ในช่วงหลังล็อกดาวน์ปีที่แล้ว เจ้ย–อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ใช้เวลาว่างในการเดินทางไปตามจังหวัดต่างๆ เลียบน้ำโขง
ในแง่หนึ่ง เจ้ยอธิบายว่าการเดินทางครั้งนั้นเหมือนการหยุดพัก เพราะหลังจากถ่ายภาพยนตร์เรื่องล่าสุดอย่าง Memoria มาอย่างยาวนาน การเดินทางกลับบ้านที่ขอนแก่นและไปเยี่ยมป้าเจน–เจนจิรา พงพัศ วิดเนอร์ นักแสดงคู่บุญที่หนองคายจึงเป็นเหมือนการพักผ่อนไปในตัว
แต่ในอีกแง่ การเดินทางครั้งนั้นก็พาให้เจ้ยไปพบผู้คนและเรื่องราวตลอดริมน้ำโขง บทสนทนากับคนพื้นที่ระหว่างทางทำให้ผู้กำกับคนนี้เริ่มสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อบางอย่าง จุดนั้นเองที่จุดประกายให้เจ้ยอยากบอกเล่าเรื่องราวที่เขาพบเจอมา
และนิทรรศการ A Minor History I ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย นี่เองที่เป็นผลลัพธ์
A Minor History I ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย คือนิทรรศการที่เจ้ยร่วมงานกับมูลนิธิ 100 ต้นสนเพื่อจัดแสดงผลงานที่ 100 ต้นสน แกลลอรี่ โดยแบ่งการแสดงงานเป็น 2 ภาค ภาคแรกจัดแสดงในวันที่ 19 สิงหาคม – 14 พฤศจิกายน 2564 และภาคสองในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 – 27 กุมภาพันธ์ 2565
งานในภาคแรกที่กำลังจัดแสดงอยู่ตอนนี้ เจ้ยนำเสนอด้วยวิดีโอจัดวาง 3 จอ เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวฟิกชั่นดัดแปลงจากประสบการณ์ที่เจ้ยได้รับผ่านภาพเคลื่อนไหว ประกอบกับได้อัคริศ เฉลิมกัลยาณมิตร คนทำเสียงคู่ใจที่มามิกซ์เสียงให้ และกวีอีสานรุ่นใหม่อย่าง เมฆ’ครึ่งฟ้า ที่มาช่วยแต่งเรื่องและพากษ์เสียง ทำให้นิทรรศการมีชีวิตและเรื่องราวมากขึ้นไปอีก
ความดีงามของนิทรรศการและนัยที่ซ่อนอยู่คืออะไร สิ่งนี้เราอยากชวนทุกคนให้ได้ไปลองสัมผัสเอง แต่เบื้องหลังของนิทรรศการนี้ต่างหากที่เป็นที่มาของบทสนทนาต่อไปนี้
ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อยคืออะไร และถ้ามันเล็กจ้อยทำไมเจ้ยถึงให้ความสำคัญ
นี่คือเรื่องราวที่มาของเจ้ยที่ตอบคำถามนี้
แรกเริ่มที่เดินทางเรียบน้ำโขง คุณคาดหวังอะไร
มันผสมกันระหว่างการพักผ่อนและความต้องการสำรวจบางอย่าง เพราะพอถ่ายทำหนังที่โคลัมเบียมายาวนานเราก็อยากพักและสำหรับเรา พอพูดถึงการพักผ่อนภาพความเป็นอีสานมันก็ปรากฏขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกันแรงกระเพื่อมทางการเมืองและความเชื่อในภาคอีสานก็กระตุ้นเราเช่นกัน สุดท้ายพอมันรวมๆ กันเราเลยเลือกออกเดินทาง
พอตั้งต้นแบบนั้น การเดินทางของเราเลยไม่มีกำหนดการหรือวาระมาก เราเปิดรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น โดยใช้ชีวิตปกติ หาโรงแรม หาข้าวกินไปวันๆ ไม่ได้มุ่งหวังว่าต้องการอะไร มันเลยทำให้ได้ซึมซับเรื่องราวในรูปแบบที่ต้องการ ได้เจออะไรที่น่าสนใจโดยที่ไม่ได้คาดคิด
เรื่องราวที่ได้รับมาเป็นยังไง
ในเรื่องแรงกระเพื่อมที่ทำให้เกิดความตื่นรู้ทางการเมืองโดยรวม เราว่าไม่ค่อยเปลี่ยนมาก แต่สิ่งที่เราเห็นได้ชัดคือความเชื่อของคนรุ่นใหม่ในภาคอีสานเปลี่ยนไปจากคนรุ่นก่อนเยอะมากแล้ว ซึ่งถ้าคิดกันจริงๆ ก็อาจไม่ใช่แค่อีสานหรอก เราว่ามันหมายถึงประเทศไทยทั้งหมดเลย
หลักๆ คงเป็นเรื่องความกล้าในการถามคำถามที่คนรุ่นก่อนไม่เคยกล้าถาม มันเห็นได้ชัดเลยว่าพวกเขาไม่เหมือนคนรุ่นก่อนอีกแล้วที่ก้มหน้าเชื่อบางอย่างโดยไม่ตั้งข้อสงสัย
ข้อเท็จจริงตรงนี้ส่งผลยังไงกับคุณ
ที่แน่ๆ เลยคือความหวัง การได้ฟังและได้รับรู้ว่าสิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นมันทำให้ความหวังของเรากลับมา จากที่เคยไม่มีความหวังในพื้นที่ที่เรียกว่าสยามแล้ว แต่พอได้เห็นสิ่งเหล่านี้มันทำให้เราคิดว่าหลายๆ อย่างยังคงเป็นไปได้ในประเทศนี้
เรื่องราวที่ได้ฟังและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคุณกลายเป็นนิทรรศการได้ยังไง
สิ่งที่จุดประกายคงเป็นเหตุการณ์ที่เราไปบังเอิญเจอน้องคนหนึ่งที่จังหวัดมุกดาหาร เขาทำหน้าที่กู้ศพในแม่น้ำโขง เราได้คุยกับเขาจนได้รู้ว่าจนถึงปัจจุบันศพที่เขากู้ขึ้นมาก็ยังไม่มีใครรู้เลยว่าเป็นใคร เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่หายตัวไปหรือเปล่า เหมือนเรื่องราวของน้องเขาเป็นตัวแทนของความคลุมเครือทางการเมืองในประเทศนี้ มันกระทบเราจนทำให้เกิดความอยากเล่า
กระทบยังไง
มันทำให้เราหลงใหล มันตอกย้ำให้เราคิดว่าการอยู่ในประเทศนี้คนจะต้องมีจินตนาการมากๆ เราถูกปลูกฝังให้เป็นแบบนั้นเพราะประเทศเรามีแต่ความไม่ตรงและภาครัฐที่ไม่โปร่งใส มันมีแต่อะไรที่ผิดเพี้ยน ดังนั้นในมุมมองเรา ถ้าเกิดในประเทศไทย วิถีชีวิตจะบังคับให้ทำอะไรที่ไม่ตรงอยู่แล้ว ต้องทำอะไรที่อาศัยจินตนาการตลอด ซึ่งมันก็พอดีกับงานต่างๆ ที่เราทำที่เป็นงานที่ต้องใช้จินตนาการเหมือนกัน เราเลยสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ
เรานำประเด็นนี้มารวมกับอีกหลายอย่างที่สังเกตได้จากการเดินทาง เช่น ความเชื่อในเรื่องพญานาคที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในหมู่คนรุ่นใหม่ การค้นพบโรงหนังเก่าที่กาฬสินธุ์ที่ทำให้เรานึกถึงบรรยากาศในภาพยนตร์สมัยก่อน หรือการได้เจอศิลปินกวีรุ่นใหม่อย่างเมฆ’ ครึ่งฟ้า ทุกอย่างมันผสมปนเปจนเกิดเป็นไอเดียนิทรรศการภาพเคลื่อนไหวแบบฟิกชั่นแบบที่เห็นตอนนี้
ทำไมถึงตั้งชื่อมันว่า A Minor History I ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย
เพราะเอาเข้าจริงเรื่องราวและความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คนที่เราเจอมา มันเป็นความทรงจำเล็กๆ เท่านั้นถ้าเทียบกับประเทศนี้ เดี๋ยวมันก็จะหายไป เหมือนกับนิทรรศการนี้ที่เป็นนิทรรศการเล็กๆ ที่เดี๋ยวมันก็จะหายไปเช่นกัน ตรงกันข้ามกับรัฐที่มีเครื่องมือในการสร้างประวัติศาสตร์ในแบบของเขาที่อยากให้คนรับรู้ได้เป็นวงกว้าง ผ่านภาษีของพวกเราเอง
ดังนั้นในแง่หนึ่งนี่จึงเป็นการที่แต่ละฝ่ายต่างทำหน้าที่เล่าประวัติศาสตร์ในแบบที่ตัวเองเชื่อ เพียงแต่เมื่อเทียบกันสิ่งที่เราทำเป็นเรื่องเล็กมากๆ เราเลยตั้งชื่อแบบนั้น
ในขณะที่คุณทำงานนี้และเห็นความหวังในตัวคนรุ่นใหม่มากขึ้นผ่านการเดินทาง รัฐเองก็ปิดกั้นมากขึ้นเช่นกัน เช่น การปลดศิลปินแห่งชาติที่แสดงออกทางการเมือง คุณคิดเห็นยังไงกับเรื่องนี้
ส่วนหนึ่งเราพูดไปแล้วในจดหมายเปิดผนึกที่เขียนถึงคนที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าถามว่ามันกระทบกับความหวังที่มีมาก่อนหน้านี้ไหม มันไม่ได้กระทบขนาดนั้น เรายังคงมีหวังอยู่นะ
เราได้ไปเห็นจริงๆ ว่าเวทีในจินตนาการของคนรุ่นใหม่ได้เปิดขึ้นแล้ว ดังนั้นเราว่าสิ่งที่สังคมต้องการในลำดับถัดไปคือเวทีจริงๆ มากกว่า ซึ่งถึงแม้มันยังขาดเพราะคนที่มีอำนาจไล่ปิดปากคนแบบทุกวันนี้ แต่เราก็มองอีกมุมว่านั่นยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าสถาบันทหารไม่ควรยุ่งเรื่องการเมือง และอำนาจในมือเขาก็เปราะบางมากขึ้นทุกที
คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่างานของคุณถ่ายทอดเรื่องราวในฐานะผู้เฝ้ามอง กับสถานการณ์ในตอนนี้คุณยังคิดแบบนั้นอยู่ไหม
ยังคิดแบบนั้นอยู่ คือถ้าพูดถึงตัวเราเอง ในปัจจุบันเราก็กล้าบอกว่าตัวเองไม่เห็นด้วยกับฝ่ายอนุรักษนิยม แต่พอเป็นงานที่ต้องทำหน้าที่สื่อสารกับคนอื่น โดยส่วนตัวเรายังเชื่อเสมอในวิธีการนำเสนอในฐานะผู้เฝ้ามองเพราะเราเชื่อว่ามันจะทำให้คนดูมีเสรีภาพในการนำไปคิดต่อเองได้ ไม่ว่าคุณจะยืนอยู่จุดไหน คุณสามารถดูงานเราได้ เราจะไม่มีการชี้หรือขีดเส้นใต้ว่าคุณควรจะคิดแบบไหน กับหนังเราก็เช่นกัน และกับงานนิทรรศการนี้ก็เช่นกัน
แปลว่าถ้าประยุทธ์มาดูงานนิทรรศการคุณ คุณก็ไม่ได้ติดอะไร
ไม่เลย เพราะสำหรับเรา ประยุทธ์ก็เป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง และการที่งานของเราจะสะกิดเขา นั่นก็เพราะเรามีเสรีภาพที่จะทำแบบนั้น (นิ่งคิดนาน) แต่คิดดูแล้วงานเราก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ใครมาดูขนาดนั้นหรอก ดังนั้นเรายังไงก็ได้ มาดูก็ได้ ไม่มาก็ได้ ถ้าคุณชอบก็มา ไม่ถูกจริตก็ไม่เป็นไร
มันไม่ใช่ว่าคุณต้องมาเพราะงานนี้พูดเรื่องที่เกี่ยวกับคุณ เพราะในฐานะคนทำ เราก็ทำเพราะนี่เป็นเรื่องที่เราคิดว่าต้องพูด เป็นงานที่เราอยากทำเท่าที่ทำได้ก็แค่นั้น
แต่ดูแล้วเขาไม่น่าจะมาแน่เลย
(หัวเราะ) ก็แล้วแต่เขาละกัน
เนื่องด้วยมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 สำหรับใครที่สนใจเยี่ยมชมนิทรรศการ สามารถติดต่อนัดหมายล่วงหน้าเพื่อเข้าชมงาน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 09 8789 6100 อีเมล [email protected] และไลน์ 100tonsonfoundation