Love-hate Relationship ความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชัง ที่มีชื่อเรียกว่า ‘ครอบครัว’

‘ครอบครัวคงเป็นสิ่งเดียวที่เราเลือกไม่ได้’ 

ครอบครัว คือการประกอบสร้างขึ้นมาจากชิ้นส่วนทางความสัมพันธ์ทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ สะสมเติมแต่งจนแตกแขนงออกมาเป็นเครือข่ายที่ซ้อนทับกันอย่างเหนียวแน่นทางสายเลือด แต่ก็เปราะบางทางความสัมพันธ์ในเวลาเดียวกัน 

เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มีครอบครัวเป็นพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) สำหรับกายใจที่พร้อมให้กลับไปเอนอิงได้ยามเหนื่อยล้า ซึ่งต่างจากคำนิยามของคำว่าครอบครัว ที่สวยหรูเกินภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

แม้ครอบครัวจะเป็นคนที่รักและหวังดีกับเรามากที่สุด แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความจริงที่ว่า ในหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ครอบครัวก็กลับกลายเป็นคนที่ทำร้ายเรามากที่สุดเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์อันใด แต่บาดแผลที่ได้รับจากคนใกล้ตัวที่เรารักนั้นมักจะหายยาก ซ้ำยังฝังลึกอยู่ภายในจิตใจของเราเสมือนแผลเป็นที่รักษาเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหายได้

หากเป็นความสัมพันธ์รูปแบบอื่น เราอาจเลือกเดินออกมาอย่างไม่ลังเล แต่ไม่ใช่กับครอบครัวที่มีเรื่องราวของความรักความผูกพันเข้ามาพันเกี่ยว อีกทั้งยังเป็นคนที่รู้จักเราดีและรับรู้นิสัย (ที่ค่อนไปทางแย่) ของเรามากกว่าใครหน้าไหน ทำให้ต่อจะรู้สึกชังพวกเขาเหล่านั้นมากสักเท่าไหร่ ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะตัดขาดความสัมพันธ์

ไม่ต่างอะไรไปจากความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชัง (Love-hate Relationship) แต่เปลี่ยนจากคู่รักเป็นครอบครัว ความหวานขมของสมการนี้จึงยุ่งเหยิงแบบเต็มเม็ดเต็มเหนี่ยว จะหนีก็หนีไม่ได้ จะให้ไปต่อก็ไม่ไหว ในท้ายที่สุดสิ่งที่ทำได้คงเป็นการทำตัวหูทวนลม หายใจเข้าหายใจออกช้าๆ และพยายามใช้ชีวิตร่วมกันต่อไปแบบสงบสุขเท่าที่จะทำได้ ถึงจะยากไปบ้าง แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะนี่คือทางรอดเดียวของความสัมพันธ์ที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ 

กรงขังจากคำว่า ‘กตัญญู’ 

สังคมไทยส่วนใหญ่ถูกยึดโยงกับค่านิยม ‘ความกตัญญู’ ที่มองว่าลูกที่ดีจะต้องกตัญญูและทดแทนบุญคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงดูเรามาอย่างยากลำบาก (หรือไม่ลำบากบ้าง) หากไม่ตอบแทนก็เตรียมถูกตราหน้าจากสังคมได้เลยว่าเป็น ‘ลูกอกตัญญู’ แต่ความกตัญญูควรเป็นสิ่งที่ลูกทำให้พ่อแม่ด้วยความเต็มใจ เปรียบเหมือนกระจกสะท้อนกลับว่าเลี้ยงดูลูกมายังไง ก็จะได้รับสิ่งนั้นตอบกลับไป 

ขณะเดียวกันสำหรับพ่อแม่บางคนก็ไม่สมควรแก่การได้รับความกตัญญูจากลูก เพราะทำหน้าที่เป็นเพียง ‘ผู้ให้กำเนิด’ หาใช่ ‘ผู้ให้ความรัก’ แล้วเมื่อถึงคราที่ลูกเติบใหญ่จะมาเรียกร้องให้ได้รับในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยเรียนรู้ที่จะมอบให้ลูกได้อย่างไร จึงไม่แปลกที่เกิดประเด็นถกเถียงทางสังคมในช่วงที่ผ่านมากับประโยคที่ว่า ‘ลูกไม่ได้ขอมาเกิด ทำไมต้องทดแทนบุญคุณ’ ประโยคที่อาจทำให้พ่อแม่สะเทือนใจไม่น้อยเมื่อได้ฟัง แต่ก็เป็นเรื่องจริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ การเลี้ยงดูลูกจึงเป็น ‘หน้าที่’ ไม่ใช่ ‘บุญคุณ’ แบบที่ใช้เป็นข้ออ้างในการผูกมัดลูกเอาไว้

หลายครอบครัวเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ประเด็นเรื่องความกตัญญูถูกนำมาใช้เป็นหัวข้อหลักในการโจมตีซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะในยุคที่คนเจน Y และเจน Z ก้าวขารับช่วงต่อวาทกรรมนี้ แต่การเติบโตขึ้นมาในบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน จึงยิ่งเป็นตัวบ่มเพาะความไม่ลงรอยของช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) ด้วยความที่คนรุ่นพ่อแม่ถูกสอนให้เชื่อตามกันว่า ‘ลูกที่ดี = ลูกที่กตัญญู’ ในขณะที่คนรุ่นลูกได้รับแนวคิดปัจเจกนิยม (Individualism) ที่ต้องการความเป็นอิสระในชีวิต การถูกคาดหวังจากครอบครัว ไม่เพียงแค่ทำให้เกิดความกดดัน แต่เหมือนยิ่งพยายามเข้าหาเท่าไหร่ กลับยิ่งถูกผลักออกจากความสัมพันธ์เท่านั้น 

ดังนั้น หากจะเรียกว่ากรงขังจากคำว่า ‘กตัญญู’ คงไม่ผิดมากนัก เพราะทุกครั้งที่คำๆ นี้ถูกเอ่ยขึ้นมาท่ามกลางบทสนทนาของครอบครัว คงทำให้คนที่ได้ฟังรู้สึกเหมือนถูกบีบอัดจากภาระถาโถมอันใหญ่ยิ่ง เพราะไม่อาจหลีกหนีความจริงที่ว่า ความกตัญญูมักเป็นฉากกั้นอันสวยหรูที่หยิบยกมาบดบังเงื่อนไขทางการเงินและความรักที่ไม่มีวันจบสิ้น

ลูก ≠ โล่รางวัลของพ่อแม่

“…ทำไมต้องเป็นความภาคภูมิใจของแม่ตลอดเวลา ถึงจะมีจุดด่างพร้อย มีตำหนิบ้าง หนูขอเป็นแค่ลูกสาวแม่เฉยๆ ไม่ได้เหรอ ทำไมหนูต้องเป็นกระดาษห่อของขวัญให้ชีวิตแม่ด้วยล่ะ…”
แบซอกรยู – ตัวละครจากซีรีส์เรื่อง Love Next Door

บทสนทนาจากซีรีส์เรื่อง Love Next Door ที่อาจแทนใจชีวิตของใครหลายคน ชีวิตที่ต้องทำเพื่อความต้องการของครอบครัวตลอดเวลา จะเพื่อความฝันของครอบครัว เพื่อให้ได้มาซึ่งคำชื่นชม หรือเพื่อให้ความสำเร็จของเรากลายเป็นความสำเร็จของพ่อแม่ที่ใช้ในการโอ้อวดกับคนรอบตัวได้อย่างไม่อายใคร จนตอนท้ายที่สุดความอัดอั้นทั้งหมดกลับทำให้ความสุขของลูกพังทลายลง และอดไม่ได้ที่จะเกิดคำถามขึ้นมาในหัวว่า ‘หากไม่ประสบความสำเร็จ เราจะยังเป็นลูกที่พ่อแม่ยอมรับอยู่ไหม?’

ใช่ว่าเราจะไม่อยากทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ แต่ความต้องการของเรากับพ่อแม่อาจสวนทางกัน เราแค่อยากให้พ่อแม่ยินดีกับทุกเส้นทางที่เราเลือกเดิน ไม่ว่าจะเลือกแบบไหน ก็อยากให้พวกเขาเคารพการตัดสินใจของเรา และสิ่งหนึ่งที่อยากให้พ่อแม่ตระหนักไว้เสมอคือ ‘ลูกไม่ใช่สมบัติของพ่อแม่’ ที่ใช้ในการแต่งแต้มความสำเร็จของชีวิตตัวเอง ความสำเร็จที่ในบางคราตัวเองยังไปไม่ถึง ดังนั้นจึงไม่ควรผลักความคาดหวังเหล่านั้นให้ลูกแบกรับ 

รักลูกไม่เท่ากันมีจริงไหม

อีกหนึ่งประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในใจของครอบครัวที่มีพี่น้อง คือความรู้สึกว่าพ่อแม่รักพี่หรือน้องมากกว่าตัวเรา อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นประเด็นที่เซนซิทีฟสำหรับใจ ทั้งยังไม่สามารถวัดค่าหรือหาคำตอบได้อย่างชัดเจน แต่หากเมื่อใดที่ความรู้สึกนั้นมาเยือนซ้ำๆ จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงความน้อยอกน้อยใจ จนอาจนำไปสู่ความเคลือบแคลงทางความสัมพันธ์ของครอบครัวในระยะยาว

ในทางหนึ่ง อาจเป็นเพราะความคาดหวังด้านความรักของตัวเราที่มีต่อพ่อแม่นั้นมากเกินไป ทำให้รู้สึกว่าได้รับมาเท่าไหร่ก็ไม่เคยถูกเติมเต็ม แต่ในอีกทางก็เชื่อว่ามีหลายครอบครัวที่ส่งมอบความรักไปสู่ลูกแต่ละคนอย่างไม่เท่าเทียมกัน ในบางครอบครัว ลูกชายก็เปรียบดั่งสมบัติล้ำค่าของตระกูล บางครอบครัวก็เอาอกเอาใจลูกที่เรียนเก่งเป็นพิเศษ ตลอดจนการกระทำบางอย่างที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ แต่กลับเป็นตัวแปรบ่อนทำลายความรู้สึกของลูกไปช้าๆ เช่น ประโยคที่คนเป็นพี่ฟังจนเอียนอย่าง ‘เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง’ หรือชะตากรรมของลูกคนเล็กในหลายบ้านที่จะต้องใช้สิ่งของต่อจากพี่ แม้เราจะอยากตะโกนว่า ‘หนูก็ใช้ของใหม่เป็นเหมือนกันนะ’ ไม่นับรวมการโดนเปรียบเทียบในทุกจังหวะย่างก้าวของชีวิต ซึ่งต่อให้จะพิสูจน์ตัวเองสักแค่ไหนก็ไม่เคยดีพอในสายตาพ่อแม่ เพียงเพราะเราเป็น ‘ลูกชัง’ ไม่ใช่ ‘ลูกรัก’ ของบ้าน 

‘เป็นพี่น้องต้องรักกัน’ ประโยคเบสิกที่ผู้ใหญ่พร่ำสอน แต่หลายครั้ง การกระทำของผู้ใหญ่ในครอบครัวเองนั่นแหละ ที่ทำให้ประโยคนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ เพราะการที่ลูกจะรักกันได้นั้นต้องเกิดจากการที่พวกเขาได้รับความรักอย่างเท่าเทียมและไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนเกินในความสัมพันธ์นี้

ครอบครัวสมบูรณ์สำหรับใคร

การที่พ่อแม่ไม่ตัดสินใจอย่างชัดเจน และยอมอดทนด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ เพื่อหวังว่าสักวันครอบครัวจะดีขึ้นอีกครั้ง หรืออดทนด้วยเหตุผลนานับประการที่อ้างว่าทำเพื่อลูก ที่บางครั้งคนเป็นลูกก็ไม่สามารถเข้าใจมันได้ แต่พ่อแม่ลืมคิดไปหรือเปล่าว่า ลูกจะมีความสุขได้ยังไงถ้าหากพ่อแม่ไม่มีความสุข? อีกทั้งความสัมพันธ์ที่มีรอยร้าวก็ไม่ต่างอะไรไปจากแก้วแตกที่ต่อเท่าไหร่ก็ไม่มีวันต่อได้ติดเหมือนเดิม สุดท้ายคนที่เสียใจมากที่สุดก็คือ ตัวของลูก 

จากความหวังดีของพ่อแม่ที่คิดแทนลูกไปเองว่า ลูกต้องการครอบครัวที่สมบูรณ์ ความหวังดีนั้นกลับย้อนมาทำร้ายทุกคนในครอบครัวให้ต้องทุกข์ทนกับปัญหาเดิมซ้ำๆ แม้จะรู้ว่าทางออกของปัญหานี้คืออะไร แต่เราก็ไม่อาจเดินทางไปถึงจุดจบของเรื่องนี้ได้อย่างที่ใจต้องการ เพราะ ‘ครอบครัว’ ไม่ใช่แค่ความต้องการของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่ก็อย่างว่าถ้าหากนึกถึงใจกันและกันอย่างที่ปากพูดคงไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นตั้งแต่แรก

เพราะคำว่า ‘ครอบครัวสมบูรณ์’ อาจไม่ได้หมายถึงความสมบูรณ์ในแง่ของจำนวน แต่สมบูรณ์ทางความรู้สึก ซึ่งต่อให้จะมีจำนวนเท่าไหร่ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราสามารถเติมเต็มความรักและความเข้าใจให้แก่กันได้หรือเปล่า กลับกันในครอบครัวที่มีสมาชิกครบถ้วน แต่ความเชื่อมร้อยของคนในครอบครัวกลับถูกเจือจางลงไปแปรผันกับจำนวนที่มี แล้วแบบนี้ยังเป็นภาพของครอบครัวที่เราปรารถนาถึงอยู่อีกไหม

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . 

แม้ ‘ครอบครัว’ จะเป็นสิ่งเดียวที่เราเลือกไม่ได้ แต่สิ่งนี้ก็เป็นเหมือนความสัมพันธ์อันน่าฉงนที่ต่อให้อยากจะหันหลังให้สักกี่ครั้ง สุดท้ายก็วนกลับมาที่เดิมเสมอ คงเป็นเพราะสุดท้ายแล้วภายในใจลึกๆ ของเราทุกคนก็ไม่อาจปฏิเสธความผูกพันทางใจที่มีร่วมกันได้ 

หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะได้อาศัยอยู่ในบ้านที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ ได้อย่างเต็มปาก บาดแผลใดที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ก็ขอให้ค่อยๆ ถูกเยียวยาได้ด้วยความรักจากคนรอบข้าง และถึงแม้ว่าจะไม่เหลือใคร แต่ก็ยังมีตัวเราเองที่เป็นครอบครัวที่ดีที่สุดให้แก่ตัวเราได้เสมอ

AUTHOR