Wonderfruit Festival : ดินแดนจำลองที่อยากทดลองทำให้เป็นจริง

ปลอม

คำร่ำลือสั้นๆ ผ่านหูผู้มาใหม่อย่างผมก่อนเดินทางมายัง Wonderfruit เทศกาลดนตรี ศิลปะ และไลฟ์สไตล์ งานที่คนรอบข้างไปมาแล้วพร่ำบ่นผ่าน inbox ว่า เทศกาลนี้น่าอึดอัด เครื่องดื่มแพงเหมือนปล้น แถมคนยังมีความดัดจริตสูง

ผมมองดูสายข้อมือ 2 เส้น เส้นหนึ่งทำหน้าที่แทนบัตรสื่อมวลชน อีกเส้นทำหน้าที่เป็นกระเป๋าสตางค์เคลื่อนที่ ทิ้งเงินสดไว้ข้างหลัง ทิ้งสัมภาระทุกอย่างไว้บนรถ รวมถึงคำร่ำลือต่างๆ ก่อนกระโจนตัวเข้าไปในดินแดนชวนฝัน เฉลิมฉลองและมีความสุขไปกับซุ้มยาดองใต้กระโจมผ้าใบ กระโดดโลดเต้นกับดนตรีที่ปลุกให้ร่างกายเคลื่อนไหวอย่างที่ใจต้องการ

ปลอม คำร่ำลือสั้นๆ ถูกพิสูจน์ด้วยตัวผมเองแล้วว่า นั่นก็แค่คำร่ำลือ

เมื่อเมามายสนุกสุดเหวี่ยงอยู่หลายวันผมเริ่มเข้าใจว่าทำไมคนนอกและผู้สังเกตการณ์เพียงผิวเผิน จะมอง Wonderfruit ด้วยสายตาเคลือบแคลงใจ ตั้งคำถามกับความหวือหวาของผู้ร่วมงาน ราคาบัตรเข้างาน ค่าอาหารเครื่องดื่มที่ทรมานกระเป๋าสตางค์ และดีไซน์จัดจ้านใหญ่โตของงานศิลปะกันชุดใหญ่ ก่อนจะด่วนสรุปสิ่งที่เห็นว่าเป็นเพียงความฟุ่มเฟือย ปลอม เปลือก เลือกปิดกั้นตัวเองไปเสียก่อนจะได้สัมผัสแก่นแท้ที่ซ่อนอยู่

บรรทัดต่อจากนี้คือบทวิเคราะห์โมเดลการออกแบบน่าสนใจใน Wonderfruit ที่ผมอยากให้เกิดขึ้นจริงในเมืองหลวงฝันสลายอย่างกรุงเทพมหานคร จากมุมมองส่วนตัวในฐานะผู้ร่วมงานคนหนึ่งเท่านั้น

PEDESTRIAN CULTURE – ดินแดนของคนเดินเท้า

เรื่องแรกที่เห็นได้ชัดสุดตั้งแต่เข้ามาในเทศกาล นั่นก็คือการเป็นดินแดนที่มนุษย์ทุกคนต้องเดินเท้า

สำหรับใครที่นอนเต็นท์ในงานตลอด 4 วัน คุณจะได้ทดลองใช้ชีวิตใน Walkable City

ด้วยสเกลงานขนาด 200 ไร่ การจัดโซนดนตรีกระจายไปทั่วงาน ประติมากรรมขนาดยักษ์ เวทีดีไซน์สะดุดตา บวกกับการจัดคิวศิลปินขึ้นโชว์สลับน้ำหนักความน่าสนใจ ทำให้คนในงานจะไม่หยุดยืนหรือนั่งที่เวทีใดเวทีหนึ่ง เรียกว่าเข้าคุณสมบัติของการเป็นเมืองเดินได้ตามที่ เจฟฟ์ สเปก (Jeff Speck) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Walkable City ว่าไว้ นั่นก็คือ หนึ่ง มีประโยชน์ สอง ปลอดภัย สาม สะดวกสบาย และ สี่ ต้องน่าสนใจ

โดยเฉพาะโซน The Quarry เวที Sculpture ไม้ไผ่ขนาดใหญ่ยักษ์กลางป่าลับที่ไกลจากทางเข้างานประมาณ 15 – 20 นาทีก้าวเดิน เวทีนี้รวมแนวดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง deep house และ techno จากเหล่าดีเจและโชว์ live set โดยจะเริ่มความสนุกตั้งแต่ 5 ทุ่มถึงตี 5 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เวทีอื่นๆ ค่อยๆ ทยอยกันจบโชว์กันแล้ว เอื้อให้คนในงานค่อยๆ เดินเท้าเข้าไปรวมตัวกันในป่าเองโดยไม่มีใครบังคับ

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สำหรับผม งานครั้งนี้ได้ดึงเอาวัฒนธรรมการเดินซึ่งเป็นวิถีการดำเนินชีวิตมาตั้งแต่ยุคเก่าก่อนให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในพื้นที่ 200 ไร่ แต่กลับเดินได้สบายไม่เมื่อย ไม่งอแง

ถ้ากลับไปใช้ชีวิตในเมืองกรุง ผมคงถอดใจตั้งแต่เห็นทางเท้าคับแคบจากการแบ่งพื้นที่ให้ถนนเลนใหญ่โตเพื่อกองทัพรถยนต์ ตึกระฟ้าก็หน้าตาเย็นชาเกินกว่าจะหยุดให้ผมเดินเข้ามาพบ ท่ามกลางต้นไม้ที่ถูกตัดกิ่งจนใบโกร๋น เดินยังไม่ถึงครึ่งไร่ผมคงกระโดดขึ้นแท็กซี่เพื่อไปหงุดหงิดกับปัญหารถติดเป็นวงจรเดิมๆ ซ้ำวนไปมา

CARBON OFFSET LAND – ดินแดนที่เปลี่ยนคาร์บอนร้ายให้กลายเป็นต้นไม้

เรื่องที่สอง อาจไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนสังเกตเห็น แต่คนจัดตั้งใจสร้างระบบนี้ขึ้นมาเพื่อโลกตั้งแต่ปีแรก นั่นคือการทำ Carbon Offset ระบบคำนวณปริมาณคาร์บอน (carbon footprint) ที่คนมาร่วมงานจะผลิตตลอด 4 วัน แล้วทาง Wonderfruit จะปลูกต้นไม้ทดแทนเพื่อดูดซับปริมาณคาร์บอนอย่างพอดีกัน ณ Rimba Raya Biodiversity Reserve ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ใน Thor Heyerdahl Climate Park ประเทศเมียนมา

“ที่ไม่ปลูกในไทยไม่ใช่ว่าเราไม่ศึกษานะ แต่พื้นที่พวกนี้ส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาล และบ้านเรายังไม่มีหน่วยงานหรือกลไกควบคุมจริงจังว่าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นไม้ต้นหนึ่งจะดูดซับได้เป็นเท่าไหร่ เราปลูกไปก็ยังไม่รู้ว่าทดแทนได้แค่ไหน ซึ่งถ้ามีมันจะเป็นวิธีหารายได้ที่ดีของรัฐบาลได้เลย สิ่งที่อยากให้คนมางานคิดต่อไปคือ ถ้าเราทำสิ่งที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้วต้องเสียภาษีหรือค่าใช้จ่ายเพราะมัน เกมจะเปลี่ยนไปเลยนะ เราต้องคิดก่อนทำอะไรลงไปแน่นอน” พีท-ประณิธาน พรประภา ผู้บริหารบริษัท สแครทช์ เฟิร์สท์ จำกัด และผู้ก่อตั้งเทศกาลเคยบอกเราเมื่อครั้งจัดงานปีที่แล้วอย่างนั้น

ซึ่งก็คงดีไม่น้อยถ้าใครสักคนได้ลองเอาโมเดลนี้มาลองใช้กับกรุงเทพฯ อาจไม่จำเป็นต้องปลูกทดแทนคาร์บอนที่คนผลิตแบบในเทศกาลก็ได้ แต่อาจจะปลูกทดแทนคาร์บอน ทดแทนฝุ่นควันที่รถบนท้องถนนผลิตออกมา เพราะต้นไม้หนึ่งต้นสามารถดักจับอนุภาคมลพิษบางชนิดได้ เช่น ฝุ่น ควัน ไอพิษต่างๆ ได้ถึง 1.4 กิโลกรัม/ปี (อ้างอิงข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร) ผลิตออกซิเจนให้โลก 200,000 – 250,000 ลิตรต่อปี ซึ่งคนเราจริงๆ ต้องการ 130,000 ลิตร / คน / ปี เอามาทดลองจัดตั้งเป็นนโยบายเลยว่าคนนี้ ครอบครัวนี้ ขับรถกี่คัน ผลิตคาร์บอนออกมาปีละเท่าไหร่ จากนั้นครอบครัวนี้จะต้องปลูกต้นไม้ชดเชยคาร์บอนที่ผลิตไปในพื้นที่ที่รัฐบาลจัดเตรียมไว้โดยเฉพาะ และแน่นอนว่าจำนวนคนใช้รถผลิตคาร์บอนต่อเมืองมีมากอยู่แล้ว ก็ลองคูณไปสิ 100 ต้น คูณ 1.4 เท่ากับเรามีตัวช่วยดักจับฝุ่นควัน 140 กิโลกรัม/ปี แล้วก็มีตัวช่วยสร้างออกซิเจนออกมา 100 ต้น คูณ 200,000 เท่ากับ 20,000,000 ลิตรต่อปีเลยนะ

เยอะไหมล่ะ คิดดู คำนวณเล่นๆ

NON – PLASTIC LAND – ดินแดนนี้ไม่มีพลาสติก

เรื่องที่สาม เรื่องนี้ประทับใจมาก ที่ผ่านมานั้นเราป่าวประกาศโครมๆ ในเมืองบ่อยมากว่า พวกเราลดใช้พลาสติกกันเถอะ! พลาสติกย่อยยาก รู้ไหม!

รู้!

แต่ต่อให้รู้ ทุกวันนี้พวกเราก็ยังหิ้วขวดน้ำ แก้วน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก ติดไม้ติดมือมาครั้งละไม่ต่ำกว่า 3 ชิ้นหลังออกจากร้านสะดวกซื้ออยู่ดี สะสมเป็นความเคยชิน บ่อยเข้าเป็นเรื่องธรรมดาและกลายเป็นนิสัยคนเมือง

ตัดภาพมาที่เทศกาลดนตรีศิลปะที่ขึ้นชื่อเรื่องความหวือหวา หนาหูเรื่องความฟุ่มเฟือย กลับแทบไม่มีขยะพลาสติกให้เห็น คนในงานพร้อมใจกันไม่ใช้พลาสติกจริงๆ จากใจไม่ต้องป่าวประกาศให้เปลืองแรง เปลืองเวลา เพราะตัวระบบออกแบบมาให้คนร่วมงานคิดตัดสินใจเองได้

วันหนึ่งเราดื่มน้ำเยอะมาก โดยเฉพาะในเทศกาลที่ตั้งอยู่บนพื้นที่กึ่งทะเลทราย อากาศร้อนพร้อมแผดเผาทุกชีวิตให้กระหายน้ำดื่ม แต่ในงานกลับไม่อนุญาตให้ผู้ร่วมงานนำเครื่องดื่มเข้ามาในเทศกาล เท่านั้นไม่พอยังตั้งราคาเครื่องดื่มต่างๆ ไว้ค่อนข้างสูง

สิ่งที่ผมและคุณทำได้เพื่อประหยัดเงินและประทังความกระหายตลอดวันก็คือพกขวดน้ำหรือแก้วเปล่ามาเอง แล้วเอาไปเติมตามจุดบริการน้ำดื่ม หรือถ้าเบื่อน้ำเปล่า อยากดื่มอะไรชื่นใจอย่างน้ำมะพร้าว ที่นี่เขาก็มีแก้วเหล็กพกพาได้ไว้ให้เลือกซื้อ ซึ่งผมชอบมากเพราะว่ามันเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ดีต่อใจทั้งเจ้าของแบรนด์แก้วและทีมผู้จัดงาน ผู้ร่วมงาน และโลกเรา

สมมติจ่ายเงินค่าแก้วนำไป 500 บาทถ้วน ตลอดงานผมและคุณจะสามารถรีฟิลน้ำมะพร้าวเท่าไหร่ก็ได้ไม่อั้น ขออย่างเดียวคืออย่าขี้เกียจ อย่าติดนั่ง ต้องมีใจลุกเดินกลับมาเติมในจุดเติมน้ำมะพร้าว ทำให้คนมางานอย่างผมไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ ยัดเยียดให้ต้องรักโลก แต่กลายเป็นว่าผมได้ช่วยโลกไปแล้วซะอย่างนั้น

หรือกรณี worst case สุดก็คือทำแก้วหาย ขวดหาย หรือว่าไม่ได้พกมา ร้านที่ขายเครื่องดื่มในงานเขาจะเสิร์ฟเครื่องดื่มมาในแก้วน้ำที่ทำจากต้นอ้อย ย่อยสลายได้ไว ต่อให้ไม่เคยคิดจะรักโลก ตลอด 4 วันอันแสนสนุกคุณก็ลดนิสัยทำร้ายโลกเราไปโดยไม่รู้ตัว

เล็กๆ น้อยๆ

อีกเรื่องที่รักมากคือ ถังขยะที่ไม่เหมือนถังขยะ

แม้เทศกาลนี้จะเป็นเทศกาลที่ผลิตขยะพลาสติกน้อยมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่ผลิตขยะเลย ดังนั้นผู้จัดจึงเตรียมถังขยะไว้แทบทุกจุด เรียกว่าเดินๆ ไปก็เจอ แล้วรู้สึกอยากวิ่งเข้าไปดูใกล้ๆ เพราะเขาออกแบบถังขยะมาในไซส์ใหญ่สะใจชนิดที่ไม่เคยเห็นในกรุงเทพฯ เลย ตัวถังดีไซน์จากเวทีปีก่อนๆ ที่ไม่ได้ใช้แล้วในปีนี้ เช่น เวทีที่ทำจากไม้ไผ่ ก็นำมาตกแต่งตัวถังให้กลายเป็นสัตว์ประหลาดน่ารัก

ถ้าถังขยะในกรุงเทพฯ หาง่าย ดีไซน์แปลก และใหญ่สะใจแบบนี้ เมืองเราจะสะอาดสะอ้านกว่านี้ไหมนะ ครุ่นคิด…

RICH MAN SOCIETY – ดินแดนนี้มีแต่คนรวย

คนรวยเท่านั้นที่มีตังค์พอจะซื้อบัตรมางานนี้

ฟังดูน่าหมั่นไส้ แต่มันคือเรื่องจริง ผมคิดว่าเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่คนรวยมางานนี้ เพราะคนกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่มีต้นทุนทางสังคมสูง และปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจตัดสินใจในองค์กรต่างๆ

แต่! (ขีดเส้นใต้ตัวหนาๆ) ผมไม่ได้ต้องการบอกว่าคนรวยเท่านั้นที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เราทุกคนเคยเห็นคนตัวเล็กๆ ที่เปลี่ยนโลกมาแล้ว เพียงแค่พวกเขาต้องทุ่มเทพลังกาย ใจ เวลา อย่างหนักและมากมายเพื่อก้าวสู่จุดที่ทำให้โลกดีขึ้น คนบางกลุ่มยิ่งต้องการการเปลี่ยนแปลงเพราะพวกเขาได้รับผลกระทบทางสังคมรุนแรงและก่อนใครเพื่อน แต่ก่อนจะถึงขั้นตอนเดินหน้าเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ท้องของตัวเองก็ต้องอิ่มก่อน ภาระการงานดูแลตัวเองและครอบครัวก็อาจรัดรึงเกินจะมีเวลามาทำสิ่งอื่นๆ ได้

แม้แต่ชนชั้นกลางที่เปี่ยมไปด้วยความตั้งใจในการเปลี่ยนแปลงสังคม บ้างลุกขึ้นมาเปลี่ยนได้ บ้างล้มหายไประหว่างทาง ไม่ใช่ว่าเขายอมแพ้อ่อนแอ แต่เราต้องยอมรับว่าต้นทุนทางสังคมที่มีไม่เพียงพอจะเปลี่ยนโลก อำนาจที่มีก็ครึ่งๆ กลางๆ

ด้วยความที่ผู้จัดไม่บีบบังคับ ไม่ป่าวประกาศให้ผู้ร่วมงานมารักโลก แต่เน้นการลงมือทำตามที่ผมได้เล่าไว้ข้างต้น ส่งผลให้คนมีเงินที่อาจไม่เคยสนเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึมซับแนวคิดการรักโลกในรูปแบบสร้างสรรค์ สนุกกับมัน อินกับมันไปโดยไม่รู้ตัว ผ่านตัวเทศกาลที่ฉาบเคลือบด้วยความสนุกหวือหวา

สาเหตุที่ผมบอกว่างานนี้เหมาะกับคนมีฐานะคือ รูปแบบงานที่สุดเหวี่ยงจัดเต็มชนิดที่กลับไปโลกแห่งความจริงก็ทำไม่ได้ สะท้อนให้เห็นว่าแพลตฟอร์มของงานนี้เป็นธุรกิจที่ win – win ทั้งผู้จัด และคนที่มาร่วมงาน

ทุกคนรู้กันดีว่าฐานะการเงินที่ดี ชื่อเสียงในวงการ ตำแหน่งใหญ่โตของคนกลุ่มนี้แลกมาด้วยความคาดหวังจากสังคมกับเวลาส่วนตัวที่หดหาย ดังนั้นเงินกว่าครึ่งหมื่นที่เสียไปต้องไม่ใช่แค่เพียงซื้อความสนุก แต่คือการซื้อพื้นที่ ซื้อประสบการณ์โลกในฝันที่พวกเขาไม่สามารถทำได้เลยในชีวิตจริง ที่นี่ผู้ร่วมงานทิ้งความเครียดไว้ข้างหลัง โยนหน้ากากที่สวมใส่ในชีวิตประจำวันออกไป แล้วเป็นเขา หรือแปลงร่างเป็นใครก็ได้ที่อยากเป็นในเวลา 4 วัน

ผมไม่รู้คุณจดจำเทศกาลนี้แบบไหน

แต่ Wonderfruit ในความทรงจำของผม ไม่ใช่แค่เทศกาลเฉลิมฉลองความสนุก นี่คือดินแดนในฝัน คือการมาถึงของโลกจำลองที่สร้างจากแนวคิดน่าสนใจ

แม้ตัวเทศกาลอาจไม่ได้ยั่งยืนถาวรอะไร อาจจะอยู่แล้วก็จากไปเหมือนเทศกาลอื่นๆ แต่การเกิดขึ้นของเทศกาลนี้ได้เปิดกะลาครอบให้ผมและใครบางคน มองเห็นความเป็นไปได้หลายอย่างของอนาคต ที่อยากให้มหานครฝันสลายอย่างกรุงเทพฯ ลองนำไปปรับใช้ดูสักครั้ง

ภาพ ณัทชยารินี จันทร์ฉาย, กชกร มุสิผล, wonderfruit.co

AUTHOR