คนส่วนมากที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์รัฐสภา เมื่อได้เห็นเจ้ากล่องไม้หลังนี้จัดแสดงพร้อมกับเหรียญสีสันสดใส มีสีน้ำเงิน สีแดง และสีขาว ก็มักอดสงสัยไม่ได้จนต้องเอ่ยปากถามเจ้าหน้าที่นำชมว่ามันคืออะไร เพราะรูปลักษณ์ภายนอกที่ชวนให้คิดว่าเป็นอุปกรณ์เล่นเกมนี้ ไม่น่าจะเข้ากับเนื้อหาว่าด้วยการเมืองการปกครองและการทำงานด้านนิติบัญญัติของรัฐสภาสักเท่าไหร่ หากกล่องไม้นี้กลับไม่ใช่เกมที่ไหน แต่เป็นหีบและเบี้ยสำหรับลงคะแนนเสียงอย่างลับในการประชุมรัฐสภาในอดีตต่างหาก
เพื่อให้เข้ากับฤดูการเลือกตั้งในเดือนนี้ เราขอหยิบยกวัตถุพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยเรื่องระบบลงคะแนนเสียงมาบอกเล่าให้ผู้อ่านทราบกันโดยสังเขป
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2476 ในการประชุมรัฐสภาครั้งแรกของประวัติศาสตร์ไทย ได้มีการใช้วิธี ‘ลงเบี้ย’ เป็นการออกเสียงลงคะแนนลับ เพื่อหามติหรือข้อสรุปของที่ประชุมในการพิจารณาเรื่องต่างๆ เช่น การพิจารณาญัตติหรือปัญหาใดปัญหาหนึ่ง โดยวิธีการก็คือ จะมีการเรียกชื่อสมาชิกรัฐสภาเพื่อให้นำเบี้ยไปใส่ในหีบที่จัดไว้ต่อหน้าประธาน โดยผู้ที่เห็นด้วยให้ลงเบี้ยสีขาว ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยให้ลงเบี้ยสีอื่น เมื่อสมาชิกได้ลงเบี้ยครบทุกคนแล้ว ก็จะมีการนับคะแนนเพื่อสรุปมติในการประชุมนั้นๆ
แม้จะฟังดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในทางปฏิบัติ แต่ทว่าหลักการและกฎเกณฑ์ว่าด้วยการเข้าประชุมเหล่านี้มีการบัญญัติไว้อย่างละเอียดในเอกสารราชการที่ชื่อว่า “ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภา…” จะเป็นสภาอะไรก็แล้วแต่ว่าตอนนั้นเรียกรัฐสภาว่าอะไร ซึ่งในช่วงแรกนั้นมีเพียง ‘สภาผู้แทนราษฎร’ จนกระทั่ง พ.ศ. 2490 ได้มีการจัดตั้งขึ้นมาอีกหนึ่งสภา คือ ‘พฤฒสภา’ นับเป็นการใช้ระบบสองสภาเป็นครั้งแรก และมีการบัญญัติข้อบังคับการประชุมฯ ของทั้งสองสภาไว้ด้วย (ถ้าใครสงสัยว่าพฤฒสภาปัจจุบันไปอยู่ที่ไหน ขอให้ทราบไว้ว่าชื่อนี้เปลี่ยนเป็น ‘วุฒิสภา’ ในปีถัดมา) และบางโอกาสรัฐสภาก็มีชื่อเรียกว่า ‘สภานิติบัญญัติแห่งชาติ’
แต่ไม่ว่าจะเรียกด้วยชื่อใด หรือออกมาแล้วกี่ฉบับ หลักการของเอกสารนี้ก็เหมือนๆ กัน คือลงรายละเอียดตั้งแต่เรื่องผู้เข้าประชุม วาระการประชุม การอภิปราย ไปจนถึงการหาข้อยุติของการอภิปรายนั้นๆ ด้วยการลงมติ หรือก็คือการขอความเห็นชอบจากที่ประชุมนั่นเอง
แน่นอนว่าการลงเบี้ยก็ได้ถูกบัญญัติไว้เป็นหนึ่งในหลักการปฏิบัติของการประชุมสภาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
หากเจาะลึกไปดูรายละเอียดกันสักเล็กน้อย ก็จะพบว่าข้อบังคับฉบับต่างๆ ที่ออกมาบังคับใช้ในช่วง พ.ศ. 2476-2494 นั้น กำหนดให้ผู้ที่เห็นด้วยลงเบี้ยสีขาว และผู้ที่ไม่เห็นด้วยลงเบี้ยสีอื่น ส่วนผู้ที่ไม่ออกเสียงลงคะแนนนั้นมิได้บัญญัติไว้ว่าต้องลงสีอะไร ในขณะที่ในยุคต่อมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2494-2538 ได้กำหนดให้ผู้ที่เห็นด้วยลงเบี้ยสีน้ำเงิน ไม่เห็นด้วยลงเบี้ยสีแดง และผู้ที่ไม่ออกเสียงลงคะแนนให้ลงเบี้ยสีขาว ในช่วงที่ใช้เบี้ยสามสีนี้ ก็จะมีมาตรการเพื่อไม่ให้เกิดการหย่อนเบี้ยเกินโควตา โดยพอสมาชิกถูกขานชื่อให้มาลงเบี้ยที่โต๊ะกรรมการหน้าประธานสภา สมาชิกจะถือเบี้ยที่จะใช้ลงคะแนนเอาไว้ในมือ ส่วนอีก 2 เบี้ยที่เหลือให้ใส่ซองไว้ แล้วยื่นให้กรรมการเมื่อมาถึงหน้าโต๊ะ เพื่อตรวจสอบว่าในซองมีเบี้ยไม่น้อยกว่า 2 ชิ้นจริง จากนั้นจึงไปหย่อนเบี้ยลงคะแนน (‘ลงเบี้ยในตู้ทึบ’ ตามบัญญัติ) เมื่อดูตามเอกสารเช่นนี้แล้ว จึงพอจะสันนิษฐานได้เป็นเบื้องต้นว่า หีบและเบี้ยลงคะแนนที่เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์รัฐสภานั้นน่าจะมาจากช่วงหลัง คือระหว่าง พ.ศ. 2494-2538 นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม หลังจาก พ.ศ. 2538 การลงเบี้ยได้ถูกยกเลิกไป และไม่ได้บัญญัติไว้ในข้อบังคับการประชุมฯ อีก ส่วนวิธีการออกเสียงลงคะแนนลับที่ระบุไว้ ปรากฏอยู่สองวิธี ได้แก่ หนึ่ง เขียนเครื่องหมายลงบนกระดาษใส่ซอง โดยผู้ที่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายถูก ✓ ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายกากบาท X ส่วนที่ไม่ออกเสียงให้เขียนเครื่องหมาย O ส่วนวิธีที่สอง เขียนอย่างเปิดกว้างไว้ว่า ‘วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมเห็นสมควรเฉพาะกรณี’
ถึงตรงนี้ อาจมีผู้อ่านบางคนสงสัยว่า หากมีการลงคะแนนลับ แล้วอย่างนี้มีการลงคะแนนอย่างเปิดเผยไหม
อันที่จริง โดยหลักการแล้วการลงคะแนนเสียงจะต้องกระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่ว่าคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาจะร้องขอให้มีการลงคะแนนลับ ซึ่งกระทำได้ต่อเมื่อมีจำนวนผู้ร้องขอถึงเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ ซึ่งในปีแรก (พ.ศ. 2476) นั้น กำหนดว่าต้องมีผู้ร้องขอไม่น้อยกว่า 4 คน ในขณะที่ปีอื่นๆ กำหนดแตกต่างกันไป เช่น 15 คนบ้าง 25 คนบ้าง 30 คนบ้าง ส่วนข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ต้องมีผู้ร้องขอไม่น้อยกว่า 10 คน แต่หากมีสมาชิกคัดค้านและมีผู้รับรองมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ที่ประชุมสภาก็ต้องลงคะแนนเสียงแบบเปิดเผย
ทั้งนี้ ในปัจจุบันการลงคะแนนทั้งแบบลับและเปิดเผยส่วนมากจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย (‘ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนตามที่ประธานสภากำหนด’) โดยสมาชิกจะเสียบบัตรประจำตัวที่เครื่องออกเสียงซึ่งอยู่ตามแต่ละที่นั่งในห้องประชุมสภา และกดปุ่มโหวต แต่ทั้งนี้ ก็ยังสงวนวิธีการเขียนเครื่องหมายถูก ✓ กากบาท X และวงกลม O ใส่ซอง เอาไว้เป็นทางเลือกในการออกเสียงแบบลับอยู่ด้วย เป็นต้นว่าหากไฟฟ้าดับกะทันหัน การลงมติในที่ประชุมสภาก็จะไม่สะดุดขาดตอนแน่นอน (ข้อบังคับการประชุมฯ ไม่ได้กล่าวไว้)
ป.ล. ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์รัฐสภา ถนนอู่ทองใน ปิดให้บริการเนื่องจากอยู่ระหว่างเตรียมการย้ายไปยังอาคารรัฐสภาแห่งใหม่