เจาะเวลาหา ‘ล้ง 1919’ : จากท่าเรือกลไฟ-คลังสินค้าจีนเก่าแก่สู่พื้นที่ประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ย่านคลองสาน

เจาะเวลาหา ‘ล้ง 1919’ : จากท่าเรือกลไฟ-คลังสินค้าจีนเก่าแก่สู่พื้นที่ประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ย่านคลองสาน

ไม่เคยรู้มาก่อนว่าย่านคลองสานมีไทม์แมชชีนซ่อนอยู่

ไทม์แมชชีนชนิดนี้มาในรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนโบราณที่จะพาทุกคนเดินทางย้อนกลับไปสำรวจวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมไทย-จีนเมื่อ 167 ปีก่อน

เราเรียกไทม์แมชชีนนี้ว่า ‘ล้ง 1919’

ส่วนคนสมัยก่อนมักเรียกว่า ‘ล้ง’ หรือ ‘ฮวย จุ่ง ล้ง’ ที่แปลเป็นไทยว่า ท่าเรือกลไฟ และคนในพื้นที่ปัจจุบันมักเรียกกันติดปากว่า โกดังบ้านหวั่งหลี เพราะตระกูลนี้เป็นคนดูแล

จากที่หลับใหลมาร่วมร้อยปี ฮวย จุ่ง ล้ง ค่อยๆ ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งจากความตั้งใจของคนในตระกูลควบคุมการอนุรักษ์โดยทายาทผู้เชี่ยวชาญการออกแบบอย่าง รุจิราภรณ์ หวั่งหลี ผู้ก่อตั้ง PIA Interior Company Limited

ก่อน ล้ง 1919 จะพร้อมเปิดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์คอนเซปต์ช่างคิดให้คนที่สนใจได้ย้อนเวลาไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์จีนไทย พักผ่อนหย่อนใจไปกับลานกิจกรรมริมน้ำ ร้านค้าจากนักออกแบบไทย และร้านอาหารคอนเซปต์ดีต่อใจไปด้วยกันช่วงปลายปี เราเลยอยากชวนทุกคนออกเดินทางสำรวจ พูดคุย และสัมผัสการทำงานของทีมช่าง สถาปนิก ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับเราใกล้ๆ ในบรรทัดต่อจากนี้

มี ‘ล้ง’ ไม่มี รื้อ

การทุบบางสิ่งทิ้งเพื่อสร้างใหม่เป็นเรื่องง่าย แต่ตระกูลหวั่งหลีกลับเลือกทำสิ่งที่ยากกว่า นั่นคือการอนุรักษ์ให้ทุกอย่างงามตามสภาพที่หลงเหลือจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้เสริมเติมแต่งจนดูเกินจริง แต่เน้นปรับโครงสร้างให้แข็งแรง และสืบเสาะค้นหาประวัติศาสตร์รากเหง้าที่แท้จริงก่อนลงรายละเอียดงานออกแบบให้ถูกต้อง

เบื้องหลังการฟื้นคืนชีวิตสถานที่แห่งนี้จึงต้องใช้ช่างอนุรักษ์มากประสบการณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ และคนเก่าแก่ในพื้นที่เข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อให้ได้วัสดุประกอบร่าง และเทคนิคการทำงานตามแบบฉบับช่างจีนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน

“เขานอนหลับเป็นเวลาร้อยกว่าปี สิ่งที่ต้องการทำคือปลุกให้เขาตื่นขึ้นมาอยู่ในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันรูปร่างหน้าตาเขาก็เหมือนกับตอนที่เกิดขึ้นมาเมื่อ 160 กว่าปีก่อน เราฟื้นฟูแล้วก็ต้องการเปิดให้คนภายนอก เด็ก นักศึกษา เข้ามาเยี่ยมชมวัฒนธรรมของชาวจีนในช่วงรัชกาลที่ 4 ว่าเป็นอย่างไร” รุจิราภรณ์แบ่งปันความตั้งใจให้เราฟังถึงสาเหตุในการเลือกเดินทางยาก

“ผมว่าสถานที่นี้มีค่ามากกว่าทองคำอีก มันเป็นประวัติศาสตร์ และเป็นสมบัติของเจ้าของที่นี่ เป็นทั้งของคนไทย ในขณะเดียวกันก็เป็นของโลก” อาจารย์ประดิษฐ์ เกติวงศ์ หัวหน้าทีมช่างอนุรักษ์ของล้ง 1919 ก็เห็นพ้องกับแนวคิดนี้ แล้วชักชวนนายช่างฝีมือดีมาช่วยกันฟื้นชีวิตให้ที่นี่ด้วยกัน สองคนในนั้นคือ นายช่างแจ๋ว-เทวิกา ปิ่นศิริ และอาจารย์หนิง-นพวัลย์ ลีตะชีว์วะ ช่างอนุรักษ์จิตรกรรมในรั้ววัง และครูที่น่ารักของนักเรียนช่างฝีมือในวังชาย

‘ล้ง’ ลงลึกประวัติศาสตร์

ไม่ว่าจะทำอะไรต้องเข้าใจให้ดีเสียก่อน ตระกูลหวั่งหลี ทีมสถาปนิกอนุรักษ์ และนักประวัติศาสตร์จึงสืบค้นเอกสารทางประวัติศาสตร์ บวกกับพูดคุยกับคนเก่าแก่ในพื้นที่ก็ได้ความว่าที่นี่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2393 (ค.ศ.1850) โดย พระยาพิศาล ศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ต้นตระกูลพิศาลบุตร คนจีนที่เกิดบนแผ่นดินสยาม โดยบรรพบุรุษของท่านได้เดินทางจากเมืองจีนมาค้าขายและตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์

ท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง ถูกใช้เป็นท่าเรือกลไฟ (เรือโดยสารหรือบรรทุกสินค้าที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง มีขนาดใหญ่กว่าเรือไฟ นิยมใช้แล่นในทะเลหรือมหาสมุทร) โดยชาวจีนในสมัยนั้นนิยมใช้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาค้าขายหรือย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่บางกอก เอาเรือเทียบท่า พร้อมลงทะเบียนชาวต่างชาติที่นี่

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งการค้าธุรกิจ โดยตัวอาคารท่าเรือเป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ อาคารด้านในที่ตั้งขนานกับแม่น้ำเป็นอาคารประธาน เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (MAZU) คลองสาน

ภายหลังมีการสร้างโกดังเพิ่มเติมที่ริมฝั่งแม่น้ำ เพื่อรองรับการเก็บสินค้าจำนวนมาก และการเปลี่ยนแปลงของอาคารดั้งเดิมที่กลายเป็นที่อยู่อาศัยของคนงาน

จนเมื่อ พ.ศ. 2462 (ค.ศ.1919) ตระกูลหวั่งหลี โดยนายตัน ลิบ บ๊วย ก็เข้ามารับช่วงต่อเป็นเจ้าของ

“นอกจากจะเป็นท่าเรือแล้ว หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมที่นี่ถึงมีห้องจำนวนมาก ตามบันทึกเขาบอกว่าเป็นเหมือนโชวร์รูม ข้างในจะโชว์สินค้าที่ตัวเองเอามาขาย และปรับเปลี่ยนอีกเป็นโฮมออฟฟิศ ข้างบนเป็นบ้าน ส่วนข้างล่างใช้เป็นออฟฟิศไป” พีรยา บุญประสงค์ สถาปนิกอนุรักษ์เล่าให้เราฟัง

“เสาจะป่องกลาง เป็นเสาที่คนจีนนิยม ส่วนลายจิตรกรรมบนผนังที่เขียนสีด้วยพู่กันไม้เส้นเล็กๆ น่าจะเขียนตั้งแต่ตอนที่ปูนยังไม่แห้งดี ที่นี่เป็นศูนย์รวมของช่างฝีมือชาวจีนก็ว่าได้ เพราะจากการสำรวจแต่ละห้อง มันจะไม่คล้ายกันเลย ขนาดก็ไม่เท่ากันด้วย คือถ้ามองในแง่สุนทรียภาพ นอกเหนือจากประวัติศาสตร์ ที่นี่ก็มีอยู่เยอะมาก”

‘ล้ง’ ล้าง

กระบวนการปลุกฟื้นคืนชีพ ‘ล้ง’ เริ่มด้วยการสำรวจ ตรวจ และล้างอาคารสถาปัตยกรรมจีนเก่าแก่แบบ ซาน เหอ หยวน (三合院) ซึ่งเป็นการออกแบบวางผังอาคารแบบจีนโบราณ ลักษณะอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกัน 3 ด้าน เป็นผังรูปทรงตัว U ให้เอี่ยมอ่อง

“วันที่ผู้รับเหมาเข้ามา เขาก็ล้างตัวอาคารด้วยน้ำยาล้างสีเคมีเพื่อลอกสีออก พอลอกสีออกแล้วขูดด้วยเกรียงเราจะเห็นเลยว่าข้างในมันมีภาพจิตรกรรมฝาผนังจีนมากมายอยู่ตามวงกบผนัง และประตู” รุจิราภรณ์เล่าถึงขั้นตอนแรก ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้ค้นพบงานจิตรกรรมฝาผนังจีนโบราณที่ทีมช่างอนุรักษ์จิตรกรรมกำลังคืนรายละเอียดดั้งเดิมอย่างเบามือในวันที่เรามาถึง

ดนตรีที่เปิดคลอ กับรอยยิ้มขณะทำงานชวนเรานั่งลงข้างๆ นายช่างแจ๋ว นายช่างศิลปกรรมหญิงที่ลุยงานอนุรักษ์จิตรกรรมมากว่า 30 ปี พูดคุยเกี่ยวกับงานในขั้นตอนแรกอย่างไม่เคอะเขิน

“รู้ไหม ขั้นตอนลอกสีนี่เป็นอะไรที่เหนื่อยสุดเลยนะ (หัวเราะ) เพราะเป็นงานอาศัยความถึก ความอดทน แล้วเวลาลอกก็ต้องกะน้ำหนักให้พอดี เพราะถ้าขูดลอกแรงเกินไปก็อาจทำให้จิตรกรรมบนฝาผนังเสียหายได้ ตอนนั้น ป้าอร คนดูแลศาลของที่นี่อายุ 20 จนตอนนี้ 73 ปีแล้ว แกก็มาช่วยลอกผนัง แล้วก็ดีใจมากเพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่าที่นี่มีจิตรกรรมจีนซ่อนอยู่ ที่สำคัญคือสวยด้วย“

ส่วนของโครงสร้างก่ออิฐถือปูน พื้นอาคารที่ปูด้วยไม้ และขื่อหลังคาโค้งมนที่ยึดดั้งเข้าด้วยกันนั้นก็ลดหลั่นสวยงามและค่อนข้างสมบูรณ์แข็งแรงดี แต่ถ้าหากงานไม้ตรงไหนชำรุด ทีมช่างก็จะใช้ไม้เก่าในอาคารมาเสริมเติมเข้าให้ใกล้เคียงงานเก่าที่สุด

‘ล้ง’ รายละเอียด

จากนายช่างแจ๋วที่กำลังเสริมความมั่นคงของชั้นปูนที่ผุกร่อนด้วยการใช้ปูนน้ำอ้อยตามแบบโบราณให้เป็นรูพรุน ความชื้นสามารถถ่ายเทได้ง่าย เนื้อส่วนผสมของปูนนิ่ม ไม่แข็งกระด้าง และไม่ส่งผลกระทบต่อปูนเดิม เราแวะเข้าไปนั่งดูอาจารย์หนิง ช่างฝีมือดีอีกคนที่กำลังลงเส้นสีให้งานจิตรกรรมจีนบนกรอบหน้าต่างด้วยมือขวา ส่วนมืออีกข้างก็ถือไม้รูปร่างคล้ายคทาวิเศษชวนสงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่

“เจ้าไม้นี้อยู่กับเรามาตั้งแต่เริ่มทำงานแล้ว ไม่มีไม่ได้ ฟาดคนก็ได้ (หัวเราะ) ขาดไม้รองมือไม่ได้เลยเพราะว่าปกติมือคนเราจะมีเหงื่อ เวลาทำงานอนุรักษ์ภาพเขียนเราต้องระมัดระวังไม่ให้มือไปโดนชิ้นงานจริง” อาจารย์หนิงเล่าก่อนอธิบายกระบวนการเขียนสีซ่อม วาดเส้นด้วยมือสดๆ

“พอเราจัดการซ่อมแซมเนื้อผนังให้เรียบร้อย ก็เข้าสู่ขั้นตอนการเขียนสีซ่อม และต่อภาพ ซึ่งช่างจำเป็นต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ และเรื่องราวของสถานที่เพื่อให้การต่อไม่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง อะไรที่เหลือร่องรอยไว้เราก็จะลงสีตาม แต่ถ้าไม่เจออะไรเลยก็จะปล่อยไว้ โดยเฉพาะภาษาจีนที่เห็นนี้เป็นอักษรจีนโบราณที่ต้องรอนักประวัติศาสตร์ที่รู้มาตีความ เราจะไม่แตะเลย”

“งานที่นี่เส้นเขาจะเล็กมาก คนโบราณนิยมใช้ขนหูวัวมาใส่กรวยแล้วดึงออกมาเป็นเส้น ตอกให้อยู่ และค่อยๆ วาดลงไป แต่พอมายุคนี้เราก็จะใช้วิธีการตัดพู่กันเบอร์เล็กสุดในคลังก่อนวาดลงไป”“ส่วนสีสัน อาจารย์จะเลือกใช้สีให้ใกล้เคียงกับสีเดิมของตัวงานที่ลงด้วยสีฝุ่น แต่วิธีการนี้ยากเพราะต้องผสมกาวกระถินเข้ากับสีฝุ่นที่มีราคาสูงมาก เราเลยเลือกใช้สีน้ำ เพราะซ่อมได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว เป็นสีที่ไม่เปลี่ยนสีง่ายๆ และเช็ดออกง่าย หลักๆ ก็จะพยายามคุมโทนสีให้ออกอมน้ำตาลเก่าๆ เหมือนของเดิม ชุดสีที่ใช้ก็จะมีสีดำ (lamp black) สีแดง (Indian red) สีฟ้าคราม (ultramarine) สีเขียว (Viridian Hue) สีเหลืองอ่อน (yellow ochre) และสีเหลืองเข้ม (raw sienna)”

“อ๋อ! แล้วที่สำคัญคือเวลาลงเส้นในงานเราจะลงเป็นเส้นดิ่ง เพื่อให้คนทราบว่าอันไหนคืองานอนุรักษ์ อันไหนคืองานเก่า” อาจารย์หนิงกวักมือเรียกให้เรายื่นหน้าเข้าไปดูงานใกล้ๆ จนเห็นริ้วเส้นดิ่งจำนวนมาก

แค่ซ่อมสีอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องอยู่ทนทานคู่ล้ง 1919 ต่อไป อาจารย์หนิงแนะนำให้เราเดินไปดูบัณฑิตจบใหม่จากวังชายที่อยู่ถัดไปไม่ไกลลงมือเคลือบทางานจิตรกรรมให้ทั่ว ด้วยน้ำยาเคมี B72 ซึ่งเป็นส่วนผสมของกาว Paraloid B-72 ที่มีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ นำมาละลายในตัวทำลายคือสารโทลูอีน (Toluene) ในอัตราส่วน โทลูอีน 19 ลิตร กับเม็ดพลาสติก 9 ขีด เพื่อรักษาสภาพจิตรกรรมไว้ให้สมบูรณ์ยาวนาน ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังของที่นี่

‘ล้ง’ ท้ายความในใจ

“เราชอบทุกงานที่ได้ทำนะ เพราะรักอาชีพนี้มาตั้งแต่แรก จมอยู่กับมันไม่ไปไหน เพราะสบายใจเวลาทำ ส่วนงานที่ล้งเราชอบตรงที่เป็นครั้งแรกที่เราได้จับงานจิตรกรรมฝาผนังจีน แล้วงานเขาสวยมาก สวยคนละแบบกับจิตรกรรมไทยที่เราทำมา”

“ความสนุกอีกอย่างคือ เราตื่นเต้นทุกครั้งที่ลอกผนังแล้วเจอภาพทีละเล็กทีละน้อย ต้องค่อยๆ ตามสืบเรื่องราวจากภาพเพื่อวาด นอกจากนี้ป้าอรคนดูแลศาลตั้งแต่ยังสาวแกรักที่นี่มาก แกก็มาช่วยเราลอก ช่วยตามหาด้วย กลายเป็นสนิทกันไปเลย”

นายช่างแจ๋ว-เทวิกา ปิ่นศิริ

“อาจารย์เองก็เป็นคนวงเวียนใหญ่ แต่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีสถานที่แห่งนี้ซ่อนอยู่ ยิ่งเราทำงานอนุรักษ์มาก็ยิ่งดีใจ ตอนพี่ประดิษฐ์ชวน เราก็อยากทำมากๆ พอมาทำจริงๆ ทุกครั้งที่ทำงานเสร็จ เรารู้สึกดีใจที่เห็นเขากลับมามีชีวิตอีกครั้ง ปกติเราซ่อมแซมภาพเขียนในวังต่างๆ ภาพสีน้ำมันของช่างตะวันตกซะเยอะ ตอนนี้อายุห้าสิบกว่าแล้วก็เพิ่งมีโอกาสได้เห็นได้เจองานจิตรกรรมจีนที่สวยงามแบบนี้”

อาจารย์หนิง-นพวัลย์ ลีตะชีว์วะ

LHONG 1919 ยังมีเรื่องราวและตำนานของภาพวาดอีกมากมาย ใครที่สนใจเตรียมตัวเข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์ ชมความงามของสถาปัตยกรรมจีนโบราณ ของดีย่านคลองสานและของโลกได้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ในงาน The Great Outdoor Market ได้เลย!

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ, เอกสารประชาสัมพันธ์

AUTHOR