Studio2525 : ร้านขายงานคราฟต์ไทยในญี่ปุ่นที่ส่งต่อวัฒนธรรม มิตรภาพ และรอยยิ้ม

Highlights

  • หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในการถ่ายภาพเหล่าคราฟต์มาสเตอร์สำหรับ a day ฉบับที่ 219 Thai-Japanese Craft ช่างภาพประจำ a day อย่าง ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์ ก็ตัดสินใจไปเดินเล่นในย่านยานากะ จึงได้พบกับ Studio2525 ร้านขายงานคราฟต์นำเข้าจากประเทศไทยหนึ่งเดียวในย่านที่มีกลิ่นอายญี่ปุ่นจ๋า
  • แน่นอนว่า เจ้าของร้าน หวาน–ผกามาศ เอี่ยมสำอางค์ เอ่ยทักทายเป็นภาษาไทย แล้วชวนเข้าไปดูของในร้าน พร้อมเล่าเส้นทางการลองผิดลองถูกของเธอเมื่อตั้งใจจะเปิดร้านที่นำเสนองานคราฟต์ฝีมือคนไทยให้คนญี่ปุ่นได้ทำความรู้จัก
  • ไม่ใช่เพียงลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่ได้เรียนรู้งานคราฟต์และวัฒนธรรมแบบไทยๆ หวานเองก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นอย่างถึงแก่นเช่นกัน

หลังจบการเดินทางอันยาวนานในญี่ปุ่นเพื่อทำ a day ฉบับที่ 219 Thai-Japanese Craft วันสุดท้ายในโตเกียวที่พอจะมีเวลาว่าง ฉันเลือกที่จะเดินเล่นใกล้ๆ ที่พักในย่านยานากะ

ยานากะอาจเป็นชื่อที่คนไทยไม่คุ้นหูนัก แต่เพียงเดินจากสถานีอุเอโนะ แหล่งช้อปปิ้งยอดนิยมของนักท่องเที่ยวไปทางสวนสาธารณะอุเอโนะประมาณ 10-15 นาที ก็จะพบย่านที่พักอาศัยอันเงียบสงบและยังคงวิถีชีวิตแบบเก่าไว้ได้อย่างครบถ้วน ดูได้จากร้านค้าในบ้านไม้แบบโบราณที่สืบทอดกิจการดั้งเดิมมานับร้อยปี ไปจนถึงวัด ศาลเจ้า และสุสานที่รายล้อมบริเวณ ทั้งยังเป็นที่ตั้งของ Tokyo University of the Arts หรืออีกชื่อคือ Geidai มหาวิทยาลัยศิลปะของรัฐ ซึ่งถ้าเทียบกับบ้านเราก็คือมหาวิทยาลัยศิลปากรนั่นเอง

บนถนนเส้นหนึ่งที่ติดป้ายเล็กๆ ว่า Rue des Arts (ถนนสายศิลปะ) ซึ่งเป็นป้ายที่ได้รับจากรัฐบาลฝรั่งเศสเมื่อนานมาแล้ว ฉันพบร้านขายงานคราฟต์ขนาดเล็กที่ภายนอกดูกลมกลืนไปกับบรรยากาศแสนญี่ปุ่นของย่านนี้ แต่พอก้าวพ้นประตูเข้าไป เจ้าของร้านก็ทักฉันเป็นภาษาไทย และสินค้าภายในร้านก็เป็นงานแฮนด์เมดที่ฉันคุ้นตา เสื้อสีน้ำเงินปักด้ายสีขาวจากเชียงใหม่แขวนอยู่ริมหน้าต่าง กระเป๋าถักจากแหหลากสีแขวนอยู่หน้าทางเข้า ผ้าพันคอผ้าไหมที่เห็นเวลาไปงานโอทอปถูกจัดวางบนโต๊ะอย่างเป็นระเบียบ ผนังด้านหนึ่งมีเครื่องประดับนานาชนิดจัดวางอยู่ ส่วนลึกเข้าไปด้านหลังเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ โดยงานที่แสดงอยู่ตอนนั้นเป็นนิทรรศการของกลุ่มศิลปินชาวญี่ปุ่น

Studio2525 Thai Craft คราฟต์ไทย

Studio2525 Thai Craft คราฟต์ไทย

Studio2525 คือชื่อของสถานที่แห่งนี้  

ตัวเลข 2525 อ่านเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ว่า นิโกะนิโกะ แปลว่า ยิ้ม หรืออีกนัยหนึ่ง ตัวเลข 2525 คือปีเกิดของเจ้าของร้านอย่าง หวาน–ผกามาศ เอี่ยมสำอางค์  

หวานคือหญิงสาวชาวไทยที่พบรักกับศิลปินชาวญี่ปุ่นและย้ายมาใช้ชีวิตที่โตเกียวได้สองปีแล้ว เธอเรียนจบจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำงานออกแบบเครื่องประดับอยู่หลายปีจนมีแบรนด์ของตัวเอง เคยเปิดร้านที่สวนจตุจักร และเคยมีตัวแทนจำหน่ายเลือกงานของหวานมาขายในห้างที่โตเกียว  

แต่ทั้งหมดนั้นก็หยุดพักไปชั่วคราวเมื่อหวานแต่งงานและย้ายมาอยู่ที่นี่ เพราะยังพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ เธอจึงตัดสินใจร่ำเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่หนึ่งปีเต็ม ก่อนจะมาเริ่มต้นใหม่กับ Studio2525 ซึ่งทำให้หญิงสาวได้เรียนรู้บทเรียนที่ไม่เพียงมีคุณค่าต่อการทำธุรกิจ แต่ยังมีคุณค่าต่อการรับรู้และการทำความเข้าใจในวัฒนธรรมญี่ปุ่นสำหรับคนไทยในญี่ปุ่นอย่างเธอด้วย

Studio2525 Thai Craft คราฟต์ไทย

Studio2525 Thai Craft คราฟต์ไทย

บทเรียนที่ 1 : ลืมทุกอย่างที่เคยรู้มาก่อน

แม้จะเคยเปิดร้านของตัวเองที่กรุงเทพฯ มาก่อน แต่ประสบการณ์ครั้งนั้นก็ไม่อาจหยิบยกมาใช้ในบริบทของญี่ปุ่นได้ทั้งหมดโดยไม่ปรับเปลี่ยนสิ่งใด อย่างแรกที่หวานต้องปรับคือทัศนคติตัวเอง เธอต้องลืมสิ่งต่างๆ ที่เคยเรียนรู้ที่ไทยมาก่อน เป็นต้นว่าเรื่องค่าเช่าร้านในญี่ปุ่นซึ่งถ้าคิดเทียบเป็นค่าเงินไทยคงไม่อยากเปิดร้านเลยทีเดียว

“แฟนเราทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกได เขาต้องเดินกลับบ้านผ่านถนนเส้นนี้ทุกวัน วันหนึ่งเขาเห็นว่าตรงที่ที่เคยเป็นบ้านคนมันถูกทุบทิ้งทำเป็นร้านค้าให้เช่า เราก็รีบมาดูร้าน ดูราคาว่าเท่าไหร่ พอรู้ราคาก็ไม่มั่นใจที่จะเช่าเลย เพราะค่าเช่าถือว่าแพงถ้าเทียบกับไทย แต่ก็ถือว่าถูกแล้วสำหรับที่นี่ ที่บ้านแฟนก็สนับสนุน บอกให้เช่าไปก่อน ถือว่าทำการทดลองไป เราเลยคิดว่าจะเอางานเพื่อนมาลองวางขายดู แล้วก็จะไปเลือกของจากเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ มาด้วย”

Studio2525 Thai Craft คราฟต์ไทย

Studio2525 Thai Craft คราฟต์ไทย

บทเรียนที่ 2 : เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นอย่างถึงแก่น

เมื่อต้องคัดของเข้าร้านครั้งแรก หวานสังเกตว่าครอบครัวญี่ปุ่นใช้ถ้วยชามในหนึ่งมื้อค่อนข้างเยอะ จึงตัดสินใจเลือกจานชามเซรามิกของเพื่อนที่ไปดังในฝรั่งเศสมาขาย ด้วยคิดว่าต้องขายได้แน่ๆ

“คอลเลกชั่นนั้นเป็นจานชามรูปทรงหอย มีป้าคนหนึ่งมาจับดู เราก็พยายามอธิบายคอนเซปต์งานให้ฟัง เขาก็บอกว่า ‘ดีจังเลยเนอะ แต่หนักจัง เหมือนของจริงจังเลย’ แล้วก็พึมพำกับตัวเองว่า ‘ใส่อาหารแล้วน่าจะคาว น่าจะมีกลิ่นหอย’ (หัวเราะ) วางอยู่เป็นสัปดาห์ก็ขายไม่ได้ สัปดาห์ที่สองลด 20% ก็ยังขายไม่ได้”

แม้จะขายไม่ออก แต่หวานก็ยืนยันที่จะวางสินค้าไว้หน้าร้านก่อน จึงได้รับฟีดแบ็กจากลูกค้าคนญี่ปุ่นที่แวะเวียนเข้ามาอย่างเต็มที่ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้เธอเข้าใจลูกค้ามากขึ้น แต่ยังได้เข้าใจวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตแบบญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

“อย่างช้อนรูปหอยในเซตเดียวกัน ก็มีคนมาถามว่าจะใช้ยังไง ที่ไทยเราใช้ตักน้ำปลา ตักซอส แต่เราลืมไปว่าที่นี่น้ำจิ้มใครน้ำจิ้มมัน เขาไม่มีช้อนกลาง เขาเลยไม่เข้าใจการใช้ช้อนเลยยกเว้นช้อนซุป ขนาดลดราคาเท่าทุนแล้วก็ยังขายไม่ออก จะเอาไปแจกคนอื่นยังต้องคิดเยอะเลยว่าคนอื่นจะลำบากหรือเปล่า จะไปเป็นขยะให้บ้านเค้าหรือเปล่า

“คอมเมนต์หนึ่งที่ได้จากลูกค้าคือ บ้านญี่ปุ่นมีพื้นที่น้อย เพราะฉะนั้นที่เก็บจานก็เล็ก ถ้าจานวางซ้อนกันไม่ได้จะเก็บลำบาก และถ้าจัดโต๊ะก็ควรมีเซตจานครบสำหรับทุกคน แต่เราเอามาไม่ถึง 4 เซต นอกจากนี้ภาชนะก็ควรมีความเป็นกลาง ใช้ได้กับทุกฤดู สุดท้ายก็เลยต้องเก็บคอลเลกชั่นนี้กลับบ้านไปก่อน”

อีกตัวอย่างหนึ่งที่หวานสนุกไปกับการอิมโพรไวส์คือกระเป๋าถักจากแหจับปลาสีฉูดฉาดซึ่งเธอนำมาจากขอนแก่น

“วางอยู่นานแต่ขายไม่ได้ ลดราคาก็ขายไม่ได้ เราเลยลองขอความเห็นจากแฟน เขาออกความเห็นว่า มันมองเห็นของข้างใน คนน่าจะอาย เราเลยติดป้ายว่า ‘เอาไว้ใส่ผลไม้’ แต่ก็ยังขายไม่ได้ คนญี่ปุ่นคิดว่ามันเป็นของไร้สาระและแพงเกินไป เราเลยเปลี่ยนป้ายเป็น ‘กระเป๋าถักทรงกลม’ แล้วก็ไปซื้อถุงผ้าดิบหูรูดจากร้านร้อยเยนมาซ้อนข้างใน ปรากฏว่าขายได้ทั้งที่ขายราคาเดิม เราเลยเรียนรู้ว่าเราต้องทำให้มันมีคุณค่าการใช้งานตรงตามความต้องการของคนญี่ปุ่น คือต้องปกปิดของข้างใน ไม่ให้คนอื่นรู้ว่าซื้ออะไร ก็ต้องค่อยๆ ใช้เวลาเรียนรู้ไป”

Studio2525 Thai Craft คราฟต์ไทย

Studio2525 Thai Craft คราฟต์ไทย

 

บทเรียนที่ 3 : ตั้งราคาที่เหมาะสมและสื่อสารคุณค่าของชิ้นงาน

ฉันถามหวานว่า จำได้ไหมว่าของชิ้นแรกที่ขายได้คืออะไร หวานชี้ไปที่พวงกุญแจปลาสีน้ำเงินที่ปักลายด้วยมือ

Studio2525 Thai Craft คราฟต์ไทย

เธอบอกว่าตอนนี้ก็ยังขายได้เรื่อยๆ ไม่แน่ใจเหตุผลที่แน่ชัด แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่เรื่องราคาซึ่งถูกกว่าของชิ้นอื่นๆ ในร้านเพราะเป็นของชิ้นเล็ก เพราะคนญี่ปุ่นไม่เกี่ยงเรื่องราคาหากเข้าใจว่าตัวเองกำลังจ่ายเงินให้กับอะไร

“สำหรับคนญี่ปุ่น เขายินดีจ่ายแพงกับงานคราฟต์ที่ตั้งใจทำ ถ้าตั้งราคาถูกมากเกินไปเขาจะสงสัยว่ามาจากจีนหรือเปล่า ผลิตในโรงงานหรือเปล่า ครั้งหนึ่งเราเคยเอาเสื้อปักมือจากเชียงใหม่มาขาย ตั้งราคาไว้ประมาณ 7,000 บาท ขายได้เร็วมาก ป้าคนหนึ่งมาจับแล้วบอกว่า เย็บด้นขนาดนี้ ถูกมาก (หัวเราะ) คือเรื่องราคาไม่ใช่ปัญหาของคนที่นี่ แต่เราต้องตั้งใจอธิบายงานคราฟต์ที่เราตั้งใจทำ ถ้าเราอธิบายได้ดีพอ แล้วเขาเข้าใจ ก็ไม่จำเป็นต้องลดราคาหรือขายถูกๆ เลย”

Studio2525 Thai Craft คราฟต์ไทย

Studio2525 Thai Craft คราฟต์ไทย

 

บทเรียนที่ 4 : จัดร้านให้เรียบง่ายตามจริตคนญี่ปุ่น

ช่วงแรกๆ ที่เปิด Studio2525 หวานเป็นคนจัดร้านด้วยตัวเอง แม้จะคิดว่าจัดวางอย่างเรียบที่สุดแล้ว แต่ก็ยังเรียบไม่พอสำหรับชาวญี่ปุ่น

“เราคนไทย อยากโชว์ของเยอะๆ ผ้าก็พับกองสูงๆ มาเลย แต่แฟนบอกว่า มันรกไปหมดเลย (หัวเราะ) ไม่มีจุดเด่น เข้ามาในร้านแล้วไม่รู้ว่าทิศทางของร้านคืออะไร ทั้งที่พอเข้ามาแล้วควรรู้เลยว่าร้านนี้ขายของแฮนด์เมดนะ บรรยากาศชิลล์ๆ นะ เขาเลยมาช่วยจัดร้านให้เป็นสภาพที่เห็นตอนนี้ เขาจัดเรียบมาก วางผ้าพันคอบนโต๊ะแค่ห้าชิ้น วางแบบม้วนผ้าไว้ให้รู้สึกว่ามันนิ่ม คนเข้าร้านปุ๊บก็เข้าใจแล้วซื้อเลย  

“คนญี่ปุ่นที่เคยมาดูตอนแรกแล้วบอกว่ามันแพง พอหลังจากแฟนจัดร้านให้ เข้ามาดูอีกรอบบอกว่าถูกมาก ทั้งที่ราคาเดิม”

Studio2525 Thai Craft คราฟต์ไทย

 

บทเรียนที่ 5 : ต้องสม่ำเสมอและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

ฉันถามหวานถึงบรรยากาศในย่านยานากะ ร้านใกล้เรือนเคียงล้วนเป็นร้านค่าเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาเนิ่นนาน ย่านนี้จึงมีกลิ่นอายญี่ปุ่นที่ชัดเจนมาก มีเพียง Studio2525 ที่ขายงานคราฟต์จากไทย

“ตอนแรกเราก็กลัวว่าพวกเขาจะรับของจากประเทศเราได้ไหม” หวานบอก

“แต่ปรากฏว่าลุงป้าแถวนี้น่ารักมาก วันแรกที่เปิดร้านมีคนขี่จักรยานมาถามว่าเปิดร้านวันไหน เราก็ตอบว่าวันนี้ เขาก็หายไป ตอนเย็นก็เอาช่อดอกไม้มาให้ บางคนเข้ามาดูก็เอานามบัตรร้านเราไปช่วยแจกให้ก็มี เคยมีคุณป้าขี่จักรยานมาไกลจากฝั่งอุเอโนะ บอกว่าเค้าว่ากันว่ามีร้านเปิดใหม่เลยแวะมาดู แสดงว่าคนญี่ปุ่นก็ขี้เมาท์เหมือนกัน เหมือนคนช่วยพูดต่อๆ กัน โดยที่เราไม่ต้องแจกโบรชัวร์”

ช่วงแรกที่เปิดร้าน หวานยังพูดภาษาญี่ปุ่นได้ไม่คล่องนัก กลัวที่จะต้องตอบคำถามลูกค้า จึงชวนลูกพี่ลูกน้องที่เรียนอยู่ที่โตเกียวมาช่วยขายของ โดยวางแผนไว้ว่า ถ้าวันไหนลูกพี่ลูกน้องหยุด หวานก็จะปิดร้าน

“แฟนได้ยินก็บอกว่า เธอทำอย่างนั้นไม่ได้นะ คนญี่ปุ่นชอบความสม่ำเสมอ ต่อให้เป็นคนแก่ เขาก็ใช้อินเทอร์เน็ตเสิร์ชได้ว่าร้านเปิดวันไหน เปิด-ปิดกี่โมง เลยต้องพยายามบังคับตัวเองให้เปิดร้านทุกวัน เตรียมตัวหาคำศัพท์อธิบายลูกค้า แล้วก็ผ่านมันมาได้ คือลูกค้าก็ไม่ได้หวังให้เราพูดภาษาระดับสุภาพขั้นสูงสุด เพราะเขาก็รู้ว่าเราเป็นคนไทย แค่พยายามสื่อสารอธิบายเขาได้ก็พอแล้ว”

Studio2525 Thai Craft คราฟต์ไทย

Studio2525 Thai Craft คราฟต์ไทย

บทสรุป

แม้จะเริ่มต้นจากการทดลอง แต่หวานก็มีเหตุผลในใจที่มากกว่าแค่การลองผิดลองถูก เธอตั้งใจนำงานคราฟต์ฝีมือคนไทยมาโชว์ให้คนญี่ปุ่นดู โดยเฉพาะงานคราฟต์จากกลุ่มหัตถกรรมในท้องถิ่น ไม่ใช่เพียงงานคราฟต์จากแบรนด์ใหญ่ที่นักท่องเที่ยวมักจะรู้จักกันอยู่แล้ว

“อย่างเดือนนี้เราขายผ้าไหมเยอะ เราก็ทำแผนที่ชี้ให้เขาดูว่าผ้าผืนนี้มาจากตำบลอะไร จังหวัดอะไร เช่น ผ้าหมักโคลนภูเขาไฟจากบุรีรัมย์ พอคนญี่ปุ่นได้ยินก็จะแปลกใจว่า ที่ไทยมีภูเขาไฟด้วยเหรอ เราก็จะอธิบายว่าที่นี่ค่อนข้างแห้งแล้ง เลยมีวัสดุไม่เยอะ ต้องหมักผ้าด้วยโคลนหมักจากใบไม้ สีเลยมีไม่เยอะแบบนี้ เราอยากเล่าให้คนญี่ปุ่นได้เข้าใจว่าของแต่ละชิ้นมีที่มา มีความตั้งใจของคนในพื้นที่นั้นๆ อยู่ในงานแต่ละชิ้น แล้วพอเขาเข้าใจที่มาของของชิ้นนั้น เขาก็พอใจที่จะซื้อ ต่อให้ราคาสูงก็ตาม”

นอกจากจะได้อธิบายที่มาที่ไปของงานคราฟต์แต่ละชิ้นแล้ว การเปิดร้านนี้ยังทำให้หวานได้ทำความเข้าใจจุดร่วมในงานคราฟต์ไทยและญี่ปุ่นด้วย

“งานหัตถกรรมหลายๆ อย่างของไทยและญี่ปุ่นคล้ายกันมาก ญี่ปุ่นมีเสื่อทาทามิ ไทยก็มีเสื่อกก ญี่ปุ่นมีผ้าคัตสึริ ไทยก็มีผ้าตีนจก หรือแม้แต่งานลงรักปิดทองเราก็มีเหมือนกัน

“ถึงงานหลายอย่างจะเหมือนกัน แต่เรามองว่าไม่มีใครแข่งกับใครนะ สิ่งที่เราต้องการไม่เหมือนกัน นิสัยคนไทยกับญี่ปุ่นไม่เหมือนกัน และวิธีคิดก็ไม่เหมือนกัน เราไม่ได้ต้องการความเนี้ยบแบบเขา เขาก็ไม่ได้อยากเป็นแบบเรา การที่เราได้พูดคุยเรื่องงานคราฟต์กับคนญี่ปุ่น มันเป็นการเปิดรับวัฒนธรรมกันและกันมากกว่า”

Studio2525 Thai Craft คราฟต์ไทย

Studio2525 Thai Craft คราฟต์ไทย

ก่อนจากกัน ฉันถามหวานเรื่องอนาคตของ Studio2525 ที่เพิ่งปรับพื้นที่ครึ่งหนึ่งให้เป็นสเปซสำหรับแสดงงานศิลปะไปหมาดๆ เธอบอกว่า ความตั้งใจอีกอย่างคืออยากให้ศิลปินไทยและศิลปินญี่ปุ่นมาแสดงงานร่วมกัน

“เรารู้สึกว่าศิลปินไทยและญี่ปุ่นมาแลกเปลี่ยนกันได้ ฝั่งไทยก็จะรู้ว่างานที่ญี่ปุนเป็นยังไง ฝั่งญี่ปุ่นก็จะได้รู้ว่างานที่ไทยเป็นยังไง พอได้แลกเปลี่ยนกัน ก็จะเกิดเป็นความสัมพันธ์ ความเป็นเพื่อน”

และสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคงเป็นรอยยิ้ม เหมือนชื่อร้าน นิโกะนิโกะ ที่แปลว่า ยิ้ม ฉันคิดอย่างนั้นนะ

Studio2525 Thai Craft คราฟต์ไทย

ผลงานของศิลปินชาวญี่ปุ่นชื่อ Taku Hisamura

Studio2525 Thai Craft คราฟต์ไทย


ประเภทธุรกิจ : ร้านขายงานคราฟต์

คอนเซปต์ : ร้านขายงานคราฟต์จากประเทศไทยที่ตั้งใจเผยแพร่วัฒนธรรมไทย พร้อมคัดสรรสินค้าตรงตามวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น

เจ้าของ : หวาน–ผกามาศ เอี่ยมสำอางค์

Facebook l Studio2525

Sculptor’s Wife JP สามีดิฉัน เป็นศิลปินญี่ปุ่น

Website l www.studio2525.co.jp

AUTHOR