Don’t Worry Village เมื่อหนุ่มสาวเกาหลีหนีเครียดมาอยู่เฉยๆ แต่ชุบชีวิตเมืองร้างให้คึกคักเฉยเลย

Highlights

  • Re-public Space คือคอลัมน์ใหม่แกะกล่องใน a day ว่าด้วยพื้นที่สาธารณะในหลากนิยามและหลายรูปแบบ โดยบทความชิ้นแรกนี้ขอพาทุกคนไปรู้จัก Don’t Worry Village ในเมืองมกโพ ประเทศเกาหลีใต้
  • Don’t Worry Village คือโครงการฟื้นฟูเมืองเก่าที่ขับเคลื่อนโดยประชาชนคนรุ่นใหม่ที่เล็งเห็นว่า พวกเขาสามารถพัฒนาเมืองพร้อมแก้ไขปัญหาสำคัญอย่างความเครียดเรื้อรังของคนหนุ่มสาวไปได้พร้อมกัน
  • หลังจากสมัครและได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วม Residency Program เหล่า villagers จะมีโอกาสได้ใช้ชีวิตแบบไม่ต้องกังวลใจ อยากทำอะไรทำ (หรือไม่อยากทำอะไรก็ไม่ต้องทำ) ใน Don’t Worry Village เป็นเวลา 6 สัปดาห์
  • Don’t Worry Village ไม่ใช่หมู่บ้านปิด แต่เป็นพื้นที่เปิดให้คนนอกหมู่บ้านเข้าไปเยี่ยมชม พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือหัดทำอะไรใหม่ๆ ได้เวลาที่เหล่า villagers จัดตลาดนัดศิลปะหรือเทศกาลศิลปะและดนตรี

เท่าที่เรานึกออก พื้นที่สาธารณะมีบทบาทหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานง่ายๆ อย่างการเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจหลังเลิกงาน เป็นสถานที่ออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน และให้ครอบครัวได้มาทำกิจกรรมร่วมกันในวันหยุดสุดสัปดาห์ บางพื้นที่ยังเป็นแหล่งพบปะพูดคุยของคนในเมืองที่ปกติอาจไม่มีโอกาสเจอกัน ให้พวกเขาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจนเกิดไอเดียใหม่ๆ 

พื้นที่สาธารณะในหลายเมืองยังทำหน้าที่ ‘เป็นหน้าเป็นตา’ ให้กับเมือง ดึงดูดให้คนก้าวเท้าออกจากบ้านมาเสพคุณภาพชีวิตดีๆ เติมพลังกลับไป 

พื้นที่สาธารณะในเมืองจึงสะท้อนว่ารัฐบาลหรือผู้นำเมืองนั้นๆ ใส่ใจกับผู้คนของเขามากน้อยแค่ไหน

พื้นที่สาธารณะในเมืองอาจไม่ได้จำกัดความแค่สวนสาธารณะ หรือพื้นที่ที่มีเวลาเปิด-ปิดให้คนเข้ามาใช้งานได้แค่ชั่วคราว แต่ยังหมายถึงการพัฒนาพื้นที่ที่มุ่งแก้ปัญหา ‘สาธารณะ’ ของเมืองในระยะยาว อย่างโครงการ Don’t Worry Village ที่ประเทศเกาหลีใต้ซึ่งกลายเป็นชุมชนต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่เพื่อหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ไม่อยากใช้ชีวิตตามกรอบของสังคมแสนกดดันอีกต่อไป

Don’t Worry Village คือโครงการพัฒนาพื้นที่ในเมืองมกโพ (Mokpo) เมืองท่าติดทะเลบนคาบสมุทรทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโซลกว่า 300 กิโลเมตร ที่นี่คือหมู่บ้านฟื้นพลังและที่พักพิงใจชั่วคราวสำหรับคนหนุ่มสาวที่สะบักสะบอมจากสังคมตึงเครียดในเมืองหลวง เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาหลีกหนีจากชีวิตแสนวุ่นวาย แล้วมานั่งนิ่งๆ เพื่อค้นหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำหรือไม่เคยมีโอกาสได้ทำ ลงมือทำมันอย่างช้าๆ ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องกังวลเรื่องความสำเร็จหรือรายได้เหมือนที่ชื่อของหมู่บ้านบอกไว้ โดยคนที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วม Residency Program เพื่อเข้ามาพักเบรกสั้นๆ ที่หมู่บ้านเป็นเวลา 6 สัปดาห์ อารมณ์ไม่ต่างจากโปรแกรม Artist Residency ที่เราคุ้นเคยกันดี

ที่มาของหมู่บ้านไร้กังวลนั้นน่าสนใจตรงที่มันเป็นโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาความเครียดเรื้อรังของคนเกาหลีใต้ด้วยการหยิบเอาวิธีการพัฒนาเมืองและศิลปะเข้ามาใช้ แถมยังก่อตั้งขึ้นจากคนรุ่นใหม่ที่แท้จริง Hong Dong-woo ผู้ก่อตั้งวัย 34 ปีเริ่มต้นความคิดนี้ในปีที่เขาได้หยุดพักจากการทำงานเพื่อเดินทางไปทั่วเกาหลีใต้และหลายที่ทั่วโลก เขาทดลองทำทุกอย่างที่ไม่มีโอกาสได้ทำตอนที่ยังเป็นพนักงานบริษัทสตาร์ทอัพ พื้นที่ห่างไกลที่อัตราการใช้ชีวิตของคนไม่เร็วเท่าเมืองใหญ่ ผู้คนใหม่ๆ ที่ได้ทำสิ่งต่างๆ อย่างอิสระทำให้ดงวูฉุกคิดขึ้นมาว่าคนเกาหลีใต้ขาดเวลาและสถานที่ที่ ‘พวกเขาไม่ต้องทำอะไร’ 

ดงวูและ Park Myung-ho ผู้ร่วมก่อตั้งโปรเจกต์อีกคนเริ่มมองหาพื้นที่นั้นว่าควรเป็นที่ไหน เมื่อพวกเขามาเจอพื้นที่ของเมืองมกโพ เมืองอุตสาหกรรมเก่าซึ่งเต็มไปด้วยอาคารร้างและโรงแรมเก่าที่ไม่ถูกใช้งานจำนวนมาก แต่อาคารเหล่านั้นยังมีคุณภาพดีพอที่ดงวูและเพื่อนจะปรับปรุงนิดหน่อยให้กลายเป็น ‘หมู่บ้านที่ถึงจะล้มเหลวก็ไม่เป็นไร’ ในปี 2017

จากนั้นในปี 2018 โครงการนี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอย่าง Ministry of Security and Public Administration (MOSPA) ในฐานะโครงการฟื้นฟูเมืองซึ่งขับเคลื่อนโดยประชาชน จนดงวูและเพื่อนสามารถรับสมัครเหล่า villager รุ่นแรกจำนวน 30 คนให้เข้ามาทดลองใช้ชีวิตในคอมมิวนิตี้แบบไม่ต้องคิดอะไร สองปีผ่านไปมีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดกว่า 100 คน โดยรุ่นที่ 6 เพิ่งจะขนกระเป๋าเข้าร่วมโครงการในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา (รุ่นที่ 4-6 รับสมัครรุ่นละ 8 คนเท่านั้น)

หลังเสียค่าเข้าร่วมโครงการแค่ 300,000 วอน (ประมาณ 8,000 บาท) ในระยะเวลา 6 สัปดาห์ที่หมู่บ้านแห่งนี้ เหล่าผู้เข้าร่วมโครงการวัย 20-30 ปีจะผ่านการปฐมนิเทศในสัปดาห์แรก และหลังจากนั้นจะสามารถเลือกได้ว่าจะกลับบ้าน (หากพบว่าที่นี่ไม่เหมาะกับตัวเองเท่าไหร่) หรือจะอยู่ที่เมืองมกโพต่อเพื่อทดลองเริ่มธุรกิจที่ตัวเองสนใจหรืองานที่ตัวเองอยากลองทำ เช่น เปิดร้านอาหารออร์แกนิกที่ปรุงอย่างพิถีพิถัน หรือลงมือสร้างงานศิลปะสร้างสรรค์ต่างๆ ยังไม่นับรวมโอกาสที่จะได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยน หรือทำบางอย่างร่วมกับเหล่าผู้เข้าร่วมโครงการ อย่างภาพที่เราเห็นบ่อยๆ ในเฟซบุ๊กของโครงการก็คือเหล่ามื้ออาหารหน้าตาดูดีที่ทุกคนลงมือทำด้วยกัน

นอกจากนี้โครงการยังจัดทริปเดินทางไปสัมผัสธรรมชาติในเมืองมกโพเพื่อให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตแบบที่ไม่ต้องคิดอะไร เป็นช่วงเวลาที่พวกเขาได้ใช้ชีวิตเป็นมนุษย์ พูดคุย ปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนอื่น ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่หาได้ยากในสังคมเกาหลีใต้ทุกวันนี้ที่ทั้งเร่งรีบและเคร่งเครียดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือหมู่บ้านนี้ไม่ใช่ชุมชนปิดที่ให้ villager รู้จักกันเอง แต่เป็นคอมมิวนิตี้สาธารณะที่คนทั่วไปก็เข้ามาเที่ยวได้ตามวาระโอกาสต่างๆ ที่คนในหมู่บ้านจัดแจงขึ้น เช่น  Hitchhiking Festival 2018 เทศกาลดนตรีและศิลปะครั้งแรกของเมืองมกโพที่เชื้อเชิญเหล่าศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์มากมายให้เดินทางมายังเมืองเล็กๆ แห่งนี้ หรือตลาดนัดศิลปะ เวิร์กช็อป และนิทรรศการศิลปะที่จัดอยู่เนืองๆ ให้ทั้ง villager และบุคคลทั่วไปได้มาพบปะเจอกันในพื้นที่ที่เปิดกว้าง แถมยังมีเวทีให้ใครก็ได้ลุกขึ้นมาดีดกีตาร์ร้องเพลงได้แบบสบายใจ เหมือนได้หลีกหนีความวุ่นวายในเมืองใหญ่ไปอีกวัน

ส่วนถ้าใครอยากเยี่ยมชมคอมมิวนิตี้แบบจริงจังขึ้นมาหน่อยก็สามารถติดต่อมาเป็นกลุ่มเพื่อทำความรู้จักสถานที่แห่งนี้จากปากของผู้ก่อตั้งเองและพูดคุยกับ villager ถึงแนวคิดการทำธุรกิจอย่างใกล้ชิด หรือจะเลือกเป็นกิจกรรม walking tour เดินชมวิวทะเลและภูเขาของเมืองมกโพ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้โครงการ (และเมืองมกโพ) เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในหมู่หนุ่มสาวเกาหลีใต้ที่สนใจแนวคิดของคอมมิวนิตี้และอยากลองสมัครมาเป็น villager อย่างจริงจังแล้ว ยังถือเป็นโมเดลธุรกิจที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้โครงการอีกทางหนึ่ง

ความสำเร็จของหมู่บ้านแห่งนี้อาจวัดได้จากจำนวนคนรุ่นใหม่ที่สนใจเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง และอีกปัจจัยคือการที่เหล่า villager รุ่นแรกๆ หลายคนยืนยันหนักแน่นที่จะอาศัยและทำธุรกิจเล็กๆ ที่รักในเมืองมกโพนี้ต่อไป อีกทั้งหลายโปรเจกต์ที่ริเริ่มในโครงการนี้ยังมีแววที่จะถูกพัฒนาต่อไปได้จริง ไม่ว่าจะที่เมืองมกโพหรือเมืองอื่นๆ ก็ตาม

Don’t Worry Village เป็นอีกหนึ่งโครงการที่แสดงตัวอย่างโมเดลธุรกิจขนาดเล็ก ที่ใช้พื้นที่รกร้างในเมืองเก่าและแนวคิดการพัฒนาเมืองร่วมกัน (inclusive) ของคนรุ่นใหม่เข้ามาแก้ปัญหาสังคมระดับมหภาค ที่สุดท้ายแล้วผลลัพธ์คือการช่วยชุบชีวิตเมืองเล็กๆ ให้มีอัตราการจ้างงานสูงขึ้น เป็นที่รู้จักมากขึ้น และทำให้มกโพกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญที่ชุบชูใจหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้ว่า ถ้าหากหมดแรงจากการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่เมื่อไหร่ ก็จงรู้ไว้ว่ายังมีสถานที่ที่พวกเขาไม่ต้องกังวลใจอะไรรออยู่ตรงนี้

อ้างอิง

bbc.com/worklife/article/20200108-the-young-koreans-pushing-back-on-a-culture-of-endurance

dontworryvillage.com

emptypublic.com

qz.com/work/1714750/south-koreas-government-is-trying-to-teach-people-how-to-fail

scmp.com/week-asia/lifestyle-culture/article/3045609/dont-worry-village-welcome-south-koreas-retreat

รูปภาพจากโซเชียลมีเดีย 괜찮아마을

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JARB

นักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ JARB ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าสไตล์ตัวเองจริงๆ คืออะไร แต่ก็ยังรู้สึกสนุกกับการทำงานหลากหลายสไตล์ โดยหวังว่าสักวันจะเจอสไตล์ที่ชอบจริงๆ สักที