‘ธงจุฑามณี’ ธงที่เคยหายไปจากไทยกว่า 150 ปี ที่วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่

ครั้งหนึ่ง เราเคยมีโอกาสถามคุณ อรรถดา คอมันตร์ นักสะสมผู้เป็นเจ้าของแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่ (Villa Musée Khaoyai) ว่าภายในเรือนอนุรักษ์ทั้ง 7 หลัง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กว่า 7 ไร่แห่งนี้ เขารักของสะสมชิ้นไหนมากที่สุด ซึ่งเมื่อได้ยินคำถามแล้ว คุณอรรถดาถึงกับหัวเราะออกมาและสารภาพโดยตรงว่า “เลือกชิ้นเดียวไม่ได้จริงๆ”

จะว่าไปก็เข้าใจได้อยู่ เพราะขนาดเราเองในฐานะผู้เยี่ยมชมของวิลล่า มูเซ่ ก็ยังรู้สึกลำบากใจที่จะเลือกพูดถึงความเลอค่าของวัตถุเพียงชิ้นหนึ่ง ในคอลเลกชั่นของสะสมที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ยุครัชกาลที่ 4-7 ของที่นี่ เนื่องจากการจัดวางที่ประณีตทุกๆ รายละเอียดของทุกๆ ห้องในเรือนเก่าแต่ละหลัง ทุกอย่างล้วนช่วยกันขับสร้างบรรยากาศย้อนอดีตอย่างสมจริงเสมือนว่าเจ้าของบ้านเพิ่งลุกออกไปจากห้องหมาดๆ ตั้งแต่ของชิ้นเล็กชิ้นน้อย อาทิ หนังสือเก่าที่ถูกกางไว้บนโต๊ะทำงานไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ อย่างเปียโนฝรั่งเศสจากปี 1911 หรือกล้องส่องทางไกลที่ยังคงชี้ชวนให้จ้องมองออกไปนอกชานเรือน ทั้งหมดนี้ร่วมกันสร้างมนตร์ขลังพิเศษ เป็นประสบการณ์ที่ไม่เหมือนที่ไหนให้กับผู้เข้าชม ซึ่งคุณอรรถดาบอกเราว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์การสร้างแหล่งเรียนรู้แบบมีชีวิตของวิลล่า มูเซ่แห่งนี้นี่เอง

อย่างไรก็ดี หากเราจะต้องเล่าเรื่องของสะสมทุกชิ้นที่จัดแสดงอยู่ ประกอบกับเรื่องราวที่คุณอรรถดาเล่าสู่กันฟังไปหลายชั่วโมง บทความนี้คงจะยืดยาวเกินงาม เราจึงต้องขอถือวิสาสะเลือกแทนท่านเจ้าของบ้าน เล่าเรื่องถึงขุมทรัพย์หนึ่ง ซึ่งเรามั่นใจอย่างยิ่งว่าล้ำค่าและหาดูไม่ได้ที่อื่นในประเทศไทย นั่นก็คือ ‘ธงจุฑามณี’ หรือ ‘ธงพระปิ่นเกล้า’ ที่เคยเลือนรางหายไปจากประเทศไทยกว่า 150 ปี

ธงนี้หากดูเผินๆ ก็อาจจะคิดว่าเป็นธงเก่าธรรมดา แต่ถ้าดูดีๆ เราจะเห็นว่ามีพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุฑามณี พิมพ์ตรงกลางผืน พระองค์เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ลำดับที่ 3 ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี มีพระราชสมภพเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 ณ พระราชวังเดิม คลองบางกอกใหญ่ พระองค์มีพระเชษฐาร่วมพระราชมารดาอีก 2 พระองค์ได้แก่สมเด็จเจ้าฟ้าชาย (สิ้นพระชนม์เมื่อประสูติ) สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ แต่พระองค์ทรงตรัสว่าถ้าจะถวายพระราชสมบัติแก่พระองค์จะต้องอัญเชิญพระอนุชาของพระองค์ครองราชย์ด้วย ในรัชสมัยนั้นประเทศไทยจึงเสมือนว่ามีพระเจ้าแผ่นดินถึง 2 พระองค์ด้วยกัน คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ พระปิ่นเกล้าฯ จึงทรงไว้ซึ่งพระราชอิสริยยศ อิสริยศักดิ์สูงกว่า ‘วังหน้า’ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พระมหาอุปราช) พระองค์ใดในอดีต และด้วยทรงสนพระทัยในวิทยาการตะวันตก จึงทรงมีพระสหายชาวต่างชาติเป็นอันมาก ทำให้ทรงทราบธรรมเนียมฝรั่งเป็นอย่างดี จึงทำให้ในบริเวณพระราชวังเดิมที่ประทับแต่เมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าฟ้าจุฑามณีของพระองค์นั้นเอง ที่ประเพณีการตั้งเสาชักธงได้ริเริ่มขึ้นบนแผ่นดินไทย ดังปรากฏในพระนิพนธ์ “ความทรงจำ” ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ปรากฏเหตุการณ์น่าสนใจเหตุการณ์หนึ่งไว้ดังนี้:

“…ในเมืองไทยแต่ก่อนมาการตั้งเสาชักธงมีแต่ในเรือกำปั่น บนบกหามีประเพณีเช่นนั้น ไม่มีคำเล่ากันมาว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดขนบธรรมเนียมฝรั่งให้ทำเสาธงขึ้น ณ พระราชวังเดิม (ที่เป็นโรงเรียนนายเรือบัดนี้) อันเป็นที่เสด็จประทับและชักธงบริวารเป็นเครื่องบูชาในเวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระกฐินเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นตรัสถามผู้ที่อยู่ใกล้พระองค์ว่า


นั่นท่านฟ้าน้อยเอาผ้าขี้ริ้วขึ้นตากทำไม” 

“พิเคราะห์เห็นว่ามิใช่เพราะไม่ทรงทราบว่าทำโดยเคารพตามธรรมเนียมฝรั่ง ที่มีพระราชดำรัสเช่นนั้นเพราะไม่โปรดที่ไปเอาอย่างฝรั่งมาตั้งเสาชักธงเท่านั้นเอง ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสสั่งให้ทำเสาธงขึ้นทั้งในวังหลวงและวังหน้าเสาธง วังหลวงให้ชักธงตราพระมหามงกุฎ และเสาธงวังหน้าให้ชักธงจุฑามณี (ปิ่นคนทั้งหลายก็เข้าใจกันว่าเสาชักธงนั้นเป็นเครื่องหมายพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน

นอกจากนี้ในพระนิพนธ์ยังเล่าต่อไปอีกว่า

“…ครั้นเมื่อทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับรัฐบาลฝรั่งต่างประเทศแล้วมีกงสุลนานาประเทศเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ที่มาตั้งเสาชักธงชาติของตนขึ้นตามสถานกงสุล ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ทำในประเทศอื่นๆ คนทั้งหลายไม่รู้ประเพณีฝรั่งเหล่านั้นก็พากันตกใจลือกันให้หนาหูว่าพวกกงสุลจะเข้ามาตั้งแข่งพระราชานุภาพ จนเมื่อความทราบถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงรำคาญพระทัยจึงทรงพระราชดำริหาอุบายแก้ไขด้วยดำรัสสั่งเจ้านายต่างกรมกับทั้งขุนนางผู้ใหญ่ให้ทำเสาธงช้างขึ้นตามวังและที่บ้าน เมื่อมีเสาธงชักขึ้นมากคนทั้งหลายก็หายตกใจแต่นั้นเป็นต้นมา…”  

อย่างไรก็ดี ธงจุฑามณีที่พูดถึงในพระนิพนธ์นี้กลับไม่หลงเหลือหลักฐานไว้ให้ชาวไทยรุ่นหลังได้เห็นกันสักผืน! ที่ผ่านมาเหล่านักวิชาการ เมื่อพูดถึงธงนี้ก็จะไปอ้างอิงรูปวาดจากหนังสือบันทึกโบราณของเยอรมัน (Die Wappen und Flaggen der Herrscher und Staaten der Welt) ที่มีรูปวาดของธงจุฑามณีให้เห็นเป็นเพียงลายเส้นอยู่ โดยคาดว่าบันทึกโดยกงสุลประจำสยามและส่งกลับไปกับเรือสู่เยอรมันในรัชสมัยของพระองค์

จนเมื่อคุณอรรถดาได้มีโอกาสไปพบเจอธงดังกล่าวนี้ในร้านของเก่าแห่งหนึ่ง โดยมีลักษณะตรงกับภาพในหนังสือ เป็นแผ่นผ้าเก่าสีแดง มีลายพิมพ์สีทอง เป็นพระปิ่นวางอยู่บนพานแว่นฟ้าสองชั้น และวางอยู่บนตั่งอีกชั้นหนึ่ง (จะต่างจากภาพในหนังสือตรงที่ไม่มีฉัตรประทับขนาบสองข้าง) เขาจึงไม่รอช้าที่จะเชิญหลักฐานชิ้นสำคัญนี้มาดำเนินการอนุรักษ์ ใส่กรอบจัดแสดงไว้เหนือประตูทางเข้าของ ‘เรือนอนุรักษ์โกษา’ ในวิลล่า มูเซ่นี่เอง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นที่ฮือฮาในวงการนักประวัติศาสตร์บ้านเราอย่างมาก ขนาดที่พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทยยังต้องมาขอถ่ายบันทึกไว้ด้วย ซึ่งในจุดนี้คุณอรรถดาบอกกับเราว่า เขาดีใจที่งานสะสมของเขาสามารถช่วยทำให้การศึกษาค้นคว้าบันทึกประวัติศาสตร์สมบูรณ์มากขึ้น และสามารถเป็นอีกแรงที่จะช่วยปลูกฝังจิตสำนึกรักในวัฒนธรรมของประเทศด้วย

นอกจากนี้ข้างๆ กันกับธงจุฑามณีก็ยังมีการจัดแสดงธงช้างเผือกที่เรารู้จักกันดีด้วย โดยธงช้างเผือกนั้นได้ใช้เป็นธงชาติสยามมาจนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2460 มาเป็นธงสามสี อันหมายถึงสถาบันหลักทั้งสามของประเทศไทยคือ ชาติ (สีแดง) ศาสนา (สีขาว) และพระมหากษัตริย์ (สีน้ำเงิน) สีทั้งสามนี้เองคือที่มาของการเรียกชื่อธงนี้ว่าธงไตรรงค์ (ไตร = สาม, รงค์ = สี)

เรียกได้ว่า ธงจุฑามณี หรือธงพระปิ่นเกล้านี้ถือเป็นต้นกำเนิดของธรรมเนียมการชักธงชาติขึ้นเสา ที่เรายังคงทำกันสืบมาจวบจนปัจจุบันนี้นี่เอง

 


วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่

รอบเข้าชม วันศุกร์-อาทิตย์ 4 รอบ นำชมเวลา 9:00 น. / 11:00 น. / 14.00 และ 16:00 น. รอบละไม่เกิน 8 ท่าน

สามารถจอดรถยนต์และตั้งพิกัดการเดินทางมาชมวิลล่า มูเซ่ ที่ภูวนาลีรีสอร์ทเขาใหญ่

โดยนัดหมายเข้าชมล่วงหน้าที่ โทร. 063-225-1555

(หากผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะเดียวกันถึง 8 ท่านสามารถติดต่อขอเข้าชมเป็นรอบพิเศษได้)

AUTHOR