Library Oodi ห้องนั่งเล่นขนาดยักษ์ใหญ่ที่เต็มไปด้วยหนังสือของคนฟินแลนด์

Highlights

  • Helsinki Central Library Oodi คือโปรเจกต์ห้องสมุดยักษ์ใหญ่ฉลองร้อยปีของฟินแลนด์ บนทำเลทองของเมืองอย่างพื้นที่ตรงข้ามรัฐสภา
  • คำว่า oodi หรือ ออดิ’ คือชื่อเรียกห้องสมุดกลางประจำเมืองเฮลซิงกิที่สร้างขึ้นใหม่ คำว่า oodi ก็คือ ode ในภาษาอังกฤษ ที่หมายถึงบทกวีสรรเสริญ
  • ห้องสมุดแห่งนี้คือความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ผ่านการโหวตจากชาวเมืองด้วยคำถามปลายเปิดว่า ต้องการอะไรระหว่างการสร้างพิพิธภัณฑ์ระดับโลกอย่าง Guggenheim กับการสร้างห้องสมุดขึ้นใหม่
  • ห้องสมุดแห่งนี้ได้รับเลือกจากสหพันธ์นานาชาติแห่งสถาบันและสมาคมห้องสมุด (IFLA) ให้เป็นหนึ่งในห้องสมุดแห่งปีประจำปี 2019

เราเข้าห้องสมุดครั้งสุดท้ายกันเมื่อไหร่ ไม่แปลกหากหลายคนไม่เคยเข้าห้องสมุดอีกเลยหลังจบการศึกษา เพราะดูเหมือนว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวไม่น้อยสำหรับคนไทย

แต่สำหรับคนฟินแลนด์ ไม่ว่าคนทั้งโลกจะอ่านหนังสือน้อยลงยังไง ห้องสมุดก็ยังมีบทบาทอยู่ ใจกลางวัฒนธรรมของพวกเขา 

ไม่แปลกที่โปรเจกต์ฉลองร้อยปีของประเทศจึงเป็นการสร้างห้องสมุดยักษ์ใหญ่บนทำเลทองของเมือง ตรงข้ามรัฐสภา แม้เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณสูงลิ่ว แต่ชาวเมืองก็เห็นชอบ ที่สำคัญกว่านั้น พวกเขายังมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการนี้ขึ้นมาในทุกขั้นตอน

มากกว่าหนังสือคือพื้นที่ชีวิต

ใช่แล้ว ฟินแลนด์ในฐานะประเทศนั้นมีอายุเพียงร้อยปีกับอีกนิดหน่อยเท่านั้น

แม้ในปัจจุบันพวกเขาจะเป็นสังคมที่มีระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลก แต่กว่าจะมีวันนี้ได้นั้นกลับต้องฝ่าฟันกันมาไม่รู้เท่าไหร่ ไม่ว่าจะฝ่าฟันเพื่อเป็นอิสระจากสวีเดนและรัสเซียที่ขนาบข้างอยู่ หรือเรียนรู้ที่จะอยู่กับผืนดินแห้งแล้งหนาวเหน็บที่มีทรัพยากรคือป่าไม้กับทะเลสาบ ไปจนถึงการเผชิญความยากลำบากหลังสงคราม

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวฟินแลนด์ต่างต้องทำงานหนักเพื่อหาทางจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม ทั้งยังต้องเสียดินแดนให้สหภาพโซเวียตไปส่วนหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน นั่นก็หมายถึงการสร้างประเทศขึ้นใหม่อีกครั้ง

ในตอนนั้น ด้วยทุนทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำเตี้ย หลังสงครามรัฐบาลฟินแลนด์ก็ไม่ต่างจากอีกหลายประเทศที่ตระหนักว่า วิธีสร้างสังคมที่ดีที่สุดต้องเริ่มต้นจากการทำให้ผู้คนมีความรู้ สิ่งที่ต่างก็คือผลลัพธ์ เพราะผ่านไปหลายสิบปี การเรียนรู้กลายเป็นสิ่งที่นิยามสังคมฟินแลนด์ในที่สุด

ในประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีระบบการศึกษาดีที่สุดนี้ ห้องสมุดคือบริการสาธารณะที่ได้รับการให้คะแนนเป็นที่ 2 รองจากน้ำดื่ม ซึ่งได้รับการยอมรับว่าคุณภาพดีที่สุดในโลกเช่นกัน

ที่ฟินแลนด์ ห้องสมุดถือเป็นบริการที่การันตีโดยกฎหมายว่าเขตเทศบาลแต่ละแห่งต้องให้บริการห้องสมุดชุมชน และไม่ใช่สักแต่ว่ามี แต่เป็นบริการขั้นพื้นฐานที่ต้องผ่านมาตรฐาน และที่สำคัญคือต้องทำให้ชาวฟินแลนด์ทุกคนเข้าถึงบริการนี้ได้อย่างเท่าเทียม

ห้องสมุดชุมชนเหล่านี้มีการรวมเข้าเป็นเครือข่ายกับห้องสมุดกลางและห้องสมุดเฉพาะด้านที่มีอยู่มากมาย รวมถึงห้องสมุดของสถาบันการศึกษาที่ไม่ได้มีแต่นักศึกษาหรือคนในแวดวงวิชาการมาใช้งานเท่านั้น ความหมายของการรวมกันเป็นเครือข่ายที่ไม่เพียงอำนวยความสะดวกในแง่ข้อมูล แต่ยังหมายถึงความสะดวกในการยืม-คืนหนังสือที่ใดก็ได้ จึงไม่แปลกที่ฟินแลนด์มีตัวเลขผู้ใช้บริการและการยืมหนังสือต่อหัวสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในเมืองหลวงอย่างเฮลซิงกิที่มีประชากรไม่ถึงเจ็ดแสนคนนั้นก็มีห้องสมุดสาธารณะอยู่มากถึง 36 แห่ง

ความน่าสนใจคือ ห้องสมุดไม่ได้มีสถานะเป็นแค่ที่บรรจุหนังสือ แต่คือพื้นที่สาธารณะที่ชาวเมืองมาใช้ชีวิต พวกเขาชื่นชอบการจัดกิจกรรมในห้องสมุด ไม่ผิดที่ทางการจะอวดโอ้ว่าการทำห้องสมุดก็คือการสร้าง ‘ห้องนั่งเล่น’ สำหรับประชากรชาวฟินแลนด์

มากกว่าพื้นที่คืออัตลักษณ์ฟินแลนด์

ไม่ต่างจากบทบาทของห้างสรรพสินค้าสำหรับคนกรุงเทพฯ ห้องสมุดก็คือวิถีชีวิตของคนเฮลซิงกิ

เราไม่ได้สร้าง Oodi เพราะขาดแคลนห้องสมุด แต่เพราะห้องสมุดคือเครื่องหมายที่แสดงถึงอัตลักษณ์ฟินแลนด์คือคำกล่าวของนายกเทศมนตรีเฮลซิงกิ 

Oodi คือชื่อเรียกห้องสมุดกลางประจำเมืองเฮลซิงกิที่สร้างขึ้นใหม่ คำว่า oodi ก็คือ ode ในภาษาอังกฤษ ที่หมายถึงบทกวีสรรเสริญ

การเลือกสร้างห้องสมุดไว้ตรงข้ามรัฐสภาบอกกับเราว่านี่คือสิ่งที่มีค่าและราคามากพอจะลงทุน นั่นหมายถึงเงินลงทุนราวหนึ่งร้อยล้านยูโรหรือกว่าสามพันล้านบาทซึ่งมาจากรัฐและหมายถึงภาษีของประชาชนเต็มจำนวน เพราะชาวฟินแลนด์ไม่นิยมระดมทุนจากเอกชนสำหรับโครงการสาธารณะ เพื่อป้องกันไม่ให้เอกชนมีบทบาทในการผลักดันนโยบายสาธารณะ

นอกจากเงินลงทุนมหาศาล การเริ่มต้นโครงการเฉลิมฉลองนี้ล่วงหน้ากันเกือบ 20 ปีก่อนเปิดให้บริการในปลายปี 2018 โดยผ่านกระบวนการตั้งแต่การสำรวจความต้องการของชาวเมืองด้วยคำถามปลายเปิดซึ่งยังไม่มีการพูดถึงห้องสมุดด้วยซ้ำ แต่เป็นคำถามว่าชาวเมืองแต่ละคน ‘ฝัน’ ถึงสิ่งใด

ก่อนเหลือเป็นทางเลือก 2 ทางให้ชาวเมืองได้โหวตว่า พวกเขาต้องการอะไรระหว่างการสร้างพิพิธภัณฑ์ระดับโลกอย่าง Guggenheim กับการสร้างห้องสมุดขึ้นใหม่ ผลปรากฏว่าชาวเมืองเฮลซิงกิเลือกห้องสมุด หมายเหตุว่าพื้นที่ตรงนี้เดิมทีเคยเป็นห้องสมุด แต่ถูกไฟไหม้และกลายเป็นพื้นที่ทิ้งร้างอยู่หลายสิบปี แน่นอนว่าห้องสมุดที่ถูกไฟไหม้ไปนั้นไม่ได้ใหญ่โตเท่ากับ Oodi ในปัจจุบัน

เมื่อรู้แล้วว่าจะสร้างห้องสมุด โครงการประกวดออกแบบจึงเริ่มต้นขึ้น เมืองเฮลซิงกิได้รับงานออกแบบส่งเข้าประกวดหลายร้อยชิ้นจากทั่วโลก ก่อนกรองให้เหลือ 6 แบบ และให้ชาวเมืองเลือกแบบที่พวกเขาอยากได้ โดยผู้ชนะก็คือ ALA Architects บริษัทออกแบบสัญชาติฟินแลนด์เอง

แม้ได้ชื่อว่าห้องสมุด แต่ Oodi ก็ไม่ต่างจากแหล่งเรียนรู้สมัยใหม่ที่ออกแบบสำหรับการใช้งานที่หลากหลายกว่าการเป็นเพียงที่รวมหนังสือ นอกจากห้องโถงที่กว้างขวางและให้ความรู้สึกลื่นไหล ชั้นล่างยังถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่สำหรับโรงภาพยนตร์ ห้องออดิทอเรียมอเนกประสงค์ และร้านอาหาร

ส่วนชั้นสองเป็นโซนพักผ่อน สังสรรค์ และพัฒนาทักษะ ซึ่งรวมถึงการจัดอุปกรณ์ประเภทเครื่องพิมพ์สามมิติ จักรเย็บผ้า เครื่องดนตรี รวมถึงห้องสตูดิโอที่สามารถเข้าใช้งานได้ ไม่นับคอมพิวเตอร์สเป็กสูงที่มีโปรแกรมอย่าง AutoCAD ให้ใช้ ไปจนถึงอุปกรณ์เล็กๆ น้อยๆ อย่างที่ปั๊มเข็มกลัด นอกจากนั้นยังมีพื้นที่สำหรับเล่นเกมและครัวที่ขอเช่าได้ในราคาถูก โดยทีมออกแบบห้องสมุดหวังให้เป็นพื้นที่สำหรับฉลองวันเกิดเสียด้วยซ้ำ หรืออะไรก็ตามที่ชาวเมืองอยากออกแบบการใช้พื้นที่แห่งนี้ให้เหมาะกับพวกเขาเอง เมื่อขึ้นไปถึงชั้นสามนั่นแหละจึงเห็นห้องสมุดแบบที่เราคุ้นชิน โดยจัดมุมหนึ่งไว้เป็นมุมสำหรับเด็ก เมื่อพ่อแม่พาลูกมาก็สามารถปล่อยลูกไว้ในโซนดังกล่าวได้ตามสบาย

แม้ Oodi จะใช้เงินทุนสำหรับการก่อสร้างมหาศาลและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงราว 7-8 ล้านยูโรต่อปี แต่ห้องสมุดแห่งนี้ไม่ต้องจ้างพนักงานใหม่แต่อย่างใด พวกเขาเพียงบริหารจัดการห้องสมุดด้วยเจ้าหน้าที่ราว 50 คนที่เลือกมาจากเครือข่ายห้องสมุดของเมือง และเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะปฏิบัติงานด้วยความช่วยเหลือของหุ่นยนต์บรรณารักษ์ที่ได้รับการตั้งชื่อให้โดยเด็กนักเรียนชาวฟินแลนด์ชั้นประถมสามว่า Tatu, Patu และ Veera

ในขณะที่หน่วยงานส่วนใหญ่ในเฮลซิงกิเปิดทำการถึงห้าโมงเย็น หากเป็นร้านค้าก็จะเปิดถึงหกโมงเย็นหรืออาจเลตถึงสองทุ่ม แต่ห้องสมุดแห่งนี้เปิดทำการถึงสี่ทุ่มทุกวัน หากให้สรุปง่ายๆ ในแง่ของการให้บริการ ห้องสมุดแห่งนี้ก็คือแหล่งเรียนรู้ของศตวรรษที่ 21 ไม่จำเป็นต้องเงียบ เย็น และเน้นแต่หนังสือ แต่เป็นมิตร มีชีวิตชีวา และตอบสนองความต้องการที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ในแง่ของการสร้างสังคม การเปรียบเป็นห้องนั่งเล่นยังน้อยไปด้วยซ้ำ เพราะที่นี่แทบจะเป็นบ้านของชาวเมืองเฮลซิงกิเลยก็ว่าได้ พวกเขาสามารถเลี้ยงดูบุตรหลาน นัดเพื่อน หรือแม้แต่พัฒนาทักษะและประกอบอาชีพได้ในที่เดียว

มากกว่าอัตลักษณ์คือพื้นที่สำหรับทุกคน

ใครที่ไปเยือนห้องสมุดแห่งนี้จะเห็นคำในภาษาฟินแลนด์ 381 คำติดอยู่ระหว่างบันไดวนตรงกลางห้องสมุด คำเหล่านี้มาจากความเห็นของชาวเมืองที่เข้าไปตอบในเว็บไซต์ของห้องสมุดว่าอยากเห็นห้องสมุดของพวกเขาเป็นยังไง

ยกตัวอย่างเช่นคำแรกในแถวบนสุด ‘kaikille’ ก็คือคำในภาษาฟินแลนด์ที่หมายความว่า ‘สำหรับทุกคน’

อาจฟังดูเป็นลูกเล่นง่ายๆ แต่ทั้งห้องสมุดแห่งนี้ แนวคิดในการทำห้องสมุด ไปจนถึงบริการสาธารณะอื่นของฟินแลนด์ ก็พิสูจน์ในตัวเองอยู่แล้วว่า พวกเขาเป็นสังคมสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง

นอกจากจะเป็นสังคมสำหรับทุกคน ความแห้งแล้งหนาวเหน็บยังสอนให้พวกเขาใช้ทรัพยากรอย่างไม่ทิ้งขว้างและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทำไมจึงต้องซื้ออุปกรณ์หลายอย่างเป็นของตัวเองหากพวกเขาใช้ร่วมกับคนอื่นได้ การจัดหาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ทุกคนเข้าถึงได้ ในทางหนึ่งคือหน้าที่ของรัฐสวัสดิการที่ประชาชนจ่ายภาษีราวครึ่งหนึ่งของรายได้ แต่ในอีกทางมันเป็นความชาญฉลาดของรัฐที่จัดสิ่งเหล่านี้ไว้ให้หยิบยืมในห้องสมุด ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าหากอยากสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ ต้องดึงดูดผู้คนให้มาอยู่ในบรรยากาศของการเรียนรู้ให้ได้ก่อน

ด้วยความชัดเจนในการเป็นห้องสมุดแห่งอนาคต ไม่แปลกที่ห้องสมุดแห่งนี้จะได้รับเลือกจากสหพันธ์นานาชาติแห่งสถาบันและสมาคมห้องสมุด (International Federation of Library Associations and Institutions – IFLA) ให้เป็นหนึ่งในห้องสมุดแห่งปีประจำปี 2019

ถึงตอนนี้เราจะออกจากห้องสมุดไปยังด้านหน้าซึ่งเป็นลานกลางแจ้งสำหรับกิจกรรมใดก็ตามที่ใครอยากทำ โดยเฉพาะการฝึกสเกตบอร์ดอันเป็นที่นิยม ที่นั่นเราจะพบโลโก้ตัวโตที่เขียนไว้ว่า MyHelsinki ซึ่งเป็นแคมเปญที่เมืองใช้มาตั้งแต่ปี 2012 ที่พวกเขาได้รับเลือกให้เป็นเมืองหลวงการออกแบบโลก

หากจะมีเมืองใดในโลกที่ใช้คำนี้ได้อย่างเต็มปาก ก็สมควรแล้วที่เฮลซิงกิจะเป็นหนึ่งในเมืองเหล่านั้น


อ้างอิง

Ministry of Education and Culture, Finland

NewStatemanAmerica

oodihelsinki.fi

AUTHOR