บนถนนอโศกที่พลุกพล่าน หลายๆ คนอาจจะไม่ทราบว่ามีพิพิธภัณฑ์อันเงียบสงบและเปี่ยมด้วยมนต์ขลังซ่อนอยู่
ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึง ‘พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง’ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยา ว่าด้วยเรื่องราวของวิถีชีวิต ความเชื่อ และศิลปะล้านนาไทย ตั้งอยู่ในบริเวณที่ร่มรื่นภายในสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งอยู่ห่างออกมาจากประตูทางออกของรถไฟ MRT สถานีสุขุมวิท เพียงไม่กี่ก้าว
อาคารที่เป็นตัวพิพิธภัณฑ์นั้นคือเรือนเครื่องสับแบบล้านนาไทยเดิม หรือที่รู้จักกันในนาม ‘เรือนกาแล’ สร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง มีไม้ป้านลมหลังคาที่ยอด หรือ ‘กาแล’ อันเป็นเอกลักษณ์เรือนล้านนาอย่างชัดเจนปรากฏอยู่
ที่น่าประหลาดใจกว่านั้นคือเรือนเก่าแก่หลังนี้มีอายุเกือบสองร้อยปีแล้ว สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2391 โดยนางแซ้ด ผู้สืบเชื้อสายธิดาเมืองแช่ ชาวไทลื้อในแคว้นสิบสองปันนา ที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่เชียงใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมือง ลูกหลานของนางแซ้ดได้อาศัยอยู่ที่เรือนหลังนี้ต่อมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งใน พ.ศ. 2506 นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินทร์ เจ้าของเรือนในขณะนั้นได้มอบให้แก่สยามสมาคมฯ เพื่อให้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้น จึงได้มีการรื้อถอนเรือนเพื่อปลูกสร้างใหม่ในพื้นที่ของสยามสมาคมฯ และได้ตั้งชื่อว่า ‘เรือนคำเที่ยง’ ตามชื่อมารดาของนางกิมฮ้อ ผู้เกิดบนเรือนหลังนี้นั่นเอง
เพื่อให้เข้ากับพื้นที่ใหม่ เรือนหลังนี้จึงมีการปรับผังและทิศทางเรือนบ้าง แต่องค์ประกอบทุกส่วนของเรือนยังอยู่ครบถ้วน เราจะเห็นตัวเรือนไม้ มีใต้ถุนสูง มีทั้งห้องนอน ชานบ้าน ห้องครัว และทางเดินเชื่อมไปยังยุ้งข้าว
และที่แห่งนี้เองที่ทำให้เราได้พบเข้ากับ ‘ขุมทรัพย์’ ที่น่าสนใจมากๆ ชิ้นหนึ่ง
ขุมทรัพย์ที่ว่าตั้งตระหง่านอยู่กลางยุ้งข้าว สร้างจากไม้สานขนาดใหญ่ขัดกันเป็นรูปร่างคล้ายดาวหกแฉกประกอบกัน ปักอยู่บนผืนดินเล็กๆ ที่มีข้าวเปลือกกระจายอยู่เกลื่อน แถมข้างหน้าไม้สานนี้ยังมีรูปปั้นแม่โพสพตั้งอยู่อีกด้วย มองไปแล้วชวนพิศวงยิ่งนัก เมื่อเราลองค้นข้อมูลดูแล้วจึงเข้าใจว่าเป็น ‘เฉลว’ หรือ ‘ตาแหลว’ ตามคำเรียกภาษาถิ่นนั่นเอง
คนเมืองทั่วไปอาจจะไม่เคยเห็นเฉลวหรือตาแหลวมาก่อน แต่ไม้สานศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการประกอบพิธี ‘แฮกนา’ ของชาวเหนือ และเป็นของไฮไลต์ชิ้นหนึ่งที่บอกเล่าวิถีชีวิตตามความเชื่อล้านนาของพิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยงแห่งนี้เลยทีเดียว
พิธีกรรมแฮกนาของทางล้านนาสามารถเทียบเคียงได้กับพิธี ‘แรกนา’ หรือพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของภาคกลาง ซึ่งเป็นพิธีหลวงที่สืบทอดกันมายาวนาน ปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์
ความสำคัญของมันก็คือการที่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำนาเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร และเพื่ออ้อนวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้ข้าวเจริญงอกงามนั่นเอง
ศาสตราจารย์ปรานี วงษ์เทศ ได้อธิบายไว้ว่า “พิธีทั้งหมดนี้มีเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับเกษตรกรที่มีร่องรอยมานานอยู่ก่อนแล้ว ในสังคมเกษตรกรรมของอุษาคเนย์เมื่อราว 3,000 ปีก่อน คนทำนาต้องทำกันทั่วไป ก่อนลงมือเพาะปลูกจริง ต่อมาเมื่อรับแบบแผนฮินดูจากอินเดียจึงปรุงแต่งพิธีวิงวอนผีให้สอดคล้องกับพิธีพราหมณ์เพื่อความศักดิ์สิทธิ์สูงขึ้น เช่น มีพระโคเสี่ยงทาย มีเทวดามาเสกเป่าข้าวเปลือกที่ใช้หว่านในพิธี ฯลฯ (ปรานี วงษ์เทศ, ประเพณี 12 เดือน. สำนักพิมพ์มติชน, 2548)
ส่วนพิธีการแฮกนาแบบท้องถิ่นของภาคเหนือนั้น แม้จะเรียบง่ายกว่าพระราชพิธีหลวง แต่จุดประสงค์นั้นไม่ต่างกัน คือเพื่อเสี่ยงทายและเพื่อบูชาพระแม่โพสพ ขอให้การทำนาเป็นไปได้อย่างราบรื่นนั่นเอง โดยเริ่มจากการกำหนดบริเวณประกอบพิธี ซึ่งจะอยู่ภายในเนื้อที่นาของตน เรียกว่า ‘ค้างแรกเข้า’ ซึ่งถือเป็นจุดมงคลของที่นาและเป็นที่สถิตของผีเสื้อนา (ผีอารักษ์ที่นาหรือเทวดาอารักษ์ที่นา) มีการทำแท่นเพื่อบูชาพระแม่โพสพ รวมถึงมีของเซ่นไหว้พระแม่ธรณีด้วย จากนั้นจะมีการปักตาแหลวที่สี่มุมของบริเวณพิธี และปักตาแหลวหลวงหรือตาแหลวแรกนาไว้ตรงกลางที่นั้นเอง
การหว่านกล้า ดำนาครั้งแรก ก็จะต้องกระทำในบริเวณพิธีแฮกนานี้ เป็นจำนวน 9 กอ เพื่อเอาฤกษ์ก่อน จึงจะดำนากันต่อไปจนเสร็จ นอกจากนี้ตาแหลวยังใช้ปักตามสี่มุมเขตแดนนาของตัวเอง ตามคติความเชื่อว่าจะช่วยป้องกันสัตว์และภัยต่างๆ ที่เป็นศัตรูต่อข้าวอีกด้วย
ที่จริงแล้วคำว่าตาแหลว หมายถึงตาเหยี่ยวในภาษาเหนือ การสร้างตาแหลวด้วยการนำไม้ไผ่มาจักตอกให้เป็นเส้นบางแล้วนำมาสานเป็นทบๆ จึงเปรียบเสมือนการสร้างตาที่แหลมคมเฉกเช่นเหยี่ยว คอยสอดส่องเฝ้าระวังสิ่งอาถรรพ์หรือสิ่งคุกคามไม่ให้ย่างกรายเข้ามาในอาณาเขต ด้วยเหตุนี้ นอกจากประเพณีแฮกนาแล้ว เรายังสามารถพบเห็นตาแหลวประกอบพิธีกรรมอื่นๆ ได้อีก เช่น ในประเพณีของชาวไทลื้อ มีการใช้ตาแหลวในการปิดกั้นหมู่บ้าน ไม่ให้คนนอกเข้าและคนในออก ระหว่างทำพิธีเซ่นสรวงผีบ้าน
ในขณะที่ภาคกลางมีชื่อเรียกสิ่งนี้ว่า ‘เฉลว’ ใช้ในการป้องกันภัยหรือกันคุณไสย โดยมักจะนำตอกมาหักขัดกันเป็นมุม มีทั้ง 3 มุม 5 มุม 8 มุม 12 มุม ตามคติแพทย์แผนโบราณมักจะใช้ปักไว้กับหม้อยา เพื่อใช้ปลุกฤทธิ์ของยาให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงเป็นการลงอาคมป้องกันไม่ให้มีการละล้าบละล้วงเครื่องยา หรือกันผีข้ามเพื่อไม่ให้ยาเสื่อม
น่าสนใจว่าแม้ในปัจจุบันที่การแพทย์ของไทยเป็นแบบสมัยใหม่และยาแบบตะวันตกเป็นยากระแสหลักแล้ว เฉลวยังคงถูกนำมาใช้ในเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อถึงยาอยู่และยังคงเป็นสัญลักษณ์ของเภสัชกรรมไทยด้วย โดยเฉพาะเฉลว 5 มุม เช่น บนตราของเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
นอกจาก ‘ตาแหลว’ แล้ว ที่พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยงยังมีของอื่นๆ ที่เล่าเรื่องราวความเชื่อของชาวเหนืออีกมากมาย เช่น เสื้อยันต์, หัมยนต์, หิ้งผีปู่ย่า, บายศรี, ตะกรุด, ฯลฯ หากใครอยากจะรู้เรื่องราวของสิ่งเหล่านี้ก็แวะเวียนไปเรียนรู้กันได้ตามศรัทธา
แหล่งขุมทรัพย์
พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง
สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เลขที่ 131 ซอยสุขุมวิท 21 ถนนอโศกมนตรี
แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
วันทำการ : วันอังคาร–วันเสาร์ (หยุดวันอาทิตย์และวันนักขัตฤกษ์)
เวลา 9:00–17:00 น.