สถาปัตยกรรมเป็นองค์ประกอบหนึ่งในเมืองที่ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยเป็นอย่างมาก แถมยังเป็นสื่อที่สะท้อนความคิด นวัตกรรม รวมถึงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของสังคมนั้นอีกด้วย แต่ด้วยผลพวงจากการแข่งขันด้านอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้นในยุคนี้ จึงทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมต้องอัพเกรดหน้าตาให้ล้ำสมัย ถูกตาต้องใจผู้บริโภค แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองหรือสร้างความสุข รวมถึงมอบคุณภาพชีวิตที่ดีแก่คนเมืองได้ดีเท่าที่ควรนัก
ย่าน Ørestad ในโคเปนเฮเกน ย่านแห่งสุดยอดสถาปัตยกรรมงานรางวัลระดับโลก เป็นเมืองหนึ่งที่ต้องเผชิญกับความล้มเหลวจนคนในเมืองหันหลังหนี เพราะหน่วยวัดคุณภาพของเมืองนี้คือความรู้สึกของผู้อาศัย มากกว่าแค่ความงามทางกายภาพ
Two plots in Ørestad, designed by BIG. Image by ArchDaily
Ørestad เมืองแห่งสถาปัตยกรรมงานรางวัล
Ørestad คือย่านเมืองใหม่ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับการขยายตัวของโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก แรกเริ่มคาดว่าจะดึงดูดนักเรียนนักศึกษาได้ถึง 20,000 คน คนทำงานสัก 80,000 คน แต่มาจนถึงวันนี้ยังไม่เฉียดถึงครึ่งของเป้าที่ตั้งไว้เลย
โครงสร้างผังแม่บทของ Ørestad แบ่งเป็นสี่ส่วนหลัก โดยแต่ละส่วนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ได้แก่ พื้นที่ส่วนเหนือ (Ørestad North) ตัวเมือง (Ørestad City) พื้นที่ธรรมชาติ (The nature reserve Amager Fælled) และพื้นที่ส่วนใต้ (Ørestad South) นอกจากนั้นยังมีทะเลสาบ คูคลอง พื้นที่เก็บน้ำแทรกอยู่เป็นระยะ แต่ละส่วนเชื่อมต่อกันด้วยเมโทรที่เปรียบเสมือนเป็นกระดูกสันหลังของย่านและเชื่อมต่อเข้าตัวเมืองโคเปนเฮเกน
ในบรรดาสี่ส่วนนี้ มีพื้นที่ส่วนเหนือที่ได้รับการพัฒนาอย่างมีชีวิตชีวามากที่สุด เพราะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยต่างๆ หอพักนักศึกษาและที่อยู่อาศัย รองมาคือพื้นที่ตัวเมืองที่เป็นย่านธุรกิจการค้า ที่ตั้งของอาคารสำนักงาน ศูนย์ประชุม โรงแรม และย่านพักอาศัยหนาแน่นสูง ส่วนพื้นที่ทางใต้ที่ค่อนข้างเงียบเหงาส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์ สำนักงาน และอาคารพักอาศัยหนาแน่นปานกลาง-สูง ร้านค้า คาเฟ่ ห้างสรรพสินค้า และสวนสาธารณะขนาดใหญ่
The Finger Plan for Greater Copenhagen
เกาะแห่งกล่อง
กลิ่นอายความพังของชีวิตคนเมืองนี้ มาจากการที่โคเปนเฮเกนมีผังแม่บทที่ชื่อว่า “Finger Plan” ซึ่งเป็นการขยายตัวเมืองออกไปยังชนบทด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้คนชนชั้นกลางถึงสูง เริ่มเห็นแววเมืองใหม่ที่อยู่สบาย จึงเริ่มย้ายออกไปจับจองตั้งถิ่นฐาน หนีความเสื่อมโทรมและแออัดของตัวเมืองชั้นใน ส่วนทางทิศตะวันออกเขตท่าเรือก็ได้เริ่มพัฒนาเมืองเพื่อดึงดูดนักลงทุนเช่นกัน โดยมีการสร้างพื้นที่สาธารณะต่างๆ และสร้างแม่เหล็กของเมือง เช่น โรงละครเวที โอเปร่าเฮาส์ สถาบันและโรงเรียนศิลปะ เป็นต้น
การมี Finger Plan เป็นต้นแบบทำให้ย่าน Ørestad รู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่่ย่านต้องเริ่มพัฒนาเช่นกัน โดยในปี 2004 เมืองได้เปิดประกวดแบบอาคารต่างๆ ภายใต้แนวคิด ‘Artistic Freedom’ ซึ่งต่อยอดไอเดียมาตั้งแต่ปี 1994 ที่ต้องการให้งานศิลปะสอดแทรกเข้าไปในงานสถาปัตยกรรม (Architecture Form) ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายของการประกวดแบบนี้ได้รับอิทธิพลมาจากงานสถาปัตยกรรมมาสเตอร์พีชที่มีอยู่รอบเมืองโคเปนเฮเกน Ørestad จึงอยากมีอาคารที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดคนเพื่อสู้กับย่านอื่นบ้าง ซึ่งแม่เหล็กสำคัญของเมืองนี้ได้แก่ Concert Hall of Jean Nouvel
ตลอดปีนั้น สถาปนิกชาวเดนมาร์กอย่าง Bjarke Ingels Group (BIG) และสถาปนิกนานาชาติต่างเข้ามาสู้กันในสังเวียนเกมสร้างตึกแหวกแปลกแนวอย่างไม่มีใครยอมใคร ตัวอย่างเช่น IT University of Copenhagen, Bikuben Hall of Residence, Sejlhuset, Metropolen, 8TALLET และอีกมากมาย
Public space in Ørestad. Image by Wikimedia – Ørestaden_Amager_wikimedia
Public space along the Metro in Ørestad by Nawarat Yangsomran
ชีวิตเมืองสูญหาย – มิติมนุษย์ที่ถูกกละเลย
การสร้างเมือง Ørestad นั้นเริ่มจากการมองโลกในแง่ดี พร้อมกับความทะเยอทะยาน โครงการได้นำเสนอภาพของการพัฒนาที่น่าตื่นตาตื่นใจ พร้อมสร้างสรรค์เมืองที่มีชีวิตชีวา แต่ตัดภาพมาที่ความเป็นจริง การเกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมจากฝีมือสถาปนิกระดับโลก ที่ต่างคนต่างออกแบบไปคนละทิศละทาง ทำให้ผลงานดูชิงดีชิงเด่น ไม่แยแสซึ่งกันและกันจนภาพรวมของเมืองดูแปลกแยกไปเสียหมด
สถาปัตยกรรมหน้าตาแปลก เก๋ ล้ำสมัยและใหญ่โตได้คุกคามความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยโดยไม่ได้ตั้งใจ พื้นที่รอยต่อระหว่างอาคารและทางเท้าเล็กจิ๋วกลายเป็นแค่พื้นที่ซอกตึก ดูเหมือนเป็นเพียงเศษเหลือจากการออกแบบอาคาร
นอกจากความพยายามในการดึงดูดผู้คนด้วยตึกหน้าตาดีแล้ว อีกสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดพลาดของการวางผังเมืองนี้เป็นผลมาจากการที่เมือง Ørestad ต้องขับเคลื่อนด้วยกลไกทางเศรษฐกิจเป็นหลักและเร่งสร้างผลกำไร เพื่อล้างหนี้เสียที่ไปลงทุนไว้กับโครงการพัฒนาระบบขนส่งเมโทร
นโยบายของเมโทรมีเป้าหมายคือสร้างกำไรจากสถานที่ก่อสร้างตามแนวรถไฟใต้ดินสายใหม่ และเชื่อมการเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองโคเปนเฮเกน แต่ความผิดพลาดในการวางแผนระบบขนส่งนี้ก็คือการสร้าง ‘ระบบปิด’ ทำให้เมโทรกลายเป็นหัวใจหลักสำหรับการเดินทาง หากไม่มีเมโทรผู้คนก็จะเข้าไม่ถึงเมืองนี้
Ørestad ได้ทุ่มเงินจำนวนมากไปกับการก่อสร้างเมโทร แต่ผลประกอบการกลับไม่เป็นตามที่ตั้งเป้าไว้ทำให้เกิดวิกฤตขาดทุนซึ่งส่งผลให้บริษัท Ørestad Development Corporation ผู้รับงานบริหารเมืองต้องตัดสินใจยกที่ดินให้บริษัทสัญชาตินอร์เวย์ชื่อ Steen & Strøm สร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า Field’s เพื่อล้างหนี้ก่อนใหญ่ เป็นการพัฒนาไปคนละทิศละทางกับแนวคิดการวางผังเมืองที่ต้องการสร้างชีวิตในเมืองใหม่ให้มีชีวิตชีวาอย่างมาก
เป้าหมายหลักของห้างสรรพสินค้า Field’s คือมุ่งเน้นแต่ผลิตบริการเพื่อหากำไรมากเกินไป ทำให้บริบทโดยรอบห้างสรรพสินค้า Field’s ถูกออกแบบเพื่อบังคับให้คนพุ่งเข้าสู่ด้านในของห้างสรรพสินค้าโดยเร็วที่สุด
การวิจัยเรื่อง Kay Fiskers Square (จัตุรัสกลางใหม่ของย่าน Ørestad) โดยญาณ เกล (Jan Gehl) เปิดเผยว่า แม้จะมีผู้เดินเท้า 7,000 รายต่อวัน แต่พื้นที่ก็ยังคงว่างเปล่าอยู่ทุกวัน จำนวนคนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.5 คนต่อตารางเมตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเร่งรีบเปลี่ยนผ่านจากรถไฟใต้ดินไปยังห้างสรรพสินค้า Field’s (เมื่อเปรียบเทียบกับ Aker Brygge Square ในเมืองออสโลซึ่งมีคนเดินเท้า 5,000 คนต่อวัน แต่มีจำนวน 212 คนต่อตารางเมตร)
การวิจัยสะท้อนให้เห็นว่า การสร้างห้างสรรพสินค้าโดยไม่สนใจบริบทโดยรอบทำให้สูญเสียคุณภาพชีวิตของเมืองอย่างแท้จริง เพราะทางเท้าถือเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนเมืองได้มีปฏิสัมพันธ์กันในชีวิตประจำวัน เมื่อทางเดินมีชีวิตชีวา คนเมืองก็ย่อมอยากออกมาใช้ชีวิตและเกิดการบริโภคที่มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งเศรษฐกิจและชีวิตคนเมืองไปพร้อมๆ กัน
นับเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่จากความทะเยอทะยานของทีมบริหารเมือง (Ørestad Development Corporation) เห็นได้ชัดว่าการพัฒนาครั้งนี้เกิดจากความเร่งรีบและเน้นผลกำไรในระยะสั้น ขาดการวางผังเมืองที่ดีและละเลยมิติมนุษย์ การพัฒนารูปแบบบริหารจากบนลงล่างโดยไม่มีส่วนร่วมของประชาชนจึงพิสูจน์แล้วว่ามีส่วนสร้างความล้มเหลว ขาดทุน และได้กำไรน้อยมาก ส่งผลเสียต่อทั้งนักพัฒนาภาครัฐและเอกชน จากสถิติในปี 2008 โครงการอพาร์ทเมนท์และโครงการสำนักงานขายได้เพียง 53 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
PLUG N PLAY Park by Nawarat Yangsomran
ล้มแล้วลุก
ถึงเมืองจะได้ล้มเหลวไปแล้ว แต่เมืองนี้ก็ยังมีสิ่งที่น่าชื่นชม ทางเมืองได้ยอมรับและพยายามปรับปรุงเมืองเป็นเวอร์ชั่น Ørestad 2.0 โดยใช้ทีมวางผังเมืองจากโคเปนเฮเกน Bjelke + Cermak + Veile Architectureความงามทางกายภาพของสถาปัตยกรรมเป็นเพียงองค์ประกอบพื้นฐานอย่างหนึ่งของเมืองที่จะดึงดูดให้คนมาอาศัย แต่หัวใจของเมืองที่ยั่งยืนคือทำอย่างไรเมืองจะมีคุณภาพ สร้างความสุขและความมีชีวิตชีวา เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สร้างงานให้แก่ผู้คนในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นแก่นหลักของการออกแบบเมืองที่จะยั่งยืนในระยะยาว การบูรณะเมืองครั้งนี้ได้เริ่มนำองค์ประกอบอื่นๆ และแนวคิดทางจิตวิทยามาร่วมด้วย ที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าผลลัพธ์จะออกมาแบบไหน
ตัวอย่างแนวคิดที่นำมาใช้ใน Ørestad 2.0 ได้แก่
- Mixed-Use Development – เพิ่มมิติของความหลากหลายในกิจกรรม เพื่อสร้างทางเลือกในการใช้ชีวิตประจำวันให้มากขึ้น
- Human Scale – ลดทอนขนาดสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างให้เข้ากับขนาดการใช้งานของคน
- Visual Experince – สร้างประสบการณ์ที่ดีในการมองเห็นของคนเวลาทำกิจกรรม
- Meeting Platform – สร้างโอกาสการพบปะกันในพื้นที่สาธารณะ เพื่อลดช่องว่างและเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในชุมชน
- Co-Create – ออกแบบร่วมกับคนในพื้นที่ เพื่อให้คนรู้สึกมีส่วนรวมและผูกพันกับพื้นที่ จะสร้างความรู้สึกรับผิดชอบ ดูแล และหวงแหนพื้นที่ที่อยู่อาศัยเหมือนดั่งบ้านของพวกเขาจริงๆ
- Connection – สร้างความเชื่อมต่อระหว่างรอยแยกที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างรถเมโทร โดยเพิ่มกิจกรรมในพื้นที่ว่างข้างใต้ของเมโทรให้มากขึ้น
- Place Identity – ค้นหาเอกลักษณ์ในพื้นที่ เช่น พื้นที่ธรรมชาติเดิม นำมาสร้างให้เกิดเป็น Natural Center ก็สามารถเป็นจุดแข็งของพื้นที่ได้
การออกแบบเมืองเหมือนทำการทดลอง ไม่มีสูตรสำเร็จแบบ “ready to live” บทเรียนของโครงการนี้สรุปได้ว่าสถาปัตยกรรมและบริบทโดยรอบส่งผลกระทบอย่างมากต่อความรู้สึกของคน ทั้งในรูปแบบขนาดหรือประโยชน์ใช้สอย นอกเหนือจากตัวอาคารแล้ว พื้นที่ว่างระหว่างตัวอาคารก็เป็นจุดสำคัญที่สร้างชีวิตให้กับเมืองได้ เพราะเป็นพื้นที่สร้างโอกาสให้คนมาเจอกันในชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมร่วมกัน และส่งผลให้เกิดคำว่า ‘ชีวิต’ ของเมือง เมื่อเมืองมีความน่าอยู่ เศรษฐกิจและสังคมก็จะแข็งแรงขึ้นตามลำดับ
คุณภาพของเมืองจะดี จะรอด หรือจะพัง ไม่ใช่แค่หน่วยงานรัฐบาลเป็นผู้กำหนด แต่เจ้าของโครงการสามารถสร้างวิสัยทัศน์ของเมืองได้ หรือสถาปนิกเองก็ใช้ความรู้ด้านการออกแบบกายภาพเพื่อสร้างสรรค์เมืองได้เช่นกัน เพียงแค่เข้าใจในพื้นฐานว่าเมืองสร้างมาเพื่อ ‘คน’
เพียงแค่พลิกมุมมอง ทุกคนก็สามารถสร้างชีวิตให้เมืองได้เช่นกัน
อ้างอิง Copenhagen Growing, failedarchitecture.com, e-architect.co.uk, innosite.dk