CHULA MOOC คอร์สเรียนฟรีจากจุฬาฯ ที่ให้คนไทยทุกวัยเข้าถึงและเรียนรู้ได้

การเรียนรู้ในห้องเรียนยังจำเป็นอยู่อีกไหม นี่คงเป็นคำถามที่เชยสุดๆ ในศตวรรษที่ 21 ยุคที่แหล่งความรู้แบบออนไลน์มีให้เลือกอ่านและศึกษากันอย่างล้นทะลัก แค่พิมพ์สิ่งที่คุณใคร่รู้ลงในช่องค้นหาในเบราเซอร์ เมื่อปลายนิ้วกดคลิก เนื้อหาสาระก็พร้อมเสิร์ฟในพริบตา

คงจะดีถ้าเรามีคอร์สเรียนออนไลน์ที่มีเนื้อหามาตรฐานเดียวกับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยดีๆ รองรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้เรียนที่ไม่ได้จำกัดแค่นิสิตนักศึกษา เรียกง่ายๆ ว่าเป็นระบบการเรียนแบบ Everyone Can Learn ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้โดยไม่จำกัดสถานที่และเวลา แถมใจดีเปิดให้ลงทะเบียนเรียนแบบฟรีๆ

ครั้งแรกกับการเรียนออนไลน์

โมเดลการศึกษาแนวนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2012 มหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งในอเมริกาตระหนักว่าระบบการรับนักศึกษา (admission) คือกำแพงหนาที่ปิดกั้นคนธรรมดาทั่วไปกับความรู้ ในสาขาวิชาต่างๆ ที่พวกเขาถืออยู่ในมือ บทเรียนที่มีค่าเหล่านี้ควรถูกแบ่งปันให้กับผู้ใฝ่รู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบบ้าง

สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT คือสถาบันแรกที่คิดค้นโปรเจกต์นำร่อง OCW (OpenCourseWare) ที่อนุญาตให้นักศึกษาและอาจารย์ผู้พัฒนาหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ เข้าถึงเนื้อหาวิชาที่พวกเขาเปิดสอนได้อย่างไม่กั๊ก นอกจากจะสร้างแรงกระเพื่อมให้แวดวงการศึกษาในตะวันตกแล้ว โครงการนี้ยังจุดประกายให้พวกเขาเห็นความเป็นไปได้ในการแบ่งปันความรู้สู่คนในสังคมมากขึ้น

ปีที่แล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดตัว CHULA MOOC (Massive Open Online Courses) คอร์สเรียนออนไลน์ที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถเรียนวิชาต่างๆ ที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยได้แบบฟรีๆ 

วันนี้ ดร.ภัทรชาติ โกมลกิติ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าที่มาที่ไปของ CHULA MOOC คอร์สเรียนออนไลน์ที่มีเบื้องหลังเป็นความพยายามที่อยากช่วยขับเคลื่อนให้สังคมขยับไปข้างหน้า และแนะนำให้เรารู้จักกับ ‘คอร์สเรียนออนไลน์สำหรับทุกคน’ 

คอร์สเรียน CHULA MOOC คืออะไร

ทุกวันนี้ระบบการเรียนออนไลน์ของมหาวิทยาลัยทั่วโลกพัฒนามาไกลมาก การสอนออนไลน์ไม่ได้เป็นเพียงแค่การบันทึกเทปในห้องแล้วเผยแพร่เหมือนแต่ก่อน แต่เป็นการนำเนื้อหาวิชาที่มหาวิทยาลัยมีอยู่แล้วมาดีไซน์การสอนใหม่ให้เหมาะสมกับการเรียนบนอินเทอร์เน็ต

เราเคยเรียกสิ่งนี้ว่า Online Courses เมื่อสถาบันต่างๆ บรรจุวิชาการเรียนการสอนเข้าไปมากขึ้น จึงพัฒนาระบบเป็น Massive Open Online Courses หรือ MOOC ซึ่งในมหาวิทยาลัยดังๆ จะมีการพัฒนาและแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา

แวดวงการศึกษาไทยเองก็ได้ผลักดันโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ หรือ Thailand Cyber University (TCU) ออกมาเป็น Thai MOOC โดยรับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ทางจุฬาฯ เองก็มีพันธกิจที่อยากรับใช้สังคมด้วย เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้เนื้อหาวิชาดีๆ ที่เรามีสามารถเผยแพร่ไปสู่ประชาชนได้

ทำไมจุฬาฯ จึงตัดสินใจเปิด CHULA MOOC

เราอยากที่จะสร้างแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ที่เอื้อให้คนใฝ่เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต หรือ lifelong learning เราเชื่อว่าการเรียนรู้ที่ไม่หยุดยั้งเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ก้าวทันโลก และไม่ว่าคุณจะเป็นคนวัยไหนหรือสำเร็จการศึกษาระดับไหนมา ทุกคนสามารถเก่งในเรื่องที่ตัวเองสนใจได้ถ้าศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งหมดนี้คือความต้องการของคนในสังคมยุคใหม่

CHULA MOOC แตกต่างจากการเรียนบนอินเทอร์เน็ตทั่วไปอย่างไรบ้าง

ในแง่เทคโนโลยี e-Learning และ MOOC ต่างอยู่ในระบบ CourseVille (การบันทึกการเรียนการสอนในห้องเรียนแล้วนำมาดูย้อนหลัง) เหมือนกัน แต่ MOOC เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นมิตรกับการใช้งานของคนทั่วไป สามารถออกแบบให้คนทุกวัยใช้งานได้ และมีระบบลงทะเบียนเรียนที่ไม่ซับซ้อน ดังนั้น MOOC มีศักยภาพเหมาะสมที่สุด

ส่วนการสอน ความยาวของเนื้อหาแต่ละตอนจะสั้นกว่าคอร์สเรียนของที่อื่น เราเชื่อว่าความยาวของเนื้อหามีความสอดคล้องต่อความจดจ่อของผู้เรียน เราจึงตั้งใจออกแบบบทเรียนที่กระชับเพื่อให้คนเรียนไปถึงเป้าหมายได้ไวขึ้น และเน้นเนื้อหาวิชาที่เรียนแล้วสามารถนำไปใช้ได้จริง ผู้เรียนสามารถเข้ามาเรียนได้ตามอัธยาศัย ไม่กำหนดเวลาตายตัว ไม่ว่าคุณจะเรียนเร็วหรือเรียนช้า เป้าหมายเรามีอย่างเดียวคืออยากให้คุณเก่งขึ้น

อีกหนึ่งทิศทางหลักคือ การเปิดให้ทุกคนมีสิทธิ์ได้เรียนฟรี ใครอยากเรียนอะไรต้องได้เรียน และไม่ใช่แค่เฉพาะคนไทยเท่านั้น ชาวต่างชาติก็สามารถเข้ามาเรียนได้ด้วย และยังมีการสอบวัดผล หรือสอบควิซ เพื่อเช็กความเข้าใจของผู้เรียน ถ้ายังไม่เข้าใจก็สามารถย้อนกลับไปเรียนซ้ำได้ไม่ว่ากัน เมื่อเรียนจบก็มีการสอบวัดผลใหญ่ และมีใบประกาศนียบัตรมอบให้หลังเรียนจบคอร์สด้วย

 

CHULA MOOC จะมาทดแทนการเรียนในห้องเรียนได้จริงไหม

การเรียนออนไลน์ไม่สามารถทดแทนการเรียนแบบตัวต่อตัวในห้องเลกเชอร์ได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ เรามองว่าเทคโนโลยีคือ เครื่องมือช่วยแบ่งเบาภาระในการเรียนการสอน ถ้าเนื้อหาสื่อสารทางเดียวก็จะขยับมันไปอยู่ในการเรียนออนไลน์

แต่ในโลกความจริงเราก็ต้องยอมรับว่ายังมีข้อจำกัดอยู่ เช่น คุณจะไม่สามารถสนทนากับอาจารย์แบบเรียลไทม์ได้ หากผู้เรียนมีข้อสงสัย ผู้เรียนสามารถโพสต์คำถามในกลุ่มเฟซบุ๊กของแต่ละรายวิชาได้ เรามองว่าพื้นที่ตรงนั้นคือห้องเรียนเสมือน รวมคนที่สนใจเรื่องที่คล้ายคลึงกันมาช่วยกันถาม ช่วยกันตอบ เกิดเป็นสังคมการเรียนรู้ตามที่เราตั้งใจไว้

CHULA MOOC เปิดสอนหมวดวิชาอะไรบ้าง

ตอนคัดเลือกหมวดวิชา เราดูก่อนว่าผู้เรียนอยากเรียนอะไร อยากพัฒนาทักษะด้านไหนบ้าง ความคาดหวังในปีแรกคืออยากให้ทุกคนได้เรียนเพื่อปรับฐานความรู้ของตัวเองก่อนแล้วค่อยๆ ไต่ขึ้นไปยังคอร์สเรียน และเฉพาะทางมากขึ้นในเวลาถัดไป ซึ่ง 5 หมวดวิชาที่เราเปิดสอนประกอบด้วยหมวดธุรกิจ หมวดไอที และหมวดภาษาที่เป็นวิชาความรู้ที่สามารถนำไปย่อยและปรับใช้กับการทำงานในชีวิตจริง

ขณะเดียวกัน เราเชื่อว่าคนเราทำงานกันแค่หนึ่งส่วนสามของวันเท่านั้น เวลาที่เหลือคือการใช้ชีวิต เราเลยเลือกบรรจุวิชาหมวดสุขภาพ และหมวดศิลปะลงไปด้วย หลังจากที่ได้ทั้ง 5 หมวดวิชาหลักนี้มา เราก็ต้องทำการบ้านกันต่อว่าเราควรจะสอนรายวิชาอะไรบ้างให้ตอบรับกับสิ่งที่คนเรียนอยากจะเรียน

วิชาที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ วิชา IT พอเทคโนโลยีเจริญมาไกลมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรามี Big Data หรือข้อมูลเยอะแยะมากมาย คนจึงสนใจว่าพวกเขาจะมีวิธีนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ หรือต่อยอดกับงานในอนาคตอย่างไร ศาสตร์นี้จึงกลายเป็นศาสตร์ใหม่ที่ใครๆ ก็อยากเรียนรู้และเข้าใจ

 

ทำไมมั่นใจว่า CHULA MOOC เป็นแพลตฟอร์มการเรียนที่เวิร์ก

ผลตอบรับจากคนที่มาเรียนครับ เช่น คนที่มาเรียนคอร์สภาษาอังกฤษเขาส่งข้อความมาขอบคุณว่าคอร์สของเราทำให้เขากล้าพูดภาษาอังกฤษมากขึ้น หลายๆ ครั้งก็มีผู้สูงอายุมาลงเรียนครั้งละ 4-5 วิชาเลยก็มี ส่วนใหญ่พวกเขาจะพูดในทิศทางเดียวกันว่าเนื้อหาที่เราสอนไม่ได้ยากเกินไป ไม่เครียด

ครั้งแรกที่เปิดรับลงทะเบียน เราตั้งเป้าไว้ที่ผู้เรียน 500 คนต่อวิชา ผลคือที่นั่งเต็มอย่างรวดเร็ว เลยตัดสินใจรับเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 คนต่อวิชา ตอนนี้เราตั้งใจอยากขยายโอกาสให้คนได้เรียนสิ่งที่พวกเขาอยากเรียนมากขึ้น วันนี้เราขยับจำนวนที่นั่งต่อรายวิชาไปเป็น 4,000 คน และเพิ่มจำนวนรายวิชาที่เปิดสอนให้หลากหลายขึ้นด้วย

 

ในอนาคตอันใกล้นี้ จุฬาฯ วางทิศทางของแพลตฟอร์มนี้ไว้อย่างไร

เราวางไว้สามด้านหลักๆ ด้านแรกคือ Education for All หาวิธีการที่เอื้อให้คนทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงเนื้อหาการเรียนการสอนของจุฬาฯ และสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้านที่สองคือ CHULA MOOC Achieve คือการอบรมออนไลน์แล้วจัดสอบโดยศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาฯ เพื่อยืนยันว่าผู้เรียนสอบผ่านหลักสูตร และสามารถนำประกาศนียบัตรที่เรามอบให้ไปสร้างความก้าวหน้าในอาชีพการงานของผู้เรียนได้จริง

สุดท้ายคือการปรับเปลี่ยนให้วิดีโอของ CHULA MOOC เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ช่วยให้นิสิตนักศึกษามีความรู้ความเข้าใจในบทเรียนมากกว่าการนั่งฟังบรรยายเพียงอย่างเดียว รวมทั้งช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ข้ามสาขาวิชาได้ง่ายมากขึ้นด้วย

CHULA MOOC จะเป็นโอกาสหรือวิกฤตของสถาบันการศึกษา

ในวันที่คอร์สเรียนออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น ผมมองมันเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสครับ ถ้าเราอยากพัฒนาคน เราต้องให้คนเข้าถึงทรัพยากรความรู้ได้อย่างเท่าเทียมกันก่อน ภายนอกคนอาจมองว่าคนเรียนจุฬาฯ จะต้องเป็นคนเก่งคนรวยเท่านั้น แต่จริงๆ จุฬาฯ เป็นสถาบันที่พร้อมจะช่วยผลักดันคนทุกคนในสังคมอย่างไม่ปิดกั้น การมีแพลตฟอร์มที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้งานได้ง่าย มีเนื้อหาที่ดี รวมทั้งมีอาจารย์ผู้สอนที่เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ศาสตร์นั้นๆ ด้วยตัวเอง นี่เป็นโอกาสที่คนไทยทุกคนจะขยับไปข้างหน้าพร้อมกัน

สำหรับใครที่สนใจคอร์สเรียนออนไลน์และข้อมูลต่างๆ ของ CHULA MOOC คลิกไปดูได้ที่ https://mooc.chula.ac.th 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!

ILLUSTRATOR

สาริศา เลิศวัฒนากิจกุล

บัณฑิตจบใหม่ในยุคโควิด-19 ที่มีเป้าหมายหลังเรียนจบคือการไปเที่ยวต่างประเทศ