Patrick Sun ผู้ก่อตั้งมูลนิธิที่สะสมและจัดแสดงศิลปะเพื่อความเท่าเทียมของ LGBTQ

Highlights

  • Patrick Sun คือผู้ก่อตั้ง SUNPRIDE FOUNDATION มูลนิธิที่สะสมงานศิลปะที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ LGBTQ หรือสร้างโดยศิลปินที่นิยามตนเองว่า LGBTQ
  • ขณะนี้ SUNPRIDE FOUNDATION กำลังจัดแสดง Spectrosynthesis II—Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia นิทรรศการ LGBTQ ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เข้าชมฟรีได้ตั้งแต่วันนี้ - 1 มีนาคม 2563

ขณะที่เรา–ผู้นับตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน LGBTQ–กำลังตื่นเต้นกับ Spectrosynthesis II—Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia นิทรรศการว่าด้วยความหลากหลายทางเพศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีเรื่องให้ตื่นเต้นยิ่งกว่าเข้ามา 

เรากำลังจะมีโอกาสได้คุยกับ Patrick Sun ผู้ก่อตั้ง SUNPRIDE FOUNDATION องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สะสมงานศิลปะที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ หรือศิลปะที่สร้างสรรค์โดยศิลปินผู้นิยามตนเองว่า LGBTQ 

ใช่แล้ว มูลนิธิที่ว่าคือผู้อยู่เบื้องหลังและเป็นเจ้าของงานศิลปะส่วนใหญ่ในนิทรรศการ Spectrosynthesis II ที่เรากำลังตื่นเต้นนักหนานั่นเอง

จริงๆ แล้ว แพทริก ซัน ทำงานเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่ความสนใจในศิลปะนำพาให้เขาก้าวเข้าสู่เส้นทางของนักสะสม ส่วนเพศสภาพที่เขายอมรับอย่างภาคภูมิใจก็นำพาให้เขาก้าวเข้าสู่เส้นทางของนักกิจกรรม และสองเส้นทางนั้นมาบรรจบกันเมื่อเขาตัดสินใจริเริ่ม SUNPRIDE FOUNDATION ด้วยความเชื่อว่า ศิลปะจะช่วยสร้างโลกที่เป็นมิตรและเท่าเทียมสำหรับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ

แม้จะไม่ได้พบหน้ากันจริงๆ ด้วยตารางงานอันแน่นเอี้ยดและการเดินทางอย่างชีพจรลงเท้าระหว่างประเทศบ้านเกิดอย่างฮ่องกง ไต้หวัน และไทย แต่เขาก็ใจดีและยินดีตอบคำถามยาวเหยียดหลายหน้ากระดาษของเราผ่านอีเมล และตัวอักษรด้านล่างนี้คือบทสนทนาอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยความรักในศิลปะและการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างสร้างสรรค์ผ่านงานศิลปะ

 

คุณรู้ตัวตั้งแต่เมื่อไหร่ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน LGBTQ

คงคล้ายกับชาว LGBTQ หลายๆ คน ผมใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นโดยเข้าใจว่าตัวเองเป็นคนเดียวในโลกที่ ‘ป่วยไข้’ จาก ‘ความผิดปกติ’ นี้ 

ผมเปิดตัวกับแม่ช่วงอายุยี่สิบปลายๆ และมันเป็นประสบการณ์ที่ทิ้งรอยแผลไว้ให้พวกเราทั้งคู่ แม่รับไม่ได้เลยสักนิดและกลัวว่าหากเพื่อนๆ และญาติๆ รู้เรื่องนี้ ครอบครัวของเราจะต้องอับอายขายหน้าอย่างถึงที่สุด เธอยืนยันให้ผมไปพบจิตแพทย์ ซึ่งผมก็ยอมทำตาม หากเทียบกับมาตรฐานของทุกวันนี้ การทำเช่นนี้ออกจะไม่ถูกต้องทางการเมือง (politically incorrect) แต่ผมก็ดีใจที่ตัวเองยอมไป เพราะว่าจิตแพทย์เป็นคนทำให้แม่ผมยอมรับได้ในที่สุดว่า นี่คือความจริง และผมไม่ได้ป่วยทางจิต

 

ฉันคิดว่ามีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเควียร์ชาวเอเชียแทบทุกคน นั่นคือครอบครัวจะไม่ยอมรับจนกว่าคุณจะพิสูจน์ให้เห็นว่าประสบความสำเร็จทางหน้าที่การงานแล้ว สิ่งนี้เกิดขึ้นกับคุณด้วยไหม

ผมเจอประเด็นนี้เหมือนกัน เมื่อก่อนผมช่วยครอบครัวทำธุรกิจ แต่เมื่อเห็นว่าแม่รับไม่ได้ ผมก็รู้เลยว่าถ้าอยู่ต่อ ผมไม่มีอนาคตแน่ๆ ผมรู้ว่าตัวเองถูกคาดหวังให้ใช้ชีวิตแบบไหน เงินเดือนที่ผมถูกคาดหวังให้หามาได้ใน 5, 10, 20 ปีข้างหน้า อพาร์ตเมนต์ที่ผมจะต้องอยู่ รถยนต์ที่ผมจะต้องขับ และชีวิตคู่ที่ผมจะถูกเกลี้ยกล่อมให้มี มันคงเป็นชีวิตที่สะดวกสบาย แต่ไม่ใช่ชีวิตที่ผมอยากได้ 

ผมจึงคว้าโอกาสแรกที่ผ่านเข้ามา เริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเองเพื่อที่จะได้เป็นอิสระ และสุดท้ายเมื่อธุรกิจของผมไปได้ดี ผมก็ได้รับทั้งอิสรภาพ ทั้งความเคารพจากพ่อแม่ ถ้าผมไม่หนีออกจากกรอบจำกัดของครอบครัว ผมคงไม่มีอิสรภาพหรือความมั่นใจในตัวเองอย่างที่ผมมีทุกวันนี้

 

การเป็นเกย์เปิดเผยในเอเชีย โดยเฉพาะในสามเมืองที่คุณใช้เวลาอยู่มากอย่างฮ่องกง ไต้หวัน และไทย เป็นยังไง มีอะไรที่เหมือนหรือต่างกันในแต่ละประเทศบ้าง

คนเป็นเกย์ต้องก้าวผ่านลำดับขั้นของการเหยียด ตั้งแต่ถูกทำให้เป็นพวกผิดกฎหมาย แปะป้ายว่าเป็นพวกวิตถาร จนถึงถูกเยาะเย้ยและหยามเหยียด ความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างหลากหลายเป็นข้อยกเว้น แทนที่จะเป็นเรื่องปกติที่ควรเป็น

ผมเลือกใช้เวลาส่วนใหญ่ในสามประเทศที่คุณว่ามา เพราะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั้งสามประเทศถือว่ามีความอดทนอดกลั้นต่อชุมชน LGBTQ กว่ามาก โดยจากสามประเทศนี้ ไต้หวันเป็นประเทศที่ก้าวหน้าที่สุด นอกจากกฎหมายที่นั่นจะรองรับการแต่งงานของเพศเดียวกันแล้ว พวกเขายังมีระดับความอดทนอดกลั้นสูงที่สุดอีกด้วย ทั้งในแง่การยอมรับจากสังคมโดยทั่วไป ซึ่งดูได้จากสื่อ การศึกษา และการรักษาทางการแพทย์ และโดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าในไต้หวันผมสามารถเปิดเผยเรื่องเพศสภาพได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกหัวเราะเยาะ

Patrick Sun | Courtesy of SUNPRIDE FOUNDATION

 

การเป็นเควียร์และการเป็นนักกิจกรรมไม่จำเป็นต้องมาคู่กันสักหน่อย ทำไมคุณถึงรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนการมองเห็นและสิทธิของชาว LGBTQ

ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของชุมชน LGBTQ ผมสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของเกย์มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นงานไพรด์ พาเหรด กีฬาเกย์ และอื่นๆ อีกมาก นิทรรศการศิลปะเป็นหนึ่งในหลากหลายวิธีที่จะทำให้ชุมชนของเราถูกมองเห็น และเป็นแพลตฟอร์มในการบอกเล่าประเด็นต่างๆ ที่สำคัญกับพวกเรา 

 

พูดถึงศิลปะ มันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคุณได้ยังไง

ผมเริ่มสะสมงานศิลปะเมื่อราวๆ สามสิบปีก่อน งานแรกที่ผมทำอยู่ที่ถนนฮอลลีวูดในฮ่องกง ซึ่งเป็นบริเวณที่ขึ้นชื่อเรื่องของเก่าและของแปลก ผมไปแถวนั้นบ่อยเพราะเรื่องงาน และเริ่มสนิทกับบรรดาร้านค้าบนถนนเส้นนั้น ผมก็เลยเริ่มสนใจภาพวาดลายเส้นแบบจีนโบราณ 

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาความสนใจของผมก็เปลี่ยนไปอยู่ที่ศิลปะร่วมสมัย ซึ่งผมมองว่ามันสร้างแรงบันดาลใจได้มากกว่าและน่าสนใจกว่า เวลาเดินทาง ผมและพาร์ตเนอร์ชอบไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยและแกลเลอรีต่างๆ เพราะยังไงวิวทิวทัศน์หรือสถานที่ท่องเที่ยวก็ยังจะอยู่ที่เดิม แต่นิทรรศการมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

 

ฉันคิดว่ามันมีเส้นบางๆ กั้นกลางระหว่างคนที่รักงานศิลปะกับนักสะสมงานศิลปะ คุณข้ามเส้นแบ่งนั้นมาได้ยังไง

ผมไม่ได้สะสมงานศิลปะเป็นจริงเป็นจังจนกระทั่ง 5 ปีก่อนตอนที่ก่อตั้ง SUNPRIDE FOUNDATION ตั้งแต่วันแรก ภารกิจของผมคือการอนุรักษ์และการจัดแสดงศิลปะเพื่อสนับสนุนสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งการสะสมโดยมีจุดมุ่งหมายเช่นนี้เองที่ทำให้ผมก้าวข้ามเส้นแบ่งนั้นมา

สำหรับผม ศิลปะเป็นทางหนึ่งในการสนับสนุนชุมชน LGBTQ คู่ขนานไปกับสิ่งอื่นๆ ที่ผมทำเพื่อสนับสนุนสิทธิเกย์ SUNPRIDE FOUNDATION มุ่งหวังจะหล่อหลอมสังคมที่เข้มแข็ง เป็นมิตร และเท่าเทียม สำหรับชาว LGBTQ และแนวร่วมของพวกเรา ผ่านการอนุรักษ์และการจัดแสดงงานศิลปะที่พูดกับสังคมในวงกว้าง 

งานศิลปะแบบไหนที่จับใจหรืออยู่ความสนใจของคุณมากที่สุด

เวลาผมพูดถึงศิลปะเกย์ ในเบื้องต้นมันหมายถึงงานศิลปะ 2 ประเภท หนึ่งคืองานศิลปะโดยศิลปิน LGBTQ และสองคืองานศิลปะโดยศิลปินรักต่างเพศที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ และพวกเราพยายามสะสมงานศิลปะหลากหลายแขนง ตั้งแต่วิดีโอ การแสดง ไปจนถึงประติมากรรม เพื่อสะท้อนถึงการยอมรับในเพศสภาพที่หลากหลาย

น่าเสียดายที่ผมไม่ได้รับการฝึกอย่างมืออาชีพและต้องพึ่งพาคำแนะนำจากเพื่อนร่วมงานในการสะสมงานศิลปะ ท้ายที่สุดผมหวังว่าสิ่งที่เราทำจะช่วยยกระดับความน่านับถือให้กับผู้คนในชุมชน LGBTQ ดังนั้นมันสำคัญมากที่เราจะนำเสนองานศิลปะที่ดี ไม่ใช่แค่งานศิลปะเกย์

 

ทำไมคุณถึงคิดว่าศิลปะเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม

“ศิลปะควรเป็นสิ่งที่ปลดปล่อยวิญญาณคุณให้เป็นอิสระ กระตุ้นให้เกิดจินตนาการ และทำให้คนกล้าที่จะก้าวไปได้ไกลกว่าเดิม” – Keith Haring

ผมเชื่อว่าศิลปะเป็นหนึ่งในหลายๆ เครื่องมือที่เปลี่ยนแปลงสังคมได้ ผมสนับสนุนให้ทุกคนทำอะไรมากขึ้นอีกนิด พยายามมากขึ้นอีกหน่อย เพื่อทำสิ่งที่คุณเชื่อให้สำเร็จให้ได้ ผมเชื่อในสิทธิที่เท่าเทียมสำหรับ LGBTQ ทุกคน ดังนั้นผมก็เลยทำในสิ่งที่ผมทำได้ ผมหวังว่าคนอื่นๆ จะรู้สึกเหมือนกัน

 

ตอนที่คุณจัดนิทรรศการครั้งแรก Spectrosynthesis—Asian LGBTQ Issues and Art Now ที่ Museum of Contemporary Art ณ กรุงไทเป เมื่อปี 2017 คุณได้เรียนรู้อะไรจากมัน

ตัวนิทรรศการได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้เข้าชมสูงที่สุดจนทำลายสถิติทั้งในช่วงสัปดาห์แรกที่เปิดตัวและตลอดสองเดือนที่จัดแสดง พวกเราหวังว่านิทรรศการนั้นจะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมเอเชีย ในแง่คุณค่า ไอเดีย และความคิด เกี่ยวกับประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ และจะช่วยสนับสนุนสิทธิที่เท่าเทียมในทุกสังคมทั่วโลก

 

ทำไมคุณถึงตัดสินใจพานิทรรศการนี้มาจัดแสดงในไทย และทำไมต้องเป็นที่หอศิลปกรุงเทพฯ

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นมิตรกับ LGBTQ มากที่สุดในภูมิภาคนี้ และกรุงเทพฯ ก็เป็นหนึ่งในเมืองที่ผมใช้เป็นบ้านในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นการนำนิทรรศการนี้มายังประเทศไทยถือเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผล 

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นมิตรกับเกย์ ภารกิจของ SUNPRIDE คือการตั้งเป้าหมายให้สูงกว่าความอดทนอดกลั้น เพื่อไปให้ถึงความเท่าเทียมในหลายระดับ ตั้งแต่โอกาสในการทำงานและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ไปจนถึงการคุ้มครองทางกฎหมายจากการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งสิทธิที่เท่าเทียมสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน 

พวกเราพยายามวางหลักไมล์โดยการจัดอีเวนต์ของเราในสถาบันที่เป็นสาธารณะ เพราะนั่นคือวิธีที่เราจะสื่อสารออกนอกห้องเสียงสะท้อน​ (echo chamber) และเปิดบทสนทนากับสาธารณชนทั่วไป หอศิลปกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในโลเคชั่นยอดเยี่ยมใจกลางกรุงเทพฯ และมีประวัติในการสนับสนุนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดังนั้นจึงเป็นพาร์ตเนอร์ที่เหมาะสมและสมเหตุสมผลสำหรับพวกเรา

 

นิทรรศการครั้งนี้มีอะไรที่เหมือนหรือต่างไปจากนิทรรศการครั้งก่อนบ้าง

ในแง่ของขนาด Spectrosynthesis II นั้นเป็นนิทรรศการที่ทะเยอทะยานกว่ามาก นิทรรศการครั้งแรกของ SUNPRIDE ที่ไต้หวันนั้นมีศิลปินเข้าร่วมทั้งหมด 22 คน และส่วนมากพวกเขามีเชื้อชาติจีน แต่นิทรรศการครั้งนี้มีศิลปินเข้าร่วมทั้งหมด 59 คนจากหลายประเทศในเอเชีย เช่น ไทย อินเดีย ศรีลังกา เขมร เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ด้วยความที่หอศิลปกรุงเทพฯ มีพื้นที่กว้างขวาง เราจึงจัดแสดงผลงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ด้วย 

 

ขั้นตอนการคิวเรตนิทรรศการกับหอศิลปกรุงเทพฯ เป็นยังไงบ้าง

พวกเรารู้สึกโชคดีมากที่คุณฉัตรวิชัย (ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที) ตกปากรับคำเป็นภัณฑารักษ์สำหรับนิทรรศการนี้ ในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้งหอศิลปกรุงเทพฯ เขามีความรู้กว้างขวางเกี่ยวกับศิลปะไทยและศิลปะในภูมิภาคอาเซียน เรานึกไม่ออกเลยว่าจะมีใครเหมาะสมกับการคิวเรตนิทรรศการนี้ไปมากกว่าเขา 

เรานำเสนองานศิลปะในคอลเลกชั่นของ SUNPRIDE FOUNDATION ให้กับคุณฉัตรวิชัย เพื่อที่เขาจะมีพื้นฐานบางอย่างให้ทำงานต่อ แต่ท้ายที่สุดแล้วการตัดสินใจว่าจะใส่อะไรในนิทรรศการ อะไรที่ต้องยืมมา หรือสั่งทำขึ้นใหม่ ก็ขึ้นอยู่กับคุณฉัตรวิชัยล้วนๆ

ซ้าย | ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที

ช่วยยกตัวอย่างศิลปินที่ร่วมนิทรรศการได้ไหม มีงานชิ้นไหนที่คุณรู้สึกใกล้ชิดด้วยเป็นพิเศษไหม

งาน We The People ของ Danh Vo สร้างแรงบันดาลใจให้ผมคิดถึงหลากหลายแง่มุมของเสรีภาพ งาน A Stitch in Time ของ David Medalla ซึ่งสร้างมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขา ทำให้ผมคิดว่าเราสามารถรวมตัวกันเพื่อทำงานที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในสเกลใหญ่ได้ และงานเปเปอร์คัตของ Xiyadie ซึ่งแสดงให้เห็นความสับสนวุ่นวายของการเปิดตัว ก็เป็นสิ่งที่ผมเชื่อมโยงด้วยได้   

We The People by Danh Vo | Courtesy of bacc

A Stitch in Time by David Medalla | Courtesy of bacc

ผลงานเปเปอร์คัตของ Xiyadie | Courtesy of bacc

ผลงานของศิลปินบางคนดูจะเป็นส่วนตัวมากๆ คุณคิดว่างานที่เป็นส่วนตัวจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ยังไง

ผมคิดว่าเรื่องราวส่วนตัวเป็นเรื่องราวที่ประทับใจที่สุดเสมอ ถ้าผลงานของคุณกระทบใจผู้ชมได้ คุณก็มีโอกาสที่จะเอาชนะใจพวกเขาได้มากขึ้น อย่างเช่นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่สำหรับงานนี้โดยเฉพาะ อย่าง Welcome to My World ของศิลปินไทย อริญชย์ รุ่งแจ้ง ซึ่งสร้างมาจากความทรงจำในวัยเด็ก ก็มีเรื่องราวที่กระทบใจอย่างลึกซึ้ง

Welcome to My World โดย อริญชย์ รุ่งแจ้ง | Courtesy of bacc

ผู้ชมคาดหวังอะไรได้จากนิทรรศการนี้

นอกจากนิทรรศการแล้ว หอศิลปกรุงเทพฯ ยังจัดโปรแกรมอื่นๆ เช่น เสวนากับศิลปินและการแสดงสดเพื่อดึงให้ผู้ชมในวงกว้างได้มีส่วนร่วมในประเด็นนี้ เช่น การแสดง Land of a Thousand Rainbows โดยศิลปินระดับภูมิภาคอย่าง Ming Wong, Bradd, Radha, Tamarra, Josh Serafin และ Amadiva ซึ่งเป็นโชว์เปิดนิทรรศการเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน นอกจากนี้ยังมีบริการนำชมนิทรรศการทุกวันด้วย 

เรามีศิลปินมากถึง 59 คนจากหลากหลายประเทศทั่วทั้งทวีปเอเชีย ซึ่งในบางพื้นที่นั้นรุนแรงกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เรามีคอลเลกชั่นงานศิลปะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ภาพลายเส้น ประติมากรรม วิดีโอ การแสดงสด และงานที่ผู้ชมมีส่วนร่วมได้ เรามีตั้งแต่งานศิลปะแบบดั้งเดิม งานศิลปะเชิงคอนเซปต์ ไปจนถึงงานที่ถ่ายลงอินสตาแกรมได้สวยๆ ทั้งหมดนี้อยู่ในโลเคชั่นที่เดินทางได้สะดวกสุดๆ แถมยังเข้าชมฟรี มีอะไรให้คุณไม่ชอบด้วยเหรอ?


Spectrosynthesis II—Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia จัดแสดงอยู่ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ตั้งแต่วันนี้ – 1 มีนาคม 2563

AUTHOR