Daddy and the Muscle Academy แบรนด์กุ๊กกิ๊กอายุ 7 ปีที่ได้ไปวางขายไกลถึงฮาราจูกุ

Highlights

  • Daddy and the Muscle Academy คือแบรนด์เสื้อผ้าสไตล์วินเทจป๊อปแสบซนอายุ 7 ขวบ ในความดูแลของ ลูกศร–ศรุติ ตันติวิทยากุล และ ทิน แสงทวีป เพื่อนผู้มีความรักความชอบในสไตล์ที่คล้ายๆ กัน
  • หลังหน้าร้านที่สยามสแควร์มีอายุย่างเข้าปีที่ 3 พวกเขาตัดสินใจขยายโปรดักต์ไลน์ที่มีอยู่ให้แข็งแรง เพิ่ม Daddy Vintage and Souvenir Store และ Daddy StickerLand มาเป็นลูกที่ต้องดูแล
  • ผลักประตูร้านบุกอาณาจักร Daddy ไปพูดคุยและทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นกับแบรนด์นี้กัน

ไม่ต้องติดตามหรือสนใจของกุ๊กกิ๊กมากมายเราก็เชื่อว่าคนที่ผ่านไปผ่านมาแถวสยามสแควร์ซอย 2 แล้วบังเอิญได้เห็นหน้าร้านสีฟ้าสดใส มีสายรุ้งลอยพาดยาวด้านหน้าประตู เพนต์คำว่า ‘DADDY AND THE MUSCLE ACADEMY’ ตัวใหญ่สะดุดตา ก็คงเก็บซ่อนความอยากรู้อยากเห็นไว้ไม่ไหว ต้องมีสะดุด หยุดเดิน และเผลอแอบผลักประตูเข้าไปเยือนบ้านหลังน้อยของครอบครัว Daddy and the Muscle Academy กันบ้าง

เพราะด้านนอกที่ว่ากุ๊กกิ๊กเกินห้ามใจ ด้านในยังมีของน่ารักกว่านั้นได้อีก ทั้งเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่มีกลิ่นอายวินเทจยุค 90s กระเป๋าและรองเท้าหลากสี ของตกแต่งดีต่อใจอย่างสมุด สติกเกอร์ เคสโทรศัพท์ ไปจนถึง grip tok พอผสมรวมกับการตกแต่งร้านที่เหมือนหลุดเข้าไปในโลกของการ์ตูน เลยถึงคราวต้องกอดกระเป๋าเงินไว้ให้แน่น เพราะแม้ก่อนเดินเข้าร้านจะท่องคาถานะโม นะโม เหนียวหนึบ ไม่ให้เงินทองรั่วไหล แต่สุดท้ายก็หยิบโน่นทีนี่ที ออกจากร้านพร้อมถุงใบใหญ่แทบทุกครั้งที่ได้เข้าไป 

แม้เราเองจะรู้จักและแอบเป็นแฟน Daddy (ชื่อเรียกอย่างย่อ) มาหลายปี แต่เผลออีกทีแบรนด์ที่เกิดจากความรักความชอบของกลุ่มเพื่อนและฝันอยากทำเสื้อผ้าให้แตกต่างจากท้องตลาดแบรนด์นี้ก็เติบใหญ่ แข็งแรง นอกจากจะแตกไลน์เป็นร้านใหม่อย่าง Daddy Vintage and Souvenir Store ย่านหัวลำโพง และ Daddy StickerLand ป๊อปอัพสโตร์ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ให้เราไปละลายทรัพย์ได้ต่อ ปีนี้แบรนด์ยังดังไกล บุกไปมีป๊อปอัพสโตร์กันที่ย่านฮาราจูกุ ประเทศญี่ปุ่น 

ไหนๆ วันนี้ก็แวะมาทั้งที แวบไปทักทายเจ้าของร้านอย่าง ลูกศร–ศรุติ ตันติวิทยากุล และ ทิน แสงทวีป เพื่อพูดคุยและทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในอาณาจักร Daddy แล้วค่อยออกตะลุยไปช้อปของในร้านพร้อมกันนะ

 

01 

เราเริ่มทำ Daddy โดยที่ไม่มีเซนส์ด้านธุรกิจ

‘ไม่มีเซนส์ในการทำธุรกิจ’ คือคำที่ทินใช้กล่าวถึงตัวเองและลูกศรในวันที่คิดเริ่มต้นทำหน้าร้านร้านแรกที่สยามสแควร์เมื่อ 3 ปีก่อน 

หากลองนับนิ้วหักลบดูคร่าวๆ จะพบว่า ก่อนหน้านั้นคือเวลากว่า 4 ปีที่เขาและเธอร่วมด้วยช่วยกันสร้าง Daddy and the Muscle Academy ขึ้นมาในอินสตาแกรม แพลตฟอร์มที่หนุ่มสาวผู้มีฝันหลากหลายคนใช้เริ่มต้นทำธุรกิจ 

“อาจเพราะอินสตาแกรมเป็นช่องทางที่ง่ายมาก แค่เปิดเราก็ขายได้เลย ไม่ต้องจัดการอะไรมากมาย ตอนขายออนไลน์เลยเหมือนเป็นการทำงานแบบ 2 มิติ”

ไม่ทันเอ่ยคำถามที่ว่า เพราะอะไรการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ถึง 4 ปีก่อนเปิดหน้าร้านจริงจึงไม่เพียงพอสำหรับพวกเขา ลูกศรก็รับหน้าที่ขยายความ 

“พอคิดว่าถึงเวลาแล้วที่แบรนด์ต้องโตขึ้น การตัดสินใจทำหน้าร้านทำให้เราเริ่มคิดว่าจะทำให้ลูกค้าเห็นภาพแบรนด์ชัดขึ้นได้ยังไง หน้าตาของร้านหรือสินค้าที่วางขายจะเป็นแบบไหน ตอนนั้นเลยเหมือนได้สัมผัสกับการทำธุรกิจแบบครบทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ทั้ง 360 องศาเป็นครั้งแรก จากที่ไม่รู้เรื่องบัญชีก็ต้องมาบริหารจัดการ ดูระบบหน้าร้าน คุยกับลูกค้า มันเป็นเรื่องค่อนข้างยากเหมือนกันที่แบรนด์เล็กๆ อย่างเราจะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดแบบนั้น”

“ที่ต้องบอกว่าก้าวกระโดดเพราะเราเองก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง” ทินช่วยเสริม

“ตอนนั้นยังกลัวอยู่เลยว่าถ้ามีหน้าร้านแล้วการเงินจะเป็นยังไง จะมีเงินพอใช้ไหม อย่างร้านเราก็ทำกันเองทุกอย่าง เพราะก็ไม่ได้มีทุนเยอะ ประหยัดอะไรได้ก็ทำไปก่อน ทำเท่าที่เราทำได้ สรรหาของมาตกแต่งกันเอง อาจจะไม่ได้เข้ากันหรอกแต่ก็ทำ ซึ่งพอกลับมาย้อนคิดว่าถ้าวันนั้นเราตัดใจไม่ทำ วันนี้เราคงรู้สึกเสียดายมาก” 

“ณ วันนี้เรารู้สึกว่าธุรกิจของเรามาไกลกันมาก ถึงจะเปิดหน้าร้านมาแค่ 3 ปี แต่ Daddy ก็เจออุปสรรคหลายอย่าง ผ่านร้อนผ่านหนาวมาค่อนข้างเยอะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เราโตและแข็งแกร่งขึ้น

“อย่างที่พี่ทินบอกตอนทำร้านแรก (สยามสแควร์ซอย 11) ทุกอย่างมันเป็นแฮนด์เมดหมดเลย เราทั้งขึ้นโครงไม้ หาของตกแต่ง เพนต์กำแพงกันเอง พอเปิดร้านจริงคนก็ให้ความสนใจ แต่การมีหน้าร้านไม่ใช่แค่ว่าหน้าร้านสวย คนเข้ามาแล้วจะจบ หลังบ้านต้องสมูทด้วย ด้วยความที่เราใหม่กันมากก็ต้องอาศัยเรียนรู้ระบบไปพร้อมๆ กับการเปิดร้าน ตอนแรกระบบหลังบ้านยังเป็นแบบจดมืออยู่เลยด้วยซ้ำ แต่พอย้ายร้านใหม่มาอยู่สยามสแควร์ซอย 2 ประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการหน้าร้านก็เพิ่มขึ้น ทุกอย่างพัฒนาไปตามกาลเวลา ตามการเรียนรู้ของเรา เหมือนเราเป็นเด็กที่เรียนรู้ว่าล้มแล้วก็ลุกขึ้นมา ถ้าเคยพลาดแบบนี้ก็จดจำไว้ว่าอนาคตเราจะไม่ทำมันอีก” ลูกศรสรุปด้วยรอยยิ้ม

 

02 

Daddy ปังได้เพราะสตอรี

Daddy เป็นแบรนด์ที่ค่อนข้างต่าง เราขายสตอรีไปพร้อมๆ กับขายเสื้อผ้า ซึ่งสตอรีเหล่านี้ก็มาพร้อมชื่อแบรนด์อย่าง Daddy and the Muscle Academy คาแร็กเตอร์พ่อ แม่ ลูก ที่ปรากฏอยู่บนลายผ้ามีที่มาจาก founder ของเรา แล้วเราก็ใส่คาแร็กเตอร์พวกนี้ในงานออกแบบของเราทุกชิ้น มันเลยเข้าถึงและทำให้ลูกค้าอยากติดตามสตอรีนี้ต่อ” แฟชั่นดีไซเนอร์ผู้รับหน้าที่ออกแบบเสื้อผ้าอย่างลูกศรลองวิเคราะห์ให้ฟังถึงเหตุผลที่ทำให้ Daddy เป็นที่นิยม พร้อมยกตัวอย่างเสื้อยืดลายสนุกๆ อย่าง Daddy กำลังต่อยคนที่มาจีบ Vendy ผู้เป็นลูกสาว หรือชื่อไลน์ของร้านอย่าง @Talktodaddy ที่เป็นกิมมิกบอกว่าจะซื้อจะหาสินค้าอะไรทักคุยกับ Daddy ได้เลย เพื่อยืนยันว่าสตอรีคือสิ่งสำคัญที่ทำให้แบรนด์มีคนติดตามและสนับสนุน

“สตอรีมันทัชใจคน มันเกี่ยวข้องกับตัวเขา ยิ่งพอเข้าร้านมาเจอกับการตกแต่งที่ไม่ได้ดูคอมเมอร์เชียลจ๋า หลายๆ อย่างเป็นของแฮนด์เมดที่เราทำเอง คนที่มาก็รู้สึกอบอุ่น เชื่อมโยงเหมือนได้เป็นหนึ่งในตัวละคร เลยอาจเป็นกิมมิกที่ทำให้คนยิ่งสนใจในเรื่องราว”

 

03

แบ่งพื้นที่ของ Daddy ให้ (เพื่อน) ศิลปิน

“อีกเหตุผลคือเรามีเพื่อน มีรุ่นน้อง ที่มีความสามารถมาจอยเยอะด้วย ในร้านเลยไม่ได้มีแค่สินค้าจาก Daddy แค่แบรนด์เดียว แต่เราได้ของจากน้องๆ เข้ามาเติมให้ร้านคอมพลีตมากขึ้น เมื่อลูกค้าเข้ามาจะเจอของที่หลากหลาย” ทินวิเคราะห์จากมุมมองของตัวเอง โดยมีลูกศรช่วยเสริมเรื่องข้อมูล

“ตอนแรกๆ เราก็ใช้คอนเนกชั่นเป็นน้องๆ ในคณะอย่าง ป่าน juli baker and summer หรือโซนเพนต์เล็บของ เกรซ Kantima Salon ก็มีขึ้นเพราะเราอยากให้มันมีความเป็นคอมมิวนิตี้ในร้าน ซึ่งพอคนเยอะและพื้นที่จำกัด สุดท้ายเลยไม่ได้ทำต่อ แต่ทุกวันนี้ที่น้องโตจนเปิดหน้าร้านเป็นของตัวเองได้แล้วเราก็ยินดีมาก และยังมีอีกหลายคนเลยที่เราสนับสนุน

“ในร้านมีผลงานของศิลปินไทยค่อนข้างเยอะ เพราะเราอยากให้ร้านเป็นพื้นที่ที่เขาจะได้แสดงหรือโชว์ผลงาน กว่าที่นักออกแบบรุ่นใหม่จะเติบโต ได้ขึ้นห้าง เป็นอะไรที่ค่อนข้างยาก เราเองมีพื้นที่ตรงนี้ รู้สึกว่าเราเป็นคนไทยทำไมถึงไม่สนับสนุน ให้เขาได้แสดงผลงาน ให้คนที่เป็นลูกค้าได้เห็นจริงๆ แล้วเขาก็จะได้กำลังใจกลับไปด้วยว่า สิ่งที่เขาทำมีคนชื่นชอบอยู่ มีคนมาซื้อจริงๆ เพราะเมื่อมีการอุดหนุนก็เป็นการเพิ่มกำลังใจให้กับศิลปินเหล่านั้นด้วย”

 

04

เปิด Daddy StickerLand พื้นที่สำหรับลูกค้า Daddy ทุกช่วงอายุ

เท่าที่จำได้สมัยก่อนภายในร้าน Daddy มีชั้นวางของกระจุกกระจิกอย่างแมสกิ้งเทป สติกเกอร์ หรือสมุดดินสออยู่เพียงนิด แต่เมื่อเข้าร้านมาอีกทีวันนี้เรากลับพบว่าพื้นที่กว่าครึ่งของร้านถูกยึดครองไปด้วยอุปกรณ์เครื่องเขียนทั้งไทยและเทศ จนอดตั้งข้อสงสัยและโยนคำถามออกไปไม่ได้ว่า เทรนด์งานอาร์ตที่กำลังฮิตในช่วงนี้ส่วนหนึ่งเติบโตได้เพราะมี Daddy บุกเบิกในตอนต้น 

“อาจจะเกี่ยว แต่จริงๆ ที่เรามีสินค้าประเภทนี้เยอะขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการของลูกค้าด้วย เมื่อก่อนเรายังไม่มีโซน stationary จริงจังขนาดนี้ด้วยซ้ำ แต่พอลูกค้าเข้ามาถามว่าจะมีอะไรใหม่อีกไหม เขารอติดตามอยู่ เราเลยต้องผลิตผลงานออกมามากขึ้น และเดี๋ยวนี้ซัพพลายเออร์ที่ไทยเขาก็ผลิตอะไรพวกนี้ได้แล้ว ไม่ต้องส่งไปผลิตเมืองนอกเลย มันง่ายขึ้นเยอะ น้องๆ ศิลปินก็ผลิตออกมาขายได้ง่ายขึ้น เราเลยออกแบบของที่หลากหลายมากขึ้นได้ ตอบสนองลูกค้าเรา” ทินผู้เป็นเจ้าของลายเส้นคาแร็กเตอร์ทั้งหมดของ Daddy ตอบอย่างถ่อมตัว

“ด้วยความที่ Daddy มีคาแร็กเตอร์ค่อนข้างชัดเจน และเราเองก็มีสตอรีที่ล้นหลามมากๆ อยากจะเล่าออกมา พอเราเอาเรื่องราวเหล่านั้นใส่ลงไปในเสื้อผ้ามันเลยอาจจะครอบคลุมได้ไม่หมด การแตกไลน์ทำ stationary ทำให้เราได้ปลดปล่อยเรื่องราวออกมาให้เห็นภาพชัดขึ้น ลูกค้าเองก็นำสิ่งนี้ไปต่อยอดเป็นเชิงไลฟ์สไตล์ได้มากขึ้น เช่น เอาสติกเกอร์ไปติดกล่องดินสอหรือของอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน สามารถตกแต่งตามไลฟ์สไตล์ของเขาได้เอง” ลูกศรรับหน้าที่อธิบายเสริมต่อจากทิน 

เธอเล่าว่าจริงๆ แล้วสิ่งนี้คือการพยายามแตกไลน์โปรดักต์มาซัพพอร์ตกลุ่มลูกค้าของ Daddy ในทุกช่วงอายุด้วย “มันเหมือนเป็นการเตรียมโปรดักต์ไว้ให้ลูกค้า อย่างฝั่งของเสื้อผ้าเราก็มี Morning cheri แบรนด์เสื้อผ้าที่ยังมีสไตล์คล้าย Daddy แต่อาจจะดูโตขึ้นหน่อย ไว้รองรับกลุ่มลูกค้าที่โตมากับเรา เผื่อวันหนึ่งเขาโตขึ้น ไม่สามารถใส่เสื้อผ้าสนุกๆ ซนๆ ได้แล้ว เขาก็ยังซื้อสินค้ากับแบรนด์ของเราได้ต่อ Daddy StickerLand เองก็มีแนวคิดคล้ายๆ กันคือ ในแง่หนึ่งเราทำขึ้นเพื่อเตรียมไว้ให้กลุ่มลูกค้าที่อาจจะชอบแบรนด์เราแต่ไม่สนใจเสื้อผ้า ให้เขามีทางเลือกในการซื้อของอย่างอื่น หรือกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใหม่ ซึ่งอาจเป็นเด็กที่ยังไม่สนใจซื้อเสื้อผ้าของ Daddy เขาก็อาจสนใจเราจากสินค้า stationary ก่อน และถ้าวันหนึ่งเขาโตขึ้น หันมาสนใจ ก็มีโอกาสที่โปรดักต์ของเราจะรองรับเขา” 

 

05

มีน้อยสาขาไม่เป็นไร เพียงพอแล้วสำหรับ Daddy

แม้จะเห็นว่าตอนนี้ Daddy เติบโตขึ้นเยอะ แต่หากเทียบกับการเติบโตของแบรนด์แฟชั่นอื่นๆ แล้ว เราพบว่า Daddy ขยายสาขาน้อยกว่าที่คาด แถมสาขาที่มีเพิ่มมาอย่าง Daddy StickerLand หรือ Daddy Vintage and Souvenir Store ก็เป็นเหมือนการขยายไลน์โปรดักต์เพิ่มขึ้นมากกว่า  

“การทำร้านสำหรับเราเหมือนได้ทำงานอาร์ตเวิร์กขึ้นมา 1 ชิ้น เหมือนทำงานศิลปะ 1 งานที่ค่อยๆ ทำไป เราไม่ได้ขยายสาขาเป็น 100 สาขาเพราะเราไม่อยากให้มันแมส เราอยากให้แบรนด์ค่อยๆ โตมากกว่า เอาจริงๆ ก็ไม่ได้อยากมีสาขาเยอะด้วย ไม่ได้อยากมี 100 สาขาในประเทศไทย เราอยากมีแค่ไม่กี่สาขาแต่เป็นสาขาที่ชัดเจนโดดเด่น มีสินค้าเฉพาะทาง และลูกค้าก็ไปเพราะอยากไปร้านจริงๆ” ทินรับหน้าที่อธิบาย โดยมีลูกศรช่วยเสริมเรื่องความตั้งใจและที่มาของร้าน Daddy Vintage and Souvenir Store

“ปกติร้านที่สยามเองก็มีโซนวินเทจอยู่แล้วและลูกค้ากลุ่มนี้ก็มีค่อนข้างเยอะ เราเลยอยากมีพื้นที่ที่สามารถขยายให้ใหญ่ขึ้น เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น อย่างเวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศ การได้ไปเที่ยวไปชมร้านวินเทจของเขามันอินสไปร์มาก ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องดีเทล การตกแต่ง และเอามาปรับใช้กับร้านของเราได้อีก แต่เมืองไทยมีร้านสไตล์นั้นน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย ถ้าให้คิดถึงร้านวินเทจที่อยากจะไปหรือร้านที่อินสไปร์เรามากๆ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปที่ไหน เราเลยอยากนำเสนอร้านอะไรแบบนี้ขึ้นมา 

“ย่านหัวลำโพงเป็นย่านที่ค่อนข้างน่ารัก อยู่ใกล้ตลาดน้อยที่มีอาร์ตแกลเลอรี คาเฟ่ เราเลยสามารถเพิ่มกิจกรรมที่ทำที่สยามไม่ได้ลงไปในร้านได้ เช่น การปรินต์รูปโพลารอยด์ custom keychain ร้อยกำไลเป็นชื่อตัวเอง เพราะเราไม่อยากให้ร้านเราเป็นแบรนด์ที่ขายแค่เสื้อผ้า ซื้อไปแล้วจบ แต่เราอยากให้คนมาที่ร้านแล้วได้ประสบการณ์ ได้อะไรกลับไป เอาไปคุยกับเพื่อนได้ว่าเคยไปทำอันนี้มา ตอนเด็กก็เคยทำสร้อยข้อมือแบบนี้ แต่ตอนนี้หาไม่ได้แล้ว”

 

06 

7 ปีแล้วแต่เรายังทำงานด้วยความสนุก

“ถ้าถามว่า 7 ปีที่ผ่านมา Daddy เป็นยังไง และเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง มันแบ่งได้เป็น 3 เฟสใหญ่ๆ” ลูกศรทวนคำถาม นิ่งคิดสักครู่ ก่อนจะเอ่ยตอบ

“เฟสแรกตอนขายในออนไลน์ เรายังทำแต่สิ่งที่ตัวเองชอบ เพราะชอบแบบนี้จึงทำและขายแบบนี้ แต่บางทีมันทำให้เราไม่ได้ฟังเสียงลูกค้า ลูกค้าอาจไม่ชอบไซส์ ไม่ชอบทรง เราก็ไม่ได้รับฟีดแบ็ก 

“เฟสที่สองเราเริ่มเปิดร้านแรก การทำหน้าร้านจริงก็ช่วยแก้ปัญหานั้น เราสร้างมู้ดแอนด์โทนให้ลูกค้าเห็นมากขึ้นได้ เรามีแฟนที่ติดตามมากขึ้น แต่การทำหน้าร้านก็มีอุปสรรคค่อนข้างเยอะ เพราะเราไม่มีประสบการณ์ด้วย เราต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับร้านของเราเอง เติบโตไปพร้อมๆ กับการเจอปัญหาหลายๆ รูปแบบ มีทั้งสุข ทุกข์ เศร้าปนๆ กัน แต่มันก็ทำให้เราโตขึ้นอีก

“ส่วนเฟสที่สามซึ่งคือตอนนี้ เป็น Daddy ที่ผ่านมรสุม ผ่านทุกอย่างมาเยอะมาก ทำให้เราเรียนรู้การทำงาน การดูแลธุรกิจ ครบทั้ง 360 องศา เรียนรู้แล้วว่าการทำหน้าร้านและหลังร้านให้ดีต้องทำยังไง รู้ว่าต้องใส่ใจดูแลพนักงานแบบไหน การออกแบบสินค้าให้ลูกค้าสนใจและชื่นชอบต้องทำยังไง เราเรียนรู้เยอะมากๆ และรู้สึกว่าโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากลูกค้า ตั้งแต่เปิดร้านจนถึงตอนนี้มันเป็นแรงผลักดันให้เติบโตและอยากสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ออกมาเรื่อยๆ”

ส่วนทินบอกกับเราว่าความสนุกในการทำแบรนด์นี้ก็เหมือนการวาดรูป “เรามีไอเดียที่อยากแสดงออกมา มีลายผ้าที่อยากทำ อย่างการได้ทำคอลเลกชั่นพิเศษกับต่างประเทศอย่าง RRR Tokyo ก็นับเป็นความสนุก ได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำ ได้วาดรูปลายใหม่ๆ พยายามคิดอะไรที่แตกต่างอยู่ตลอด”

เมื่อเห็นเราทำหน้างง ทินจึงเล่าเสริมว่าโปรเจกต์โกอินเตอร์ที่ Daddy ได้ทำงานกับแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นได้เพราะ RRR Tokyo เห็นผลงานแล้วสนใจ และด้วยทั้งสองแบรนด์มีสไตล์ใกล้เคียงกัน กลุ่มลูกค้าคล้ายๆ กันอยู่แล้ว พอได้พูดคุย เสนอไอเดีย และมีความคิดตรงกัน สุดท้ายจึงเกิดเป็นคอลเลกชั่นที่ลวดลายมีกลิ่นอายความเป็นไทยในเสื้อผ้าสไตล์ญี่ปุ่น พร้อมเปิดเป็นป๊อปอัพสโตร์วางขายที่ WHITE GALLERY ในห้าง Laforet HARAJUKU ห้างที่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางวัยรุ่น เป็นฮับสำหรับอัพเดตเทรนด์แฟชั่นของคนที่นั่นด้วย

“สิ่งที่เราเรียนรู้จากการไปทำงานครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องงานดีไซน์แล้ว แต่มันคือการที่เราได้เรียนรู้ระบบการทำงาน กระบวนการคิดของคนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นระบบระเบียบและละเอียดมาก ทำให้เราเอามาปรับใช้กับการทำงานและการพัฒนาสินค้าของเราได้เยอะ

นอกจากนี้มันทำให้เรายังมีไฟในการทำงานและทำต่อไปได้อยู่เรื่อยๆ โดยรู้สึกว่ามันเป็นงานที่ไม่น่าเบื่อ ให้เราทำงานนี้ไปตลอดชีวิตเลยยังได้ เราไม่คิดว่าตัวเองจะทำอะไรได้อีกนอกจากสิ่งนี้ มันเป็นเหมือนความสามารถพิเศษของตัวเอง เป็นแพสชั่นที่อยู่ในตัวเราตลอดเวลา”

เช่นเดียวกันกับลูกศรที่บอกเราว่างานครั้งนั้นได้รับการตอบรับดีมาก มีทั้งลูกค้าที่เดินเข้ามาแสดงความยินดีและบอกให้รู้ว่าตัวเองเคยมาเยือนร้านที่ไทยด้วย

“การได้มาที่นี่เป็นเหมือนความใฝ่ฝันหนึ่งของเรา เพราะจริงๆ แล้วเป้าหมายตอนแรกคือเราแค่ทำแบรนด์เพราะอยากเก็บเงินไปเที่ยวญี่ปุ่นโดยที่ไม่ใช้เงินตัวเองแค่นั้น การที่วันนี้เราไปถึงจุดนั้นแล้วก็เป็นกำลังใจและพิสูจน์ให้เห็นว่าเราไปในระดับที่สากลมากขึ้นได้ เราอาจจะไม่ได้มีความสามารถในการช่วยบริหารประเทศ แต่เราเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่ง พัฒนาจากความสามารถที่เรามี ทำให้ชาวต่างชาติรู้จักเราได้”

“เราทำแบรนด์นี้ด้วยความชอบ ความบริสุทธิ์ใจจริงๆ ไม่ได้อยากได้เงินมากมาย หรือคิดว่าวันหนึ่งจะต้องกลายเป็นมหาเศรษฐี ด้วยมายด์เซตแบบนั้นมันเลยทำให้เราทำงานโดยที่ไม่คำนึงถึงกำไรเป็นอันดับหนึ่ง โปรดักต์แต่ละชิ้นมาจากอินเนอร์ของคนในองค์กรจริงๆ อย่างพี่ทินเขาก็ชอบวาดรูปโดยอินเนอร์อยู่แล้ว ศรก็ออกแบบเสื้อผ้าเพราะมันเป็นความชอบของเราอยู่แล้ว เราออกแบบโดยที่บางทีไม่ได้สนใจเม็ดเงินด้วยซ้ำว่ามีเข้ามาเท่าไหร่ เราทำเพราะเราชอบ ทำด้วยใจรักจริงๆ อย่างที่พี่ทินบอก จะให้เราเปิดแบรนด์นี้ไปจนแก่เราก็รู้สึกว่าเราทำได้โดยที่ไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่ากำลังทำงานอยู่

“และถึงแม้วันนี้ลูกเราจะโตมากๆ แล้ว แต่เราก็รู้สึกว่าเขาน่าจะไปได้อีก ยังโตขึ้นไปได้ในแนวทางของเขา ซึ่งคงเป็นทิศทางที่น่าสนุก และลูกค้าน่าจะชอบแน่นอน”

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย

Video Creator

ชาคริต นิลศาสตร์

อดีตตากล้องนิตยสาร HAMBURGER /ค้นพบว่าตัวเองมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว