“ความเห็นไม่ใช่ความจริง” ถกถามกับลูกกอล์ฟในวันที่อยากให้มีการถกถามในสังคม

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนผมสนทนากับ ลูกกอล์ฟ–คณาธิป สุนทรรักษ์ เขาเพิ่งประกาศ social media detox จากทวิตเตอร์ของตัวเองสัก 2-3 วัน

เปล่า, ไม่ใช่เพราะดราม่าหนักหน่วงใดๆ แต่การหยุดพักจากโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่ลูกกอล์ฟมักทำอยู่แล้วก่อนหน้านี้เพื่อเยียวยาตัวเอง

“ถ้าสุขภาพจิตเริ่มเสียหาย เราก็ต้องออกมาบ้าง” ข้อความในทวิตเตอร์เขาว่าไว้อย่างนั้น

และโลกออนไลน์นี่แหละคือหนึ่งในหัวข้อที่พาให้ผมมาคุยกับเขาในวันนี้

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ลูกกอล์ฟและ SpokeDark TV ได้ร่วมกันสร้างรายการยูทูบที่มีชื่อว่า ‘ถกถาม’ 

อธิบายอย่างง่าย นี่คือรายการที่หยิบคนจากหลากหลายวงการและหลากหลายความเชื่อมาล้อมวงนั่งสนทนา โดยในแต่ละ EP จะหยิบหัวข้อมาให้แขกรับเชิญได้ถกถามและแสดงความเห็นกัน

คนดังและการแสดงความเห็นทางการเมือง, ปัญหาอำนาจนิยมในโรงเรียน, ประเทศไทยและ LGBTQ+, การุณยฆาต, บิวตี้สแตนดาร์ด, sex worker, ทำแท้งเสรี และมิติใหม่ของเซ็กซ์

เหล่านี้คือเนื้อหาของรายการทั้ง 8 ตอน ซึ่งทุกตอนลูกกอล์ฟจะทำหน้าที่เป็นกึ่ง moderator กึ่งแขกรับเชิญเพื่อสร้างการถกถามที่ดีและนำเสนอ ซึ่งในเบื้องต้น รายการ ถกถาม กลายเป็นที่พูดถึงในแง่บวกตั้งแต่ช่วงแรก ดูได้จากการที่รายการขนาดยาวนี้มีผู้ชมในแต่ละ EP หลายแสนครั้ง หรืออย่าง EP ที่พูดถึงปัญหาอำนาจนิยมในโรงเรียนก็มีผู้ชมกว่าหนึ่งล้านครั้ง

น่าเสียดายที่ช่วงนี้ ถกถาม ต้องหยุดพักการถ่ายทำเพราะพิษโควิด-19 แต่อีกสิ่งที่ผมสนใจและดูเหมือนจะต่อเนื่องมาจากรายการคือการที่ลูกกอล์ฟยังคงสร้างการถกถามขึ้นในโลกออนไลน์ต่อ

ช่วงหนึ่งเดือนในการระบาดรอบใหม่นี้ ลูกกอล์ฟเป็นหนึ่งคนที่ใช้พื้นที่สื่อในฐานะคนสาธารณะเพื่อสร้างการพูดคุยด้วยเหตุผลและการถกถาม ทั้งการชวนผู้ติดตามแชร์ความเห็นและข้อมูลเรื่องวัคซีน การตั้งคำถามต่อการจัดการของรัฐ ไปจนถึงการผลักดันประเด็นใหญ่อย่างสิ่งแวดล้อม

แน่ล่ะ ว่าบางครั้งการเลือกสร้างพื้นที่ตรงนี้ทำให้ลูกกอล์ฟได้รับคำคอมเมนต์ที่เห็นต่างหรืออาจลามไปถึงขั้นไม่น่ารักอยู่บ้าง (จนต้องทำ social media detox เป็นช่วงๆ) แต่ท่ามกลางสังคมที่การพูดคุยกันดูเป็นเรื่องยากขึ้น สิ่งที่เขาทำนั่นเองคือเหตุผลหลักที่ทำให้ผมอยากหยิบยกมาพูดคุยกับเขา

ทำไมเราต้องถกถาม อะไรคือข้อดีของการถกถาม และทำไมเราควรชวนคนมาถกถามกัน

เริ่มถกถามกับลูกกอล์ฟผ่านบทสนทนาในบรรทัดถัดไป

ถกถาม

ทำไมเมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนคุณถึงทวีตว่าจะ social media detox สักพัก

จริงๆ ไม่ได้มีเหตุผลในช่วงนี้เป็นพิเศษ แต่ถ้าต้องอธิบาย เราว่าต้องเริ่มต้นตั้งแต่การขีดเส้นไว้ก่อนว่าเราเป็นเด็นเจนฯ Y 

ถามว่าทำไม เพราะเราว่าเจนฯ Y น่าสนใจตรงที่เราโตมาในยุคที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต เรายังทันการเขียนจดหมายและโปสต์การ์ด ดังนั้นในแง่ของจิตใจ มันเหมือนเราอยู่ใน 2 โลกที่สามารถสะท้อนถามตัวเองได้เสมอว่าเราสะดวกอยู่ในโลกแบบไหนมากกว่า ดังนั้นการ social media detox ของเราจึงเป็นเหมือนการพาตัวเองกลับไปอยู่ในโลกยุคที่เราเติบโตมา โลกที่เรามีสิทธิเลือกว่าจะไม่ถูกโจมตีด้วยข้อมูลรายวันมากขนาดนี้

ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ในโลกออนไลน์มีเสียงคนอื่นอยู่เต็มไปหมด มันมีเสียง อารมณ์ หรือข้อความของคนอื่นเข้าหาเราตลอดเวลา ดังนั้นถ้าไม่ใช่คนจิตแข็งโดยไม่รู้ตัวเราก็จะเริ่มไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง การออกมาบางช่วงของเราเลยเป็นเหมือนการให้เวลาได้พูดคุยกับตัวเองบ้าง อีกอย่างคือด้วยบทบาทแล้วนักเรียนที่เราสอนก็มักจะเป็นวัยรุ่น เราก็จะเป็นห่วงพวกเขาเป็นพิเศษ เราเลยหวังว่าสิ่งที่เราทำนี้อาจไปสะกิดบางอย่างจากเขาได้ว่าพวกเขาเองก็สามารถใช้วิธีนี้ได้ 

อย่างก่อนที่จะสัมภาษณ์ก็เพิ่งมีนักเรียนทักมาขอบคุณที่เราทวีตไปว่าจะทำ social media detox นะ เพราะเขากำลังจม พอเห็นข้อความเราเขาเลยพาตัวเองออกมาเหมือนกัน 

ทำไมคนที่ไม่ได้จิตใจแข็งอย่างคุณถึงอยากสร้างการถกถาม เพราะในยุคนี้การสร้างพื้นที่แบบนั้นอาจเรียกร้องความแข็งแรงทางจิตใจประมาณหนึ่ง

แน่นอน เรารู้เรื่องแรงปะทะที่อาจเกิดขึ้นนะ (นิ่งคิด) แต่เราว่าด้วยความที่โตขึ้นด้วย มันถึงช่วงชีวิตที่เราเริ่มถามตัวเองว่าฉันทำอะไรกับเรื่องนี้ได้อีกบ้าง นั่นเลยเป็นที่มาที่ไปของรายการ ถกถาม

ถกถาม เป็นรายการที่เกิดขึ้นจากการที่เราปรึกษากับพี่อ้อม สุนิสา ว่าเราอยากมีแพลตฟอร์มการพูดคุยที่ไม่ว่าจะโกรธกันแค่ไหนก็ห้ามด่ากันหรือ walk out เราอยากมีพื้นที่แบบนั้น เราอยากสร้างบรรยากาศการพูดคุยที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งถ้าถามลึกลงไปอีกว่าเพราะอะไร เราว่าก็เพราะเราโตมากับแพลตฟอร์มนี้ที่บ้าน

เราเป็นเด็กที่โตมากับความขัดแย้งในครอบครัว พ่อไม่เข้าใจที่เราเป็นเกย์ แต่ในขณะเดียวกันไม่ว่าจะโกรธแค่ไหนเราก็ไม่สามารถด่าป๊าได้ ดังนั้นด้วยสถานการณ์แบบนี้มันทำให้เราโตมาโดยการพูดคุยเพื่อหาทางเปลี่ยนใจอีกฝ่ายอยู่เสมอ และมันยังทำให้เราเป็นคนที่อดทนมาก ซึ่งเราว่าตรงนี้เป็นจุดแข็งในการสร้างการถกถามและเป็นจุดแรกที่ทำให้เราคิดว่า ‘แล้วฉันสามารถสร้างพื้นที่แบบนี้บ้างได้ไหม’ จากตรงนั้นแหละที่ ถกถาม เกิดขึ้นมาโดยร่วมมือกับโปรดักชั่นของ SpokeDark TV

แล้วทำไมต้องเป็นช่วงนี้ที่คุณอยากสร้างพื้นที่แบบนี้ขึ้นมา

เราว่ามันมาจาก 2 ข้อ ข้อแรกคือเราไม่ค่อยเห็นว่ามีรายการแบบนี้ที่ทำถึง ดังนั้นถ้าอยากให้มี เราก็ทำเอง ข้อสองคือเราว่ามันถึงช่วงวัยที่ตัวเองเริ่มรู้สึกอยากมีประโยชน์แล้ว

เราว่ามนุษย์แทบทุกคนอาจคล้ายเรา คือพอพาตัวเองไปถึงจุดที่ตั้งใจ ได้ทุกอย่างอย่างที่อยากได้แล้ว มันจะมีคำถามตามมาว่า ‘แล้วยังไงต่อ อะไรคือสิ่งที่ฉันอยากทำ อะไรคือหมุดหมายในชีวิต’ ซึ่งสำหรับเรามันคือการทำตัวเองให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น กับตอนนี้มันเลยออกมาเป็น ถกถาม ซึ่งเรากล้าพูดนะว่านี่คือหนึ่งในรายการที่ภูมิใจที่สุดในชีวิต มันมีประโยชน์ในทุกมิติตั้งแต่คนทำ แขกที่มาร่วมรายการ และคนดู

ถกถาม

ดูจาก 8 ตอนที่เกิดขึ้น มันเป็นอย่างที่คุณหวังไหม

(พยักหน้า) แต่ก็เสียดายที่ต้องพักไปเพราะโควิด-19 เพราะเรามีแพลนในการทำอีกหลายประเด็น เราอยากหยิบ ‘เรื่องที่ควรต้องคุย’ ออกมาถกถามกันผ่านมุมมองที่รอบด้านให้ได้มากที่สุด

คนที่มาในรายการ ถกถาม ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่ง ไม่ต้องทำการบ้านมาก่อนด้วยซ้ำ ขอแค่คุณมาพร้อมคำถามและความสงสัยเพื่อหยิบมาถกถามกัน ซึ่งตอนถ่ายทำจริงมันก็เป็นแบบนั้น ถึงเราจะทำหน้าที่เป็นเหมือนพิธีกร แต่ที่จริงมันคือการคุยกันไปเรื่อยๆ มากกว่า อาจมีหลงประเด็นบ้างแต่เราก็จะปล่อยเพราะมันคือบรรยากาศแบบครอบครัวที่เราอยากให้เป็น คือนั่งคุยและฟังกัน ไม่ขายดราม่าจากการปะทะ

ถามว่าเรารู้ไหมว่ารายการดราม่าน่าจะขายได้มากกว่า เรารู้นะ เพราะอย่างสมมติเราด่ากับจอห์น วิญญู แล้วเอามาตัดเป็นคลิป แค่นั้นก็ไวรัลได้แล้ว แต่เราไม่เอา เราไม่ทำ เพราะอย่างที่บอกว่าพอความตั้งใจตั้งต้นเราเริ่มจากแบบนั้น เราเลยอยาก normalize การคุยกันแบบปกติ จอห์นเองเลยไม่ต้องคุยแบบ เจาะข่าวตื้น ในรายการนี้ เราก็ไม่ต้องเป็นแบบ Loukgolf’s English Room ในรายการนี้ ทุกคนก็แค่เป็นตัวเอง เชื่อใจกัน เคารพกัน มี empathy ให้กัน และฟังกัน ซึ่งเราเชื่อว่านี่คือการสร้างค่านิยมประชาธิปไตยที่ดี

ฟังดูราบรื่น แล้วในความเป็นจริงมีความยากในการสร้างการถกถามตรงนี้บ้างไหม

อย่างหนึ่งเลยที่อยากให้คนที่ติดตามเข้าใจ คือในความเป็นจริงเราอยากให้แขกที่มามีหลากหลายความคิด แต่ถ้าดูจากคนที่มาในรายการตอนนี้ส่วนใหญ่จะมีความเชื่อในฝั่งลิเบอรัล ไม่ค่อยมีฝั่งคอนเซอร์เวทีฟเท่าไหร่ 

เราอยากคุยกับพวกเขานะ เพราะคิดง่ายๆ ว่าหลายเรื่องใน ถกถาม เราก็อยากเอาไปคุยกับป๊า เพียงแต่การหาแขกที่พร้อมมาคุยกันจริงๆ แล้วมีคิวว่างพร้อมกันเยอะขนาดนี้มันเป็นเรื่องที่ยากมาก มันไม่ใช่เงินจำนวนน้อยเลยกับรายการที่ไม่มีสปอนเซอร์ที่แน่นอน ดังนั้นนี่จึงเป็นโจทย์ต่อไปที่เราอยากให้เกิดขึ้นเมื่อรายการสามารถกลับมาถ่ายทำได้ เราอยากให้ที่ว่างตรงนั้นมีความหลากหลายมากกว่านี้

ถ้ารางวัลไม่ใช่ตัวเงินแน่ๆ แล้วรางวัลของการทำสิ่งนี้คืออะไร

(นิ่งคิด) เราว่าความสำเร็จของคนทำสื่อคือการที่เราส่งพลังอะไรไปแล้วเราได้ฟีดแบ็กแบบนั้นกลับมา สำหรับกรณีของ ถกถาม เราว่ามันคือการดูคอมเมนต์ของแต่ละ EP นั่นแหละ ถ้าลองไปดูจะเห็นเลยว่าส่วนใหญ่เขาจะพูดคุยกันเหมือนกับบรรยากาศของรายการ แทบไม่มีการด่ากันเลย

ถกถาม

รายการ ถกถาม เป็นเหตุผลหนึ่งด้วยหรือเปล่าที่ทำให้ช่วงหลังๆ คุณใช้โซเชียลมีเดียของตัวเองสร้างพื้นที่ในการพูดคุยมากขึ้น

เราว่ามันมาพร้อมๆ กัน เพราะเราก็มองว่าการออกมาช่วงนี้เป็นสิทธิของเราที่อยู่ในกรอบประชาธิปไตย แต่ในฐานะของคนสาธารณะ เราก็พยายามพูดหลายๆ มุม โดยใช้ความอดทนมากเพราะด้วยความเป็นเจนฯ Y เราเลยเหมือนอยู่กลางเจนฯ ที่เป็นผู้ใหญ่มากๆ กับเจนฯ เด็กมากๆ แน่นอนว่าแรงปะทะมันเลยมีอยู่มาก ไม่ต้องไปไหนไกล เริ่มจากครอบครัวก่อนเลย

ว่ากันตามจริงครอบครัวไม่อยากให้เราพูดอะไรเลยด้วยซ้ำ เขามีความเชื่อว่าเราเป็นคนสาธารณะ ดังนั้นอย่าออกมาพูดเลยดีกว่า ซึ่งแค่นี้ก็เป็นแรงปะทะที่หนักแล้ว เพราะถ้าที่บ้านไม่มีความสุขเราก็พลอยไม่มีความสุขไปด้วย แต่ในที่สุดเราก็เลือกใช้วิธีขออนุญาตพวกเขาไว้ก่อนว่าเดี๋ยวเราจะพูดแบบนี้ แล้วมันจะมีแรงปะทะนะ ป๊าม้ารับได้ไหม ถ้าอันไหนเขาโอเคเราถึงค่อยปล่อยออกมา เพราะสุดท้ายในอีกมุม เราก็อยากให้การออกมาพูดของเราเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนที่ติดตามอยู่ว่าพวกเขาก็สามารถสร้างการพูดคุยแบบนี้ได้

เราไม่ได้จะบอกว่าห้ามนักเรียนโมโหนะ น้องโมโหได้ เกรี้ยวกราดได้ มันเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่เราแค่ชี้อีกมุมให้เห็นว่าทุกการแสดงออกของเรามีผลลัพธ์ตามมาเสมอ สิ่งที่เราทิ้งไว้ในโลกออนไลน์ไม่เคยหายไปไหน เราเองได้เรียนรู้และยอมรับผิดจากบทเรียนในอดีตแล้วที่พิมพ์อะไรไปโดยไม่ได้คิด ดังนั้นพื้นที่ถกถามที่เราพยายามทำเลยเป็นการทำให้เขาเห็นด้วยว่านักเรียนก็ต้องยอมรับผลที่ตามมาให้ได้ในทุกการแสดงออก

ถกถาม

แล้วโดยส่วนตัวคุณคิดยังไงกับความคิดที่ว่า ‘เป็นคนสาธารณะ อย่าออกมาพูดเลย อยู่เฉยๆ ก็ปลอดภัย’

เราว่าทุกวันนี้มันต่างไปเพราะการอยู่นิ่งๆ ก็มีผลของมัน ดังนั้นในเมื่อเป็นแบบนี้ เราเลือกซื่อสัตย์กับสิ่งที่ตัวเองอยากพูดดีกว่า

เอาจริงเราก็โตแล้ว ดังนั้นเวลาเราแชร์หรือแสดงความเห็นอะไรก็ตาม ด้วยวัยมันทำให้เราพอรู้แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราตระหนักอยู่แล้วถึงสปอตไลต์ที่ได้รับ แต่เราก็เลือกที่จะกดแชร์ความเห็นของตัวเองออกไป เพราะเรารู้ว่าในแรงปะทะหรือคำด่าที่อาจได้รับ มันมีอีกมุมที่มีประโยชน์อยู่

คุณอ่านคอมเมนต์ทั้งหมดไหม

อ่านบ้าง แต่ก็ถือว่าน้อย เพราะเราไม่ใช่คนว่าง (หัวเราะ) เราจะมีเวลาให้ตัวเองอ่าน อ่านเสร็จแล้วก็รีบออก แต่เอาเข้าจริงเท่าที่ดู เราว่าคำพูดแย่ๆ จากคนงงๆ มีน้อยนะ แทบไม่มีคำที่ลดทอนคุณค่าต่อกันเลย เพราะด้วยค่านิยมที่เราอยากสร้างการพูดคุยกันดีๆ การคุยกันในพื้นที่นั้นมันเลยออกมาดีตาม ก็เหมือนคอมเมนต์ในรายการ ถกถาม นั่นแหละ

เท่าที่ดูเวลาคุณโพสต์เพื่อสร้างพื้นที่การพูดคุยในเพจ คุณจะแบ่งโพสต์เป็น ‘การขอข้อมูล’ และ ‘การขอความเห็น’ ทำไมถึงแยกกันแบบนั้น

เพราะเราว่าเราอยู่ในยุคที่สื่อทั่วโลกไม่ได้สนใจจะรายงานเฉพาะความจริงอีกต่อไปแล้ว ตอนที่เราเรียนนิเทศฯ เราถูกสอนมาแบบนั้นนะ ว่าจรรยาบรรณสื่อคือการรายงานความจริงจากหลายๆ แหล่ง แต่ในปัจจุบันมันเปลี่ยนไป มันกลายเป็นเรื่องของเรตติ้งหรือการรักษาฐานคนดูที่เหมือนกับเรา 

คุณลองไปดูรายการข่าวตอนนี้สิ มีกี่รายการกันที่เล่าแต่ fact ทุกวันนี้เป็นรายการ opinion เสียส่วนใหญ่แล้ว ยกตัวอย่างเช่นเรื่องมาตรการเยียวของรัฐในช่วงโควิด-19 เอาจริงถ้าอ่านแค่ข้อเท็จจริง แป๊บเดียวก็อ่านจบแล้วนะ แต่พอคุณทำเป็นแบบ opinion หนึ่งชั่วโมงก็ไม่จบ เราเลยอยากทำให้เพจตัวเองเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนเข้าใจเรื่องบางเรื่องได้ง่ายขึ้นบ้าง อยากให้เป็นเซฟโซนที่คนจะเข้ามาอ่านแล้วแชร์กันได้ 

คิดยังไงกับสื่อในปัจจุบันที่บางแห่งก็ทำหน้าที่ไม่ตรงกับจรรยาบรรณที่คุณเรียนมา และดูไม่ได้สร้างบรรยากาศแห่งการถกถามสักเท่าไหร่

(นิ่งคิด) ถ้ามีพรหนึ่งประการเราอยากให้สื่อทั่วโลกหยุดอะไรแบบนี้ ในมุมมองส่วนตัวเราคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหามาก เพราะพอเรียนมาเราเลยเห็นผลที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย เช่น เราเห็นผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพาดหัวข่าวผิดๆ ว่ามันทำให้คนอ่านเข้าใจผิดได้มากขนาดไหน อย่างเราเองก็เคยโดนจนต้องเอาพาดหัวข่าวที่สื่อพาดถึงเรามาวงแก้ด้วยซ้ำ

เราจำได้ตอนนั้นเราออกมาพูดเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการพูดถึงข้อมูลเกี่ยวกับการปกปิดไทม์ไลน์โดยที่ไม่ได้ใส่ความคิดเห็นลงไป ปรากฏว่าสื่อ 3-4 เจ้าหยิบไปพาดหัวว่า ‘ลูกกอล์ฟฟาดนิ่มๆ!’, ‘ลูกกอล์ฟฉะ!’ ซึ่งเดี๋ยวก่อนนะ ตอนเราเรียนนิเทศฯ มา เราไม่เคยถูกสอนให้พาดหัวข่าวแบบนี้ เราเลยออกมาวงเลยว่าเปล่า ไม่ได้ฟาด ไม่ได้ฉะ คุณต้องอ่านหนังสือให้แตกสิ อย่ามาโยงมั่วๆ (นิ่งคิด) จะว่าไปนี่ก็อาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เราอยากทำ ถกถาม ก็ได้ เราอยากสร้างพื้นที่ที่ปราศจากเรื่องเหล่านี้บ้าง

สุดท้าย จำเป็นไหมที่ต้องเป็นคนดังถึงจะสามารถสร้างพื้นที่แบบที่คุณทำได้

(ส่ายหัว) เราว่าพื้นที่ที่เห็นอยู่นี้มันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสถานะของเรานะ โลกทุกวันนี้มันไม่ได้เรียกร้องให้คุณเป็นอินฟลูเอนเซอร์แล้วถึงจะทำแบบนี้ได้ แพลตฟอร์มต่างๆ มันช่วยให้คนธรรมดาแมสได้แล้ว ดังนั้นในเมื่อทุกคนมีลำโพงอยู่ในมือ เราเชื่อว่าทุกคนสามารถสร้างพื้นที่ถกถามกันได้ หรือจะไม่สร้างก็ได้เพราะนั่นก็เป็นสิทธิของคุณ

แต่ถ้าเลือกสร้าง โอเค ในบางกรณีคุณอาจเจอคนที่ไม่พร้อมแลกเปลี่ยนด้วย แต่เราว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ ดังนั้นคำถามแรกที่ต้องถามก่อนคือคนเหล่านั้นอยู่ในวงโคจรไหนของชีวิตคุณ สมมติเขาเป็นชาวเน็ตหนึ่งหน่วย ถ้าอยากเปลี่ยนความคิดเขาจริงๆ คุณลองดูก็ได้ แต่ถ้าใกล้เข้ามาหน่อยเป็นเพื่อนหรือครอบครัว คุณก็ต้องลองชั่งแล้วว่าความสัมพันธ์นั้นมีค่าแค่ไหน มันคุ้มไหมกับการได้สิ่งที่ต้องการแต่ว่าต้องแตกหักกัน ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ ซึ่งถ้าสุดท้ายเลือกแช่แข็งความสัมพันธ์ไว้และไม่พูดถึงเรื่องที่คิดเห็นต่างกันเลย เราว่าก็ทำได้ อย่างเราเองก็เลือกทำในบางกรณี แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะเปลี่ยนความเชื่อ ระหว่างนั้นเราก็ไปต่อกับความเชื่อในแบบของเราเองด้วย

เพราะนั่นก็เป็นสิทธิของเราในสังคมประชาธิปไตยเช่นกัน

AUTHOR