นางสาวอรัชพร โภคินภากร
รหัสนิสิต 5545142828
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หากพูดถึงนักแสดงรุ่นใหม่ที่ถ่ายทอดการแสดงได้อย่างสมบทบาท เราเชื่อว่าชื่อของ ก้อย–อรัชพร โภคินภากร จะเป็นหนึ่งในนักแสดงที่เรานึกถึง
เพราะที่ผ่านมา ก้อยทำให้บทบาทของตัวละครอย่าง ดิว นักเรียน ม.ปลายในซีรีส์ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น หรือชมพู่ เพื่อนสายฮาของแก๊งโอในซีรีส์ O-Negative เป็นที่จดจำของคนดูได้เพียงไม่กี่ตอนหลังจากออกอากาศ
เบื้องหลังการแสดงอันโดดเด่นของก้อยคือ การฝึกฝนและสะสมประสบการณ์ตั้งแต่การแสดงละครเวทีสมัยเรียนมหาวิทยาลัย แต่ก่อนจะก้าวเข้ามาสู่งานด้านการแสดง ก้อยเคยเป็นเด็ก ม.ปลายคนหนึ่งที่เรียนสายวิทย์-แพทย์เพื่อเตรียมตัวเป็นหมอตามความต้องการของครอบครัว และเมื่อถึงจุดที่เธอไม่สามารถทำตามที่ครอบครัวต้องการได้ คำถามที่ว่าเธอต้องการยึดอาชีพหมอจริงๆ หรือเปล่าจึงเกิดขึ้น ก่อนที่ก้อยจะตัดสินใจเบนเข็มมาสู่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แต่สุดท้ายการเลือกสายงานนิเทศศาสตร์ก็ทำให้เธอได้เรียนรู้งานการแสดง ไม่ว่าจะเบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง เมื่อเรียนจบเธอจึงได้โชว์ฝีมือทั้งงานแสดง ละครเวที และล่าสุด ก้อยได้มีโอกาสทำงานเบื้องหลังอย่างการร่วมเขียนบทซีรีส์ My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน ซึ่งทำให้เธอกลับมาคลุกคลีกับสายการแพทย์อีกครั้ง
ช่วงชีวิตมหาวิทยาลัยของก้อยหล่อหลอมให้เธอกลายมาเป็นนักแสดงที่มีพลังมากล้นได้ยังไง ก้อยจะพาเราย้อนความทรงจำในวัยเรียนไปด้วยกัน
01
“จริงๆ ตอนมัธยมเราเรียนวิทย์-แพทย์มาเพราะที่บ้านอยากให้เป็นหมอ ในห้องเราเพื่อนก็ทยอยสอบติดแพทย์กัน แต่เราไม่ติด ทีนี้มันจะเหลือรอบแอดมิชชั่น เราก็ตั้งคำถามว่า อ้าว แล้วจะเรียนอะไรดีล่ะ ก็เลยนั่งถามตัวเองว่าจริงๆ เราชอบทำอะไรกันแน่
“คือวิทย์-แพทย์ก็เรียนได้นะ อาชีพหมอมันก็ดี แต่ลึกๆ เราคิดว่าตัวเราอาจจะไม่ได้มีแพสชั่นกับสิ่งนี้อยู่แล้ว เราทำเพราะเหมือนเส้นทางมันปูมาแบบนี้ แต่เรายังไม่ได้วิเคราะห์ความชอบของตัวเองและเส้นทางนี้ขนาดนั้น พอได้มาคิดแล้วถามว่าอะไรที่มีแรงขับเคลื่อนในการที่จะทำเยอะๆ เราก็คิดว่าชอบทำกิจกรรมมากกว่า เราเลยเลือกเรียนนิเทศ
“ตอนที่ไปบอกที่บ้านว่าจะเรียนสายนี้ แม่เสียใจมากเลยนะ เพราะเขาใช้ชีวิตทั้งหมดมาเพื่อให้เราเป็นหมอ แต่เขาก็บอกว่าถ้าคิดจะเรียนนิเทศก็ต้องทำให้สุด ควรจะต้องได้เกียรตินิยม และเขาก็ยอมให้เราเรียน”
02
“พอได้เข้ามาเรียนแล้ว รู้สึกเปิดโลกมากเลยเว้ย ด้วยความที่เราเรียนวิทย์-แพทย์มาตอน ม.ปลาย มันจะมีรูปแบบแตกต่างกับมหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก เช่น ถ้าอ่านหนังสือสอบก็แค่อ่านเพื่อให้สอบผ่านไป เรารู้สึกว่าง่ายมาก เพราะมันเป็นข้อสอบปรนัย ก็มีตัวเลือกให้กาแค่ 4-5 ข้อ แล้วมันมีคำตอบที่ชัดเจนว่าอันไหนผิด อันไหนถูก
“แต่พอเราเข้ามหาวิทยาลัยมาตอนปี 1 เราเจอข้อสอบอัตนัยที่อยู่ดีๆ ก็ให้สมุดมา 2-3 เล่มเพื่อตอบคำถาม ตอนนั้นเป็น culture shock สำหรับเรามาก เพราะไม่รู้จะตอบอะไร แล้วก็ไม่อยากเข้าเรียนด้วย เลยทำกิจกรรมอย่างเดียวเลย พอเกรดออกมาก็เลยดร็อปลงมาเยอะมากเกือบติดโปรฯ เราคิดว่าแม่ต้องรับไม่ได้แน่ๆ เพราะเขาอยากให้เราได้เกียรตินิยม หลังจากปี 1 เราเลยพยายามเข้าเรียน ตั้งใจ และอ่านหนังสือมากขึ้น
“พอเรียนมาเรื่อยๆ แล้วมันทำให้เรารู้สึกว่านิเทศฝึกให้คิดแบบมีตรรกะมากๆ ช่วย shape ความคิดเรามากๆ จากเด็ก ม.ปลายที่ไม่ค่อยอ่านหนังสืออย่างอื่นเลยนอกจากหนังสือเรียน คณะนี้ทำให้เราอ่านหนังสือหลากหลายมากขึ้น ซึ่งมันมีส่วนช่วยสร้างทัศนคติในการตอบคำถามหรือทำบทละคร รวมทั้งการทำงานหลายๆ อย่างของเราด้วย เช่น การที่เราจะทำบทละครเรื่องหนึ่ง เราจะอ่านหนังสืออื่นๆ ที่นอกจากเรื่องการเขียนบท อย่างเราลองซื้อหนังสือคำสารภาพของนักโทษมาอ่านเพื่อทำความเข้าใจก่อนเขียนบทเกี่ยวกับนักโทษ”
03
“ระหว่างเรียนในคณะ วิชาที่เปิดโลกและทำให้เราเข้ามาสู่อาชีพการแสดงคือ วิชาในกลุ่ม performing arts เป็นวิชาที่เราชอบมาก เพราะเราชอบการแสดง ชอบการเขียนบท แต่ละครั้งที่เรียนเราจะได้ส่งซีน คือเป็นการออกแบบการแสดงตามหัวข้อต่างๆ เวลาเราส่งซีนจะมีคนมานั่งดูว่างานเราเป็นยังไง วิชานี้ทำให้เรารู้สึกว่ามันได้ทำทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มจนออกมาเป็นผลงาน
“มีวิชาหนึ่งชื่อว่า Non-verbal ในกลุ่ม performing arts เป็นวิชาที่สื่อสารโดยที่คุณไม่ต้องพูดอะไรออกมา สิ่งที่ครูสั่งให้ทำคือคุณต้องส่งซีนโดยที่ตัวละครห้ามพูด ฉะนั้นก็คือดีไซน์ยังไงก็ได้ให้คนดูรู้เรื่อง เช่น ครูจะให้ธีมชงกาแฟ เราก็ต้องหาเรื่องราวว่าอยากเล่าการชงกาแฟในรูปแบบไหน แล้วในโมเมนต์ที่เราครีเอตซีนนั้นออกมา มันก็จะเป็นการชงกาแฟในแบบของเรา เรื่องราวแบบไหนแต่ละคนก็จะนำเสนอวิธีการของตัวเอง คือเด็ก 10 คนก็จะชงกาแฟ 10 แบบ แล้วยิ่งเวลาเราได้นั่งดูเพื่อนแสดง มันก็เป็นจุดที่เราชอบมากๆ เพราะทุกคนได้โจทย์เดียวกัน แต่มันคิดออกมาได้ขนาดนี้เลยเหรอ
“สำหรับเรา ที่นี่เปิดกว้างเรื่องความคิดสร้างสรรค์มาก มีครั้งหนึ่งวิชา Non-verbal เขาจะให้ทำหน้ากาก เราก็ต้องถามตัวเองว่า เราอยากทำหน้ากากอะไร อยากสื่อสารเรื่องอะไร แล้วมันจะเป็นการหาตัวเราเจอว่า เฮ้ย เราชอบอะไรวะ แล้วเราอยากฝากอะไรกับคนดู เราว่ามันเป็นวิชาที่ทำให้เราได้คุยกับตัวเองเยอะเลย
“เราชอบการแสดงมาก แม้กระทั่งวิชาเลือกเราก็เลือกเรียนละครของอักษรฯ แล้วการได้เรียน performing arts และเล่นละครมันทำให้เราต่อสู้กับตัวเอง เพราะเราเป็น perfectionist ด้วยความที่เราเรียนสายวิทย์มา เราจะรู้สึกว่าฉันจะต้องได้ทำทุกอย่างเพราะฉันทำทุกอย่างได้ พอได้มาเล่นละคร เราก็รู้สึกว่าอยากเก่งที่สุด แต่พอลงมือทำจริงๆ มันก็จะเจอสิ่งที่ทำไม่ได้ ทำให้เรารู้สึกว่าค่อยๆ โดนตบอีโก้ลงมาให้อยู่กับความเป็นจริง เราเลยพยายามคาดหวังต่อตัวเองน้อยลง”
04
“ในช่วงเรียนเราชอบทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยมาก ทั้งการทำละครเวทีและการเป็นกรรมการนิสิต เรารู้สึกว่าสายนิเทศศาสตร์มันเป็นสายงานที่ต้อง practice คือการเรียนในห้องเรียนมันก็ดีประมาณหนึ่ง แต่พอเราได้ออกมาทำกิจกรรมจริงๆ มันทำให้เราได้เรียนรู้ทันที
“อย่างตอนที่เราทำละครเวที มันคือการทำงานทั้งคณะซึ่งมีประมาณร้อยกว่าคน คือทุกคนลงเงินไป ไม่มีใครได้อะไรจากสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือทุ่มเททำงานกันให้มากที่สุดเท่าที่จะให้ได้อย่างเท่าเทียมกัน เราเลยรู้สึกว่ามันคือการปลูกฝังกันมาว่าทำอะไรทำให้สุดนะ เพราะถ้าไปให้สุดมันจะไม่เสียดาย ถ้าย้อนกลับไปเราพูดได้ว่า กูว่าทำดีที่สุดแล้ว ซึ่งตอนนี้มันกลายเป็น motto การทำงานของเราด้วย
“ดังนั้น สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แล้วก็กลายมาเป็นอาชีพที่เราทำในปัจจุบัน คือการเล่นละคร ทั้งละครเวที หนังสั้นต่างๆ เรารู้สึกว่าถ้าไม่ได้เข้าคณะนี้ ไม่ได้เล่นละครเวทีในวันแรก และเล่นมาเรื่อยๆ มันก็คงไม่ได้ทำให้เรามาอยู่จุดจุดนี้ จากเด็กที่อยากเป็นหมอ ไม่ได้สนใจว่าจะมาอยู่ตรงนี้ จนตอนนี้มีงานการแสดงเป็นอาชีพเพราะการหล่อหลอมของคณะนิเทศศาสตร์แล้ว
“อีกอย่างที่ทำให้รู้สึกโตขึ้นคือ การเป็นกรรมการนิสิตของคณะ เพราะเราต้องจัดการชีวิตเด็กทั้งคณะ 4 ชั้นปีเป็นครั้งแรก ซึ่งมันเป็นการฝึกสกิลขั้นสูงมาก เราต้องเข้าใจคนอื่นมากๆ เรารู้สึกว่าจุดนั้นเป็นจุดที่ทำให้เรามีตัวตนเปลี่ยนไปและมองโลกเปลี่ยนไปด้วย
“ถ้าให้มองย้อนกลับไปหาเด็กคนนั้นที่จะสอบหมอแต่ไม่ติดและหันมาเรียนนิเทศแทน เราว่าเราไม่เสียใจนะที่เลือกที่นี่ ยิ่งล่าสุดเราได้มีโอกาสเขียนบทซีรีส์ My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน ทำให้เราได้คุยกับเพื่อนที่เป็นหมอเยอะมาก และยังได้เอาทักษะการแสดงและการเขียนบทในมหาวิทยาลัยมาใช้ในการเขียนบทครั้งนี้ แล้วเราก็ได้เรียนรู้ว่าจริงๆ เราสามารถเข้าใจหรือนำเสนอความเป็นหมอที่มาช่วยเหลือคนได้ในรูปแบบของเรา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ช่วยคนจริงๆ แบบหมอ แต่เราได้บอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับวิชาชีพแพทย์ผ่านอาชีพการแสดง การเขียนบทละครแบบที่เป็นเรา เราเลยรู้สึกว่า เออ ทุกอาชีพมันมีคุณค่าหมด ไม่ได้มีอาชีพไหนสำคัญไปมากกว่าใคร”
บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือกันระหว่าง a day และโครงการ Limited Education ที่ต้องการนำเสนอปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา โดยคุณสามารถติดตามซีรีส์ Limited Education ได้ใน adaymagazine.com ตลอดเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้