เป้าหมายต่อไปของ KEETA กลุ่มเด็กไทยที่อยากผลักดัน Space Economy ให้เกิดขึ้นในประเทศ

เป้าหมายต่อไปของ KEETA กลุ่มเด็กไทยที่อยากผลักดัน Space Economy ให้เกิดขึ้นในประเทศ

เมื่อก่อน เรื่องใดก็ตามที่มีคำว่า ‘อวกาศ’ เข้ามาข้องเกี่ยวจะถูกแปะป้ายว่าเป็นเรื่อง ‘ไกลตัว’ ในทันที  

แต่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่สนใจและมีแพสชั่นในเรื่องอวกาศเหมือนๆ กัน หนึ่งในนั้นคือ KEETA หรือ กีฏะ พวกเขาคือตัวแทนจากประเทศไทยและเป็นหนึ่งในสิบทีมจากนานาชาติที่ได้รับคัดเลือกให้ผ่านเข้าสู่เฟสที่ 1 ในโครงการ ‘Deep Space Food Challenge’ ขององค์การอวกาศสหรัฐอเมริกา (NASA) ที่ร่วมมือกับ Canadian Space Agency (CSA) และได้ประกาศผลไปเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมในปีที่ผ่านมา  

โครงการ Deep Space Food Challenge เป็นการแข่งขันที่ผลักดันการสร้างเทคโนโลยีหรือระบบการผลิตอาหารรูปแบบใหม่โดยพึ่งพาปัจจัยการผลิตให้น้อยที่สุดและเพิ่มผลผลิตด้านอาหารที่ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และน่ารับประทานให้มากที่สุดสำหรับนักสำรวจอวกาศเพื่อภารกิจอวกาศในระยะยาว และมีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนบนโลกด้วย รวมถึงโครงการนี้ยังเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในรอบ 100 ปีของ NASA Centennial Challenges (การแข่งขันด้านอวกาศของนาซ่า) โดยมีเป้าหมายคือกระตุ้นนวัตกรรมการวิจัยทั้งพื้นฐานและประยุกต์ การพัฒนาเทคโนโลยี หรือการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าแข่งขันจะต้องผลิตอาหารสำหรับภารกิจทางอวกาศเป็นระยะเวลา 3 ปีเพื่อเพียงพอต่อนักบินอวกาศ 4 คนโดยไม่มีเสบียงเพิ่ม ที่สำคัญคือใช้เวลาการเตรียมอาหารให้ ‘น้อย’ ที่สุด มีความปลอดภัย มีโภชนาการสูง เป็นมิตรกับอวกาศและบนโลกอย่างเสมอภาคกัน 

KEETA group

สำหรับทีมกีฏะประกอบด้วยสมาชิกอย่าง ดร.วเรศ จันทร์เจริญ หรือกอล์ฟ อาจารย์และผู้ก่อตั้งบริษัท Space Zab, ตุลย์-สิทธิพล คูเสริมมิตร และ มินต์-นภัสธนันท์ พรพิมลโชค นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาอากาศยาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝึกงานอยู่ที่บริษัท Space Zab, น็อต-วัชรินทร์ อันเวช นักศึกษาปริญญาโทชีวเคมีการแพทย์และชีววิทยาโมเลกุล และ นนท์-ประพันธ์พงศ์ ดำส่งแสง นักศึกษาปริญญาเอกที่ KTH Royal Institute of Technology สวีเดน ซึ่งช่วยกันคิดค้นไอเดียจากโจทย์ตั้งต้นของโครงการจนลงตัวในชื่อ ‘Bio Culture Foods’ ซึ่งก็คือการนำเอาวัฒนธรรมการกินอาหารดั้งเดิมของคนไทยอย่างแมลง สาหร่าย และมดแดง จากนั้นใช้เทคโนโลยีด้วยเครื่องพิมพ์ระบบสามมิติของบริษัท Space Zab เข้าไปตบแต่งให้ไอเดียดูมีมิติ  

ตุลย์เล่าว่า “ในงาน Deep Space Food Challenge มีโจทย์ให้เราคิดค้นเทคโนโลยีการผลิตอาหารให้มนุษย์อวกาศและคนบนโลก โชคดีที่สมาชิกในทีมมีความถนัดหลากหลายด้าน เช่น วิศวกร อาจารย์ นักชีววิทยา ซึ่งก่อนหน้าที่ทีม KEETA จะเข้าแข่งขันโครงการ Deep Space Food Challenge ทุกคนในทีมมีความคิดคล้ายกันว่าประเทศไทยค่อนข้างโดดเด่นทางด้านวัตถุดิบอาหาร เราเลยคิดว่าทีมมีศักยภาพ และอยากจะนำความโดดเด่นทางด้านวัตถุดิบอาหารนี้สู่อวกาศ เลยเข้าแข่งโครงการ Deep Space Food Challenge”  

Sago worm
worm

“เริ่มแรกคือกฎของงานแข่งมันค่อนข้างเปิดกว้างมากว่าอยากให้เป็นเทคโนโลยีแบบไหน พอมันเป็นภาพกว้างเราเลยเบรนสตรอมกันในทีมว่าควรเป็นไอเดียอะไรบ้าง พอได้แนวทางที่แต่ละคนถนัดก็มุ่งไปทำรีเสิร์ช ซึ่งตัวโจทย์ก็เป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่ง อย่างเรื่องการจำกัดน้ำหนักของอาหาร สร้างสมดุลระหว่างคาแรกเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย ความอร่อย ความหลากหลายทางโภชนาการ รวมถึงทีมเรานำเสนอเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงแมลง เพาะเลี้ยงพืช เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมอย่างเดียว แต่ต้องปรึกษาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านอื่นๆ เช่น ชีววิทยา แมลง ต้นไม้ เพื่อให้ทุกอย่างออกมาดีให้ได้” ตุลย์กับมินต์เล่า 

มินต์เล่าต่อว่า นักสำรวจอวกาศควรได้รับสารอาหารที่หลากหลายตามหลักโภชนาการที่ต่างกัน ดังนั้นเครื่องพิมพ์ระบบสามมิติจึงเข้ามาตอบโจทย์การผลิตอาหารได้หลายรูปแบบ ทั้งการออกแบบหน้าตา ขนาด หรือรูปร่างอาหาร และสามารถพรินต์ค่าดัชนีสารอาหารที่อยู่ในส่วนประกอบของอาหารออกมาเป็นสัดส่วนได้อย่างเหมาะสมต่อนักบินอวกาศแต่ละคนได้อีกด้วย  

ขณะเดียวกัน น็อต-หนึ่งในสมาชิกของทีมเสริมว่า “อีกประเด็นหนึ่งที่มีประโยชน์กับทีมมากคือทุกคนมีความสนใจและมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ของตัวเองอยู่แล้ว การเข้าแข่งขันครั้งนี้ทำให้ทีมได้เรียนรู้ในศาสตร์อื่นๆ ที่กว้างขึ้น อย่างด้านชีววิทยาหรือแมลง จึงส่งผลให้ทีมสร้างสรรค์ผลงานไปไกลกว่าสิ่งที่เคยได้เรียนรู้มา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงตรงนี้สำคัญกับทีมมาก” 

KEETA 2

นอกจากนี้ ทีมกีฏะยังมีการวางแผนจัดนิทรรศการที่เชื่อมโยงกับไอเดีย ‘Bio Culture Foods’ ด้วยหากพวกเขาแข่งขันจนจบเฟสที่สามได้ตรงตามเป้า แผนการจัดนิทรรศการนี้น็อตอธิบายอย่างเรียบง่ายว่า คอนเซปต์คร่าวๆ จะเป็นเทคโนโลยีของระบบย่อย เช่น เครื่องพิมพ์อาหารระบบสามมิติ ระบบกำจัดของเสีย ระบบเพาะเลี้ยงแมลง และจัดเวิร์กช็อปเพิ่มเติมด้วย อย่างเช่นระบบต้นไม้ด้วยการลงดีเทลให้เห็นว่าต้นไม้ที่อยู่ท่ามกลางสภาวะอวกาศและต้นไม้ที่อยู่บนผืนโลกแตกต่างกันยังไง นอกจากเวิร์กช็อปยังมีโชว์เคสเกี่ยวกับระบบ networking ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาร่วมเวิร์กช็อปด้วยกัน

อย่างไรก็ดี แม้สมาชิกในทีมกีฏะจะมีความภาคภูมิใจกับผลงานที่ได้ผ่านเข้ารอบในเฟสแรกแล้วก็ตาม แต่การได้ไปต่อในเฟสที่สองและสามนั้นจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีผู้ส่งเสริมหรือสปอนเซอร์มาช่วยซัพพอร์ตเพื่อให้พวกเขาไปต่อและทำให้ฝันครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นจริง โดยเป้าหมายหลักของทีมมีอยู่สองเป้าหมาย เป้าหมายแรกคือต้องการสร้างองค์ความรู้ในเรื่องอวกาศอย่าง ‘Space Economy’ ให้เข้าถึงและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ส่วนอีกหนึ่งเป้าหมายคืออยากให้เรื่อง ‘อวกาศ’ เป็นเรื่อง ‘ใกล้ตัว’  

KEETA 3
worm 2

“ตอนนี้เรื่องการของบประมาณจากสปอนเซอร์มีที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ซึ่งเซ็นสัญญาแล้ว แต่งบประมาณค่อนข้างจำกัดมากเนื่องจากเป็นทุนจากรัฐบาล แต่ทั้งนี้ต้องพึ่งภาคเอกชน ซึ่งเอกชนที่มีความสนใจหรือมีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาลงทุนลงแรงด้วยกัน มีทั้ง in-kind และ in-cash หรือมีเครื่องมือด้านการผลิตอาหารให้ยืม ถือว่าในขั้นต้นเรายังเดินหน้ากันต่อได้แน่นอน แต่สุดท้ายปัญหาหลักตอนนี้ก็คือการหาสปอนเซอร์ เพราะเราวางแผนการทำงานไว้พร้อมหมดแล้วทั้งทีม ถึงแม้เรามีไอเดียดีขนาดไหน ถ้าไม่มีสปอนเซอร์นั่นแปลว่าเดินหน้าต่อไม่ได้แน่นอน” ดร.วเรศอธิบาย 

“แต่ถ้าถามถึงงบประมาณจากภาครัฐเรายื่นเรื่องช้าไป ซึ่งถ้าเราต้องการงบประมาณจากภาครัฐต้องยื่นเรื่องประมาณช่วงเดือนกันยายน 2563 เพื่อใช้เงินในปี 2565 ซึ่งถ้าไม่ใช่เรื่องฉุกเฉินจริงๆ โอกาสที่จะได้เงินจากภาครัฐมีน้อยมาก เพราะฉะนั้นเลยไม่ได้มองว่าภาครัฐเป็นวิธีการแก้ปัญหา

“ส่วนการวางแผนรับมือในเฟสต่อไป เราวางแผนไว้แล้วว่าจะหงายไพ่ใบสุดท้ายอย่างไร แต่เราจะพยายามไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น อีกทั้งทีมจะไปคุยกับภาคเอกชนในมุมของเทคโนโลยีในลักษณะ Commercialize เรื่องการใช้เทคโนโลยีให้เป็นธุรกิจ เพราะทีมเราไม่ได้ไปแข่งขันเพื่อชนะ เราไม่ได้สนใจ ไม่ได้สนใจนาซ่าด้วยซ้ำ แต่เรามองว่ามันคือผลพลอยได้ เพราะสิ่งที่เราสร้างคือเทคโนโลยีทางอวกาศ ซึ่งมันกินได้ กินได้ในที่นี้ไม่ได้กินเป็นอาหาร แต่สามารถสร้างรายได้ ทำให้เกิดธุรกิจต่อประเทศ หรือทำให้เกิด Space Economy หรือ Space Business นั่นคือความตั้งใจหลักของทีมเรา ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองในการขับเคลื่อน Space Economy ในประเทศไทย เพื่อใช้กับภาคเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และภาควิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง และถ้าเราชนะในเฟสที่สามคนที่ได้ผลงานคือคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่พวกเรา” ดร.วเรศเล่า 

KEETA 4

ดร.วเรศเน้นว่า “เรื่อง Space Economy อยากให้เกิดในประเทศไทย ซึ่งไทยเองเพิ่งมาตื่นตัวเมื่อปลายปี 2020 เมื่อก่อนจะถูกปลูกฝังแนวคิดว่าอวกาศคือการสร้างยานอวกาศไปโคจรรอบดาวเคราะห์ แต่สิ่งหนึ่งที่เราอยากทำมาตลอดตั้งแต่ปี 2017 เกี่ยวกับด้านอวกาศคือ ‘Space’ หรือ ‘อวกาศ’ เกี่ยวข้องกับการสร้างเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่เพราะประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ เพราะฉะนั้นหากทำให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ทางด้านอวกาศนี้ขึ้นมาได้ก็อาจจะเข้าไปช่วยด้านเศรษฐกิจบนโลก เพราะเม็ดเงินในอวกาศมีอยู่มหาศาลและถ้าเราดึงเม็ดเงินเหล่านี้จากต่างประเทศเข้ามาได้จะทำให้เรามีจุดยืนที่เรียกว่า ‘ธุรกิจ’ หรือ ‘เศรษฐกิจ’ ใหม่ในไทย 

“นอกเหนือจากเศรษกิจใหม่ถ้ามองในมุมของพวกเราก็อยากให้อุตสาหกรรมด้านอาหาร อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมทางการแพทย์เกิดขึ้น ซึ่งยังเป็นกฎเกณฑ์ที่จับต้องได้ทางเทคโนโลยีอวกาศ อีกทั้งเราเคยลงพื้นที่ไปสอนเด็กและครูมัธยม สอนนิสิต-นักศึกษา เพื่อทำการทดลองร่วมกันว่าจริงๆ แล้ว ‘อวกาศ’ มีอะไรมากมายกว่าที่พวกเขาเห็น” ดร.วเรศเล่าจริงจัง

สุดท้าย ในฐานะตัวแทนของประเทศอย่างทีม KEETA แม้พวกเขาอาจไม่รู้ผลลัพธ์สุดท้ายเลยด้วยซ้ำว่าจะออกมาเป็นแบบไหน แต่อย่างน้อยเรารับรู้ได้ถึง ‘พลังงานดี’ ที่กระจายอยู่รอบตัวพวกเขา อีกทั้งยังพกความเชื่อมั่นและความกล้าหาญเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นไปในทางที่ดีกว่า แน่นอนแล้วว่า ตอนนี้ชื่อของ KEETA ก็ยิ่งใหญ่อยู่แล้วในตัวของมันเอง 

โปรดติดตามพวกเขาต่อได้ที่ Facebook : KEETA 

ขอขอบคุณทีม KEETA 

อ้างอิง : 

https://www.deepspacefoodchallenge.org

https://spaceth.co/success-of-thai-youth

https://thematter.co/uncategorized/158493/158493

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย