Issey Miyake ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นผู้ทำให้โลกแฟชั่นตะวันตกต้องหันมาจับจ้องแฟชั่นจากโลกตะวันออก

Issey Miyake เกิดที่เมืองฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 6 สิงหาคม 1945 เขาสูญเสียครอบครัวแทบจะทั้งหมดให้กับระเบิดปรมาณูของสหรัฐอเมริกา เหลือเพียงแม่ของเขาที่ร่างกายส่วนหนึ่งถูกไฟคลอกก่อนจะเสียชีวิตลงในอีก 4 ปีต่อมา มิยาเกะเองที่แม้ว่าจะมีชีวิตรอดจากแรงระเบิดมาได้ หากเขาก็พบว่าตัวเองเป็นโรคไขข้อกระดูก (bone marrow) ซึ่งเป็นผลจากกัมมันตภาพรังสีที่ยังคงส่งผลกระทบกับชีวิตเขาในปัจจุบัน

เมื่อเติบโตขึ้น มิยาเกะได้ศึกษาต่อในคณะกราฟิกดีไซน์ที่มหาวิทยาลัยศิลปะทามะในโตเกียว ก่อนที่ในปี 1965 เขาจะได้โบกมือลาญี่ปุ่นเพื่อเดินทางไปยังกรุงปารีสและเข้าศึกษาต่อที่ École de la Chambre Syndicale de la Couture Parisienne เพื่อเรียนรู้เรื่องการดีไซน์เสื้อผ้า ก่อนจะมีโอกาสได้ไปฝึกฝนกับ Guy Laroche, Givenchy และ Geoffrey Beene ในสหรัฐอเมริกา ในปี 1970 มิยาเกะเดินทางกลับมาที่โตเกียวอีกครั้งและก่อตั้ง Miyake Design Studio สตูดิโอแฟชั่นที่จะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับโลกแฟชั่นอย่างรุนแรง

ผู้บุกเบิกแฟชั่น avant-garde

หลังจากที่เปิดสตูดิโอเป็นของตัวเอง เพื่อนคนหนึ่งของมิยาเกะในนิวยอร์กได้นำผลงานช่วงแรกๆ ของเขาไปเสนอให้กับนิตยสาร Vogue และห้างสรรพสินค้า Bloomingdale ในสหรัฐอเมริกาดู ปรากฏว่าทั้งสองต่างให้ความสนใจผลงานของมิยาเกะในทันที ถึงขนาดที่ว่า Bloomingdale ได้จัดเซกชั่นเล็กๆ ภายในห้างสรรพสินค้าให้กับเสื้อผ้าของมิยาเกะโดยเฉพาะ คอลเลกชั่นแรกของมิยาเกะในนิวยอร์กนั้นประกอบไปด้วยเสื้อยืดที่ถูกย้อมด้วยลวดลายรอยสักแบบญี่ปุ่น และเสื้อโค้ตที่ผลิตโดยใช้การปักผ้าแบบ ‘ซาชิโกะ’ ซึ่งปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน กระทั่งในปี 1973 เมื่อ ‘เสื้อผ้าพร้อมใส่’ (ready-to-wear) ได้รับการยอมรับมากขึ้นในวงการแฟชั่นฝรั่งเศส มิยาเกะก็ได้รับเชิญไปที่กรุงปารีสร่วมกับดีไซเนอร์รุ่นใหม่หลายๆ คนเพื่อร่วมแสดงผลงานในโชว์เล็กๆ จนนำไปสู่การเปิดร้านเล็กๆ ของตัวเองในฝรั่งเศส 

The Tattoo Collection, 1971
Autumn,Winter, 1971

อาจกล่าวได้ว่า มิยาเกะถือเป็นหนึ่งในหัวหอกคนสำคัญและผู้แผ้วทางให้กับแฟชั่นดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆ ที่จะโด่งดังขึ้นในภายหลัง เพราะอย่างในปี 1981 ที่ Rei Kawakubo แห่ง COMME des GARCONS และ Yohji Yamamoto ได้มาแสดงคอลเลกชั่นเสื้อผ้าของพวกเขาที่ปารีสจนโด่งดังนั้น ชื่อเสียงของมิยาเกะก็เป็นที่รู้จักในวงการแฟชั่นฝรั่งเศสอยู่ก่อนแล้วในฐานะบิดาแห่งแฟชั่นสมัยใหม่ ถึงอย่างนั้นมิยาเกะ คาวาคูโบะ และยามาโมโตะก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้กำเนิดแฟชั่น avant-garde ในประเทศญี่ปุ่น 

ในบทสัมภาษณ์กับนิตยสาร Air France Madame คาวาคูโบะเล่าว่า “พวกเราทั้งสามคนไม่ได้อยากถูกเรียกว่าเป็นสามผู้ให้กำเนิดแฟชั่นยุคใหม่อะไรพวกนั้นเลย พวกเราก็แค่มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะดีไซน์อะไรใหม่ๆ ออกแบบเสื้อผ้าที่แตกต่าง และคนรับรู้ได้ทันทีว่านี่คือเสื้อผ้าที่พวกเราเป็นผู้ออกแบบ” มิยาเกะเองก็ยืนยันคล้ายๆ กันผ่านบทสัมภาษณ์กับนิตยสาร Women’s Wear Daily มิยาเกะเล่าว่า “ในยุค 80s แฟชั่นดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นได้แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ พวกเรานำเสนอในสิ่งที่ยุโรปไม่เคยเห็นมาก่อน มันทำให้หลายคนช็อกมาก แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้ชาวยุโรปได้ตื่นรู้ถึงคุณค่าใหม่ๆ เช่นกัน”

ดีไซเนอร์แห่งโลกตะวันออกผู้ปฏิวัติวงการแฟชั่นตะวันตก

มิยาเกะคือดีไซเนอร์คนแรกที่นิยามธรรมเนียมของเสื้อผ้าแบบ ‘ซาร์ทอเรียล’ (sartorial) ใหม่ ด้วยความที่แพตเทิร์นเสื้อผ้าของเขานั้นแตกต่างไปจากสไตล์ของตะวันตก ดังเช่นที่ผู้ช่วยคนหนึ่งของมิยาเกะเล่าถึงเสื้อผ้าของมิยาเกะในช่วงปลายปี 1980 ว่า “มันมีเสื้อผ้าที่แทบจะไม่เป็นรูปร่างใดๆ เลย แถมยังมี 4 รูอีก คุณแทบจะบอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่ารูไหนควรจะเป็นรูสำหรับแขนและรูไหนควรจะเป็นรูสำหรับคอ ซึ่งในระหว่างการซ้อมทีมงานก็จะคอยเดินดูรอบๆ เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกคนรู้ว่ารูไหนคือรูสำหรับใส่อะไร ยิ่งพอนายแบบเดินแบบชุดหนึ่งเสร็จแล้วต้องรีบวิ่งมาเปลี่ยนเสื้อผ้าตัวใหม่ มันเลยยิ่งวุ่นวายมากๆ เมื่อคุณมีเสื้อผ้าที่ไม่แน่ใจว่าวิธีการสวมใส่มันอย่างถูกต้องคือยังไงกันแน่”

Issey Miyake
Ready-to-Wear Fashion Show, 1995

ทว่าในความเป็นจริงแล้ว มิยาเกะเองก็ไม่ได้มองว่าเสื้อผ้าของเขาจะมีวิธีการใส่ที่ตายตัวแต่อย่างใด และรูทั้ง 4 นี้อันที่จริงก็ขึ้นอยู่กับผู้สวมใส่มากกว่าว่าจะใส่มันยังไง สำหรับมิยาเกะ ความเรียบง่ายคือหัวใจสำคัญของเสื้อผ้าของเขา ซึ่งความเรียบง่ายที่ว่านี้ก็มักมาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์ในการสวมใส่เสื้อผ้าได้อย่างหลากหลายตามที่ใจต้องการ

ในขณะเดียวกัน มิยาเกะยังได้นำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับเสื้อผ้าของผู้หญิง นั่นเพราะในโลกตะวันตกเสื้อผ้าของผู้หญิงมักจะหมายถึงเสื้อผ้าที่แนบสนิทกับเรือนร่าง ขับเน้นให้เห็นทรวดทรงของผู้สวมใส่ได้อย่างชัดเจน ทว่ามิยาเกะกลับนำเสนอเสื้อผ้าขนาดใหญ่หรือบ้างก็หลวมโพรก ไปจนถึงแจ็กเก็ตที่แทบจะไม่มีรายละเอียดใดๆ แม้กระทั่งกระดุม กล่าวได้ว่า ไม่เพียงแต่มิยาเกะจะพยายามท้าทายนิยามของเสื้อผ้าเท่านั้น หากยังรวมถึงนิยามของแฟชั่นผู้หญิงที่ในยุคนั้นแบรนด์ต่างๆ ดูจะมุ่งหน้าไปในทิศทางของการดีไซน์เสื้อผ้าที่รัดรูปขึ้น แฟชั่น avant-garde ของญี่ปุ่นจึงเป็นเสมือนสิ่งที่เข้ามาท้าทายนิยามแฟชั่นของโลกตะวันตกอย่างชัดเจน และมิยาเกะไม่ได้ต้องการจะผลิตซ้ำแฟชั่นตะวันตกอย่างที่เขาได้เคยกล่าวไว้ว่า

“ห่างไกลจากประเทศบ้านเกิด ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในกรุงปารีส ผมถามตัวเองอย่างจริงจังว่าผมสามารถทำอะไรได้บ้างในฐานะแฟชั่นดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น ซึ่งผมก็พลันตระหนักว่าจุดด้อยของผมอย่างการไม่ค่อยมีความรู้เรื่องวัฒนธรรมตะวันตกก็สามารถกลายเป็นจุดเด่นได้เหมือนกัน นั่นเพราะผมไม่ได้ถูกพันธนาการด้วยบรรทัดฐานใดๆ ของสังคมตะวันตก แล้วผมก็คิดว่า ‘ผมสามารถลองอะไรใหม่ๆ ได้ ผมไม่สามารถกลับไปยังอดีตได้ ผมจำเป็นต้องไปข้างหน้าเท่านั้น’ กลายเป็นว่าความขาดแคลนวัฒนธรรมตะวันตกกลับกลายเป็นจุดแข็งของผมในการออกแบบแฟชั่นร่วมสมัย ยิ่งเมื่อผมมาจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งรุ่มรวยวัฒนธรรมและประเพณีด้วยแล้ว มันก็ได้ผสมผสานจนนำมาซึ่งการทดลองเสื้อผ้าใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เสื้อผ้าตะวันตก แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เสื้อผ้าญี่ปุ่น และไปไกลกว่านิยามของความเป็นชาติ ผมอยากจะดีไซน์เสื้อผ้าที่เป็นสากล”

‘ผ้า’ (fabric) คืออีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของมิยาเกะ ผ่านการร่วมงานกับ Makiko Minagawa ผู้เป็น textile director แห่ง Issey Miyake ทั้งสองได้แนะนำให้โลกได้รู้จักกับ PLEATS PLEASE คอลเลกชั่นของ Issey Miyake ที่โด่งดังจนกลายเป็นแบรนด์ของตัวเองในปี 1993 โดยปกติแล้วการอัดจีบ (pleat) จะเกิดขึ้นก่อนกระบวนการตัดเย็บเสื้อผ้า ทว่ามิยาเกะกลับทำตรงกันข้าม นั่นเพราะเขาจะตัดเย็บเสื้อผ้าจนแล้วเสร็จก่อน จากนั้นจึงค่อยอัดจีบลงไปบนเสื้อผ้าตัวหนึ่งๆ 

Issey Miyake
PLEATS PLEASE

“ช่วงแรกๆ ที่ผมเริ่มทำงานในญี่ปุ่น ผมต้องเผชิญหน้ากับความคลั่งไคล้ของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อสินค้าต่างชาติไปจนถึงมุมมองที่ไม่ค่อยยืดหยุ่นว่าเสื้อผ้าควรจะเป็นยังไง ผมเลยอยากเปลี่ยนวิธีคิดที่ชาวญี่ปุ่นมีต่อเสื้อผ้าผ่านผลงานของผม” มิยาเกะเล่าในบทสัมภาษณ์หนึ่ง

หรืออย่างในปี 1999 มิยาเกะก็ได้เซอร์ไพรส์วงการแฟชั่นอีกครั้งด้วยคอลเลกชั่น A Piece of Cloth (A-POC) ซึ่งเป็นการผลิตเสื้อผ้าทั้งชุดจากผ้าเพียงผืนเดียว นั่นเพราะเป้าหมายของมิยาเกะคือการลดจำนวนผ้าที่ต้องโยนทิ้งไปจากการผลิตเสื้อผ้าแต่ละชุด ในแง่นี้เขาจึงอยากให้ผ้าผืนหนึ่งสามารถใช้ผลิตเสื้อผ้าได้มากที่สุด โดยเสื้อผ้าที่ว่านี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เสื้อกับกางเกงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหมวก ถุงมือ ถุงเท้า กระโปรง และเดรสอีกด้วย

Issey Miyake
Issey Miyake
A-POC

นอกจากนี้ มิยาเกะยังได้แตกแบรนด์ของตัวเองไปไกลกว่าการออกแบบเพียงเสื้อผ้า แต่ยังรวมถึงเครื่องประดับและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านภายใต้แบรนด์ In-Ei Issey Miyake และ Bao-Bao Issey Miyake

Issey Miyake
In-Ei Issey Miyake
Issey Miyake
Bao-Bao

ถึงอย่างนั้น ความสำคัญของมิยาเกะต่อวงการแฟชั่นคือการที่เขาไม่เพียงแต่จะกล้าท้าทายกับนิยามของแฟชั่นตะวันตกเท่านั้น หากยังรวมถึง ‘ลำดับชั้นของแฟชั่น’ ภายใต้การปรากฏตัวของเขาในฐานะแฟชั่นดีไซเนอร์จากโลกตะวันออก ที่นอกจากจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับแฟชั่นรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ได้ดำรงอยู่แค่เฉพาะในสังคมตะวันตกเท่านั้น แต่ยังถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้กับแฟชั่นดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นในยุคหลังๆ อีกด้วย

มิยาเกะเคยกล่าวในบทสัมภาษณ์หนึ่งว่า “ผมไม่ได้สร้างสรรค์สุนทรียะทางแฟชั่นหรอก ผมเพียงแค่สร้างสรรค์สไตล์บนพื้นฐานของชีวิตจริง” อาจกล่าวได้ว่ามิยาเกะคือขั้วตรงข้ามของ ‘haute couture’ เสื้อผ้าของเหล่าชนชั้นสูงที่ตัดเย็บเสื้อผ้าด้วยมืออย่างประณีตบรรจง เพราะเขาไม่ได้สนใจอะไรเหล่านั้น แต่เสื้อผ้าที่เหมาะจะสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกคล่องแคล่วต่างหากคือสิ่งที่มิยาเกะให้ความสำคัญที่สุด

AUTHOR