“สมัยฉันนะ ลำบากกว่านี้อีก” ฮาวทูรับมือกับเหล่ากนแด (คนแก่ช่างสอน) แบบคนเกาหลีรุ่นใหม่

อย่างที่หลายคนรู้กันว่าในสังคมเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับระบบอาวุโสและตำแหน่งทางสังคมมากถึงขั้นส่งผลต่อระดับภาษาที่ใช้ จึงน่าสนใจที่คำว่า ‘กนแด’ (꼰대 : kkondae) ซึ่งใช้วิพากษ์วิจารณ์คนที่อาวุโสกว่า กลับกลายเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ของเกาหลีใต้

หากใครที่นึกไม่ออกว่ามนุษย์กนแดคือคนประเภทไหน ให้ลองนึกภาพคนรุ่นเก่าที่มีคำพูดติดปากว่า ‘ในสมัยฉันนะ…’ อย่างในฉากหนึ่งของซีรีส์เรื่อง Record of Youth หัวหน้าคนเก่าของอันจองฮา (แสดงโดย พัคโซดัม) ก็พูดว่า “ในสมัยฉันนะ ถ้าผู้ใหญ่พูด ลูกน้องต้องตอบว่า รับทราบครับ / ค่ะ” 

แม้ในปัจจุบันคนเกาหลีจะใช้คำว่ากนแดเพื่อเรียกคนหัวโบราณ ซึ่งมักจะยัดเยียดแนวความคิดของตัวเองใส่คนอื่น แต่เดิมทีคำว่ากนแดนั้นเคยมีความหมายว่าผู้สูงวัยหรืออาจารย์ กระทั่งช่วงปี 2012 เป็นต้นมาที่หนังสือพิมพ์นิยมใช้คำนี้รวมกับคำว่า ‘มีความเป็น…’ หรือ ‘มีลักษณะเป็น…’ จึงทำให้เกิดความหมายที่ส่อไปในทางคนแก่หัวโบราณ

และในช่วง 2-3 ปีมานี้ ความหมายใหม่ของกนแดก็เริ่มถูกใช้อย่างแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ แถมยังถูกพลิกแพลงกลายเป็นประโยคสแลงสุดฮิต

จากคำว่า ‘ในสมัยฉันนะ…’ ซึ่งในภาษาเกาหลีจะพูดว่า ‘นาเตนึนมารียา (나 때는 말이야)’ คนเกาหลีก็ได้นำมาพูดล้อเลียนกันเป็นคำใหม่ โดยเปลี่ยนแค่คำหน้าสุดเป็น ‘ลาเต้นึนมารียา (라떼는 말이야 : latte is horse.)’ มีความหมายเพี้ยนเป็น ‘(กาแฟ)ลาเต้คือม้า’ เพราะคำว่า มัล (말) นั้นนอกจากจะแปลว่าคำพูดแล้ว ยังแปลว่าม้าได้อีกด้วย

อย่างในเรื่อง Record of Youth อันจองฮาก็ได้พูดล้อเลียนว่า ‘ลาเต้คือม้า’ ก่อนจะต่อด้วยประโยคที่ว่า “ถ้ามีคนพูดคำนี้ขึ้นมาแสดงว่าเขาต้องการให้คุณฟังเงียบๆ อย่างเดียว”

ความนิยมในการล้อเลียนวลี ‘สมัยฉันนะ’ ให้กลายเป็น ‘ลาเต้คือม้า’ นั้นสามารถยืนยันได้จากการที่ประโยคนี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ไม่เพียงแต่ในบทซีรีส์ แต่ยังครอบคลุมไปถึงวงการโฆษณาและการออกแบบผลิตภัณฑ์

ในโฆษณาประกันชีวิตของ Samsung Life (เผยแพร่เมื่อปี 2019) มีฉากที่พูดว่า ‘ลาเต้คือม้า’ สอดแทรกเนื้อหาที่ว่าด้วยความแตกต่างของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่พร้อมทิ้งท้ายว่า “ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว ประกันชีวิตก็มีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน” 

นอกจากนี้ในปี 2019 ยังมีการจัดจำหน่ายขนมรสลาเต้ที่ชื่อว่า ‘ลาเต้คือม้า’ โดยภาพประกอบบนซองเป็นชายใส่สูทต่างวัยสองคนกำลังสนทนากัน

กนแด

แต่ถึงอย่างนั้น คนที่มีความเป็นกนแดก็ไม่จำเป็นต้องอายุ 50-60 ปีเสมอไป 

มีคนในช่วงวัย 30-40 ปีอีกหลายคนที่มีพฤติกรรมคล้ายมนุษย์กนแด อ้างอิงจากคำบอกเล่าของพนักงานที่มีหัวหน้าอยู่ในวัย 30 ปี เขาถูกหัวหน้าบังคับให้อ่านหนังสือเพิ่มเติมและต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนอกเวลาทำงาน ถึงจะมีสถานการณ์โควิด-19 เขาก็ยังถูกบังคับให้มาทำงานที่บริษัทแทนที่จะสามารถทำงานที่บ้านได้ ทุกครั้งที่มีการประชุมก็จะถามว่าได้อ่านหนังสือที่เขาแนะนำไหม และมักจะยืนกรานความคิดเห็นของตัวเอง เวลาที่พูดแสดงความคิดเห็นแย้งหัวหน้าไป เขาไม่ได้แสดงอาการโกรธ แต่กลับหัวเราะและทำให้รู้สึกกดดัน

ที่ตลกร้ายคือหัวหน้าจะบอกว่าตัวเองไม่ใช่กนแด ทั้งๆ ที่สิ่งที่พนักงานรู้สึกคือหัวหน้าเป็นกนแดมากกว่าคนกนแดวัย 50-60 ปีเสียอีก

ผู้เชี่ยวชาญด้านฝ่ายบุคคลมองเรื่องนี้ว่า ที่จริงแล้วคนรุ่นใหม่ก็มีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง แต่อาจเป็นเพราะว่าพวกเขาเชื่อว่าสุดท้ายแล้วยังไงองค์กรก็จะไม่ยอมรับสิ่งใหม่ๆ เขาจึงเลือกที่จะทำตามวิถีของคนรุ่นเก่า เขามองว่าค่านิยมใหม่ในองค์กรคงไม่สามารถเอาชนะค่านิยมของคนรุ่นเก่าได้

แต่ใช่ว่ากนแดจะเป็นใหญ่ในสังคมเกาหลีอยู่ฝ่ายเดียว เพราะก็ยังมีคนประเภทที่ต่อต้านกนแดอยู่ไม่น้อย 

จากแบบสำรวจคนจำนวน 3,587 คน ในแพลตฟอร์มหางานที่ชื่อว่า Saramin พบว่ามีผู้ที่เคยเจอหรือรู้จักกับคนที่มีลักษณะต่อต้านกนแดอยู่ราว 40 เปอร์เซ็นต์ หากมุมมองที่มีต่อคนที่ต่อต้านกนแดนั้นก็ดูจะไม่ใช่ความหมายเชิงบวกเท่าไหร่นัก เพราะผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่คิดว่าสาเหตุที่คนเหล่านั้นมีพฤติกรรมต่อต้านกนแดเพราะเชื่อมั่นว่าความคิดของคนหนุ่มสาวต้องถูกเสมอ ขณะที่ความคิดของคนรุ่นเก่านั้นล้าสมัยไปแล้ว หรือไม่ก็เคยเจอประสบการณ์ที่เลวร้ายจากกนแดมาก่อนจึงทำให้เกิดพฤติกรรมต่อต้าน

เราอาจจะเห็นนางเอกหัวขบถในซีรีส์เกาหลีบางเรื่อง เช่น โอมีจู (รับบทโดย ชินเซคยอง) จากเรื่อง Run On (2020) ที่แค่พูดว่าอยากกลับบ้านต่อหน้าอาจารย์แต่กลับทำให้เธอโดนว่าอย่างแรง

“นักแปลหญิงสมัยนี้ต้องดึงสติกันหน่อยนะ เห็นว่าตัวเองหน้าตาดีหน่อยก็มาทำแบบนี้ ต้องรู้จักพอดีๆ เข้าใจไหม” ประโยคนั้นทำให้โอมีจูสวนกลับทันที 

“ฉันหน้าตาดีแล้วเกี่ยวอะไรกับการแปลงาน หนังที่อาจารย์ดูมีหน้านักแปลลอยมาพร้อมคำบรรยายเหรอคะ ฉันทำอะไรให้ถึงได้ดูถูกว่าเป็นผู้หญิงแบบนี้”

ส่วนหมอยุนฮเยจิน (รับบทโดย ชินมินอา) จากเรื่อง Hometown Cha-Cha-Cha ที่กำลังออกอากาศอยู่ในช่วงนี้ ก็เจอผู้อำนวยการตำหนิเพียงเพราะเธอรักษาคนไข้ตามความเหมาะสม ไม่ขูดรีดเงินจากคนไข้เพื่อหารายได้ให้กับคลินิก แถมเมื่อเธอชี้แจงกลับก็ยังถูกตอกกลับว่า

“น้ำหมึกบนใบอนุญาตยังไม่ทันจะแห้ง กล้าดียังไงถึงมาจองหองใส่ฉัน” เมื่อ ผอ.ว่าอย่างนั้น ฮเยจินจึงตัดสินใจขอลาขาดกับ ผอ.จนทำเอาทุกคนอึ้งกันไปทั้งโรงพยาบาล

ใครที่เคยเรียนภาษาเกาหลีหรือดูซีรีส์บ่อยๆ น่าจะรู้ดีว่าเกาหลีคือประเทศที่ให้ความสำคัญกับระบบอาวุโสและตำแหน่งทางสังคมอย่างมาก สิ่งนี้สะท้อนออกมาผ่านระดับการใช้ภาษาที่ต้องคำนึงถึงคู่สนทนาเพื่อคำนึงถึงระดับคำพูดที่เหมาะสม ตลอดจนการผันรูปประโยคให้เป็นระดับสุภาพ ทางการ หรือรูปยกย่อง เพื่อแสดงความเคารพในฐานะผู้น้อย

แต่เมื่อมีการใช้คำนี้ในทางความหมายลบ อีกทั้งยังมีคนที่ต่อต้านกนแด จึงทำให้เห็นว่าคนเกาหลีรุ่นใหม่จำนวนมากตั้งแต่ยุคมิลเลนเนียลส์เป็นต้นไป เริ่มมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับแนวความคิดของคนรุ่นเก่าอย่างชัดเจน

อีกหนึ่งฉากที่น่าสนใจจากซีรีส์เรื่อง Hometown Cha-Cha-Cha คือตอนที่เด็กหญิงวัยรุ่นอย่างโอจูรีพูดว่า “กาแฟพ่อรสชาติห่วยแตกสุดๆ” ทำให้หัวหน้าฮง (รับบทโดย คิมซอนโฮ) อดไม่ได้ที่จะสั่งสอน 

“วัยแตกสาวเหรอ อย่าใจร้ายกับพ่อนักเลย เดี๋ยวจะเสียใจทีหลังนะ” เขาว่า และนั่นทำให้จูรีสวนกลับทันที

“อามีกลิ่นเหมือนกนแด (มนุษย์ลุง) เหม็นมาก” 

“ที่ฉันพูดแบบนี้เพราะฉันรู้เกี่ยวกับโลกใบนี้มากกว่าเธอแค่เพียงขี้มดเท่านั้นเอง และพูดในฐานะผู้ใหญ่ ไม่ใช่มนุษย์ลุง” จากบทสนทนานี้ อาจมองได้ว่าจูรีกับหัวหน้าฮงเป็นตัวแทนของคนต่างวัย ต่างความคิด ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม ขอแค่ให้รับฟังซึ่งกันและกันมากขึ้น

กนแด

เรื่องของกนแดไม่ใช่เรื่องเล็ก ยืนยันได้จากการเคลื่อนไหวของหน่วยงานรัฐบาลเมื่อปีที่ผ่านมา (2020) กระทรวงมหาดไทยและความปลอดภัย (행정안전부 : Ministry of the Interior and Safety) ของเกาหลีใต้ ได้ทำหนังสือที่ให้ประชาชนทุกคนสามารถดาวน์โหลดอ่านได้ฟรี โดยใช้ชื่อหนังสือว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเกิดปี 1990 เข้ามาทำงานแล้ว เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อให้เข้าใจความคิดที่แท้จริงของคนรุ่นใหม่ซึ่งเกิดในช่วงปี 1980-2000 และสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่

ในหนังสือนี้มีทั้งบทสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐที่เกิดปี 1990 และยังมีผลสำรวจเจ้าหน้าที่รัฐรุ่นซีเนียร์ (เกิดปี 1960-1970) กับเจ้าหน้าที่รัฐรุ่นจูเนียร์ (เกิดปี 1980-2000) ราว 3,000 คน 

จากผลสำรวจเจ้าหน้าที่รัฐรุ่นจูเนียร์พบว่า กว่า 89.2 เปอร์เซ็นต์ต้องพบเจอกับคนลักษณะกนแดในที่ทำงาน ซึ่งเอาแต่ยืนกรานความคิดเห็นของตัวเองหรือชอบใช้อำนาจ โดยประเภทกนแดที่พบเจอมากที่สุดคือคนที่ยึดแต่ประสบการณ์ของตัวเองในอดีตอย่างเดียว และชอบพูดว่า ‘จะบอกให้นะว่าในสมัยของฉันน่ะ…’ ขณะที่ประเภทกนแดที่เหล่าเจ้าหน้าที่รัฐรุ่นจูเนียร์ไม่ชอบที่สุดก็คือคนที่ชอบใช้ให้ทำธุระส่วนตัวของตัวเองที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องงาน 

วิธีรับมือกับรุ่นพี่หรือหัวหน้าที่เป็นกนแดคือ หนึ่ง–รักษาระยะห่างเอาไว้ สอง–ฟังแบบเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา และสาม–พยายามคุยกันแต่เรื่องงาน ไม่ให้ความสนิทสนมส่วนตัว

แต่เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่รัฐรุ่นซีเนียร์ว่า ‘คิดว่าตัวเองเป็นกนแดหรือไม่’ ปรากฏว่ามีคนที่ตอบว่า ‘กลางๆ’ เป็นจำนวนมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มที่ตอบว่า ‘ไม่ใช่’ ส่วนที่ตอบว่า ‘ใช่’ นั้นมีจำนวนน้อยที่สุด 

และเมื่อถามต่อไปว่า ‘วิธีปฏิบัติเพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นกนแดคืออะไร’ พวกเขาส่วนใหญ่ตอบว่า ‘ไม่เข้าไปยุ่งเรื่องส่วนตัวของคนอื่น’ ขณะที่คำตอบอันดับที่สองคือ ‘ต้องเข้าใจว่าคนอื่นก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกับตัวเองได้ และไม่ควรบังคับให้คิดเหมือนกันทั้งหมด’ ส่วนอันดับที่สามคือ ‘ลดจำนวนคำพูดของตัวเองลง แต่รับฟังคู่สนทนาให้มากขึ้น’

กนแด
หนังสือ มีเจ้าหน้าที่รัฐเกิดปี 1990 เข้ามาทำงานแล้ว

นอกจากเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์กนแดแล้ว วัฒนธรรม ‘ฮเวชิก’ หรือการกินข้าวกับคนในที่ทำงานก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าเห็นต่างกัน

เจ้าหน้าที่รัฐรุ่นจูเนียร์ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นการรุกล้ำเวลาส่วนตัวของพนักงาน และรู้สึกเหมือนเวลางานยังไม่จบจนกว่าจะแยกกับคนในที่ทำงาน แต่เจ้าหน้าที่รัฐรุ่นซีเนียร์ส่วนใหญ่เห็นว่าเวลาที่กินข้าวกับคนในที่ทำงานจะช่วยให้มีจังหวะที่ได้พูดในเรื่องที่ไม่สามารถพูดในที่ทำงานได้ และช่วยทำให้เกิดความสามัคคีกันในองค์กร

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐรุ่นจูเนียร์อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงในองค์กรคือ อยากให้รุ่นพี่และหัวหน้าปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานจากแบบแอนะล็อกมาเป็นแบบดิจิทัลมากขึ้น ส่วนวัฒนธรรมที่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือพิธีการต่างๆ ที่มีมากเกินไป

จากการออกหนังสือดังกล่าว สะท้อนให้เห็นความใส่ใจของหน่วยงานรัฐที่พยายามแก้ไขปัญหาระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ในองค์กร นับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทำให้ขนบความคิดเกี่ยวกับการเคารพผู้ใหญ่นั้นเริ่มมีการปรับเปลี่ยนเป็นการเปิดรับความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่มากขึ้น ไม่ใช่แค่รอให้พวกเขาปรับตัวเข้ากับความเคยชินขององค์กรอย่างเดียว


อ้างอิง

ajunews.com

brunch.co.kr

kukinews.com

mk.co.kr

mois.go.kr

youtube.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JARB

นักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ JARB ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าสไตล์ตัวเองจริงๆ คืออะไร แต่ก็ยังรู้สึกสนุกกับการทำงานหลากหลายสไตล์ โดยหวังว่าสักวันจะเจอสไตล์ที่ชอบจริงๆ สักที