บ้านแต่ละหลังมอบความรู้สึกให้กับเราไม่เหมือนกัน
บ้างอบอุ่น บ้างผ่อนคลาย บ้างหรูหรา หรือเคร่งเครียดขรึมขลัง
แต่บ้านของ “เก่ง–พีรเดช นรเศรษฐกร” คือความสนุก และความประหลาดใจ
ด้วยสไตล์ลอฟท์ที่ดูเหมือนจะธรรมดา แต่ซุกซ่อนลูกเล่นและเซอร์ไพรส์ไว้อย่างแนบเนียน ทำให้เราต้องเดินทางไปพูดคุยเพื่อถามถึงแรงบันดาลใจ และ ‘อะไร’ ที่ทำให้ลอฟท์ของเขานั้นพิเศษกว่าลอฟท์ทั่วไป
ในโฮมออฟฟิศที่มีหน้าต่างอยู่ระดับเดียวกับพื้นหญ้า
เก่งเริ่มต้นบทสนทนาโดยมีแก้วกาแฟอยู่ตรงหน้า
“ที่นี่เริ่มสร้างก่อนน้ำท่วมประมาณปีเศษๆ (พ.ศ. 2554) พื้นเพจริงๆ อยู่ตลาดบางแค มันวุ่นวาย พอจบมาทำงานก็ดูที่ไปเรื่อยๆ 10 ปีก่อนส่วนใหญ่จะไปบูมบางบัวทอง รัตนาธิเบศร์ แต่พอบ้านจัดสรรมันเยอะ ความแออัดมันก็เยอะตาม มีห้างก็ยิ่งหนัก กลายเป็นว่าไม่ได้วิ่งมาหาพื้นที่ที่มันสะดวกจริงๆ ก็เลยคิดว่าไม่น่าจะเวิร์ก บวกกับพ่อแม่อายุเยอะแล้ว ก็ควรจะอยู่ในที่เงียบๆ สบายๆ ก็มาดูแถวๆ สนามหลวง 2 เราก็ชอบโซนนิ่งแถวนี้ มันเงียบดี”
ใช่ เมื่อเข้ามาก็รู้สึกได้ถึงความเงียบ เรายืนยัน
เมื่อได้พื้นที่ ก็ถึงทีลงมือ เก่งเริ่มเล่าถึงลำดับต่อมา “เราดูว่าคนในบ้านมีกี่คน แล้วทำมายด์แมพ คนนี้ตื่น ใช้ชีวิตกี่โมง แล้วก็มา study ที่ดิน ว่าหันหน้าไปทางไหน ตรงไหนจะเป็นหน้าบ้าน จากนั้นก็จัดโซนนิ่งว่าห้องใครควรจะอยู่ตรงไหน รับแดดยังไง เบี่ยงยังไง”
เมื่อรู้โครงสร้างจึงเริ่มวางแผนการใช้ชีวิต “ถ้าทำบ้านอยู่ตรงกลางเหมือนทั่วไป ทุกคนก็จะต้องเข้าทางเดียว ใช้ facility เดียวกัน ความเป็นส่วนตัวมันก็ไม่มี ก็แยกเป็นส่วนพักอาศัยหลักของเรากับนิว (คุณนิว–กิตติธัช นรเศรษฐกร) ส่วนพักอาศัยที่สองจะเป็นของแม่กับพ่อ ป้า แล้วก็พี่สาว ห้องนอนเราอยู่ชั้นล่าง เพราะว่าสมัยก่อนบ้านเก่าเป็นตึกแถว กินเหล้าเสร็จขึ้นห้องทีก็ตกบันดงบันได (หัวเราะ) พ่อแม่อายุมากก็ควรจะอยู่ห้องชั้นล่างเหมือนกัน คือแยกสเปซด้วยเจเนอเรชั่น แล้วคั่นตรงกลางด้วยน้ำ แต่เชื่อมกันด้วยเส้นแกน คือ corridor ประตูเข้าบ้านก็ทำให้เล็ก แล้วเตี้ย เวลาคนเข้าบ้านมาจะได้ก้มหัวให้เราตลอด (หัวเราะ) แต่พอมุดประตูเล็กมาปุ๊บก็จะเจอสวนรกๆ”
“เราอยากให้คนรู้สึกเหมือนแกะเปลือกมันออกไปทีละชั้น เข้ามาเล็ก เล็กปุ๊บมาเจอขยายใหญ่ จะเรียกว่าลูกเล่นหรือเปล่าก็ไม่รู้ แค่รู้สึกว่าอยากให้พื้นที่มันเปลี่ยนความรู้สึกคนได้ งานสถาปัตย์ งานอินทีเรียร์มันเป็นสัดส่วนที่ห่อหุ้มคน ฉะนั้นจะเป็นเรื่องของความรู้สึกเป็นหลัก”
ก่อนจะจบเรื่องของโครงสร้าง เก่งพาเรากลับมาที่โฮมออฟฟิศที่นั่งอยู่ด้วยกันตอนนี้
“พอเป็นออฟฟิศ คนทำงานก็อยากได้พื้นที่สูงโปร่ง แต่มันมีปัญหาว่ามันสูงขี่กันหมดเลย เราก็กดมันลงไปในดิน ทีนี้เวลานั่งทำงานเราก็จะเห็นเส้นแนวนอนเป็นสวนทั้งหมดรอบตัว ในเชิงสถาปัตย์ภายนอก มันก็ไม่ไปบังตัวอาคารที่เราต้องการจะให้มันเด่น”
เมื่อจบการติดตั้งภายนอก เก่งเล่าต่อถึงการตกแต่งภายใน
“ทุกห้องจะต่างกันไปตามคาแร็กเตอร์ของแต่ละคน นิวก็เป็นของเค้า เราก็แบบของเรา ห้องพ่อแม่ก็ฉาบเรียบทาสีเรียบๆ ปูพื้นกระเบื้อง แต่ถูกครอบด้วยตัวอาคาร ส่วนตัวอาคารถูกครอบด้วยธรรมชาติ ให้ทุกห้องมีพื้นที่สีเขียวของตัวเอง เราก็จะชอบตอนอยู่บนเตียง ซ้ายก็สวน ขวาก็สวน ส่วนข้างหน้าก็มีของสะสมจุ๊กจิ๊ก เล็กๆ”
ห้องส่วนตัวเป็นพื้นที่ที่เราใช้เวลากับมันมากที่สุดในบ้าน การตกแต่งน่าจะสำคัญไม่น้อยไปกว่าการสร้างบ้าน เราถามเก่งว่าตอนแต่งบ้านเขาคำนึงถึงอะไรเป็นอย่างแรก
“functional มาก่อน ถ้าใช้ไม่ได้มันจะเป็นแค่โชว์รูม แล้วให้ความรู้สึกมันเปลี่ยนตอนเรา rotate ข้าวของ
เบื่อพรมอันนี้ว่ะ ใช้พรมเปอร์เซียดีกว่า ตัดกับเก้าอี้ขาวๆ มันก็ได้ หรือจริงๆ เรามีรูปเยอะ รูปเขียน รูปที่เพื่อน รุ่นน้อง รุ่นพี่ อาจารย์ทำให้ จริงๆ แล้วมันสลับรูปเขียนที่ผนังได้ตาม season เลยก็ได้นะ สมมติรูปนี้เหมาะกับหน้าฝน รูปนี้เหมาะกับหน้าหนาว รูปนี้เหมาะกับหน้าร้อน”
เรารู้สึกสนุกกับการนึกภาพตามในหัว เก่งก็ดูจะสนุกกับการเล่าไปด้วย
“จริงๆ บ้านมันควรจะสนุกไง บ้านหลังนี้มันเหมือนกับทำไม่เสร็จตลอดเวลา เพราะเดี๋ยวก็เปลี่ยน เดี๋ยวก็เติม มันก็ดีตรงที่มันไม่เหมือนบ้านสำเร็จ”
เมื่อรู้ถึงการสร้างและการตกแต่งคร่าวๆ ก็ถึงคราวของแรงบันดาลใจและสไตล์ ซึ่งถือเป็นเนื้อหาหลักของการพูดคุยในวันนี้
“ลองไปเปิดเพลง Dancing In The Moonlight ของ Toploader ดู ตอนแรกเห็นภาพบ้านเป็นแบบมิวสิกวิดีโออันนั้น เป็นปาร์ตี้ๆ เข้าห้องนั้น ขึ้นไปห้องนี้ สนุกดี หลาย element หลายฟังก์ชั่น แต่มันอยู่ในที่เดียวกัน”
แล้วทำไมต้องเป็นลอฟท์ เราสงสัย
“จริงๆ แค่ชอบในความที่วัสดุเป็นไม้ก็ไม้ไป ปูนก็ปูนไป โลหะก็โลหะ บางสเปซก็ทาสี ต้นไม้ก็ต้นไม้ ก็ปล่อยรก ของมันเป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้น ปล่อยมันไป เดี๋ยวมันโทรมมันก็ลอฟท์ (หัวเราะ) จริงๆ เราไม่ได้มองว่า ลอฟท์ต้องเป็นท่อ เปลือย ปูนขัดมัน คอนกรีต อะไรอย่างนี้นะ คือเราไม่ได้ไปยึดติดกับคำนี้ เพราะลอฟท์มันแล้วแต่คนจะแปล สำหรับเรามองว่ามันเป็นการเอาวัสดุก่อสร้างมาใช้แบบปรุงแต่งมันให้น้อยที่สุดมากกว่า ให้มันเป็นธรรมชาติของมัน
คำตอบอันเรียบง่ายยิ่งทำให้เราอยากรู้ว่า แล้วอะไรที่ทำให้ลอฟท์ของเขาแตกต่างจากลอฟท์ที่อื่น
“สเปซว่ะ” เก่งตอบอย่างไม่ต้องเสียเวลาคิดนาน
“ถ้าลองศึกษา ลอฟท์ส่วนใหญ่จะเป็นบ้าน กล่อง ข้างในเป็นไม้ เหล็ก ปูน ท่อ คอนดูต เชลฟ์โลหะ คือมันถูกบอกว่าทุกอย่างจะเป็น in the box กับสเปซที่มันเพลนๆ แต่ของเราไม่ใช่อย่างนั้น เรามองว่าลอฟท์แบบบ้านเรามันถูกครอบด้วยธรรมชาติ ซึ่งเราพยายามจะเน้นบ่อยๆ เราชอบความรู้สึกที่เข้ามาแล้วบ้านเป็นส่วนหนึ่งของต้นไม้พวกนี้มากกว่า หน้าร้อนก็ไม่ร้อนมาก หน้าหนาวมันก็สวย หน้าฝนมันก็ชื้น”
และด้วยความ “พยายามจะเน้นบ่อยๆ” นั้นเอง เราจึงถามต่อว่า เขาคิดว่าพื้นที่สีเขียวมันสำคัญขนาดไหนสำหรับบ้านหนึ่งหลัง
“จริงๆ คิดว่าสำคัญที่สุด ไม่ใช่แค่บ้านด้วย ต้องเป็นทั้งจังหวัด ทั้งประเทศ ผู้มีอำนาจบ้านเรามองพื้นที่เป็นเงิน ถ้ามองเป็นปริมาตรของความสุข จะรู้ว่ามันพอหรือไม่พอสำหรับใช้ชีวิต ซึ่งเขาอาจจะอยู่แต่ในห้องประชุม หรืออยู่ในที่ที่มันเป็นห้องแอร์จนลืม”
นอกจากจะเป็นคำตอบที่ไปไกลกว่าคำถามแล้ว ยังเป็นคำตอบที่ทำให้เรายิ้มแห้งและหัวเราะตามอย่างเห็นด้วย
แต่เพียงแค่สเปซและพื้นที่สีเขียวคงไม่อาจสร้างความโดดเด่นได้ แล้วอะไรอีกที่เป็นปัจจัยแห่งความแตกต่าง
“อย่าสวยแบบคนอื่น” เก่งตอบอย่างมั่นใจ
“เวลาทำบ้านให้ลูกค้าเราบอกเสมอว่า อย่าสวยแบบคนอื่น ไม่ต้องซีเรียสว่ามันจะต้องเป็นโมเดิร์นหรือเป็นอะไร ยุคนี้เขาชอบแบบนี้กันเราต้องแบบนี้ อันนั้นมันคือการตลาด ถ้าคุณทำตามสมัยนิยม วันหนึ่งมันจะถูกหมุน เปลี่ยน แล้วบ้านคุณจะเชย ทำไมไม่ทำสวยให้เป็นสวยของเรา หรือเป็น reference ให้คนอื่นล่ะ”
เราจึงลองสมมติเล่นๆ ว่าถ้าเราอยากมีบ้านสไตล์ลอฟท์สักหลังหนึ่ง เขาจะแนะนำเราอย่างไร
“อย่างแรกแนะนำให้หาเงิน” เก่งตอบทันที คำตอบที่ไม่คาดคิดเรียกเสียงหัวเราะจากทั้งวง
“ต่อไปก็ต้องทำการบ้านตัวเอง หาไวต์บอร์ดเลย ตั้งหัวข้อไว้ ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร จะอยู่กับมันอีกสามสิบสี่สิบปียังไง ทำยังไงให้มันเป็นเราที่สุด ไม่ใช่แบบ เบื่อว่ะ อยากเปลี่ยนไปเป็นแบบบ้านคนอื่น (หัวเราะ) ตั้งคำถามกับตัวเองเยอะๆ base จากความต้องการของเราเองให้ได้มากที่สุด บดให้มันเหลือแกนเน้นๆ หาตัวเองให้เจอ แล้วทำคาแร็กเตอร์ตัวเองให้เด่นขึ้นมา ถ้ามันเป็นคุณ ยังไงคุณก็ไม่เบื่อ
“แค่สนุกผมว่าพอแล้ว ไม่ต้องคิดไรเยอะ คุณต้องสนุกกับมันอยู่ตลอด เคยอยู่ที่ที่มันไม่สนุกแล้วอยากอยู่มั้ยล่ะ ก็แค่นั้น (หัวเราะ) แล้วก็ท้ายสุด เป็นตัวเองดีที่สุด สบายใจด้วย”
เก่งบอกเราทิ้งท้ายก่อนที่จะแยกกัน
________________________________________________________________________
The Series of Loft Places คอลัมน์ที่เราคัดสรรสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คาเฟ่ ออฟฟิศ ที่มีความโดดเด่นในสไตล์ลอฟท์ ทั้งการออกแบบและเรื่องราว เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการตกแต่งสไตล์ลอฟท์ โดยคุณก็สามารถทำเองได้ง่ายๆ กับ TOA Loft ปูนฉาบขัดมันสำเร็จรูป เป็นสูตรน้ำ ปลอดภัย ไร้กลิ่นฉุน พร้อมกับตัวเคลือบสูตรพิเศษในเซต ที่จะช่วยปกป้องผนังลอฟท์ให้มีความทนทานเสมือนการเคลือบแก้ว อีกทั้งยังมีคุณสมบัติเช็ดล้างง่าย และยังไม่อมฝุ่น ปลอดภัยต่อสุขภาพอีกด้วย