สิ่งที่ เฟิด นักร้องนำวง Slot Machine เรียนรู้จากมหาวิทยาลัย

Highlights

  • ในวงดนตรีที่นับว่าเป็นตำนานของเมืองไทย ถ้าไม่มีวง Slot Machine ติดโผก็คงแปลกมาก เพราะด้วยความล้ำยุคและสื่อสารเรื่องที่ไม่เหมือนใคร ทำให้วงนี้อยู่ยั้งยืนยงผ่านกาลเวลามาได้นับสิบๆ ปี
  • เฟิด–คาริญญ์ยวัฒ ดุรงค์จิรกานต์ นักร้องนำ และหนึ่งในผู้ก่อตั้งวงอะลุ่มอล่วยที่เป็นวงเก่าของ Slot Machine ร่วมกับแก๊ก–อธิราช ปิ่นทอง ตั้งแต่ตอนเรียนชั้น ม. 2 ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาศิลปากร คือผู้ให้กำเนิดวงสุดล้ำวงนี้
  • แม้คนทั่วไปจะรู้จักและติดภาพเฟิดในรูปแบบนักร้องนักดนตรีมากความสามารถ แต่แท้จริงแล้วเขามีอีกหนึ่งความสนใจที่หลายคนอาจไม่รู้มาก่อน นั่นคือความสนใจด้านศิลปะที่ผูกติดกับเขามาตั้งแต่เด็ก ถึงขนาดทำให้เขาตัดสินใจเลือกเส้นทางการศึกษาช่วงมหาวิทยาลัยที่คณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

คาริญญ์ยวัฒ ดุรงค์จิรกานต์
รหัสนักศึกษา : 0446072
คณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ในวงดนตรีที่นับว่าเป็นตำนานของเมืองไทย ถ้าไม่มีวง Slot Machine ติดโผก็คงแปลกมาก เพราะด้วยความล้ำยุคและสื่อสารเรื่องที่ไม่เหมือนใคร ทำให้วงนี้อยู่ยั้งยืนยงผ่านกาลเวลามาได้นับสิบๆ ปี และไม่ว่าจะทำเพลงอะไรออกมา แฟนเพลงก็ยังให้การตอบรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

แน่นอนว่าเราคงไม่มีเพลงโปรดอย่าง คำสุดท้าย, ผ่าน, จันทร์เจ้า, เคลิ้ม, และ ฝัน ถ้าไม่มีสมาชิกวงที่ร่วมกันทำเพลงออกมา

เฟิด–คาริญญ์ยวัฒ ดุรงค์จิรกานต์ นักร้องนำ และหนึ่งในผู้ก่อตั้งวงอะลุ่มอล่วยที่เป็นวงเก่าของ Slot Machine ร่วมกับแก๊ก–อธิราช ปิ่นทอง ตั้งแต่ตอนเรียนชั้น ม. 2 ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาศิลปากร คือผู้ให้กำเนิดวงสุดล้ำวงนี้

กว่าจะมาเป็นเฟิดแบบทุกวันนี้ ทักษะด้านดนตรีที่เป็นทั้งพรสวรรค์และพรแสวงที่เขาเพียรศึกษาฝึกฝนได้มอบผลลัพธ์สุดล้ำค่า ทำให้เขาได้ทำในสิ่งที่อยากทำและได้เป็นในสิ่งอยากเป็นมาตลอด

แม้คนทั่วไปจะรู้จักและติดภาพเฟิดในรูปแบบนักร้องนักดนตรีมากความสามารถ แต่แท้จริงแล้วเขามีอีกหนึ่งความสนใจที่หลายคนอาจไม่รู้มาก่อน นั่นคือ ความสนใจด้านศิลปะที่ผูกติดกับเขามาตั้งแต่เด็ก

เฟิดมองว่าศิลปะมีบทบาทสำคัญในชีวิตและความสำเร็จของเขาไม่แพ้ดนตรี เราจึงถือโอกาสนี้ชวนทุกคนย้อนวันวานไปดูเขาในเวอร์ชั่นนักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ ในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร และเล่าถึงวิชากับชีวิตช่วงนั้นที่ส่งผลให้เขาเป็นเขาในปัจจุบันได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

1

“เราสนใจศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เพราะคุณพ่อคุณแม่พยายามให้ทำหลายๆ อย่าง แต่จะไม่บังคับ อย่างถ้าอยากเรียนปิงปอง ก็ส่งไปเรียนสัปดาห์หนึ่งแล้วค่อยฟีดแบ็กว่าจะเรียนต่อไหม ลองหลายๆ อย่าง ว่ายน้ำ เทนนิส ฟุตบอล แต่ศิลปะเป็นสิ่งเดียวที่เหลือมาถึงทุกวันนี้ หมายถึงว่าทำแล้วเรายังไม่เบื่อซะที มีสมาธิเวลาทำ ส่วนดนตรีมาเริ่มสนใจประมาณ ป.5-6 เพราะเวลาไปโรงเรียน คุณพ่อจะเปิดเพลงฟังบนรถเวลาไปรับ-ส่งเรา แล้วเราก็มาเลือกฟังที่ชอบเองจริงๆ ตอนนั้นก็ฟังดนตรีร็อกและฮิปฮอป จนมาตั้งวงกับแก๊กที่เป็นยุคเริ่มแรกของสล็อตแมชชีน เพราะตอนนั้นมีวิชาเรียนดนตรีสากล ซึ่งทุกชั้นปีจะมีวงประจำของตัวเอง”

แม้ครอบครัวจะส่งเสริมให้เรียนนั่นเรียนนี่มากมาย แต่กลายเป็นว่าดนตรีคืออย่างเดียวที่เขาไม่ได้เรียน ซึ่งก่อนจะรับตำแหน่งร้องนำ เฟิดรับหน้าที่ตีกลองมาก่อน จนภายหลังพบว่าเพื่อนร่วมวงตีกลองเก่งกว่า เขาจึงย้ายมารับหน้าที่ร้องนำอย่างเดียว

“คิดว่าที่มาถึงทุกวันนี้ได้เป็นเพราะประสบการณ์ จริงๆ แล้วเราก็เรียนดนตรีแหละแต่ไม่ได้เรียนในรูปแบบการเรียนการสอน เราเรียนจากการฟังและฝึกฝนเอง มันคือการก๊อบปี้ จุดเริ่มต้นคือฟังและร้องให้เหมือนเขามากที่สุด ทั้งความรู้สึก การหายใจ และการออกเสียง มันจะได้เทคนิคของคนคนนั้นและมาต่อยอดฝึกเอง บวกกับความโชคดีที่เราเป็นคนไม่ตะโกนร้องเพลง เหมือนโปรเจกต์เสียงตามธรรมชาติ เคยมีครั้งหนึ่งที่ป่วยแล้วไปหาคุณหมอ เขาก็ส่งไปหา specialist ที่สอนร้องเพลง และทดสอบโดยให้ทำแบบฝึกหัด เขาจะเล่นเปียโนหลายๆ แบบและให้เราร้องตาม เพื่อเช็กเส้นเสียงและวิธีการร้อง ก็ไม่มีปัญหา เหมือนร้องถูกวิธีแล้ว เป็นพรสวรรค์ที่เราไม่รู้ตัว”

พอฟอร์มวงกันเป็นกิจจะลักษณะแล้ว เฟิดและวงก็พากันประกวดรายการดนตรีมาเรื่อยๆ จนกระทั่งชนะรายการใหญ่อย่าง Hotwave Music Awards ในช่วงที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และหายไปซุ่มฝึกฝนอยู่พักใหญ่ เพื่อเทิร์นจากศิลปินฝึกหัดมาเป็นศิลปินมืออาชีพในช่วงที่เขากับเพื่อนเริ่มต้นชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

2

ช่วงนั้นแม้เฟิดจะรู้ว่าตัวเองมีพรสวรรค์ทางดนตรีและไปต่อได้ไกลแน่ๆ แต่เขาก็ไม่คิดเปลี่ยนแปลงความมุ่งมั่นที่จะเรียนต่อด้านศิลปะ เพราะด้วยความชอบที่หล่อหลอมมาตั้งแต่เด็กและได้รับชุดความคิดจากคนแวดวงจิตรกรรม ‘ศิลปะ’ จึงเป็นเส้นทางที่เขาเลือกศึกษาต่อตั้งแต่ชั้นมัธยมแล้ว

“ตอนนั้นเหมือนเรารู้ตัวว่าเรามีต้นทุนทางศิลปะเยอะเพราะทำมาตั้งแต่เด็ก รู้สึกว่าอยากจะสานต่อและทำสิ่งนี้ให้จริงจังที่สุด อย่างดนตรีเป็นแค่งานอดิเรกเฉยๆ แต่เหมือนทำแล้วมันดีขึ้นๆ เลยรู้สึกโอเค เราทำดนตรีกับเพื่อนเป็นโปรเจกต์ที่ทำแล้วสนุก มีความสุข และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วย ทำแล้วรู้สึกว่าเราพัฒนากับเพื่อนไปเรื่อยๆ เราเลยเลือกที่จะให้ความสำคัญกับศิลปะมากที่สุดแทน เพราะอันนี้เป็นเหมือนกับการพัฒนาตัวเองคนเดียว รู้สึกว่าศิลปะน่าจะให้เรื่องความคิดสร้างสรรค์ได้ และที่เราชอบเรียนศิลปะ เพราะคิดว่าสุดท้ายแล้วการเรียนศิลปะมันคือการเรียนธรรมชาติ เหมือนกับเราได้ศึกษาธรรมะไปด้วย รู้สึกว่าตรงนี้ส่งผลกับความคิดมากๆ เลยรู้สึกว่าถ้างั้นไปทางศิลปะแล้วกัน เพื่อที่อย่างน้อยวันหนึ่งเราร้องเพลงไม่ไหว เรายังมีชุดความคิดที่ถูกขัดเกลามาตั้งแต่เด็ก เหมือนเรียนศิลปะแล้วทำอะไรก็ได้”

แล้วทำไมถึงอินศิลปะได้ขนาดนั้น เราตั้งคำถาม

“จุดเริ่มต้นด้านศิลปะของเรามาจากการคลุกคลีอยู่กับอาจารย์คณะจิตรกรรม เพราะท่านเป็นเพื่อนกับพ่อ พ่อเราเป็นนักกีฬาฟุตบอล พอเตะบอลก็เลยมีเพื่อนๆ หลายวงการ หนึ่งในนั้นคืออาจารย์สุรพล แสงคำ ที่เราเรียกว่าคุณอา เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่คณะจิตรกรรม แต่ตอนนี้ท่านเสียไปแล้ว ช่วงนั้นพ่อก็ส่งไปเรียนกับอาจารย์ทุกเสาร์-อาทิตย์ เหมือนไปบ้านเพื่อนพ่อ ก็เรียนกับลูกเขาด้วย เรียนทางสาย fine art และได้รับชุดความคิดมาจากจิตรกรตลอด แต่มามีจุดเปลี่ยนนิดหนึ่งตรงที่พอถึงเวลาที่ต้องเลือกเรียนจริงๆ เราก็อยากจะเลือกดีไซน์ เลยเลือกคณะมัณฑนศิลป์ เพราะรู้สึกว่าตัวเองมีความเป็นศิลปินอยู่แล้ว ถ้าเราเลือกจิตรกรรม มันจะต้องติสท์แตกเกินไปจนคนอาจไม่เข้าใจหรือเราอาจจะหลุดเกินไป”

ด้วยความที่เฟิดชอบอ่านชอบศึกษาชีวประวัติและผลงานของศิลปินผู้มีชื่อเสียง ซึ่งส่วนใหญ่วพวกเขาจะเป็นที่รู้จักก็ต่อเมื่อตายไปแล้ว หรือถ้ายังมีชีวิตอยู่ บางคนก็สุดโต่งเกินไป จนคนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ เขาจึงอยากบาลานซ์ตรงนี้ให้เหมาะสม เพื่อที่ทุกคนจะได้เข้าใจสิ่งที่เขาต้องการสื่อสาร และรับรู้ถึงผลงานที่เขาทำตั้งแต่ตอนยังมีชีวิตอยู่

“ตอนนั้นเราอยากทำให้ความเป็นศิลปินมีความคิดของนักออกแบบรวมอยู่ด้วย ความคิดของนักออกแบบคือไม่ได้คิดเป็นเพียวอาร์ต แต่มีวิธีการนำเสนอ มีลำดับขั้นตอน และมีการพรีเซนต์ที่เหมือนกับนักออกแบบ เลยรู้สึกว่าถ้ามีหัวของศิลปินแล้วใช้วิธีพรีเซนต์สื่อสารแบบนักออกแบบ มันน่าจะพอดีกันมั้ง ไม่งั้นจะติสท์แดกไปเลยแบบที่คนชอบพูด”

3

พอก้าวสู่วัยมหาวิทยาลัย เฟิดรู้สึกว่านี่คือการโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ทันทีทันใด จากเด็กที่เคยมีครอบครัวและครูบาอาจารย์ดูแล เขาต้องออกมาอยู่หอเองคนเดียว รับผิดชอบชีวิตตัวเอง

“ช่วงมัธยมเรามีเพื่อนเยอะ แต่จะมีเล็กๆ มุมหนึ่งว่าบางทีเราก็คุยกับใครไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือว่าเราเป็นคนคิดไม่เหมือนคนอื่น แต่พอเข้าไปที่คณะมันเหมือนกับมีคนแบบเราอยู่ ที่ชอบดูหนังฟังเพลงสไตล์เดียวกัน ชอบศิลปินคนนี้ ชอบเพราะแบบนี้ๆ เลย เหมือนไปเจอคนคุยภาษาเดียวกัน อาจารย์ก็ด้วย ความคิดบางอย่างที่ถ้าเป็นเพื่อนมัธยมเขาจะหาว่าติสท์แดก ทำไมมันคิดแบบนี้ อาจจะมองเป็นก้าวร้าวหรืออะไรด้วยซ้ำไป ตีความหมายไปในทางที่ไม่ดี แต่ว่าอันนี้ทุกคนคิดทันกัน คิดคล้ายๆ กัน เป็นสังคมกึ่งๆ ฝรั่งนิดหนึ่ง จะมีความเปิดมากกว่า เพื่อนผู้หญิงผู้ชายเท่าเทียมกัน โดยที่บริสุทธิ์ใจจริงๆ ไม่ได้หลอกแต๊ะอั๋ง มีเพื่อนผู้หญิงหลายคนที่คุย กอดคอ นอนด้วยกันได้”เขาย้อนวันวานให้เราฟังด้วยใบหน้าเปี่ยมสุข

นอกจากสังคมกับผู้คนที่เปลี่ยนไปแล้ว วิธีการเรียนก็เปลี่ยนจากตอนที่เขาเรียนมัธยมเช่นเดียวกัน ด้วยความที่เฟิดมีความขบถในตัว การเรียนแบบมหาวิทยาลัยจึงตอบโจทย์เขามาก โดยเฉพาะวิชาที่เปิดให้ผู้เรียนแสดงความคิดเป็นตัวเองได้เต็มที่

“วิชาที่ชอบมากจะเป็นวิชาที่ได้โชว์ไอเดีย จำไม่ได้ว่าเรียกว่าวิชาอะไร ออกแบบ 1 หรือออกแบบ 2 วิชามันก็ชื่อตรงๆ นี่แหละ แต่ก็มีความย้อนแย้งกันอยู่บ้าง เพราะเราเป็นคนเรียนดีไซน์ที่มีความคิดแบบศิลปิน คือเราจะมีแนวทางของเราชัดเจนมาก อาจารย์ดูงานแล้วรู้ว่านี่คืองานเรา เพื่อนเห็นปุ๊บก็รู้ว่านี่คืองานเฟิด จะมีความคิดแบบศิลปินอยู่เยอะ กับเพื่อนๆ บางคนบางกลุ่มที่ไม่ได้มีตัวตนไม่มีสไตล์ สไตล์ของเขาจะเป็นทำยังไงก็ได้ให้ได้ A+ คือเขารู้ว่าอาจารย์ชอบแบบนี้ก็ทำแบบนี้ แต่เราจะดื้อ เราจะไม่ ถ้ารู้ว่าอาจารย์ชอบแบบนี้ี ฉันจะทำแบบที่อาจารย์ไม่ชอบ ขบถไปเลย เพราะเรารู้สึกว่ามันคือการศึกษา ถ้าเราไม่ลองตอนนี้จะไปลองตอนไหน ไปลองตอนทำงานเหรอ ไปลองกับลูกค้าเหรอ ได้เหรอ ไม่น่าได้มั้ง” เขาชวนตั้งข้อสงสัยด้วยท่าทีตลกๆ จนเราหลุดขำ

และด้วยความที่มีโอกาสทำงานจริงตั้งแต่ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เฟิดจึงจำเป็นต้องโตกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน ซึ่งสำหรับเขาแล้ว นั่นถือเป็นประสบการณ์ที่ดีและคิดว่าคงหาไม่ได้ง่ายๆ

“อยู่ตรงนี้ก็ได้เปรียบเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน เพราะว่าเราทำงานก่อนเพื่อนๆ พวกเขายังอยู่กับเกรด การสอบ และการทำงานส่งอยู่ แต่เราอยู่กับชีวิตแล้ว เราหารายได้เองแล้ว เราขึ้นอยู่กับความเป็นความตายแล้ว แต่เขายังอยู่ในระบบอยู่ ซึ่งเราอยู่เหนือระบบ เป็นการมองย้อนกลับมาแล้ว ก็เป็นประสบการณ์ชีวิตที่คนอื่นน่าจะหายาก และเรารู้สึกว่าเราได้เปรียบ เพราะตอนทำงาน เราก็ดึงเพื่อนที่เก่งๆ บางคนไปทำงานด้วย ทำให้เข้าใจทั้งคนเรียนศิลปะและคนที่ไม่ได้อยู่ด้านนี้ สมมุตคนเรียนศิลปะอยู่ฝั่งซ้าย คนทำงานออฟฟิศอยู่ฝั่งขวา เราอยู่ตรงกลาง เราต้องคุยกับสองคนนี้ให้รู้เรื่อง ให้งานมันออกมาให้ได้ เราต้องคอยเป็นคนประนีประนอมไกล่เกลี่ย ถ้าเราเข้าใจเพื่อนว่าเขาคิดอะไรรู้สึกอะไร และเราก็เข้าใจคนทำงานออฟฟิศว่าทำไมเขาถึงไม่เข้าใจหรือเขาคิดแบบไหน มันจะทำให้เราได้รับทั้งสองฝ่าย เหมือนเราเอาตัวเองมาผสมกัน เป็นคนทำงานศิลปะที่ทำกับระบบได้ เป็นนักธุรกิจที่ทำงานศิลปะได้”

จากส่วนผสมที่มาจากประสบการณ์เหล่านี้นี่เองที่ทำให้เฟิดมีความเป็นตัวเองสูงและยังคงสื่อสารความตั้งใจกับคนหมู่มากได้ แม้ทุกวันนี้เขาจะไม่ได้ทำงานศิลปะโดยตรง แต่บทเพลงและแนวคิดต่างๆ ของวงล้วนได้รับอิทธิพลมาจากการเรียนศิลปะทั้งสิ้น

และอย่างที่เห็นกัน เราคิดว่า Slot Machine ก็คือผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซของนักเรียนศิลปะคนนี้นี่แหละ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่