ไคหนำ อาร์ต สเปซ เปลี่ยนโรงเรียนเก่าของครอบครัว ให้กลายเป็นพื้นที่บุกเบิกกิจกรรมด้านความคิดสร้างสรรค์ในจังหวัดน่าน

จำชื่อ ไคหนำ อาร์ต สเปซ ไว้ให้ดี 

นี่น่าจะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่เปลี่ยนให้น่านกลายเป็นจังหวัดน่าจับตายิ่งขึ้นในอนาคต

โครงการนี้เป็นฝีมือของพี่น้องในครอบครัวพุฒิกุลางกูร คนในวงการครีเอทีฟน่าจะจำชื่อ สุรชัย พุฒิกุลางกูร ได้ดีในฐานะเจ้าของบริษัท Illusion CGI Studio บริษัททำภาพประกอบโฆษณาอันดับหนึ่งของโลก 

ไคหนำคืองานใหญ่ทางใจของสุรชัย ที่นี่คือโรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรกในอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ราวปีพ.ศ. 2485 สมัยที่คนจีนกับคนไทยยังมีความสัมพันธ์ที่ไม่แนบเนียนเป็นหนึ่ง ครอบครัวชาวจีนลงความเห็นว่าพวกเขาควรมีโรงเรียนสอนภาษาจีนสำหรับลูกหลาน ปู่ของสุรชัยแบ่งที่ดินของตัวเองมอบให้สร้างเป็นโรงเรียน ไคหนำกลายเป็นทั้งสถานศึกษาและแหล่งสานสัมพันธ์ระหว่างคนสองชาติในเวียงสา เป็นรากฐานของผู้คนและเมืองที่ตกทอดมาจนวันนี้

ไคหนำปิดทำการไปหลายปีตามสังคมที่เปลี่ยนไป เวียงสากลายเป็นเมืองผ่านที่เหลือผู้คนน้อยเต็มที ครอบครัวพุฒิกุลางกูรนำโรงเรียนนี้มาปรับปรุงใหม่ให้กลายเป็น อาร์ต สเปซ ที่สร้างพลังใหม่ๆ ให้คนน่าน

อาร์ตสเปซแห่งนี้ประกอบด้วยพื้นที่ 3 ส่วน คือโรงเรียนไคหนำ เป็นอาคารโรงเรียนจีนเก่า โรงน้ำชาที่บูรณะจากอาคารเก็บของเก่า และโรงสีซึ่งจะถูกทำเป็นพิพิธภัณฑ์รวมรางวัลที่อิลลูชั่นเคยได้รับมาทั้งหมด

เวลาเราเห็นพื้นที่ที่เป็น อาร์ต สเปซ ในเมืองที่มีประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม ก็มักจะเห็นสิ่งที่เป็น ‘ของเดิม’ หรืองานศิลปะท้องถิ่น แต่ในไคหนำเราจะไม่เจอสิ่งนั้นเลย ด้วยเหตุผลสองข้อ

หนึ่ง สุรชัยมองว่าเขาไม่อยากดึงอดีตกลับมาหาเราอย่างเดียว อยากมองไปข้างหน้า อยากชวนคนรุ่นเรามาคิดว่าจะทำอะไรจากจุดนี้ สองคือจริงๆ มันคือบรรยากาศไคหนำแบบดั้งเดิมที่ไม่ได้มีงานศิลปะในตัวเมืองมากนัก มันมีความเป็นธรรมชาติไม่ปรุงแต่ง เหมือนภาพที่เขาเคยเห็นในวัยเด็ก 

อีกส่วนที่เป็นเหมือนของใหม่ในเวียงสา คือรางวัลจำนวนมากมายที่อิลลูชั่นได้รับ การสร้างห้องเก็บรางวัลฟังดูเหมือนน่าหมั่นไส้ แต่สุรชัยคิดอีกแบบ เขาอยากพลิกภาพจำของน่านไปสู่สิ่งที่ใหม่และไม่เคยทำ

“ผมคิดว่าคำว่า ‘น่านเนิบๆ’ เป็นคำที่สวยเกินไป มองจากข้างนอก มันอาจจะสวย แต่ในขณะเดียวกันมันไปสร้างความคิดให้คนน่านใช้ชีวิตเฉื่อยไป ความจริงคนน่านทะเยอะทะยานได้ เราถึงพยายามทำนิทรรศการ มีมิวเซียมรางวัลที่นี่” นักทำภาพประกอบโฆษณามือหนึ่งของโลกเล่า

“โรงเรียนไคหนำจะพูดถึงอดีต โรงชาพูดถึงปัจจุบัน เป็นสถานที่นั่งกิน พูดคุย ดื่มด่ำบรรยากาศ ส่วนมิวเซียมจะเป็นส่วนอนาคต ทำเป็นเวิร์กช็อปสำหรับคนน่าน หรือเราอาจจัดเวิร์กช็อปให้คนกรุงเทพมาเที่ยวน่านสักสองคืน เชื่อมโยงชุมชนกับคนนอกพื้นที่ สร้างแรงบันดาลใจให้คนท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน”

ในแง่การออกแบบ ครอบครัวพุฒิกุลางกูรร่วมกับ เอก-สุเทพ พาทสุธีสุทธิ สถาปนิกเจ้าของ Sudio Chemistri ออกแบบอาคารโดยผสมผสานความเก่าและใหม่ให้อยู่ร่วมกัน ตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนกำแพงโรงเรียนสูงทึบให้เตี้ยลง เพื่อให้คนมองเห็นโรงเรียนมากขึ้น ตัวอาคารใช้กระจกมาเสริมเพื่อให้โปร่งและมองเห็นง่าย รูปแบบการประกอบไม้ที่เคยสูญหายจากเวียงสา สุรชัยพยายามไปตามหาและนำมาประกอบให้เห็นในที่แห่งนี้

เรามีโอกาสได้ชมไคหนำ อาร์ต สเปซ ในช่วงงานเทศกาลน่าน (NAN FEST 2022) ตอน Creative Space ร่วมจัดโดย กลุ่มสล่ากึ๊ด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA  มูลนิธิน่านศึกษา และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน ช่วงเดือนตุลาคม ต่อมาไคหนำก็จัดงานกึ่งเปิดตัวในชื่อ ไคหนำรำลึก นอกจากได้เผยโฉมโครงการ ยังชวนศิษย์เก่าของโรงเรียนมาร่วมสังสรรค์กันอย่างชื่นมื่น

ไคหนำ รำลึก

ถ้าถามว่าเราจะได้เห็นงานแบบไหนในไคหนำ คำตอบอาจยังไม่แน่ชัดนัก ที่แน่ๆ คือสุรชัยและครอบครัวอยากเริ่มจากการทำกิจกรรมกับเด็ก เป็นการฟื้นคืนรากของโรงเรียนให้กลับมาก่อน (ไคหนำเป็นโรงเรียนสอนเด็กชั้นประถมศึกษา) นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์รออยู่อีกมากมาย

สาเหตุที่ทำให้น่านเป็นเมืองน่าจับตา เพราะคนน่านที่จากบ้านไปเริ่มกลับมามองที่เกิดของตัวเองด้วยสายตาใหม่ เทรนด์นี้เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ไม่ใช่เฉพาะกับประเทศไทย เมืองเล็กในหลายประเทศก็พยายามดึงดูดผู้คนให้กลับมาสร้างสิ่งใหม่ให้เมืองอยู่ร่วมกับสังคมสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืนและยั่งยืน

ดูรายละเอียดกิจกรรมในอนาคตของไคหนำ อาร์ต สเปซ ได้ที่ ไคหนำ อาร์ต สเปซ page

ภาพ > ZAMUI Photography

AUTHOR