Lasunya Sofa ทำทุกอย่างเพื่อค้นหาความสมบูรณ์แบบและชีวิตที่ไร้ที่ติมาตลอด 37 ปี

Highlights

  • Lasunya คือแบรนด์ที่ตั้งขึ้นโดยทายาทรุ่นที่ 2 ของโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่มีอายุ 37 ปี โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้แบรนด์นี้กลายมาเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น
  • ต้นทุนที่คนรุ่นแรกได้ส่งต่อให้กับ ก้อง–ศุภฤทธิ์ จรุงชัยนานนท์ คือโรงงาน OEM ที่มีชื่อเสียงด้านการตัดเย็บอันพิถีพิถันและมีฐานลูกค้าทั่วโลก โจทย์ของ Lasunya ยุคใหม่จึงเป็นการกลับมามองตลาดผู้ใช้ในไทยมากขึ้น โดยก้องเริ่มจาก B2B Marketing ที่ตีตลาดกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง Au Bon Pain, Greyhound, สปาในเครือ Let’s Relax และโรงแรม Novotel Sriracha
  • ล่าสุด Lasunya ได้เปิด ‘Lasunya Kafe’ คาเฟ่ที่ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ของแบรนด์ เพื่อเป็นโชว์รูมให้ลูกค้ารับชมและทดลองสินค้าได้อย่างสะดวกใจ พร้อมๆ กับเอนจอยเครื่องดื่ม ขนมหวาน และอาหารหลากเมนู

ถ้าเราบอกว่า “Lasunya คือชื่อของแบรนด์ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่มีอายุอานามมากกว่า 30 ปี มีชื่อเสียงและคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับโลก และคุณอาจจะเคยนั่งหนึ่งในเก้าอี้หนังหรือโซฟาของแบรนด์นี้มาก่อนก็เป็นได้” คุณจะเชื่อไหมว่าคำพูดของเราคือเรื่องจริง โดยที่คุณไม่เคยแม้แต่จะได้ยินชื่อของแบรนด์ผ่านหูมาก่อน

ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ ข้อความที่เราบอกคุณคือความจริงทั้งหมด เพราะ Lasunya คือชื่อของแบรนด์ที่เพิ่งตั้งให้โรงงานผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ OEM (ประเภทของโรงงานที่รับจ้างผลิตสินค้าให้บริษัทที่จะนำไปจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตัวเอง) ส่งออกเก่าแก่ การที่คุณไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ส่วนสาเหตุที่โรงงานแห่งนี้เพิ่งจะมีชื่ออย่างเป็นทางการก็เพราะคนรุ่นสองผู้สืบทอดกิจการมองเห็นช่องว่างทางการตลาดในการพัฒนาต่อยอดโรงงานของรุ่นหนึ่งให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

คนรุ่นสองที่ว่านั้นก็คือ ก้อง–ศุภฤทธิ์ จรุงชัยนานนท์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Lasunya และผู้สืบทอดโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ OEM มาจากคุณพ่อของเขาที่เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2525 หรือราวๆ 38 ปีมาแล้ว

โจทย์ของรุ่นสองแต่ละคนมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะของธุรกิจและต้นทุนที่ได้รับ สำหรับก้องโจทย์ของเขาคือการยกระดับโรงงานผลิต ‘สินค้าตามสั่ง’ ให้กลายเป็นโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง ว่าง่ายๆ คือเขาต้องสร้างแบรนด์ขึ้นมาใหม่จากต้นทุนที่ได้รับจากคุณพ่อ

อาจเป็นโชคของก้องที่โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์แห่งนี้เป็นโรงงานที่ได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ โดยมีผลงานที่ส่งออกไปให้ลูกค้าทั่วโลกเป็นเครื่องยืนยันคุณภาพที่ไม่เสื่อมคลายของแบรนด์ เขาจึงสามารถมองภาพการพัฒนาและต่อยอดได้อย่างชัดเจน

เราจึงอยากพาคุณไปรู้จักกับ Lasunya ตั้งแต่ช่วงเวลาที่ยังบริหารงานโดยคนรุ่นที่ 1 ผ่านคำบอกเล่าของก้อง ว่าต้นทุนและโจทย์ที่เขาได้รับมีความท้าทายรูปแบบไหน และในฐานะรุ่นที่ 2 เขาได้ต่อยอดสิ่งเหล่านี้ไปสู่แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่มีอัตลักษณ์ของตัวเองได้ยังไง

 

โรงงานเฟอร์นิเจอร์หนังที่มีฝีเข็มตรงที่สุด

Lasunya ในอดีตคือโรงงานผลิตและตัดเย็บเครื่องหนังสำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่ก่อตั้งขึ้นโดยคุณพ่อของก้อง ซึ่งเป็นวิศวกรผู้มีความรู้แตกฉานเรื่องเครื่องหนัง ด้วยใจรักและมีช่างคู่กายที่รู้ใจทำให้โรงงานแห่งนี้ค่อยๆ สั่งสมฐานลูกค้าจากบริษัทเฟอร์นิเจอร์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบสแกนดิเนเวีย ไปจนถึงญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป ซึ่งการมีลูกค้าในหลากหลายพื้นที่ทำให้ทีมช่างได้เรียนรู้ความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าและยกระดับคุณภาพการทำงานอยู่ตลอดเวลา

“คุณพ่อเคยเล่าให้ฟังว่าสมัยที่ทำงานกับลูกค้าญี่ปุ่น เขาจะเน้นเรื่องความละเอียดในกระบวนการทำงานมาก อย่างในโรงเย็บถ้ามีเข็มหักต้องเบิกใหม่ ช่างต้องเอาเศษเข็มที่หักมาแลกเพื่อลงบันทึกเอาไว้ โรงงานของเราจึงต้องสร้างมาตรการพวกนี้ เพราะเวลาที่ลูกค้ามาโรงงานเขาก็จะตรวจเรื่องพวกนี้ด้วย”

เมื่อมีลูกค้ามากขึ้น โรงงานแห่งนี้ก็ได้แตกไลน์การผลิตเพิ่ม จากที่ให้บริการแค่เรื่องการตัดเย็บหนังเพื่อหุ้มเฟอร์นิเจอร์ มาเป็นการผลิตแบบ OEM ที่ครบวงจรมากขึ้น กล่าวคือมีการบุและหุ้มชิ้นงานให้เสร็จสรรพ ก่อนส่งออกไปยังประเทศเจ้าของแบรนด์

“ยุคที่พีคที่สุดของโรงงานในยุคคุณพ่อคือช่วงก่อนปี 2540 ตอนนั้นเรามีลูกค้าทั่วโลก ทั้งยุโรป เอเชีย และกวาดทั้งแถบสแกนดิเนเวีย” ก้องเล่าให้ฟังถึงยุคทองของกิจการ OEM ในยุคสมัยของรุ่นที่ 1

ทว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งความรุ่งโรจน์ของโรงงาน OEM ก็เปลี่ยนเป็นขาลง ด้วยอิทธิพลจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อกิจการทั่วโลก ตลาดผลิตชิ้นงาน OEM เริ่มแข่งขันกันด้านราคาอย่างดุเดือด ลูกค้าหลายเจ้าเลือกที่จะเป็นคู่ค้ากับโรงงานที่ให้ราคาต่ำที่สุด โดยยอมแลกกับคุณภาพสินค้าที่ลดลง ทำให้โรงงานที่ยังยืนหยัดเรื่องคุณภาพอย่างโรงงานคุณพ่อของก้องต้องเสียลูกค้าไปหลายราย

“แต่คุณพ่อยังประคองธุรกิจนี้มาได้โดยตลอด ด้วยความที่มีฐานลูกค้าที่ทำงานด้วยกันมาหลายสิบปี ทำให้โรงงานยังได้รับการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีจำนวนลดลงไปเมื่อเทียบกับยุคก่อนวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง”

อาจเพราะความความเก่งกาจในฐานะนักธุรกิจและความเนี้ยบในการควบคุมคุณภาพของชิ้นงาน ทำให้โรงงานแห่งนี้ยังมีลูกค้าอยู่เสมอ

“โรงงานของคุณพ่อขึ้นชื่อเรื่องการตัดเย็บที่พิถีพิถันและมีฝีเข็มที่ตรงไม่บิดเบี้ยว ซึ่งการจะทำสิ่งนี้ได้นอกจากจะต้องอาศัยทักษะที่ชำนาญแล้ว ตัวช่างผู้เย็บเองก็จะต้องมีใจรักและเอาใจใส่รายละเอียดด้วย คือมีความเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์ที่ไม่ยอมปล่อยงานด้อยคุณภาพออกไป” ก้องเล่าถึงความประณีตของช่างฝีมือคู่ใจของคุณพ่อ ที่เป็นส่วนสำคัญในการประคองให้โรงงานสามารถหยัดยืนจนถึงยุคของรุ่นที่ 2 ได้อย่างภาคภูมิ

 

ส่งต่อความเชี่ยวชาญจากรุ่นสู่รุ่น

“ผมไม่เคยอยากสานต่อกิจการของที่บ้านเลย” ก้องเล่าให้เราฟังแบบนั้น เขาไม่ใช่ทั้งนักออกแบบ ช่างไม้ หรือช่างหนัง แต่เป็นอดีตนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขาอสังหาริมทรัพย์ ที่ฝันจะเป็นนักอสังหาฯ ผู้มีธุรกิจเป็นของตัวเอง ทว่าโชคชะตาก็ทำให้เขาได้อยู่ใกล้ชิดกับธุรกิจของที่บ้านอย่างแยกจากกันไม่ขาด

“จุดเปลี่ยนที่ทำให้มาสนใจธุรกิจของที่บ้านจริงๆ คือช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นผมได้มีโอกาสไปออกงานแฟร์ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แล้วต้องอยู่ดูแลบูทด้วยตัวเอง ซึ่งในงานนั้นจะมีลูกค้าที่เป็นเจ้าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ระดับโลกเข้าร่วมมากมาย พอดีมีลูกค้าคนหนึ่งเข้ามาคุยกับเรา แต่เรากลับคุยกับเขาแทบไม่ได้เลย เพราะเราไม่เข้าใจในธุรกิจอย่างถ่องแท้ ตั้งแต่ตอนนั้นผมเลยตั้งใจว่าจะต้องเรียนรู้และเข้าใจธุรกิจของคุณพ่อให้ได้”

คนที่รับหน้าที่ ‘ติวเตอร์’ ให้ก้องก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากเจ้าของบริษัทอย่างพ่อของเขา ก้องเข้าคอร์สติวเข้มกับคุณพ่อและค่อยๆ เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการบริหารโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ตั้งแต่วิธีการคุยธุรกิจกับลูกค้า รายละเอียดของผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิต คุณพ่อได้ถ่ายทอดทุกกลเม็ดให้ก้อง รวมถึงส่งต่อวิธีการดูแลลูกค้าที่อบอุ่นเหมือนครอบครัว

“คุณพ่อของผมเน้นเรื่องการดูแลลูกค้า คือตัวเขาเองเป็นสไตล์ถึงไหนถึงกัน ถ้าลูกค้ามาเขาจะดูแลอย่างเต็มที่ เอนเตอร์เทนลูกค้าอย่างดีที่สุด ตั้งแต่พาไปกินข้าวเย็นด้วยกัน จนถึงจัดทริปไปเที่ยวกับลูกค้า ซึ่งผมก็จะมีโอกาสได้ติดตามไปด้วยแทบทุกครั้ง”

เมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัย ก้องได้ออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในบริษัทเอกชนอยู่หลายปี จนเมื่อปี 2559 เขาก็เลือกกลับมาหาอุตสาหกรรมที่ผูกพันที่สุดอย่างกิจการเฟอร์นิเจอร์ของครอบครัว

บางรุ่นสองเมื่อต้องทำงานร่วมกับรุ่นหนึ่งก็มักเกิดความขัดแย้ง ซึ่งมาจากฐานของวิธีคิดที่แตกต่างกัน ฝั่งหนึ่งก็ยึดมั่นกับโลกสมัยใหม่และเทคโนโลยี อีกฝั่งก็มักจะติดกับดักความสำเร็จและประสบการณ์ที่มากกว่าจนไม่กล้าทดลองสิ่งใหม่ๆ แต่ครอบครัวจรุงชัยนานนท์ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคนทั้งสองเจเนอเรชั่นพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและถอดหัวโขนออกเมื่อถึงเวลาเลิกงาน

“คุณพ่อผมเป็นคนที่ปล่อยผมมาก เขาจะเปิดพื้นที่ให้ผมได้ทดลองและเรียนรู้ด้วยตัวเองเสมอ ในช่วงแรกที่ทำงานเราจะแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนเลยว่า ผมจะดูเรื่องการตลาด ส่วนคุณพ่อจะดูแลงานฝั่งโปรดักชั่น ซึ่งแน่นอนว่าระหว่างที่ทำงานก็ต้องมีเรื่องที่เห็นต่างกันอยู่แล้ว ซึ่งถ้าผมมีความมั่นใจและอยากทดลองจริงๆ คุณพ่อก็พร้อมเปิดใจให้เราได้ทำ

“นอกจากนี้อีกเรื่องที่ผมคิดว่าทำให้เราเป็นคน 2 รุ่นที่ทำงานด้วยกันได้ คือผมกับคุณพ่อพร้อมที่จะพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องงาน และแยกเรื่องงานออกจากครอบครัว เช่น ถ้าผมเถียงกับคุณพ่อตอน 11:59 น. พอเที่ยงปุ๊บเราก็มานั่งกินข้าวด้วยกันได้ตามปกติ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้งานไม่มาเบียดเบียนความสัมพันธ์ของเรา”

 

จากโรงงานรับผลิตที่เน้นส่งออกสู่แบรนด์ Lasunya ที่มีฐานลูกค้าในประเทศมากขึ้น

หลายสิบปีที่ผ่านมาโรงงานผลิตสินค้า OEM แห่งนี้ไม่ได้มีชื่อแบรนด์เป็นของตัวเอง จนเมื่อปี 2559 ที่ก้องได้เข้ามาร่วมงานกับคุณพ่ออย่างเต็มตัว สิ่งแรกที่เขาสนใจคือการทำให้โรงงานแห่งนี้กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป โดยการสร้างแบรนด์และอัตลักษณ์เฉพาะตัวให้กับเฟอร์นิเจอร์ของโรงงาน

“สมัยเรียนปริญญาโทมีวิชาแบรนด์ดิ้ง ที่สอนเราว่าแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในโลกส่วนใหญ่มักจะเลือกลงทุนกับการทำแบรนด์ดิ้ง เพราะในระยะยาวแล้วมันเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากว่าวัตถุสิ่งของหรือเทคโนโลยีร่วมสมัย ผมเลยมองว่าถึงเวลาแล้วที่โรงงานของเราควรมีตัวตนในฐานะแบรนด์ เพราะที่ผ่านมาการที่เรารับผลิตแต่งาน OEM เพียงอย่างเดียว ทำให้ลูกค้าหรือคนทั่วไปแทบไม่รู้จักสินค้าที่มาจากโรงงานเราเลย”

แต่การคุยเรื่องทำแบรนด์ดิ้งกับเจ้าของกิจการยุคเก่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้ประกอบการในอดีตบางส่วนมองว่าการลงทุนสร้างแบรนด์เป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้และไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน ก้องจึงต้องอาศัยการโน้มน้าวและล้วงมือควักกระเป๋าตังค์ของตัวเองเพื่อเป็นทุนตั้งต้นในการเปิดไลน์ผลิตใหม่ภายใต้แบรนด์ Lasunya

ภาพ : Lasunya

“Lasunya เกิดขึ้นมาได้จริงๆ ในช่วงปี 2560 ตอนนั้นเราได้ดีลผลิตเฟอร์นิเจอร์ให้กับร้านกาแฟเครือ Coffee Fellows ที่มีสาขากว่า 200 แห่งทั่วยุโรป ตอนนั้นโทรไปคุยกับทางนั้นว่าโรงงานของเรากำลังสร้างแบรนด์และจะขอติดป้าย Lasunya ที่เฟอร์นิเจอร์ด้วยนะ ซึ่งเขาก็ตกลง ทำให้ดีลนี้เป็นเหมือนใบเบิกทางที่ทำให้ Lasunya ถือกำเนิดขึ้น”

นอกจากการสร้างแบรนด์ ก้องยังมองไปถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไปจากรุ่นของคุณพ่อ Lasunya ในยุคใหม่มองตลาดในประเทศมากขึ้น ก้องเริ่มเจาะตลาด B2B (business-to-business) เป็นลำดับแรก เขาเข้าหาลูกค้าเพื่ออธิบายความเป็นมาของโรงงาน จุดเด่น และผลงานที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมาหลายสิบปี จนได้รับดีลในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ให้ผู้ประกอบการหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่อย่าง Au Bon Pain และ Greyhound, สปาในเครือ Let’s Relax, โรงแรม Novotel Sriracha รวมถึงโรงพยาบาลเครือพญาไท และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

เมื่อพิชิตตลาด B2B ได้ในระดับหนึ่ง เขาก็มองต่อไปถึงตลาดผู้ใช้รายย่อยมากขึ้น แต่การจะทำเช่นนั้นจำเป็นต้องมีโชว์รูมเพื่อแสดงสินค้าให้ผู้ใช้งานทั่วไปเข้ามาทดลอง แต่เขาก็ไม่ได้อยากสร้างโชว์รูมที่เน้นขายแต่เฟอร์นิเจอร์เท่านั้น เขาจึงตั้งต้นความคิดจาก pain point ในการเข้ามาใช้บริการของลูกค้า

“ผมลองสังเกตว่าเวลาที่ได้ไปทดลองหรือดูเฟอร์นิเจอร์ตามโชว์รูมต่างๆ บางทีก็จะมีเซลส์คอยตามประกบลูกค้า ส่งผลให้บางคนเกร็งและไม่กล้าทดลองอย่างเต็มที่ นี่จึงเป็นที่มาของ Lasunya Kafe ที่ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ของ Lasunya ทำให้ลูกค้าใช้งานจริงได้ทุกชิ้น พร้อมๆ ไปกับการนั่งดื่มกาแฟ กินอาหารหรือขนม ที่ทางร้านมีให้บริการ ซึ่งผมคิดว่านี่คือคำตอบในการทำโชว์รูมที่ลูกค้าสามารถทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างเต็มที่จริงๆ”

นับจากวันที่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลาราว 4 ปีแล้วที่แบรนด์ Lasunya ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อต่อยอดคุณภาพและตำนานของโรงงานเฟอร์นิเจอร์หนังอายุเกือบ 40 ปี ผลิตภัณฑ์จากความตั้งใจของก้องค่อยๆ เติบโตและเป็นที่รู้จักมากขึ้นทีละน้อย แต่มั่นคง ความสำเร็จจากการตีตลาด B2B นับเป็นหมุดหมายที่สำคัญที่บ่งชี้ว่าแบรนด์ Lasunya มีดีเพียงพอในการรุกลูกค้ารายย่อยต่อไป

 

Care-Craft-Comfort หัวใจของแบรนด์ที่สืบทอดมาตั้งแต่ปี 2525

ถ้าหากถามว่า Lasunya มีดียังไงจึงรุกตลาดเมืองไทยได้อย่างรวดเร็ว ก้องตอบคำถามนี้ด้วยคำ 3 คำคือ

“Care-Craft-Comfort”

3 คีย์เวิร์ดนี้เป็นหัวใจสำคัญของการผลิตและออกแบบเฟอร์นิเจอร์ภายใต้แบรนด์ Lasunya ที่มีต้นทางมาจากรากฐานของรุ่นคุณพ่อที่สั่งสมมาหลายสิบปี

“คำว่า Care มาจากพื้นฐานของกิจการที่ทำกันมาตั้งแต่รุ่นของคุณพ่อ คือพวกเราให้ความสำคัญและใส่ใจการใช้ชีวิตของคน รสนิยม และความชอบในทุกมิติ เพราะฉะนั้นเฟอร์นิเจอร์ของร้านเราจะสามารถ customize ได้ทุกจุดตามความต้องการของลูกค้า ตั้งแต่ขนาด สี และประเภทของหนังที่ห่อหุ้ม

“ผมเชื่อว่าถ้าเราเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบไร้ที่ติได้ แม้ว่าแต่ละคนจะมีไลฟ์สไตล์ ความชอบ ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อน การทำงาน จะนั่งหรือจะนอน ก็ควรล้อมรอบด้วยคุณภาพและความสบายอย่างใจต้องการ

“ดังนั้นผมจึงทำความเข้าใจความแตกต่างในไลฟ์สไตล์ของผู้คน เพื่อนำมาสู่การดีไซน์และการผลิตโซฟางานฝีมือ ทำให้คุณได้รับโซฟาที่เต็มไปด้วยความสบายกายและสบายใจ เพื่อชีวิตอันยอดเยี่ยมไร้ที่ติที่คุณเป็นคนเลือกด้วยตัวเอง”

จากความใส่ใจในรายละเอียดและเชื่อในการศึกษาความต้องการของผู้คน ผลงานทุกชิ้นจาก Lasunya จึงเน้นหนักในงานฝีมือที่ประณีตและเนี้ยบในทุกจุด ซึ่งนี่คือหัวใจลำดับที่ 2 ของแบรนด์

ภาพ : Lasunya

“Craft คือจุดเด่นของแบรนด์เราที่สืบทอดกันมาเกินกว่า 30 ปี เรามีทีมผลิตที่ใส่ใจทุกรายละเอียด แม้กระทั่งจุดที่ลูกค้ามองไม่เห็น เช่น บริเวณใต้เบาะหรือโซฟาที่คุณสามารถก้มลงไปดูได้เลยว่าเราเก็บงานด้วยความเนี้ยบมาก-น้อยแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการยอมรับจากลูกค้าระดับโลกเสมอมา อย่างเช่นแบรนด์ Sorensen ที่เป็นพาร์ตเนอร์กันตั้งแต่รุ่นคุณพ่อจนถึงรุ่นของผม

“หัวใจสำคัญอย่างสุดท้ายของแบรนด์คือ Comfort หรือความสบาย เพราะทุกอย่างที่ผมพูดมาจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าเฟอร์นิเจอร์ของเรานั่งไม่สบายหรือใช้งานไม่สะดวก เพราะฉะนั้นเฟอร์นิเจอร์ของเราจะออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์เพื่อความสบายที่สุดของผู้ใช้งาน และก่อนที่สินค้าจะออกสู่ตลาดผมกับพ่อก็จะเข้าไปทดสอบด้วยตัวเองทุกครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะปรับแก้กันหลายครั้ง เฉลี่ยแล้วชิ้นหนึ่งตกอยู่ที่ประมาณ 10 รอบกว่าจะผ่าน QC ของพวกเรา”

ความแตกต่างของการทำ OEM และการทำแบรนด์คือแบรนด์ควรต้องสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นออริจินอลของตัวเองขึ้นมา Lasunya จึงได้สรรหาดีไซเนอร์มือดีจากหลากหลายแห่งเข้ามาร่วมงาน เพื่อร่วมกันออกแบบคอลเลกชั่นใหม่ๆ ให้เกิดความหลากหลายที่สะท้อนอัตลักษณ์ของแบรนด์

“คอลเลกชั่นแรกของเราได้ดีไซเนอร์จากฝรั่งเศสมาร่วมงาน เขาบินมาไทยเพื่อศึกษาแบรนด์ของเราอย่างละเอียด จนสามารถผลิตชิ้นงานที่สะท้อนความเป็น Lasunya ออกมา หลังจากนั้นเราก็พยายามมองหาดีไซเนอร์คนไทย จนได้มีโอกาสร่วมงานกับ Proud Design ซึ่งเป็นทีมออกแบบภายในจากเชียงใหม่ที่ได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย ตอนนี้เราก็กำลังพัฒนาโปรดักต์กันอยู่ น่าจะได้เห็นเร็วๆ นี้”

4 ปีถือเป็นเวลาไม่นาน แต่ก็นับว่า Lasunya ได้เดินทางจากจุดเริ่มต้นมาไกลพอสมควร หากรุ่นของคุณพ่อได้สร้างรากฐานเรื่องคุณภาพและความละเอียดของงาน สิ่งที่รุ่นสองอย่างก้องลงมือทำคือการวางรากฐานของแบรนด์ในยุคใหม่ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และในขณะเดียวกันเขาก็วาดภาพอนาคตของ Lasunya ที่เพียบพร้อมทั้งด้านคุณภาพและการบริการ

“ผมอยากไปให้ถึงคำว่าเพอร์เฟกต์ในทุกๆ ด้าน” ก้องเปิดประเด็นมาอย่างแข็งแรง เมื่อเราถามถึงก้าวย่างต่อไปของ Lasunya “แต่เพอร์เฟกต์สำหรับผมไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ผมมองว่ามันคือความท้าทายที่เราต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของเราตอบความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้าได้อย่างดีที่สุด”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!