ความเจ็บปวดของคนรุ่นใหม่ในสายตาคงเดชผ่านหนังเรื่องแรกของ BNK48 FILMS

Highlights

  • Where We Belong คือผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ที่เล่าเรื่องความรู้สึกไม่ belong กับทุกสิ่ง ซึ่งประเด็นนี้เป็นคำถามที่อยู่ในตัวเขามาตลอดตั้งแต่เด็ก แต่ในเวลานี้เขาค้นพบว่าปัญหาการไม่ belong กำลังเกิดขึ้นกับเด็กรุ่นใหม่หลายๆ คน นั่นเองเป็นแรงขับให้เขาเลือกจะเล่าเรื่องนี้ในปัจจุบัน
  • แรงบันดาลใจที่เขาเลือกเล่าเรื่องนี้ออกมาผ่านตัวละครผู้หญิงมาจากลูกสาวสองคนของเขาที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น เมื่อสิ่งที่เขาพบเห็นทุกวันมารวมกับสิ่งที่เขารู้สึก สุดท้ายทั้งหมดทั้งมวลเลยกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่สังเคราะห์ออกมาเป็นหนังเรื่องนี้ในที่สุด
  • คงเดชมองว่าปัญหาการต่อไม่ติดของคนรุ่นใหม่เกิดจากสังคมที่เปลี่ยนไปและการกดทับด้วยความเชื่อของคนรุ่นเก่า ซึ่งในความเห็นของเขา การให้คนรุ่นใหม่ได้ออกไปจากกรอบน่าจะเป็นคำตอบที่เหมาะสม

นับตั้งแต่ปี 2015 กับภาพยนตร์เรื่อง Snap แค่…ได้คิดถึง ปีนี้ คงเดช จาตุรันต์รัศมี กลับมาปั้นผลงานเขียนบทและกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวอีกครั้งกับ Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า นำแสดงโดย 2 สาวที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอย่าง เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ (เจนนิษฐ์ BNK48) และ แพรวา สุธรรมพงษ์ (มิวสิค BNK48)

Where We Belong เล่าถึงความสัมพันธ์ของซูและเบล เด็กสาว 2 คนที่เป็นเพื่อนสนิทกัน เรื่องราวของหนังดำเนินอยู่ในช่วง 2-3 สัปดาห์สุดท้ายก่อนที่ซูจะไปเรียนต่อต่างประเทศ โดยมีเบลเป็นคนช่วยเก็บกระเป๋าและช่วยซูไล่ทำสิ่งต่างๆ มากมายในเช็กลิสต์ที่ซูคิดว่าควรทำก่อนขึ้นเครื่อง ตั้งแต่คืนของไปจนถึงสารภาพความรู้สึกส่วนตัว ซึ่งการเก็บกระเป๋าของซูอาจเป็นเหมือนชีวิตของเธอก็ได้ว่าสุดท้ายเธอจะเลือกเก็บหรือทิ้งสิ่งใดไว้เบื้องหลังเพื่อออกเดินทาง

จากที่เราเห็น ด้วยตัวละครวัยรุ่นและหน้าหนังที่ดูแมสขึ้นจากการคัดเลือกนักแสดงจาก BNK48 รวมไปถึงการสตาร์ทตัวจากรางวัล CJ Entertainment Awards (หนังเรื่องนี้เป็น 1 ใน 29 โครงการภาพยนตร์ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมงาน Asian Project Market ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน 2018) ทำให้ Where We Belong กลายเป็นโปรเจกต์ที่ถูกจับตามองตั้งแต่ระยะแรกๆ จนถึงวันนี้ที่ภาพยนตร์กำลังฉายในโรงภาพยนตร์แล้ว ด้วยเหตุนี้เราจึงเดินทางมาหาเขาเพื่อหาคำตอบบางอย่าง

คงเดชเป็นคนที่มักจะตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวและผลักดันมันออกมาเป็นงานเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเพลง หนังสือ หรือภาพยนตร์

แล้วอะไรคือจุดเริ่มต้นของ Where We Belong

 

โปรเจกต์ Where We Belong เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ปีที่แล้วเราได้รับการติดต่อจากคุณต้อม (จิรัฐ บวรวัฒนะ CEO บริษัท บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จำกัด) ว่าอยากจะทำหนัง เขาชอบ Snap ซึ่งถือว่ารสนิยมดี (หัวเราะ) เขาเลยอยากจะให้ทำหนังเล็กๆ เรื่องหนึ่ง ให้น้องได้เล่นดีๆ ได้แสดงศักยภาพ สำหรับเราก็เป็นโจทย์ที่สบายกูสิ เขาไม่มายุ่งเนื้อเรื่อง แต่ว่าขอให้ได้เล่นดีๆ ได้ เดี๋ยวจัดให้ อะไรทำนองนั้น แต่ว่างบไม่เยอะนะ เราก็ยังทำหนังที่แบบจำกัดจำเขี่ยไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่ ดีขึ้นมานิดเดียว แต่ว่าได้เล่าเรื่องอย่างที่อยากเล่า ดังนั้นก็เลยเป็นโจทย์มาตั้งแต่ต้นว่าต้องเป็นน้อง BNK48 เล่น แล้วเราก็รู้สึกว่าจะต้องเป็นตัวหลัก จะไม่ใช่แค่เอาไปเป็นบทสมทบหรืออะไรต่างๆ แบบที่ผ่านมาของเขา

จากภาพยนตร์เรื่องที่ผ่านๆ มาของคุณที่มีตัวละครหลากหลาย ทำไมครั้งนี้ถึงเลือกเล่าเรื่องเด็กผู้หญิง

เรามีความอินกับความสัมพันธ์ของเด็กสาว ด้วยชีวิตหลักของเราที่ลูกสาวเริ่มโต เป็นแฝดอายุ 14 เราเฝ้ามองเขาเติบโตอยู่ซึ่งมีอะไรน่าสนใจอยู่เยอะ แล้วสภาพสังคมในประเทศเรา ณ ปัจจุบันนี้ เราจะมีคำถามเกี่ยวกับอนาคตและชีวิตของลูกสาวเราอยู่บ่อยๆ ไม่ได้บอกกับลูกหรอกนะ แต่เราจะคิดกับตัวเองอยู่เสมอ เรารู้ว่าวัยรุ่นยุคนี้มันแบกโลกหนักกว่ายุคเราเยอะ อยู่ในช่วงสภาพสังคมที่ค่อนข้างกดทับเราอยู่อย่างไม่รู้ตัว เราก็รู้สึกว่าอยากทำเรื่องนี้

ไอ้คำว่า Where We Belong จริงๆ มันเป็นคอนเซปต์ที่อยู่กับเรามา 4-5 ปีแล้ว มันเป็นความรู้สึกส่วนตัวที่เรารู้สึกไม่เข้ากับที่ไหนหรืออะไรสักอย่าง

ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่

ตั้งแต่วัยรุ่นแล้ว เรารู้สึกว่าเราไม่ค่อยฟิตอินกับเพื่อนเท่าไหร่ คือมีเพื่อนนะ ไม่ใช่ไม่มี แต่ว่ามันมีความรู้สึกแบบมึงไม่เข้าใจกูมั้ง ไม่เก็ตกูหรอก จนถึงช่วงมหาลัยหรืออะไรต่างๆ นานา เราเป็นมนุษย์ที่มีความก้ำกึ่ง มีปัญหานี้กับตัวเองมาตลอด จนกระทั่งทุกวันนี้จะห้าสิบแล้ว ทำอาชีพอะไรก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของวงการนั้น เขียนหนังสือก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นนักเขียน เคยมีวงก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นนักดนตรี ทำหนังใหญ่ก็ไม่รู้สึกฟิตอินกับสตูดิโอเอาเสียเลย ทำหนังอินดี้ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นตัวกู เวลาพาหนังไปต่างประเทศก็ไม่รู้สึกกับเทศกาลอะไรที่จะต้องมีปาร์ตี้และพูดคุยความคิดอันแหลมคมตลอดเวลา เราเลยรู้สึกว่านี่คือวัตถุดิบที่วันนี้เราอยากจะคุย เพราะตอนนี้ไอ้ความรู้สึกไม่ฟิตอินกลายเป็นความรู้สึกที่ร่วมสมัยมากขึ้น ทุกวันนี้ตั้งแต่เด็กวัยรุ่นขึ้นมา ทุกคนมีความรู้สึกนี้ง่ายขึ้น เราเลยรู้สึกว่า เออ อยากจะคุยเรื่องนี้วันนี้

แต่ถ้าดูจากตัวอย่าง Where We Belong จะเห็นว่าพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิงด้วย ดูไม่เหมือนหนังเรื่องที่ผ่านมาของคุณ

ก็ส่วนหนึ่ง แต่เราสนใจเรื่องนี้อยู่สักพักแล้วเพราะลูกสาวเราเป็นแฝด ทุกๆ วันเราจะเห็นเด็กผู้หญิงสองคนอยู่ด้วยกันตลอดเวลาในชีวิต เห็นเวลาที่เขาโกรธกัน แล้วก็กอดกันเมื่อต้องการจะง้อกัน เราเลยสนใจเรื่องความสัมพันธ์ของผู้หญิง ผู้ชายอย่างเราเนี่ยไม่ค่อยสัมผัสกันทางร่างกายเท่าไหร่หรอก อย่างมากก็ตบหลังตบไหล่ มันไม่ค่อยจูงมือกันไปซื้อขนม มันมีความกระด้างกว่า แต่ว่าเด็กผู้หญิงจะมีการสัมผัสทางร่างกายสูงกว่าโดยที่ไม่ได้เป็นเรื่องเชิงเพศด้วยนะ มันเป็นความรู้สึกแบบอุ่นใจ

แล้วเราก็ค้นพบว่าทุกรุ่นเด็กผู้หญิงด้วยกันก็มักจะมีเพื่อนที่รักกันมากแต่รักไม่เท่ากัน จะมีฝ่ายหนึ่งที่แคร์อีกฝ่ายมากกว่าเสมอ และอีกคนมันก็รู้ด้วยว่ามันรักกูมากกว่ากูรักมัน แต่กูก็ทำได้เท่านี้ กูรักมึงไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้วว่ะ ได้ดีที่สุดเท่านี้ เรารู้สึกชอบสิ่งนี้ ซึ่งไอ้ภาวะแบบนี้ทำเป็นหนังเพื่อนผู้ชายไม่ได้ (หัวเราะ) จั๊กจี้ 

คือผู้หญิงจะมีความพึ่งพิงกันในเวลาที่ยังไม่มีใคร แล้วสุดท้ายแม่งจะมีฝ่ายหนึ่งชิงไปมีแฟน แล้วอีกฝ่ายก็คิดว่ากูถูกทิ้งอยู่เดียวดาย เราเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดอยู่คาตา คู่แล้วคู่เล่า เราคิดว่าน่าสนใจดี แล้วพอเวลามันเฮิร์ตจากแฟนแล้ววิ่งกลับมาหา มึงยอมรับมันไหม มึงก็ยอมรับมันทุกครั้งเลย

แล้วหญิงสาว 2 คนนั้นกลายเป็น เจนนิษฐ์และมิวสิค ได้อย่างไร

เราต้องเข้าไปคุยกับเมมเบอร์ BNK48 หลายคนและเข้าไปแบบไม่รู้จักเขาเลย พอเราไม่รู้จักเขามาก่อน เราเลยรู้จักทั้งคู่ในฐานะเจนนิษฐ์ ในฐานะมิวสิค และ 2 คนนี้เป็นสองคนที่คุยกับเรายาวมาก เราค้นพบว่าทั้งคู่มีความเป็น ‘ซู-เบล’ สูง มีอินเนอร์ที่ดี มีเรื่องราวในชีวิตที่หนักหนามากกว่าที่หลายคนอาจจะเคยรู้มาก่อน แต่เขาก็พร้อมที่จะเล่าให้เราฟัง รวมไปถึงทัศนคติที่เขาใช้จัดการกับชีวิต

เอาเข้าจริงเราได้พบว่า BNK48 เป็นหม้อหลอมรวมเด็กที่มาจากต่างที่ต่างทางจริงๆ แล้วแต่ละคนมีคาแร็กเตอร์ที่น่าสนใจมากๆ เพียงแต่ว่าคนอื่นยังไม่เหมาะกับบทนี้เท่านั้นเอง แต่พอเป็นสองคนนี้ยิ่งอยู่กันทุกวัน นั่งคุยกัน มันก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย ดี ทั้งคู่มีความเป็นเด็กสาวที่ต้องรับมือกับอะไรที่เข้มข้นจนเรายังคิดเลยว่าถ้าเป็นตัวเราเอง เราจะจัดการกับมันยังไงวะ แต่นั่นแหละ ตั้งแต่วันแรกแล้วที่เราคุยกับเขา กำแพงทุกอย่างได้พังทลายลงไปตั้งแต่ต้น ดังนั้นทุกครั้งที่เราเห็นเขาทั้ง 2 คน ก็คือเจนนิษฐ์ คือมิวสิค แค่นั้น

Where We Belong ดูเป็นหนังที่ต้องใช้ทักษะและเสน่ห์ส่วนตัวของนักแสดงสูงมาก อะไรคือสิ่งที่ทำให้เจนนิษฐ์และมิวสิคกลายมาเป็นตัวละครซูและเบล ได้อย่างที่คุณหวัง

ตั้งแต่เวิร์กช็อปแล้ว เราทำความรู้จักเขามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเจนนิษฐ์ เขาเป็นคนที่ดูหนังเยอะ จินตนาการสูง แล้วก็มีสัญชาตญาณที่ดี ดังนั้นตั้งแต่เริ่มเวิร์กช็อปเราก็จะเริ่มเห็นทักษะเขาแล้ว เจนนิษฐ์มีเซนส์ที่โคตรดี พร้อมจะปรับจูนได้ และโคตรมีวินัย โปรมากๆ โปรกว่านักแสดงอาชีพหลายๆ คนที่เคยร่วมงานกันมาอีก แล้วตอนเราถ่ายทำ ใจยังคิดเลยว่าบทซูเป็นบทหลัก แบกอยู่ 70-80 เปอร์เซ็นต์ของเรื่อง ถ้าไม่ได้เจนนิษฐ์จะเป็นไงเนี่ย กูนึกไม่ออกเลย เพราะน้องมีสมาธิมากๆ แล้วพอสั่งคัตก็กลับไปเป็นเด็กบ้าๆ บอๆ ได้ นี่คือความมหัศจรรย์ เราโคตรชอบเลย

ขณะที่มิวสิคจะเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง แต่ว่าเขาเป็นคนที่ชาร์มมิงจากข้างใน ทุกคนในกองจะชอบมิวสิคทั้งๆ ที่ไม่เคยติดตามมาก่อน แต่มันมีอะไรสักอย่างในตัวมิวสิคที่ส่องแสงอยู่ตลอด ด้วยความที่เขาไม่เคยแสดงอะไรมาก่อนเลยไม่รู้วิธี ต่างกับเจนนิษฐ์ที่รู้เยอะ แต่นี่ไม่รู้เลย และเป็นคนที่กำกับไม่ได้ด้วย เหมือนเป็นสัตว์ป่าตัวหนึ่ง ต้องใช้คำนี้นะ (หัวเราะ) เวลาเราเจอนักแสดงแบบนี้เราจะต้องปล่อยให้เขาเล่นออกมาก่อนแล้วค่อยๆ เชปเขาอีกที ดังนั้นเลยมีอะไรเซอร์ไพรส์ให้เราได้เห็นทุกวี่ทุกวัน แค่ได้เจอสองคนนี้ก็โคตรคุ้มแล้วกับการต้องเหนื่อยข้ามปี

อยากให้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เป็นเมจิกหน้ากล้องที่จำได้หรือประทับใจให้ฟังหน่อย

มันจะมีซีนที่ทะเลที่เราจำมากที่สุด เพราะเราต้องแข่งกับเวลา พระอาทิตย์แม่งตกต่อหน้าแล้วจะมีช็อตที่แสงเปลี่ยน ณ ตอนนั้นรอบตัวเราวิ่งกันขาขวิด แสงจะหมดแล้ว เราแม่งมีอยู่เทคเดียวเท่านั้น แต่น้องสองคนนิ่งมากท่ามกลางความโกลาหลรอบๆ แล้วในบทไม่ได้บอกว่าต้องทำยังไงอะไรขนาดนั้น แต่ว่าสองคนมันพาไปถึงจุดนั้น ซึ่งเวลาที่คุณทำหนังแล้วเจอช่วงเวลาอะไรแบบนี้ เราไม่รู้หรอกนะว่าหนังออกมาดีไม่ดี คนจะชอบไม่ชอบ รายได้แม่งจะเป็นยังไง แต่เวลาคุณเจอไอ้ช่วงเวลาแบบนี้ปุ๊บ แม่งโอเคแล้ว พอแล้ว มันเป็นรางวัลไปแล้วในตัว กับทั้งหมดเลยนะ ทั้งทีมงาน ทั้งน้อง นั่นล่ะที่ทำให้เรายังเลิกอาชีพนี้ไม่ได้

แล้วหลังจากทำหนังเสร็จ คุณได้คำตอบของคำถามที่คุณตั้งไว้ในตอนแรกไหม

มันไม่เคยมีคำตอบอยู่แล้ว เราทำทุกเรื่องก็ไม่เคยมีคำตอบ แต่ว่าการที่ได้เห็นมันประจักษ์ต่อหน้าทำให้เรายอมรับมันได้มากขึ้นในชีวิต ต้องเข้าใจก่อนว่าไอ้คำถามที่ว่ามันเกิดจากความทุกข์และไม่เข้าใจชีวิต เรามีไอเดียตลอดเวลาและก็ถูกจดไว้ แต่ถ้าเรื่องไหนที่ไม่ปั่นป่วนเราก็จะถูกวางไว้อย่างงั้น แต่ถ้ามันปั่นป่วนเราและมีอะไรมาไดรฟ์ แสดงว่าเราต้องทำมันแล้ว มันคันแบบต้องเกา แล้วถ้ายิ่งเป็นความทุกข์ เป็นคำถามหรือเป็นอะไรต่างๆ นานา เราว่าเมื่อทำหนังเสร็จแล้วแค่ทำให้เรายอมรับมันได้ ไม่ใช่ระดับที่เรียกว่าเข้าใจชีวิต แต่ว่ามันทำให้เราโอเคที่จะอยู่กับมัน ก็โอเคแล้ว

อย่างเรื่องนี้อาจจะพิเศษอย่างหนึ่งตรงที่ลูกสาวเรากำลังโตขึ้น ก่อนหน้านี้เวลาเราทำหนังมันก็เป็นหมุดอื่นๆ ในชีวิต ตั้งแต่ สยิว คือไอ้เด็กสาวทอมบอยที่พยายามหาพื้นที่ให้ตัวเอง จริงๆ มันก็อาจจะเป็นร่างทรงของเราก็ได้ ในช่วงเวลาที่มีความฝันแล้วอยากจะหาพื้นที่ให้ตัวเอง เสร็จแล้วมา เฉิ่ม มา กอด มันก็เป็นช่วงเวลาของชีวิตที่ต้องการความรักหรืออะไรต่างๆ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไดรฟ์ในตัวเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

แต่วัยนี้เป็นวัยที่เราเป็นพ่อและลูกสาวกำลังโต เรารู้สึกว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไดรฟ์ของเราย้ายจากตัวเองไปสู่ลูก ดังนั้นตอนที่ทำหนังเรื่องนี้จบ เราค้นพบว่าเราอุทิศเรื่องนี้ให้หลายคนมาก ซึ่งบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้หญิงรอบๆ ตัวหมดเลย ลูกสาวเรา เมียเรา แม่เรา แล้วก็คำถามที่ว่าเราเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองมากน้อยขนาดไหน สมบูรณ์แบบขนาดไหน เราเป็นเจ้าของมันได้จริงหรือเปล่า แม้แต่ร่างกายของเรา เราเป็นเจ้าของมันจริงหรือเปล่า แล้วหนังมันว่าด้วยเรื่องนั้นแหละ

รวมไปถึงความรู้สึกไม่ belong ด้วย

ใช่ เอาจริงๆ นะ เดี๋ยวนี้พออายุ 20-30 พวกเราโคตรแบ่งแยกกันเลย สังคมทำให้เราแบ่งแยกมากขึ้นโดยอัตโนมัติ จริงๆ ก็ทุกเจเนอเรชั่น เพียงแต่ว่าเราเจอเยอะในช่วงนี้เพราะลูกสาวเราอยู่ในวัยนี้ หรืออย่างเวลาทำงานเราก็จะเจอกับพวกเด็กที่จบมาใหม่ๆ บ้าง เราเห็นสิ่งนี้ตลอดเวลา เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันเกิดอะไรขึ้นวะ

เท่าที่ฟัง ดูเป็นหนังเศร้านะ

แม่งเข้มข้นกว่า Snap หลายเท่า คือ Snap มันมีความซึมๆ เบาๆ อยู่ มันมีความเบาโหวงๆ นะ เพราะว่าตัวละครผึ้งเป็นตัวละครชนชั้นกลางอายุ 20 กว่าที่เป็นลูกนายทหาร เป็นคนแบบที่มีฟูกไว้รองรับตัวเองยามเมื่อร่วงหล่น เป็นคนประเภทหลอกตัวเองว่าโอเค ดังนั้นไอ้ความรู้สึกของหนังโดยรวมจะอยู่ท่ามกลางความรู้สึกแบบกูลงไอจี มีคนไลก์กู มีชีวิตที่โอเค กูสะกดจิตตัวเองได้ กูปรุงแต่งความทรงจำขึ้นมาใหม่ได้ แต่ว่าตัวละครใน Where We Belong มันเป็นเด็ก มันยังไม่มีอะไรเลย เดี๋ยวมันอาจจะโตขึ้นไปเป็นคนแบบผึ้งก็ได้ แต่ตอนนี้มันเป็นเด็กที่ไม่มีอะไรเลย เป็นเด็ก ม.6 ปีที่ผ่านมาที่จู่ๆ ก็เปลี่ยนระบบการเข้ามหาวิทยาลัยแล้วก็ต้องรอเคว้งคว้าง กลายเป็นคนที่ไม่รู้ว่ามีคุณค่าหรือเปล่าอยู่ 5-6 เดือน เด็กประเทศเราแม่งอยู่ในสภาพแบบนี้ ซึ่งมันไม่เบาหรอก ไม่มีทาง

คิดอย่างไรกับเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตในสภาพสังคมปัจจุบัน

เรารู้สึกได้ว่ายิ่งในเด็กรุ่นถัดๆ ไปจากซูและเบลที่จะเติบโตขึ้น เขาไม่ได้รู้สึกอะไรกับการเป็นคนไทยอีกต่อไป ไม่มีคำว่าคลั่งชาติอีกแล้ว เด็กที่เติบโตมาในยุคที่โลกทั้งใบกองอยู่ตรงหน้า เขาไม่รู้สึกถึงสิ่งนี้อีกต่อไปแล้ว ลูกเรามีความคิดว่าเขาคือพลเมืองโลกมากกว่า ถ้าที่นี่ไม่เวิร์ก เขาก็พร้อมและต้องการจะไปมาก เราคิดว่านี่คือสิ่งที่ต้องยอมรับและต้องเผชิญ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ในประเทศ เพราะว่าระบบการศึกษาเอย อะไรเอย หมุนตามไม่ทันโลก เด็กรู้มากกว่าครู ทุกคนต่างบอกว่าระบบการศึกษากำลังล่มสลายอยู่ ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทยด้วย เมือกนอกเองก็ระส่ำระส่ายมาก ระบบเคลื่อนตัวได้ยากและช้ากว่าความเป็นไปของโลก ยิ่งประเทศไทยอย่าเรียกว่าเคลื่อนตัวเลยดีกว่า มันนอนนิ่งๆ มานานมากแล้ว

เพราะเด็กสมัยนี้มีทางเลือกให้เลือกหรือไม่ยึดติดมากกว่า

ไอ้ความที่โลกมากองตรงหน้า มันทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมี เพราะเขารู้แล้วว่าที่ไหนมีอะไร ถ้าฉันอยากจะได้ฉันต้องไปที่นี่ เด็กมันพร้อมแล้ว และยิ่งรู้ว่าตัวเองมีศักยภาพก็พร้อมไป กูไปได้นี่หว่า ภาษากูก็ได้ ดังนั้นก็ไปดีกว่า

เหมือนตัวละครซูในหนังที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับที่ที่ตัวเองอยู่และหาที่ที่เหมาะสมกับตัวเอง

ใช่ๆ แต่พูดจริงๆ นะ เราต่างรู้กันดีอยู่แล้วว่ามันไม่มีที่แห่งนั้น เราต่างรู้ว่ามันไม่มีที่ที่สมบูรณ์แบบขนาดนั้นหรอก มันเป็นเรื่องของความรู้สึก ไม่ใช่เรื่องแบบความถูกต้อง

แล้วซูหรือเราจะพยายามหนีไปเพื่ออะไร ถ้าสุดท้ายก็ไม่มีที่แห่งนั้นอยู่ดี

อาจจะต้องไปเพื่อให้รู้ว่าไม่มีที่นั่น หรือที่นั่นก็ยังไม่ใช่นั่นแหละ เพราะถ้าไม่ไปแม่งก็ไม่รู้ จะไปรู้ได้ยังไงวะ ถ้ากูยังไม่ไป กูยังอยู่ตรงนี้ กูก็ยังมองไม่เห็น เป็นเรื่องปกติ เราคิดว่ามันเป็นสเตปหนึ่งของชีวิตนะ การเคลื่อนไปคือส่วนหนึ่งของการมีชีวิตอยู่ การเติบโต การเรียนรู้ การไปสู่อีกหมุดหมายหนึ่งแล้วก็ค้นพบบางสิ่งเหมือนตัวละครที่ไปสู่สถานที่ใหม่ นั่นไม่ได้หมายความว่าเป็นตอนจบ หนังอีกเรื่องอาจจะว่าด้วยซูที่เพิ่งย้ายเข้ามาที่แห่งหนึ่ง นึกออกไหม แล้วมันก็กลายเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและตอนจบของหนังอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ทำไมสิ่งนี้ดูเป็นปัญหากับเด็กรุ่นใหม่ในยุคนี้มากขึ้น ยุคก่อนไม่เป็นเหรอ

ทางเลือกของผู้ใหญ่รุ่นก่อนในประเทศมันสร้างสภาพแวดล้อมให้คนรุ่นใหม่ต้องอยู่ สร้างกรอบและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่บอกพวกเขาว่าอย่างนี้สิถูก อย่างนี้สิใช่ เป็นเรื่องที่ส่งต่อกันมา จริงๆ ซูเองก็ไม่ได้ถูกบีบบังคับอะไรต่างๆ หรอก ชีวิตของเด็กธรรมดาคนหนึ่งไม่ได้มีใครมาบีบบังคับขนาดนั้น แต่ว่าเงื่อนไขบางอย่างในชีวิตทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น เหมือนเอาเข้าจริงๆ เรามีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ก็ไม่ได้รู้สึกว่าใครมาบีบบังคับเราขนาดนั้น แต่ถ้าคิดดีๆ เอ๊ะ เราก็ไม่ค่อยได้เลือกอะไรเลยนี่นา กูต้องอยู่ไปแบบนี้จริงๆ เหรอ

ถ้าอย่างนั้นในมุมมองคุณ เด็กรุ่นใหม่ก็จะถูกเงื่อนไขของคนรุ่นเก่ากดทับต่อไปหรือเปล่า

นี่เป็นสิ่งที่เรา concern ในอนาคตมากๆ เลยนะ เราไม่รู้ว่าสิ่งที่กดทับพวกเราและเด็กรุ่นใหม่อยู่ตอนนี้มันจะไปสิ้นสุดเมื่อไหร่ เด็กที่โตขึ้นมาแล้วเป็นผลผลิตจากการกดทับนี้จะทำให้เขาตัดสินใจใช้ชีวิตในมุมต่างๆ ยังไง แล้วไอ้การกดทับจะยังคงอยู่หรือเปล่า ไอ้พวกยี่สิบสามสิบวันนี้จะกลายเป็นห้าสิบที่ยังกดทับไปเรื่อยๆ หรือเปล่า เราถึงได้พูดว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ล้มเหลวในเชิง evolution สุดๆ เพราะว่ามันกดทับกันไปเรื่อยๆ มันกดทับด้วยจินตนาการด้วยนะ ไม่มีอะไรจริงเลย

ไม่มีอะไรจริง คือเราถูกหลอกเหรอ

เราก็ถูกหลอกมาทุกรุ่นนะ เอาเข้าจริงเราก็ไม่ได้พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ พอไดรฟ์เราเป็นคนรุ่นถัดไป ไดรฟ์เราเป็นลูกของเรา เราก็มองว่าจะทำยังไงให้อนาคตดีขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา เรารู้อยู่แล้วนะว่ามันคือปาหี่ รู้ทั้งรู้ว่ายังไงเสียก็จะถูกทำให้เป็นอย่างที่เป็นตอนนี้ แต่สิ่งที่รู้สึกคือเราเสียใจแทนคนรุ่นใหม่ที่ไปใช้สิทธิครั้งแรก เพราะมันจะทำให้เขารู้สึกผิดหวัง และเราไม่รู้ว่าไอ้ความผิดหวังจะนำไปสู่อะไรในอนาคต เรารู้สึกแย่ ก่อนหน้านี้เขาคิดว่าตัวเองมีสิทธิที่เป็นเหมือนกำลังที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่พอเจอว่าทุกอย่างถูกจัดฉากมาตั้งแต่ต้นและได้เห็นผู้ใหญ่เหี้ยๆ ที่กำลังหัวเราะเยาะเด็กว่ากระดูกอ่อนขนาดไหน เราเจ็บแทนเด็กๆ ที่ต้องผิดหวัง และสิ่งที่เรากลัวคือความผิดหวังนั้นจะนำพาไปสู่ความเพิกเฉยในอนาคต ก็แม่งไม่ช่วยอะไรนี่หว่า เรากลัวว่าจะเป็นอย่างนั้น และนั่นจะทำให้เราไม่ไปไหนเลย

แล้วอะไรคือความหวังและความสุขของคุณทุกวันนี้

ความสุขคือการกลับไปบ้านทุกวันแล้วลูกสาวเราทั้งสองคนยังแย่งกันพูดเรื่องต่างๆ ที่วันนี้ไปเจอมาให้เราฟัง แต่เราก็รู้นะว่าเดี๋ยววันหนึ่งก็จะหายไป เรารู้แหละว่าไม่มีอะไรแน่นอน เหี้ยเอ๊ย ทำไมมันเศร้าอย่างนี้วะ (หัวเราะ)

แต่นั่นล่ะ มันก็เป็นสิ่งที่เราใช้ยึดเหนี่ยวในแต่ละวันได้ มันกลายเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรืออย่างเมจิกหน้ากล้องที่เราได้เจอตอนทำหนังเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่เราหวังว่าได้เจออีก จริงๆ การมาเจอเด็กสองคนนี้ (เจนนิษฐ์และมิวสิค) ก็เป็นพรในชีวิตมากแล้ว ตอนแรกจากแค่ต้องหา BNK48 สองคนมาเล่น แต่สิ่งที่เราได้เจอคือเราเจอเด็กสาวที่เจ๋งมากๆ สองคน มันดีนะ เหมือนเราเจออิ้งค์ (อิ้งค์–วรันธร นักแสดงนำจากเรื่อง Snap แค่…ได้คิดถึง) แล้วทุกวันนี้ก็ยังพูดคุยสารทุกข์สุกดิบกัน อะไรอย่างนี้มันก็ยังเป็นเรื่องที่ดี

ตลอดการคุยกันคุณพูดถึงลูกตลอด แล้วใน Where We Belong มีเมสเซจอะไรที่อยากบอกกับลูกหรือเปล่า

(นิ่งคิด) เราไม่กล้าบอกอะไรกับลูกเลย เราไม่รู้ว่าทัศนคติที่เรามีกับมนุษย์ เราควรจะชี้ให้ลูกเห็นหรือเปล่าด้วยซ้ำไป ลูกควรจะมีทัศนคติของตัวเอง ด้วยวัย 14 ไม่มั่นใจเหมือนกันว่าเขามาดูหนังเราแล้วจะเข้าใจขนาดไหน ก็อาจจะทำให้เขาเข้าใจเรามากขึ้นว่าพ่อคิดอย่างนี้เท่านั้นเอง แต่เราก็ไม่สามารถชี้ทางให้ลูกได้อยู่ดี ทุกวันนี้ก็อยู่ใกล้ๆ เขา ถ้าเขายังเล่าอะไรให้เราฟังอยู่ตลอดก็โอเคแล้ว เพราะเวลาที่เขาไม่คุยกับเราปุ๊บ กูก็คงจะเริ่มรู้สึกว่า ฉิบหายแล้ว

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวุฒิ เตจา

นักเรียนศิลปะการถ่ายภาพผู้นอนเช้าตื่นบ่ายและกำลังจะตายกับหัวข้อทีสิส กำลังหัดกินกาแฟและดูแลต้นไม้ 8 ต้น

Video Creator

ศราวุฒิ จันทร์นวน

หนุ่มหน้าเหมือนโกรธแต่ใจอยู่ในโหมดน่ารัก มองทุกอย่างเหมือนเกมชีวิตที่ต้องเก็บ Achievement ให้ครบ ชอบการ์ตูนโชเน็นจัมป์ ฟังเพลงแรปเป็นชีวิตจิตใจ และชอบไถตูดลงจากราวบันไดเหมือนสไลเดอร์