“อยากพัฒนาบ้านเราให้ดี ก่อนจะไปพัฒนาที่อื่น” คุยกับเด็กรุ่นใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง และความหวังที่อยากพัฒนาชุมชนตัวเอง

ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง ไม่มีน้ำใช้ ฟังแล้วเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนเมืองที่ใช้ชีวิตสะดวกสบายจนอาจเผลอคิดไปว่าไม่สำคัญ แต่หากลองมองให้กว้างขึ้นอีกนิด คงต้องยอมรับกันจริงๆ ว่าอีกหลายภาคส่วนของไทยยังขาดความรู้เรื่องการบริการจัดการน้ำที่ดีพอ
กลายเป็นข่าวที่เราเห็นกันไม่เว้นฤดู

ไม่ได้บอกให้รีบบริจาคเงินหรือข้าวของให้พื้นที่ประสบภัยที่อาจเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ แต่เราเชื่อว่าให้ลองย้อนกลับไปดูต้นตอของปัญหา และส่งเสริมชุมชนให้อยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืนน่าจะเป็นเรื่องสำคัญกว่า กิจกรรม ‘รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย’ ในโครงการ SCG รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต คือหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่ SCG ลงไปคลุกคลีกับชาวบ้านในชุมชนและคนรุ่นใหม่ ส่งต่อองค์ความรู้และหลักการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในรูปแบบที่เหมาะกับแต่ละพื้นที่

ความน่าสนใจของโครงการที่เราชื่นชมคือการดึงพลังของเยาวชนมาใช้อย่างเต็มที่ SCG คัดเลือกนักศึกษามหาวิทยาลัยจากแต่ละจังหวัดให้เดินทางไปเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำจากชุมชนที่จังหวัดลำปาง รวมถึงแนวทางการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะให้ตัวแทนจากทุกจังหวัดนำประสบการณ์และความรู้ที่ได้กลับไปแก้ปัญหาเรื่องน้ำในแบบฉบับของตัวเองร่วมกับคนในชุมชนอย่างขยันขันแข็ง ซึ่งปีนี้จัดการเดินทางขึ้น 4 ทริป คือลำปาง-เชียงใหม่ กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช และขอนแก่น

a day ตามติดไปร่วมกิจกรรมดีๆ นี้และนั่งพูดคุยกับน้องๆ ตัวแทนจากทั้ง 3 จังหวัดที่ได้ไปเรียนรู้การสร้างฝายจากจังหวัดลำปาง-เชียงใหม่ เพราะเราอยากรู้จักมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมยังอยากพัฒนาบ้านเกิดให้ดีขึ้นว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน

เพราะเราเชื่อเหมือนกันว่าถ้าบ้านเราดี จะมีเหตุผลอะไรให้ต้องหนีไปจากที่นั่น

นัสมูฮัมหมัดนัสรูณ เหลาะเหม
ปี 2 คณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

หนุ่มใต้คมเข้มที่เดินทางไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโครงการนี้ด้วยความตั้งใจที่อยากจะสานต่อพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่่ 9 บวกกับเขาเห็นว่าชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่ยังขาดความสามัคคี มีปัญหายาเสพติด ลามเลยถึงการไม่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมตามไปด้วย

“สิ่งแรกที่เราได้จากการไปเรียนรู้การสร้างฝายชะลอน้ำที่ลำปางคือความสามัคคีของชาวบ้าน ซึ่งต่างจากสภาพสังคมในหมู่บ้านเรา ชาวบ้านในภาคเหนืออยู่กับป่ามาตลอด เขาจึงเห็นคุณค่าของต้นน้ำลำธารมากกว่าคนในภาคใต้ที่อาจไม่ได้อาศัยอยู่ในป่าโดยตรง
ทำให้การอนุรักษ์และหวงแหนธรรมชาติมีไม่มากเท่า” นัสเล่าให้พวกเราฟังว่าสภาพภูมิประเทศของภาคใต้ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์กว่าภาคเหนือโดยทุนเดิมอยู่แล้ว การสร้างฝายเลยอาจไม่สำคัญเท่าการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของน้ำมากกว่า

นัสร่วมมือกับเพื่อนๆ ตั้งใจแก้ไขจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ก่อน คือปลูกฝังเรื่องศีลธรรมให้แก่เด็กๆ ในชุมชนผ่านการจัดค่ายเยาวชนของชมรมนักศึกษามุสลิมสงขลาของมหาวิทยาลัย ในชื่อค่าย ‘เธอคือความหวัง’

“เราเชื่อว่าถ้าชาวบ้านมีศีลธรรมในใจ ทุกอย่างจะง่ายขึ้นมาก ทุกคนจะสำนึกด้วยตัวเองว่าอย่าเอาเปรียบคนอื่นนะ การทิ้งขยะลงแม่น้ำ โรงงานปล่อยน้ำเสียลงทะเล หรือการใช้น้ำอย่างไม่ประหยัดก็ถือเป็นการเอาเปรียบคนอื่น ต้องให้เด็กๆ เริ่มเห็นคุณค่าของน้ำมากขึ้น” นัสเล่าถึงสิ่งที่พวกเขา เด็กรุ่นใหม่ในชุมชนพอจะทำได้ตามกำลังและเวลาที่มี ซึ่งสิ่งนี้ยังไปกระตุ้นให้ผู้ใหญ่ในชุมชนได้เห็นปัญหาชัดเจนขึ้นและลุกมาแก้ไขอีกด้วย

“ผู้ใหญ่เขามีกำลังใจถ้าเห็นเยาวชนลุกขึ้นมาทำอะไร ถ้าไม่มีใครทำอะไรเลยเขาก็ไม่รู้ว่าจะทำงานไปเพื่ออะไร เพราะเขาไม่เห็นว่าทำไปแล้วใครจะสานต่อ ความฝันของผมคือผมอยากอยู่ที่นี่ ช่วยเหลือชุมชนที่นี่นะ อย่างบ้านผมอยู่ติดกับทะเล เราก็เห็นชายฝั่งถูกกัดเซาะมาเรื่อยๆ ไม่ใช่เพราะน้ำแข็งขั้วโลกละลายอะไรหรอก แต่เพราะคนในชุมชนนี่แหละทิ้งขยะลงทะเล สภาพสังคมทำให้เรายังไม่อยากไปไหน เพราะเป็นห่วงที่นี่” เด็กหนุ่มที่ตั้งเป้าว่าอยากเป็นผู้ใหญ่บ้านของชุมชนที่ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำอีกต่อไปบอกเราด้วยสายตามุ่งมั่น และเราเชื่อว่าเขาจะทำมันได้สำเร็จ

ส้ม-พันธ์แสน ใจชื้น
ปี 2 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี

ส้มโตมาในอำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี และมองเห็นปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมของหมู่บ้านตัวเองมานาน เมื่อได้ข่าวโครงการ ‘รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย’ จากทาง SCG ส้มเลยไม่ลังเลที่จะสมัครเข้าร่วมและได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้

“เราคิดว่าถ้ามีฝายหรือการบริหารจัดการน้ำที่ดี คนในชุมชนก็น่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น บางที่เขาไม่มีอ่างเก็บน้ำหรือบ่อน้ำ ในฤดูแล้งก็แทบจะไม่มีน้ำใช้เลย ต้องให้ทางตำบลส่งน้ำจากที่อื่นมาให้ใช้ มันลำบาก” ส้มเล่าถึงปัญหาในชุมชนละแวกบ้านที่เธอประสบให้เราฟังแล้วบอกว่าคนในชุมชนจำนวนมากยังมองไม่เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์น้ำ ปล่อยปละละเลยปัญหา และยังไม่รู้วิธีการจัดการน้ำที่ถูกต้อง

เราโยนคำถามใส่ส้มว่าแล้วในฐานะเด็กคนหนึ่ง จะทำยังไงให้ผู้ใหญ่ที่โตกว่าหันมาสนใจเรื่องที่เธอได้ไปเรียนรู้มา ส้มตอบเราอย่างจริงใจว่าสิ่งที่เธอทำได้คือการเริ่มบอกต่อกับคนในครอบครัว ญาติๆ และเพื่อนๆ ผ่านเครื่องมือแห่งยุคสมัยอย่างโซเชียลมีเดีย ยกตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการทำฝายที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า ถ้ามีน้ำ ชาวบ้านจะมีกินมีใช้อย่างไร ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ต้องไปไหนไกล เพราะที่ป่าชุมชนบ้านเขามุสิ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ก็เป็นพื้นที่ใกล้เคียงที่คนในชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้และทำตามบ้างแล้ว

“ผู้ใหญ่เขามีความรู้ดั้งเดิมที่สั่งสมมา ส่วนเราก็มีความรู้อีกชุดที่เรียนมาแลกเปลี่ยนกันว่าจะปรับใช้ยังไง แต่สิ่งที่เราได้จากผู้ใหญ่เลยคือความสามัคคี อดทน และความรักหวงแหนในธรรมชาติ คนรุ่นก่อนเขารู้ดีว่าถ้าไม่มีน้ำ คนรุ่นหลังก็อยู่ได้ยาก” ส้มบอกแล้วเล่าถึงแผนการพัฒนาที่บ้านเกิดให้ฟังว่า “ถ้าชุมชนจัดการน้ำได้ดีแล้วค่อยพัฒนาเรื่องการเกษตรที่เราทำกันแต่เดิม เราอยากทำสิ่งที่ชุมชนมีอยู่ให้ดีขึ้น ให้ทุกคนได้รู้จักอำเภอของเรา เพราะถ้าพูดถึงกาญจนบุรีแล้วบอกว่าอยู่อำเภอห้วยกระเจา ทุกคนจะไม่รู้จัก ถ้าชุมชนของเราเริ่มมีสถานที่ท่องเที่ยว มีสินค้าโอทอปวางขาย ชาวบ้านก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นแน่ๆ แถมคนในชุมชนยังได้รวมกลุ่มกัน สามัคคีกันมากขึ้น”

“อยากพัฒนาบ้านเราเองก่อนจะไปพัฒนาที่อื่น” ส้มยิ้มกว้างบอกกับเรา

ชะเอม-จุฑารัตน์ จันทร์รัตน์
เพิ่งจบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เด็กสาวร่าเริงสดใสที่เติบโตมาในตัวเมืองจังหวัดขอนแก่นคนนี้บอกกับเราว่าตัวเองไม่ค่อยได้สัมผัสกับธรรมชาติ แม่น้ำ และป่าเขาเท่าไหร่ พอเห็นกิจกรรม ‘รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย’ ของทาง SCG ที่ชวนเพื่อนจากหลากจังหวัดหลายมหาวิทยาลัยไปเรียนรู้การสร้างฝายที่จังหวัดลำปางและเชียงใหม่ด้วยกัน ชะเอมก็ไม่รอช้ารีบส่งไปสมัครมาด้วยแพสชันที่อยากเรียนรู้เรื่องการทำฝายและอนุรักษ์ธรรมชาติเกินร้อย

“เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าฝายต้องสร้างจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ก่อนหน้านั้นเข้าใจว่าจะสร้างฝายที่ไหนก็ได้ แต่การสร้างแบบนี้จะช่วยชะลอให้น้ำอยู่ในดินได้นานๆ ดินจะถูกสะสมในน้ำเพื่อให้ต้นไม้ได้เติบโต” ชะเอมเล่าความรู้ใหม่ที่ตัวเองได้ไปเรียนรู้จากการเดินทางครั้งนั้นที่มากไปกว่าความประทับใจและเพื่อนใหม่ หลังกลับมาที่ขอนแก่น ชะเอมสานต่อสิ่งที่ได้เรียนรู้มาด้วยการแบ่งปันวิธีการสร้างฝายที่ถูกต้องลงโซเชียลมีเดีย หรือแชร์บทความ กิจกรรมสิ่งแวดล้อมดีๆ ให้คนรอบตัวเข้ามาไถ่ถามและอยากไปบ้าง

ขอนแก่นอาจไม่ใช่จังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เดิมเป็นหินทรายไม่อุ้มน้ำ แต่เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา SCG ได้เข้าไปช่วยชาวบ้านและเยาวชนที่นั่นทำฝายชะลอน้ำกันที่อำเภอน้ำพอง ซึ่งยังมีพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 107 ไร่อยู่

“เราคิดว่าถ้าเด็กรุ่นใหม่จะเข้ามาเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาบ้านเกิด เขาน่าจะได้เรียนรู้ความสำคัญของการมีอยู่หรือขาดแคลนของธรรมชาติในบ้านเกิดตัวเอง จะรักษ์น้ำ รักษ์ป่ายังไง สิ่งที่เราทำอาจไม่ได้เป็นการลงมืออย่างเป็นรูปธรรม
แต่ก็ทำให้เขาค่อยๆ ซึมซับไป” ชะเอมตอบเราด้วยน้ำเสียงจริงจัง “เราเชื่อว่าพลังของวัยรุ่นสำคัญมาก” ถึงการทำงานกับผู้ใหญ่อาจต้องเจอกับค่านิยมเก่าๆ แต่ชะเอมก็มองว่าถ้าเด็กอย่างเราเข้าหาด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน และเสนอความคิดเห็นที่ตนเองมีก็น่าจะไม่ใช่ปัญหา

ในอนาคตขอนแก่นกำลังจะถูกพัฒนาให้เป็นเมืองที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด มีการระดมเงินทุนจากภาคเอกชนเองโดยใช้ต้นแบบจากสิงคโปร์ที่ผสมผสานเมืองกับสิ่งแวดล้อมอย่างลงตัว เมื่อเห็นบ้านเกิดของตัวเองกำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดี บัณฑิตจบใหม่อย่างชะเอมก็บอกเราว่าตัวเลือกแรกในการเลือกงานก็หนีไม่พ้นที่ขอนแก่น

เพราะไม่ว่าใครก็อยากอยู่และดูแลบ้านตัวเองกันทั้งนั้น

facebook | SCG รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต

ภาพ SCG

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก