ co-founder อย่าง Jasper Pääkkönen นักแสดงและแอ็กทิวิสต์ผู้ให้เงินทุนสนับสนุนหลัก เวอร์ชั่นล่าสุดของ Löyly จึงได้เริ่มดำเนินการสร้าง โดยได้การออกแบบจากบริษัทสถาปนิก Avanto Architects ที่ออกมาเรียบง่ายมินิมอลตามสไตล์สแกนดิเนเวียน

สถาปัตยกรรมของ Löyly คล้ายกระท่อมเล็กๆ ริมทะเลในรูปแบบเรขาคณิตฟรีฟอร์มแปลกตาไม่ได้สมมาตร ใช้วัสดุหลักเป็นไม้ล้อมรอบและเว้นระยะห่างให้เกิดแสงธรรมชาติส่องเข้าถึงได้ มีไฮไลต์คือระเบียงดาดฟ้าที่ขึ้นไปมองได้ทั้งวิวเมืองด้านหลังและทะเลบอลติกด้านหน้า และออกแบบให้พื้นลดหลั่นลงมาเป็นสโลปที่ใช้รวมตัวคนได้หลายหลาก ข้างในพื้นที่แบ่งออกเป็นโซนร้านอาหารและซาวน่าที่เชื่อมต่อกันแต่ก็แบ่งแขกทั้งสองกลุ่มชัดเจนด้วยเหตุผลเรื่องความเป็นส่วนตัว

เครดิตภาพ loylyhelsinki.fi
Loyly
เครดิตภาพ loylyhelsinki.fi

ซาวน่าที่นี่มีให้เลือกถึง 3 แบบ ทั้ง heated sauna ที่อบความร้อนไว้ตลอดเวลาหรือจะเลือกแบบที่อบความร้อนไว้เฉพาะช่วงเช้าก็ได้, smoke sauna ซาวน่าควันแบบดั้งเดิมที่ปัจจุบันหาได้ยากแล้วในเมืองใหญ่ๆ สุดท้ายคือโซนสปาและบ่อน้ำเย็นที่เอาไว้แช่สลับหลังจากอบตัวร้อนๆ จนหนำใจ และมีพื้นที่ส่วนกลางให้นั่งพักและพูดคุยกันพลางมองวิวทะเลไปอย่างที่ใครหลายคนโหยหา

แถมในช่วงซัมเมอร์ที่ทะเลไม่หนาวยะเยือกเกินไป ชาวฟินน์ก็พร้อมใจกันกระโดดลงไปว่ายน้ำในทะเลหลังจากอบซาวน่ากันเสร็จ แค่คิดว่าได้ว่ายน้ำในทะเลบอลติกสักครั้งก็ฟินแล้ว

เครดิตภาพ loylyhelsinki.fi

นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นซาวน่าที่เฟรนด์ลี่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบสุดๆ ด้วยความที่เป็นซาวน่ารวมแบบ unisex ซึ่งทุกคนต้องใส่ชุดว่ายน้ำ ไม่สามารถเปลือยกายได้เหมือนซาวน่าที่อื่นๆ บวกกับโลเคชั่นใจกลางเมืองหลวงและสถาปัตยกรรมที่สวยงาม จึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่คุ้นชินกับการเปลือยกายให้มาลองประสบการณ์ซาวน่า ‘ครั้งแรก’ ที่นี่ก่อนได้ นับว่าเป็นแนวคิดการเผยแพร่วัฒนธรรมเฉพาะตัวไปหาคนทั่วโลกอย่างเป็นมิตร

Loyly
เครดิตภาพ avan.to/works/loyly

อีกหนึ่งจุดที่เราชอบใจ Löyly มากคือการใส่ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนลงไปในการออกแบบและอาหารที่เสิร์ฟ ตามสไตล์คนฟินแลนด์ที่เรียนรู้เรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าผ่านภูมิประเทศที่แห้งแล้งและหนาวเหน็บ

ในเชิงกายภาพ ตัวอาคารถูกออกแบบให้ลดการใช้พลังงาน โดยจะใช้ไฟฟ้าจากการหมุนเวียนพลังงานสะอาดอย่างลมและน้ำ วัสดุที่ใช้ตกแต่งภายในทั้งไม้เบิร์ช เหล็ก และคอนกรีตก็เป็นวัสดุทนทานที่ใช้ได้นานและมาจากกระบวนการรีไซเคิล (ไม้ที่ใช้ตัดมาจากพื้นที่ป่าปลูกเพื่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะ)

ส่วนเมนูอาหารที่เสิร์ฟล้วนเป็นออร์แกนิก อาหารมังสวิรัติ และอาหารทะเลที่ได้จากประมงแบบยั่งยืนที่ควบคุมการเกิดคาร์บอน และที่สำคัญคือที่นี่ยังใช้ระบบ compensation payment ที่ช่วยให้ผู้มาใช้งานตระหนักเรื่องคาร์บอนฟุตปรินต์และมีส่วนร่วมในการชดเชยคาร์บอนตามจำนวนคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการปรุงอาหารนั้นๆ เช่น คนที่สั่งอาหารมังสวิรัติจะสามารถชดเชยคาร์บอนได้ 0.05 ยูโร ส่วนจานที่มีเนื้อสัตว์จะชดเชยคาร์บอนได้ 0.15 ยูโร ส่วนคนที่มาแช่ซาวน่าก็สามารถชดเชยคาร์บอนได้ 0.10 ยูโร เท่ากับปริมาณคาร์บอนที่เกิดจากการเผาไม้ ปริมาณการชดเชยคาร์บอนที่เกิดขึ้นใน Löyly จะไปรวมกับตัวเลขคาร์บอนที่ทั้งโลกต้องช่วยกันลดตามเป้าหมายในปี 2030 (ลองเข้าไปดูได้ที่ loylyhelsinki.fi)

เครดิตภาพ loylyhelsinki.fi

หลังจากสร้างเสร็จในปี 2016 Löyly ก็กลายเป็นหมุดหมายใหม่ไม่เพียงแค่กับชาวฟินแลนด์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่อยากสัมผัสวัฒนธรรมซาวน่าแบบชาวฟินน์สักครั้ง

ในทางธุรกิจอาจมองว่าที่นี่มุ่งขายประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยวมากกว่าคนโลคอล (มีคนมาใช้บริการ Löyly กว่า 3 แสนคนในปีแรกที่เปิด) แต่อีกทางเราก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า Löyly คือพื้นที่สาธารณะที่เปลี่ยนพื้นที่เก่าในเฮลซิงกิให้คืนประโยชน์แก่ชาวเมือง จะในเชิงเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว หรือแม้แต่เรื่องที่เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวอย่างการชวนคนกลับมามีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดและใกล้ลมหายใจกันมากขึ้น และยังทำให้วัฒนธรรมซาวน่าถูกปรับให้เข้ากับบริบทปัจจุบันรวมถึงเผยแพร่ให้ผู้คนเข้าถึงและเรียนรู้มันง่ายขึ้นเช่นกัน

Loyly
เครดิตภาพ avan.to/works/loyly

นอกจาก Löyly แล้ว ฟินแลนด์ยังมีซาวน่าแปลกๆ อีกหลายประเภทที่เราหยิบยกมาบรรยายไม่หมด ถ้าได้ลองที่นี่แล้วถูกใจ ครั้งต่อไปอาจจะขยับไปลองซาวน่าลอยฟ้าบนชิงช้าสวรรค์ ซาวน่าในร้าน Burger King หรือซาวน่าลอยน้ำเล็กๆ ที่ดูแลจัดการโดยอาสาสมัครในชุมชน ถ้ามีโอกาสได้บินไปฟินแลนด์เมื่อไหร่ นี่คืออีกหนึ่งประสบการณ์สุดฟินของชาวฟินน์ที่ไม่ควรพลาดเลยล่ะ loylyhelsinki.fi

อ้างอิง
finlandabroad.fi
internationaltraveller.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JARB

นักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ JARB ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าสไตล์ตัวเองจริงๆ คืออะไร แต่ก็ยังรู้สึกสนุกกับการทำงานหลากหลายสไตล์ โดยหวังว่าสักวันจะเจอสไตล์ที่ชอบจริงๆ สักที