งานโฆษณาไทยที่สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ใน Cannes Lions 2019

Highlights

  • Young Lions Competition คืองานประกวดโฆษณาสำหรับครีเอทีฟอายุต่ำกว่า 30 ปี ถึงจะเป็นงานเด็กแต่คานส์ก็ให้ความสำคัญจัดต่อเนื่องทุกปี หลายงานน่าสนใจไม่แพ้รุ่นพี่
  • ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ทีมไทยในหมวด Digital เข้ารอบ Shortlist 10 ทีมสุดท้าย เป็นความสำเร็จเล็กๆ ที่เราอยากบอกต่อ เพราะคิดว่านี่เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาวงการสร้างสรรค์ของบ้านเรา

Cannes Lions ปีนี้มีผลงานจากประเทศไทยที่สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้วงการ แต่มีคนพูดถึงน้อยเหลือเกิน

คานส์ทุกปีจะมีการแข่งขันที่เรียกว่า Young Lions Competition ประกวดงานโฆษณาสำหรับครีเอทีฟอายุต่ำกว่า 30 ปี ถึงจะเป็นงานเด็กแต่คานส์ก็ให้ความสำคัญ ผู้ที่ได้รับรางวัล Gold และ Grand Prix จะได้ขึ้นรับถ้วยในงานประกาศรางวัลเช่นเดียวกับการประกวดสายอื่น Young Lions จัดต่อเนื่องทุกปี หลายงานน่าสนใจไม่แพ้รุ่นพี่

ประเทศไทยจัดงานแข่งขันในประเทศ B.A.D Young Cannes เพื่อส่งเด็กไป Young Lions ทุกปี โดยสมาคมผู้กำกับศิลป์บางกอก (B.A.D) ปีนี้ไทยส่งทีมประกวด 2 หมวด คือหมวด Digital พัด–วลัญช์ เจริญสมบัติอมร (อาร์ตไดเรกเตอร์) และ นิว–ศุภกิตติ์ ศุขโรจน์ (ก๊อปปี้ไรเตอร์) จาก Rabbit Digital Group และหมวด Print กาย–เกริกเกียรติ ฉันทกิจนุกูล (อาร์ตไดเรกเตอร์) และ วิน–วชิรา พาชีครีพาพล (ก๊อปปี้ไรเตอร์) จาก The Leo Burnett Group Thailand

ตั้งแต่ส่งทีมเข้าประกวด ประเทศไทยไม่เคยเข้ารอบหรือได้รางวัลติดมือเลย

แต่ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ทีมไทยในหมวด Digital เข้ารอบ Shortlist 10 ทีมสุดท้าย เป็นความสำเร็จเล็กๆ ที่เราอยากบอกต่อ เพราะคิดว่านี่เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาวงการสร้างสรรค์ของบ้านเรา

อย่างน้อยครีเอทีฟที่ไปแข่ง Young Lions ก็คือคนกลุ่มมิลเลนเนียล คนรุ่นที่ทั่วโลกกำลังจับตาเพราะพวกเขาคืออนาคตของเรา

Print
The Rarest Christmas Gift
WWF
เกริกเกียรติ ฉันทกิจนุกูล, อาร์ตไดเรกเตอร์
วชิรา พาชีครีพาพล, ก๊อปปี้ไรเตอร์
The Leo Burnett Group Thailand

วชิรา : บรีฟจาก WWF คืออยากขายสินค้าชื่อ adoption pack คือคุณจ่ายเงินให้กับ WWF แล้วเขาก็เอาเงินที่ได้จากคุณมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์ป่า ในเว็บคุณเลือกได้ว่าจะบริจาคช่วยเหลือเสือดาว ช้าง หรือสัตว์ป่าตัวอื่น WWF พยายามบอกเราว่าคุณคือผู้ดูแลสัตว์เหล่านี้ ส่วนส่ิงที่คนจะได้รับหลังจากบริจาคจะเป็นแพ็กเกจสินค้าที่มีลวดลายจากสัตว์ตัวนั้น เช่น ถ้าคุณดูแลเสือดาวก็จะมีแฟ้มเสือดาวมาให้

WWF อยากให้คนที่ซื้อแพ็กเหล่านี้คือ พ่อแม่ของวัยรุ่นยุคมิลเลนเนียล และต้องการให้ซื้อในวันคริสต์มาสด้วยเพราะเป็นวันที่มีเปอร์เซ็นต์การซื้อของให้กันสูง ปกติพ่อแม่จะซื้อ เพลย์สเตชั่น ไอโฟน เขาอยากให้พ่อแม่ซื้อ adoption pack แทนการให้ของขวัญปกติ อยากให้มันน่าซื้อและมีความหมาย

ในแผ่นกระดาษบรีฟบอกเรื่องยิบย่อยหลายอย่าง เช่น พ่อแม่ชอบซื้อเกม ของแพง ของแบรนด์เนมให้ลูก มันฟุ่มเฟือย เราอยากให้บรีฟของ adoption pack แพง คือมันพูดหลายอย่างมาก เราต้องรวบว่าเขาต้องการเท่าไหร่ ต้องการเท่าไหน มันจะไม่ใช่โจทย์ที่ simple ขนาดนั้น

เกริกเกียรติ : โจทย์มันหลายชั้นมาก อินไซต์ก็เป็นเรื่องสำคัญ

วชิรา : เราไปพูดมุมที่ว่า ของชุดนี้พิเศษแน่นอน เพราะสัตว์ที่คุณจะ adopt มีจำนวนจำกัด มันเหลือแค่สายพันธุ์ละไม่กี่ตัวในโลก เราก็ทำภาพที่เป็นพวกสัตว์หายาก มีโบว์ผูกตรงนี้แล้วก็เขียนข้อความว่า The Rarest Gift for Your Beloved One

เกริกเกียรติ : ความจริงงานมันพยายามเปลี่ยนทัศนคติของพ่อแม่ ไม่อยากให้เขามองว่าถ้าซื้อแพ็กพวกนี้ลูกจะไม่ดีใจ เราบอกว่าของที่เขาจะซื้อให้ ไม่ใช่ของธรรมดา คนให้ก็จะภูมิใจกับการให้ คนรับก็จะได้ดีใจ แล้วเขาก็ได้เซฟสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ด้วย

วชิรา : ปัญหาคือเราพยายามตอบโจทย์ครบทุกข้อเกินไป คือพอเราไปดูการแข่งรอบแรกก็จะรู้แล้วว่าทางที่เวทีต้องการคืองานที่มันเปรี้ยวขึ้นมาเลย ไม่ได้ต้องการงานที่ตอบถูกหมด ตอนเขาโชว์ผลงานให้ดู เราพบว่ามีทีมที่ไอเดียชนกับเราประมาณ 4-5 ทีม เหมือนจะการันตีเลยว่างานนี้น่าจะร่วง (หัวเราะ) จาก 80 ทีม คือชนแค่ 1-2 ยังไงก็ร่วง เขาจะไม่ให้งานที่ซ้ำได้ผ่านอยู่แล้ว ทีนี้ก็เหลือแค่ว่าของใครจะไม่ซ้ำ

งานที่หนึ่งปีนี้ชนะขาดมาก เป็นคู่จากรัสเซีย เขาใช้ก๊อปปี้และภาพแบบคนที่เข้าใจวัฒนธรรมการให้ช่วงคริตส์มาส เป็นคำพูดที่พ่อแม่จะพูด การให้ของขวัญเขาจะวางไว้ใต้ต้นคริสต์มาส ในผลงานใช้ภาพมุมท็อปของป่าสน เพราะต้นสนเป็นต้นที่ใช้ตกแต่งในบ้าน แล้วเขาก็เขียนก๊อปปี้ใหญ่ๆ พาดตรงกลาง เหมือนพูดกับลูกชื่อแอนนาว่า “แอนนา ของขวัญของลูกอยู่ใต้ต้นคริตส์มาสต้นนี้แล้ว”

Winner
Gold
Anna, Your Gift is Under the Christmas Tree
Russian Federation
Pavel Kostikov, designer
Maria Kulchak,  junior copywriter
SOLL 

Silver
WTF
Ukraine
Illia Anufriienko, art director / BANDA AGENCY
Kateryna Anufriienko, copywriter / R AGENCY

Digital
Keep It Open
WWF
วลัญช์ เจริญสมบัติอมร, อาร์ตไดเรกเตอร์
ศุภกิตติ์ ศุขโรจน์, ก๊อปปี้ไรเตอร์
Rabbit Digital Group

วลัญช์ : การประกวดหมวด Digital จะมีการบรีฟก่อน จากนั้นก็คิดงาน ส่งงานภายใน 24 ชั่วโมง พอส่งเสร็จ เช้าวันต่อมาจะมีตารางมาให้ว่าประเทศนี้พรีเซนต์ตอนไหน พอพรีเซนต์เสร็จครบทุกประเทศ เขาก็จะประกาศ Shortlist 10 ทีมสุดท้าย เย็นวันนั้นก็พรีเซนต์อีกรอบหนึ่ง ที่ต้องทำแบบนี้เพราะทีมที่มาแข่งมีเยอะมาก เป็นหมวดที่ต้องพรีเซนต์งาน เขาเลยแบ่งกลุ่มกรรมการเป็น 2 ห้อง พรีเซนต์ห้องละ 30 ประเทศ จากนั้น 2 ห้องก็จะเลือกงานท็อปของตัวเองมาชนกัน สู้กันจนเหลือ 10 ทีม แล้ว 10 ทีมสุดท้ายก็ต้องพรีเซนต์อีกรอบเพื่อให้กรรมการทั้ง 2 ห้องได้ฟังอีกรอบหนึ่ง แล้วก็จะเลือกหนึ่ง สอง สาม มา

ลูกค้าคือ WWF คนเดียวกับวินและกายเลย แต่คนละโจทย์ โจทย์คืออยากให้คนรุ่นใหม่มาปกป้องโลกด้วยการสมัครสมาชิกเพื่อบริจาคเงินรายเดือน กลุ่มเป้าหมายคือคนรุ่นมิลเลนเนียล

พอกลับมาคิดงานกันจริงๆ เราพบว่าขนาดตัวเราเองยังไม่จ่ายสมาชิกรายเดือนเลยว่ะ Netflix เราว่าแพง อันนี้แพงกว่าอีก ทำไมเราต้องจ่ายให้โลกทุกเดือนเท่านี้วะ นั่นเป็นปัญหาหนักที่สุดของเรา ถ้าคิดงานให้คนแคร์โลกมันทำได้เยอะ ไม่ยาก แต่ทำอย่างไรให้คนแคร์พอที่จะควักเงินตัวเองออกมาทุกเดือน มันคือ commitment drive เป็นจุดที่เราร้องไห้กันจนถึงเช้า

เรามองว่าคนที่คุณจะคุยด้วยแม่งไม่แคร์โลกหรอก เพราะถ้าแคร์เขาสมัครไปแล้ว ไม่ต้องมาทำ communication หรอก เราก็เลยบอกว่า ใช่ คนรุ่นใหม่ไม่แคร์โลกทั้งโลก แต่คนพวกนี้แคร์โลกในเชิงสถานที่ โลกคือที่เที่ยว ไม่ใช่หมีแพนด้า หมีขั้วโลกเหนือ โลกที่มีแสงเหนือให้ดู อันนี้เขาแคร์ กูอยากเห็น อยากไปก่อนตาย

ในโลกโซเชียลฯ ทุกอย่างดี โลกดี ชีวิตดี โลกสวยของเราคือโลกที่ได้ไปเที่ยว ทำยังไงไม่ให้โลกสวยของเราหายไป ไอเดียเราก็เลยกลายเป็นคำว่า keep it open คือทำให้เห็นสถานที่ที่เราอยากไปมีเวลาปิด เหมือนสวนสนุกหรือร้านที่มี opening hour อย่างแสงเหนือเราก็บอกว่ามันไม่ได้เปิดตลอดไปนะโว้ย อีก 10 ปีเราจะไม่เห็นแสงเหนือแล้วนะ ซึ่งตัวเลขพวกนี้เป็นข้อมูลจริงที่ WWF มี

เราทำเว็บไซต์ขึ้นมาหนึ่งเว็บ คนสามารถใส่สถานที่ที่เขาฝันจะไปหรือที่เคยไปแล้ว อัพโหลดรูปภาพ สมมติเราอยากไปมัลดีฟส์ เราก็อัพโหลดรูปมัลดีฟส์เข้าไป ระบบหลังบ้านจะ generate ข้อมูล คำนวณปริมาณสมาชิกที่มีอยู่ ณ วันนี้กับข้อมูลปัญหาของสถานที่นั้นๆ แล้วแสดงผลข้อมูลออกมาว่าด้วยเงินสนับสนุนเท่าที่มีจะสามารถรักษาที่นี่ให้เปิดอยู่ได้ถึงแค่ปีนี้เองนะ ถ้ามีสมาชิกเยอะมันก็จะเปิดได้นานขึ้น เงินจากพวกเราที่ส่งให้ WWF จะคอยเข้าไปช่วยเหลือได้เรื่อยๆ เราไม่ได้บอกว่าจะมีอะไรหายไป เราแค่สามารถดูแลให้มันเปิดได้นานขึ้นด้วยปริมาณสมาชิกจากพวกเราทุกคน

ไอเดียนี้ apply ได้กับอะไรหลายๆ อย่าง เช่น สายการบินแอร์เอเชียสามารถใช้ข้อมูลมาทำโปรโมชั่น ตั๋วเครื่องบินจากกรุงเทพฯ – มัลดีฟส์ ราคาพิเศษ ดึงดูดให้คนรีบมาซื้อเพราะมันจะปิดวันนี้ สถานที่ท่องเที่ยวแบรนด์ tourist agency ใช้ข้อมูลตรงนี้เพื่อโปรโมตได้หมด ช่วยให้สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั่วโลกเปิดได้นานขึ้นด้วย ไอเดียเราเป็น open platform อยากให้ทุกคนเข้ามาร่วมมือแล้วเป็นพาร์ตเนอร์กันได้ มากกว่าที่จะบอกว่าไอเดียน่าจะเกิดนะ ถ้าเราเอาคนนี้มาช่วย

ศุภกิตติ์ : ฝั่งก๊อปปี้ฯ เราพยายามเขียน แต่ด้วยเวลาจำกัด ตอนคิดเราเขียนด้วยภาษาไทย แล้วค่อยแปลเป็นภาษาอังกฤษ คือมันเล่าไอเดียได้แต่ก๊อปปี้ได้ไม่สมูท โชคดีที่เขามีจังหวะให้เราพรีเซนต์ แต่ถ้าเขาไม่ให้ก็ตายไปแล้ว

ผมโทรบอกพ่อว่าคืนนี้ช่วยบนให้หน่อยฮะ (หัวเราะ) รอบที่แล้วก็บน รอบนี้บนเท่าตัวเลย ไข่ร้อยฟอง มีหัวหมูด้วย ผมว่าโชคดีที่ได้พรีเซนต์ เลยได้เข้ารอบ Shortlist 10 ทีมสุดท้ายจากทั่วโลก

วลัญช์ : ตอนที่ประกาศผลอันดับหนึ่ง สอง และสาม เราไม่ได้ก็เดินหน้าซึมออกไป มีฝรั่งน่ารัก 2 คนเดินตามมา เขาแนะนำตัวว่าเป็นลูกค้า บอกว่าเสียใจมากที่ตัวเองไม่สิทธิในการตัดสินไอเดีย (หมวดนี้ให้กรรมการเป็นผู้ตัดสิน) แต่เขาชอบงานเรามาก อยากจะเอาไป apply เลย แต่ต้องเอากลับไปประชุมกับออฟฟิศใหญ่ก่อน คือถ้า a day จะเล่าเรื่องนี้ ช่วยใส่ไปว่าพี่หนึ่ง (อัศวิน พานิชวัฒนา จาก GreyNJ) และพี่ไมค์ (วีรดิษ วิญญรัตน์ จาก TBWA\Thailand) ยืนอยู่ด้วย เรามีพยาน 2 คนว่าเขาพูดจริง (หัวเราะ)

พี่หนึ่งบอกว่า งานมึงดี ลูกค้าวิ่งมาชมขนาดนี้ แต่มันไม่ใช่งานเฮดไลน์ พูดง่ายๆ คือเป็นพาดหัวข่าวไม่ได้ งานที่ชนะเป็นพาดหัวข่าวได้ เล่าคร่าวๆ คือเปิดบอร์ดมาปุ๊บ ชื่องานเขียนว่าให้คนที่ทำโลกพังเป็นคนจ่าย เขาให้ลูกส่งใบเสร็จค่าสมัครสมาชิก WWF ไปให้พ่อแม่ เพราะผู้ใหญ่เป็นคนทำให้โลกพัง พ่อแม่ก็ควรเป็นคนจ่าย

Winner
Gold
Denmark
Pay Up, Parents
WWF
Christoffer Fejerskov Boas, creative
Klara Vilshammer, creative
ROBERT BOISEN & LIKEMINDED

Silver
Norway
Make Them Pay
WWF
Marcus Hassel, art director
Torkel Skjolden, copywriter
HAUSMANN

 

Bronze
Philippines
Buy Back Our Future
WWF
Lance Christoper Francisco, art director
Zachary Peter Lim, copywriter
JWT

AUTHOR