มาก่อนได้ก่อน! ว่าด้วยประวัติศาสตร์แห่งการต่อคิวยาวร่วมวันของสหภาพโซเวียต 

Highlights

  • การต่อคิวยาวเพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการที่ต้องการไม่ใช่เรื่องใหม่ ปัจจุบันเราต่อคิวกันเพราะความพอใจ
  • แต่หากย้อนกลับไปในอดีต ที่สหภาพโซเวียตการต่อคิวเป็นวัฒนธรรมสำคัญของชีวิต เป็นกิจกรรมคล้ายกีฬา เป็นพื้นที่สำหรับสังสรรค์ แชร์ข่าวสำคัญ กระทั่งแบ่งปันเรื่องซุบซิบนินทา การรอคิวที่ว่าอาจใช้เวลาร่วมชั่วโมง หลายชั่วโมง หรือหลายวัน
  • สำหรับสหภาพโซเวียต การต่อคิวแสดงถึงความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหน 'คุณต้องไปต่อคิว'

‘Line is a sign of time.’ การต่อคิวยาวเพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการที่ต้องการไม่ใช่เรื่องใหม่ ในปัจจุบันเราต่อคิวกันเพราะความพอใจ แต่หากย้อนกลับไปในอดีต มีหนึ่งประเทศที่การต่อคิวกลายเป็นวัฒนธรรมสำคัญของชีวิต การต่อคิวของประเทศนี้ไม่ใช่การ ‘รอ’ แต่เป็นกิจกรรมคล้ายกีฬา เป็นพื้นที่สำหรับสังสรรค์ แชร์ข่าวสำคัญ กระทั่งแบ่งปันเรื่องซุบซิบนินทา การรอคิวที่ว่าอาจใช้เวลาร่วมชั่วโมง หลายชั่วโมง หรือหลายวัน!

ถ้านั่นทำให้คุณพอจะนึกออก ขอต้อนรับกลับสู่สหภาพโซเวียต 

 

คิวขนมปัง : ตัวอย่างคลาสสิกของลัทธิคอมมิวนิสต์

สันติภาพ ที่ดิน และขนมปัง (peace, land and bread) คำขวัญที่เลนินชูขึ้นเพื่อปลุกกระแสการปฏิวัติไม่ได้ถูกกล่าวขึ้นลอยๆ สันติภาพในที่นี้คือคำขอให้รัสเซียถอนตัวออกจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ดินหมายถึงการปฏิรูปและการกระจายที่ดินอย่างเป็นธรรม ส่วนขนมปังสื่อถึงความอดอยากยากไร้ของคนในประเทศ 

ขนมปังเป็น 1 ใน 3 สาเหตุหลักที่นำไปสู่การปฏิวัติพระเจ้าซาร์ น่าเศร้าว่าแม้รัสเซียได้ผู้ปกครองและระบอบใหม่ แต่การมีขนมปังไม่พอใช้ก็ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่หาย ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 สหภาพโซเวียต (ตามที่รัสเซียเรียกตัวเองสมัยนั้น) ยังไม่สามารถผลิตขนมปังให้เพียงพอต่อความต้องการ นำไปสู่เหตุการณ์ความอดอยากในรัสเซียช่วง ค.ศ. 1921 (Povolzhye famine) และมีผู้คนเสียชีวิตจากนโยบายการจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตรที่ให้ผลผลิตต่ำกว่าที่ควรเป็นจำนวนร่วม 5 ล้านคน

Peter Gatrell ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจาก University of Manchester ให้คำนิยามลัทธิคอมมิวนิสต์ว่า ‘ระบบเศรฐกิจแห่งความขาดแคลน’

ความขาดแคลนที่ว่าไม่ได้ลดลงตามกาลเวลา แม้โซเวียตชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีผู้นำที่เข้มแข็งอย่าง Joseph Stalin แต่สภาพเศรฐกิจที่ง่อนแง่นภายในทำให้การต่อคิวขยายตัวจากขนมปังไปสู่สินค้าขั้นพื้นฐานอย่างอื่น เช่น สบู่ รองเท้า และเสื้อผ้า นอกจากคิวขนมปัง ชาวโซเวียตยังมีวัฒนธรรมการต่อคิวเพื่อสินค้าแปลกๆ อีกมากดังต่อไปนี้

 

คิวเนื้อ : มาก่อนได้ก่อนและกฎการอยู่รอดของ Charles Darwin 

ความต่างระหว่างคิวเนื้อกับคิวขนมปังคือการแข่งขันที่จริงจังและยิ่งใหญ่กว่า เพราะการมาถึงเป็นคนหน้าๆ หมายความว่าคุณกำลังเข้าใกล้เนื้อวัวส่วนดี ส่วนใครที่มาช้าก็ทำใจรับเนื้อส่วนหนังหุ้มกระดูกไปได้เลย

กฎการเลือกสรรของดาร์วินไม่ได้จบลงแค่ร้านเนื้อ ความจริงที่น่าปวดใจคือร้านค้าในเมืองใหญ่อย่างมอสโกมักมีสต็อกสินค้าคุณภาพดีที่หลากหลายกว่าร้านค้าในพื้นที่ห่างไกล ร้านใหญ่และดีที่สุดอย่าง Yeliseyevsky (หรือที่ชาวรัสเซียเรียกกันติดปากว่าร้านชำอันดับหนึ่ง – Grocery Store No. 1) มีทั้งช็อกโกแลต ผงกาแฟ แซลมอนรมควัน ไปจนถึงไข่ปลาคาเวียร์ หรือขนมจากโลกตะวันออกอย่าง Turkish Delight 

meat tourism กลายเป็นอีกหนึ่งตลกร้ายที่ชาวโซเวียตใช้บรรยายความขัดสนของตนเอง ผู้คนจำนวนมากจากต่างจังหวัดนิยมใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์มามอสโก ไม่ใช่เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ แต่เพื่อซื้อหาสินค้ากลับไปใช้ยามขัดสน 

“อะไรเอ่ยมีสีเขียว ลำตัวยาว และมีกลิ่นไส้กรอกปนมาตลอดทาง–อ๋อ รถรางที่วิ่งกลับมาจากมอสโกนี่เอง” 

 

คิวกระดาษชำระ : ผลลัพธ์จากการประชาสัมพันธ์ที่ดีเกินไป 

น่าสนใจว่ากระดาษชำระไม่ได้อยู่ในสายตาของชาวโซเวียตมาก่อน ประเทศหมีขาวเชื่อว่ากระดาษใดๆ ก็สามารถเช็ดทำความสะอาดได้และมักใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ที่หาง่ายกว่า ต้องรอกระทั่งรัฐบาลออกมาประกาศถึงผลเสียจากสารตะกั่วที่ปนอยู่ในหมึกพิมพ์ และเริ่มออกแคมเปญยิ่งใหญ่เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนให้ความสำคัญกับสุขภาพก้นกันมากขึ้น

เรื่องนี้เหมือนจะจบสวยหลังรัฐทุ่มงบโฆษณาอย่างหนักผ่านหนังสือพิมพ์ แม็กกาซีน หรือแม้แต่โฆษณาก่อนการฉายหนัง ติดอยู่อย่างเดียวคือการผลิตกระดาษชำระกลับทำได้ไม่ตรงเป้า ทำให้การต่อคิวเพื่อซื้อกระดาษชำระกลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ มีการจำกัดให้หนึ่งคิวซื้อกระดาษชำระได้ครั้งละ 12 ม้วน ผู้โชคดีได้กระดาษชำระ จะใช้เชือกร้อยผ่านแกนกลางแล้วสวมไว้ติดตัวเพื่อพกพากลับบ้านด้วยความภาคภูมิใจ

 

คิวหนังสือ : อยากอ่านเรื่องไหนไม่ใช่เรื่องง่าย

ชาวโซเวียตเป็นยอดนักอ่าน หนังสือที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคืองานเขียนคลาสสิกของนักเขียนรัสเซีย นิยายสืบสวนจากต่างชาติ และหนังสือคอลเลกชั่นภาพงานศิลปะ

แต่ใช่ว่าร้านหนังสือทั่วไปจะมีหนังสือที่ว่าวางอยู่บนชั้น เพราะในปี 1974 รัฐบาลโซเวียตแก้ปัญหาความต้องการซื้อหนังสือด้วยการออกคูปองพิเศษ ใครอยากได้คูปองสำหรับซื้อหนังสือก่อนใครให้นำกระดาษรีไซเคิล 20 กิโลกรัมมาขอแลก และคูปองสามารถนำไปแลกเป็นหนังสือหายากตามร้านหนังสือทั่วไป 

 

คิวพิพิธภัณฑ์ : หน้าต่างบานใหญ่ในยุคสังคมนิยม 

“พวกเราท่ีเดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าโลกตะวันตกมีหน้าตาแบบไหน พวกเราไม่รู้ว่าลูฟวร์ ปราโด หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะในฟลอเรนซ์และมิลาน กำลังจัดแสดงงานอะไรอยู่ เมื่อใดที่มีนิทรรศการต่างชาติหมุนเวียนมาจัดที่พุชกิ้น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะคลาคล่ำไปด้วยฝูงชนที่ยอมใช้เวลาร่วม 10 ชั่วโมง ชมงานศิลปะจากต่างชาติแค่ไม่กี่วินาที” – Vitaly Korotich บรรณาธิการนิตยสาร Ogoniok ให้สัมภาษณ์ 

ในปี 1974 เมื่อพิพิธภัณฑ์พุชกิ้นจัดแสดงภาพเขียนโมนา ลิซา ผลงานชิ้นดังจากฝรั่งเศส ผู้คนจากทั้งสหภาพโซเวียตเดินทางไกลมาต่อคิวหน้าพิพิธภัณฑ์เป็นเวลา 15 ชั่วโมง เพื่อรับโอกาสได้สบตากับผลงานระดับโลกคนละ 15 วินาที โมนา ลิซา ถูกจัดแสดงอยู่ที่นี่เป็นเวลา 2 เดือน และไม่มีสักวันที่คิวพิพิธภัณฑ์น้อยลงกว่าปกติ 

 

คิวกดดันให้ออกสินค้า (บ้าแต่จริง) 

การต่อคิวไปก่อนไม่ใช่เรื่องแปลก หลายครั้งที่ใครสักคนเดินผ่านถนนแล้วเจอคนต่อคิวหน้าร้านอะไรสักอย่าง มีความเป็นไปได้มากว่าคนนั้นจะเข้าร่วมขบวนการต่อคิว เพราะคิดว่าร้านตรงหน้าน่าจะกำลังปล่อยสินค้าสักอย่างออกมาแน่ๆ… และส่วนมากก็เป็นแบบนั้น หลายครั้งร้านค้าจำใจต้องปล่อยสินค้าอะไรสักอย่างเพื่อให้คิวสลายไป เรื่องนี้มีบันทึกไว้โดย Konstantin Shcherbin บล็อกเกอร์ชื่อดังของรัสเซีย 

“ฤดูใบไม้ผลิปี 1987 เรือขนรองเท้ากีฬาจากต่างชาติเข้าจอดเทียบที่ท่าเรือในเมืองมูร์มันสก์ (Murmansk) โดยที่ไม่รู้ว่าจะมีการเปิดขายเมื่อไหร่ ชาวเมืองรีบเข้าไปต่อคิวทันที เสียดายที่ผมทราบข่าวช้า กว่าจะไปถึงก็ปาเข้าไปคิวที่เจ็ดร้อยกว่า หลังจากยืนรอทั้งวัน ผมได้ขยับไปประมาณ 300 คิว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รองเท้าสักคู่” 

GUM ห้างสรรพสินค้าชื่อดังอันดับหนึ่งในจัตุรัสแดง เป็นอีกจุดนัดพบสำหรับการรอคิวของชาวโซเวียต หลายครอบครัวเดินทางมามอสโกเพื่อต่อคิวหน้า GUM หวังว่าจะมีสินค้าแปลกใหม่ออกมาให้จับจ่าย GUM ในยุคนั้นขายตั้งแต่ไส้กรอกไปจนถึงเสื้อคลุมขนสัตว์ชั้นดี แต่การรอคิวทั้งคืนหรือหลายวันก็ไม่การันตีว่าจะสามารถซื้อสินค้าได้ตามต้องการ

 

คิวสำหรับทุนนิยม​ : เมื่อแมคโดนัลด์เปิดบริการเป็นครั้งแรกในสหภาพโซเวียต 

ทุกวันนี้คงไม่มีใครยอมต่อคิวยาว 8 ชั่วโมงเพื่อบิ๊กแมค แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงและเป็นข่าวดังไกลไปทั่วโลกเมื่อแมคโดนัลด์เปิดสาขาแรกเมื่อวันที่ 31 มกราคม 1990

แมคโดนัลด์สาขามอสโกเป็นความร่วมมือกันระหว่างแมคโดนัลด์แห่งแคนาดากับสภาเมืองมอสโก แรกเริ่มเดิมทีความคิดนี้ถูกเสนอต่อรัฐตั้งแต่ปี 1976 (ระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่มอนทรีออล ประเทศแคนาดา) แต่มาได้รับอนุมัติจริงในช่วงนโยบายเปิดรับ (เปเรสตรอยคาและกลาสนอสต์) ของ Mikhail Gorbachyov 

แมคโดนัลด์ของมอสโกในตอนนั้นได้รับการบันทึกว่าใหญ่ที่สุดในโลก มีที่นั่ง 900 ที่และเปิดรับพนักงานมากถึง 600 คน ปรากฏว่ามีคนสนใจกันมาก ใบสมัครเป็นเด็กเสิร์ฟร้านแมคฯ ในสมัยนั้นมีมากกว่า 35,000 ใบ ส่วนใหญ่เป็นเด็กระดับหัวกะทิของรัฐ เรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำ เพราะมีข้อกำหนดว่าต้องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว

ในวันเปิดร้านวันแรก ผู้คนกว่า 30,000 พากันยืนต่อคิวหน้าร้านท่ามกลางอากาศติดลบหลายสิบองศาฯ จำนวนที่มากนี้ทำลายสถิติก่อนหน้าของแมคโดนัลด์สาขาบูดาเปสต์ที่เคยรับลูกค้า 9,100 คน ระหว่างเปิดทำการวันแรก

“คืนก่อนเปิดร้านฉันกับเพื่อนนักเรียนเดินไปที่จัตุรัสฯ เมื่อเรามาถึง มีคนต่อคิวหน้าร้านอยู่ก่อนแล้ว 3 คน ในระหว่างที่พวกเรากำลังเถียงกันว่าจะต่อคิวข้ามคืนดีหรือไม่ ก็มีอีก 2 คนเดินมาต่อคิว พวกเราตัดสินใจเข้าคิวหน้าร้าน ผมเป็นคิวที่ 6 และรออยู่ตรงนั้นกระทั่งร้านเปิด” Konstantin Shcherbin บล็อกเกอร์คนเดิมแชร์ประสบการณ์การต่อคิวที่น่าประทับใจที่สุดในชีวิต 

 

การต่อคิวอาจไม่ได้เริ่มต้นที่นี่ แต่วัฒนธรรมที่ว่ากลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเป็นประชากรคุณภาพ สำหรับสหภาพโซเวียต การต่อคิวแสดงถึงความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหน ‘คุณต้องไปต่อคิว’ เพื่อซื้อสินค้าคุณภาพต่ำเท่าๆ กันกับสหายร่วมชาติ 

มีเรื่องตลกที่เล่าถึงนิสัยการรอคิวของชาวโซเวียตได้อย่างน่าสนใจว่า

ชายคนหนึ่งกำลังต่อคิวเพื่อซื้อว็อดก้า แต่รอมาเป็นชั่วโมงก็ยังไม่รู้ว่าหัวแถวอยู่ตรงไหน ชายคนนี้หมดความอดทนและตะโกนขึ้นด้วยเสียงดังฟังชัด ‘ฉันจะไม่รอคิวบ้าบออีกต่อไป แต่จะเข้าไปเครมลินแลัวฆ่าไอ้บ้ากอร์บาชอฟทิ้งเสียเดี๋ยวนี้!’

หนึ่งชั่วโมงผ่านมา ชายคนเดิมกลับมาต่อท้ายคิวอีกครั้ง คนในคิวเห็นดังนั้นจึงถามด้วยความประหลาดใจ ‘สรุปนายฆ่ากอร์บาชอฟแล้วเหรอ?’ ‘เปล่าหรอก’ เขาตอบ ‘ฉันไปถึงเครมลินแล้ว แต่คิวสำหรับฆ่ากอร์บาชอฟมันยาวยิ่งกว่าคิวซื้อว็อดก้าเสียอีก!’


อ้างอิง

qminder.com

rbth.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา