สุรชัย พุฒิกุลางกูร : illustrator โฆษณาระดับโลกผู้ค้นหาดินแดนใหม่ 1/4

0

สุรชัย
พุฒิกุลางกูรคือ นักคิด

ผมคิดว่าอย่างนั้น

เขาเฝ้าสังเกตชีวิตและครุ่นคิดกับมันจนได้ทฤษฎีที่น่าสนใจหลายเรื่อง
ทุกทฤษฎีล้วนจริง ง่าย สร้างแรงบันดาลใจและเหมาะจะนำไปใช้งาน

ใครกำลังสับสนในชีวิต
อยู่ใกล้ๆ ความคิดของเขาไว้ แล้วจะไม่หลงทาง

สุรชัยเป็นอิลัสเตรเตอร์โฆษณาที่ได้รางวัลมากที่สุดเป็นอันดับ
1 ของโลก

เหมือนที่ธนญชัย
ศรศรีวิชัย เคยเป็นผู้กำกับหนังโฆษณาอันดับ 1

และอนุชัย
ศรีจรูญพู่ทอง เคยเป็นช่างภาพโฆษณาอันดับ 1

ผู้มี ‘ชัย’ ทั้งสาม เปรียบไปก็คล้ายนักกีฬาที่คว้าแชมป์โลก
แต่สุรชัยพิเศษกว่าเพื่อนตรงที่งานของเขาน่าจะทำลายทุกสถิติของงานโฆษณาในหมวดสิ่งพิมพ์ตลอดกาล

เห็นสุรชัยเปิดคอมพิวเตอร์ขึ้นมา
หยิบเมาส์ปากกาวาดภาพเหมือน

ผมก็อยากลองวาดภาพเหมือนตัวเขา
ด้วยตัวหนังสือของผมดูบ้าง


1

งานสร้างภาพ

ผมพบสุรชัย พุฒิกุลางกูร ครั้งแรกในงาน Cannes Lions
International Festival of Creativity เทศกาลโฆษณาที่ใหญ่ที่สุดและงานแสดงความคิดสร้างสรรค์ที่ทรงอิทธิพลสุดในโลก
ที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อกลางปีที่ผ่านมา

ตอนนี้สุรชัยและบริษัท
illusion ของเขากำลังเนื้อหอมมากในระดับโลก เพราะเขากำลัง ‘สร้างภาพ’ ด้วยวิธีใหม่
ไม่ใช่การถ่ายรูปแล้วเอามารีทัช แต่เป็นการสร้างภาพขึ้นมาใหม่ทั้งหมดด้วยเทคนิค CGI
หรือ Computer-Generated Imagery นั่นหมายความว่า ไม่ว่าครีเอทีฟจะคิดภาพแปลกประหลาดแค่ไหนมา
เขาก็สามารถทำได้อย่างไร้ขีดจำกัด

ปี
2011 งานภาพที่เขาทำโฆษณากระเป๋า Samsonite ของเอเจนซี่ JWT เซี่ยงไฮ้
ประเทศจีน กวาดรางวัลจากทุกเวทีทั่วโลกมาได้ถึง 11 กรังปรีซ์
41 โกลด์ และซิลเวอร์ บรอนซ์ อีกนับไม่ถ้วน
ถ้านับในแง่ปริมาณ นี่คือสิ่งพิมพ์ที่ได้รับรางวัลรวมมากที่สุดในโลก
ถ้านับในแง่คุณภาพ ที่คือโฆษณาสิ่งพิมพ์ชิ้นแรก
ที่คว้ารางวัลโกลด์ได้จากทุกเวทีประกวดที่ใหญ่และยากที่สุดในโลก

คุณูปการสำคัญของงานชิ้นนี้ที่ลืมไม่ได้คือ
มันช่วยปลุกวงการโฆษณาสิ่งพิมพ์โลกที่เงียบเหงามานานหลายปีให้ตื่นขึ้นมาคึกคักอีกครั้ง

ปีที่ผ่านมาสุรชัยมางานคานส์ไลออนส์เพื่อออกบูท
ถือเป็นครั้งแรกของหน่วยงานจากเมืองไทย

บูทขนาด
2 คูหาของเขา
ตั้งอยู่หน้าโซนโชว์งานโฆษณาที่ได้รางวัลหมวดสิ่งพิมพ์ โดยทำเลและขนาดแล้ว
นับว่าเด่นที่สุดบูทหนึ่งของงาน มีครีเอทีฟเดินมาดูภาพเบื้องหลังรางวัลชิ้นต่างๆ ของ
illusion หนาตาตลอดทั้งวัน
และมีจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาสอบถามความเป็นไปได้ของการทำงานร่วมกัน

อิลัสเตรเตอร์มือทองบอกผมว่า
เขาเป็นคนชอบมองที่ว่าง เห็นทำเลตรงไหนดีก็จำไว้ ตอนมางานคานส์ไลออนส์ ครั้งแรกเมื่อปี
2002 เขาพบว่าทำเลตรงนี้เตะตามาก 10 ปีผ่านไป เขาก็ได้มาตั้งบูทตรงนี้

“เราควรทำอะไรสักอย่างกับรางวัลกรังปรีซ์ที่ได้” สุรชัยเล่าถึงเหตุผลในการยกทีมบินมาตั้งบูทที่เมืองคานส์
“คนส่วนใหญ่รู้ว่านี่คืองานของเอเจนซี่ JWT
เซี่ยงไฮ้ แต่น้อยคนจะรู้ว่าโปรดักชันเฮาส์ที่ชื่ออิลลูชั่นจากกรุงเทพฯ
เป็นคนทำงานนี้”

ผู้ก่อตั้งบริษัท illusion มองว่าวิธีหาลูกค้ามี
2 อย่าง คือใช้เซลล์ออกไปหา
กับใช้สื่อโฆษณาที่ดีที่สุด
โดยเฉพาะงานที่อุดมไปด้วยครีเอทีฟและบุคลากรในวงการโฆษณาที่เก่งที่สุดในโลกหมื่นกว่าคน

พอคุยกันได้สักพัก
ผมก็ถ่ายรูปเขาเพื่อเอาไปทวีตรายงานบรรยากาศ แต่เขากวักมือเรียกน้องๆ
ในทีมให้มาถ่ายรูปด้วย

ในค่ำคืนของการประกาศรางวัล
การเดินขึ้นไปรับรางวัลโกลด์บนเวทีนั้น ดูขลังไม่แพ้การรับรางวัลออสการ์
สุรชัยได้รับโอกาสให้ขึ้นไปรับรางวัลอีกหน คราวนี้เขาชวน ศุภชัย อุไรรัตน์
มือขวาของเขาให้ขึ้นเวทีด้วยกันเช่นเดิม
แต่ปีนี้เขาให้ศุภชัยเป็นคนรับรางวัลจากมือประทาน
เพราะปีที่แล้วเขาเป็นคนรับไปแล้ว

“รางวัลมันหนัก” สุรชัยพูดถึงเหตุผลในการให้ทีมเป็นผู้รับรางวัลแทนพร้อมเสียงหัวเราะ
ซึ่งผมก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าหมายถึงอะไร


2

ขอทานความเชื่อมั่น

“กรังปรีซ์ทำให้ผมปรากฏตัวบนเฟซบุ๊ก” สุรชัยบอกผมในวันที่เรานัดคุยกันที่ออฟฟิศสุดหรูของเขาบนเพนต์เฮาส์ของตึกสูงย่านหลังสวน

เขาเพิ่งเริ่มใช้เฟซบุ๊กไม่นาน
แต่ก็ขยันเขียนประสบการณ์ชีวิตและความคิดอันแสนจะคมคายให้ได้อ่านกันเกือบทุกวัน

สุรชัยมองว่า
ครูเป็นอาชีพที่มีคุณค่าที่สุดรองจากพ่อแม่ เขาจึงตั้งใจว่าเมื่ออายุ 55 จะเบนเข็มมาทำงานการศึกษาเต็มตัว ก็เลยสมัครเรียนปริญญาโท
และวางแผนว่าต้องเรียนปริญญาเอกให้จบก่อนอายุ 55 เขาไม่ได้กลับไปเรียนเพื่อเอาความรู้มาสอน
เพราะเขามีความคิดและทฤษฏีของตัวเองมากมาย
ชีวิตเขาถึงมาจุดนี้ได้ด้วยวิธีคิดเหล่านี้

“เราไม่ฟังคนที่ยืนอยู่ในระดับเดียวกัน
ผมต้องยืนอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าถึงมีคนฟัง
ถ้าผมจบปริญญาตรีทำอะไรก็ไม่สำเร็จใครจะอยากฟัง” สุรชัยเล่าเสียงดังฟังชัด
“พอผมได้กรังปรีซ์ผมก็ลาออกจากศิลปากรเลย
เพราะผมมีโต๊ะให้ยืนพูดแล้ว”

เขาเริ่มสื่อสารสิ่งที่อยากบอกผ่านเฟซบุ๊กซึ่งเขาเคยแอนตี้ ในวัย 47
เร็วกว่าแผนที่วางไว้นิดหน่อย

“ผมไม่ได้ว่าคนที่เล่นเฟซบุ๊กนะ ผมรู้สึกว่าคนใช้เฟซบุ๊กหรือโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นเหมือนขอทาน
ทุกคนอยากมีตัวตน อยากแสดงตัวตนออกมา ก็หาอะไรมาแชร์
เอาคำพูดคนอื่นมาเป็นคำพูดของตัวเอง มีคำคมเต็มไปหมด เป็นคำที่คนโพสต์ก็ไม่เข้าใจ
แต่โพสต์แล้วดูดี เป็นเหมือนขอทานเคาะขัน ขอความเชื่อมั่น ซึ่งผมเคยเป็นมาก่อน”
สุรชัยเล่าอย่างอารมณ์ดี

“ผมเริ่มได้รางวัลประกวดวาดรูปตั้งแต่ มศ.2 พอมาแข่งบาสเกตบอลก็ประสบความสำเร็จเรื่อยๆ
ทีมชนะ ผมได้เป็นนักกีฬายอดเยี่ยม พอเปลี่ยนมาวาดรูปประกวดก็ได้รางวัลไปเรียนที่ญี่ปุ่นส่งงานประกวดผมก็ชนะอีก
ผมพยายามเล่าความสำเร็จของผมให้ทุกคนฟังเพื่อให้เขาสนใจ
ผมจะได้มีตัวตนในสังคม เป็นวิธีที่ทำให้ตัวเองมีความเชื่อมั่น
เหมือนไว้ผมยาวแล้วรู้สึกว่าตัวเองเป็นศิลปินนั่นแหละ
ผมเลยรู้สึกว่าการพูดแต่เรื่องรางวัลไม่ได้ต่างจากขอทานเลย” เขาเว้นจังหวะ

“ตอนกลับมาจากญี่ปุ่นผมทำตัวโลว์โปรไฟล์
ไม่คุยโวโอ้อวดเรื่องความสำเร็จกับใคร แล้วก็ตัดผมสั้น
เพราะรู้ว่าสิ่งภายนอกไม่ได้สร้างความมั่นใจให้ผม ไม่ว่าจะเป็นทรงผมหรือคำชม
ความมั่นใจต้องสร้างเองจากข้างใน ผมเลยตั้งหน้าตั้งตาทำงานมากกว่าออกงาน” สุรชัยหยิบถ้วยชาร้อนขึ้นมาจิบ

ส่วนการโพสต์เรื่องราวมากมายผ่านเฟซบุ๊กตัวเอง
สุรชัยไม่ได้หวังดัง เขาแค่อยากแบ่งปันความรู้ของตัวเองสู่สังคม
สุรชัยวางถ้วยชาแล้วพูดต่อ “ทุกเหตุการณ์ในชีวิต
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มันมีจุดมุ่งหมาย กรังปรีซ์ตัวนี้ไม่ได้ทำให้ผมได้ตัวต่อไป
แต่เป็นโอกาสให้ผมได้ออกมาพูด” และเป็นโอกาสให้พวกเราได้ฟัง


3

เวลาเล่นกีฬา เราพูดแค่วันนี้สนุกหรือไม่สนุก

ในเฟซบุ๊ก
สุรชัยเขียนถึงเหตุการณ์วัยเด็กเป็นฉากๆ ได้ชัดเจน
ทั้งบรรยากาศและความรู้สึกของเขาขณะนั้น

“ผมไม่ได้จดจำเหตุการณ์ในชีวิตเป็นเรื่องๆ ว่ามันเป็นเรื่องดีหรือเศร้า
แต่จำเป็นซีเควนซ์เหมือนหนัง แค่กดปุ่มเพลย์มันก็ออกมา” เขายังคงเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

สุรชัยรีเพลย์ชีวิตในวัยเด็กให้ฟังว่า
เขาโตมาในอำเภอสา ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ชุมชนเล็กๆ
แห่งนี้ มีไฟฟ้าจากเครื่องปั่นใช้ได้แค่วันละ 2 ชั่วโมง
บ้านของเขาเป็นร้านขายของเบ็ดเตล็ดตั้งแต่เครื่องก่อสร้างไปจนถึงสังฆภัณฑ์
ถ้าเทียบในระดับอำเภอ บ้านเขาก็ถือว่าฐานะค่อนข้างดี

ภาพยนตร์คือสิ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตสุรชัยตั้งแต่เด็กถึงปัจจุบัน
พี่ชายของเขาป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดเลยได้รับกล้องถ่ายหนังเป็นของขวัญ
กล้องฟิล์มขาวดำที่ต้องส่งฟิล์มไปล้างถึงออสเตรเลียตัวนี้ทำให้บ้านของเขาสนุกกับหนัง
ทั้งถ่าย เล่น ตัดต่อ และดู
อยากกระโดดขึ้นกำแพงก็แค่กระโดดลงมาแล้วกรอฟิล์มย้อนหลัง
อยากหายตัวก็ให้คนยืนนิ่งๆ แล้วเขาวิ่งออกจากเฟรม จากนั้นก็เอาฟิล์มไปตัด

ชายผู้รู้จักกระบวนการโพสต์โปรดักชันตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียนเล่าว่า
หนังจีนกำลังภายในมีอิทธิพลต่อชีวิตของเขามาก เขาก็เหมือนเด็กผู้ชายคนอื่นๆ
ที่พยายามฝึกวิทยายุทธ์อย่างที่เห็นในจอทีวี ตอนแรกเขาฝึกเอามือทิ่มทรายร้อนๆ
แต่เจ็บเลยเปลี่ยนไปฝึกกำลังภายในแทน
เขาฝึกกระโดดโดยการให้แม่เอาตะกั่วมาเย็บติดเป็นแถบถ่วงไว้ที่ข้อเท้า เขาจริงจังกับสิ่งนี้อยู่เป็นปี

อย่างที่เขาบอก
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตนำไปสู่อีกสิ่งหนึ่งเสมอ

การเล่นฝึกกำลังภายในทำให้เขาลอยตัวเวลาเล่นบาสได้นานมาก

ช่วงที่เรียน
ป.6 เพื่อนนักบาสของสุรชัยรวมทีมกันลงแข่งทัวร์นาเมนต์ระดับเยาวชนของจังหวัดน่าน
เลยมาชวนเขา…ให้ออกแบบชุดแข่ง เพราะเขามีฝีมือทางศิลปะดีมาก
ถึงขนาดทำโปรโมชัน ใครมาซื้อสมุดวาดเขียนที่บ้านเขา
จะวาดรูปส่งครูในชั่วโมงศิลปะให้

“ผมนึกว่าเพื่อนจะชวนผมไปเล่น เพราะผมก็เล่นบาสดีนะ พวกมันมี 11
คน แต่ทีมต้องมี 12 คน
ผมเลยบอกว่า กูออกแบบให้ได้ แต่ต้องให้กูชุดนึง” สุรชัยเล่าจบก็หัวเราะ
มันคือดีลแปลกประหลาด รับออกแบบเสื้อแลกกับตำแหน่งในทีมบาส

นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเขาครั้งแรก
จากทั้งหมด 3 ครั้ง
ทุกครั้งเขาต้องแลกมาด้วยอะไรสักอย่างเสมอ

การสวมชุดแข่งที่ตัวเองออกแบบลงสนามครั้งนั้น
เขาโชว์ฟอร์มโดดเด่นจนถูกเรียกไปติดทีมเยาวชนจังหวัดน่าน (อายุไม่เกิน 18 ปี) จากนั้นเขาก็เข้าสู่เส้นทางสายบาสเกตบอลเต็มตัว เขาเลื่อนชั้นขึ้นมาติดทีมประชาชนจังหวัดน่าน
ได้รางวัลนักกีฬายอดเยี่ยมและรางวัลนักกีฬามือทองทำแต้มได้สูงสุดของทัวร์นาเมนต์ระดับเยาวชนในจังหวัดเชียงใหม่
เมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมทีมในวัยเด็ก เขาคือคนทีไปได้ไกลที่สุด

“ช่วงเวลาที่ผมชอบที่สุดคือได้เป็นตัวสำรอง” สุรชัยพูดถึงช่วงที่
เล่นให้ทีมมงฟอร์ต ช่วงนั้นเขายังไม่เก่งมาก และยังไม่เสพติดความสำเร็จ “เวลาเป็นตัวสำรองมันมีแรงจูงใจ เราเห็นคนที่เก่งกว่า
แล้วอยากเก่งกว่าเขา มันเป็นแรงขับชั้นดี มีตัวจริงเก่งกว่าผมอีกตั้งเยอะ
แต่โค้ชเห็นศักยภาพบางอย่างของผม
พอตัวจริงเล่นไม่ดีเขาก็ชอบเปลี่ยนผมลงไปในช่วงเวลาที่น้อยมากๆ กดดันมากๆ
ซึ่งผมต้องทำแต้มให้ได้ แล้วผมก็มักจะทำได้”

ในนัดชิงชนะเลิศการแข่งขันระดับเยาวชนของเชียงใหม่
เขาถูกส่งลงสนามในช่วงท้ายเกมที่ทีมตามอยู่ แล้วเขาก็ทำให้ทีมตีเสมอ
และแซงชนะได้ในช่วงเวลาต่อมาได้สำเร็จ “นี่ไม่ใช่แค่ภารกิจในเกมกีฬา
แต่เป็นภารกิจสร้างคน คนที่ทำได้สำเร็จ ชีวิตเขาจะเปลี่ยนไป แค่ผ่านโมเมนต์นี้เท่านั้น”
อดีตนักชู้ตมือทองเล่าด้วยตาเป็นประกาย
เขาว่าคุณสมบัติที่ชอบทำงานเครียดๆ ในเวลาสั้นๆ ยังคงติดตัวเขามาถึงวันนี้
ซึ่งช่างเหมาะกับงานโฆษณาเหลือเกิน

สุรชัยไม่ได้เล่นบาสมานานแล้ว
เพราะตอนนี้มือคืออุปกรณ์ทำงานที่สำคัญที่สุดของเขา ต้องไม่เอาไปใช้ในกิจกรรมที่มีโอกาสบาดเจ็บ
ไม่งั้นอาจเสียการเสียงานได้

หลังจากที่ติดทีมประชาชนจังหวัดน่าน
เขาก็ข้ามไปติดทีมประชาชนจังหวัดเชียงใหม่เป็นทีมใหญ่ในฝันของนักกีฬาจำนวนมาก
โค้ชของเขาแนะนำว่าการติดทีมใหญ่ด้วยวัย 18 ปี
และประสบการณ์เพียงเท่านี้เป็นผลร้ายมากกว่าผลดี
ถ้าอยากพัฒนาต่อก็ไม่ควรรับโอกาสนี้ แต่เขาเห็นต่าง เขาบอกโค้ชว่า
เขาฝันไว้แค่ติดเทียมประชาชนเท่านั้น ไม่ได้ต้องการไปไกลกว่านี้
เมื่อเขาตัดสินใจเล่นทีมชุดใหญ่ของเชียงใหม่ก็ ‘เสียบาส’
อย่างที่โค้ชว่าไว้

“การเล่นบาสไม่ได้ยากมาก ถ้าเราไม่กลัวคู่ต่อสู้ก็มีโอกาสชนะ
แต่ถ้าเราคิดว่าแพ้แน่เราจะเล่นไม่ได้ โค้ชคนนี้มักยัดผมลงไปเจอตัวที่ผมกลัวมัน
คิดว่ามันต้องทิปเราได้แน่ๆ พอขึ้นไปมันก็ทิปเราได้จริงๆ พอกำลังใจเสียก็เล่นได้ไม่ดี
สุดท้ายมาเจอศิลปะผมก็เลิกเล่นบาสไป” สุรชัยเล่าถึงชาติสุดท้ายของเขากับบาสเกตบอล
แต่ถึงตอนนี้ลูกบาสไม่ได้อยู่ในมือของเขาแต่มันก็ยังอยู่ในใจ

“ผมบอกน้องๆ ในออฟฟิศว่า อย่าคิดว่ามาทำงาน ให้คิดว่ามาเล่นกีฬา
เพราะเวลาเราเล่นกีฬา เราจะพูดแค่ว่าวันนี้สนุกหรือไม่สนุก
ถ้าไม่สนุกก็เพราะเราเล่นไม่ดี ถ้าพรุ่งนี้อยากเล่นดีขึ้น
ก็ต้องตั้งใจฝึกฝนมากขึ้น เราต้องเล่นเก่งขึ้นทุกวัน
วิธีคิดแบบกีฬามันโคตรเวิร์กเลย ทุกสนามมีกฎของมัน เราแค่ทำตามกฏแล้วเอาชนะในเกมให้ได้
ง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน เวลาผมเล่นบาสแล้วทำลูกออก
ผมไม่เคยขว้างลูกทิ้งให้ฝ่ายตรงข้ามวิ่งไปเก็บไกลๆ ผมตั้งใจวางลูกบนเส้นทุกครั้ง
เพราะนี่คือกฎ กีฬามันไม่ได้มีแต่เรื่องภายนอกแต่เป็นเรื่องสปิริตด้วย
ถ้าเราเข้าใจก็เอาไปใช้กับอะไรก็ได้ ทุกวันนี้ผมยังคิดว่าตัวเองเล่นบาสอยู่เลย”

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 149 มกราคม 2556)

อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่

ตอนที่ 2
ตอนที่ 3
ตอนที่ 4

ภาพ นิติพัฒน์ สุขสวย

AUTHOR