ชวนไป LIT Fest เทศกาลที่มีพ่อเป็นงานหนังสือฯ แม่เป็นงานเทศกาลดนตรี

Highlights

  • LIT Fest คือเทศกาลหนังสือสนุกไฟลุกพรึ่บ! จัดขึ้นช่วงวันที่ 18-20 มกราคม 2562 ที่มิวเซียมสยาม โดยมีเป้าหมายคืออยากให้คนรักหนังสือได้ช้อปหนังสือและไอเทมจากนานาสำนักพิมพ์ ส่วนคนที่ไม่ใช่นักอ่านก็จะได้เข้าใจความสนุกของหนังสือไปพร้อมๆ กัน
  • นอกจากบูทขายหนังสือ ในงานยังมีกิจกรรมสนุกๆ อีกเพียบ เช่น Book Factory ที่ให้นักอ่านเลือกเรื่องสั้นจากนักเขียนและสำนักพิมพ์ต่างๆ แล้วเอามาเข้าเล่มได้ตามใจชอบ สำนักพิมพ์ทั้งหลายก็ไม่ได้ขนหนังสือมาขายเพียงอย่างเดียว แต่มีสินค้าอื่นๆ ด้วย (เช่น สำนักพิมพ์แซลมอนก็ขายแซลมอนกันไปเลย) พร้อมกับมีดนตรีสด โซนฉายหนัง และโซนอาหารที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือให้เสพกันอย่างเต็มอิ่ม
  • กำลังสำคัญเบื้องหลังงานครั้งนี้คือกลุ่มคนไฟแรง โจและเน็ต แห่งร้านหนังสือออนไลน์ Readery, วิภว์ บูรพาเดชะ แห่ง happening และนักร้องเสียงนุ่ม เจี๊ยบ–วรรธนา วีรยวรรธน ซึ่งหวังอยากให้วงการหนังสือคึกคักไปยาวๆ

กลางเดือนมกราคมนี้ ไปเดินงานหนังสือกันดีไหม

แน่ะ อย่าเพิ่งรีบขัด จริงอยู่ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติจัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือนเมษายนและตุลาคมของทุกปี แต่งานหนังสือที่ว่านี้เราหมายถึง LIT Fest เทศกาลหนังสือสนุกไฟลุกพรึ่บ! งานเทศกาลหนังสือใหม่แกะกล่องที่จะจัดขึ้นเป็นปีแรกที่มิวเซียมสยามในวันที่ 18-20 มกราคมนี้ต่างหากล่ะ

“พ่อเป็นงานสัปดาห์หนังสือฯ แม่เป็นงานเทศกาลดนตรี แล้วคลอดลูกออกมาเป็น LIT Fest”

ประโยคข้างบนคือคำนิยามของเทศกาลในครั้งนี้ เพราะนอกจากจะเป็นงานเทศกาลหนังสือเอาต์ดอร์ที่ให้เราได้เดินกระทบไหล่ พูดคุยทักทายกับเหล่านักเขียน นักแปล และบรรณาธิการกว่าร้อยชีวิต และเลือกซื้อหนังสือลิมิเต็ดอิดิชั่นจาก 37 สำนักพิมพ์ท่ามกลางอากาศเย็น (ที่สุดในรอบปี) แล้ว งาน LIT Fest ยังขนเอาวงดนตรีมาให้ทุกคนได้นั่งเอนหลังฟังเพลง และกางจอฉายหนังให้ดูกันฟรีๆ อีกด้วย จะเป็นนักอ่านมือฉมังหรือเป็นคนไม่ค่อยอ่านหนังสือ ก็สามารถสนุกไปด้วยกันได้แบบไม่ต้องกลัวเบื่อ

สองหนุ่มจากร้านหนังสือออนไลน์ Readery อันได้แก่ โจ–อนุรุจน์ วรรณพิณ และ เน็ต–นัฎฐกร ปาระชัย คือหนึ่งในตัวตั้งตัวตีในการจัดเทศกาลหนังสือในครั้งนี้ โดยมี วิภว์ บูรพาเดชะ แห่ง happening และ เจี๊ยบ–วรรธนา วีรยวรรธน เป็นกำลังสำคัญ เราจึงชวนทั้งสี่คนมาล้อมวงเล่าให้ฟังถึงความสนุกที่อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือที่กำลังจะเกิดขึ้น

หนังสือตายแล้ว (เหรอ)

โจ : ไอเดียการจัดงาน LIT Fest เริ่มจากการพูดคุยของ Readery กับเพื่อนๆ สำนักพิมพ์ที่สนิทกัน เพราะในช่วงสองปีมานี้มักมีประเด็น ‘หนังสือตายแล้ว’ ซึ่งมันยังไม่ตาย เรายังสนุกกับการทำงานหนังสืออยู่เลย เพื่อนๆ สำนักพิมพ์ก็ยังสนุก ยิ่งช่วงที่ผ่านมานี้วงการหนังสือคึกคักมาก มีหนังสือใหม่ๆ ออกมาเต็มเลย มันจะตายได้ยังไง เลยชวนกันว่ามาจัดอีเวนต์กันไหม มาทำบางอย่างให้คนรู้เถอะว่ากิจกรรมในงานหนังสือมันยังสนุกอยู่ แล้วก็ได้ทุนจาก คุณจ๊อก–ชัยพร อินทุวิศาลกุล แห่งโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ ทางมิวเซียมสยามก็เสนอพื้นที่มาให้ว่าจัดกันไหม ก็ลุยเลย

วิภว์ : วงการหนังสือก็ยังมีส่วนลำบากลำบนอยู่บ้าง แต่ก็มีส่วนที่โอเคขึ้นเหมือนกัน เราอาจจะเห็นร้านหนังสือหรือแม็กกาซีนปิดตัว แต่ก็มีบางเจ้าที่ยอดขายเพิ่มขึ้น พอโลกเปลี่ยนก็ต้องหาวิธีเปลี่ยนแปลง งานเขียนใหม่ๆ จากคนรุ่นใหม่ก็ยังมีให้เห็นเรื่อยๆ วรรณกรรมที่ว่าคนเขียนน้อยก็ยังมีคนมารับช่วง คนรุ่นกลางๆ กับรุ่นใหญ่ก็ยังทำงานอยู่ มีอะไรให้อ่านเยอะไปหมด

โจ : สำหรับเราหนังสือคือคอนเทนต์ หนังสือคือเรื่องเล่า ดังนั้นหนังสือไม่มีวันตาย เพราะมนุษย์ขี้เล่าขี้อวด ล่าแมมมอธมาก็เขียนผนังเล่า เฮ้ยแก วันนี้ฉันตีช้างมา ดังนั้นเรื่องเล่าจะไม่มีวันหายไปจากมนุษย์แน่นอน

หนังสือบันดาลใจ

โจ : เรารู้สึกว่าเวลาคนพูดถึงหนังสือจะบอกว่าหนังสือเป็นสิ่งดี ประเทืองปัญญา แต่ที่ไม่ได้พูดถึงคือการอ่านหนังสือเป็นความสุขด้วย เราสนุก มีความสุขเวลาอ่าน และในการผลิตหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งก็สนุกมาก ทั้งคอนเทนต์ที่อยู่ในนั้น การขาย อยากให้ความรู้สึกนี้ถ่ายทอดถึงนักอ่านและคนเดินงานเทศกาลได้รู้สึกอย่างนี้ไปด้วยกัน โดยมีโจทย์คือทุกสิ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ ทั้งเพลงหรือวงดนตรีจากหนังสือ หนังที่ฉายก็มาจากหนังสือ เมนูอาหารในงานก็มาจากหนังสือ

เน็ต : เพราะผู้คนที่เสพหนังสือจะไม่ได้เสพหนังสืออย่างเดียว เราสนใจอย่างอื่นด้วย เลยพยายามทำให้งานมันกลมขึ้นโดยมีหนังสือเป็นศูนย์กลาง

เน็ต : วันแรกเรานัด 20-30 สำนักพิมพ์มานั่งคุย หาไอเดียกันว่าถ้าจะทำเทศกาลหนังสือใหม่ในบ้านเราโดยไม่อิงงานสัปดาห์หนังสือเดิม อยากให้มีอะไรบ้าง ทุกคนก็โยนไอเดียใส่มา ซึ่งความสนุกของงานนี้คือเราไม่มีเรฟเฟอเรนซ์งานในบ้านเรามาก่อน เพราะฉะนั้นทุกคนก็นำประสบการณ์ที่เคยไปงานหนังสือที่ต่างประเทศ เทศกาลดนตรีต่างๆ มาเทรวมหม้อเดียวกันแล้วคน อะไรอร่อย อยากให้มีในไทยก็หยิบขึ้นมา

โจ : พูดเลยว่าสิ่งนี้ไม่ได้มาจาก Readery คนเดียวแน่ๆ แต่มาจากเสียงทุกคนที่ประกอบร่างกันขึ้นมา

LIT Fest #หนังสือสนุกไฟลุกพรึ่บ

โจ : ชื่อของงาน LIT Fest นอกจากจะมาจากคำว่า literature แล้ว ยังมาจากคำว่า lit it up ที่ฝรั่งใช้เวลาให้กำลังใจเพื่อน การจุดไฟ เลยเป็นที่มาของแฮชแท็ก #หนังสือสนุกไฟลุกพรึ่บ แปลว่าทุกคนมาแล้วจะได้พลังบางอย่างกลับไป ทั้งคนที่เป็นคนอ่านหนังสืออยู่แล้ว หรือคนไม่อ่านหนังสือ

เน็ต : ที่เราจัดงานเดือนมกราคม นอกจากที่คาดหวังว่าจะหนาว ก็เพราะอยากให้งานนี้เป็นจุดเริ่มต้นของปี ช่วยจุดสปาร์กให้ทุกคนมีไฟ ได้ไอเดียไปผลิตงานชิ้นอื่นๆ ต่อกันตลอดทั้งปี และในมุมของสำนักพิมพ์ งานนี้ก็เป็นงานโชว์ไอเดีย ปล่อยของ ผลิตลิมิเต็ดอิดิชั่น ทดลองไอเดียต่างๆ ก่อนจะแมสโปรดักชั่น

โจ : อย่างสำนักพิมพ์ P.S. เขียนเรื่องสั้นที่หลายเรื่องมีบทเพลงสอดแทรก ก็อยากออกแบบหนังสือเป็นรูปแผ่นเสียง ชีวิตจริงถ้าต้องเข้าลูปสัปดาห์หนังสือปกติก็ไม่กล้าทำ เพราะไม่รู้จะขายได้ไหม หรือสำนักพิมพ์นาบูที่ทำนิยายวาย ก็ไม่ได้ตั้งใจมาขายหนังสือ แต่ตั้งใจมาแจกพจนานุกรมนิยายวายลิมิเต็ดอิดิชั่น เพราะเขาอยากให้คนรู้ สำนักพิมพ์ JLIT จะออกสำนักพิมพ์ใหม่ชื่อ JLITTLE ทำวรรณกรรมเยาวชนคลาสสิกญี่ปุ่น ก็จะมาเปิดตัวในงานนี้ด้วย

มากกว่าหนังสือ

โจ : ในงานจะมี Book Factory ให้นักเขียนหรือสำนักพิมพ์ส่งเรื่องสั้นมา 20-30 เรื่อง แล้วให้ประชาชนมาเลือกตามใจ เอามาเรียงเป็นเล่ม หยิบอาร์ตเวิร์กต่างๆ มาสลับสับเปลี่ยนอย่างไรก็ได้ แล้วก็เลือกปก เข้าเล่มด้วยการเย็บจักร แล้วเอากลับบ้านได้ กิจกรรมนี้คนที่มาจะได้เรียนรู้ขั้นตอนเล็กๆ ของการทำหนังสือ และสอง นี่เป็นหนังสือเล่มเดียวในโลกที่เราผลิตขึ้นมาเอง รวมผลงานนักเขียนจากหลายค่ายด้วย โอกาสอย่างนี้หายากมาก

อีกกิจกรรมที่น่ารักมากคือ Lit Poetry คือในแต่ละช่วงเวลาจะมีนักเขียนประมาณสี่คน นั่งหน้าเครื่องพิมพ์ดีด ให้ประชาชนมาเล่าเรื่องตัวเอง นักเขียนก็จะพิมพ์บทกวีสั้นๆ ให้ เอาไปถ่ายรูปเล่นในงานได้ เป็นการพบปะระหว่างนักอ่านกับนักเขียนแบบสดๆ นักเขียนก็เขียนสดเลย

มีการรวมตัวกันของ 37 สำนักพิมพ์ เป็นเหมือนหมู่บ้านในนิทานที่แต่ละสำนักพิมพ์แปลงร่างเป็นร้านค้าต่างๆ อย่างสำนักพิมพ์แซลมอนก็มาขายแซลมอนเลย a book จะออกหนังสือเกี่ยวกับดอกไม้ เขาก็เปิดร้านดอกไม้ สำนักพิมพ์ P.S. เป็นผับเพราะนักเขียนเขาเฟี้ยวๆ ทั้งนั้น หรือสำนักพิมพ์แสงดาว ก็เอาของบ้านพี่เอนก นาวิกมูล มาจัดให้ดูว่าห้องนักเขียนสมัยโบราณเป็นอย่างไร แต่ละคนจัดเต็มมาก

แล้วก็มี Blind Date หนังสือหาผัว คอนเซปต์คือเราทุกคนมีหนังสือที่ชอบ อยากให้คนอื่นอ่าน ก็เอาหนังสือที่เราชอบมาห่อเป็นของขวัญน่ารักๆ แลกเปลี่ยนหนังสือกัน บอกตรงนี้เลยว่าถ้าใครอยากใส่ไลน์ เบอร์โทรอะไรก็ใส่ไปได้เลย ยิ่งกว่าทินเดอร์ เพราะใครอ่านหนังสือเล่มเดียวกันแล้วชอบ สองคนนั้นคุยกันได้แน่นอน

เจี๊ยบ : มันยิ่งกว่าสัปดาห์หนังสือนะ แต่ละสำนักพิมพ์ได้ทำแรร์ไอเทม ทุกคนเชื่อและทำให้มันน่าซื้อ ทำสิ่งที่อยากทำ อย่างในงานสัปดาห์หนังสือฯ จะมีเรื่องของราคา มีการเปรียบเทียบ ทำให้ทุกคนกั๊กๆ แต่งานนี้ทุกคนปล่อยของ ไม่กลัวเจ๊ง กำไรก็จะตกมาอยู่กับคนที่มางาน

งานหนังสือที่คนไม่อ่านหนังสือก็มาเดินได้

วิภว์ : เราจะไม่เห็นบูทที่เอาหนังสือมาตั้งเรียงกันเต็มๆ เพราะนี่เป็นงานที่ทำขึ้นให้คนที่ไม่อ่านหนังสือมาเดินได้ด้วย มีคอนเสิร์ต มีฉายหนัง แต่พอมาแล้วจะรู้สึกว่า ต้องอ่านหนังสือแล้ว

โจ : อย่างหนังที่ฉายให้ดูฟรีทั้งหมด 4 เรื่อง ก็ล้วนได้แรงบันดาลใจหรือเกี่ยวข้องกับหนังสือ เราได้พี่ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ จาก Documentary Club ช่วยคิวเรตให้ ได้แก่ Burning ที่มาจากหนังสือของ Haruki Murakami, How to Make a Book With Steidl เรื่องของสำนักพิมพ์เยอรมนีที่ทำหนังสืออาร์ต, Memoir of War เป็นหนังดราม่าเกี่ยวกับชีวิตของนักเขียนในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และ Violette เป็นเรื่องของ Simone de Beauvoir

วิภว์ : กำลังเครียดอยู่ว่าจะดูยังไงให้ครบ 4 เรื่องโดยที่ต้องทำงานด้วย

วิภว์ : ในงานจะมีดนตรีด้วย เราพยายามเลือกวงที่ชอบอ่านชอบเขียนนิดนึง เช่น วงภูมิจิต พี่พุฒิ (พุฒิยศ ผลชีวิน) อ่านหนังสือเยอะมาก เพลงบางเพลงได้แรงบันดาลใจจากหนังสือด้วยซ้ำ, Stoondio ก็เป็นคนอ่านเยอะ งานเขียนในเฟซบุ๊กเขาก็คล้ายบทกวีสั้นๆ, พี่ตุลย์ ไวฑูรเกียรติ ก็เป็นกวี, Plastic Plastic ก็เป็นนักเขียน หรืออย่าง Young Man and The Sea ชื่อวงก็เป็นวรรณกรรมระดับโลก และนักร้องนำก็เขียน มีเรื่องสั้นออกมาสองเล่มแล้ว และให้นักร้องทุกคนพูดถึงหนังสือที่ชอบ บางคนชอบอ่าน บางคนเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับเพลงเขาจริงๆ เพราะจริงๆ แวดวงดนตรีกับแวดวงหนังสือมีความใกล้ชิดกันอยู่แล้ว แต่เราพยายามทำให้เห็นชัดขึ้น

เจี๊ยบ : อย่างเพลงฝรั่งบางครั้งก็จะได้ยินว่า เธอเหมือนหนังสือเล่มนี้ หรือยกมาจากหนังสือทั้งประโยค รู้สึกเป็นเรื่องปกติที่หนังสือกับเพลงไปด้วยกัน คนเขียนหนังสือได้แรงบันดาลใจจากเพลงก็เยอะ คนเขียนหนังสือกับคนเขียนเพลงเป็นคนเดียวกันก็เยอะ เพลงกับกวีก็ใกล้เคียงกันมาก เพลงของบางคน ถ้าเอาเมโลดี้ออกมันก็คือหนังสือนะ ทั้งความลึกและการเล่าเรื่อง

เราพบกันเพราะหนังสือ

โจ : มันเป็นงานครั้งที่หนึ่ง เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน การจะทำความเข้าใจก็ต้องคุยกันเยอะ และก็เป็นงานที่ใจเราคาดหวังว่ามันต้องไม่ใช่งานที่ Readery เผด็จการ สั่งเอง ทำอะไรเอง แต่อยากให้เป็นงานที่เกิดจากความร่วมมือของทุกคน อยากให้มีไอเดียทุกคนอยู่ในนี้ให้ได้ อีกความท้าทายคือเรากำลังทำงานกับทุกคนที่เป็นศิลปิน ทุกคนเก่งในทางของตัวเองทำ แต่การจับทุกอย่างมาอยู่รวมกันก็ต้องอาศัยการเปิดใจของทุกคน

เจี๊ยบ : พูดง่ายๆ คือการทำงานกับศิลปินหลายๆ รูปแบบมันปวดหัว ทุกคนแตกต่างกันและหลายคนบริหารเวลาพัง แล้วยิ่งทำด้วยความสนุกก็จะไม่ยอมปล่อยงาน ขออีกหน่อย ยื้อ เลยเป็นความท้าทายในการหาวิธีทำงานกับเหล่าศิลปิน

วงการหนังสือสนุกไฟลุกพรึ่บ

โจ : พอมีงานแบบนี้ ด้วยเซนส์ของสำนักพิมพ์ก็จะมีการแข่งขันกัน ไม่ยอมน้อยหน้า เกิดเป็นงานใหม่ๆ ต่อยอดไอเดียน่าสนใจขึ้นมาเรื่อยๆ ในปีนี้หลายสำนักพิมพ์ก็ยังปล่อยของออกมาไม่หมด ปีหน้าก็คงจะมีอีก แล้วก็อาจจะมีการต่อยอดเป็น LIT Fest Junior ป๊อปอัพที่นู่นที่นี่ แต่ย่อสเกลลงเท่าที่ทำได้

เจี๊ยบ : การได้ถือหนังสือสวยๆ น่ารัก ทั้งกระดาษ ดีไซน์ ปก สีสัน จะช่วยต่อยอดเรื่องการทำงานและความคิดสร้างสรรค์นะ เด็กที่มาในงานนี้จะเห็นเลยว่าหนังสือไม่ได้หน้าตาเพลนๆ บางคนอาจจะได้แรงบันดาลใจ อยากเป็นคนทำงานออกแบบพ็อกเก็ตบุ๊ก มันสร้างสิ่งที่คาดหวังไม่ได้ ต่อยอดสิ่งที่ไม่เป็นรูปธรรม เป็น input ที่ยิ่งเห็นเยอะ ก็มีความรู้เยอะ เด็กไม่ต้องไปต่างประเทศเพื่อเห็นหนังสือเจ็ดแปดพับ ป๊อปอัพชนเพดาน

วิภว์ : บ้านเราพยายามกันมากที่จะให้คนอ่านหนังสือ อยากให้วงการหนังสือโตขึ้น ผมว่างานนี้จะช่วยได้จริงๆ เพราะมันบอกว่าหนังสือสนุก เป็นการพูดคุยด้วยท่าทีที่เป็นมิตร ถ้ามีงานแบบนี้เรื่อยๆ น่าจะดีต่อวงการหนังสือและดีต่อสังคม สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจทำงานสายสิ่งพิมพ์ ตรงนี้ก็จะช่วยเปิดโอกาส เป็นพื้นที่ให้ได้ลองทำกันด้วย


LIT Fest จัดขึ้นในวันที่ 18-20 มกราคม 2019 ที่มิวเซียมสยาม งานภายในอาคารเริ่ม​ 13:00 น. ​และงานกลางสนามเริ่ม 16:00​ -​ 22:00 น. สามารถเข้าชมได้ฟรีตลอดงาน 

คำแนะนำสำหรับคนมางาน

  1. กิจกรรมในงานมีเยอะมาก และแต่ละสำนักพิมพ์ล้วนมีแรร์ไอเทม ถ้าไม่อยากพลาดอะไรเด็ดๆ ลองอ่านข้อมูลในเพจ LITFest.th แล้ววางแผนล่วงหน้า ก็จะช่วยได้
  2. ในบริเวณงานไม่มีตู้กดเงินสด ควรกดไปก่อนล่วงหน้า และระวังหมดตัว
  3. เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะจะดีกว่ารถส่วนตัว เพราะหาที่จอดรถยากแน่นอน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี