JW Anderson เด็กหนุ่มมหัศจรรย์ผู้สั่นสะเทือนวงการแฟชั่นด้วยวัยเพียง 36

หากใครที่ติดตามคอลเลกชั่นเสื้อผ้าของ UNIQLO ที่มักจะไปคอลแล็บกับแฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดังอยู่เรื่อยๆ คงจะคุ้นเคยกับชื่อของ JW Anderson เป็นอย่างดี นั่นเพราะ UNIQLO x JW Anderson ถือเป็นหนึ่งในคอลเลกชั่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และยังคงปล่อยคอลเลกชั่นใหม่ๆ มาให้เราได้ตื่นเต้นอยู่เรื่อยๆ ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา

หากพิจารณาจากคอลเลกชั่นเสื้อผ้าของ UNIQLO จะเห็นได้ว่า หนึ่งในลายเซ็นของ JW Anderson คือสีสันที่หลากหลายละลานตา ที่ไม่ได้แบ่งแยกกันอย่างชัดเจนระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย นอกจากนี้คอลเลกชั่นของแบรนด์ยังให้ความรู้สึกถึงพลังของวัยเยาว์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ เราเลยถือโอกาสพาไปทำความรู้จักกับแบรนด์นี้กันว่าดีไซเนอร์คนนี้เป็นใคร แล้วทำไมเขาถึงได้ชื่อว่าเป็นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่น่าจับตาที่สุดในตอนนี้

เติบโตท่ามกลางความวุ่นวาย

JW Anderson หรือ Jonathan Anderson คือดีไซเนอร์หนุ่มวัย 36 ผู้เกิดและเติบโตในเมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของประเทศไอร์แลนด์ โดยมีแม่เป็นคุณครูสอนวิชาภาษาอังกฤษในโรงเรียนท้องถิ่น ส่วนพ่อของเขาก็เป็นกัปตันรักบี้ของทีมชาติไอริช แม้ว่าสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวของเด็กหนุ่มจะเต็มไปด้วยต้นไม้ ธรรมชาติ และห่างไกลจากเมืองใหญ่ แต่ด้วยความที่พ่อของเขาต้องเดินทางไปแข่งรักบี้อยู่เรื่อยๆ แอนเดอร์สันจึงได้เรียนรู้ความเป็นไปของโลกภายนอกผ่านของฝากที่พ่อของเขามักจะซื้อกลับมาหลังจากแข่งกีฬาจบ นอกจากนี้ปู่ของแอนเดอร์สันยังทำงานในโรงงานสิ่งทอ นั่นจึงทำให้เด็กหนุ่มเติบโตขึ้นท่ามกลางความรู้เรื่องผ้าและสิ่งทอที่ถูกส่งต่อมาจากปู่ของเขา “ผมคิดว่าตัวเองหลงใหลสิ่งทอสุดๆ เลยนะ ราวกับว่ามันมีมนต์ขลังบางอย่างที่จะคงอยู่ไปตลอดอายุไขของมัน” แอนเดอร์สันเล่าในบทสัมภาษณ์หนึ่ง

JW Anderson

ฟังเผินๆ ชีวิตวัยเด็กของแอนเดอร์สันดูจะเต็มไปด้วยความสงบ หากจริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวเขานัก นั่นเพราะในช่วงเวลาที่เขาเติบโตขึ้นนั้นคือช่วงเวลาที่เรียกกันว่า ‘The Troubles’ ซึ่งเป็นช่วงที่ไอร์แลนด์กำลังปะทะกับอังกฤษเพื่อต่อต้านการถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของเครือจักรภพ มีประชาชนกว่า 3,600 ชีวิตล้มตาย และอีกกว่า 50,000 รายที่บาดเจ็บ “มันเป็นช่วงเวลาที่ยากมากๆ ผมจำได้ว่ามีคาร์บอมบ์ในเมือง ซึ่งสำหรับเด็กคนหนึ่งน่ะมันน่ากลัวและชวนให้สับสนสุดๆ เลย แต่มันก็ทำให้ผมเข้มแข็งขึ้นเหมือนกัน” แอนเดอร์สันเล่ากับสำนักข่าว The Guardian 

ความรุนแรงจากสถานการณ์บ้านเมืองกลายเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้แอนเดอร์สันหลบหนีออกไปจากเมืองของเขา แต่ถึงแม้ว่าเด็กหนุ่มจะสนใจเสื้อผ้ามาตั้งแต่วัยเยาว์ แอนเดอร์สันก็ไม่ได้เริ่มต้นเส้นทางสายแฟชั่นในทันที เพราะหลังจากที่เขาย้ายมาอยู่ลอนดอน แอนเดอร์สันก็ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะนักแสดง เขาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ London’s National Youth Music Theatre จนกระทั่งอายุได้ 18 ก็ตัดสินใจบินลัดฟ้าเพื่อหวังจะไปศึกษาต่อด้านการแสดงที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา โชคร้ายว่าแอนเดอร์สันไม่สามารถเข้าเรียนในสถาบันการแสดงที่เขาใฝ่ฝันได้ จนในที่สุดเขาก็ต้องจำใจบินกลับอังกฤษ แอนเดอร์สันสมัครงานในตำแหน่งพนักงานขายในห้างสรรพสินค้าในเมืองดับลินอยู่สักพัก โดยที่ระหว่างนั้นก็พลันตระหนักได้ว่า จริงๆ แล้วเขาเองก็ไม่ได้จะอินในเรื่องการแสดงสักเท่าไหร่ จนในที่สุดแอนเดอร์สันก็ตัดสินใจเดินทางกลับไปลอนดอนอีกครั้ง เพื่อเข้าเรียนที่ London College of Fashion ไม่นานหลังจากนั้น ชื่อของแอนเดอร์สันก็ค่อยๆ เป็นที่รู้จักขึ้นมาในวงการแฟชั่น

เสื้อผ้าผู้ชายแต่ดีไซน์แบบผู้หญิง

หลังจากเรียนจบ แอนเดอร์สันได้เดบิวต์คอลเลกชั่นแรกของเขาบนเวที London Fashion Week โดยที่คอลเลกชั่นแรกของเขายังคงโฟกัสที่เสื้อผ้าของผู้ชายเป็นหลัก แต่ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นคอลเลกชั่นของผู้ชาย หากก็ชัดเจนว่าอิทธิพลของเสื้อผ้าชิ้นต่างๆ ในคอลเลกชั่นนี้ได้รับอิทธิพลจากเสื้อผ้าผู้หญิง คอลเลกชั่นแรกๆ ของแอนเดอร์สันไม่ได้เป็นที่ถูกใจชาวยุโรปและอเมริกันในทันที ทว่าในฝั่งเอเชียกลับเป็นคนละเรื่อง เพราะดีไซน์ของแอนเดอร์สันไปโดนใจชาวญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์เป็นอย่างมาก

ในคอลเลกชั่นแรกของแอนเดอร์สัน ความโดดเด่นของมันคือการที่เขาเลือกจะหยิบเอาชุดนอนมาออกแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อคลุมสำหรับใส่กลางคืน คาร์ดิแกน ไปจนถึงเสื้อกล้าม และอย่างที่เราได้บอกไปแล้วว่า คอลเลกชั่นนี้ได้รับอิทธิพลจากเสื้อผู้หญิงอย่างชัดเจน หากแอนเดอร์สันก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองแต่อย่างใด “ประเด็นของผมคือการดีไซน์มักจะให้ความสำคัญกับเรื่องเพศมากกว่าเรื่องอัตลักษณ์ ซึ่งสำหรับผม มันไม่เคยมีความแตกต่างกันเลยระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย” แอนเดอร์สันอธิบาย

พูดให้ชัดขึ้นคือ สาเหตุที่แอนเดอร์สันหันมาออกแบบเสื้อผ้าผู้หญิงนั้น จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของธุรกิจเสียด้วยซ้ำ ดีไซเนอร์หนุ่มเล่าว่า “สาเหตุที่ผมดีไซน์เสื้อผ้าของผู้หญิงเพราะลูกค้าผู้หญิงของเราชอบเสื้อยืดผู้ชายที่ผมออกแบบ ผมก็เลยปรับเปลี่ยนให้มันมีขนาดที่เล็กลง ซึ่งจริงๆ มันก็มีผู้หญิงใส่เสื้อยืดพวกนี้อยู่แล้วแหละ แต่พอผมลองมานั่งคิดว่าสุดท้ายแล้วทำไมผมถึงตัดสินใจดีไซน์เสื้อผ้าผู้หญิง เหตุผลมันง่ายมากๆ คือเราแค่อยากขายเสื้อผ้ามากขึ้น โดยที่วัตถุดิบต่างๆ ที่เราใช้ก็เป็นวัตถุดิบเดียวกับที่เราใช้กับเสื้อผ้าผู้ชายอยู่แล้ว ซึ่งมันช่วยให้เราลดต้นทุนได้น่ะ”

JW Anderson
 F/W 2012 Women’s Collection

ชื่อของแอนเดอร์สันค่อยๆ เป็นที่รู้จักขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 2012 เขาก็ได้รับรางวัลจาก British Fashion Council ในฐานะดีไซเนอร์รุ่นใหม่ และในปีถัดมา แอนเดอร์สันก็ได้กลายเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของ LOEWE แบรนด์ชื่อดังจากสเปนซึ่งส่งให้ชื่อของเขาโด่งดังยิ่งขึ้นไปอีก

JW Anderson
First LOEWE collection by Jonathan Anderson

ไม่ใช่ดีไซเนอร์ แต่เป็นนักคัดสรร

หนึ่งในความเก่งกาจของแอนเดอร์สันคือ ภายใต้ชื่อเสียงที่โด่งดังขึ้นเรื่อยๆ เขาก็ยังสามารถรักษาเอกลักษณ์และตัวตนไปพร้อมๆ กับความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ได้เป็นอย่างดี กรณีที่เห็นได้ชัดคือ การที่แอนเดอร์สันยังคงไปคอลแล็บกับแบรนด์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น UNIQLO, Converse และ Moncler Genius โดยที่ดีไซน์ของแอนเดอร์สันก็ยังคงได้รับเสียงชื่นชมอย่างต่อเนื่อง

JW Anderson

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่สร้างกระแสชื่นชมให้กับแอนเดอร์สันเป็นอย่างมากเกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา เมื่อ Harry Styles นักร้องชื่อดังได้ปรากฏตัวในรายการ the TODAY Show พร้อมเสื้อคาร์ดิแกนสีสันสดใสของ JW Anderson จนคาร์ดิแกนตัวดังกล่าว sold out แทบจะในทันที แต่ถึงแม้สินค้าจะขายหมด นั่นก็ไม่สามารถหยุดความต้องการของแฟนๆ ได้ จนเกิดเป็นปรากฏการณ์สอนถักคาร์ดิแกนตัวนี้กันบน TikTok โดยแฟนคลับก็ได้พยายามแกะแพตเทิร์นของเสื้อคาร์ดิแกนตัวนี้และถ่ายทอดเทคนิคต่อๆ กัน แอนเดอร์สันเมื่อได้รับรู้ว่ากำลังมีเทรนด์นี้เกิดขึ้นใน TikTok ก็ได้ตัดสินใจปล่อยแพตเทิร์นของเสื้อคาร์ดิแกนตัวนี้ให้ทุกคนดาวน์โหลดกันได้ฟรีๆ ทันที แถมยังอธิบายวิธีการถักอย่างละเอียดยิบทุกขั้นตอน

“ผมตื่นเต้นกับเทรนด์นี้ แล้วก็ดีใจมากๆ ที่ได้เห็นทุกคนพยายามถักคาร์ดิแกนตัวนี้กัน ผมเลยอยากจะแสดงความปลื้มปริ่มนี้โดยการแบ่งปันแพตเทิร์นของคาร์ดิแกนตัวนี้ให้กับทุกคน” แอนเดอร์สันกล่าว

JW Anderson

แม้ว่าชื่อของแอนเดอร์สันจะเป็นที่รู้จักในฐานะแฟชั่นดีไซเนอร์อันดับต้นๆ ของโลก หากลองถามเจ้าตัว เขากลับยืนยันว่าตัวเองไม่ใช่ดีไซเนอร์อย่างที่หลายคนนิยาม “สิ่งที่ผมทำจริงๆ คือการคัดสรรมากกว่า ผมคัดสรรผู้คน คัดสรรแคมเปญ คัดสรรร้านค้า แล้วก็คัดสรรการคอลแล็บต่างๆ มันเป็นเรื่องของการหยิบฉวยสิ่งต่างๆ มาจัดระเบียบในทิศทางที่ดูเมกเซนส์ที่สุด ก็เหมือนปรัชญาเซนนั่นแหละ สิ่งที่คุณต้องทำคือการจัดระเบียบวัตถุต่างๆ ให้ออกมาเป็นทรวดทรงโครงร่างบางอย่างที่คุณรู้สึกว่าใช่ ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำคืออะไรแบบนั้นแหละ”

ด้วยวัยเพียง 36 ปีกับความสำเร็จต่างๆ ที่แอนเดอร์สันได้รับ ไม่แปลกเลยที่ใครๆ จะพากันเรียกเขาว่า เด็กหนุ่มมหัศจรรย์ (wonder boy) เราไม่รู้ว่าเส้นทางในวงการแฟชั่นของแอนเดอร์สันหลังจากนี้จะเป็นยังไงต่อไป แต่ด้วยอายุเพียงเท่านี้กับประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวมาแล้วมากมาย เชื่อได้เลยว่าแอนเดอร์สันจะยังคงสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการแฟชั่นอยู่อีกเรื่อยๆ แน่นอน

JW Anderson
Men’s Fall 2021

AUTHOR