การขยายตัวของเมืองในศตวรรษที่ 21 เมื่อรัฐกับคนมองคำว่า ‘พัฒนา’ ไม่เหมือนกัน

ความท้าทายหนึ่งของการพัฒนาเมืองในศตวรรษที่ 21 คือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่อาศัยในเมืองอย่างรวดเร็ว และทำให้หลายเมืองขยายออกไปอย่างยากที่จะควบคุม ไม่ใช่ทุกเมืองที่มีแผนพัฒนารองรับหรือสาธารณูปโภคเพียงพอกับจำนวนประชากรที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น แถมสถานการณ์ในหลายๆ เมืองยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำที่กว้างมากขึ้นเรื่อยๆ สหประชาชาติคาดการณ์ว่า ในปี 2100 ประชากรโลกร้อยละ 80 – 90 จะอาศัยอยู่ในเมือง

นอกจากการขยายของเมืองแล้ว งานวิจัยของ Daniel Hoornweg และ Kevin Pope นักประชากรศาสตร์คาดการณ์ให้เห็นถึงทิศทางการขยายของเมืองทั่วโลกว่า เมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 เมืองที่มีประชากรหนาแน่นส่วนใหญ่จะอยู่ในทวีปเอเชียและแอฟริกา โดยจะมีเพียง 14 เมืองจาก 101 เมืองเท่านั้นที่อยู่ในยุโรปและอเมริกา

เมื่อประชากรส่วนใหญ่ถูกคาดการณ์ว่าจะอยู่ในเมืองมากขึ้น ทิศทางการพัฒนาและจัดการของแต่ละเมืองจึงสำคัญต่ออนาคตของประชากรโลก

การเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็วในหลายเมืองของแอฟริกา

ที่ผ่านมา หลายเมืองในทวีปแอฟริกามีจำนวนประชากรพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าในปี 2010 10 อันดับเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในโลกจะยังไม่มีเมืองจากทวีปแอฟริกา แต่งานวิจัยของ Hoornweg และ Pope คาดการณ์ว่า แอฟริกาจะกลายเป็นภาคพื้นทวีปที่มีเมืองที่มีประชากรหนาแน่นมากกว่าทวีปอื่น

ลากอส (Lagos) เมืองท่าสำคัญของประเทศไนจีเรียคือตัวอย่างที่ชัดเจน ในปี 1970 ลากอสมีประชากรเพียง 1.4 ล้านคน และมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็นราว 21 ล้านคนในปี 2016 ทำให้ลากอสขยับขึ้นมาเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกาและเป็นเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน

ลากอสเป็นเมืองท่าที่รายล้อมด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ในขณะที่มีเศรษฐีจำนวนมากอาศัยอยู่ในเมือง 66 เปอร์เซ็นต์ของประชากรยังอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด ไม่มีน้ำสะอาดและไฟฟ้าใช้ อีกทั้งไม่มีการกำจัดขยะที่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งงานวิจัยของ Hoornweg และ Pope คาดการณ์ไว้ว่า ลากอสอาจจะกลายเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในโลก คือ 85 ถึง 100 ล้านคนในปี 2100

ขณะที่ กินซาชา (Kinsasha) เมืองหลวงของคองโก คาร์ทูม (Khartoum) เมืองหลวงของซูดาน และ นีอาเม (Niamey) เมืองหลวงของไนเจอร์ คืออีก 3 เมืองในแอฟริกาที่ถูกคาดการณ์ว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนขึ้นมาเป็นเมืองที่มีประชากรอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน

อินเดีย ประเทศแห่งเมกะซิตี้

ภายในอินเดียประเทศเดียวมีเมืองที่มีประชากรมากกว่า 7 ล้านคนถึง 4 เมือง คือมุมไบ (Mumbai) เดลี (Delhi) กัลกาตา (Kolkata) และบังกาลอร์ (Bangalore) อินเดียถูกคาดการณ์ว่าจะมีประชากรเกือบ 600 ล้านคนอาศัยอยู่ในเมืองในอีก 30 ปีข้างหน้า ที่สำคัญคืออินเดียไม่ได้กำลังเผชิญกับการขยายตัวของเมืองใหญ่เท่านั้น แต่จะยังมีเมืองเล็กๆ ขยายเพิ่มขึ้นอีกรวดเร็วในอนาคต

ในปี 2011 ประชากร 377 ล้านคน (31.4 เปอร์เซ็นต์ของประชากร) อาศัยอยู่ใน 8,000 เมืองทั่วอินเดีย โดยมีเพียงแค่ 2,000 เมืองที่มีแผนพัฒนาเมือง และหลายเมืองเพิ่งมีประชากรรุ่นแรกๆ เข้าไปตั้งรกรากโดยระบบสาธารณูปโภคยังไม่พร้อม

ขณะที่นโยบายพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city) ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ที่ตั้งเป้าให้ 100 เมืองในอินเดียเป็นเมือง ‘ระดับโลก’ ภายในปี 2020 เพื่อดึงดูดนักลงทุนและเพิ่ม GDP ของประเทศ ทั้งการใช้เทคโนโลยีและทำให้ทัศนียภาพของเมืองปราศจากชุมชนแออัด กำลังเผชิญปัญหาที่คนจนจำนวนมากต้องออกจากพื้นที่ และที่อยู่อาศัยถูกทำลาย โดยเฉลี่ยแล้วในทุกๆ หนึ่งชั่วโมงมีบ้าน 6 หลังถูกทำลาย และ 60 คนต้องออกจากพื้นที่ ซึ่งประชาชนหลายคนเรียกร้องว่า พวกเขาไม่ได้ถูกแจ้งล่วงหน้าในเวลาที่เพียงพอ หรือรัฐไม่ได้เสนอที่อยู่ใหม่ที่เหมาะสมพอสำหรับพวกเขา นอกจากนี้หลักฐานการถือครองที่ดินที่ไม่ชัดเจนนำมาสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างรัฐกับประชาชน

รัฐบาลอินเดียมีเมืองมุมไบ เดลี กัลกาตา ที่จะมีประชากรหนาแน่นอันดับต้นๆ ของโลกที่ต้องจัดการ แต่ปัจจุบันยังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ความหมายของการพัฒนาเมืองของรัฐบาลกับประชาชนส่วนใหญ่ยังสวนทางกัน

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับการขยายตัวของเมืองออกไปเรื่อยๆ

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือภูมิภาคที่ครั้งหนึ่งถูกมองว่าประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาเมื่อเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ เมื่อเทียบกับภูมิภาคกำลังพัฒนาอื่นๆ ของโลก แต่การพัฒนาที่มุ่งเน้นการสร้างเมือง และเพิ่ม GDP ของประเทศเพียงอย่างเดียว จนโอกาสกระจุกอยู่เพียงแค่เมืองใหญ่ไม่กี่เมือง และเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจนระหว่างเมืองและชนบท รวมถึงหลายประเทศขาดนโยบายรองรับการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดทำให้ทั้งนักวิชาการและนักปฏิบัติการเริ่มตั้งคำถามถึงความหมายของการพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การขยายตัวของเมืองใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีลักษณะที่ตัวเมืองขยายไปยังพื้นที่รอบนอกออกไปเรื่อยๆ (extended metropolitan regions) แต่การตอบสนองต่อการขยายตัวของเมืองของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน

กัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซียพยายามกระจายความเจริญ โดยให้มีเมืองเล็กๆ รายล้อมใจกลางเมือง ช่วยลดการกระจุกตัวของเมือง และควบคุมการขยายตัวของเมืองได้ดีขึ้น ในขณะที่มะนิลาของฟิลิปปินส์ จาการ์ตาของอินโดนีเซีย และกรุงเทพมหานครคือเมืองที่มีความหนาแน่น และลักษณะการขยายของเมืองคือขยายไปยังพื้นที่รอบนอกที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดปัญหาการจราจร สิ่งแวดล้อม และการกำจัดขยะตามมา

มะนิลาคืออีกเมืองที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในโลกถึง 18,000 คนต่อตารางเมตร ซึ่งมากกว่านิวยอร์กถึง 2 เท่า และ 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากรอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด จนเราพบเห็นคนเข้าไปอาศัยในสุสาน ล่าสุด รัฐบาลฟิลิปปินส์มีแผนจะสร้างพื้นที่เมืองใหม่นอกกรุงมะนิลา เพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและลดความหนาแน่นของมะนิลา อย่างเช่น โครงการเมือง New Clark City ที่อยู่ทางเหนือของมะนิลาไป 108 กิโลเมตร แต่ยังคงเผชิญกับความท้าทายที่จะดึงดูดนักลงทุนให้ย้ายไปลงทุนนอกใจกลางมะนิลา

ขณะที่ปัญหาของจาการ์ตาไม่ใช่เพียงแค่จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง แต่คือการบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายของประชากรในแต่ละวัน เพราะทุกวันมีประชากรกว่า 3 ล้านคนที่เดินทางจากรอบนอกเข้ามาทำงานในจาการ์ตา ซึ่งมีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เดินทางโดยขนส่งสาธารณะ โดยชาวจาการ์ตาเสียค่าเดินทางประมาณ 15 – 35 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ เทียบกับชาวลอนดอนและสิงคโปร์ที่เสียค่าเดินทางเพียง 5 – 8 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ นอกจากนี้ประชากรกว่าครึ่งในจาการ์ตายังต้องพึ่งน้ำบาดาล ทำให้เมืองเผชิญกับปัญหาการทรุดตัว 3 – 20 เซนติเมตรต่อปี

สิ่งที่หลายเมืองกำลังเผชิญตรงกันก็คือ ความหมายของคำว่า ‘พัฒนา’ ของรัฐ ชุมชน หรือประชาชนหลายครั้งกลับไม่ตรงกัน การพัฒนาไปสู่ความเจริญ ความเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือความสวยงามของเมืองอย่างฉาบฉวยนั้นอาจทำให้หลายคนถูกทิ้งอยู่ข้างหลังก็เป็นได้

อ้างอิง Population Prediction for the World’s Largest Cities in the 21st Century (2016): Daniel Hoornweg and Kevin Pope, Emerging World Cities in Pacific Asia (1996): Scott Macleod and T.G. McGee, World Population Prospect (2017): United Nations, worldpopulationreview.com, reuters.com, straitstimes.com, theguardian.com

ภาพ Shutterstock

AUTHOR