ขมิ้น กิ่งศักดิ์ กับเบื้องหลังเพลงที่สร้างจากความเนิร์ดดนตรีและความรู้ใจกันของคนในครอบครัวกิ่งศักดิ์

ขมิ้น กิ่งศักดิ์ กับเบื้องหลังเพลงที่สร้างจากความเนิร์ดดนตรีและความรู้ใจกันของคนในครอบครัวกิ่งศักดิ์

Vocals: ขมิ้น กิ่งศักดิ์ 

Acoustic guitars: ขมิ้น กิ่งศักดิ์ 

Keyboards: ขมิ้น กิ่งศักดิ์ 

Backing vocals: ขมิ้น กิ่งศักดิ์ 

English translation: ขมิ้น กิ่งศักดิ์ 

Electric guitars: นครินทร์ กิ่งศักดิ์

Drums: นครินทร์ กิ่งศักดิ์

Bass: นครินทร์ กิ่งศักดิ์

Producer: นครินทร์ กิ่งศักดิ์

อย่าเพิ่งตกใจว่าทำไมบทความนี้ถึงขึ้นต้นด้วยเครดิตยาวเป็นพรืดให้อ่าน เพราะคุณอาจเซอร์ไพร์สมากกว่าถ้าได้รู้ว่า ขมิ้น กิ่งศักดิ์ เจ้าของตำแหน่งกว่าครึ่งในเครดิตที่เห็นคือเด็กสาววัยเพียง 17 ปี และนี่เป็นเพลงแรกในชีวิตของเธอ

และอย่างที่หลายคนเดาออก, เธอคือลูกสาวของ ป้าง-นครินทร์ กิ่งศักดิ์ ศิลปินชื่อดังของค่าย genie records เจ้าของเครดิตอีกเกือบครึ่งของเพลง        

ถ้าจะบอกว่า ‘โรงอาหาร’ ซิงเกิลแรกของขมิ้นเป็นจานอาหารที่เธอกับพ่อช่วยกันปรุงก็คงไม่ผิดนัก อันที่จริง ซิงเกิลแนวป๊อปใสๆ ฟังสบาย ว่าด้วยภารกิจตามไปเหล่คนที่แอบชอบในโรงอาหารซิงเกิลนี้ก็ไม่ได้ใช้เพียงความเก่งกาจในการโปรดิวซ์ของผู้เป็นพ่อและความเชี่ยวชาญในการเล่นดนตรีของลูกสาวเท่านั้น

นี่คือซิงเกิลที่ประกอบสร้างมาจากความเนิร์ดเรื่องดนตรีของสองพ่อลูก ประสบการณ์ส่วนตัวของเธอ และความรู้ใจกันของคนในครอบครัวกิ่งศักดิ์ ที่ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตของเธอในการโปรดิวซ์

ในสายตาของขมิ้น พ่อป้างเป็นพ่อแบบไหน

พ่อป้างเป็นพ่อที่ใจดีมากๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องงานของขมิ้น หรือเรื่องที่จะส่งผลในระยะยาวของชีวิต พ่อจะค่อนข้างจริงจังค่ะ

เช่นเรื่องอะไรบ้าง

การเลือกที่เรียน การวางตัวในสังคม เรื่องเพื่อน เรื่องความรัก (หัวเราะ) จริงๆ แล้วพ่อค่อนข้างเคารพพื้นที่ของขมิ้นมากๆ เวลาเราจะทำอะไร เขาจะบอกไว้ก่อนว่าถ้าทำแบบนี้จะมีผลลัพธ์ออกมาเป็นแบบไหน แต่ก็ไม่เคยบังคับหรือห้ามไม่ให้เราทำนู่นทำนี่ แต่ให้ไปพิจารณาเอง

สมัยก่อนตอนอยู่โรงเรียน เรามีเพื่อนผู้ชายเยอะ เพราะเราไม่ใช่เด็กเรียบร้อย (หัวเราะ) หมายถึงจะเป็นเด็กห้าวๆ มากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่เพื่อนผู้ชายที่เข้ามาหาเราจะเริ่มจากชอบเราก่อน พ่อก็จะสอนว่าเราต้องวางตัวดีๆ กับคนที่เขาชอบเรานะ เราอย่าเล่นเกินไป เดี๋ยวเราจะไปทำเขาเสียใจ เราควรจะรับผิดชอบความรู้สึกคนอื่นด้วย พ่อจะสอนอย่างนี้ตลอดค่ะ

ขมิ้นกับพ่อสนิทกันมาก แต่เราก็มีความเคารพซึ่งกันและกัน พ่อไม่เคยดุ เราก็เลยอยากเป็นเด็กดีของพ่อแม่ไปโดยปริยาย

พ่อมีการผลักดันให้เราชอบดนตรีบ้างไหม

ไม่ได้ผลักดันโดยตรงค่ะ แต่ขมิ้นโตมาในครอบครัวนักดนตรี พ่อเป็นนักร้องนักแต่งเพลง ส่วนแม่เคยเป็นครูสอนเปียโน แน่นอนว่ามันก็ต้องมีคัลเจอร์ที่หล่อหลอมให้ชอบดนตรีประมาณหนึ่ง แต่ขมิ้นมารู้ตัวว่าชอบมากๆ เลยตอนอายุ 14 ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่อยากหยิบกีตาร์ขึ้นมาเล่นเอง

ทำไมอยู่ๆ ถึงอยากหยิบกีตาร์ขึ้นมาเล่น

เพื่อนๆ ที่โรงเรียนชอบมารีเควสต์ให้เราเล่น ตอนนั้นเราพกกีตาร์โปร่งไปโรงเรียน อยู่ในวัยที่อินกับเสียงเพลงและเพื่อนๆ ก็มาขอให้เล่นบ่อยๆ พอได้เล่นบ่อยเข้าก็รู้สึกดีที่ดนตรีของเรามันทำให้คนอื่นยิ้มได้ บวกกับช่วงนั้นเริ่มมีปั๊ปปี้เลิฟ เริ่มอยากร้องเพลงเพราะๆ หวานๆ ให้คนที่เราชอบฟัง

ถ้าให้นิยามแนวดนตรีที่ชอบ ขมิ้นชอบแนวไหน

พูดได้แค่ว่าชอบป๊อป จริงๆ ขมิ้นเป็นคนฟังเพลงกว้างมาก คือไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นศิลปินคนไหน ฟังทั้งป๊อปและแนวอื่นด้วย เช่น อินดี้ แจ๊ซ ร็อก ฮิปฮอป ขมิ้นก็ฟัง

มีศิลปินในดวงใจไหม

ชอบหลายคน แต่ละคนเป็นโรลโมเดลที่ดีให้เราในแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน แต่ถ้าหลักๆ ที่ขมิ้นรู้สึกว่าอยากเป็นเหมือนคนนี้ คนนี้เท่จังเลยคือ Taylor Swift 

เฮ้ย เราก็เป็นสวิฟตี้ (ชื่อเรียกกลุ่มแฟนคลับของเทเลอร์ สวิฟต์)

จริงเหรอคะ (เสียงตื่นเต้น) ขมิ้นชอบเขามาก เพราะรู้สึกว่าผู้หญิงแต่งเพลงเองยังมีไม่ค่อยเยอะในตลาด แล้วเทเลอร์เขามีส่วนร่วมในทุกเพลง เขาเป็นไอดอลในการเขียนเนื้อเพลงมากๆ เลย

กลับมาที่โมเมนต์ของการเล่นกีตาร์ที่โรงเรียน ขมิ้นรู้ตัวว่าอยากเป็นศิลปินตอนนั้นเลยเหรอ

ตอนนั้นยังไม่รู้ค่ะ รู้แค่ว่าดนตรีเป็น number 1 passion ของเราเลย ถึงตอนนี้ก็ยังเป็น เวลาขมิ้นเล่นดนตรีเรารู้สึกเหมือนมันกระชากเราไปอยู่อีกโลกหนึ่ง คือมันดำดิ่งอย่างมีความสุขในเสียงเพลง แต่กว่าจะเริ่มคิดจริงจังว่าอยากเป็นศิลปินก็ประมาณ 1 ปีก่อนค่ะ

รู้มาว่าก่อนหน้านั้นขมิ้นชอบศิลปะมาก่อนด้วย ทำไมถึงไม่อยากเอาดีด้านศิลปะแล้ว 

สำหรับขมิ้น การวาดรูปมันเหมือนเป็นอะไรที่เราเห็นอยู่ข้างหน้า เวลามองมันสวย แต่ไม่ได้รู้สึกลงลึกไปถึงใจเหมือนเวลาเราเล่นดนตรี อาจเพราะดนตรีดึงความรู้สึกของเราให้คล้อยตามได้ง่ายก็เลยเหมือนมาอินกับดนตรีมากกว่า

แล้วมาเป็นศิลปินของ genie records ได้อย่างไร

จริงๆ ตอนแรกยังไม่ได้คิดว่าจะเข้ามาเป็นศิลปินของค่ายไหน แต่พ่อก็รู้สึกมาตลอดว่าค่าย genie records เป็นค่ายที่พ่อไว้วางใจ พ่อทำงานด้วยมานานและเขาดูแลพ่อดีมากๆ ทีมงานมีคุณภาพดี ก็เลยลองเสนอให้เข้าที่นี่ดีกว่า

พอพ่อเสนอไป อาอ๊อฟ (พูนศักดิ์ จตุระบุล Label Director ของค่าย genie records) ก็บอกพ่อว่าเต็มใจรับขมิ้นมากๆ เพราะเขาติดตามมาตั้งแต่ตอนเราร้องคัฟเวอร์ เห็นฝีมือการร้องกับเล่นกีตาร์แล้วเขาเซอร์ไพร์สมากเลย เขาก็เลยภูมิใจที่จะรับเราเข้ามา 

วินาทีที่รู้ว่าเราจะได้เป็นศิลปิน ตอนนั้นทำอะไรอยู่

นั่งคุยกับพ่อที่บ้าน จริงๆ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ แล้วพ่อบอกว่า ‘ขมิ้น เรามาทำซิงเกิลกันเถอะ’ มันเป็นการคุยทีละขั้น เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราต้องเลือกว่าจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยทางไหนดี เรามีตัวเลือกในใจว่าถ้าไม่ใช่ communication design (การออกแบบการสื่อสาร) ก็ดนตรีไปเลย เพราะไหนๆ จะต้องเรียนมหาวิทยาลัยอีก 4 ปี ก็ควรจะได้เรียนสิ่งที่เราจะได้ใช้และเราชอบจริงๆ 

สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่าเราจะจริงจังด้านดนตรีแล้วนะ เราจะเรียนดนตรี และจะมาทำซิงเกิลแรกกัน

ทำไมซิงเกิลแรกถึงต้องเป็น ‘โรงอาหาร’

ที่มาที่ไปคืออยู่ดีๆ วันหนึ่งพ่อก็มาถามว่า ‘ขมิ้น เวลาไปโรงเรียนไปเหล่หนุ่ม คนน่ารักๆ ที่ไหนเหรอ’ ขมิ้นก็บอกว่าจุดฮอตฮิตคือโรงอาหารค่ะ เพราะไม่ว่าเขาจะเป็นรุ่นพี่ เด็กห้องอื่น เด็กห้องเดียวกัน หรือรุ่นน้อง ที่ที่พวกเขาจะไปรวมกันได้คือโรงอาหาร เรากับเพื่อนก็จะใช้โรงอาหารจะเป็นที่ที่ไปเหล่คนนู้นคนนี้ (หัวเราะ) 

มาจากประสบการณ์จริงของเราด้วยหรือเปล่า เคยไปส่องใครที่โรงอาหารไหม

เคยค่ะ ตอนนั้นมีรุ่นพี่คนหนึ่งน่ารัก เราก็จะไปเจอเขาตลอดเลยที่โรงอาหาร เพราะที่อื่นไม่ได้เจอ เพราะตารางเรียนไม่ตรงกันด้วย (ยิ้มเขิน)

ประโยคที่ขมิ้นชอบที่สุดเลยในเพลง โรงอาหาร คือ ‘กลายเป็นเบื่อๆ ในวันเสาร์ อาทิตย์ก็เหงาฉันอยากให้ถึงวันจันทร์ เพราะจะได้เจอหน้าเธอคนนั้นในโรงอาหาร’ เพราะขมิ้นเคยเป็นแบบนั้น อย่างที่บอกว่าขมิ้นกับพ่อสนิทกันมาก พ่อเลยอ่านอารมณ์ของขมิ้นออกหมดเลย สมัยก่อนที่เราชอบใคร พ่อก็จะชอบดูออก วันเสาร์อาทิตย์พ่อก็จะแซวว่าแหมอยากไปโรงเรียนล่ะสิ วันจันทร์จะได้ไปเหล่เขาใช่ไหม (หัวเราะ)

พ่อป้างกับขมิ้นมีส่วนร่วมกับซิงเกิล โรงอาหาร อย่างไรบ้าง

พ่อแต่งเนื้อร้อง ทำนอง และโปรดิวซ์ให้ นอกจากนั้นก็อัดไลน์กีตาร์ไฟฟ้า โปรแกรมกลองกับเบส จริงๆ เราแบ่งกันอัดประมาณครึ่งๆ เลยค่ะ ขมิ้นอัดไลน์ประสานด้วยตัวเอง เรียบเรียงแต่งไลน์กีตาร์โปร่ง คีย์บอร์ด และมีเครดิตในการแปลเนื้อเพลงภาษาอังกฤษในเอ็มวีด้วย

ก่อนหน้านี้ขมิ้นทำคลิปคัฟเวอร์เพลงมาตลอด แล้วพอได้มาทำเพลงของตัวเองจริงๆ ความยากของมันคืออะไร

การหาเอกลักษณ์ของตัวเอง ตอนคัฟเวอร์เราพยายามจะร้องให้เพราะเหมือนต้นฉบับ ไม่ได้คิดเรื่องเอกลักษณ์ของเราขนาดนั้น แต่พอมาทำเพลงของตัวเอง เรื่องคาแรกเตอร์ในเสียงร้องคือเรื่องสำคัญ 

นอกจากนี้ ขมิ้นคิดว่าถ้าเราสามารถมีส่วนร่วมกับเพลงได้ เราก็น่าจะทำ อย่างไลน์กีตาร์โปร่งในเพลง โรงอาหาร ขมิ้นก็แต่งเอง ตอนเอาไปเสนอพ่อ พ่อก็บอกว่าดีนะ ให้ขมิ้นมีส่วนร่วมด้วย การเอาความเป็นตัวเองออกมาคือเรื่องสำคัญมากสำหรับเรา

ในฐานะลูกสาว ขมิ้นรู้สึกว่าการทำเพลงของเรามันคือการรับไม้ต่อมาจากพ่อไหม

ขมิ้นไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นเลยค่ะ เพราะดนตรีเป็นแพสชั่นของขมิ้น แล้วแค่เผอิญว่ามันเป็นแพสชั่นเดียวกับพ่อ ก่อนหน้านี้พ่อก็ไม่เคยดันว่าลองเล่นดนตรีสิลูก เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นแพสชั่นของเราล้วนๆ เลย

ถ้าให้เทียบคาแรกเตอร์กัน ขมิ้น กิ่งศักดิ์ กับ นครินทร์ กิ่งศักดิ์ ต่างกันยังไง

ต่างกันด้วย generation คือเวลาพ่อแต่งเพลงให้ตัวเอง พ่อจะมีคาแรกเตอร์แนวร็อกๆ เป็นผู้ชายเสียงใหญ่ๆ ที่อายุ 50 กว่า แต่พอมาทำเพลงให้ขมิ้น พ่อบอกว่าพ่อพยายามจินตนาการให้ตัวเองเป็นผู้หญิงใสๆ ที่มีปั๊ปปี้เลิฟ (หัวเราะ) พ่อพยายามสวมบทเป็นอย่างนั้นค่ะ 

แล้วตอนที่พ่อเอาเพลงมาเสนอแรกๆ ขมิ้นรู้สึกเซอร์ไพร์สมากๆ เพราะไม่น่าเชื่อว่าบนโลกนี้จะมีคนอีกคนหนึ่งที่เหมือนแยกร่างออกไปจากเรา และสามารถแต่งเพลงออกมาได้ถูกใจเราร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ คือมันมีทั้งความอะคูสติก ความป๊อป ตกใจมากๆ จนบอกพ่อว่าเฮ้ย เพลงนี้มันใช่ขมิ้นเลยอะพ่อ (ยิ้ม)

ตอนทำเพลงด้วยกัน คำแนะนำที่พ่อพูดกับเราบ่อยที่สุดคืออะไร

พ่อจะชอบบอกว่า เวลาแต่งเพลง ให้ใส่มุกลงไปในเพลง พวกคำโดนๆ เพื่อให้เพลงเรามันมีเอกลักษณ์ คือเราอาจจะนึกเรื่องที่เราชอบก่อนแล้วค่อยหาคำโดนๆ เอาไปใส่ เพราะว่าเพลงที่ดังมักจะมีลูกเล่นเป็นคำโดนๆ พวกนี้ อย่างที่เราเห็นในเพลงรุ่นใหม่เยอะ แบบ ‘ฉลามชอบงับคุณแต่ผมชอบคุณงับ’ อะไรแบบนั้น หรือเพลง คนมีเสน่ห์ ของพ่อก็จะเอาคำว่าคนมีเสน่ห์มาเล่นเป็นมุกหลัก พ่อจะชอบพูดเรื่องนี้บ่อย 

เห็นว่าปล่อยเอ็มวีออกมาแล้วมีชาเลนจ์ให้เต้นใน TikTok ด้วย ขมิ้นคิดว่าการมีชาเลนจ์แบบนี้มันจำเป็นกับศิลปินในยุคปัจจุบันแค่ไหน

ขมิ้นว่าการทำชาเลนจ์มันไม่ใช่เรื่องจำเป็นสำหรับทุกเพลง แต่เพลงไหนเหมาะจะมีชาเลนจ์ ถ้ามีท่าเต้นน่ารักๆ แล้วมันลงตัวกับเพลงนั้น เสริมเสน่ห์ให้กับเพลงนั้น ขมิ้นว่ามันก็ควรจะมี เพราะมันเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้เพลงเราเป็นที่รู้จักได้เร็วขึ้น

แล้วจริงๆ เป้าหมายในการทำเพลงของเราคืออะไร อยากให้คนรู้จักเยอะๆ หรือเปล่า

แน่นอนอยู่แล้วว่าศิลปินทุกคนอยากให้คนได้ฟังมากที่สุด แต่ขมิ้นว่าสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือเราอยากให้คนอื่นได้รับความสุขจากเรื่องราวที่เราถ่ายทอดออกไปในเพลงเหมือนกัน มันไม่ใช่แค่การนั่งเล่นคนเดียวในห้องแล้วเราแฮปปี้ของเรา แต่เราอยากแชร์ให้คนอื่นด้วย

การแชร์ให้คนอื่นทำให้ขมิ้นมีความสุขยังไง

เรามีความสุขเวลาเราเห็นคนอื่นอินสิ่งเดียวกับเรา แต่ถ้าถามว่าขมิ้นคาดหวังกับซิงเกิลนี้แค่ไหน ตอบตามจริงว่าขมิ้นไม่ได้ตั้งความคาดหวังกับเพลงนี้ไว้เลย เพราะถ้าเราไม่คาดหวัง เราจะไม่ผิดหวัง

ไม่คาดหวังให้ได้ร้อยล้านวิวอะไรแบบนี้เหรอ

ถ้าร้อยล้านได้ก็ดีค่ะ แต่ขมิ้นไม่อยากคาดหวังเพราะขมิ้นเป็นศิลปินใหม่และมันเพิ่งเพลงแรกด้วย ขมิ้นเลยไม่อยากตั้งเป้าว่าเพลงแรกฉันจะต้องเป๊ะดังปังเว่อร์เลย แต่แค่ให้เหมือนคนรู้จักเรามากขึ้น คนชอบเพลงเราก็โอเคแล้ว

ตอนปล่อยเพลงออกไป ใครเช็กกระแสบ่อยกว่ากันระหว่างขมิ้นกับพ่อ

พ่อมากกว่า (หัวเราะ) พ่อจะตามดูตลอด คอยรีเฟรชว่าขึ้นอับดับไหน ติดเทรนด์ดิ้งเท่าไหร่ แต่ก็อย่างที่บอก ขมิ้นไม่อยากคาดหวังกับเพลงแรกเลย ปล่อยเพลงออกไปแล้วเราเลยไม่ได้สนใจมากว่าตัวเลขจะขึ้นเท่าไหร่ แค่รู้ว่าเราได้ทำออกไปให้คนฟังก็พอแล้วค่ะ 

พอได้เป็นศิลปินแล้ว ความรู้สึกตอนไปไหนมาไหนกับพ่อเปลี่ยนไปบ้างไหม 

เมื่อก่อนตอนไปไหนมาไหนด้วยกัน เวลามีคนมาขอพ่อถ่ายรูปหรือบอกว่าชอบเพลงพ่อ ขมิ้นจะรู้สึกภูมิใจในตัวพ่อค่ะ คือรู้สึกว่าโห พ่ออายุขนาดนี้แล้วแต่ยังมีเด็กรุ่นใหม่มาขอถ่ายรูปอยู่เลย แต่พอเรามาเป็นศิลปินด้วยเนี่ย ขมิ้นรู้สึกว่าขมิ้นมีความสุขที่ทำให้พ่อภูมิใจในตัวขมิ้นได้ 

คือพ่อจะไม่ได้พูดบ่อยขนาดนั้น แต่ก็มีบางครั้งที่พ่อบอกว่า พ่อภูมิใจในตัวลูกมากนะ (ทำเสียงเป็นพี่ป้าง) อย่างตอนอัดเพลงครั้งแรกเสร็จ ปกติศิลปินคนอื่นจะตื่นเต้นแต่ขมิ้นไม่ตื่นเต้นเลย คนที่คุมห้องอัดก็ชมว่าเราเก่งมาก พ่อก็บอกว่าภูมิใจมากที่เราเป็นโปรเฟสชันนอลตั้งแต่ครั้งแรก 

ความสุขของขมิ้นในวันนี้คืออะไร

การที่ขมิ้นได้ทำตามทุกอย่างที่แพลนไว้ในชีวิตหมดเลย ทั้งเลือกเรียนอะไร ทำเพลงแนวไหน ซึ่งพ่อแม่ซัพพอร์ตเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอนแรกที่จะเลือกเรียนศิลปะพ่อก็ผลักดัน แต่พอวันหนึ่งอยู่ดีๆ เราก็ไม่เอาแล้ว จะมาเอาดีด้านดนตรี พ่อก็ไม่ได้ต่อว่าว่าทำไมไม่มุ่งมั่นด้านศิลปะ แต่จะซัพพอร์ตตามความชอบเรา ณ ตอนนั้นเสมอ

การมีครอบครัวที่ซัพพอร์ตมีความหมายกับขมิ้นยังไง

มันทำให้เรารู้สึกรักครอบครัวมากๆ ตั้งแต่เด็กขมิ้นก็รู้สึกว่าเราโตมากับครอบครัวที่อบอุ่นมากๆ อยู่แล้ว มันทำให้เราคิดว่าถ้าในอนาคตเราจะมีครอบครัวบ้าง เราก็อยากให้ครอบครัวนั้นเป็นเหมือนครอบครัวที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ค่ะ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่สนุกไปกับการแต่งตัว หลงรักในเสียงเพลง IG:mocfirst