บางครั้งเราอาจจะเป็นผู้ใหญ่คิดมาก แต่อย่าลืมความเป็นเด็กช่างฝันจากพิพิธภัณฑ์เจ้าชายน้อย

ความคิดของฉันในตอนนี้มีแต่ ‘ตัวเลข’

นับยอดไลก์ ยอดผู้ติดตาม

รอดูยอดการเข้าชมในช่วงเวลา 7 วัน 15 วัน และ 1 เดือน

ฉันกดเข้าไปดูสถิติต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย 

เฝ้ามองแต่ ตัวเลข ตัวเลข และตัวเลขที่คนเข้ามาถูกใจ

การเติบโตเป็นผู้ใหญ่มาพร้อมกับการวัดผลลัพธ์และความสำเร็จด้วย ‘ตัวเลข’ เพื่อสะท้อนถึงศักยภาพและความภาคภูมิใจในชีวิต

ไม่มีใครหลีกหนีความจริงข้อนี้ได้ จนร่างกายและจิตใจกลายเป็น ‘ผู้ใหญ่’ ไปโดยไม่รู้ตัว

การต้องทำให้ได้ตามตัวเลข ทำให้วิธีคิดและวิธีทำงานเปลี่ยนแปลงไป การใช้ความกล้าและจินตนาการแบบที่เคยเป็นในวันที่มองทุกสิ่งทุกอย่างสดใส กลายเป็นการคิดคำนวณยุบยิบก่อนที่จะลงมือทำ

หลายครั้งทำให้รู้สึกเกร็ง บางครั้งทำให้ไม่กล้า แล้วบ่อยครั้งก็กลายร่างเป็นความไม่มั่นใจ

แต่ทั้งหมดก็เพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘ตัวเลข’ ที่ความเป็น ‘ผู้ใหญ่’ ในใจเราต้องการ

“เด็กๆ มองเห็นรายละเอียดที่สวยงาม แต่ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญแต่ตัวเลขเท่านั้น”
 

สิ่งนี้เป็นหนึ่งในใจความหลักของวรรณกรรมเรื่องเจ้าชายน้อยที่ฉันจดจำได้ไม่เคยลืมเลือน เพิ่งเริ่มปีใหม่มาได้ไม่นาน ผ่านวันเด็กมาได้ไม่เท่าไร ตัวฉันได้กลับเข้าสู่โหมด ‘ผู้ใหญ่’ ไปเรียบร้อยแล้ว

แรงบันดาลใจที่อยากจะทำสิ่งต่างๆ ให้ดีเริ่มหดหาย กลายเป็นการกดดันตัวเองให้ทำ
‘ยอด’ ให้ได้ตามที่กำหนด

ตอนนี้ฉันรู้สึกอยากวาร์ปหายตัวไปที่ไหนสักแห่ง แล้วสถานที่ซึ่งนึกถึงเป็นแห่งแรกก็คือ ‘พิพิธภัณฑ์เจ้าชายน้อย’

จากตัวหนังสือ สู่วัตถุจัดแสดง

วรรณกรรมคลาสสิกอย่าง ‘เจ้าชายน้อย’ เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องความอ่อนโยนและอ่อนเยาว์ของตัวละครแต่ละตัว ราวกับว่าจะเขียนขึ้นสำหรับ ‘เด็ก’ แต่จริง ๆ แล้วใจความสำคัญของเรื่องเข้าถึงคนจากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะคนที่รู้สึกว่าตัวเองกลายเป็น ‘ผู้ใหญ่’ ไปเรียบร้อยแล้ว

อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวของการเติบโตเป็น ‘ผู้ใหญ่’ ในโลก การต้องปฎิบัติตัวตามความลื่นไหลของสังคม ในขณะที่มี ‘โลก’ ของตัวเองทะนุถนอมจิตใจ 

สิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้วรรณกรรมเรื่องเจ้าชายน้อยได้รับความนิยมไม่เคยเสื่อมคลาย 

แล้วเมื่อปี 1999 ก็ได้มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เจ้าชายน้อยขึ้นที่เมืองหน้าด่านของภูเขาฟูจิของญี่ปุ่น 

แม้ว่าเมือง ‘ฮาโกเนะ’ และพิพิธภัณฑ์เจ้าชายน้อยจะเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของผู้คนจากทั่วโลก แต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ปิดตัวลง หลังจากสร้างรอยยิ้มให้กับผู้มาเยือนมาเป็นเวลากว่า 20 ​ปี 

การประกาศในครั้งนั้นทำให้หลายคนถึงกับรู้สึกเคว้งไป

หนึ่งในสถานที่ดึงเรากลับสู่ความสวยงามของการเป็นเด็กได้หายไปอีกที่หนึ่งแล้ว…

พิพิธภัณฑ์เจ้าชายน้อยบนเกาะเชจูของเกาหลีใต้

เกาะเชจูในเกาหลีใต้เป็นสถานที่ตั้งใหม่ของพิพิธภัณฑ์เจ้าชายน้อย ภายใต้การดูแลของมูลนิธิอ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรีในประเทศฝรั่งเศส 

มูลนิธินี้เป็นผู้จัดนิทรรศการเจ้าชายน้อยในประเทศต่างๆ มาตลอดเวลาหลายสิบปี และครั้งนี้ก็จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรขึ้นที่เกาะแห่งนี้

พิพิธภัณฑ์เจ้าชายน้อยบนเกาะเชจู เป็นสถานที่ท่องเที่ยวติดอันดับตั้งแต่เปิดทำการ ผู้ที่มาเยือนมีหลากหลายกลุ่ม ทั้งผู้ที่หลงใหลในวรรณกรรมเจ้าชายน้อย ครอบครัว และกลุ่มเพื่อนที่มาพักตากอากาศในเกาะเชจู

การเดินทางมาที่นี่ยังสะดวกสบาย เพียงนั่งเครื่องบินมาจากกรุงโซลมาลงที่เกาะเชจู​ แล้วนั่งรถบัสตรงมาที่พิพิธภัณฑ์ได้เลย

ในมุมคอนเทนต์ พิพิธภัณฑ์เจ้าชายน้อยที่เกาะเชจูแห่งนี้ถ่ายทอดเรื่องราวของเจ้าชายน้อยในแง่มุมต่างๆ จากมุมมองของผู้เขียนและผู้อ่าน จัดแสดงเนื้อหาและข้อความประทับใจจากในเล่ม

“เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นด้วยดวงตา”

คล้ายเป็นการบอกให้ทุกคนชมนิทรรศการนี้ด้วยใจ และสัมผัสด้วยความรู้สึก

ในเชิงวิชวล นิทรรศการนี้ก็มีความน่ารักด้วยภาพประกอบอันเป็นเอกลักษณ์ และผสมผสานการจัดแสดงนิทรรศการแบบดั้งเดิม เข้ากับศิลปะในรูปแบบใหม่อย่างดิจิทัล

ภายนอกพิพิธภัณฑ์มีประติมากรรมรูปเจ้าชายน้อยกับดอกกุหลาบ ซึ่งเป็นจุดถ่ายและจุดเช็กอินสำคัญที่พลาดไม่ได้

พอเดินเข้ามาที่ชั้น 1 จะพบกับผลงานศิลปะดิจิทัลที่นำพาเราเข้าสู่โลกของเจ้าชายน้อยตั้งแต่วินาทีแรก ในบริเวณเดียวกันเป็นที่ตั้งของร้านจำหน่ายของที่ระลึก และสตูดิโอถ่ายรูปซึ่งเป็นของขาดไม่ได้ในวัฒนธรรมเกาหลีใต้ 

ชั้น 2 เป็นการจัดแสดงคอลเลกชันประติมากรรมเจ้าชายน้อย โดยศิลปินชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า “Arnaud Nazire Aga” ถัดมาเป็นโซนมืด ซึ่งจำลองบรรยากาศท้องฟ้าเต็มไปด้วยดาว แบบเดียวกับที่เจ้าชายน้อยมองเห็น แล้วยังมีพื้นที่จัดแสดงตัวอย่างผลงานของอ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี ซึ่งไม่มีให้เห็นทั่วไป 

และที่ขาดไม่ได้ของชั้นนี้คือ โซนทะเลทรายซาฮารา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในงานของ อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี มาโดยตลอด ใครที่มีแพสชันหรือสนใจในด้านงานเขียน จะต้องถูกใจโซนนี้มาก

ขึ้นมายังชั้น 3 จะพบกับโซน media art ซึ่งนำรายละเอียดต่างๆ ในวรรณกรรมเจ้าชายน้อย มานำเสนอในแบบดิจิทัลและ interactive ที่ตอบรับกับผู้เข้าชมได้แบบ real-time มีทั้งโรงภาพยนตร์ 360 องศาที่จัดฉายภาพยนตร์เรื่องเจ้าชายน้อย มุมนี้สร้างความรู้สึกเสมือนจริง ราวกับว่าเราเป็นเจ้าชายน้อยกำลังจ้องมองดาวเคราะห์ต่างๆ 

ใกล้ ๆ กันเป็นพื้นที่ live coloring ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้สเกตช์รูปขึ้นจอภาพ 3 มิติขนาดยักษ์ แล้วยังมีคอลเลกชันหนังสือเจ้าชายน้อยในภาษาต่างๆ จากทั่วโลกให้ได้ชมกันด้วย

ทั้งหมดสร้างขึ้นมาเพื่อนำพาเราเข้าสู่โลกของอ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี และตัวละคร ‘เจ้าชายน้อย’ ที่ทุกคนหลงรัก 

ความเป็นเด็ก VS ความเป็นผู้ใหญ่

ความประทับใจที่มีต่อพิพิธภัณฑ์เจ้าชายน้อย คงแตกต่างไปตามแต่ละคน

บางคนอาจหลงรักจินตนาการบนท้องฟ้าและอวกาศกว้าง หลายคนหลงใหลความสัมพันธ์ของเจ้าชายน้อยกับดอกกุหลาบ ส่วนฉันไม่เคยลืมความเป็นเด็กที่อยู่ในหัวใจของอ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี เลย

แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด เจ้าชายน้อยก็ทำให้ความรู้สึกในใจของเรากลับไปเป็น
‘เด็ก’ ได้อีกครั้ง

แล้วสิ่งนี้คงเป็นสาส์นสำคัญที่พิพิธภัณฑ์เจ้าชายน้อยต้องการสื่อสารกับทุกคน

การเติบโตเป็นผู้ใหญ่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ แต่หัวใจและความรู้สึกของเราสามารถเป็น ‘เด็ก’ ได้ตลอดเวลา

เพียงเปิดหนังสือเรื่องเจ้าชายน้อย หรือนึกถึงภาพบรรยากาศในพิพิธภัณฑ์ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะและความน่ารักของเจ้าชายน้อย จะนำเราเข้าสู่โลกที่สวยงามได้ทันที

การมองโลกในแง่ดี แต่เห็นสิ่งต่างๆ อย่างที่เป็นจริง ความรู้ที่ไม่รู้ แต่ใช้หัวใจทำความเข้าใจ

ฉันพยายามจินตนาการบรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ แต่พูดยังไม่ทันขาดคำ สายตาของฉันก็ไปหยุดอยู่ตรงที่จุดๆ หนึ่ง

‘จำนวนผู้มาเยือนต่อปี’

อีกแล้ว…

ตัวเลขทำให้ฉันสนใจได้อีกแล้ว

ฉันคงจะกลายเป็น ‘ผู้ใหญ่’ แบบที่เจ้าชายน้อยพูดถึงไปแล้วจริง ๆ …

Credit รูปภาพ:
https://www.instagram.com/littleprince_museum/

https://www.littleprincemuseum.com/home

AUTHOR