หีบ Louis Vuitton ที่เชิญพัสตราภรณ์ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงไปอวดชาวโลก

Highlights

  • คอลัมน์ 'ขุมทรัพย์นักพิพิธภัณฑ์' ประจำเดือนมิถุนายน 2562 คู่หู Museum Minds เล่าเรื่องสินค้าสุดคลาสสิกของ Louis Vuitton อย่าง 'หีบ' ซึ่งโด่งดังและเป็นที่นิยมทั่วโลก ทั้งยังเป็นตัวแทนของความสง่างาม
  • เมื่อคราวสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาและ 14 ประเทศยุโรปใน ค.ศ. 1960 ปิแอร์ บัลแมง ผู้ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลการตัดเย็บฉลองพระองค์ จึงสั่งทำหีบชุดพิเศษสำหรับเชิญฉลองพระองค์ โดยหีบที่ว่านั้นบุด้วยผ้าสีเหลืองทอง มีอักษรพระนามาภิไธยย่อ 'S' กำกับไว้ และตกแต่งด้วยแถบสีลายธงชาติไทย

ท่ามกลางความวิจิตรตระการตาของฉลองพระองค์ในนิทรรศการ ‘งามสมบรมราชินีนาถ’ (Fit For a Queen: Her Majesty Queen Sirikit’s Creations by Balmain) ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เราแอบสังเกตเห็นหนึ่งในสิ่งจัดแสดงที่แม้ว่าจะไม่ใช่พัสตราภรณ์เสียทีเดียว แต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ขนาดที่ว่าหากไม่มีสิ่งนี้ ฉลองพระองค์ที่จัดแสดงอยู่ก็คงเดินทางมาไม่ถึงเมืองไทยตั้งแต่แรก

สิ่งของที่ว่าก็คือชุด ‘หีบ’ ของ Louis Vuitton นั่นเอง

นอกจากนี้ หากเราเข้าไปมองใกล้ๆ จะสามารถสังเกตเห็นรายละเอียดที่ถูกทำขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์และพระราชินีของไทยโดยเฉพาะอีกด้วย!

แต่ก่อนที่จะไปพูดถึงรายละเอียดนั้น คงจะต้องย้อนความไปถึงประวัติว่าทำไมหีบยี่ห้อดังของฝรั่งเศสนี้ จึงเป็นหีบเลอค่าที่เป็นตัวเลือกของสังคมชั้นสูงทั่วโลก และมาตั้งจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการในรั้วพระบรมมหาราชวังของบ้านเราได้อย่างไร? 

สำหรับคำถามแรกนั้นคงต้องย้อนกลับไปใน ค.ศ. 1854 ปีที่ หลุยส์ วิตตอง ได้เปิดร้านชื่อเดียวกับตัวเองขึ้นบนถนน Rue Neuve des Capucines ในมหานครปารีส ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในฝั่งยุโรปมาถึงจุดพีคอีกรอบ เมื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีได้รับแรงขับเคลื่อนจากการพัฒนาเรือกลไฟและทางรถไฟ โดยรถไฟสำหรับขนส่งมวลชนในปารีสนั้นอาจจะช้ากว่าอังกฤษและเบลเยียมอยู่สักหน่อย เนื่องจากราคาค่าวัสดุก่อสร้างที่แพงกว่าหลายขุม อีกทั้งยังมีข้อขัดแย้งระหว่างนายทุนและรัฐบาลด้วย ทำให้รถไฟสำหรับผู้โดยสารเพิ่งมาเป็นที่นิยมและเข้าถึงได้ในช่วงปี 1850s เป็นต้นมา

ลักษณะของหีบที่ใช้ใส่สัมภาระเวลาเดินทางทั่วๆ ไปในสมัยนั้น มักจะมีฝาเปิดทรงโค้ง หุ้มด้วยหนัง และมีความเทอะทะพอสมควร แต่หลุยส์ วิตตอง ของเราได้คิดค้น ‘Grey Trianon Canvas Trunk’ ขึ้นในปี 1858 โดยแทนที่จะใช้หนัง เขากลับเลือกใช้แคนวาสในการหุ้ม ทำให้หีบมีน้ำหนักที่เบากว่า ทนทาน บรรจุของได้มาก สามารถกันน้ำและกลิ่นได้อีกต่างหาก นอกจากนี้เขายังออกแบบให้ฝาเปิด-ปิดของหีบเป็นแบบแบนทั้งด้านบนและฐานด้านล่าง เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน และนำไปวางซ้อนกันได้อย่างแสนสะดวก ไม่ว่าจะเดินทางด้วยรถไฟหรือเรือไอน้ำก็ตาม 

ดังนั้นเมื่อบริษัทของวิตตองเข้าร่วมงาน Universal Exhibition ใน ค.ศ. 1867 ซึ่งเป็นงานแฟร์ที่โชว์นวัตกรรมของ ‘โลกใหม่’ ให้กับมวลมหาประชาชน แบรนด์ของเขาจึงเป็นที่รู้จักในฐานะที่ตอบสนองความต้องการของยุคสมัยได้อย่างดีเยี่ยม ได้รับความนิยมอย่างสูงขนาดที่ในปี 1869 เราได้เห็นหีบนั้นในภาพถ่ายของจักรพรรดินียูเจนี พระอัครมเหสีในจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ขณะเสด็จฯ โดยเรือเดินสมุทรไปร่วมในพิธีเปิดคลองสุเอซ อันเป็นคลองขุดน้ำเค็มที่เชื่อมระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดงในประเทศอียิปต์ พระนางก็ใช้หีบของ Louis Vuitton เพื่อใส่สัมภาระต่างๆ ส่วนพระองค์เป็นจำนวนนับสิบหีบ ในรูปพวกมันไล่ขนาดจากเล็กไปหาใหญ่ ดูเก๋ไก๋ใช่ย่อยทีเดียว

นอกจากจักรพรรดินียูเจนีแล้ว หีบเดินทางยี่ห้อนี้ยังเป็นของหรูที่เหล่าผู้ดีมีสตางค์ในยุโรปโปรดปรานกันถ้วนหน้า ไม่นานนักความนิยมใช้ Louis Vuitton ก็แพร่ไปสู่บุคคลในวงการบันเทิง ข้ามทะเลไปถึงฮอลลีวูดกับเขาด้วย สังเกตได้ว่าจะมีร้านบูทีกของ Louis Vuitton อยู่ที่ทั้งเมืองนีซและเมืองคานส์ เพื่อตอบโจทย์เอาใจหมู่ดารานักแสดงที่ไปงานเทศกาลภาพยนตร์ที่นั่น แถมยังมีหลายครั้งที่หีบและกระเป๋าเดินทางชื่อนี้ถูกนำมาเข้าฉากภาพยนตร์ของฮอลลีวูด ตั้งแต่เรื่อง Roman Holiday มาจนถึงเรื่อง Titanic หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์เรื่อง The Italian Job ที่ใช้กระเป๋าโอเวอร์ไนต์ของ Louis Vuitton ในการลำเลียงทองคำแท่งด้วย

แน่นอนว่าของดังก็ต้องมีการก๊อปปี้เกิดขึ้นตามมา งานก๊อปกระเป๋านั้นเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยแรกๆ จน Louis Vuitton เปลี่ยนดีไซน์ออริจินอลเป็นผ้าสีเบจคาดแถบสีน้ำตาล ซึ่งเป็นเฉดสีอันเป็นเอกลักษณ์จวบจนปัจจุบัน นอกจากนั้นยังออกแบบแพตเทิร์นที่มีโลโก้พร้อมข้อเขียน ‘marque L. Vuitton déposée’ แปลว่า ‘ลิขสิทธิ์ของ แอล. วิตตอง’ จารึกไว้ด้วย ต่อมาในปี 1896 ทายาทรุ่นที่ 2 จอร์จ วิตตอง จึงได้ออกแบบลาย ‘โมโนแกรม’ ซึ่งเป็นลายที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามและขึ้นแท่นคลาสสิกทันที แถมยังเป็นลายเดียวกับที่เราเห็นบนกระเป๋าและหีบส่วนพระองค์ในนิทรรศการ ‘งามสมบรมราชินีนาถ’ นี้เอง

กลับมาตอบอีกคำถามว่า หีบเหล่านี้มาตั้งจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่บ้านเราได้อย่างไร อันนี้ต้องอธิบายว่า หีบเหล่านี้ถูกสั่งผลิตขึ้นโดย ปิแอร์ บัลแมง แฟชั่นดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส ผู้ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลการตัดเย็บฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาเป็นเวลากว่า 22 ปี โดยเขามักจะได้รับโจทย์ให้ตัดเย็บฉลองพระองค์จากผ้าไทยที่สมเด็จฯ ทรงซื้อไว้จากชาวบ้าน หรือที่ถูกสั่งทอขึ้นมาเป็นพิเศษ ทำให้ดูร่วมสมัยและโดดเด่นแบบไทยและสากลไปพร้อมๆ กัน ถือเป็นงานสำคัญที่เผยแพร่ความงดงามของผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

บัลแมงได้สั่งทำหีบเหล่านี้ขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อเชิญฉลองพระองค์ พระมาลา ถุงพระหัตถ์ และฉลองพระบาทส่วนพระองค์โดยเฉพาะ

เราจะเห็นว่าหีบเชิญฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง บุด้วยผ้าสีเหลืองทอง มีอักษรพระนามาภิไธยย่อ ‘S’ กำกับไว้ และตกแต่งด้วยแถบสีลายธงชาติไทย ส่วนกระเป๋าเดินทางที่มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ‘ภปร’ เป็นของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรนั่นเอง ทั้งหมดนี้ถูกใช้ในช่วงที่พระองค์เสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาและภาคพื้นยุโรป 14 ประเทศด้วยกันใน ค.ศ. 1960

ความพิถีพิถันทั้งหมดนี้ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของทั้งสองพระองค์สง่างามอย่างยิ่งในสายตาชาวโลก โดยเฉพาะพระสิริโฉมอันงดงามและพระราชจริยาวัตรอันนุ่มนวลอ่อนหวานของสมเด็จฯ ที่ลือลั่นไปทั่วทุกแห่งหนที่พระองค์เสด็จฯ เยือน ขนาดที่ ไดอาน่า วรีแลนด์ บรรณาธิการนิตยสาร Vogue สมัยนั้น ถึงกับเขียนจดหมายหา จิม ทอมป์สัน เพื่อนชาวอเมริกันที่เธอรู้จักที่กรุงเทพฯ ในปี 1964 เพื่อปรึกษาว่า ทำอย่างไรที่ Vogue จะสามารถขอพระราชทานพระราชวโรกาสสัมภาษณ์และฉายพระฉายาลักษณ์เพื่อตีพิมพ์ จนในปีต่อมา พระองค์ทรงตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญของนิตยสาร Vogue โดยทรงร่วมฉายพระฉายาลักษณ์ลงในนิตยสารฉบับเดือนกุมภาพันธ์ มี เฮนรี่ คลาร์ก เป็นช่างภาพผู้ถวายงาน และ ปิแอร์ บัลแมง เป็นสไตลิสต์นั่นเอง

หีบนี้ถูกจัดแสดงในนิทรรศการซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2016 และปิดตัวไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2019 ที่ผ่านมา หากใครไปดูไม่ทัน ก็คงต้องรอให้ทางพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้หมุนเวียนของชิ้นนี้กลับมาจัดแสดงอีกในนิทรรศการอื่นในอนาคต หรือถ้าอดใจไม่ไหว ลองไปดูภาพนิทรรศการชุดนี้ย้อนหลังใน Google Arts & Culture ก็ได้นะ

AUTHOR