อายุ จือปา หรือ ลี เป็นเด็กหนุ่มชาวอาข่า เขาเกิดในหมู่บ้านทุรกันดารที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย บ้านของเขาปลูกกาแฟและเขาก็ชอบกินกาแฟ ลีสร้างแบรนด์กาแฟ ‘อาข่า อ่ามา’ ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 25 ปีแต่ได้รับการยอมรับระดับโลก กาแฟของเขายังเป็นกิจการเพื่อสังคมที่ช่วยเหลือชุมชนด้วย
ผลกาแฟสุกสีแดงปลั่ง อากาศบนดอยเย็นสบาย ชาวบ้านตื่นแต่เช้าตรู่เตรียมเก็บเกี่ยว กลิ่นหอมๆ รสขมๆ กับความหวานที่ซ่อนอยู่ปลายลิ้น เหตุผลแค่นี้ก็พอแล้วมั้งกับการเก็บกระเป๋าเดินทางไปจิบกาแฟกับเขา
1
รถกระบะเคลื่อนที่ทุลักทุเลไปตามถนนลาดชันที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อขรุขระ ฝุ่นฟุ้งตลบเคลือบเส้นผมของชาวบ้านและผู้มาเยือนที่นั่งคุดคู้อยู่ท้ายรถกลายเป็นสีแดงอิฐ เสียงของเครื่องยนต์ดังกลบเสียงตะโกนจากชายหนุ่มที่ชื่อ ‘ลี’
“นั่นไงเสาไฟฟ้าต้นสุดท้าย” เสาไฟฟ้าต้นนั้นเป็นสัญญาณว่าเราใกล้ถึงจุดหมายแล้ว
ถ้าไม่นับการบินลัดฟ้าจากกรุงเทพฯ มาเชียงใหม่ เราใช้เวลาเดินทางเกือบ 5 ชั่วโมงมาบ้านเกิดลี ตั้งแต่นั่งรถยนต์จากสนามบินเชียงใหม่มายังวัดแม่ต๋ำ จังหวัดเชียงราย ก่อนเก็บข้าวของกระโดดขึ้นท้ายรถกระบะ (เพราะทางขึ้นดอยไม่สามารถใช้รถยนต์ได้) ไต่ไปตามหุบเขาสลับซับซ้อน ผ่านป่าไม้โล่งเตียนและดกครึ้ม แวะจอดรับชาวบ้านที่หมู่บ้านจีนและโรงเรียนบ้านห้วยน้ำขุ่นวิทยาจนมาถึงเสาไฟฟ้าต้นสุดท้าย
“ไม่ไกลแล้วครับ อีก 4 กิโลเมตรเท่านั้น” ลีพูดปลอบใจ แต่ลืมบอกไปว่า 4 กิโลเมตรที่ว่านั้นคือ ‘กิโลเมตรของชาวอาข่า’ บั้นท้ายของผมต้องระบมไปอีกกว่าครึ่งชั่วโมง! ลีบอกว่าตอนเด็กเขาเดินเท้าเปล่าไปเรียนด้วยเส้นทางนี้ทุกวัน
ลีเป็นชาวอาข่า เกิดที่บ้านแม่จันใต้ ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย หมู่บ้านเล็กๆ นี้มีชาวอาข่าอาศัยอยู่ประมาณ 34 ครอบครัวหรือประมาณ 220 คน อาข่าเป็นชนเผ่าที่อพยพมาจากประเทศจีนตอนใต้ มีอาชีพหลักคือเกษตรกรรม ปัจจุบันคาดว่ามีชาวอาข่าประมาณ 40,000 คนอาศัยอยู่ในประเทศไทย และอีกจำนวนหนึ่งอยู่ในพม่าและลาว
ลีพูดสำเนียงภาษาไทยไม่ค่อยชัดว่าบ้านแม่จันใต้เป็นหมู่บ้านทุรกันดารที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ไม่มีถนนลาดยาง ไม่มี 3G เมืองถูกตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง
“ผมเป็นคนโชคดีที่สุดในโลก” แต่เขากลับยืนยันคำพูดนี้
ในที่สุดเราก็ถึงที่หมาย หลังจากล้างหน้าล้างตา เก็บข้าวของสัมภาระที่บ้าน ลีพาเราเดินสำรวจ รอบๆ หมู่บ้านมีขนาดเล็กอย่างที่ลีว่าจริงๆ บ้านแต่ละหลังตั้งห่างๆ ลดหลั่นตามเนินลาดชัน ภูมิศาสตร์ตั้งอยู่สูงทำให้มองเห็นทิวทัศน์ข้างล่างแบบ 360 องศา บรรยากาศร่มรื่น โอบล้อมด้วยหุบเขาเขียวชอุ่ม อากาศบริสุทธิ์ ลมพัดเย็นสบาย อุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส
ปัจจุบันลีอายุ 28 ปี เขาเป็นเด็กหนุ่มคนแรกในหมู่บ้านที่เรียนจบระดับชั้นอุดมศึกษา เป็นคนแรกที่ฟัง-พูด-อ่าน-เขียนภาษาอังกฤษได้แตกฉาน เป็นคนแรกที่ได้ออกสื่อไทยและเทศอย่าง BBC หรือ The Wall Street Journal เป็นเจ้าของธุรกิจกาแฟแบรนด์แรกและแบรนด์เดียวในไทยที่ได้รับเลือกจากองค์กรกาแฟชนิดพิเศษแห่งยุโรปเพื่อใช้ในเวทีการชิมกาแฟนานาชาติ 3 ปีซ้อนที่อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย
ปีนี้แบรนด์กาแฟที่เขาปั้นมากับมือ ‘อาข่า อ่ามา’ เพิ่งมีอายุครบ 3 ปี นั่นหมายความว่าเขาเริ่มทำธุรกิจของตัวเองตั้งแต่อายุไม่ถึง 25 ปี น่าสนใจว่าเด็กหนุ่มที่เติบโตจากหมู่บ้านทุรกันดารที่สุดแห่งหนึ่งเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
“ตอนเด็กก็เคยถามแม่ว่าทำไมเราโชคร้ายที่ต้องมาเกิดบนดอย” ลีเล่า “แต่แม่บอกว่าโชคร้ายโชคดีไม่ได้วัดที่เราเกิดบนดอยหรือเกิดในเมือง ผมก็ครับๆ ตามประสาเด็ก แต่จริงๆ ไม่รู้เรื่องหรอก”
หลังจากเดินเล่นจนฟ้าเริ่มมืด ลีชวนผมกลับบ้านทานข้าวเย็น ลีบอกว่าแม่ของเขาทำอาหารอร่อยมาก แขกที่ไหนมาเยี่ยมบ้านต้องขอเติมข้าวทุกคน เราล้อมวงกินข้าวในห้องนอนบนบ้านไม้-น้องชายลีก็มานั่งกินด้วย เมนูมื้อนั้นประกอบไปด้วยอาหารที่ผมแทบไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะใช้วัตถุดิบที่หาได้จากบนดอยเกือบทั้งหมด เช่น ใบเฟิร์นผัดน้ำมันกระเทียม รังผึ้งหมก หัวมะเขือเครือต้มจืด ต้มรากโสมกับซี่โครงหมู ไข่เจียวรากหอมชู อร่อยจนต้องขอเติมข้าวอย่างที่เขาว่าจริงๆ
3 ทุ่มตรง ทุกอย่างเงียบสนิท หลอดไฟดวงสุดท้ายที่ได้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ดับวูบลง ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีอะไรทำนอกจากการนอน ลีที่นอนข้างๆ หลับสนิทอย่างรวดเร็ว
วินาทีนั้นผมสงสัยเหมือนกันว่าทำไมเขาคิดว่าตัวเองโชคดีที่สุดในโลก
“ตอนเด็กก็เคยถามแม่ว่าทำไมเราโชคร้าย
ที่ต้องมาเกิดบนดอย แต่แม่บอกว่าโชคร้ายโชคดี
ไม่ได้วัดที่เราเกิดบนดอยหรือเกิดในเมือง”
Facebook.com l Akha Ama Coffee
คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 2
ตอนที่ 3
ตอนที่ 4
(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 155 กรกฎาคม 2556)
ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ