ก้อ-ณฐพล ศรีจอมขวัญ กับผลงานเดี่ยวในรอบ 10 ปีที่ชีวิตเรียนรู้ว่าต้องเห็นแก่ตัวเองน้อยลง

หลังจากขับรถผ่านประตูรั้วเข้าไปแล้ว ผมก็ตรงดิ่งไปที่บ้านหลังเดิมตามความทรงจำที่เคยมาที่นี่ แต่ปรากฏว่าเขาไม่ได้อยู่บ้านหลังนั้นแล้ว แต่เป็นอีกหลังหนึ่งที่สร้างใหม่ในพื้นที่เดียวกัน

ก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเลย เพราะความทรงจำที่ว่านั้นคือเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน ตอนที่ผมรับหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวของวง Groove Riders ออกมาเป็นหนังสือที่มีชื่อว่า In The Groove ได้ติดตามวงไปทัวร์คอนเสิร์ตอยู่เป็นระยะเวลาพอสมควร และได้เข้าออกบ้านของเขาอยู่บ่อยๆในฐานะศูนย์กลางของวง

เมื่อ 15 ปีที่แล้ว โลกยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าโซเชียลมีเดีย ตอนนั้นวง Groove Riders เพิ่งออกอัลบั้มชุดที่ 2 ซึ่งห่างจากอัลบั้มแรก 5-6 ปี โดยที่ระหว่างนั้นวงก็ไม่เคยว่างเว้นจากการทัวร์ เพราะมีเพลงดังหลายเพลงเป็นแรงขับเคลื่อน หนึ่งในนั้นก็คือเพลง ‘หยุด’ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเพลงที่ดังที่สุดที่แต่งโดยเขาคนนี้ 

ในวันที่ผมไปสัมภาษณ์เขาอีกครั้งหนึ่งนั้น ก้อ-ณฐพล ศรีจอมขวัญ เพิ่งปล่อยเพลงใหม่ที่มีชื่อว่า ‘จนวินาทีสุดท้าย’ มาได้ไม่นาน โดยระบุว่าเป็นเพลงเปิดตัวสำหรับอัลบั้มเดี่ยวชุดใหม่ของเขา The Workings of the Soul part 3 ที่จะออกปลายปี 2022 นี้ ซึ่งห่างจากอัลบั้มเดี่ยวชุดก่อนของเขา The Workings of the Soul part 2 เป็นเวลา 10 ปี

แต่จริงๆ 10 ปีที่ผ่านมาสำหรับ ก้อ ณฐพล นั้น เขาไม่เคยว่างเว้นจากผลงานเพลงโปรเจ็กต์อื่นๆ เลย อย่างเช่น theBOYKOR, 2 Days Ago Kids, The Ghost Cat รวมไปถึงงานโปรดิวซ์และแต่งเพลงอีกมากมาย แต่นอกเหนือจากนี้แล้วมันก็เป็นทศวรรษที่ชีวิตของเขามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง

เรื่องใหญ่ที่สุดเห็นจะเป็นเขากลายเป็นคุณพ่อลูกสอง นอกจากนี้ก็ยังสวมหมวกเป็นผู้บริหารค่าย Spicydisc นั่งในตำแหน่ง MD และยังมีหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มเข้ามา คือเป็นประธานกรรมการบริหาร MCT (Music Copyright Thailand) องค์กรจัดเก็บลิขสิทธิ์ของนักแต่งเพลงไทย

ทั้งหมดนี้คือความเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่มาพร้อมกับภาระหน้าที่ที่ช่วยขัดเกลาตัวเขาให้เติบโตขึ้น

ผมไปเยือนเขาอีกครั้งเพื่อชวนคุยบอกเล่าถึงเรื่องราวเหล่านี้นี่เอง ประสบการณ์และความคิดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบางส่วนจะถูกขมวดออกมาเป็นเพลงในอัลบั้มเดี่ยวชุดใหม่ และช่างบังเอิญว่านี่เป็นครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปีที่ผมมีโอกาสได้กลับไปสัมภาษณ์เขาเช่นกัน

เจ้าของบ้านออกมาต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เราทักทายไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบกันตามสมควร หลังจากนั้นก็นั่งลงตรงลานบ้านของเขา แล้วปุ่ม record ก็เริ่มทำงาน  

การที่อัลบั้มเดี่ยวชุดนี้ห่างจากชุดก่อนประมาณ 10 ปี มันมีโมเมนต์ที่คุณมานั่งคิดว่า 10 ปีที่ผ่านมาชีวิตเราเป็นยังไงบ้างมั้ย 

คิดครับ 10 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก แต่ว่าเราก็ทำงานเพลงมาตลอด คือถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำอัลบั้มเดี่ยวเป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็มีผลงานเพลงออกมาตลอดเวลา แล้วสิ่งที่ต้องคิดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เราแก่ขึ้นเรื่อยๆ (หัวเราะ) ไม่ใช่เด็กเหมือน 10 ปีที่แล้ว ทุกอย่างก็ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร รวมถึงโลกเราด้วย แต่ว่าสิ่งที่อาจจะไม่ได้เปลี่ยนก็คือ แพสชั่นในเรื่องของเพลง เรายังมีเหมือนเดิม ทุกวันนี้ก็ยังอยากทำเพลงใหม่อยู่ตลอดเวลา สิ่งนี้เป็นสิ่งเดี่ยวที่ไม่เปลี่ยน

10 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงชีวิตคุณที่มีลูกด้วย 

ใช่ ลูกคนโตตอนนี้ 9 ขวบแล้ว เพราะฉะนั้น 10 ปีที่ผ่านมา มันเป็นช่วงชีวิตที่เปลี่ยนมาก ถ้าย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว ก่อนจะมีครอบครัว ก่อนมีลูก ไลฟ์สไตล์ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ก่อนเราอยากจะทำอะไรก็ทำ อยากจะขี้เกียจก็ได้ อยากจะนอนเฉยๆ วันอาทิตย์ก็ไม่มีใครว่า พอหลังจากมีลูกแล้ว ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนมาก ช่วงประมาณ 2 ปีแรก ซัฟเฟอร์มาก เพราะว่าเราไม่เคยมีไลฟ์สไตล์แบบนี้ แต่ก่อนอยากจะลุกขึ้นมาทำเพลงเมื่อไหร่ก็ได้ แต่พอมีลูก มันไม่ใช่แล้ว อยากจะเจียดเวลาไปมีเวลาส่วนตัวนี่แทบจะไม่มีเลย ก็ต้องมีตารางที่ชัดเจนว่า ทำเพลงตอนนี้ แล้วก็แบ่งเวลาให้กับครอบครัว 

เพราะฉะนั้น มันก็เป็นช่วงที่ปรับตัวมากสำหรับ 2 ปีแรกที่มีลูก แต่ว่าพอเริ่มปรับตัวได้ คุ้นเคยกับไลฟ์สไตล์ใหม่ ก็รู้สึกว่ามันลงตัว แล้วเราจากทุกข์ทรมานมาก ก็กลายเป็นชอบ เพราะว่าไลฟ์สไตล์ของเรา ปกติผมก็ไม่ได้เป็นคนชอบไปเที่ยวกลางคืนเสพของมึนเมา หรือมีไนต์ไลฟ์อะไรแบบชาวบ้านเขาอยู่แล้ว ธรรมดาเราเป็นเด็กบ้าน และก็ชอบไลฟ์สไตล์ของการเป็นแฟมิลี่แมน การเป็นคนที่มีครอบครัว แล้วความสุขก็อยู่แค่เอื้อม คือได้เล่นกับลูก มีโมเมนต์ที่หัวเราะกับครอบครัว กลายเป็นความสุขอีกแบบหนึ่งที่เราไม่เคยได้สัมผัส

ด้านของความเป็นพ่อ แต่ก่อนนี้ก็จินตนาการไม่ออกเลยว่า เราจะเป็นพ่อคนได้ยังไง จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกได้ยังไง พอมีลูกแล้ว แรกๆ ก็มีช่วงท้อมากเหมือนกันนะ เฮ้ย เราไม่ใช่พ่อที่ดีหรือเปล่า แต่ว่าสุดท้ายแล้ว บางทีเราก็ต้องยอมรับว่าเราก็เป็นคนๆ หนึ่ง ฉะนั้นการทำถูกบ้างผิดบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาของเราในฐานะมนุษย์ เราจะเป็นไอดอลของลูกตลอดเวลาเป็นไปไม่ได้

ช่วงโควิดที่ผ่านมา ชีวิตในภาพรวมเป็นยังไงบ้าง

ผมคิดว่าทุกคน ชีวิตก็เปลี่ยน มันมีผลกับคนทั้งโลกเลย ไม่ใช่แค่เราคนเดียว แต่ว่าการที่เราเป็นเด็กบ้านอยู่แล้ว การอยู่บ้านมันก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกทุรนทุรายอยากจะออกไปเที่ยวมากมายขนาดนั้น กลับกลายเป็นการที่เราได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้นด้วย 

แล้วข้อดีของมันก็คือ ถ้าไม่มีโควิดผมคงไม่ได้ทำอัลบั้มเดี่ยวอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าคงจะไม่มีเวลา เลยอาจจะเป็นเรื่องดีสำหรับเราด้วย ทำให้เราได้กลับมามีเวลาได้ทำงานเพลงของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าต้องอยู่บ้าน ธรรดาเราต้องขับรถไปทำงานที่โน่น ไปประชุมที่นี่ พอโควิดมาปุ๊ป ทุกอย่าง ประชุมที่บ้าน ทำงานที่บ้าน โทรศัพท์ที่บ้าน เลยมีเวลาที่เราจะได้นั่งแต่งเพลงทำเพลงอยู่บ้าน บวกกับเรามีโฮมสตูดิโออยู่ที่บ้านด้วย 

ไอเดียแรกเริ่มคือยังไง ถึงคิดว่าทำอัลบั้มเลยดีกว่า 

คือพอมีเวลาว่าง ก็ได้นั่งแต่งเพลงอยู่ที่บ้านมากขึ้น พอนั่งแต่งเพลง เพลงมันก็มาเองโดยธรรมชาติของมัน แล้วเพลงต่างๆ ก็ออกมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นอัลบั้ม จริงๆ ไม่ได้กะจะทำเป็นอัลบั้ม 10 เพลงหรอก เพราะว่าคิดว่าอาจจะไม่จำเป็นแล้วสำหรับยุคนี้ ก็เลยมีเวลาเท่าไหร่ ได้เพลงเท่าไหร่ ก็คัดออกมาให้ได้เท่าที่เราต้องการและคิดว่ามีไอเดียที่จะทำ ตอนนี้ก็เสร็จไป 5 เพลงแล้ว และปีนี้ตั้งใจว่าจะทำอีกสัก 2 เพลงก็พอแล้ว คิดว่าจะทำเป็นอัลบั้มประมาณสัก 6 หรือ 7 เพลง ค่อยๆ ทยอยปล่อย แล้วปลายปีก็คงจะปล่อยเป็นอัลบั้มเต็มทั้งหมด    

เป็นเอ็มดีด้วย เป็นศิลปินด้วย อยากรู้ว่าเวลาเคาะงานตัวเองนี่ทำยังไง

จริงๆ แล้วเรื่องงานเพลง สำหรับหลักคิดของค่าย Spicydisc มันเป็นอย่างนี้มาตลอด ก็คือว่า เราทำหน้าที่ซัพพอร์ตศิลปิน เพราะฉะนั้นเวลาเคาะเพลงตัวเอง ไม่ต้องให้ใครมาเคาะ เราก็เคาะด้วยตัวเราเอง แล้วอีกอย่างหนึ่ง เพลงในอัลบั้มนี้ต้องยอมรับตามตรงว่า เราไม่ได้เป็นศิลปินสไตล์อยู่ในกระแสวัยรุ่นอะไรอีกแล้ว เพราะฉะนั้นเราทำงานนี้ให้เป็นเหมือนงานศิลปะที่เราอยากจะถ่ายทอดออกมาเท่านั้นเอง ไม่ได้คิดว่าวัยรุ่นจะชอบหรือเปล่า หรือเพลงสไตล์นี้อยู่ในกระแสหรือเปล่า ซึ่งธรรมดาเราก็ไม่เคยคิดอะไรแบบนั้นอยู่แล้ว ตอนนำ P.O.P อาจจะมีคิดบ้าง แต่ Groove Riders นี่มาจากความชอบและความรักในสไตล์เพลงล้วนๆ เลย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราทำแบบนี้อยู่แล้ว ไม่รู้เป็นนิสัยเสียหรือเปล่า นิสัยไม่แคร์ตลาด มันอาจจะไม่ดีก็ได้ (หัวเราะ)

Spicydisc ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ที่เราจะมอบโอกาสให้กับศิลปินได้ผลิตงานของตัวเอง เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นจุดมุ่งหมายแรก แต่ว่าสิ่งสำคัญก็คือว่า ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นควอลิตี้คอนโทรลบ้าง ไม่ใช่ว่าใครอยากทำอะไรก็ได้ แล้วปรากฏออกมาเพลงห่วย อย่างนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเมกชัวร์ว่า เพลงแต่ละเพลงที่เราจะรีลิสออกไปสู่หูคนฟัง ต้องเป็นเพลงที่มีคุณภาพ เท่านั้นเอง แต่ว่าบางศิลปินเขาก็มีกลุ่มแฟนเพลงของเขา บางศิลปินก็มีแฟนเพลงเด็ก บางศิลปินก็มีแฟนเพลงโตหน่อย บางศิลปินก็มีกลุ่มตลาดอินดี้ที่ niche หน่อย บางศิลปินก็ค่อนข้างแมสหน่อย ซึ่งตรงนี้เราไม่ได้ไปกำหนดว่าคุณจะต้องเป็นศิลปินที่แมสทุกคน ใครทำผลงานที่เป็นผลงานของตัวเองมายังไง ก็เป็นอย่างนั้นแหละ เพียงแต่เมกชัวร์ว่าทุกคนต้องทำงานหนักและเมกชัวร์ว่าเพลงที่ออกมาสู่หูคนฟังจะต้องเป็นเพลงที่เพราะและมีคุณภาพ ไม่ใช่ว่าทำอะไรออกมาก็ไม่รู้ ทำเพื่อเงิน อย่างนี้ไม่ได้ นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ 

ตัวคุณเองต่อติดหรือเชื่อมโยงกับศิลปินรุ่นใหม่ๆ ได้ยังไง

ผมว่ามันเชื่อมกันด้วยความรักในเสียงเพลงเท่านั้นเอง มันไม่ได้ต่างกันเลยเพราะว่าศิลปินทุกคนก็มีความฝันเหมือนกันหมด เหมือนกับผม ที่เราอยากจะมีผลงานเป็นของตัวเอง อยากจะนำเสนอความคิดของเรา อยากจะถ่ายทอดออกมา อยากจะสื่อสารกับคนฟัง แล้วก็เป็นคนที่รักเสียงเพลงมาก อยากที่จะอยู่กับมันตลอดเวลา 24 ชั่วโมง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงศิลปินทุกรุ่นเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นศิลปินที่อายุมากกว่าผมหรืออายุน้อยกว่าผมแค่ไหนก็ตาม เราก็สามารถคุยเรื่องนี้กันได้ทั้งวันทั้งคืน ถึงแม้ว่าวัยจะต่างกัน หรือรสนิยมจะเป็นคนละอย่างกันก็ตาม แต่ว่าถ้าพูดเรื่องเพลงก็ไม่ได้มีช่องว่างอะไร บางทีมันเป็นการแลกเปลี่ยนกันด้วยซ้ำ

ในยุคที่ทุกคนมีเวลาน้อย แต่คอนเทนต์มีเยอะมากที่จะมาแย่งเวลาในการฟังเพลง ในมุมคุณเองทั้งในหมวกของศิลปินและผู้บริหาร ดีลกับเรื่องนี้ยังไง

ผมว่าทุกอย่างก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย และเทคโนโลยีก็มีส่วนมากในการกำหนดพฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบัน เราก็เห็นกันอยู่แล้ว ทุกคนในปัจจุบันสมาธิสั้นมาก ไม่เหมือนแต่ก่อนแล้วที่จะสามารถฟังเพลงที่มีความยาว 3-4 นาที แล้วก็ทั้งอัลบั้มมีทั้งหมด 10 เพลง ฟังยาวๆ ต่อกัน ไม่มีใครทำแบบนั้นได้แล้ว เพราะว่าเทคโนโลยีด้วย พฤติกรรมด้วย อะไรต่างๆ มันเปลี่ยนไป โลกเรามันเปลี่ยนไปแล้ว

เพราะฉะนั้นเราก็ต้องยอมรับความจริงว่า พฤติกรรมคนเป็นแบบนี้ คือคอนเทนต์มีเยอะก็ใช่นะ แต่ผมว่าเราจะมานั่งเอาสิ่งเหล่านี้เป็นตัวกำหนดให้เราเลิกทำอะไรบางอย่าง หรือไม่ทำอะไรบางอย่าง หรือยอมแพ้ มันก็คงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่ทำอะไรเราก็ทำให้ดีที่สุดเหมือนเดิมเท่านั้นเอง ผมว่าเราไม่ควรจะไปคิดมากกับเรื่องอะไรแบบนี้ มันไม่มีประโยชน์เลย

ฟังเพลงน้อยลงมั้ย

ฟังเพลงน้อยลง แต่ว่าไม่ได้เป็นเพราะว่าวัยหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เป็นเพราะภาระหน้าที่ที่เยอะขึ้น ทุกวันนี้เรายังอยากฟังเพลงทั้งวันทั้งคืนอยู่นะ แต่ว่ามันไม่มีเวลา ตื่นมาปุ๊ป คนที่มีลูกก็คงรู้ เราไม่มีทางตื่นสายได้อีกต่อไปแล้วในชีวิตนี้ ยกเว้นตอนที่ลูกเราเริ่มเป็นวัยรุ่นแล้วอาจจะตื่นสายได้ แต่ว่า 6 โมงเช้าก็ตื่นละ ตื่นพร้อมลูก ทำอะไรพร้อมกับลูกเสร็จปุ๊ป 7 โมงครึ่งก็เริ่มทำงานละ เริ่มเคลียร์เอกสาร เคลียร์งานอะไรบางอย่าง ออฟฟิศเริ่มงาน 10 โมง แต่ว่าผมเริ่มงานตั้งแต่ 7 โมงครึ่งทุกวัน บางวันถ้าเคลียร์ทุกอย่างพร้อม เราก็เริ่มกลับมาซ้อมดนตรีแล้ว ซ้อมเบส นั่งทำเพลง จนออฟฟิศเปิดปุ๊ป โทรศัพท์ก็จะดังทันที มีปัญหามาให้แก้ตลอดทั้งวันเลย คนโน้นมีปัญหาโน้น คนนี้มีปัญหานี้ บางทีก็มีมีทต้ิง มีอะไรต่ออะไรเข้ามาตลอด จนกลางคืน ถึงเวลาก็หยุด อยู่กับลูกนิดหนึ่ง พอลูกหลับ ก็เป็นเวลาที่เราต้องทำงานต่อแล้ว ชีวิตเป็นอย่างนี้ 

เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะมีโอกาสได้ฟังเพลงมันก็น้อยลงเยอะ บางทีต้องไปแอบฟังเพลงตอนขับรถ ก่อนโควิดก็ได้ฟังเพลงตอนเข้าฟิตเนสบ้าง บางทีวันอาทิตย์ที่ว่างๆ ต้องบังคับตัวเองไม่ให้ทำงาน อยากจะใช้เวลาอยู่กับครอบครัว มีเวลานั่งฟังเพลงแค่ชั่วโมงหนึ่งก็บุญแล้ว บางทีฟังเพลงอยู่ลูกก็มาแย่งฟัง แต่ว่าถ้าฟังเราก็พยายามฟังด้วยความเอ็นจอย พยายามไม่ได้ฟังเพื่อเป็นงานเป็นการ แต่ว่าสมองมันก็จะไปวิเคราะห์โดยอัตโนมัติ ใช้คอร์ดอะไร ซาวด์นี้คือซาวด์อะไร หรือกีต้าร์นี้มันน่าจะเป็นกิ๊บสันหรือเฟนเดอร์ ด้วยความที่เราเป็นนักดนตรี 

คุณมีวิธีคิดในการสร้างเพลงต่างจากเมื่อก่อนมั้ย

ต่างครับ ต่างมากเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง topic ว่าเราจะพูดอะไร อันนี้ต่างชัดเจน ส่วนเรื่องแนวดนตรีมันก็เป็นวิวัฒนาการ เราไม่ได้หยุดอยู่กับที่ เพราะว่าเราก็ยังค้นคว้าทดลองวิธีการทำเพลงใหม่ๆ ทดลองซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ปลั๊กอินใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องทำตลอดเวลาเพื่อให้เราพัฒนาฝีมือการทำเพลงเราไปเรื่อยๆ 

แต่ว่าเรื่องของการแต่งเพลง เพลงมันเกิดขึ้นจากสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราเป็นในชีวิต เราเป็นยังไง เพลงมันก็เป็นอย่างนั้น แต่ก่อนตอนวัยรุ่นเราโหยหาความรักที่แท้จริง โหยหาคู่ชีวิต หรือว่ามีไลฟ์สไตล์แบบหนึ่ง เพลงของเราก็พูดเรื่องต่างๆ เหล่านี้ แต่พอถึงวันนี้ เราอิ่มกับตรงนั้นแล้ว กลายเป็นเราไปเห็นอย่างอื่นแทน สิ่งต่างๆ ที่เราพูดในเพลงเรามันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เราพูดตอนอายุ 20 อีกต่อไป หรือเราพยายามจะไปพูดอย่างนั้นมันก็กระดากปากแล้ว แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตเราในฐานะมนุษย์ที่อายุ 48 เราเจออะไรอยู่ตอนนี้ เราก็พูดเรื่องนี้แหละ ศิลปะมันคือการนำเอาสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตมาแปรรูปเป็นเพลง เป็นรูปภาพ เป็นอะไรก็ว่าไป

ชุดนี้ก็แน่นอน พูดเรื่องครอบครัว เพราะว่านี่คือสิ่งที่เราเป็นในปัจจุบัน เราจะไม่พูดได้ยังไง หรือว่าเราพยายามจะเลี่ยงมันก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพลงมันออกมาจากชีวิตเรา ไม่ใช่ว่าเรามีชีวิตครอบครัวอย่างนี้แล้วเราดันไปพูดเรื่องการต่อสู้ดิ้นรนบนผืนนา มันไม่ใช่ไง คนที่เขาไปเจอเรื่องนั้นเขาก็พูดเรื่องนั้นได้ดีกว่าเราอยู่แล้ว เราอยู่ตรงนี้เราก็พูดเรื่องที่เราประสบรอบตัวเรา เพราะฉะนั้นอัลบั้มนี้ก็เลยเป็นอัลบั้มที่ไม่ได้ตั้งใจนะว่าจะพูดเรื่องครอบครัว แต่มันออกมาเองโดยธรรมชาติของมัน ซึ่งอาจจะไม่มีวัยรุ่นฟังเลยก็เป็นไปได้ แต่ว่าทำไงได้ มันออกมาแล้วก็ต้องทำให้เสร็จน่ะ ความรู้สึกเราเป็นแบบนั้น 

แต่คนที่มีไลฟ์สไตล์แบบนี้ก็จะเข้าใจเพลงต่างๆ ที่ผมทำในอัลบั้มนี้ แต่ในขณะเดียวกันผมก็จะไม่ได้พูดตรงๆ นะ เพลงในอัลบั้มไม่ได้จะมีการพูดตรงๆ ว่า ฉันรักลูกฉันจัง แต่ว่าพูดในแนวแอ็บสแตรก เป็นเรื่องของอารมณ์มากกว่า เพราะฉะนั้นคนก็เอาไปใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับลูก มันเกี่ยวกับอะไรก็ได้ ความเห็นแก่ตัวของเราที่ไม่อยากจะจากสิ่งที่เรารัก คนที่เรารัก มันเป็นความรู้สึกเดียวกัน เราเอาตรงนั้นมาพูด แต่เราไม่ได้พูดว่าฉันไม่อยากจะจากลูกฉันเลย ไม่ใช่พูดตรงๆ แบบนั้น มันก็มีศิลปะในการถ่ายทอด

เรารู้สึกว่าเวลาทำงานคุณมักจะมีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่สร้างเพลงขึ้นมา ใครเขียนเนื้อ เนื้อประมาณไหน เป็นแบบนั้นหรือเปล่า

จริงๆ ชัดเจนและไม่ชัดเจน จุดเริ่มต้นน่ะไม่เคยชัดเจนสักครั้งหนึ่ง เพราะว่าเราในฐานะที่เป็นคนแต่งเพลง หลังจากที่เราฝึกฝนตัวเองมาแล้ว เราต้องอนุญาตให้เราแต่งเพลงออกมาให้เป็นธรรมชาติที่สุด ไม่งั้นมันจะไม่ใช่งานศิลปะ มันจะกลายเป็นงานคอมเมอร์เชียล แต่ว่าในงานของผมเอง เราจะต้องอนุญาตให้ตัวเองทำอะไรก็ได้ที่มันธรรมชาติที่สุด เหมือนกับคนวาดรูป ที่เขาฝึกวาดรูปมาแล้วเป็นพันๆ หมื่นๆ ครั้ง เขาก็จะสามารถวาดรูปได้อย่างมีสกิล เราก็เหมือนกัน เราทำเพลงมาแล้วเป็นร้อยๆ พันๆ เพลง เราก็มีสกิลของเรา แต่ว่าเราก็จะต้องเริ่มจากธรรมชาติก่อน แล้วเราเอาสกิลของเราที่เราฝึกฝนมา มาทำให้มันชัดเจน

เพราะฉะนั้น แน่นอน พอแต่งเพลงได้ปุ๊ป เราก็จะต้องมีการมาวางแผนว่า พอเราได้เห็นภาพในหัวแล้วว่าเพลงนี้เป็นเพลงเกี่ยวกับอะไร เราก็จะรู้แล้วว่าต้องใช้ใครในการเล่นดนตรี ทำซาวด์แบบไหน จะใช้เครื่องมืออะไร เพื่อที่จะได้สิ่งที่เราคิดอยู่ในหัว สิ่งเหล่านี้ก็ออกมาจากประสบการณ์ ไม่ได้มาด้นสดเอาอยู่แล้ว แต่ว่าจุดเริ่มต้น มันไม่ใช่ว่า วันนี้ฉันจะแต่งเพลงเกี่ยวกับลูกฉัน ไม่ใช่ เรารู้สึกอะไรก็ปล่อยออกมาให้เป็นธรรมชาติ นั่นเป็นจุดเริ่มต้น แต่พอออกมาปุ๊ป เราจะขัดเกลามันยังไง อันนี้มันมาจากสกิลที่เราฝึกฝนมามากกว่า 

สมมติมีเสียงแว้บขึ้นมาในหัวปุ๊ป คุณวิ่งไปหยิบอะไรก่อน

หยิบไอโฟนก่อน เพราะมีแอพฯ ที่ชื่อว่า voice memos ซึ่งเป็นตัวที่จะบันทึกไอเดียของเพลง ทุกอย่างที่คิด บางทีถ้าอยู่บนรถก็ร้องเลย แล้วก็อัดไว้ บางทีถ้าอยู่ที่บ้านก็วิ่งไปที่เปียโนแล้วก็กดอัด ไม่ได้วิ่งไปที่คอมพิวเตอร์ เครื่องดนตรีก็แล้วแต่ว่าอะไรอยู่ใกล้มือก็เอาอันนั้น บางทีถ้านั่งอยู่กับเบสก็ใช้เบส แต่ปัจจุบันนี้จะใช้เปียโนแต่งเพลงมากที่สุด บางทีก็กีต้าร์บ้าง ไม่มีอะไรเลยก็ฮัมเอา 

เสียงในหัวจะมาเป็นอะไรก่อน

ส่วนมากจะมาเป็นอารมณ์ก่อน เราจะรู้ว่าตอนนี้เรารู้สึกยังไง รู้สึกเศร้า เหงา มีความสุข รู้สึกซึ้ง รู้สึกมีแรงบันดาลใจบางอย่าง พอเริ่มจากตรงนั้นปุ๊ป เดี๋ยวเมโลดี้หรือทำนองมันจะค่อยๆ โผล่ขึ้นมาให้เห็น  แล้วบางทีถ้าเราอยู่กับเครื่องดนตรีที่เราคุ้นเคยอย่างเปียโน มันก็จะค่อยๆ เล่นไป ไหลไป แก้ไป บางทีก็นั่งอยู่เป็นชั่วโมง กว่าเพลงจะเสร็จ มันก็จะค่อยๆ กำเนิดขึ้นมาทีละนิดๆ แต่ส่วนมากมาจากทำนองก่อน ยังไม่เคยเนื้อร้องมาก่อนเลย 

คุณได้เขียนเนื้อร้องเองบ้างมั้ย

เขียนครับ แต่ก่อนเขียนเยอะเลย แต่ว่าปัจจุบันยอมรับตามตรงว่า เรามีภาระหน้าที่เยอะ ผมคิดว่าพอเราไม่ได้เขียนนานๆ ไม่ได้แต่งเนื้อเพลงเองนานๆ ปากกามันเริ่มฝืด ตอนที่เราแต่งเนื้อเพลงบ่อยๆ เราจะเขียนอะไรบนสมุดทุกวันเลย ปากกามันก็ลื่น ไอเดียมักลื่น พอสกิลตรงนี้มันถดถอยไป เราก็รู้สึกว่าเราอาจจะไม่ได้ควอลิฟายที่จะเป็นคนแต่งเนื้อเหมือนแต่ก่อนแล้ว ก็ต้องหาคนอื่นมาช่วย แต่ว่าเราก็จะเป็นคนเขียนเมโมไปให้เขาว่า เพลงนี้ตอนที่เราแต่งทำนอง เราคิดถึงเรื่องนี้ ก็เขียนมาสัก 1 หน้ากระดาษ ส่งไปให้นักแต่งเพลงช่วยไปแต่งคำร้องมาให้หน่อย

คุณสวมหมวกของผู้บริหารที่ทำค่ายเพลงซึ่งเป็นธุรกิจด้วย ในหมวกของความเป็นนักธุรกิจ คุณสร้างสมดุลกับการทำงานศิลปะอย่างไร 

ยอมรับตามตรงเลยนะ ผมเป็นนักธุรกิจที่แย่มาก ห่วยมากเลย รู้ตัวอย่างนี้มานานแล้ว แต่ว่าการที่มาทำหน้าที่ตรงนี้ เอาจริงๆ แล้วโดยส่วนตัวเราไม่ได้มีความทะเยอทะยานที่จะต้องเป็นผู้บริหารระดับสูง เป็นหัวหน้าคน อยู่บนท็อปของออร์กาไนเซชั่นชาร์ต ไม่ใช่ความฝันในชีวิต ใช้คำนี้ได้เลย แต่การมาอยู่ตรงนี้ มันเป็นความจำเป็นมากกว่า เพราะว่าไม่มีคนทำ แล้วเราก็กลายเป็นศิลปินที่อายุมากที่สุดในค่ายแล้ว มีประสบการณ์มากที่สุดแล้ว แล้วก็รู้จักทีมงานน้องๆ ทุกคนในค่าย แล้วพอมีปัญหาก็มีทางเลือกให้เราแค่สองทางเท่านั้น คือ หนีปัญหาไปอยู่ที่ใหม่ กับแก้ปัญหาด้วยตัวของเราเอง จะให้ทำไงล่ะ (หัวเราะ) ก็เลือกอย่างที่สอง เพราะว่าผมกับเจ้าของค่าย พี่เต้ง คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ เราก็นับถือกันเหมือนพี่น้อง 

ผมอยู่ที่นี่มาเป็น 10 ปีแล้ว ได้รับโอกาสในการอยากทำอะไรก็ทำมานานมากแล้ว อยากทำ Groove Riders ก็ได้ทำ อยากทำอัลบั้มเดี่ยวก็ได้ทำ ทำบอย-ก้อ เอาสิ ทำ The ghost cat ได้ แล้วก็ได้โปรดิวซ์งานให้ศิลปินเยอะแยะไปหมด ถ้ามองย้อนกลับไปผมก็รู้สึกว่า จะมีใครที่ให้โอกาสผมได้ทำงานเพลงแบบนี้ ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้โอกาสแบบนี้นะ เพราะฉะนั้นอยู่ๆ ถ้าเราจะหนีปัญหาไปอยู่ที่ใหม่ที่ไม่มีปัญหา มันก็มีความเนรคุณอยู่ประมาณหนึ่ง รู้สึกว่าบุญคุณต้องตอบแทน เราก็เลยรู้สึกว่าขอลองตอบแทนบุญคุณครั้งนี้เป็นงาน เป็นการช่วยเหลือ แล้วถ้าเราตั้งใจทำดี มันน่าจะมีประโยชน์กับน้องๆ ศิลปิน น่าจะมีประโยชน์กับทีมงาน 

แต่เราก็รู้นะว่าเราไม่ได้เป็นคนเพอร์เฟ็กต์สมบูรณ์เต็มร้อย ไม่ได้มีความสามารถที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ มีแค่ความตั้งใจเท่านั้นเอง ซึ่งก็ทำให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง ไม่ได้คิดว่าจะต้องทำตรงนี้ตลอดไป คิดว่าวางรากฐานวางระบบทุกอย่างในค่ายให้ดี แล้วอีกหน่อยอาจจะมีคนที่เก่งกว่าเรามาทำแทนก็ได้ ที่ผ่านมาคือเราไม่มี middle management น่ะ เราไม่มีผู้บริหารที่เข้าไปคลุกวงในจริงๆ กับศิลปิน กับทีมงาน ที่จะอยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นตรงนี้มันเป็นช่องว่างหนึ่งที่หลายๆ ครั้งการสื่อสารมันเหมือนมีรู สะพานมันข้ามไปถึงจุดหนึ่งแล้วมันดันมีช่องว่าง เราพยายามไปทำช่องว่างตรงนั้นให้มันเติมเต็มขึ้นเพื่อคนจะได้เดินข้ามสะพานได้อย่างปลอดภัย

แต่ถึงปีนี้ก็ปีที่ 4 แล้ว ยอมรับว่าไม่ได้ตั้งใจจะอยู่นานเลย ตั้งใจจะมาแก้ปัญหา เสร็จแล้วก็จะไป แต่ว่ามันดันมีโควิดเสียก่อน แล้วถ้าไประหว่างมีโควิดก็ทุเรศอีก กลายเป็นมีปัญหาก็หนีไปอีก ก็เลยต้องอยู่ทำจนถึงทุกวันนี้

ในมุมเอ็มดี เวลาเลือกทำศิลปินสักเบอร์หนึ่ง คุณเลือกยังไง 

ผมไม่ได้เลือกคนเดียว เลือกกับเจ้าของค่าย พี่เต้ง คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ นี่แหละ ช่วยกันเลือก วิธีการทำงานของผมคือ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับผม หรือว่าผมมีอำนาจหน้าที่เต็มร้อย ไม่ใช่เผด็จการ แต่ผมพยายามที่จะเมกชัวร์ว่าทุกคนต้องมีส่วนร่วม และทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง เรามีหน้าที่แค่ มีปัญหามาบอก หรือว่าพอเจอศิลปินที่เราสนใจ อันนี้น่าทำ ลองดูสิว่าคนอื่นเห็นด้วยเปล่า หรือว่าบางคนเจอศิลปินที่น่าสนใจ เอามาคุย ขอดูหน่อย บางทีก็มีความคิดเห็นที่ขัดแย้ง แต่เรารู้สึกว่าโอกาสเป็นเรื่องที่สำคัญ ศิลปินใหม่ๆ ไม่ต้องการอะไรมาก ต้องการแค่โอกาสเท่านั้น ขอให้เราให้โอกาสเขา แล้วดูสิว่าเขาใช้โอกาสนั้นเป็นยังไง บางคนก็ใช้โอกาสได้ดี บางคนก็ใช้โอกาสได้ไม่ค่อยดี 

ใช้โอกาสได้ไม่ค่อยดีนี่เช่นยังไงบ้าง

ก็เหมือนกับใช้น้ำ เปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้เรื่อยๆ ไม่คิดจะปิด คิดว่าน้ำไม่มีวันหมดโลกหรอก คล้ายๆ อย่างนั้น ก็แล้วแต่คน บางคนก็เห็นโอกาส เป็นจุดที่ต้องขวนขวาย มีหลายประเภท แต่ส่วนใหญ่เราก็อยู่กันแบบพี่น้อง คือเราไม่ได้คิดว่าทุกคนจะต้องเพอร์เฟ็กต์สมบูรณ์เต็มร้อยหรอก แต่ว่าในค่ายมันเหมือนกับเราต้องช่วยเหลือกันและกัน และก็ต้องให้โอกาสกันและกัน บางครั้งก็ทำงานผิดพลาด บางครั้งก็ทำอะไรผิด ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าขอให้ตั้งใจและเริ่มใหม่ได้เสมอ

เหลิงก็มีนะ บางทีอยู่ในช่วงขาขึ้น อยู่ในช่วงที่ดังมากๆ คิดว่าจะเป็นแบบนี้ตลอดไป มันไม่ใช่ แต่ว่าประสบการณ์ก็จะสอนเขาเอง บางทีเราพูดก็ไม่มีประโยชน์ เหตุการณ์นี้เราเคยผ่านมาแล้ว อย่าทำแบบนี้เลย มันมีทางเลือกอื่นให้เดิน อย่าทำ บางทีพูดปากเปียกปากแฉะ เขาก็ไม่ฟัง ลอง สุดท้ายก็เป็นอย่างนั้นแหละ แต่มันก็ต้องผ่านน่ะถึงจะรู้ บางทีเขาต้องล้ม ต้องเจ็บเอง แล้วเดี๋ยวเขาก็เรียนรู้เอง มันก็เป็นอย่างนี้ประสบการณ์มนุษย์ 

ในช่วงโควิดที่ไม่มีงาน ดูแลศิลปินแต่ละคนกันยังไง   

ก็หนักมาก จริงๆ ศิลปินทุกคน ยิ่งเป็นศิลปินที่ไม่มีเงินเดือน ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่เพราะว่าต้องขวนขวายต้องดิ้นรน แล้วก็ไม่มีงานอีกต่างหาก เราในฐานะค่ายก็ต้องคิดหนักว่าเราจะซัพพอร์ตศิลปินค่ายเรายังไง สิ่งหนึ่งที่ทำก็คือพยายามหางานให้ทำ ทำโปรเจ็กต์ใหม่ๆ คิดโปรเจ็กต์ขึ้นมา พยายามหางานพิเศษให้ทำ หลายรูปแบบ สารพัดอย่าง เยอะแยะไปหมด 

เช่นบางทีมีงานทำเพลงซีรีส์ ทำเพลงประกอบโฆษณา ทำเพลงประกอบหนัง เอางานมาใสกระบะให้เรียบร้อยเลย แล้วดูสิว่ามีกี่งาน แล้วดูสิว่ามีศิลปินเราหรือนักแต่งเพลงโปรดิวเซอร์เรามีใครว่างอยู่บ้าง ก็จับแมทช์เลย หาเสียบเลย บางทีทำเสร็จปุ๊ป งานต่อไปไม่มี ก็ต้องคิดโปรเจ็กต์ขึ้นมาอีก เราสร้างโปรเจ็กต์เพลงคัฟเวอร์กันดีกว่า เอาเพลงฮิตสมัยก่อนมาทำใหม่ ให้ศิลปินทุกคนในค่ายทำให้หมด อย่าให้นอนอยู่บ้านว่างงานเดี๋ยวกลายเป็นโรคซึมเศร้ากันหมด ก็ต้องสร้างงานขึ้นมา สร้างโปรเจ็กต์ขึ้นมา แล้วต้องทำต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ว่าช่วยอันนี้เสร็จปุ๊ป เลิก ช่วยเสร็จก็ต้องมาคิดว่ามีใครอีกที่กำลังลำบาก พยายามแมทช์กันให้ได้ระหว่างงานกับคน ทีมงานออกไปช่วยหางานใหม่ๆ เข้ามาแบ่งงานกัน ในเพลงหนึ่งเพลง เราจะทำยังไงให้มีคนมีรายได้มากที่สุด ไม่ใช่ว่าเราทำคนเดียวจบ แต่ต้องให้คนนี้มาทำ คนโน้นมาทำ เพื่อให้ทุกคนมีรายได้ กระจายรายได้ไป โอ้โฮ เหนื่อยมาก 2 ปีที่ผ่านมา 

เห็นคุณมาอยู่บนโซเชียลมากพอสมควร อันนี้เป็นธรรมชาติของคุณมั้ย

ไม่เป็นธรรมชาติ แต่ว่าในฐานะที่เราเป็นผู้บริหารค่าย แล้วเป็นศิลปินอาวุโสด้วย (หัวเราะ) มันต้องทำให้เป็นตัวอย่าง เราจะบอกกูไม่แคร์ ไม่เล่น ไม่ได้ เพราะว่าเราเองเราก็ส่งสารไปยังศิลปินทุกคนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นความจริงว่า ปัจจุบันหน้าที่ของศิลปินไม่ใช่แค่ทำเพลงและเล่นคอนเสิร์ตเท่านั้นแล้ว แต่มีหน้าที่อีกหน้าที่หนึ่งเข้ามา คือการสร้างฐานโซเชียลมีเดียของตัวเองให้แข็งแรง และเล่นโซเชียลมีเดียให้แข็งแรง อย่างสม่ำเสมอ มันเป็น job description เป็นหน้าที่อีกหน้าที่หนึ่งที่ศิลปินปัจจุบันต้องทำ แล้วถ้าเราไม่ทำ แต่ไปบอกคนอื่นให้ทำ มันไม่ได้ เราก็ต้องทำด้วย ผมนี่ต้องไปเทกคลาสนะ ไปเทกคลาสเฟซบุ๊ค คลาสโซเชียลมีเดีย แล้วก็พยายามบอกทีมงานให้ทำเวิร์กช็อปขึ้นมาให้ศิลปินด้วย อีกไม่นานเราก็จะมีเวิร์กช็อป Tiktok ให้กับศิลปิน 

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราก็ต้องทำด้วย ไม่ใช่ว่าไปบอกเขาแต่ว่าตัวเองนอนอยู่บ้านดูทีวีเฉยๆ ไม่ได้ ก็ต้องทำ แล้วพอเริ่มทำไปมันก็เริ่มกลายเป็นธรรมชาติ ทีนี้มันก็ไม่ฝืนแล้ว อะไรที่ทำบ่อยๆ มันก็เริ่มมีสกิลมากขึ้น อาจจะไม่ได้มีเยอะ แต่ว่ามันก็เห็นผลว่า เราสามารถที่จะเริ่มมีฐานเล็กๆ ของเราแล้ว อีกหน่อยพอทำอะไรก็มีคนมาคอยซัพพอร์ตคอยติดตาม มันก็มีข้อดีเยอะ เพราะว่าแทนที่เราจะไปพึ่งสื่อข้างนอกตลอดเวลา ปัจจุบันนี้ทุกคนสามารถที่จะเข้าถึงตัวเรา เข้าถึงผลงานเราได้ง่ายขึ้นเยอะ 

เรียกว่าเริ่มต้นมาจากหน้าที่แต่ค่อยๆ เป็นธรรมชาติมากขึ้น

ต้องหาวิธีว่าจะทำยังไงให้เราสนุกกับมัน ใช้คำนี้ดีกว่า แต่ก่อนนี้ก็ไม่สนุกนะ ต้องมาบังคับตัวเองให้ถ่ายรูป บางทีก็บังคับภรรยาตัวเองให้ถ่ายรูป ภรรยาก็ถอนหายใจแล้วถอนหายใจอีก หน้านิ่วคิ้วขมวด แต่ว่าสุดท้ายเราทั้งคู่ ทุกคนก็ต้องมาคิดว่า ทำยังไงให้สนุก mentallity ต้องเป็นแบบนี้ ไม่งั้นนะ สุดท้ายก็เลิก ตอนนี้ก็สนุก บางทีก็มีมุขอะไรขำๆ บางทีก็อันนี้ถ่ายหน่อยดีกว่าเว้ย มันก็ทำให้สนุกไป 

เล่าเรื่องงานที่ MCT ให้ฟังคร่าวๆ หน่อย  

อันนี้ก็เหมือนกัน อย่างที่เกริ่นไปตั้งแต่แรกว่า ไม่ได้เป็นความใฝ่ฝันหรือความต้องการในชีวิตที่จะต้องเป็นแชร์แมน เป็นผู้นำสูงสุดขององค์กร ไม่มีความต้องการแบบนั้นในชีวิตเลย แต่มันเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ คือ MCT เป็นองค์กรจัดเก็บลิขสิทธิ์ เป็นองค์กรของนักแต่งเพลง วันหนึ่งพี่เต้ง คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ ก็คุยกับเราว่า อยากให้ผมลองสมัครเข้าไปเป็นกรรมการหน่อย เพื่อที่จะดูว่า MCT เขาทำงานยังไง มีปัญหาอะไรอยากให้เข้าไปช่วยดูแลมั้ย เพราะว่าเราก็รู้จักศิลปินนักแต่งเพลงเยอะมากในวงการอยู่แล้ว เข้าไปดูสิว่าเราจะทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับคนเหล่านี้ได้บ้าง 

ปรากฏเข้าไปปุ๊ป เขาก็มีการโหวตว่า จะให้ใครเป็นประธานกรรมการ ก็นี่แหละครับ โหวตให้ผมเป็น โดยไม่รู้เรื่องมาก่อน มันเกิดขึ้นเร็วมาก ทีแรกก็รู้สึกว่าอยากจะปฏิเสธนะว่าไม่เอา ไม่ได้เป็นความต้องการในชีวิต แต่ว่าพอมีสติก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ถ้าเราตั้งใจทำให้ดี มันเป็นโอกาสที่เราจะสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม ให้กับเพื่อนพี่น้องเราที่เป็นนักแต่งเพลงในประเทศนี้ได้

พอคิดแบบนั้นก็เลยยอมว่า ทำก็แล้วกัน เพราะว่าอย่างแรกเลยคือ MCT ทีเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เพราะฉะนั้นตำแหน่งแชร์แมน เป็นตำแหน่งที่ไม่มีเงินเดือน มีแค่เบี้ยประชุมเท่านั้นเอง 4 ครั้งต่อปี ครั้งละ 3 พันบาท ปีหนึ่งได้เงินประมาณหมื่นบาท แต่ว่างานแก้ปัญหาเยอะมาก และก็งานวางแผนทั้งภายในภายนอกยุบยิบไปหมด เรื่องปวดหัวเต็มไปหมด 

แต่เรารู้สึกว่าเราอาสาเข้ามาแล้ว ถ้าตัดสินใจทำแล้วต้องทำให้ดีที่สุด แล้วทุก 2 ปีจะมีเลือกตั้งครั้งหนึ่ง ก็เลยตั้งใจกับตัวเองว่า โอเค 2 ปี ทำให้ดีที่สุดแล้วดูสิว่าผลลัพธ์จะเป็นยังไง ต้องอย่างน้อยคิดว่าสิ่งที่เราทำมันต้องเกิดประโยชน์กับส่วนรวมแน่ๆ ตอนนี้ก็ผ่านมา 3 ปีแล้ว เพราะว่าเกิดโควิดเลือกตั้งไม่ได้ ก็คล้ายๆ กับ Spicydisc เหมือนกันว่ามันจับพลัดจับผลูมา แต่ว่าอย่างน้อยขอให้ทำแล้วเห็นผลว่ามีคนอื่นได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ ถ้าเราเห็นแค่นั้น ผมว่าก็โอเคแล้ว 

คุณพูดสองครั้งแล้วว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ความต้องการในชีวิต แล้วความต้องการในชีวิตจริงๆ คืออะไร

ต้องการทำงานเพลงเท่านั้นเองครับ ความฝันในชีวิตคือ ทำงานเพลงได้ตลอดชีวิต ได้ทำงานเพลงของตัวเอง ได้ร่วมงานกับศิลปินคนอื่นที่เราชอบ ซึ่งเราก็ได้ทำมาแล้ว 20 กว่าปีจะ 30 ปีแล้ว อันนี้คือความสุขในชีวิต เพราะฉะนั้น มาถึงตรงนี้ก็รู้สึกว่า เราจะเห็นแก่ตัวอย่างนี้ตลอดไปไม่ได้แล้วล่ะ พอโอกาสเหล่านี้มันมา เราก็ต้องตัดทอนความเห็นแก่ตัวเรา เพื่อประโยชน์ของคนอื่นบ้างแล้ว สอนตัวเอง เป็นโอกาสที่เราจะได้ขัดเกลาตัวเราด้วย 

10 ปีที่ผ่านมา โดยหลักๆ ก็คงเป็นเรื่องของการเติบโตในชีวิตครอบครัว ยังมีอะไรที่เป็นการเติบโตใหม่ๆ หรือการเรียนรู้ใหม่ๆ สำหรับคุณอีกมั้ย

ก็เรื่องภาระหน้าที่การงานนี่แหละครับ อย่างที่บอก สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติด้วย โดยการที่เราต้องทำใจยอมรับมันด้วย จริงๆ การที่เราทำใจยอมรับภาะหน้าที่อันนี้ก็ทำให้เราโตขึ้นเยอะ อย่างที่บอกว่าคนเราจะโตขึ้นได้ไม่ใช่โตขึ้นจากการเห็นแก่ตัวหรือโตขึ้นจากความขี้เกียจ หรือโตขึ้นจากการเอาแต่ใจตัวเอง คนเราจะโตขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเรียนรู้ที่จะเสียสละให้มากขึ้น เหมือนกับการที่เรามีครอบครัว เรามีลูกเราก็ต้องเสียสละ เสียสละเยอะเลย แต่ก่อนนี้มีเงิน เดี๋ยวก็ซื้อเบสๆ เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว เก็บเงินเอาไว้ ค่าเล่าเรียนลูก เบสไม่ต้องซื้อ มีพอแล้ว หยุด เราก็ต้องเรียนรู้แบบนี้ 

เช่นเดียวกัน การมีภาระหน้าที่เป็นหัวหน้าคน ตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่ คือการเสียสละความเป็นส่วนตัว การที่จะต้องเปิดมือถือตลอดเวลา แล้วใครโทรมาเราก็ต้องรับ เพราะเรารู้ว่าเรามีหน้าที่แก้ปัญหาให้คนอื่น หรือแทนที่เราจะได้นอนดูหนังอยู่บ้าน เราต้องไปคิดว่าจะทำยังไงให้องค์กรนักแต่งเพลงนี้มันแข็งแรงขึ้น อะไรอย่างนี้มันคือการเสียสละ เราจะโตขึ้นก็ต่อเมื่อเรายอมรับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ แล้วเรามองเห็นว่าชีวิตมันมีคุณค่าก็เพราะสิ่งนี้ ไม่ใช่ชีวิตมีคุณค่าก็เพราะเราไปซื้อบ้านตากอากาศมานอนอยู่ 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วันโดยไม่ทำอะไรเลย ไม่ใช่ แต่เราเห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนรอบข้างเรา ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม เขาจะเป็นหัวหน้าเรา เป็นลูกน้องเรา มองเห็นความสำคัญเหล่านี้ 

นี่คือการสอนตัวเอง แล้วก็ยอมรับ อีกสิ่งหนึ่งที่สอนผมมาก คือการยอมรับความล้มเหลวของตัวเองแล้วยิ้มให้กับมันได้ ไม่ใช่กลายเป็นโรคซึมเศร้าหรือฉันไม่เจ๋งอีกต่อไป ไม่ใช่ แต่เข้าใจแล้วก็ยอมรับมันได้ 

มีอะไรที่คุณล้มเหลวหรือ

โอ้โฮ เยอะแยะเลยครับ คนส่วนมากจะเห็นเฉพาะความสำเร็จของเรา เช่น แต่งเพลงโน้นก็ดัง เพลงนี้ก็ดัง อยากจะบอกว่าเพลงฮิตที่ผมทำมาก็อาจจะมีประมาณสัก 40 เพลง แต่เพลงที่ไม่ดังและล้มเหลว มีประมาณ 400 เพลง แต่ไม่มีใครรู้เท่านั้นเอง มันมากกว่ากันประมาณ 10 เท่า แต่ไม่มีใครรู้เพราะมันล้มเหลว ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครเคยฟังด้วยซ้ำ แต่ก่อนเรารู้สึกว่า หลายๆ ครั้งที่ทำเพลงมา 5-6 เพลงแล้วล้มเหลวตลอด บางเพลงก็ไม่ได้ปล่อย บางเพลงก็ทำไม่เสร็จ บางเพลงออกไปแล้วก็ไม่ดัง แต่ก่อนนี้รู้สึกเป็นโรคซึมเศร้าบ่อยมากนะ แต่ว่าไม่ต้องไปหาหมอเท่านั้นเอง เพราะว่ายังดีที่มีครอบครัวที่ดีคอยซัพพอร์ต 

แต่ปัจจุบันนี้ล้มเหลวแล้วก็รู้สึกยอมรับได้แล้ว ยังยิ้มอยู่ได้ เพราะรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายในชีวิต เป็นเรื่องปกติธรรมดา ล้มเหลวแต่ไม่ล้มเลิก ใช้คำนี้ได้ คือไม่ว่าเราจะล้ม เพลงไม่ประสบความสำเร็จ แต่ว่าเดี๋ยวพรุ่งนี้จะทำเพลงใหม่

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชย์ สุนทโรสถ์

ช่างภาพหน้าหมี ผู้ชอบเพลงแจ๊สเป็นชีวิตจิตใจ