Boston Greenway : ยกระดับทางยกระดับด้วยการเปลี่ยนทางยกระดับให้เป็นพื้นที่สีเขียว

Highlights

  • 'Big Dig' คือโครงการสร้างทางและอุโมงค์เชื่อมต่อสนามบินโลแกนทางตะวันออกสู่ใจกลางเมืองบอสตันแทนทางยกระดับเดิม เพื่อให้รถไปวิ่งในอุโมงค์ใต้ดินแทน
  • โครงการนี้ได้รับการตัดสินว่า 'ล้มเหลวตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จ ด้วยข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบจนถึงทุกช่วงขณะของการก่อสร้าง
  • ด้วยงบประมาณที่บานจาก 2.8 พันล้านเหรียญไปถึงกว่า 8 พันล้านเหรียญ กับระยะเวลาก่อสร้างที่ล่าช้าไปถึง 8 ปี ถือเป็นฝันร้ายของชาวบอสตัน เพราะภาระหนี้จากค่าใช้จ่ายโครงการนั้นพวกเขาต้องแบกรับกันต่อไปอีกหลายปี

15 ปีคือเวลาที่ชาวบอสตันต้องอยู่กับโครงการก่อสร้างทางหลวงที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา เป็น 15 ปีแห่งความเจ็บปวด โกรธเกรี้ยว เบื่อหน่าย และเอือมระอา

เรากำลังพูดถึงโครงการ ‘Big Dig’ การสร้างทางและอุโมงค์เชื่อมต่อสนามบินโลแกนทางตะวันออกสู่ใจกลางเมืองบอสตัน โดยมีใจความสำคัญเป็นการทุบทางยกระดับกว้าง 6 เลนที่เคยตัดผ่ากลางเมืองเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตรทิ้ง เพื่อให้รถไปวิ่งในอุโมงค์ใต้ดินแทน

Big Dig เป็นโครงการที่ได้รับการตัดสินว่า ‘ล้มเหลว’ ตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จ ด้วยข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบจนถึงทุกช่วงขณะของการก่อสร้าง ผ่านข่าวแล้วข่าวเล่าที่ทำให้ชาวบอสตันส่ายหน้าและก่นด่าถึงงบประมาณสูงลิ่ว ไม่นับอุบัติเหตุที่คานของทางยกระดับหล่นลงมาทับรถยนต์ที่แล่นอยู่บนถนนด้านล่างจนทำให้มีผู้เสียชีวิต

ด้วยงบประมาณที่บานจาก 2.8 พันล้านเหรียญไปถึงกว่า 8 พันล้านเหรียญ (เทียบเท่ากับ 21.5 พันล้านเหรียญ หรือราว 6.7 แสนล้านบาทในปี 2020) กับระยะเวลาก่อสร้างที่ล่าช้าไปถึง 8 ปี เมื่อสิ้นสุดปี 2007 ฝันร้ายของชาวบอสตันก็จบลง

จะว่าไปแล้วก็ยังไม่ถึงกับจบสนิท เพราะภาระหนี้จากค่าใช้จ่ายโครงการนั้นพวกเขาต้องแบกรับกันต่อไปอีกหลายปี

ความฝันใหม่ในการรื้อถอนความฝันเก่า

จะว่าไปแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า Big Dig เป็นโครงการประวัติศาสตร์ที่มารื้อถอนประวัติศาสตร์ของอเมริกาอีกที นั่นคือโครงการก่อสร้างทางหลวง Interstate เชื่อมทั้งประเทศ ที่มีพระราชบัญญัติ Federal Aid Highway Act of 1956 เป็นหัวใจสำคัญ โดยทางยกระดับที่ถูกทุบทิ้งคือส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข I-93 ที่ตัดผ่านกลางเมืองบอสตันนั่นเอง

ชาวบอสตันใช้เวลาไม่นานหลังจากทางยกระดับนี้เปิดใช้ในปี 1959 ในการรับรู้ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการจราจรที่สาหัส ทิวทัศน์ที่ไม่เชื้อเชิญให้มอง ไปจนถึงการตัดขาดความสัมพันธ์ทางพื้นที่ของย่านต่างๆ อันเป็นปัญหาที่เมืองในอเมริกาซึ่งมีทางยกระดับตัดผ่านต้องเผชิญ

ความคิดของผู้ดูแลผังเมืองที่จะย้ายทางยกระดับลงไปอยู่ใต้ดินนั้นมีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 แต่ก็ต้องรอเป็นเวลากว่าทศวรรษที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ จะอนุมัติงบประมาณโครงการให้

แต่ก็ใช่ว่ามีงบประมาณแล้วจะทำได้ง่ายๆ เพราะโครงการที่ถือว่าเป็นบิ๊กไอเดียนี้มีความท้าทายทางวิศวกรรมมากมายรออยู่ นั่นรวมถึงการทำงานในพื้นที่ใต้ดินใกล้ชายฝั่ง โดยไม่สร้างความเสียหายให้กับอาคารที่อยู่ตลอดสองข้างทาง รวมถึงรถไฟใต้ดินที่แล่นอยู่ใกล้ๆ กัน

และแน่นอน เมืองต้องใช้งานได้ระหว่างการก่อสร้างโครงการ

 

รับไม่ได้สักอย่าง

แม้ว่าจะใช้ความก้าวหน้าทางวิศวรรมที่ดีที่สุดที่โลกมีในตอนนั้น ปัญหาและการแก้ปัญหาหน้างานก็เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่แปลกที่ความโกลาหลและแทบเป็นไปไม่ได้ของโครงการนี้จะได้รับการเปรียบกับการเดินทางไปดวงจันทร์

ระหว่างที่ฝุ่นตลบอยู่นั้น ไม่แปลกที่ชาวเมืองจะเต็มไปด้วยความรู้สึกหลากหลาย ซึ่งไม่มีความรู้สึกใดในเชิงบวก โดยเฉพาะในฐานะผู้เสียภาษีที่รู้สึกว่าตนจ่ายเงินให้กับโครงการโง่ๆ ที่ไม่มีใครต้องการ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่งอกออกมาบานเบอะ ซึ่งรัฐแมสซาชูเซตส์จะต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด (จากเดิมที่รัฐรับผิดชอบงบประมาณโครงการเพียงร้อยละ 20 โดยส่วนที่เหลือได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง)

และไม่แปลกที่ข่าวคราวความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน จะทำให้ชาวเมืองพากันตั้งข้อสงสัยถึงการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งรวมถึงโอกาสที่จะมีการคอร์รัปชั่น

แต่เมื่อฝุ่นหายตลบและโครงการเสร็จสิ้นลง ผลการศึกษาโดยฝ่ายตรวจสอบทั้งจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ไม่พบว่ามีการคอร์รัปชันที่ว่า ส่วนข้อกล่าวหาของ The Boston Globe สื่อหลักสำคัญของบอสตันที่ระบุว่างานนี้มีค่าเสียหายจากการออกแบบที่เต็มไปด้วยข้อผิดพลาดมากถึงหนึ่งล้านเหรียญ ก็ทำให้ผู้รับเหมายอมจ่ายเงินคืนให้เกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าว

 

ฝันร้ายที่เลือนลาง

เมื่อทุกอย่างผ่านพ้น ชาวเมืองบอสตันก็ได้พื้นที่สีเขียวใหม่ให้กับใจกลางเมืองของพวกเขา

เพราะทางยกระดับเก่าถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นแนวเส้นทางสีเขียว ในชื่อที่อุทิศให้แก่มารดาของประธานาธิบดีเคนเนดี ผู้ถือเป็นนักการกุศลคนสำคัญของเมืองบอสตันว่า Rose Fitzgerald Kennedy Greenway แนวสีเขียวนี้เชื่อมต่อสวนสาธารณะหลายแห่ง และในปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่สาธารณะเปี่ยมพลวัตที่ชาวบอสตันใช้สำหรับพักผ่อนหย่อนใจและทำกิจกรรมหลากหลายตลอดทั้งปี ไล่ตั้งแต่ศิลปะ สวนสนุก อาหารแบบ food trucks ไปจนถึงการเป็นตลาดแบบ farmers’ market

จากทางยกระดับที่ไม่ต่างจากอสูรกายที่ไม่มีใครอยากมองออกมาจากหน้าต่าง เปลี่ยนเป็นพื้นที่ที่สร้างภาพสดใหม่ให้กับเมือง นอกจากผู้คนจะมีพื้นที่ให้สำหรับใช้ชีวิตในที่โล่งเพิ่ม อาคารที่อยู่รายรอบก็ได้รับอานิสงส์ไปเต็มๆ ไม่นับการสัญจรระหว่างสนามบินกับเมืองที่ไม่ต้องผจญกับความวินาศสันตะโรเหมือนแต่ก่อน

กรีนเวย์ของบอสตันกลายเป็นเส้นทางสายสำคัญที่เทียบชั้นได้กับถนน Fifth Avenue ที่พาดผ่านเซ็นทรัลปาร์กของนิวยอร์ก ในปัจจุบันคนบางเจเนอเรชั่นได้ใช้พื้นที่โดยไม่รู้ถึงความเจ็บปวดในอดีตด้วยซ้ำ

เมื่อมาถึงวันนี้ จึงเป็นการยากที่จะบอกได้ว่าท้ายที่สุดแล้วโครงการแห่งความฝันใฝ่ในชื่อ Big Dig นี้ยังคงเป็นฝันร้ายครั้งใหญ่ของชาวบอสตันอยู่อีกหรือเปล่า หรือเป็นโครงการที่มีประสิทธิผลเพียงพอต่อการลงทุน (cost-effective) หรือไม่

ชาวบอสตันที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่กรีนเวย์ในวันนี้คงบอกได้เพียงว่า ต้นทุนของการอยู่กับอสูรกายไปตลอดกาลนั้นอาจประเมินค่าไม่ได้เช่นกัน

 

อ้างอิง

The Boston Globe

AUTHOR