ก่อนปลายปีไม่นาน ด้วยความอยากสนับสนุนร้านหนังสือในดวงใจที่เชียงใหม่ให้ผ่านพ้นช่วงโควิดไปได้ เมื่อได้เงินจากโปรเจกต์ก็ตั้งใจแบ่งส่วนหนึ่งมาซื้อหนังสือโดยเฉพาะ ตอนกำลังไล่สายตาหาเล่มที่เข้าตา ก็มาพบเล่มที่ชื่อ Kitchen Table Wisdom ของ Rachel Naomi Remen
ก่อนเรียนปริญญาโท ฉันแทบไม่อ่านหนังสือภาษาอังกฤษ แต่ด้วยความที่ตำราในศาสตร์ที่เรียนไม่ได้มีแปลเป็นภาษาไทยไว้มากมายขนาดนั้น ก็ต้องกัดฟันอ่านกันไป เข้าใจไม่เข้าใจบ้างก็เอามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในห้อง แต่โชคดีอย่างหนึ่งที่ตำราจิตวิทยาที่ได้อ่านถูกเขียนขึ้นอย่างสละสลวย อ่านรู้ว่าคนเขียนใช้ใจในการเรียนรู้ชีวิตและถ่ายทอดออกมา หลายครั้งฉันมักเจอประโยคภาษาอังกฤษที่รู้สึกกินใจ รู้สึกเหมือนได้อ่านงานเขียนชั้นดีชิ้นหนึ่ง และทำให้รู้ว่าประสบการณ์ทางชีวิตจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก หรือจิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่มนุษย์ทั้งโลกมีร่วมกัน แม้เราสื่อสารคนละภาษา
ผลพลอยได้จากการเรียนคือฉันได้พบหนังสืออีกหลายเล่ม และได้เจอคนอีกหลายคน (ผ่านตัวหนังสือของเขา) ที่พยายามบอกเล่าและสื่อสารวิธีที่เราจะอยู่กับชีวิตอย่างเข้าใจธรรมชาติของมันมากขึ้น
Kitchen Table Wisdom เป็นเล่มที่เคยได้ยินชื่อมานาน (ฉบับพิมพ์ครั้งแรกตีพิมพ์ตอนฉันอายุ 6 ขวบเท่านั้น) พอมาตั้งใจอ่านถึงได้รู้ว่าคนเขียนเป็นทั้งหมอ อาจารย์หมอ นักบำบัด (therapist) และเป็นผู้ป่วยที่รับมือกับโรคเรื้อรังมาหลายปี หนังสือ Kitchen Table Wisdom เป็นเรื่องราวประสบการณ์ที่เธออยากส่งต่อแก่คนอื่นๆ เหมือนเรื่องเล่าอุ่นๆ บนโต๊ะอาหาร และทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น
Kitchen Table Wisdom 1
ส่วนแรกของเล่ม ราเชลตั้งต้นเล่าถึง ‘LIFE FORCE’ หรือพลังชีวิต และมีบทย่อยหนึ่งชื่อ A Front-Row Seat หรือ เก้าอี้ผู้ชมแถวหน้า
ผู้ชมแถวหน้าที่ว่าไม่ใช่ผู้ชมการแสดงมหรสพอะไรที่น่าดูน่ามอง แต่หมายถึงการเป็นผู้สังเกตการณ์ความเจ็บไข้ได้ป่วยของตัวเอง ด้วยโรคเรื้อรังเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่เป็นอยู่เดิม เธอผ่านการผ่าตัดครั้งใหญ่มา 7 ครั้ง และบางครั้งเธอก็ยังรู้สึกกังขาในศักยภาพการเยียวยาตนเองของร่างกาย
‘มันยากที่จะเชื่อในสิ่งที่คุณมองไม่เห็น’ เธอจั่วหัวแบบนี้
ครั้งที่เธอเล่าถึงในบทนี้เป็นครั้งที่เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างปัจจุบันทันด่วน จากอาการเยื่อบุช่องท้องอักเสบและภาวะติดเชื้อที่ตามมาจากการผ่าตัดหน้าท้องไม่กี่วันก่อน เนื่องจากเวลามีจำกัด เพื่อนหมอที่ดูแลการผ่าตัดจึงบอกเธอเพียงสั้นๆ ว่า เนื่องจากมีการติดเชื้อ การรักษาแผลจะต้องเป็นไปตามแบบ ‘primary intention’ หมายความว่า แผลนี้จะไม่ถูกเย็บปิดแผล แต่ปล่อยให้ร่างกายเยียวยาและสมานปิดแผลด้วยตัวเอง
ถึงจะเป็นหมอ แต่พอฟื้นขึ้นมาเห็นแผลตัวเองเข้าจังๆ ราเชลก็อยู่ในอาการช็อก เธอเพิ่งได้สติตอนนั้นว่า primary intention ที่เพื่อนบอกหมายความว่าอะไร แต่จากภาพที่เห็น แผลที่หน้าท้องนั้นใหญ่มากขนาดที่รู้สึกว่าเธออาจถึงตายได้ เธอจำได้ว่าความรู้สึกที่เธอมีคือ ‘There is no way that such a thing can heal’ เป็นไปไม่ได้เลยที่แผลแบบนี้มันจะดีขึ้นได้ ราเชลรู้สึกสิ้นหวังมาก แม้พยาบาลจะพูดให้กำลังใจอย่างไร เธอก็ไม่ตอบอะไรทั้งนั้น
‘ไม่มีวันหรอกที่แผลนี้จะหาย’ อ่านแล้วก็จำความได้ว่าฉันเคยรู้สึกแบบนี้ หรือแม้กระทั่ง ‘เชื่อ’ แบบนี้ด้วยซ้ำ

เคยไหมเวลาที่เจอเรื่องหนักๆ ในชีวิตแล้วมันกระแทกเข้าแรงๆ จนเราเหวอะหวะทั้งตัว มันจะมีแวบหนึ่ง หรือหลายๆ แวบ ที่เรารู้สึกว่า ไม่มีทางที่อะไรจะดีขึ้นกว่านี้ได้ รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นรถที่แหกโค้งจนพัง และอาจไม่มีวันกลับมาวิ่งแบบเดิมในเส้นทางเดิมได้อีก
เมื่อก่อนฉันเกิดความรู้สึกแบบนี้บ่อยมาก จนกระทั่งค่อยๆ เรียนรู้และสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในตัวเอง จึงค่อยๆ คลายและวางความเชื่อที่ว่าลงไปได้
หนึ่งปีก่อน ฉันคิดว่าตัวเองดีขึ้นมากแล้วในเรื่องบาดแผลความสัมพันธ์ แต่พอเจอเรื่องมากระตุ้นให้แผลเปิด ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองจะระเบิด ยิ่งตอนเจอจิตแพทย์คนใหม่ครั้งแรกแล้วตัวเองกระวนกระวายและประหม่าอย่างควบคุมลำบาก ทั้งยังเรียบเรียงคำพูดไม่ค่อยดีเพราะข้างในสะเปะสะปะสับสน พอเจอสายตาหมอและคำถามย้ำเมื่อตอบไม่ตรงคำถาม ฉันก็รู้สึกเหมือนตัวเองกลายเป็นคนที่ ‘บกพร่อง’ เริ่มกังขาและไม่มั่นใจว่าจิตใจหรือการรับรู้ของเราจะกลับมาเป็นเหมือนอย่างเดิมได้ไหม
ในความเป็นจริง พอได้รับการดูแลถูกวิธีและปรับจูนกับตัวเองเสียใหม่ เพียงสักเดือนเดียวหลังจากนั้น ฉันก็รับรู้ได้ว่าฉันยังเป็นคนเดิม แม้จังหวะการใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไปบ้าง หลังจากนั้นฉันก็ยังทำงานได้ปกติ ส่วนความสัมพันธ์ที่รู้สึกว่าน่าจะแตกหักในวันนั้น ก็ได้รับการซ่อมแซมทีละเล็กละน้อยจนแข็งแรงขึ้นได้เช่นกันอย่างไม่น่าเชื่อ
แม้กระทั่งร่างกายที่เป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงจากความเครียด หรือมีช่วงเจ็บป่วยจากอาการอื่นๆ เมื่อให้เวลาเขาสักหน่อยและดูแลเขาให้เหมาะสมขึ้น เราก็รับรู้ได้ว่าเขาค่อยๆ ฟื้นฟูขึ้นตามลำดับ และแข็งแรงอย่างน่าทึ่งในบางจังหวะด้วยซ้ำ
ด้วยความที่ฉันโตมาแบบคนไม่ค่อยเชื่อมั่นในตัวเอง พอเหตุการณ์ร้ายๆ ยากๆ ผ่านพ้นไป ไม่ว่าจะหลักสัปดาห์ หลักเดือน หรือหลักหลายปี และได้เห็นกับตาว่าสิ่งต่างๆ ยังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ (ต่อให้เราไม่เชื่อในมันก็ตาม) ฉันก็บ่มเพาะความเชื่อลึกๆ ว่า แม้ตอนนี้อะไรๆ จะยังแย่อยู่ แต่เดี๋ยวมันก็จะผ่านพ้นไปในแบบของมัน
Kitchen Table Wisdom 2
ถึงเราจะยังไม่เชื่อ แต่ ‘ชีวิต’ และ ‘หัวใจ’ จะหาทางไปของมันเสมอ

ด้วยความเชื่อวิถีนี้ ตอนอ่านตำราแล้วเจอแนวคิดพื้นฐานของทฤษฎีบำบัดโดยผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง (Person-centered therapy) ของ Carl Rogers ที่อธิบายไว้ว่า มนุษย์เรามีแนวโน้มที่จะเติบโตไปในทางที่เจริญงอกงามเสมอ ฉันก็เชื่อมั่นในแนวคิดนี้จากก้นบึ้งของใจ
ในภาษาวิชาการ เราเรียกแนวโน้มนี้ว่า Actualizing Tendency ที่โรเจอร์สอธิบายว่าเป็น ‘คุณลักษณะของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด’ ไม่ว่าดอกไม้ พืชพันธุ์ สัตว์ต่างๆ รวมถึงมนุษย์ แม้เรามองไม่เห็นหรือไม่สามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจน แต่ทิศทางภายในตามธรรมชาติที่ทุกชีวิตมุ่งหน้าไป ก็คือทิศทางที่จะเติบโตไปอย่างสร้างสรรค์และเป็นตัวเองอย่างเต็มสมบูรณ์ พลังนี้ถูกเก็บรักษาไว้ลึกถึงระดับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตด้วยซ้ำ ในทุกๆ วินาที ทุกชีวิตกำลังพยายามมีชีวิตอยู่
ฉันอ่านข้อความที่โรเจอร์สเขียนไว้ว่า ‘….we will do well, I believe, to recognize that life is an active process, not a passive one.’ และ ‘Life would not give up, even if it could not flourish’ แล้วเข้าใจความหมายจากประสบการณ์ตัวเองว่า วันหนึ่งเราจะเห็นการไม่ยอมแพ้บางอย่างในตัวเรา ต่อให้สภาพแวดล้อมรอบตัวหรือสิ่งที่เกิดขึ้นจะเลวร้าย หรือแม้ตัวเราจะอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ ฉันสัมผัสถึงพลังนั้นได้ทั้งในมิติร่างกายและจิตใจ ทั้งที่ได้เป็น ‘พยาน’ ในประสบการณ์ตรงของตัวเอง หรือที่ได้เห็นจากคนรอบตัวทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก
เพื่อนสนิทคนหนึ่งของฉันป่วยหนักมากช่วงกลางปี ถึงขั้นโดนปั๊มหัวใจในโรงพยาบาล หลังผ่านช่วงพักฟื้น จากที่แค่เดินไม่กี่ก้าวก็เหนื่อย เมื่อพาเพื่อนเข้าป่าไปสัมผัสธรรมชาติ แรงกายแรงใจของเธอก็เริ่มกลับคืนมา หลังจากนั้นหลายเดือนเพื่อนก็ออกเดินทางได้อีกครั้ง จนกลับมาล้อมวงกินส้มตำเจ้าเดิมด้วยกันได้ ส่วนหัวใจของเพื่อนที่คล้ายจะแหลกละเอียดจากบาดแผลสาหัสในความสัมพันธ์ ผ่านมาร่วมสองปี แม้จะยังมีจุดเว้าแหว่งอยู่บ้าง เธอก็หายใจด้วยความรักตัวเองมากขึ้นในทุกวัน
ฉันยังจำแววตาของเธอตอนเราเจอกันเมื่อหลายปีก่อนได้ มันหม่นหมองและแตกสลายโดยสมบูรณ์ สภาพจิตใจอยู่ในเขตแดนอันตราย ตอนนี้แม้จะยังมีน้ำตา เพื่อนก็กลับมาหัวเราะเสียงดังได้แล้ว
ประสบการณ์บอกฉันว่า ความทุกข์และบาดแผลไม่ได้หายไปไหน มันยังคงอยู่และจะแวะเวียนมาหาตามวาระโอกาส เพราะมันคือธรรมชาติ เป็นธรรมชาติที่การเปราะแตก ฉีกขาด หรือบอบช้ำ จะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะเยียวยามันไม่ได้เลย
ทว่าก่อนจะมองเห็นและเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ เราต้องอดทนที่จะเฝ้าสังเกตมันไปเรื่อยๆ ด้วยตาและใจของเราเอง ด้วยเหตุนี้ ฉันเลยชอบชื่อบทที่ราเชลเลือกใช้คำว่า A Front-Row Seat ที่หมายถึง ‘เก้าอี้ผู้ชมแถวหน้า’ ในการเป็นพยานผู้เฝ้ามองบาดแผลของตัวเองอย่างใกล้ชิด
ยามที่แผลในชีวิตยังเหวอะหวะและหนักหนา เราไม่อยากแม้แต่จะมอง เราสิ้นหวัง ไม่อยากยุ่งกับมัน เราอยากจะปล่อยความเชื่อและความพยายามในตัวเองให้ลอยหายไปเพราะมันเหน็ดเหนื่อยที่จะมีชีวิต
แต่ถ้าเรากล้าหันกลับมามองให้ละเอียดขึ้นอีกนิด ฝึกเรียนรู้ที่จะทำแผลไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป เราจะเห็นว่าแผลนั้นสมานได้ เราจะค่อยๆ สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเองที่เกิดขึ้นทีละน้อย ต่อให้ไม่หายสนิท แผลก็ดีขึ้นจากเมื่อวาน จากเดือนก่อน หรือจากสิบปีก่อน
สำหรับราเชล หลายวันผ่านไปเธอก็พบว่า แม้จะมีแผลใหญ่ที่หน้าท้อง เธอก็ยังมีชีวิตอยู่ เธอคิดว่า ‘บางทีฉันคงไม่ตายจากแผลนี้ แต่ต้องเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่กับมัน’ แล้วจึงรวบรวมความกล้ามองแผลให้เต็มตาอีกครั้ง โดยคาดว่าจะเจอแผลหน้าตาเหมือนสิบวันก่อน
แต่ผิดคาด ปากแผลนั้นแคบลงอย่างชัดเจน
ความเปลี่ยนแปลงต่อจากนั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่สุดท้ายแผลผ่าตัดความยาว 14 นิ้วก็เหลือเพียงรอยแผลเป็นบางๆ กระบวนการนี้เป็นไปตามธรรมชาติอย่างเงียบเชียบด้วยพลังจากร่างกายเธอเอง นี่คือ ‘พลังชีวิต’ ที่เธอรับรู้และได้พิสูจน์ด้วยตาตัวเอง

ฉันคิดว่า กระบวนการเยียวยาในขั้นพื้นฐานที่สุดก็คือการเปิดแผลให้แผลได้หายใจ ถ้าเป็นแผลทางใจ เราก็คอยเอามันออกมาคุยกัน แล้วเราจะได้เห็นการสมานแผลที่ค่อยๆ เกิดขึ้น หากเปรียบเทียบนักบำบัดเป็นคนช่วยทำแผล เราอาจจะช่วยใส่ยาที่เหมาะสมให้ได้ แต่สุดท้ายพลังการเยียวยาตั้งต้นก็มาจากผู้รับบริการอยู่ดี แม้พวกเขาไม่ทันได้นึกถึง
บางครั้งเจ้าตัวอาจไม่ทันเห็นว่าแผลนั้นดีขึ้นแค่ไหนแล้ว เราในฐานะนักบำบัด หรือในฐานะคนใกล้ชิด ก็มีหน้าที่ชวนดูว่า เธอหรือเขาได้ผ่านอะไรมามากมายด้วยตัวเอง
ปีนี้น่าจะเป็นอีกปีที่หนักหน่วงสำหรับหลายคน ฉันก็เช่นกัน
แต่เมื่อมุมมองและความเชื่อที่มีต่อตัวเองเปลี่ยนไป ฉันก็ยังมองเห็นความพยายามที่จะมีชีวิตอยู่ของตัวเองในแต่ละวัน จะติดขัดมากบ้างน้อยบ้างก็ยังผ่านพ้นมาได้จนสิ้นปี หรือแม้จะมีแผลใหม่ แต่บางแผลในอดีตก็ไม่เจ็บไม่ปวดอีกต่อไป
ฉันจึงอยากบอกใครก็ตามที่ผ่านมาอ่านว่า อย่ามองข้ามสิ่งที่ตนเองผ่านพ้นมาได้ หรือหากปัญหาใดยังอยู่ ก็ขอให้มองเห็นพลังการหยัดยืนของตัวเอง
มองให้ชัด และจงเป็นพยานในพลังที่ตนเองมี
สุดท้ายนี้ ขอให้ปีหน้าเป็นปีที่เราต่างมีพลังนะ
อ้างอิง
Rogers, C. R. (1979). The foundations of the person-centered approach. Education, 100(2), 98-107.