“ถ้าเป้าหมายชัด เราจะรู้ว่าต้องพัฒนาศักยภาพตัวเองแค่ไหน” – ครูลูกกอล์ฟ คุยกับครูลูกกอล์ฟ–คณาธิป สุนทรรักษ์ ถึงที่มาของความ smart และคำแนะนำสำหรับใครก็ตามที่อยากก้าวเดินตามรอย

“ถ้าเป้าหมายชัด เราจะรู้ว่าต้องพัฒนาศักยภาพตัวเองแค่ไหน” – ครูลูกกอล์ฟ คุยกับครูลูกกอล์ฟ–คณาธิป สุนทรรักษ์ ถึงที่มาของความ smart และคำแนะนำสำหรับใครก็ตามที่อยากก้าวเดินตามรอย

เราสนทนากับครูลูกกอล์ฟ–คณาธิป สุนทรรักษ์ ในช่วงดึกของคืนหนึ่ง หลังจากครูสอนภาษาอังกฤษเจ้าของสถาบันภาษา Angkriz เพิ่งเสร็จคลาสสอนมาหมาดๆ อีกต่างหาก

อาชีพครูคืองานหลักของลูกกอล์ฟเหมือนที่ลูกศิษย์หลายคนเรียกเขาจนติดปาก แต่สำหรับใครอีกหลายคน เราเริ่มรู้จักครูลูกกอล์ฟในฐานะคนในวงการบันเทิง ทั้งบทบาทการเป็นนักแสดง พิธีกร และดีเจ จากสิ่งทั้งหมดที่เขาทำทำให้ใครหลายคนนิยามครูลูกกอล์ฟว่าเป็นคนเก่ง ยิ่งจากบทเรียนที่เขาเฝ้าถ่ายทอดผ่านช่องทางต่างๆ ก็ยิ่งทำให้หลายคนยกให้เขาเป็นไอดอล

ยิ่งกับบทบาทล่าสุดกับการเป็นพรีเซนเตอร์ให้แบรนด์เครื่องดื่ม Peptein เพราะเหตุผลด้านการเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดดี ภาพลักษณ์ดี เข้าถึงง่าย และมีคนชื่นชอบจำนวนมาก รวมถึงการออกไปทำกิจกรรมแจก ‘เปปทีนพลัส’ ที่ย่านสีลมเมื่อไม่กี่วันก่อน ภาพลักษณ์และผลงานทั้งหมดยิ่งตอกย้ำความสามารถและลายเซ็นที่เขามี นั่นคือความเก่งและความอยากพัฒนาให้คนเก่งขึ้น

นี่เองคือที่มาของความสงสัยที่พาตัวผมมาเจอเขาในฐานะของคนสาธารณะที่ทำอะไรหลากหลาย และในฐานะของอาจารย์ที่เจอลูกศิษย์มามากมาย

‘เขามองความ ‘เก่ง’ ในตัวเองว่าอย่างไรบ้าง’

‘มันเกิดจากพรสวรรค์หรือพรแสวง’’

‘ถ้าเราไม่ใช่คนเก่งตั้งแต่ต้น เขามีเคล็ดลับอะไรที่จะพาเราเก่งขึ้น’

และ ‘ในยุคที่ทุกๆ คนต่างกระตุ้นให้เราเดินหน้า จำเป็นจริงๆ หรือที่เราจะต้องเก่ง’

เพื่อให้เป็นการลงลึกมากกว่าคำแนะนำ เราถือโอกาสให้ครูลูกกอล์ฟตอบคำถามเหล่านี้ผ่านเรื่องราวของตัวเอง แม้สิ่งที่ออกมาจากคำพูดของครูลูกกอล์ฟอาจจะไม่ใช่คำสอนเสียทีเดียว แต่ชั่วขณะหนึ่งของการสนทนา เรารู้สึกราวกับตัวเองเป็นลูกศิษย์ของเขาอย่างไรอย่างนั้น

ครูกำลังเริ่มบรรยายแล้ว เงียบเสียง และตั้งใจฟังกันดีกว่า

ตอนเป็นเด็ก คุณถือว่าเป็นเด็กเรียนเก่งหรือเปล่า

เราว่าเราเหมือนเด็กจำนวนมากคือเป็นเด็กธรรมดาที่มีศักยภาพ เพียงแต่เราโตมาในยุคที่ไม่ได้ถูกพัฒนามาจากสังคม เราอยู่ในครอบครัวต่างจังหวัด หาเช้ากินค่ำ บ้านไม่ได้ช่วยดึงศักยภาพที่เรามีออกมา ยิ่งพอไปโรงเรียน เราก็ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนที่ส่งเสริมให้ตอบ ให้คิด ให้ถาม สุดท้ายเราเลยเป็นเด็กที่ค่อนข้างช้า เรียนไม่ทันและไม่รู้เรื่อง ยิ่งช่วงประถมคือหนักมาก ทั้งห้องมี 40 คน เราไม่เคยสอบได้ที่ 1-30 เลย ได้ประมาณสามสิบกว่าตลอด

ตอนนั้นคิดโทษตัวเองว่าไม่ฉลาดไหม

ไม่นะ พอเป็นเด็กแล้วเราไม่คิดลึกขนาดนั้น แต่เราแค่รู้สึกว่าอะไรเนี่ย ทำไมไม่รู้เรื่อง ออกแนวงงๆ มากกว่า

แล้วจุดเปลี่ยนคือตอนไหน

จริงๆ ตั้งแต่ ป.6 แล้วที่เราเริ่มรู้สึกถึงแรงเสียดทานของสังคมรอบตัว พอประมาณ ม.2 เราก็รู้สึกว่าถ้าเราไม่ออกไปจากที่นี่ เราอยู่ไม่ได้แน่ เราต้องทำอะไรสักอย่าง เราต้องใช้สมอง แรงกายและแรงใจทุกอย่างที่เรามี เราเลยเริ่มพยายามตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษ เพราะเราหวังลึกๆ ว่าภาษาอังกฤษจะพาเราไปยังโลกกว้าง ซึ่งหลังจากนั้นมันก็เริ่มลามไปวิชาอื่นๆ

ความพยายามที่ว่าคืออย่างไรบ้าง

ขั้นแรกง่ายๆ คือจากเป็นเด็กที่งงๆ เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยการเริ่มตั้งใจฟัง มันคือการแก้ปัญหาตรงหน้าว่าทำไมเราเรียนไม่รู้เรื่อง พอเราเริ่มตั้งใจฟัง เราถึงได้รู้ว่า อ๋อ บางเรื่องไม่ใช่เพราะอาจารย์หรือวิชาหรอก แต่เป็นเพราะเราเอง ถ้าตั้งใจฟังจริงๆ เราก็เรียนได้ อีกอย่างเรารู้สึกว่าหน้าที่ของเด็กมันมีไม่เยอะหรอก เราก็แค่เริ่มหันกลับมาทำหน้าที่ตัวเองในฐานะเด็กแค่นั้น สุดท้ายจากเกรดแย่ๆ กลายเป็นเกรด 2 และ 3 เปลี่ยนจากเด็กกลางๆ ค่อนไปทางแย่ก็พลิกกลับมาอยู่อันดับต้นๆ ของห้อง เหมือนสมองเราผ่านการเทรนและบำรุงจนกลายเป็นเด็กที่เรียนได้

แอตติจูดสำคัญขนาดไหนในการพัฒนาตัวเอง

(คิด) เวลาคนเราลงไปจุดที่ค่อนข้างต่ำ เวลาเรามองไปรอบๆ เราจะเจอแต่อะไรแย่ๆ เต็มไปหมด ทีนี้มันจะมีคนอยู่สองประเภทคือคนที่อยากประชดชีวิตโดยการลงไปอีก ไหนๆ ต่ำแล้วก็ต่ำไปเลย กับอีกกลุ่มหนึ่งคืออยากสูงขึ้นเพราะมันเป็นทางเดียวที่เราจะรอดได้ เราเป็นคนแบบหลัง เราไม่อยากประชดชีวิต ดังนั้นถ้าให้ตอบคำถาม เราว่าทัศนคติสำคัญมากเลยนะ พูดแบบนี้ดูเหมือนง่ายมาก แต่ความเป็นจริงเราค้นพบว่ามันยากกว่าที่พูดเยอะเลย อย่างสมมติมีครูคนหนึ่งเดินเข้ามาสอน เป็นปกติที่เด็กจะตัดสินเขานู่นนี่ทั้งๆ ที่เขายังไม่เริ่มสอนจนอาจนำมาสู่การไม่สนใจฟัง ดังนั้นมันเป็นมุมมองของแต่ละคนจริงๆ ในการจะเริ่มเปิดใจให้อะไรสักอย่างหนึ่ง แต่สำหรับเราในตอนนั้น เราคิดแค่ว่าอะไรก็ตามที่สามารถพัฒนาตัวเราได้ เราจะทำและใช้ประโยชน์จากตรงนั้น

พอได้มาเป็นครู คุณมีขั้นตอนในการปรับทัศนคติของเด็กบ้างไหม

เราขอตอบในฐานะนักนิเทศศาสตร์ดีกว่า เราเชื่อว่าปัญหาหลายๆ แก้ได้ด้วยการสื่อสาร อย่างระหว่างครูกับลูกศิษย์ก็ใช่ การสื่อสารช่วยได้ ถ้าเราคุยกันดีๆ คุยกันด้วยเหตุผล เราว่ามันก็คุยกันรู้เรื่องนะ คือบางทีพอเราโต เรามักจะลืมคิดว่าตอนเด็กๆ เราเป็นอย่างไร ตอนนี้ภาษาอังกฤษอาจจะง่ายมากสำหรับเรา แต่มันเคยยากมากๆ เช่นกัน ดังนั้นเราก็จะไม่ลืมว่าเด็กเหล่านี้ก็อาจเป็นเหมือนเราก่อนหน้านั้นก็ได้ เวลาเราสอนเราเลยจะตั้งใจและไม่หงุดหงิดถ้าเด็กไม่เข้าใจ เพราะกว่าเราจะเข้าใจเรื่องนี้เราก็เคยเหนื่อยมากเหมือนกัน

มีเคสไหนไหมที่เราเห็นพัฒนาการของลูกศิษย์จนเราจำได้ขึ้นใจ

(คิด) เราไม่ยกเป็นเคสตัวอย่างเพราะเราถือว่าลูกศิษย์ที่มาหาเรา เขามีเรื่องราวน่าสนใจหมด เรารู้สึกว่าใครก็ตามที่ตั้งใจเรียน ผลลัพธ์ก็ต้องดีขึ้น ดังนั้นพวกเขาควรค่าแก่การยกย่องและเล่าต่อทั้งนั้น


และถ้าเด็กที่กำลังเรียนสิ่งที่ไม่ใช่จริงๆ ล่ะ เขาจะดีขึ้นได้อย่างไร

อย่างหนึ่งคือที่เราพูดออกมาทั้งหมด เราไม่ได้บอกว่าการเป็นแบบเรามันดีที่สุดนะ เราถามย้ำกับเด็กๆ ตลอดว่าเป้าหมายของน้องคืออะไร มันจะเป็นอะไรก็ได้ ขอแค่ตั้งเป้าหมายชัด เราจะได้รู้ว่าต้องพัฒนาศักยภาพตัวเองมากแค่ไหน ที่สอนมาเราก็ค้นพบแหละว่ามีเด็กจำนวนหนึ่งที่ถูกบังคับเรียนแต่จริงๆ แล้วเขาเจ๋งในทักษะอื่นอยู่ ครูอย่างเราก็เป็นทั้งอาหารหลักและอาหารเสริมที่ผลักดันเด็กไปในทางที่ถูกต้อง

ถ้ามีเด็กสักคนไม่เชื่อมั่นในตัวเองว่าเขาจะดีขึ้น เก่งขึ้นได้ คุณอยากบอกอะไรเด็กคนนั้น

ทำให้เต็มที่ก่อน มันอาจจะมีคนมาบอกหนูว่าหนูไม่เก่ง หนูไม่สามารถดีขึ้นได้ แต่สิ่งที่น่าเศร้ามากกว่าคนที่มาทำร้ายเรา คือการที่เราอนุญาตให้เขามาทำร้ายเรานะ เหมือนเราเห็นสิ่งไม่ดี เราก็ไม่ควรเอาตัวเข้าไปใกล้ แต่นี่เราปล่อยให้มันยึดติดกับเราได้อย่างไร เราเองก็เคยเป็นคนนั้นและมันน่าเศร้ามาก ดังนั้นถ้าแนะนำอะไรได้ เราอยากให้เด็กทุกคนลองฟังเสียงตัวเองดีๆ ไม่ต้องไปฟังเสียงคนอื่นที่ดูแคลน ทำความเข้าใจกับตัวเอง ลองขีดเส้นของเราให้ชัด ถามตัวเองว่าเป้าหมายคืออะไร เราเป็นคนอย่างไร เราทำอะไรได้ดี เราถนัดอะไร ไม่ถนัดอะไร เราสนใจอะไรจริงๆ ถ้าคำตอบยังเป็นไม่มีก็อย่านั่งนิ่งๆ ออกไปหาอะไรทำ อ่านหนังสือ เดินทาง คุยกับผู้คน ทำอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่การอยู่เฉยๆ เหมือนถ้าโลกของเรามันว่างเปล่าอยู่ก็ใส่ผืนดิน ปลูกต้นไม้ หาน้ำทะเลและแสงแดดให้มัน ลองพัฒนาตัวเองและทำโลกของเราให้ดีก่อน เราทำได้นะ แล้วเดี๋ยวทุกๆ อย่างจะดีขึ้นเองแหละ


Peptein คือเครื่องดื่มบำรุงสมองที่อยู่คู่คนไทยมามากกว่า 10 ปี และครั้งนี้พวกเขากลับมาด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ ‘Peptein Plus’ เครื่องดื่มที่ภายในขวดเดียวมีคุณประโยชน์ทั้งการบำรุงสมองและสายตา แถมไม่มีน้ำตาลและดื่มง่ายได้ทุกวัย  ครั้งนี้พวกเขามาพร้อมกับครูลูกกอล์ฟที่รับบทเป็นพรีเซนเตอร์และลูกค้าตัวจริงดูแลตัวเองโดยการทานมื้ออาหารปกติและตามด้วย Peptein ทุกวัน วันนี้มาร่วมกันสร้างความสมาร์ตและพัฒนาตัวเองไปกับ Peptein Plus ได้ผ่านร้านค้าทั่วประเทศ (7-Eleven)

AUTHOR